Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
16 ธ.ค. 2020 เวลา 13:22 • ปรัชญา
๑๕.เค้าขวัญวรรณกรรม : พื้นฐานและโครงสร้างทางจิตวิญญาณของมหากาพย์อินเดีย
สิบสี่ปีแห่งการเดินป่าของราม สีดา และลักษมัณ ได้เข่นฆ่าอสูรต่างๆ ได้รับเทพศัสตรา และได้พบกับหนุมาน สุครีวะ ฯลฯ ในทางนิรุกติศาสตร์เกี่ยวกับชื่อของอสูร และสิ่งต่างๆย่อมเป็นกุญแจสำคัญในการไขความ เช่น ชื่อของพราหมณ์ที่รามสังหารคือปรศุราม ปรศุ+ราม หมายถึงรามในภาคที่ยังเป็นสัตว์ อันบ่งบอกสภาพภายในของบุคคล เมื่อขจัดสัญชาตญาณอย่างสัตว์ออกไป ก็ย่อมมีพลังเทพเจ้าดังรามหลังสังหารปรศุราม ก็จะได้รับศรของเทพเจ้า (พรหมา) ซึ่งรามร้องฝากไว้ในอากาศ เพื่อเรียกมาได้ในทุกครั้งที่ต้องการ
หรือในกรณีของมารีจ (Marica) หรือมารีศในรามเกียรติ์ ไทย ผู้เป็นรากษสได้แปลงร่างเป็นกวางทองมาล่อสีดา ก็ร่วมรากทางนิรุกติศาสตร์กับคำว่า Mirage อันหมายถึงมายาหรือสิ่งลวงตา นี่เป็นเรื่องทางจิตวิญญาณว่า เมื่อมายาปรากฏ สัตย์หรือความจริง (ราม) ก็จำต้องพรากจากอาตมัน (สีดา)
มีความหมายหนึ่งจากรามายณะที่น่าสนใจต่อผู้ปฏิบัติธรรมจับบทรามครวญถึงสีดา หลังจากพลัดพรากจากกัน รามส่งทหารออกตามหา มีเพียงหนุมานเท่านั้นที่ตามลงไปหาถึงบาดาล อันหมายถึงศรัทธาภักดีในพระเจ้าที่ดำดิ่งไปใต้พิภพนี้ได้ ในท่ามกลางความมืดโดยทันใดแสงสว่างประหลาดก็ปรากฏขึ้น เป็นเมืองอันถนนหนทางปูลาดด้วยเพชรพลอยและทองคำ กับทั้งปราสาทงดงามดังความฝันคือเมืองแห่งมายา ต่อแต่นั้นหนุมานได้ผ่านอุโมงค์ที่ดูจะไม่มีที่สิ้นสุดก้าวล่วงไปสู่ภาวะอันเรืองรองหนึ่งชื่อ สวยํปรภา (Swayamprabha) คือสภาวะแสงสว่างของความเป็นไปเอง
และจากสภาวะนี้แหละที่หนุมานได้ข่าวสีดา ความนี้คงจะเป็นนัยบ่งบอกว่า การตระหนักรู้แจ่มแจ้งลงไปในตนเองด้วยศรัทธาหรือ “ภักติ” นี้ จะนำสู่การเห็นกฎธรรมชาติของความเป็นเอง อันเป็นเหตุให้ได้ข่าวสารต่ออาตมันหรือตัวตนที่แท้จริง
การที่เราดื่มด่ำแจ้งฉานลงไปในตัวเอง จนล่วงเข้าสู่สภาวะอันเป็นเอง แต่ก็ไม่อาจทรงสภาวะนั้นไว้ได้ตลอดไป ดุจดังหนุมานอาศัยพลังอำนาจที่พระเจ้าประทานให้ สามารถเหาะไปหาสีดาที่กรุงลงกาได้ แต่ไม่มีพลังอำนาจจะนำสีดากลับสู่รามได้ จนกว่าจะสร้างสะพานมรรคแห่งศรัทธาที่เรียก “เสตุพันธ์” และหลังจากการทำลายอหังการ์ (ราวณะ) แล้ว คงจะเป็นนัยที่สื่อความหมายอะไรบางอย่างแก่เราได้
ในเรื่องนี้ก็ตรงกันระหว่างหนุมานแห่ง รามายณะ กับหงอคงหรือเห้งเจียใน ไซอิ๋ว มหากาพย์จีนสมัยราชวงศ์หมิง ที่บรรยายถึงการเดินทางไปตะวันตกเพื่อสืบหาพระไตรปิฎก หงอคงสามารถเหาะไปถึง “ยูไล” แต่ยังไม่สำเร็จผล ตราบที่ขบวนของพระถังซัมจั๋งยังไม่มาถึง หงอคงหรือเห้งเจียนี้แทนปัญญา (Wisdom) ในขณะที่หนุมานแทนภักติในพระเป็นเจ้า
เมื่อย้อนมาดูรามายณะ จะเห็นว่ายักษ์ที่รามสังหาร อันเปรียบเสมือนอุปสรรคความยากลำบากขัดขวางรามในเบื้องต้น ก็คืนสู่สภาพเทพ และชี้ทางให้รามได้กลับมารวมกับสีดาต่อไป
สำหรับราวณะหรือทศกัณฐ์นั้น ผู้รจนาได้ให้ลักษมัณคุกเข่าข้างราวณะผู้กำลังจะตายและเรียนรู้กุศโลบายการปกครองจากราวณะ ผู้กระซิบว่าราวณะเองก็รักภักดีรามมาแต่ต้น บางทีจากเรื่องราวตอนนี้เราอาจจะเรียนรู้ว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยพรของพระเป็นเจ้าก็จำเป็นต้องเรียนรัฐประศาสนศาสตร์จากมาร เพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมืองก็เป็นได้
ถ้าจะย่นย่อรามายณะให้สั้น คงได้ใจความว่า ในฐานะเพียงเป็นมนุษย์แห่งความจริง (ราม) ได้อุทิศตนในทางพระเจ้าถึง ๑๔ ปี ด้วยพลังของศรัทธาภักติ (หนุมาน) สามารถสร้างมรรค (เสตุพันธ์) จนละอหังการ์ (ราวณะ) และสัจจะก็รวมเป็นเอกภาพกับอาตมัน(สีดา) ก่อเกิดศานติสุขอันรุ่งเรืองต่อโลก
สำหรับมหากาพย์ มหาภารตยุทธ์ นั้นเล่าถึง เรื่องกษัตริย์ปานฑพต้องออกเดินป่า ๑๒ ปี และด้วยการช่วยเหลือของพระกฤษณะ ทำให้อรชุน เจ้าชายองค์หนึ่งในกษัตริย์ปานฑพผู้ศรัทธาแน่นแฟ้นในพระเจ้า สังหารพระญาติและคุรุได้ในการสู้รบครั้งนั้น
ก่อนอื่นสำหรับเราที่ติดยึดกับคำพูดที่ว่า “ไม่ฆ่า” มานาน จะมองมหาภารตะอันเป็นมหากาพย์ทางศาสนาอย่างไม่เข้าใจถ่องแท้นัก แต่เมื่อดูนัย “การฆ่า” ครั้งนี้ ก็คือการทำลายล้างเครื่องเศร้าหมองรึงรัด อันเรายึดครอง รักสนิทแนบแน่นเยี่ยงญาติพี่น้องหรือคุรุผู้สอน อีกประการหนึ่งเมื่อมามองในหน้าที่การงานแล้ว มนุษย์เราต้องทำหน้าที่อย่างกล้าหาญเผชิญกับสิ่งไม่น่าปรารถนาอย่างองอาจ นั่นคือการทำหน้าที่ของตนให้ลุล่วงแทนการบิดพลิ้วหรืออ่อนแอ
คีตา คือบทเพลงต่อสู้ของชีวิตแห่งหน้าที่การงานอย่างไม่ลังเลครั่นคร้าม การฆ่าประหารนี้เป็นหัวใจในภควัทคีตา อันพระกฤษณะพร่ำสอนแก่อรชุนให้รู้สึกถึงอาตมันว่าเป็นสิ่งที่เหนือสิ่งใด เพื่อขจัดความขัดแย้งลังเลใจ เพื่อบรรลุเป้าหมายจัดเป็นสงครามในใจของมนุษยชาติ กล่าวได้ว่าสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตรนี้เป็นสงครามในภายในของอรชุนเท่าๆ กับสงครามภายในของทุกๆ คน
ด้วยเหตุนี้ ภควัทคีตา จึงเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แนบแน่นในใจชาวฮินดู และบางทีจะแผ่ขยายไปสู่ใจคนทั้งผองที่ร่วมผจญทำสงครามภายในของมนุษยชาติด้วยกัน ฤๅษีวยาสผู้รจนาได้ใช้สงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร (ใกล้นครอินทปัต-เดลีปัจจุบัน) เป็นสัญลักษณ์ถึงสงครามภายในใจของชีวิตศาสนิก ผู้ศรัทธามั่นในพระเจ้า ผู้เป็นดุจสารถีขับรถม้าในสมรภูมิชีวิต
คำสอนอันลึกซึ้งที่พระกฤษณะกล่าวแก่อรชุนในการทำศึกครั้งนี้ถือเป็นหัวใจของมหากาพย์มหาภารตะ ในเมื่อโครงสร้างทั้งหมดเป็นการเดินทางทางจิตวิญญาณเพื่อไปรวมกับพระองค์ไว้อย่างแยบคาย
หลังจากชนะสงครามนี้ อรชุนพร้อมพระญาติพี่น้องและบรรดาชายาก็อุทิศตัวอย่างเคร่งครัดในธรรม
ท้ายสุดยุทธิษเฐียรเพียงองค์เดียวที่ท่องไปในป่าอันไม่มีขอบเขตและกาลเวลา ณ ที่มืดมิดไร้แสงดาวของป่านี้ที่เรียกว่า “กนก (Kanaka)” จนล่วงผ่านเข้าสู่สรวงสวรรค์เข้าเฝ้าต่อพระพักตร์พระเป็นเจ้า และได้เห็นทุรโยธน์ อริราชศัตรูที่ตนสังหารเฝ้าพระเป็นเจ้าอยู่ก่อนแล้ว แสดงแจ่มชัดในส่วนรหัสยนัยว่าสำหรับผู้เข้าถึงพระเป็นเจ้า ย่อมมองสรรพสิ่งว่าเป็นการแสดงออกของพระเป็นเจ้าตั้งแต่แรกเริ่ม ยุทธิษเฐียรจึงเห็นศัตรูของพระองค์ต่อหน้าพระพักตร์ขององค์พระเป็นเจ้าว่า สมบูรณ์ค่าไม่แผกแตกต่างกันแต่อย่างใดจากตนเอง
เสนอต่อที่ประชุมนานาชาติในโครงการไทยคดีศึกษา ๒๒-๒๔ สิงหาคม๒๕๒๗ กรุงเทพฯ
ขอบคุณภาพ: อินเทอร์เน็ต
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เค้าขวัญวรรณกรรม
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย