มะกันหัวใส ติดกล้องพร้อมเซนเซอร์ในถังคัดแยกขยะ
รู้หรือไม่ว่า เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่สหรัฐฯส่งขยะรีไซเคิลส่วนใหญ่ไปที่จีน แต่หลังจากที่จีนห้ามนำเข้าวัสดุรีไซเคิลในปี 2560 โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมจากขยะที่ผสมปนเป ซึ่งไม่ได้มีแค่วัสดุรีไซเคิลเท่านั้น แต่มีขยะประเภทอื่นปนมาด้วย โดยจีนห้ามนำเข้าขยะประเภทของแข็ง ซึ่งรวมถึงพลาสติกชนิดต่างๆ และกระดาษที่ไม่ได้แยกชนิด หรือ Unsorted Paper ที่ปกติแล้วส่งมาจากสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯไม่สามารถกำจัดขยะด้วยการส่งขยะไปจีนได้อีกแล้ว นอกจากนี้ จีนยังขยายการสั่งห้ามการนำเข้าขยะต่อในปี 2561
ประเด็นดังกล่าวทำให้เวลานั้นธุรกิจต่างๆของสหรัฐฯมีความตื่นตระหนกอย่างมากในเรื่องการกำจัดขยะ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการส่งออกขยะรีไซเคิล เป็นอุตสาหกรรมการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ และขยะรีไซเคิลยังเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 6 ของสหรัฐฯที่ส่งออกไปยังจีน และแน่นอน การระงับการนำเข้าขยะรีไซเคิลของจีนทำให้สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับจีน
หลายท่านอาจจะสงสัย การค้านี้เกิดขึ้นอย่างไร ในแต่ละปีจะมีสินค้าอุปโภคบริโภคส่งมาจากจีนบรรทุกมาบนเรือเป็นจำนวนมากมายังท่าเรือสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯนั้นมีการขาดดุลการค้ากับจีนอย่างหนัก และมีความต้องการพื้นที่ขาส่งสินค้ากลับจีนน้อยมาก พูดง่ายๆว่า ขากลับเป็นเที่ยวเปล่า หรือ Backhaul ส่งผลให้บรรดาบริษัทขนส่งทางเรือเสนอการลดราคาแบบกระหน่ำสำหรับการขนส่งทางเรือเที่ยวขากลับไปยังจีน
พลวัตที่เกิดขึ้น กลับเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมรีไซเคิลของสหรัฐฯ ซึ่งมีขยะพวกเศษเหล็ก กระดาษ พลาสติก ยาง และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์มากมาย ซึ่งนักรีไซเคิลชาวจีนอยากได้มากกกกกก
ยิ่งไปกว่านั้น Adam Minter ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ ได้อธิบายในหนังสือ "Junkyard Planet" ว่าการขนส่งขยะรีไซเคิลจากสหรัฐฯไปยังจีนด้วยทางเรือนั้น มีราคาที่ถูกกว่าการขนส่งด้วยรถไฟจาก ลอส แองเจิลลิส ไปยังชิคาโก มาก
จากประเด็นดังกล่าว ธุรกิจในสหรัฐฯ จะทำอย่างไรกับขยะรีไซเคิล บางเมืองในสหรัฐฯถึงกับต้องหยุดโครงการรีไซเคิลขยะ ทั้งนี้การกำจัดขยะในฝั่งสหรัฐฯนั้น น่าจะง่ายกว่าด้วยการนำมารีไซเคิลเอง และจริงๆแล้วนั่นก็เป็นเป้าหมายของ สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (US Environmental Protection Agency- EPA) ที่จะทำให้อัตราการรีไซเคิลขยะในประเทศเพิ่มขึ้น 50% ภายในปี 2573 ซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ราวๆ 32%
จริงๆแล้ว ยังมีนักธุรกิจหัวใสชาวอเมริกันคนหนึ่ง นั่นคือ Jason Gates ได้ใช้เวลาไปกับการคิดถึงเรื่องขยะ และจะทำอย่างไรให้เกิดขยะน้อยลง ในปี 2556 เขาได้ก่อตั้ง Compology ในซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่ใช้กล้องและปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence หรือ AI ที่เรารู้จักกันนี่แหละค่ะมาคอยจับตาว่ามีอะไรถูกโยนลงไปในถังขยะของบรรดาธุรกิจต่างๆบ้าง เช่นพวกร้านอาหาร อย่าง McDonaldและห้างสรรพสินค้าอย่าง Nordstrom จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะให้แน่ใจว่าถังขยะนั้นเต็มแล้วก่อนที่จะเจ้าหน้าที่จะนำไปทิ้ง และเป็นการกันไม่ให้พวกขยะรีไซเคิลต่างๆ เช่น กล่องกระดาษมาปนกับขยะประเภทอื่น หากปนพวกกระดาษหรือขยะรีไซเคิลก็จะกลายเป็นของเสียไป ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้
Gates ซึ่งเป็น CEO ของ Compology กล่าวว่า ธุรกิจและผู้คนมีความตั้งใจจริงเกี่ยวกับการรีไซเคิลขยะ และหลายครั้งพวกเขาไม่รู้จักวิธีที่เหมาะสมที่จะรีไซเคิลขยะ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง Compology จึงติดตั้งกล้องในถังขยะ และเซนเซอร์ภายในคอนเทนเนอร์บรรจุขยะอุตสาหกรรม โดยในวันที่เป็นวันเก็บขยะ เมื่อถังขยะถูกยกขึ้นเพื่อนำไปทิ้ง เครื่องวัดความเร่ง ของการเคลื่อนที่ของวัตถุ หรือ Accelerometer ก็จะส่งสัญญาณไปยังกล้องที่ถังขยะให้ทำงาน กล้องจะทำการถ่ายรูปหลายๆครั้ง
ซอฟท์แวร์ AI ก็จะวิเคราะห์ภาพเพื่อดูว่าถังขยะเต็มหรือไม่ และยังให้ลูกค้าทราบได้ว่ามีบางอย่างที่ไม่ควรเข้าไปอยู่ในถังขยะ เช่นถุงขยะที่ถูกโยนลงไปในถังขยะสำหรับทิ้งกล่องกระดาษเพื่อนำไปรีไซเคิล Gates กล่าวว่ากล้องของ Compology ได้ช่วยลดขยะรีไซเคิลที่ถูกทิ้งในถังขยะสำหรับของเสียได้มากถึง 80%
ยกตัวอย่างถังขยะร้าน McDonald ในลาสเวกัส กล้องและเซนเซอร์ในถังขยะของ Compology ได้แสดงให้เห็นว่าปกติแล้วร้านดังกล่าวจัดการเรื่องกล่องกระดาษรีไซเคิลได้ดี แต่บางครั้งมีการโยนถุงขยะลงไปในถังทิ้งกล่องกระดาษด้วย
เมื่อกล้องจับภาพได้ว่ามีขยะของเสียในถังทิ้งกล่องกระดาษรีไซเคิล ก็จะมีการแจ้งไปยังผู้ที่อยู่ที่ร้านผ่านข้อความ เพื่อให้พวกเขานำเอาถุงขยะนั้นออกก่อนที่รถเก็บขยะจะมาในเช้าวันต่อมา และแจ้งให้พวกเขาทราบว่าการทิ้งขยะของเสียในถังขยะรีไซเคิล เป็นการทำให้เกิดการปนเปื้อน และไม่ควรกระทำอีกในอนาคต
ระบบของ Compology สามารถแยกแยะภาพขยะได้เป็นหลายสิบล้านภาพ และยังได้ใช้รูปที่ถ่ายมาในถังขยะที่ติดตัง้กล้องเพื่อให้สามารถคัดกรองขยะในถังได้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบัน กล้องของ Compology สามารถวิเคราะห์ภาพได้มากกว่า 80 ล้านภาพจาก162,000กล้องที่ได้มีการติดตั้งไปแล้ว
Gates กล่าวว่า ยิ่งมีภาพถ่ายเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ที่ได้จากภายในถังขยะ ก็จะยิ่งสามารถคัดกรองขยะได้แม่นยำยิ่งขึ้น
นับว่างานของ Compology นั้น เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับสหรัฐฯที่ไม่สามารถส่งออกขยะรีไซเคิลไปจีนได้
ค่าบริการของ Compology อยู่ระหว่าง 10-20 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนต่อถังขยะ ทั้งนี้ บริษัทได้ช่วยให้หลายๆธุรกิจประหยัดเงินได้เป็นพันๆดอลลาร์สหรัฐฯต่อถังขยะต่อปีในเรื่องค่าขนขยะ AI ยังได้ช่วยคาดการณ์กำหนดเวลาการให้บริการของแต่ละถังขยะได้ด้วย เพราะฉะนั้น ถังขยะก็จะถูกขนไปเททิ้งเมื่อใกล้จะเต็มเท่านั้น
ในอนาคต Gates หวังว่า Compology จะช่วยทำให้ของเสีย หรือขยะต่างๆ ได้รับการวัดอย่างเป็นมาตรฐาน และมีการรายงาน เพื่อให้ทราบว่าเราทำให้เกิดขยะไปมากเท่าไหร่ เหมือนกับการวัดน้ำ ไฟฟ้า แก๊ส ที่ใช้กันมาหลายทศวรรษ
ที่มาและภาพ: