22 ธ.ค. 2020 เวลา 08:50 • หนังสือ
สรุปหนังสือ “ทำไม สิ่งนี้ ถึงดีต่อสุขภาพ”
เล่มนี้ เป็น 1 ในเล่มที่ admin เอาไปแชร์ ที่ Bookoins Book Club ครั้งที่ 15 - Theme: Book of the Year 2020 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาค่ะ โดยอ.นภดล ได้กรุณา สรุปพูดถึงใน Nopadol's Story podcast ด้วยค่ะ
เลยเอา slide ที่ไป present วันนั้นมาแบ่งปันให้แฟนเพจได้อ่านกันค่ะ 🙂
หน้าปก ทำไมสิ่งนี้ถึงดีต่อสุขภาพ
หนังสือเล่มนี้เป็นของ สำนักพิมพ์วีเลิร์น
เขียนโดย นพ. โคะบะยะชิ ฮิโระยุกิ ศาสตราจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยจุนเท็นโด จบด้าน กุมารศัลยศาสตร์มา มีผลงานวิจัยมากมาย ปัจจุบันก็ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา ที่ได้รับการยอมรับจากสมาคมกีฬาญี่ปุ่นอีกด้วย
ผู้เขียน
ตอนนี้อาจารย์ท่านสนใจศึกษาเกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติเป็นอย่างมาก เนื้อหาในเล่มนี้หลักๆจึงอธิบายหลักการดูแลสุขภาพ โดยเชื่อมโยงกับ “ระบบประสาทอัตโนมัติ” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย
ภาพรวม
“ระบบประสาทอัตโนมัติ”นี้ แยกมาจากระบบประสาทส่วนปลาย ซึ่งบังคับไม่ได้ แต่จะคอยควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายให้ทำงานสมดุลกันตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลาที่เราหลับ ก็ยังควบคุมให้เราหายใจเข้าออกได้เอง ซึ่งแบ่งเป็น
1. “ระบบประสาทพาราซิมพาเทติก” ช่วยควบคุมร่างกายให้อยู่ในภาวะผ่อนคลาย
2. “ระบบประสาทซิมพาเทติก” ช่วยควบคุมร่างกายให้อยู่ในภาวะตื่นตัว
หรือที่บางคนอาจเคยได้ยินว่า “Fight or Flight - สู้ หรือ หนี”
โครงสร้างของระบบประสาท
รูปแบบการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ มีด้วยกัน 4 รูปแบบคือ
1. ทั้งซิมพาเทติก และ พาราซิมพาเทติก ทำงานมากสมดุลพอๆกัน แบบนี้จะทำให้สุขภาพดีได้มากที่สุด ซึ่งไม่ใช่สมดุลแบบ 1:1 แต่ควรมีพาราซิมพาเทติกมากกว่านิดหน่อย กำลังดี
2. ซิมพาเทติก ทำงานมากขึ้นมาก ในขณะที่ พาราซิมพาเทติก ทำงานลดลงผิดปกติ ภาวะนี้จะทำให้ร่างกายเจ็บป่วยง่าย
3. พาราซิมพาเทติก ทำงานมากเกินไป ในขณะที่ ซิมพาเทติก ทำงานลดลง ต่อเนื่องนาน จะทำให้ป่วยเป็นโรคทางใจ หรือซึมเศร้าได้ง่าย
4. แต่ถ้า ซิมพาเทติก และ พาราซิมพาเทติก ทำงานลดลงทั้งคู่ จะทำให้เหนื่อยง่าย ไม่มีอารมณ์ทำอะไร
รูปแบบการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ
ยกตัวอย่าง สุขภาพกับความสมดุลของระบบประสาทอัตโนมัติ
หนังสือเล่มนี้บอกว่า "เดิน" ส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่า "วิ่ง"
เพราะในขณะที่เดิน จะมีการหายใจลึก กระตุ้นพาราซิมพาเทติกให้ทำงานมากขึ้น หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น ออกซิเจน และ สารอาหาร สามารถลำเลียงไปเลี้ยงเซลล์ส่วนปลายได้ทั่วถึง ส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่า การวิ่ง โดยเฉพาะการวิ่งเร็วมากๆจนเหนื่อยหอบ ทำให้หายใจเร็วตื้น ระบบไหลเวียนเลือดแย่ลงได้
เดิน ส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่า วิ่ง
พฤติกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้ พาราซิมพาเทติกให้อยู่ในสภาพทำงานได้ดีอยู่เสมอ ช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง มีสมาธิดีขึ้น และดึงศักยภาพมาใช้ได้เต็มที่ ได้แก่
1.ผ่อนคลาย ไม่เร่งรีบ เช่น ควรเผื่อเวลา ไปถึงที่ทำงาน หรือที่นัดหมายก่อนเวลา 30 นาที เผื่อมีปัญหาขัดข้องจะได้แก้ไขได้ทัน
2. นอนหลับสนิทและเพียงพอ อย่างน้อย 7 - 9 ชั่วโมง และถ้าตื่นเช้าได้จะดีมาก
3. ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
4. รักษาสมดุลการทำงานของลำไส้ อย่าให้ท้องผูก โดยดื่มน้ำให้เพียงพอ อาจกินโยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์ ช่วยสร้างสมดุลลำไส้
5. เดินเล่นอย่างน้อย 30 นาทีหลังมื้อเย็น
6. ค่อยๆ หายใจลึกๆ
พฤติกรรมที่ส่งเสริมพาราซิมพาเทติก
นอกจากนี้สามารถนำหลักการนี้มาปรับใช้กับการทำงาน เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ โดย
ตอนเช้า : ซิมพาเทติก ทำงานมากกว่า เหมาะกับงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์เชิงลึก เรียนภาษา
กลางคืน : พาราซิมพาเทติก ทำงานมากกว่า ทำให้ผ่อนคลาย แต่ลดแรงจูงใจในการทำงาน ควรทำงานง่ายๆ ไม่ต้องใช้สมองมาก เช่น เช็ค e-mail
หรือ การเขียนจดหมายรัก ถ้าเขียนตอนกลางคืน อาจทำให้จีบไม่สำเร็จ ผลจาก พาราซิมพาเทติกทำงานมาก ใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล อาจเผลอเขียนเรื่องน่าอายลงไป ในเล่มนี้จึงแนะนำว่า ถ้ามีเวลาเขียนจดหมายรักแค่ช่วงกลางคืน ให้มาอ่านทบทวนอีกทีตอนช่วงเช้าจะดีกว่า
แต่ การพูดคุยจีบกันต่อหน้าตรงๆ ตอนกลางคืนโอกาสสำเร็จมากกว่า เพราะอีกฝ่ายจะรู้สึกผ่อนคลาย ใช้เหตุผลลดลง
คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ด้วยระบบประสาทอัตโนมัติ
...สรุปคือ วิธีปรับระบบประสาทอัตโนมัติให้กลับมาสมดุล จนมีจิตใจที่สงบได้ดีที่สุดก็คือ "ค่อยๆทำ"...
Quote
My Memories Reviews ep.8
22/12/2020
#MyMemoriesReviews #เรื่องน่าจำนำมาเล่า
#ทำไมสิ่งนี้ถึงดีต่อสุขภาพ
#ระบบประสาทอัตโนมัติ
#WeLearn

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา