Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
24 ธ.ค. 2020 เวลา 23:13 • ปรัชญา
๑๗.เค้าขวัญวรรณกรรม
- สุธนชาดกหรือเรื่องพระสุธน-มโนห์รา
มโนห์ราเป็นธิดาคนสุดท้องของท้าวทุมราช ราชาแห่งวิทยาธร (แปลว่าผู้ทรงความรู้) พำนักอยู่ ณ เขาไกรลาส ได้ตามพี่สาวทั้งหกไปเล่นน้ำในสระกลางป่าขณะที่กำลังเล่นน้ำอยู่ พรานป่าได้ลอบขโมยปีกและหางของนางซึ่งเป็นกินรี (คนครึ่งนก) ไป ทำให้นางไม่อาจจะบินหนีติดตามพี่ๆ กินรีของนางได้
พรานได้พานางมาถวายเป็นชายาของพระสุธน ทั้งพระสุธนและมโนราห์รักใคร่ซึ่งกันและกันดี แต่มีอุปสรรคเมื่อพระราชบิดาของพระสุธนให้พระสุธนไปทำศึกสงคราม มโนห์ราก็ถูกกลั่นแกล้งโดยเสนาบดี หาเหตุจะบูชายัญนาง ทำให้นางต้องแสร้งขอปีกขอหางกินรีมาสวมใส่ร่ายรำให้ดู ก่อนจะได้โอกาสบินหนีกลับไปเขาไกรลาส
นางได้ฝากของวิเศษสามประการไว้กับพระฤาษีเพื่อมอบให้พระสุธนที่ติดตามนางมา ของวิเศษสามประการมี ๑.ผ้าคลุมกาย ๒.พระธำมรงค์เพชร และ ๓.ผงวิเศษ ทั้งนางยังฝากบอกถึงการเดินทางอันยากลำบากที่พระสุธนจะต้องเสียสละชีวิตในการติดตามนางมายังเขาไกรลาสไว้ด้วย
พระสุธนได้ตามนางมาโดยอาศัยลิงตัวน้อย (หมายถึงสติ) มาส่งที่สุดเขตแดนมนุษย์ และได้ใช้ของวิเศษทั้งสามประการถูกเวลา จนสามารถฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการมาตลอดการเดินทาง ได้มาอยู่ร่วมกับนางอันเป็นที่รักอีกครั้ง
การเดินทางติดตามมโมมโนห์ราอันเป็นที่รักนี้ใช้เวลา ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน (เป็นระยะเวลาของผู้ฝึกปฏิบัติธรรมะจนรู้แจ้งตามหลักสติปัฏฐาน) พระสุธนต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการตามที่มโนห์ราได้บอกไว้ล่วงหน้ามาด้วยดีตลอด โดยอาศัยของวิเศษสามประการ (คือ ศีล สมาธิ ปัญญา) ช่วยเหลือ ตราบจนลุถึงป่าใหญ่มืดสนิท และเผชิญหน้ากับยักษ์ใหญ่ (คือความไม่รู้ หรืออวิชชา) พระสุธนสังหารยักษ์ด้วยศร และก้าวข้ามเศียรยักษ์ไป จนข้ามแม่น้ำกรดไฟโดยอาศัยสะพานงูเหลือม และหลบซ่อนองค์อยู่ในขนของพญาปักษีที่พาพระสุธนบินข้ามป่าดงหวายอันแหลมคม
ณ ที่นี้ที่พระสุธนได้รู้สึกถึงความอ้างว้างโดดเดี่ยวและเคราะห์ร้ายที่กระหน่ำซ้ำพระองค์จนหมดหวังในท่ามกลางความรู้สึกเหมือนหมดหวังนี้เองที่พระสุธนได้ทราบข่าวคราวของมโนห์ราจากคำสนทนาของนกยักษ์ ที่ทำรังอยู่บนต้นไม้ใหญ่นั้น พระสุธนแอบซ่อนไปในขนนกยักษ์ รอให้นกบินมาจนลุถึงสุวรรณนครของเขาไกรลาส และ ณ ที่นี้พระองค์ได้ลอบใส่แหวนเพชรลงไปในคนโทใส่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ตักให้นางมโนราห์อาบ มโนห์รายินดีต่อการติดตามมาถึงของผู้เป็นที่รักของนางมาก ทันทีที่ได้เห็นแหวน นางก็รู้ว่าพระสุธนตามมาถูกทาง
หลังจากที่ราชาแห่งวิทยาธรได้ทดสอบพระสุธนหลายต่อหลายประการ ก็มาถึงการทดสอบประการสุดท้ายอันสำคัญที่สุดว่าพระสุธนจะจำมโนห์ราได้หรือไม่ ร้อนถึงพระอินทร์ต้องแปลงเป็นแมลงเต่าทองมาบินเหนือหัวมโนห์รา พระสุธนจึงสามารถแยกนางออกจากพี่ๆ ของนาง ซึ่งเป็นกินรีเหมือนกันมากได้ และจำนางได้ในที่สุด
พระสุธน-มโนห์ราติดตามท้าวทุมราชกลับมายังเมืองของพระสุธน การขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติของพระสุธนก็มีขึ้น และหลังจากพิธีเฉลิมฉลองแล้ว ความสุขสงบก็ครอบคลุมไปทั่วทุกปริมณฑลแห่งเมืองตราบนานแสนนาน
พระสุธน คือโพธิจิต (Bodhi Mind) ธรรมชาติที่เป็นดุจเมล็ดพันธุ์แห่งการตรัสรู้ มโนห์รา คือความสงบระงับทางใจ โพธิจิตย่อมตระหนักถึงความพลัดพรากจากใจ
ของวิเศษสามประการ คือ ๑.ผ้าคลุมกาย หมายถึงศีล ดุจเครื่องปกคลุมกายให้สบาย ๒.ผงวิเศษ หมายถึงสมาธิที่ต้องใช้ทำงานทางจิต ดังที่พระสุธนใช้โรยแก้ปัญหาตลอดการเดินทางไปเขาไกรลาส ๓.ธำมรงค์เพชร หมายถึงปัญญาหรืออีกชื่อว่า “วัชร” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางปัญญา เพชรหรือวัชรสายฟ้าตัดความมืดบังของความไม่รู้ ส่วนลิงตัวน้อย ที่นำทางพระสุธนมาจนถึงสุดเขตแดนมนุษย์เทียบได้กับสติ (ความรู้ตัว) การเผชิญอุปสรรคนานัปการ คือการลงรากฐานแห่งอริยมรรค สระลึกล้อมรอบด้วยเขาสูง เทียบได้กับสัมมาสมาธิซึ่งเป็นองค์สุดท้ายของมรรค
การสังหารยักษ์หลังจากข้ามสระลึก เทียบได้กับอุปสรรคขัดขวางปัญญา ๕ ประการ คือนิวรณ์ ๕ (กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกุจจะ และวิจิกิจฉา)
แม้จะฝ่าฟันมีชัยต่อนิวรณ์ ๕ มาแล้ว ก็ยังมีอุปสรรคที่อันตรายยิ่งเหลืออยู่คือ มานะ (ความสำคัญในตน) ซึ่งแทนด้วยสัญลักษณ์ของแม่น้ำกรดไฟ การจะข้ามแม่น้ำกรดไฟนี้ต้องอาศัยสะพานงูเหลือม (Python Bridge) ซึ่งอาจจะหมายถึงสมาธิอันปราศจากนิมิต นกยักษ์ที่พาบินข้าม เป็นสัญลักษณ์ของวิถีทางอันไร้รูปรอยของสภาวะเป็นไปเองที่จะพาลัดโดยฉับพลัน ลุถึงเขาไกรลาส
การสื่อโดยธำมรงค์เพชรหย่อนในคนโทใส่น้ำอาบก็คือปัญญาที่จะเห็นแจ้งสภาวะ ส่วนการเดินทางของพระสุธนซึ่งติดตามมโนห์รามาจนถึงเขาไกรลาสอันเป็นที่ตั้งของสุวรรณนครของราชาวิทยาธร ก็คือสัญลักษณ์การเดินทางภายในใจของบุคคลจนถึงการเห็นแจ้งต่อ “ตถตา” นั่นเอง
การกลับมาร่วมกันอีกครั้งของพระสุธน-มโนห์ราหมายถึงโพธิจิตเจริญเบิกบานและเต็มไปด้วยพร การขึ้นครองราชสมบัติและพิธีเฉลิมฉลองเป็นสัญลักษณ์อุปมาของการประจักษ์แจ้งในสัจจะและความมีชีวิตชีวาในการดำรงอยู่
พระนางจันทาเทวีพระอัครมเหสีผู้กำลังทรงพระครรภ์ถูกพระสวามีขับไล่ออกจากเมือง เพราะการกลั่นแกล้งของพระมเหสีรองและเสนาบดี ต้องระหกระเหินเร่ร่อนมาอาศัยอยู่กับตายายใจดีในป่า พระโพธิสัตว์ที่เสด็จมาจุติในครรภ์นางสงสารนางผู้เป็นมารดาจะลำบากในการเลี้ยงดู จึงอธิษฐานให้มีรูปเป็นหอยสังข์อันเป็นทองอร่ามทั้งมีทรัพย์วิเศษอยู่ภายใน ทั้งนี้เพื่อจะได้คอยช่วยเหลือพระมารดา
เมื่อนางคลอดลูกออกมาเป็น “สังข์ทอง” แล้ว นางจันทาเทวีก็สังเกตเห็นว่ากระท่อมที่อยู่มีคนมาปัดกวาดสะอาดเรียบร้อยดี ด้วยความสงสัยว่าจะเป็นผู้ใด นางจึงแสร้งทำทีไปป่า แล้วแฝงกายเฝ้าดูจนพบว่าลูกชายที่รักของนางเองเป็นผู้ซ่อนตัวอยู่ในหอยสังข์ นางจึงทุบหอยสังข์แตก พระสังข์เสียใจมาก กล่าวกับนางว่า “สังข์ทองและสมบัติภายในเป็นทิพย์สภาวะ เมื่อไม่มีหอยสังข์นี้แล้วลูกจะอยู่ได้อย่างปลอดภัยที่ไหนเล่า”
นางตอบลูกรักว่า “ตัวของลูกคือสภาวะสูงสุด เป็นสิ่งที่งามที่สุด ไม่มีผู้ใดเอาชนะได้ ไม่มีผู้ใดข่มขี่ได้ ไม่มีผู้ใดทำอันตรายลูกได้อยู่แล้ว
เมื่อพระบิดาของพระสังข์ล่วงรู้ข่าวอันเป็นมงคลอัศจรรย์ก็เสด็จมารับพระสังข์และพระมารดากลับเข้าวังอีกครั้ง และไปผจญกับการกลั่นแกล้งของมเหสีรอง ลวงพระสังข์ไปประหารชีวิตนานาวิธี แต่ก็ไม่อาจทำให้พระสังข์สิ้นพระชนม์ได้
ท้ายสุดจึงลอยแพพระสังข์และพระมารดาออกทะเลไป เกิดพายุใหญ่พัดแพแตก นางจันทาเทวีถูกพัดลอยไปถึงเมืองมัทราส และตกไปเป็นทาสีของเศรษฐีธนญชัย ส่วนพระสังข์นั้นจมน้ำจนถึงบาดาลพิภพของพญานาคราช จากนั้นพระสังข์ได้รับพรและเรือสำเภาทองทำให้พระสังข์สามารถลุถึงอาศรมฤษีบนเกาะแห่งหนึ่งได้ ฤษีบอกทางไปพาราณสีแก่พระสังข์และสอนว่า
“ถ้าเธอปรารถนาจะไปจริงๆ ให้ไปตามกระแสน้ำในเบื้องต้นจนถึงนครของยักขิณี เธอต้องอนุญาตให้นางยักขิณีจับตัวเธอ แต่เธอจะไม่มีอันตรายใดใด”(ถ้อยคำเหล่านี้ชวนขบคิดตีปริศนาในส่วนการปฏิบัติธรรม
นางยักขิณีหม้ายราชินีแห่งนครยักษ์จับตัวพระสังข์ทองได้ และรักพระสังข์ดุจเป็นลูกของนางเอง ด้วยความรักนี้นางจึงปกป้องไม่ให้พระสังข์หนีจากนางไป นางได้ห้ามพระสังข์ไม่ให้เข้าไปในสวนที่มีซากโครงกระดูกและกะโหลกคนที่ถูกนางจับกิน ทั้งยังห้ามไม่ให้ขึ้นไปปราสาทชั้นบนซึ่งมีของวิเศษทั้ง ๕ ประการอยู่ ของวิเศษทั้ง ๕ นั้นได้แก่
๑. บ่อที่มีน้ำเป็นเงิน
๒. บ่อที่มีน้ำเป็นทอง
๓. รองเท้าทอง ๑ คู่ ซึ่งเมื่อสวมแล้วสามารถเหาะได้ตามใจนึก
๔. พระขรรค์วิเศษที่ผู้ใดเป็นเจ้าของแล้วจะไม่เคยรบแพ้
๕. หน้ากากทานพ (นิทานพื้นบ้านว่าเป็นรูปเงาะ)
เมื่อพระสังข์ตระหนักแน่ว่ามารดาเลี้ยงเป็นนางยักขิณีกินคน พระสังข์ก็คิดหนี โดยได้ชุบตัวในบ่อเงิน และบ่อทองตามลำดับ สวมใส่ของวิเศษแล้วเหาะหนีไป
นางยักขิณีติดตามพระสังข์มาจนสุดทางที่แบ่งเขตของยักขิณีกับเขตของมนุษย์ เพราะไม่สามารถข้ามแม่น้ำที่แบ่งเขตนั้นได้ นางจึงคร่ำครวญอาลัยรักพระสังข์ และสอนมนต์วิเศษผูกใจบรรดาสัตว์ให้เรียกเนื้อเรียกปลาได้ตามใจนึก มนต์วิเศษนี้เรียกว่า “มโนหรจินดามณีมหามนต์” เป็นมนต์ที่ผู้ใดท่องบ่นได้จะทำให้สมใจนึกดุจมีแก้วสารพัดนึกทีเดียว” (อันที่จริงแล้วแก้วสารพัดนึกนั้นเป็นสัญลักษณ์ของใจที่รู้แจ้งนั่นเอง)
พระสังข์สวมรูปเงาะแล้วเหาะมาถึงเมืองพาราณสี (ในนิทานพื้นบ้านของเราคือเมืองท้าวสามล) ในเวลานั้นนางคันธา (ซึ่งพื้นบ้านเราเรียกว่านางรจนา) ธิดาองค์ที่ ๗ กำลังจะเลือกคู่ พี่ของนางทั้ง ๖ คนเลือกคู่ได้เจ้าชาย ๖ พระองค์ ส่วนนางคันธานั้นเธออธิษฐานต่อเทพเจ้าว่าถ้านางเป็นคู่ที่แท้ของพระสังข์แล้ว ให้นางสามารถเห็นรูปทองภายในรูปเงาะของพระสังข์ ครั้นเห็นแล้วนางจึงคล้องมาลัยเลือกคู่ให้พระสังข์ พระราชบิดาของนางกริ้วจัด จึงส่งนางและเจ้าเงาะไปอยู่นอกเมือง
พระราชาวางแผนจะกำจัดเจ้าเงาะ จึงรับสั่งให้แข่งขันหาเนื้อหาปลากับหกเขย (ในปัญญาสชาดกเป็นให้ล่าหมูป่าและจับปลา) พระสังข์จึงใช้มนต์เรียกเนื้อเรียกปลามาจนหมดสิ้น เมื่อหกเขยไม่สามารถหาเนื้อในป่าและปลาในน้ำได้เลย จึงมาทูลขอกับพระสังข์ พระสังข์ก็แบ่งเนื้อแบ่งปลาให้ โดยแลกกับการขอตัดหูและตัดจมูกของหกเขยเป็นค่าตอบแทน
พระอินทร์ทรงช่วยเหลือให้พระสังข์ได้แสดงความสามารถเฉลียวฉลาดปกป้องเมืองจากศัตรูจนได้ พระสังข์ก็ทรงม้า ไปในรูปจริงอันเป็นทองอร่ามทั้ง และได้ชัยชนะในที่สุด จนได้เสกสมรสกับคันธา ต่อจากนั้นพระองค์ก็ได้พบพระมารดาที่รักอันพลัดพรากจากกันมานาน แล้วขึ้นครองเมืองเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ปกครองไพร่ฟ้าโดยธรรม (ในปัญญาสชาดกยังมีเหตุการณ์อื่นๆ อีกหลังจากขึ้นครองเมืองแล้ว)
เหตุการณ์ตอนพระสังข์เลือกม้าศึกนั้นซ้ำกันกับเรื่องพระรถ-เมรี ซึ่งมีใจความสำคัญมากในแง่ปริศนา นั่นคือการเลือกกรรมฐานให้เหมาะกับนิสัยของผู้ปฏิบัติธรรมเปรียบด้วยได้ม้าคู่ใจสำหรับออกศึก
พระสังข์ทอง เป็นสัญลักษณ์ของโพธิจิต คือ ธรรมชาติแห่งความรู้ (Knowledge Nature) ซึ่งจะงอกงามถึงสภาพตรัสรู้อันสมบูรณ์
หอยสังข์ แทนสัญลักษณ์แห่งความรู้เฉลียวฉลาด (Intellect) หรือปัญญาอย่างโลกย์ๆ ย่อมรู้สึกมั่นคงต่อชีวิตเหมือนพระสังข์เมื่อยังซ่อนตัวอยู่ในหอยสังข์ แต่เมื่อทุบหอยสังข์แตกแล้วทำลายความรู้สึกนั้นเท่ากับเป็นการเผชิญกับสภาพที่ไม่มั่นคง แต่หากไม่มีการทำลายเปลือกนอกนี้จิตก็ย่อมไม่ตระหนักต่อสำนึกที่เหนือกว่า
ก็ด้วยประสบการณ์แห่งทุกข์อันเกิดจากความไม่มั่นคงนั้นเองที่โพธิจิตจะลุกตื่นขึ้นทำหน้าที่ได้ ธรรมชาติของจิตนั้นประภัสสรสว่างในตัวของมันเองอยู่แล้ว เมื่อเราตระหนักแท้ถึงธรรมชาตินี้ได้ เราก็ตระหนักรู้ถึงความจริงแห่งชีวิตคือ ทุกข์และเหตุแห่งทุกข์เอง ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณนี้จะปลุกเราให้ตื่นขึ้นในทางหรือ “มรรค” เป็นการเริ่มต้นการเดินทางเข้าสู่ความลึกซึ้งของชีวิต ดุจดังสัญลักษณ์ที่พระสังข์จมลงไปในทะเลลึกแดนแห่งนาคราช (นาคมักจะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความลึกซึ้งหรือมานะอันลึกซึ้งเสมอ)
เรือสำเภาทอง แทนค่าความรู้อันจริงแท้และรุ่งเรือง จากการได้ประจักษ์ความจริงแห่งทุกข์ แม้ว่าจะยังไม่ถึงที่สุดสมบูรณ์ก็ตามที
เกาะที่ตั้งอาศรมฤษี ต่างสัญลักษณ์ของสภาวะที่จิตเป็นอุปจารสมาธิ
เมืองของยักขิณีพันธุรัต เป็นสัญลักษณ์ของนิวรณ์ ๕ อันผู้ปฏิบัติละได้แล้วจะประสบความสุขสงบ เป็นสัญลักษณ์ของนิรามิสสุข (เพราะเป็นเมืองสังหาร “คน” สภาพคนถูกฆ่าเหลือแต่กองกระดูก เทียบเท่าเฉียด ฌาน อันนิวรณ์ ๕ ระงับหมด ในระดับนี้จิตปราศจากอุปสรรคอันตรายใดๆ ที่จะขัดขวางทำลายได้)
ปราสาทต้องห้าม คือสภาวะของจิตที่ดำรงอยู่ในรูปฌาน
ของวิเศษ ๕ ประการ คือองค์ ๕ ของรูปฌานคือ
๑. วิตก (ตริ) แสดงด้วยสัญลักษณ์พระขรรค์วิเศษ (นิทานพื้นบ้านไทยใช้สัญลักษณ์พระขรรค์เพชรหรือวัชร)
๒. วิจาร (ตรอง) แสดงด้วยสัญลักษณ์รองเท้าทอง ๑ คู่ (ในนิทานพื้นบ้านของเราเป็นรองเท้าเพชรพลอยมณี)
๓. ปีติ ใช้สัญลักษณ์ของการชุบตัวในบ่อเงิน
๔. สุข ใช้สัญลักษณ์ของการชุบตัวในบ่อทอง
๕. เอกัคคตา แสดงด้วยสัญลักษณ์ รูปเงาะ
ในสภาวะของฌานอันเป็นประสบการณ์พิเศษเช่นนี้ โพธิจิตไม่อาจเห็นขันธ์ ๕ ดังที่เป็นจริง ผู้ปฏิบัติธรรมต้องถอนจากฌานกลับมาสู่สภาวะปกติและเฝ้าดูด้วยปัญญาที่เรียกว่าวิปัสสนา เพื่อรู้แจ้งความจริงของชีวิต คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
นี่คือสัญลักษณ์ที่จะต้องแต่งให้พระสังข์หนีออกจากเมืองยักขิณีมาสู่เมืองมนุษย์ (พาราณสี) เป็นความงามของประสบการณ์ทางจิตวิญญาณอันเกินกว่าจะบอกกันด้วยภาษาสัญลักษณ์อื่นได้ดีกว่านี้แล้ว
ผลสัมฤทธิ์จากการบรรลุอายตนะในฌานทำให้ได้มนต์วิเศษมโนหรจินดานั้นหมายถึง มโนมยิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจโตปริยญาณหยั่งรู้ใจสัตว์
พระธิดาทั้งหกและหกเขย เป็นสัญลักษณ์ของอินทรีย์ทั้ง ๖ กับอารมณ์ทั้ง ๖
นางคันธาหรือรจนา คือธรรมายตนะหรือดวงตาแห่งธรรม (ธรรมจักษุ) ซึ่งสามารถเห็นแจ้งความทุกข์ จนเห็นสภาวะแจ่มแจ้งปราศจากทุกข์อันแทนด้วยพระสังข์สวมรูปเงาะไว้
ม้าที่พระสังข์ทรงเข้าเมืองและออกศึกนั้น คือกรรมฐานอันเหมาะกับอุปนิสัยของแต่ละบุคคล
กรีฑาป้องกันเมืองที่พระสังข์ได้ชัยชนะจากพระอินทร์ปลอมตัวมาช่วยก็เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะภายในต่อแผ่นดินภายใน
เศรษฐีนันทะมีลูกสาวถึงสิบสองคนอันเป็นเหตุให้เริ่มยากจนลง จนต้องนำนางทั้งสิบสองไปปล่อยป่า นางทั้งสิบสองหลงทางกลับบ้านไม่ถูก เร่ร่อนไปถึงอุทยานของนางยักขิณีชื่อ สันทมาร นางยักขิณีรับเลี้ยงนางสิบสองในฐานะน้องสาว ครั้นนางสิบสองรู้ว่าพวกตนอยู่กับยักขิณีกินคนก็ตกใจ พากันหนีจากไปโดยไปหลบซ่อนในท้องช้าง ท้องม้า และท้องวัวตามลำดับ จนนางยักขิณีสันทมารไม่อาจจะติดตามมาคร่าตัวนางสิบสองคืนกลับได้
นางทั้งสิบสองหลบหนีมาจนลุถึงกุฏนครของท้าวรถสิทธิ์และไปซ่อนตัวบนต้นไม้ใหญ่ใกล้สระลึก ขณะนั้นนางค่อมนำเหยือกทองคำมาตักน้ำถวายท้าวรถสิทธิ์ เห็นเงาสะท้อนของนางสิบสองในน้ำก็สำคัญผิดว่าเป็นเงาของตน ความสำคัญตนว่าสวยงาม ไม่ควรมาทำงานต่ำเช่นนี้ ทำให้นางค่อมทุบเหยือกทองคำแตกกลับไปโดยไม่ได้ตักน้ำไปถวายพระราชา
ต่อมาท้าวรถสิทธิ์ส่งนางค่อมมาตักน้ำด้วยเหยือกเงินอีก นางก็พลุ่งความสำคัญตนขึ้นมาจนทุบเหยือกเงินแตกอีก ในที่สุดท้าวรถสิทธิ์ส่งนางมาตักน้ำด้วยถุงหนังซึ่งไม่อาจแตกทำลายได้ ครั้งนี้นางสิบสองกลั้นหัวเราะขำท่าทางของนางค่อมขณะพยายามทุบถุงหนังไว้ไม่ไหว นางค่อมเห็นนางสิบสองบนคบไทรแล้วจึงรู้สึกตนว่าสำคัญผิดไป กลับไปทูลท้าวรถสิทธิ์ถึงความงามอันล้ำเลิศของนางสิบสอง ท้าวรถสิทธิ์จึงรับนางทั้งสิบสองเป็นชายา
ฝ่ายยักขิณีสันทมารรู้ข่าวนางสิบสอง ก็แปลงเป็นดรุณีงามสะคราญตามมาสู่กุฏนคร และท้าวรถสิทธิ์ก็ลุ่มหลงจนเลือกนางเป็นพระอัครมเหสี นางยักขิณีแปลงแสร้งทำเป็นป่วย ซึ่งต้องรักษาด้วยยาที่ทำมาจากดวงตานางสิบสองเท่านั้นจึงจะทุเลาได้
ท้าวรถสิทธิ์ก็อนุญาตด้วยความลุ่มหลง นางสันทมารจึงควักดวงตาของนางสิบสองออก แต่คงเหลือดวงตานางที่สิบสองน้องคนสุดท้องไว้อีกข้างหนึ่ง นางส่งห่อดวงตานางสิบสองไปกับสายลมซึ่งพัดพาไปให้นางกังรี (หรือเมรี) ลูกสาวของนางเก็บรักษาไว้ที่คชาปุระ
ท้าวรถสิทธิ์เมื่อไม่อาจเห็นชายาตาบอดทั้งสิบสองได้ (ตามปัญญาสชาดกมีประโยคหนึ่งกล่าวเป็นนัยอันลึกซึ้งเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมะว่า การไม่ล่วงรู้ถึงกฎของสรรพสิ่งล้วนเป็นปัจจัยอิงซึ่งกันนั้นเป็นเหตุแห่งความทุกข์) พระองค์ทุรนทุรายทุกข์ร้อนนักหนา(ความข้อนี้บอกชัดว่าเมื่อไม่เห็นปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นทุกข์ คือบอดในปฏิจจสมุปบาท)
จึงส่งนางทั้งสิบสองไปคุมขังไว้ในอุโมงค์มืดสนิทตามที่นางยักขิณีสันทมารแนะนำ เนื่องในอุโมงค์ไม่มีอาหาร นางจึงต้องกินลูกของนางที่เพิ่งคลอดเป็นอาหาร เว้นแต่น้องคนสุดท้อง ซึ่งมีดวงตาเหลืออีกข้างได้ช่วยชีวิตลูกของนางคือพระรถเสนไว้ และบำรุงเลี้ยงให้เติบโตในอุโมงค์นั้น
พระโพธิสัตว์รถเสนได้ทราบเรื่องจากมารดาถึงสภาพทุกข์ยากสาหัสของแม่และป้าทั้งสิบเอ็ด เมื่อทรงประจักษ์แจ้งสภาพเช่นนั้นแล้วและด้วยอานุภาพพุทธะ อุโมงค์ที่มืดสนิทก็พลันสว่างไสวและเปิดออกสู่ภายนอกได้ (เมื่อโพธิประจักษ์แจ้งความจริงคือทุกข์ ก็เกิดความสว่างในความมืดและเห็นทางออก) รถเสนได้กล่าวถ้อยคำสั้นๆ แก่มารดาว่า “เราไม่เป็นสอง” และออกจากอุโมงค์ไปหาอาหารมาให้มารดาและป้าๆ
รถเสนออกไปเล่นพนันกับกลุ่มเด็กๆ และได้ชัยชนะทุกครั้ง รางวัลที่ได้ก็ขอเพียงข้าวสิบสองห่อทุกครั้ง จนชื่อเสียงเลื่องลือไกลในความฉลาดสามารถจนทำให้ท้าวรถสิทธิ์เรียกให้เข้าเฝ้า รถเสนได้พบพระราชบิดา
นางยักขิณีสันทมารถึงแก่อาการครั่นคร้ามด้วยรู้ว่านางจะต้องสิ้นชีวิตเพราะรถเสนโพธิสัตว์ นางจึงแสร้งทำป่วยเพื่อจะวางแผ่นฆ่ารถเสนโดยขอให้ท้าวรถสิทธิ์ส่งรถเสนไปขอยาจากกังรีลูกสาวของนางพร้อมทั้งสลักสาส์นลับสั่งความไปถึงกังรีด้วย
รถเสนได้เลือกม้าฝีเท้าเลิศตัวหนึ่งซึ่งพูดได้จากม้าชั้นยอด ๒๒ ตัว ทดสอบพลังแล้ว ควบม้าเหาะข้ามทางไกลเกินกว่าจะประมาณได้ในพริบตาเดียว รถเสนตั้งชื่อม้าตัวนี้ว่า “พาชี” (ตามปัญญาสชาดก “พาชี” เป็นชื่อม้า ผู้ประพันธ์เลือกใช้ในความหมายว่า พา-ชีในภาษาไทย ไม่ใช่ภาชีในภาษาบาลีซึ่งแปลว่าม้า ซึ่งให้นัยแห่งปฤศนาทั้งลึกทั้งขบขันว่า กรรมฐานนั้นเป็นเครื่องพา-ชีหรือผู้ปฏิบัติธรรม นักบวชหรือหลวงชีไปสู่ที่หมาย)
ในระหว่างที่เดินทางไปหากังรีหรือเมรีนั้น รถเสนได้แวะเยี่ยมฤๅษีผู้ซึ่งรู้ความนัยของสาส์นลับที่สันทมารมอบให้รถเสนซึ่งระบุว่า “ถึงกลางวันให้ฆ่ากลางวัน ถึงกลางคืนให้ฆ่ากลางคืน” ฤๅษีก็แปลงสาส์นให้ร้ายกลายเป็นดี ให้การฆ่าเป็นการแต่งงาน ระบุว่า “ถึงกลางวันให้แต่งกลางวัน ถึงกลางคืนให้แต่งกลางคืน” (ทันทีที่ทั้งสองพบกัน, ทันทีที่ถึง)
รถเสนก็นำสาส์นนั้นออกเดินทางต่อมา ครั้นผจญกับมารนับไม่ถ้วนที่ปากทางเข้าเมืองของกังรี รถเสนก็ท้อใจและลังเล ม้า “พาชี” อันเป็นสัญลักษณ์ของกรรมฐานเครื่องนำทางแก่ผู้ปฏิบัติธรรม ก็ให้กำลังใจแก่รถเสนให้มั่นใจในพลังอำนาจของม้าวิเศษ ยักษ์มารก็แตกพ่ายเพียงม้าพาชีแผดเสียง (พลังแห่งการภาวนา)
จากสาส์นแปลงนั้นทำให้กังรีแต่งงานกับรถเสนทันทีที่มาถึงและมีงานเฉลิมฉลองการสมรสติดตามมา กังรีได้ขอให้รถเสนครองเมืองคชาปุรนครของนาง รถเสนก็เพลินอยู่กับนางหลายเดือนจนลืมหน้าที่ของตน ร้อนถึงม้า “พาชี” ผู้นำทางแก่ผู้ปฏิบัติธรรมมาเตือนรถเสนถึงหน้าที่ที่มีต่อแม่และป้าๆ รถเสนระลึกได้จึงแสร้งทำเป็นป่วยและขอพักผ่อนรักษาตัวที่ใจกลางของอุทยานของนางกังรี
อุทยานแห่งนี้วิจิตรนักหนา ต้องใช้ยักษ์นับพันเพื่อเปิดประตูอุทยานแห่งนี้ได้ แต่ประตูอุทยานก็เปิดให้รถเสนผ่านเข้ามาอย่างง่ายดาย รถเสนควบขับม้า “พาชี” สำรวจดูพันธุ์ไม้ในอุทยาน ทันทีก็เหลือบไปเห็นพันธุ์ไม้หนึ่งชื่อว่า “พุทธบุนนาค”(นิทานพื้นบ้านของเราเรียกขานพันธุ์ไม้นี้ว่า “มะม่วงไม่รู้หาว มะนาวไม่รู้โห่” และมีบางภาคของไทยที่เรียกว่า “มะม่วงรู้หาว มะนาวรู้โห่”) รถเสนถึงแก่อุทานกับตนเองเมื่อเด็ดผลของมันมาไว้ในมือได้สำเร็จว่า “โอ้! คีรีบุนนาคต้นไม้แห่งพุทธะ”
ฝ่ายกังรีซึ่งเคลิบเคลิ้มไปด้วยอำนาจมนต์สะกดของรถเสนก็เผลอบอกถึงเตาไฟที่นางเก็บห่อดวงตานางสิบสอง ทั้งผงยารักษาดวงตาใหกลับมาเห็นประจักษ์แจ้ง และห่อผงวิเศษสารพัดอีก ๗ ห่อ
รถเสนควบขับม้าคู่ใจหนีจากเมียอันเป็นที่รักออกมา กังรีเมื่อฟื้นแล้วก็ติดตามรถเสนมาด้วยพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ของนาง แต่รถเสนโยนห่อผงวิเศษสกัดกั้นนางไม่ให้ติดตามมาเป็นระยะๆ ทีละห่อๆ ห่อผงวิเศษที่โรยลงไปก่อให้เกิดภูเขา ป่า ลม ไฟ ฝน เมฆ และมหาสมุทรกั้นขวางรถเสนและเมรีหรือกังรีออกจากกันได้
กังรีผู้เศร้าโศกไม่สามารถติดตามสามีของนางได้จึงพร่ำเรียกรถเสนจนขาดใจตาย เมื่อกังรีตาย หัวใจของยักขิณีสันทมารก็แตกสลายในเวลาเดียวกันกับธิดา
รถเสนได้นำดวงตามาคืนนางสิบสองและใส่ผงรักษาตาให้กลับมาเห็นแจ้งอีกครั้ง ดวงตานางสิบสองก็กลับเป็นตาทิพย์
ท้าวรถสิทธิ์มอบให้รถเสนครองเมือง และความสงบสุขก็กลับมาคืนเมืองอีกครั้งหนึ่ง
การจะเข้าใจวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องนางสิบสองได้เด่นชัดจำเป็นจะต้องเข้าใจปฏิจจสมุปบาท กฎที่สรรพสิ่งล้วนเป็นปัจจัยอาศัยกันเกิด การประจักษ์แจ้งปฏิจจสมุปบาท อันเป็นหัวใจของพุทธศาสนาแบบเถรวาทนี้ถือว่าเป็นการเห็นพระตถาคต นางสิบสองคือสัญลักษณ์ของปัจจัยอิงกันเกิดทั้ง ๑๒ ข้อ
สภาพที่นางสิบสองหลงป่าจนไปถึงอุทยานในอาณาจักรยักขิณีและอาศัยในอุทยานที่งดงามนั้น เป็นสัญลักษณ์ของสรรพสัตว์เมื่อพลัดหลงเข้าไปในความมืดมัวของอวิชชาคือความไม่รู้ ก็จะถูกจับยึดให้หลงติดกับกามคุณตราบจนตระหนักเห็นภัย ดุจดังนางสิบสองเห็นสุสานกระดูกและรู้ว่าหลงอยู่กับนางยักขิณีกินคน จึงหลบหนีโดยอาศัยพระไตรรัตน์เป็นที่พึ่ง (คือท้องช้างต่างพระพุทธสรณะ ท้องม้าต่างพระธรรมสรณะ ท้องวัวต่างพระสงฆ์สรณะ)
เพื่อการรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องอุทิศตนเองในไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ และปัญญา (ซึ่งใช้สัญลักษณ์เหยือกทองคำต่างศีล เหยือกเงินต่างสมาธิ และถุงหนังตักน้ำต่างปัญญา) นางค่อมผู้ตักน้ำเป็นสัญลักษณ์ของวิภวตัณหา ความไม่พึงพอใจต่างๆ นั้นซึ่งอาศัยเพียงแค่ศีล สมาธิ หรือแม้ถึงสภาพปัญญาอันไม่แตกหักสลาย หรือความชาญฉลาดในปัจจยาการของสรรพสิ่งคือการเห็นเพียงภาพสะท้อนของนางสิบสอง เป็นเครื่องบ่งบอกว่าเรายังต้องเรียนรู้ตรงๆ จากการปฏิบัติภาวนาจนลุถึงปัญญาอันแจ่มแจ้งแทงตลอดอย่างสมบูรณ์
เสนอต่อที่ประชุมนานาชาติในโครงการคดีศึก ๒๒-๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๗ กรุงเทพฯ
ขอบคุณภาพ: อินเทอร์เน็ต
บันทึก
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เค้าขวัญวรรณกรรม
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย