19 ธ.ค. 2020 เวลา 13:59 • ปรัชญา
๑๖.เค้าขวัญวรรณกรรม : เค้าโครงทางจิตวิญญาณของวรรณคดีพื้นบ้านไทย (รามายณะและไซอิ๋ว)
ไทยรับรามายณะจากอินเดียมาเป็นเรื่องรามเกียรติ์ โดยปรับปรุงหลายเรื่องผิดไปจากเดิม กษัตริย์ไทยซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนอันถือคติธรรมการปกครองประเทศโดยธรรมเป็นผู้รวบรวมและนิพนธ์รามเกียรติ์ของไทยจึงมีลักษณะเป็นพุทธมากกว่าลักษณะเดิม
แต่น่าเสียดายที่รามเกียรติ์เน้นความงามทางฉันทลักษณ์เพื่อการละคอนฟ้อนรำ จนละเลยแก่นสำคัญทางด้านจิตวิญญาณไป เมื่อเปรียบเทียบกับไซอิ๋วที่โหงว-เซ่ง-อึง กวีจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.๒๐๔๓-๒๑๒๕) ได้รจนาขึ้น ไซอิ๋วบรรลุถึงแก่นจิตวิญญาณทางพุทธศาสนาควบคู่กับความงามทางฉันทลักษณ์ได้มากกว่า
อาทิเช่น สัตว์ทั้ง ๓ ผู้เป็นศิษย์ติดตามพระถังซัมจั๋ง หรือหลวงจีนยวนฉ่าง อันได้แก่เห้งเจียหรือหงอคง ในรูปของลิง ก็เป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญา (คำว่า หงอคง ในภาษาจีนแปลว่า ปัญญาเห็นความว่าง) โป๊ยก่ายในรูปของหมูก็เป็นสัญลักษณ์แห่งศีล (คำว่าโป๊ยก่ายในภาษาจีนแปลว่า “ศีลแปด) ซัวเจ๋งในรูปปีศาจเงือกก็เป็นสัญลักษณ์ของสมาธิ (คำว่าซัวเจ๋งในภาษาจีนแปลว่า ภูเขาทราย)
เราจะเห็นว่าสัญลักษณ์ของลิงหรือหนุมานอันบ่งแทนค่าศรัทธาจากรามายณะ ได้แปรเป็นหงอคงอันบ่งค่าแทนปัญญา การเดินทางไปสังหารยักษ์ที่กรุงลงกาก็แปรเป็นเดินทางไปทางตะวันตกเพื่อสืบพระไตรปิฎกแทน
ผู้อ่านไม่ควรสับสนงุนงงกับช่วงเวลาที่หลวงจีนยวนฉ่าง ซึ่งเป็นคนสมัยราชวงศ์ถังหลังพุทธกาลนับพันปี จะไปรับพระไตรปิฎกจากพระพุทธเจ้าได้อย่างไร เพราะพระไตรปิฎกจากพระพุทธเจ้านี้คือสัญลักษณ์แทนพุทธภาวะ ในเมื่อหลวงจีนยวนฉ่างหรือพระถังซัมจั๋งคือจิตที่ตั้งมั่นลงแล้ว พร้อมด้วยปัญญา ศีลและสมาธิ ย่อมจะตระหนักแจ้งถึงสภาวะพุทธะได้ นี่คือเหตุผลที่พระถังซัมจั๋งและศิษย์สามารถเดินทางเข้าเฝ้าพุทธะได้ (แม้ช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ระหว่างพระถังซัมจั๋งกับพระพุทธเจ้าจะต่างกันถึงพันปีก็ตามที)
สำหรับรามเกียรติ์ของไทย หนุมานเป็นลักษณะคติแทนทั้งปัญญาและศรัทธา การแสดงออกของหนุมานไทยมีลักษณะคติทางพุทธแทรกอยู่ อาทิครั้งหนุมานเผาลงกา ในรามายณะนั้นหนุมานดับไฟที่ไหม้หางของตนในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งไหลมาจากสวรรค์แต่หนุมานใน รามเกียรติ์ ไทยดับไฟที่หางในน้ำบ่อน้อย คืออมไว้ในปาก เข้าทำนอง “น้ำในบ่อน้อยจึงดับไฟที่ลุกโชนใหญ่ได้” ด้วยคนเราสามารถทำได้ร้อยสีพันอย่าง เว้นแต่เปลื้องตัวเองออกจากเรื่องของตัวเอง แม้จะเป็นเรื่องเล็กสักเพียงใดก็ตาม
กล่าวอีกอย่างหนึ่ง การปล่อยวางอัตตาที่ยึดมั่นถือมั่นด้วยความไม่รู้ลงได้เป็นสิ่งที่ยากยิ่งของมนุษย์เรา เพราะยิ่งคิดจะปล่อยวางกลับยิ่งกรังติดกับความยึดมั่นว่าจะวางมือหนักซ้ำ
เหตุนี้สัญลักษณ์ในรามายณะจึงได้แสดงออกในรูปของเศียรของราวณะหรือทศกัณฑ์ซึ่งต้องศรของรามยิงตกกระทบพื้นดินเมื่อใด จะเพิ่มเป็นสองเศียรทันที นั่นคืออหังการ์แห่งอัตตาของมนุษย์ ที่ผู้รจนาเปรียบให้เห็น และสำหรับรามเกียรติ์ของไทย แปลงว่าทศกัณฐ์ฝากดวงใจไว้ที่ฤษีจึงฆ่าเท่าไรก็ไม่ตาย หนุมานต้องไปล่อหลอกฤาษีนำกล่องดวงใจของทศกัณฐ์มาขยี้แหลกลาญคราวที่พระรามแผลงศรไปสังหารทศกัณฐ์
จากนัยนี้ จะเห็นว่าศรแห่งปัญญาอันเป็นแสงสว่างทำลายอหังการ์แห่งอัตตาลงได้ ในทางพุทธศาสนานั้นเน้นว่าต้องเห็น “สุญตา” คือความว่างจากการยึดถือพะนอตัวตนอัตตานี้ก่อน ให้เห็นสรรพสิ่งทั้งหลาย (ขันธ์ห้า) เป็นความว่างจากอหังการ์อย่างแท้จริง และนั่นคือการล้มลงของทศกัณฐ์ผู้จอมอหังการ์
นางสันทมารเป็นสัญลักษณ์ของตัณหาความทะยานอยากซึ่งมีธิดาคือกังรีหรือเมรี อันต่างสัญลักษณ์ของความเพลิน (นันทิ) เมื่อเรามองไม่เห็นการเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันของกระบวนการเกิดขึ้นของสรรพสิ่ง ลมหายใจก็เป็นไปในความยินดีในอารมณ์ต่างๆ (นันทิ) ในที่นี้แสดงออกในรูปสันทมารควักลูกตานางสิบสองฝากกับกระแสลมให้นำมามอบแก่กังรี
นางสิบสองทั้งตาบอดและถูกขังอยู่ในอุโมงค์มืด แทนความมืดบอดอย่างยิ่ง คืออวิชชาหรือ อันธการ และความจริงของการเผชิญทุกข์ย่อมมีแสงสว่างแห่งปัญญาบังเกิดขึ้น ดุจดังน้องคนสุดท้องที่ถูกควักลูกตาเพียงข้างเดียวจึงเห็นสิ่งต่างๆ ได้ และได้เลี้ยงรถเสนมา การกินลูกของตัวเองของนางทั้ง ๑๑ หมายถึง ความที่สิ่งต่างๆ เป็นปัจจยาการต่อกัน อิงกันเกิด เป็นอาหารแก่กัน
รถเสนเป็นสัญลักษณ์ของโพธิจิต จิตที่มีพลังความรู้ที่จะตรัสรู้ต่อมาได้ ถ้อยคำสั้นๆ ที่รถเสนกล่าวกับมารดาว่า “เราไม่เป็นสอง” บ่งชัดให้เห็นถึงสภาพธรรมอันไม่มีการแบ่งแยก ไม่เป็นหนึ่งและก็ไม่เป็นสอง เรียกว่าเป็น “อทไวตธรรม” (Non-duality)
ม้าศึกที่รถเสนเลือก เป็นสัญลักษณ์ของกรรมฐานที่เหมาะกับอุปนิสัยต่างๆ ม้า “พาชี” ก็คือ “สติปัฏฐาน ๔” ฐานของการพัฒนาสติเพื่อการตรัสรู้อริยสัจ
พระฤๅษีแปลงสาส์นของสันทมารที่มีไปถึงกังรี ก็บ่งแสดงถึงศิลปะการปฏิบัติธรรม คือไม่ต้านจนมีภาวะเสียดทานหากแต่ร่วมไปด้วยก่อน เพราะความพยายามที่จะกำจัดกิเลสนั้น ก็อาจจะเป็นกิเลสอีกอันหนึ่งซึ่งทำให้ติดกรังยึดแน่นมากยิ่งขึ้น มีแต่ต้องเห็นการลวงล่อพะนออัตตาให้ได้ ด้วยวิธีที่อาศัยศิลปของการปฏิบัติธรรมไม่ต้านและไม่แบ่งแยกนี้ ทำให้ทุกอย่างดูง่ายเข้า
การแต่งงานของรถเสนกับเมรีหรือกังรี เป็นสัญลักษณ์ของศิลปะการปฏิบัติธรรมแบบไม่แบ่งแยก เพื่อประจักษ์แจ้งสภาวธรรม ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติธรรมตกไปในบ่วงของปีติ และมิรู้ตัวพอที่จะถอนออกมาได้ จำเป็นต้องมีความรู้ตัวเพื่อช่วยให้การปฏิบัติรุดหน้า ดุจม้า “พาชี” เตือนรถเสนถึงหน้าที่ที่มีต่อแม่และป้าๆ
ประตูอุทยานของกังรีเปิดให้รถเสนขี่ม้าเข้าไปเอง หมายถึงการเปิดเผยของมรรค
ผลของต้นพุทธคีรีบุนนาค ในมือรถเสนเปรียบประดุจสัญลักษณ์ของการบรรลุถึงอรหัตผล
การขัดขวางการติดตามของกังรีด้วยห่อผงวิเศษ ๗ ห่อ คือสัญลักษณ์ของโพชฌงค์ ๗ ประการในการตรัสรู้ ได้แก่
๑. สติ แสดงด้วยภูเขาที่กั้นจิตจากกิเลสเศร้าหมอง
๒. ธรรมวิจัย (การเลือกเฟ้นธรรม)แสดงด้วยสัญลักษณ์ต้นไม้มากมายเป็นป่ากีดขวางการติดตามของธิดามาร
๓. วิริยะ (ความเพียร) แสดงด้วยสัญลักษณ์ลมที่ไร้ร่องรอยแต่พัดอยู่ตลอด
๔. ปีติ แสดงด้วยสัญลักษณ์ไฟขวางหน้า
๕. ปัสสัทธิ (ความสงบระงับ) แสดงด้วยสัญลักษณ์ของฝนชุ่มฉ่ำ
๖. สมาธิ แสดงด้วยสัญลักษณ์ของเมฆที่ลอยอยู่ในท้องฟ้า
๗. อุเบกขา แสดงออกด้วยมหาสมุทรที่กีดขวางรถเสนกับกังรีจากกันอย่างสิ้นเชิง
เมื่อธรรมชาติรู้ (โพธิ) เป็นอิสระจากเครื่องผูกมัดรัดรึง ปราศจากการยึดถือในอารมณ์ใดๆ จิตก็ปราศจากอาสวะเครื่องเศร้าหมอง ไม่มีความเพลินในอารมณ์ซึ่งอุปมาด้วยกังรีร่ำไห้จนขาดใจตายเพราะแยกจากรถเสน
เมื่อความยินดีในอารมณ์สิ้นลง ซึ่งอุปมาด้วยการขาดใจตายของกังรี ความทะยานอยากตัณหาก็ย่อมสิ้นไปพร้อมกันด้วย ดุจอุปมาหัวใจของสันทมารแตกสลายในเวลาเดียวกัน (สิ้นความเพลินในอารมณ์ ตัณหาก็ดับไป)
การตรัสรู้อย่างสมบูรณ์เกิดขึ้นด้วยการเห็นกฎแห่งสรรพสิ่งเป็นปัจจยาการซึ่งกัน อุปมาดังดวงตาของนางสิบสองที่กลับมาเห็นอีกครั้ง
ท้ายสุดการขึ้นครองเมืองและงานเฉลิมฉลองก็เป็นอุปมาของความรื่นรมย์หลังจากเห็นแจ้งสัจจะอันยิ่งใหญ่แล้วนั่นเอง
เสนอต่อที่ประชุมนานาชาติในโครงการคดีศึก ๒๒-๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๗ กรุงเทพฯ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา