30 ธ.ค. 2020 เวลา 01:30 • ธุรกิจ
จากพ่อค้าไม้ถูพื้นออนไลน์สู่ CEO สตาร์ทอัพไทย eCommerce รายได้ 1.2 พันล้านบาทต่อปี เติบโตกว่า 2 เท่าต่อปี ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
1
วันนี้ Career Fact ขอมานำเสนอเรื่องราวของคุณนัฐพล บุญภินนท์ อดีตพ่อค้าขายไม้ถูพื้นออนไลน์ที่ปัจจุบันขึ้นนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น-สแควร์ อีคอมเมิร์ซ จำกัด สตาร์ทอัพไทย e-Distributor และ eCommerce ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับรายได้ต่อปีกว่า 1.2 พันล้านบาท
#รู้จักพี่หนึ่ง
คุณนัฐพล บุญภินนท์ หรือพี่หนึ่ง อายุ 37 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิศวะคอมพิวเตอร์ ได้รับทุนการศึกษาจาก สบทช. และคลุกคลีอยู่ในแวดวงวิชาการระยะหนึ่ง
ก่อนจะมาเปิดบริษัทซอฟต์แวร์เฮ้าส์กับเพื่อน ในขณะนั้นพี่หนึ่งมีอาชีพเสริมเป็นพ่อค้าขายเสื้อผ้ามือสอง จากนั้นเห็นโอกาสธุรกิจออนไลน์จึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัท N-Squared eCommerce ตัวแทนจำหน่ายและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ที่มีรายได้ต่อปีกว่า 1.2 พันล้านบาท และคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าภายในสิ้นปีนี้ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา ทางบริษัทยังได้รับเงินลงทุนในรอบ Series A Funding จากนักลงทุนสถาบันชั้นนำอีกด้วย
#อาชีพแรกคือนักเขียนซอฟต์แวร์
หลังเรียนจบ พี่หนึ่งกับเพื่อนๆ เข้าร่วมการแข่งขันไอทีแห่งหนึ่งและเป็นผู้ชนะการแข่งขัน พวกเขาได้รับโอกาสเข้าไปฝึกงานในบริษัท Tech ชั้นนำของโลกที่ประเทศสิงคโปร์ ที่นั่นเขาได้นำซอฟต์แวร์ที่ชนะการแข่งขันไปด้วย Mentor ของพวกเขาชื่นชมผลงานนี้มาก และแนะนำให้พวกเขากลับประเทศไทยเพื่อพัฒนามันอย่างจริงจัง
เขาตัดสินใจกลับประเทศไทย ร่วมหุ้นกับเพื่อนที่คณะเพื่อเปิดบริษัทซอฟต์แวร์เฮ้าส์ที่ให้บริการด้านเครือข่ายโทรศัพท์ ภายใต้ชื่อ Zenith Core โดยผลงานที่ประสบความสำเร็จมากๆ ในตอนนั้นคือการทำระบบปฎิบัติการ Symbian เวอร์ชั่นภาษาไทยให้กับบริษัทโทรศัพท์ชั้นนำ รวมสะสมประสบการณ์ด้านไอทีนานถึง 8 ปี
#พ่อค้าขายเสื้อผ้ามือสอง
ในระหว่างที่พี่หนึ่งทำงานด้านไอที เขาได้ถูกชักชวนจากเพื่อนให้ไปขายเสื้อผ้าชั่งกิโลมือสอง ปรากฎว่าขายดีมากๆ จนสามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว ส่วนสาขาที่เปลี่ยนชีวิตเขาตลอดกาลคือสาขาที่จังหวัดอุดรธานี ที่นั่นเขาไปเช่าพื้นที่ในห้างขายสินค้าแฟชั่นแห่งหนึ่ง ซึ่งเพื่อนสนิทของเขาคนหนึ่งเป็นเจ้าของโครงการ
ร้านขายเสื้อผ้าชั่งกิโลของพี่หนึ่งขายดีมากๆ ยอดขายต่อวันกว่า 6 หมื่นบาท ในขณะที่ร้านอื่นๆ ของคนในพื้นที่ยอดขายไม่ดีเท่า เมื่อเจ้าของโครงการเห็นเช่นนั้นแล้วจึงได้ชวนพี่หนึ่งมาบริหารห้างเพิ่มเติม พี่หนึ่งตัดสินใจเปิดร้านใหม่ๆ เพิ่ม ทั้งขายเสื้อยืดและเสื้อคาร์ดิแกน ภายหลังคิดพลิกแพลงขยับไปจับสินค้าของใช้ในบ้าน และตัดสินใจสั่งไม้ถูพื้นมา 1 ตู้คอนเทนเนอร์
ไม้ถูพื้นหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์ที่พี่หนึ่งสั่งมา ประกอบไปด้วยไม้ถูพื้น 3 รุ่น รวมทั้งหมด 2,000 ชิ้น และไม่สามารถขายได้เลยที่ห้างแฟชั่นดังกล่าว ตอนนั้นเขารู้สึกค่อนข้างเครียดเพราะว่าสั่งมาแล้ว ยังไงก็ต้องขายให้ได้ พี่หนึ่งดิ้นรนทุกวิถีทางและกดโทรศัพท์ปรึกษากัลยาณมิตรทั้งหลาย
หนทางที่พอจะมีแสงสว่างที่สุดในตอนนั้นคือการขายของออนไลน์และ Marketplace แรกที่เขารู้จักคือ Lazada สิ่งที่เขาทำก็ไม่ต่างจากคนขายของออนไลน์ทั่วไป เขาทั้งเตรียม Content และแผน Online Marketing ที่ดี ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2015 นับว่าพี่หนึ่งเป็นผู้บุกเบิกเจ้าแรกๆ บนตลาดออนไลน์เลยก็ว่าได้
#Online #Marketplace
1
สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ขายของบน Lazada พวกเขามองว่า ทาง Lazada ต้องหาลูกค้ามาให้ เนื่องจากได้เสียค่าส่วนแบ่งยอดขายให้แล้ว อย่างไรก็ตาม พี่หนึ่งเชื่อว่าหากร้านค้าต้องการจะอยู่รอดก็ต้องไม่นั่งรอลูกค้าเดินเข้ามาอย่างเดียว สิ่งนี้เขาเรียนรู้จากพ่อค้าแม่ค้าที่อุดรฯ นั่นคือคนที่อยู่ได้คือคนที่ออกไปแนะนำตัวเองและแจกใบปลิว
เช่นเดียวกัน สิ่งที่เขาทำคือการยิงโฆษณาไปที่ Facebook เพื่อทำให้ร้านของเขาใน Lazada เป็นที่รู้จัก ทำให้เริ่มมี Traffic ไหลเข้ามา และเมื่อมีลูกค้าแวะเวียนเข้ามามากขึ้น ยอดขายก็จะเพิ่มขึ้น พอยอดขายเพิ่มขึ้น อัลกอริทึมของ Lazada ก็จะเริ่มมองว่าร้านของเขาน่าสนใจและช่วยโปรโมตร้านของพี่หนึ่งด้วยการ Retargeting กล่าวคือ การยิงโฆษณาหากลุ่มเป้าหมายเดิมที่แสดงความสนใจร้านพี่หนึ่งแต่ยังไม่เคยซื้อ เกิดเป็น Snowball Effect ที่ทำให้ร้านของเขาประสบความสำเร็จในการขาย
1
#Offline #LostLeader
ขณะเดียวกัน พี่หนึ่งสังเกตเห็นบางอย่างขณะทำงานอยู่ที่อุดรฯ เขาบอกว่าอุดรฯ คือเมืองหลวงแห่งวัสดุก่อสร้าง เวลาขับรถไปตามท้องถนนจะพบกับแวร์เฮ้าส์ใหญ่ๆ และก็จะเห็นป้ายโฆษณาเรียงรายตามทางอยู่ตลอด เขายกตัวอย่างเหตุการณ์ตอนเขาเห็นป้ายโปรโมชั่นสว่านราคา 399 บาท เขาตัดสินใจหยุดรถเพื่อเข้าไปซื้อสว่านตัวนั้นทันที อย่างไรก็ตาม พอเข้าไปหาในร้านกลับไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะนอกจากจะใช้เวลาตามหาสินค้าดังกล่าวนานมากแล้ว ยังโดน Up-sell ให้ซื้อสิ่งที่ดีกว่าและราคาสูงกว่าจากการเปรียบเทียบสินค้าบนเชล์ฟอีก วันนั้นพี่หนึ่งที่ตั้งใจจะซื้อสว่านราคา 399 ต้องกลับออกมาพร้อมสว่านราคา 1,300 บาท ซึ่งกลยุทธ์การตลาดนี้เรียกว่า “Lost Leader”
1
เช่นเดียวกันพี่หนึ่งตัดสินใจนำความน่าสนใจของตลาดออฟไลน์และลอกเลียนแบบมาดื้อๆ เลย ในจำนวนไม้ถูพื้น 3 รุ่นที่สั่งมา มีอยู่รุ่นหนึ่งที่ทำยอดขายได้ไม่ดีนัก ทว่าหลังจากพี่หนึ่งนำกลยุทธ์ดังกล่าวมาใช้ ก็มี Foot Traffic เข้ามาหน้าร้านทั้งออนไลน์และออฟไลน์มากขึ้น ทำให้เริ่มขายรุ่นที่ไม่ค่อยมีคนซื้อออกและสามารถเคลียร์ไม้ถูพื้นทั้ง 2,000 ชิ้นหมดได้ภายในระยะ 6 เดือนเท่านั้น
หลังจากประสบความสำเร็จจากการขายไม้ถูพื้น พี่หนึ่งก็สรรหาสินค้าใหม่ๆ มาขายเพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นไปที่ของใช้ในบ้านเช่นเคย เพราะเชื่อว่ายังมีช่องว่างในตลาดอยู่ รวมถึงจำนวนผู้เล่นยังไม่เยอะมาก จากเดือนแรกที่ขายได้แค่เพียง 29 ออเดอร์ คิดเป็นมูลค่า 7,000 บาทเท่านั้น ปัจจุบันดำเนินการขายในชื่อของ “HomeHuk” ภายใต้บริษัท N-Squared ยอดขายวันละ 5,000 ออเดอร์ มูลค่าต่อเดือนกว่า 50 ล้านบาท ทำให้ Homehuk เป็นผู้นำในหมวด Home & Living และจัดเป็นอันดับ 1 ในตลาดออนไลน์
1
#Ecommerceเต็มตัว #NSquared
หลังจากสั่งตู้คอนเทนเนอร์ตู้ที่ 3 พี่หนึ่งตัดสินใจลาออกจากบริษัทซอฟต์แวร์เฮ้าส์ และมาจริงจังกับการขายของใช้ในบ้าน เปิดบริษัท HomeHuk และติด Branding ให้กับสินค้าที่คัดเลือกเข้ามาขาย ขณะนั้นประสบความสำเร็จมากจนได้รับการจัดลำดับจาก Lazada ให้ HomeHuk เป็นอันดับหนึ่งของจำนวนออเดอร์ ทว่าพี่หนึ่งมองว่า หากขายสินค้าแบบติด Label แบบนี้อย่างเดียว ก็ดูจะมีความเสี่ยงมาก เพราะคู่แข่งมากขึ้นทุกวัน อีกทั้งเจ้าใหญ่ๆ จากจีนก็กำลังบุกเข้ามาประเทศไทย
4
พี่หนึ่งเล่าว่า “ในตอนนั้น Alibaba เริ่มเข้ามาซื้อหุ้นบางส่วนของ Lazada แล้ว”
1
ตอนนั้นเองเขาได้รับแรงบันดาลใจจากโมเดลธุรกิจของ TaoBao Partner ที่ทำหน้าที่เป็น Digital Distributor โดยทั่วไปการเป็นผู้แทนจำหน่ายจะแบ่งตามพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน แต่ TaoBao คือ Distributor ภาคออนไลน์ เขาเริ่มติดต่อและขอคำปรึกษาจาก Lazada เขาอยากจะเป็น Lazada Partner เจ้าแรกๆ ของประเทศไทยให้ได้ จนสุดท้ายเกิดมาเป็น N-Squared Ecommerce ที่เป็น E-Distrbutor ให้กับแบรนด์ชั้นนำ และยังคงขายสินค้า Direct-to-Consumer ภายใต้แบรนด์ Homehuk และ XtivePro อีกด้วย ในปี 2019 N-Squared มีรายได้ (Revenue) รวมกว่า 1.2 พันล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะเติบโต 2 เท่าสิ้นปีนี้
2
เมื่อถามถึง Key Success ของ N-Squared พี่หนึ่งตอบว่าเป็นเนื่องจากบริษัทใช้ระบบขายสินค้าโดยตรงถึงลูกค้าโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง (Direct-to-Customer) ทำให้มี Insight ของลูกค้าที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดไปอีกได้ อีกทั้งยังมีทรัพยากรบุคคลที่ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมอีก เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้หุ้นส่วนทางธุรกิจคนอื่นๆ ไว้ใจและลงเรือลำเดียวกัน มากกว่านั้นคือเขาสามารถแสดงให้ทุกฝ่ายเห็นว่าผลประโยชน์ของบริษัทและเจ้าของสินค้าเหมือนกัน เขาไม่เชื่อว่าการเก็บค่าบริการเพื่อมาทำการตลาดให้อย่างเดียวจะยั่งยืน เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนก็คุยกันบนพื้นฐานของคำว่า Margin คำว่ากำไรและขาดทุนเป็นพื้นฐานที่ขับเคลื่อนโลกทุนนิยม หากทำให้ทุกฝ่ายเห็นเป้าได้ชัดเจน ทุกคนก็พร้อมจะลงเรือไปด้วยกัน
4
“Distributor แบบดั้งเดิมคือการทำงานจากการเจรจาผ่านความสัมพันธ์ สำหรับการเป็น e-Distributor เราอ้างอิงจากข้อมูลล้วนๆ พูดคุยกันบน Data” พี่หนึ่งกล่าว
#RunsOnProfit #กำไรตั้งแต่วันแรก
บริษัท eCommerce ส่วนใหญ่มักจำต้องทำธุรกิจบนการขาดทุน อย่างไรก็ตาม สำหรับ N-Squared แม้ว่าปัจจุบัน ทางบริษัทจะได้รับเงินลงทุนในรอบ Series A Funding แต่ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่เคยใช้จากเงินทุนภายนอกเลย เพราะสามารถสร้างกำไรมาได้โดยตลอด N-Squared มองตัวเองเป็นทั้ง Startup และ SME โดยเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า การมองตัวเองเป็น SME จะทำให้สามารถ Lean ได้ดีกว่า เพราะหากมองว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ “Other’s people money” เขาก็จะยิ่งใช้เงินอย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น พี่หนึ่งมองว่า หน้าที่สูงสุดของผู้บริหารคือการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และผลประกอบการก็จะเป็นตัวชี้วัดของเหล่าผู้ถือหุ้นเอง
1
“SME ไม่ได้มี Luxury ของการ Burn ทุกอย่าง เราจะไม่ผลาญเงินเพื่อซื้อ GMV” เขากล่าวทิ้งท้า
(GMV คือ Gross Merchandize Volume หรือยอดขายสินค้า Online รวม คำนวณจาก จำนวนชิ้นที่ขายได้ คูณราคาขาย)
“Career Fact เพราะทุกอาชีพมีเรื่องราว”
#careerfact
………………
สามารถติดตามเรื่องราวดีๆ ต่อได้ที่ Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว (อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเท้นท์ดีๆ)
โฆษณา