3 ม.ค. 2021 เวลา 02:36 • หนังสือ
สรุปหนังสือ | หนังสือเสียง 10 | เรื่อง ความลับของ Productivity ที่นักวิทยาศาสตร์อยากบอกคุณ (Smarter Faster Better โดย Charles Duhigg)
หนังสือเล่มนี้เกิดจากที่ผู้เขียนคิดว่าตัวเองมีเวลาไม่พอ ต้องการมีประสิทธิภาพ คือ พยายามหาวิธีที่เยี่ยมที่สุดเพื่อประโยชน์จากพลังงาน สติปัญญา เวลาของเรา พร้อมทั้งไขว่คว้ารางวัลที่มีความหมายที่สุด โดยสร้างความสูญเปล่าน้อยสุด เป็นกระบวนการเรียนรู้วิธีประสบความสำเร็จที่เครียดน้อย และ ลำบากน้อย ทำสิ่งต่างๆให้เสร็จโดยไม่ต้องเสียสละทุกอย่างที่เราให้ความสำคัญ
ผู้เขียนได้ติดต่อและรวบรวมข้อมูลจากนักประสาทวิทยา นักธุรกิจ ผู้นำรัฐบาล นักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านประสิทธิภาพในสาขาอื่น ผู้สร้างภาพยนตร์Frozen นักวิจัยที่Google นักเขียนบทของรายการทีวีSaturday Night Live เจ้าหน้าที่FBI ซึ่งสังเกตว่า แนวคิดที่ใช้เป็นแนวคิดที่เหมือนกัน ซึ่งเชื่อมโยงกันภายใต้หลักการพื้นฐานที่ทรงพลังคือ ประสิทธิภาพไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานให้มากขึ้น แต่เป็นเรื่องของการตัดสินใจเลือกโดยใช้วิธีการบางอย่าง แนวทางที่เราเลือกมองตัวเอง และวางกรอบสำหรับการตัดสินใจในแต่ละวัน เรื่องราวที่เราบอกตัวเอง และเป้าหมายที่เรามองข้ามไป
เป็นหนังสือที่รวบรวมรายละเอียดและมีตัวอย่างที่ผู้เขียนเล่าได้เห็นภาพมากๆเลยค่ะ เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น อย่าลืมไปซื้อหนังสือมาอ่านกันนะคะ จูลว่าเป็นหนังสืออีกเล่มเลยที่ต้องมาทำความเข้าใจค่ะ
หนังสือเสียง https://youtu.be/mYaKL4rc2gE
งั้นเรามาดูกันค่ะว่า เราจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไรกับ
แนวคิด8 ประการต่อการเพิ่มประสิทธิภาพ
1. แรงจูงใจ
....แรงจูงใจเกิดจากการตัดสินใจเลือกที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งนั้น รู้สึกว่าตัวเองมีอิสระ สามารถตัดสินใจทุกอย่างด้วยตัวเอง จึงเต็มใจที่จะทำสิ่งนั้น ทำให้คิดที่จะทำในสิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้ โดยพยายามเรียนรู้ทำสิ่งที่อยากได้ ด้วยการถามตนเองว่า "ทำไม" เมื่อเริ่มโครงการใหม่ หรือ ทำงานที่ไม่พอใจ โดยทุกสิ่งเกิดจากการเลือกจากภายใน เชื่อว่าตัวเองมีอำนาจควบคุม รู้สึกว่าเราเป็นฝ่ายกำหนดสิ่งต่างๆเอง
....การทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ขึ้นกับตัวเอง ไม่ใช่ปัจจัยภายนอก เป็นผลลัพธ์จากความพยายาม เรียนรู้ได้ เป็นเรื่องราวของอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าภารกิจที่ต้องทำ
....การถามตนเองว่า"ทำไม" จะทำให้เห็นส่วนประกอบที่ยิ่งใหญ่ เช่น โครงการ เป้าหมาย คุณค่า ภารกิจที่ยากจะรู้สึกง่ายขึ้น
....จากการทดลอง การถูกชมว่า "ตั้งใจ" เป็นการเสริมว่าเขามีอำนาจควบคุมตัวเองและสิ่งแวดล้อม ทำให้เลือกที่จะแก้โจทย์ยาก จดจ่อได้นาน และรู้สึกสนุก
แต่หากชมเรื่อง"ความเฉลียวฉลาด" เป็นการกระตุ้นให้เชื่ออำนาจที่ถูกควบคุมโดยภายนอก จึงมุ่งที่จะแก้โจทย์ง่าย ผลักดันตัวเองน้อย รู้สึกไม่สนุกกับสิ่งที่ทำ
....การต่อต้านคือ ต้องการมีอำนาจเลือกด้วยตัวเอง ควรให้รางวัลแก่คนคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ชมเชยเมื่อคนอื่นจูงใจตนเอง อยากทำอะไรด้วยตนเอง ควรปรบมือให้เด็กที่ดื้อรั้นเชิงต่อต้าน และ เชื่อมั่นว่าตนเองถูก
2. ทีม
....บรรทัดฐานของทีม ทีมจะค่อยๆสร้างบรรทัดฐานที่มีร่วมกันเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ควรทำคือ ขนบธรรมเนียม มาตราฐานทางพฤติกรรม กฎเกณท์แบบไม่มีลายลักษร์อักษร เชื่อมโยงกับประสิทธิภาพของทีม เป็นประสบการณ์ทางอารมณ์ เช่นความรู้สึกปลอดภัย / ถูกคุกคาม เหนื่อยล้า/ตื่นเต้น มีแรงจูงใจ/หมดกำลังใจ ซึ่งทีมที่มีประสิทธิภาพสูงคือ ทีมที่มีความปลอดภัยทางจิตใจสูง เป็นบรรยากาศที่ไว้วางใจกัน เคารพกันและกัน เป็นตัวของตัวเอง อาจไม่เกี่ยวกับความฉลาดเฉพาะบุคคล (บางทีมมีแต่คนเก่งแต่ขาดเรื่องนี้ก็ไม่มีประสิทธิภาพ) ไม่กลัวที่จะเผยจุดอ่อนของตัวเอง กล้าเสนอความคิด กล้าล้มเหลวโดยไม่ถูกลงโทษ ไม่ตัดสินกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
โดยเริ่มจากผู้นำสูงสุด ยอมรับฟังและไวต่อความรู้สึกคนรอบตัว ให้สิทธิในการพูดเท่าเทียมกันทุกคน ไม่ตัดบทคนอื่น คาดเดาว่ามีปฎิกิริยายังไงแล้วพยายามปรับตัวตามกิริยานั้น ทำให้คนตรงหน้ารู้สึกเหมือนเป็นคนสำคัญที่สุดในโลก รู้สึกมีคนรับฟังและพร้อมสนับสนุน ใส่ใจต่อคนอื่นอย่างใกล้ชิด ยินดีมอบอำนาจควบคุมให้กันและกัน ทีมเกิดแรงบันดาลใจจากสิ่งเดียวกัน ทีมจะให้กำลังใจกัน และ แต่ละคนรู้สึกเหมือนตนเองเป็นดาวเด่น
....บรรทัดฐานทีมที่ประสบความสำเร็จสูง 5 ประการ
1. ทีมต้องเชื่อว่างานของตนเองมีความสำคัญ
2. ทีมต้องรู้สึกว่า งานของตนเองมีความหมายต่อตนเอง
3. ทีมต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และ ระบุบทบาทให้แน่นอน
4. สมาชิกในทีมต้องรู้ว่าพวกเขาสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้
5. ทีมต้องมีความปลอดภัยทางจิตใจ
3. การจดจ่อ
....มนุษย์เรามีระบบความคิดอัตโนมัติ เรียกว่า "ทางลัดทางความคิด" (Neuristics) ช่วยให้เราทำงานหลายอย่างได้พร้อมกัน ทำให้เลือกได้ว่า จะจดจ่อกับอะไร และ เพิกเฉยกับอะไร โดยที่เราไม่รู้ตัว ยิ่งมีระบบอัตโนมัติมากขึ้น ระยะเวลาที่เราจะจดจ่อกับสิ่งใดส่งหนึ่งมีแนวโน้มลดลง ยิ่งต้องเรียนรู้วิธีการจัดการกับการจดจ่อของเรา
....การติดในอุโมงค์ความคิด (Cognitive Tunneling) คือ ความขัดข้องทางความคิด เกิดเป็นครั้งคราวเมื่อสมองถูกบังคับให้เปลี่ยนจากระบบอัตโนมัติที่ผ่อนคลาย ไปเป็นการจดจ่ออย่างตื่นตระหนก คือ ไม่รู้จะจดจ่อกับอะไร ทำให้ไปจดจ่อกับสิ่งที่เด่นที่สุดตรงหน้าเท่านั้น
....เวลาที่เราจดจ่อเราเลือกได้ว่า จะส่องสปอร์ตไลท์ไปที่จุดเดียว หรือหลายจุดตามใจเรา แต่ถ้าเราปล่อยให้เป็นระบบอัตโนมัติ สมองจะหรี่ไฟและส่องไปที่ไหนก็ได้เพื่อประหยัดพลังงาน เป็นการผ่อนคลายของสมอง ซึ่งสมองมักทำ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือเหตุการณ์ที่เราไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน สปอร์ตไลท์เลยไม่รู้ว่าจะส่องไปตรงไหน จึงส่องสิ่งที่อยู่ตรงหน้าโดยไม่คำนึงถึงเหตุผล เช่น พูดไปโดยไม่ได้คิด ทำอะไรไม่ถูก จดจ่อกับมือถือทั้งๆที่ลูกร้อง เหยียบเบรคเมื่อเห็นไฟแดง
....การคิดเชิงตอบสนอง (Reactive Thinking) คือ หัวใจหลักในการจัดการความจดจ่อ คือ การฝึกซ้อมการเคลื่อนไหวบางอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้สามารถลงมือทำได้อย่างอัตโนมัติ ไม่ผ่านการคิดและการควบคุมและตัดสินใจ (เป็นแนวทางการสร้างนิสัย)
แต่ข้อเสียคือ มันอาจมีพลังเหนือการตัดสินใจ หากตอบสนองไม่ถูกต้อง เรื่องจะเลวร้ายลง
....ทำไมบางคนถึงดูสงบนิ่ง และ จดจ่อ ตัดสินใจเลือกได้ดี ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันวุ่นวาย เครียด กดดันเรื่องเวลา แต่บางคนกลับหัวหมุน สับสน เพราะว่า เขาฝึกที่จะจินตนาการภาพในหัวว่า น่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ทำให้เมื่อเกิดสถานการณ์จริง จึงสามารถจดจ่อ หรือเพิกเฉยในสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่สับสนกับข้อมูลและความกดดันที่ประดังเข้ามา นิสัยนี้ฝึกได้ โดยเล่าสิ่งรอบตัวให้ตัวเองฟงั ฝึกจินตนาการถึงเรื่องที่ทำเสมอ หรือ สิ่งที่คิดว่าจะเกิดในอนาคต จะทำให้สังเกตเห็นอะไรที่ไม่มี อะไรที่ออกนอกลู่นอกทาง อะไรที่เป็นสัญญาณเตือน
คนมีประสิทธิภาพต้องควบคุมการจดจ่อของตัวเอง เช่น จะประชุม เจ้านายน่าจะพูดเรื่องอะไร เพื่อนร่วมงานน่าจะคัดค้านเรื่องอะไร เรื่องจะดำเนินไปยังไง มีใครถามอะไร
....ในการสมัครงาน บริษัทต้องการผู้สมัครที่รู้จักเล่าเรื่องราว เพราะบ่งบอกว่าเขามีสัญชาติญาณในการปะติดปะต่อข้อมูล และ เข้าใจความเป็นไปได้ของโลกอย่างลึกซึ้ง
....พนักงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มักมีคุณสมบัติดังนี้
1. มักทำงานทีละ 5 โครงการ (เหมาะสมแต่ไม่เยอะมาก)
2. เลือกทำโครงการที่ต้องพบปะเพื่อนร่วมงานหน้าใหม่และอาศัยทักษะใหม่ๆ
3. ชอบทำโครงการที่อยู่ในระยะตั้งไข่ ทำให้ได้เรียนรู้บางอย่างที่ทำในระยะอื่นไม่ได้เรียนรู้
4. ชอบคิดคเนทฤษฎีในหัวข้อต่างๆออกมามากมาย เล่าเรื่องราวกับสิ่งที่ตัวเองเห็นและได้ยินตลอดเวลา นึกภาพจำลองความคิดตลอด เช่น นึกภาพควรเสนอขายยังไง ยกบทสนทนาในอดีตเป็นตัวอย่าง และ คิดค้นแผนขยายกิจการที่ไม่น่าเป็นไปได้ วิเคราะห์บทสนทนาทีละส่วน พยายามหาคำตอบตลอดเวลาว่าข้อมูลแต่ละชิ้นประกอบเป็นภาพรวมยังไง
4. การกำหนดเป้าหมาย
....เลือกเป้าหมายสุดเอื้อม และ แบ่งซอยเป้าหมายออกเป็นย่อยๆและเขียนเป้าหมายแบบ SMART
....คนที่ประสบความสำเร็จสูงสุด มีความเป็นระเบียบ เด็ดขาด คาดการณ์ได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย รังเกียจเพื่อนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้และสถานการณ์ที่คลุมเคลือ ต้องการข้อสรุปจากความคิด มักเป็นคนมีวินัย และเป็นผู้นำ สัญชาติญาณในากรตัดสินใจ และ ยึดมั่นในคำตัดสินใจนั้นๆ ช่วยยับยั้งการคาดการณ์โดยไม่จำเป็น และการโต้เถียงที่ยาวนาน ขยับไปแก้ปัญหาข้อต่อไป รู้สึกถึงความก้าวหน้า
....ข้อเสียของความต้องการข้อสรุป ก่อให้เกิดอคติในกระบวนการตัดสินใจ เป็นตัวกระตุ้นความใจแคบ ความอยากใช้อำนาจ ต้องการก่อความขัดแย้งแทนการร่วมมือ จะไม่อดทน หุนหันพลันแล่น มีความคิดตายตัว ไม่ยอมรับมุมมองที่ต่างจากตัวเอง เมื่อรีบร้อนตัดสินใจแค่รู้สึกว่าทำอะไรบางอย่างเสร็จแต่อาจมีข้อผิดพลาด
....คนที่มีความเด็ดขาดมีสัญชาติญาณในการคว้าจับทางเลือก เมื่อเป็นไปตามเกณท์ขั้นต่ำที่ยอมรับได้ เป็นแรงกระตุ้นที่มีประโยชน์ ทำให้ลงมือทำแทนที่จะถกเถียง แต่ถ้าต้องการข้อสรุปอย่างแรงกล้า จะยึดติดกับเป้าหมายจนเสียการใช้หตุผล มองไม่เห็นรายละเอียด
....เกณท์วางเป้าหมายแบบ SMART คือ
1. เฉพาะเจาะจง (Specific)
2. ประเมินผลได้ Measurable
3. บรรลุผลได้ Achievable
4. ปฎิบัติได้จริง Realistic
5. มีกรอบเวลาที่ชัดเจน Timeline
....ต้องระบุขั้นตอนการทำหรือเปลี่ยนแปลงหากทำไม่ได้จริง ซึ่งเป้าหมายแบบนี้ปฎิบัติได้จริงและจับต้องได้ และพยายามหาวิธีทำให้เป็นจริง ต้องเป็นเป้าหมายที่บรรลุผล และ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ พร้อมทั้งบังคับให้คนทุ่มเทกับเป้าหมายที่ทะเยอทะยานดูเกินเอื้อม สามารถกระตุ้นการก้าวกระโดด และ ประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไปสนใจอนาคตใหม่ๆ กระตือรือร้น กระตุ้นการเรียนรู้เชิงสำรวจ ผ่านการทดลอง นวัตกรรม ค้นหาอย่างครอบคลุม
....ข้อความระวัง คือ เป้าหมายสุดเอื้อมอาจทำให้คนเชื่อว่าไม่มีทางสำเร็จ เพราะฉะนั้นต้องสร้างแรงบันดาลใจและทำคู่กับการทำเป้าหมายแบบ SMART โดยต้องมีวิธีคิดที่มีระเบียบวินัย เปลี่ยนเป็นเป้าหมายระยะสั้นที่ปฎิบัติได้จริง ซอยเป้าหมายออกเป็นเป้าหมายเล็กที่จัดการง่าย เรื่องไหนทำได้จริงในวันถัดไป สัปดาห์ถัดไป เดือนถัดไป กรอบเวลาแบบไหนถึงสมเหตุผล จะประเมินความคืบหน้ายังไง และ ต้องคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นเป้าหมายที่สมเหตุผลที่ควรทำ ณ ตอนนี้หรือไม่
5. การบริหารจัดการคน
....ปรัชญาการทำงานแบบคล่องตัว การสร้างสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของการไว้วางใจ ทุ่มเท เพื่อความสำเร็จของกันและกัน
....การมอบอำนาจให้ตัดสินใจได้อย่างอิสระกับบุคคลที่ใกล้ปัญหามากที่สุด เช่น พนักงานระดับล่างของโตโยต้าที่มีสิทธิ์หยุดสายพาน FBIภาคสนาม สามารถเลือกวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดโดยไม่ต้องรออนุมัติ ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจในการควบคุม ก่อให้เกิดแรงจูงใจ กล้าคิดวิธีแก้ปัญหาที่ไม่เคยมีใครคิด เกิดองค์ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ๆ กล้าคิดใหญ่ มั่นใจว่าข้อเสนอแนะไม่ถูกเพิกเฉย กล้าทดลองทำ กล้าเสี่ยง เมื่อผิดพลาดจะไม่ถูกลงโทษ รู้ว่ามีคนหนุนหลังอยู่ เขาจะกล้าใช้ความเชี่ยวชาญ สัญชาติญาณตัวเองทุ่มเท รับผิดชอบเต็มที่ กล้าปลดปล่อยศักยภาพเพื่อความสำเร็จขององค์กร
....ความผิดพลาดที่เลวร้ายสุดคือ ไม่เคยมอบโอกาสให้พนักงานทำผิดพลาดเลย
6. การตัดสินใจ
.....คือการคิดถึงความเป็นไปได้ในอนาคต โดยบังคับให้ตัวเองนึกภาพอนาคตหลากหลายรูปแบบ หรือสถานการณ์ที่ขัดแย้งกัน เปิดใจรับความสำเร็จ และ ความล้มเหลวให้มากสุด ระบุสิ่งที่รู้และไม่รู้ ถามตัวเองว่าทางเลือกไหน มอบโอกาสที่ยอดเยี่ยมที่สุด เป็นการตั้งคำถามให้กับตัวเองว่า พรุ่งนี้ผลลัพธ์จะเป็นยังไง มีตัวแปรอะไรบ้างที่ควรพิจารณา เอาความน่าจะเป็นมาเปรียบเทียบกันด้วยหลักสถิติ (ซึ่งปกติคนส่วนใหญ่มักคิดความน่าจะเป็นในรูปแบบเดียวและคิดเป็นเรื่องที่บวกเสมอ) ยึดมั่นในโอกาสที่จะได้รับการตอบแทนในระยะยาว ยอมรับในความไม่แน่นอน เข้มแข็งมากพอที่จะยอมรับสิ่งที่อาจเกิดขึ้น
....ไม่แปลกถ้าหากว่า เรารู้สึกหวาดหวั่นเมื่อรู้ว่าการตัดสินใจมีความเสี่ยงมากแค่ไหน
....จิตวิทยาแบบเบย์ (Bayesian Psychology) คือ ถึงแม้เราจะมีข้อมูลน้อย แต่สามารถทำนายอนาคตโดยตั้งสมมติฐาน ปรับเปลี่ยนจากสิ่งที่สังเกตเห็น ยิ่งสมมติฐานถูก การตัดสินใจยิ่งถูก เราจะทำนายอย่างถูกต้องแม่นยำด้วยการพบเจอคนสำเร็จ และ ล้มเหลวให้มากที่สุด ไม่ศึกษาแต่ความสำเร็จแต่ต้องศึกษาและ หาข้อมูลเกี่ยวกับความล้มเหลวด้วย คิดวิเคราะห์ว่าทำไมสิ่งที่ทำไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ นึกถึงอุปสรรคและความสำเร็จที่อาจเกิดขึ้น คำนวณโอกาสที่น่าจะเป็นไปได้ เป็นการพัฒนาการหยั่งรู้โดยสัญชาติญาณ อาจพิจารณาการตัดสินใจเลือกในอดีต ว่าทำไมถึงมั่นใจว่าสถานการณ์จะออกมาแบบนั้น แล้วทำไมถึงคิดผิด
....การเรียนรู้การตัดสินใจให้ดีขึ้น คือ ต้องฝึกตัวเองให้รู้สึกสบายใจ เมื่ออยู่ท่ามกลางข้อกังขาต่างๆ
....การหลีกเลี่ยงการทำนายทุกอย่าง แสดงว่าเรากำลังกระหายความแน่นอน และ หวาดกลัวความคลุมเครือ
....การที่ตัดสินใจว่าทำงานอะไรดี ต้องมีเงินออมแค่ไหน การตัดสินใจคือการทำนาย คนตัดสินใจได้ดี คือ นึกภาพอนาคตหลากหลายรูปแบบ เขียนออกมา ไตร่ตรอง ถามตนเองคิดว่าแบบไหนเป็นไปได้มากสุด เพราะอะไร
7. การสร้างสรรค์สิ่งใหม่
....คนที่คิดสร้างสรรค์คือเชื่อมโยงประสบการณ์ที่มีเข้าด้วยกัน แล้วเปลี่ยนให้เป็นสิ่งใหม่ เพราะเขามีประสบการณ์มากกว่า ใคร่ครวญเกี่ยวกับประสบการณ์ตัวเองมากกว่า กลายเป็นนายหน้าทางแนวคิด เมื่อเรียนรู้ให้ความสนใจสิ่งต่างๆว่าทำให้เขาตอบสนอง และ รู้สึกอย่างไร
(คนส่วนใหญ่มองแคบไป) ต้องผลักดันให้ขุดคุ้ยและ มองลึกเข้าไปในตัวเองมากขึ้น และ ค้นหาสิ่งที่สมจริง อัศจรรย์ เรามักค้นพบสิ่งที่ซ่อนในประสบการณ์เมื่อมีความจำเป็น ตื่นตระหนก วิตกกังวล คับข้องใจ เป็นภาวะจนตรอก ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ มักเกิดตอนเครียดเล็กน้อย มองจากมุมคนอื่นบ้าง
....อยากทำงานเสร็จเร็วขึ้น ควรเลิกทำสิ่งใหม่ทุกขั้นตอน แต่เอาแนวทางเดิมมาประยุกต์ใช้จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ การนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาผสมผสานกัน เป็นหัวใจสำคัญของทฤษฎีการสร้างสรรค์ องค์ประกอบแนวคิดใหม่ๆมักเป็นสิ่งที่ปรากฎอยู่ในความรู้ที่มีอยู่แล้ว ไม่สามารถทำให้เป็นสูตรสำเร็จได้
แต่ กระบวนการสร้างสรรค์แตกต่างจากความคิดสร้างสรรค์ เพราะเราสามารถช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ เช่น เอาแนวคิดเก่าๆมารวมกับแนวใหม่ นายหน้าทางแนวคิดใช้ประโยชน์จากความหลากหลายที่สั่งสมไว้ในสมอง ซึ่งทำด้วยการสังเกตแนวคิดต่างๆในสถานการณ์หลายรูปแบบ เพื่อมีมุมมองที่ใหม่แตกต่าง การรบกวนเล็กน้อยกระตุ้นให้เราออกจากความจำเจ
....นายหน้าทางแนวคิด คือคนที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างฝ่ายต่างๆ ได้สัมผัสวิธีคิดและพฤติกรรมหลากหลายแบบกว่าคนอื่น เป็นฝ่ายเสนอแนวคิด ไม่มองข้ามแนวคิด และ ให้คุณค่ากับแนวคิดใหม่ๆ ทุกคนเป็นได้ มองว่าชีวิตเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ จงเป็นนายหน้าเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวเองให้โลกได้รับรู้ นายหน้าคือ คนที่ใส่ใจว่าปัญหามีลักษณะอย่างไร เคยถูกแก้มาอย่างไร คนมีความคิดสร้างสรรค์สุด คือคนที่เรียนรู้ว่า ความกลัวเป็นสัญญาณที่ดี เรียนรู้ที่จะไว้ใจตัวเอง ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ออกมา
....บทเรียน3 อย่างช่วยเป็นนายหน้าทางแนวคิดและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการสร้างสรรค์ของตนเอง
1. จงไวต่อประสบการณ์ของตนเอง คือ ต้องใส่ใจว่าสิ่งต่างๆทำให้คิดและรู้สึกยังไง เป็นวิธีที่ใช้แยกความซ้ำซากออกจากองค์ความรู้ (นักออกแบบที่เก่งที่สุด คือ คนที่ใคร่ครวญกับประสบการณ์ของตนเองมากกว่าคนอื่น...สตีฟจ็อป) เช่น กระบวนการดิสนีย์ให้ผู้ผลิตมองเข้าไปในตัวเอง ไตร่ตรองเกี่ยวกับอารมาณ์และประสบการณ์ตัวเอง เอาชีวิตตนเองมาเป็นวัตถุดิบ ละครเรื่อง West Side Story ถ่ายถอดความปราถนาและอารมณ์ของตัวเองผ่านการแสดงบนเวที
2. ยอมรับความตื่นตระหนก ความเครียด ขณะพยายามสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ได้บอกว่าจะพัง แต่ช่วยให้มีความยืดหยุ่นที่จะจับสิ่งใหม่ ความกังวลทำให้เรามองแนวคิดเก่าในแง่มุมใหม่ พิจารณาสิ่งที่รู้ ธรรมเนียมดั้งเดิมที่เคยได้ผล นำไปใช้แนวใหม่ ยอมรับความเจ็บปวดจากการสร้างสรรค์
3. ความโล่งอกที่มาจากความก้าวหน้าในการสร้างผลงานเป็นเรื่องดี แต่บดบังให้มองเห็นทางอื่น ต้องบังคับให้ตนเองมองในมุมที่แตกต่าง การถูกรบกวนเป็นสิ่งจะเป็น เราจะเห็นชัดเจนอีกครั้งเมื่อยอมรับความเสียหาย และ ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสม
....ภาวะหัวหมุน คือเมื่อติดในสภาวะแวดล้อมที่จำเจ และไม่สามารถมองโครงการที่ทำอยู่จากมุมอื่น ให้หลุดจากภาวะหัวหมุนคือ ต้องไม่ยึดติด รู้สึกโล่งอก/ปลาบปลื้ม มากเกิน ต้องปล่อยวางสิ่งที่คุณพยายามอย่างหนักเพื่อให้ได้มา เหมือนต้นไม้ใหญ่ล้ม พืชสายพันธุ์อื่นก็มีสิทธิ์แย่งกันโต ความคิดก็เหมือนกัน เมื่อมีแนวคิดที่แข็งแกร่งฝังลึก อาจจะบดบังแนวคิดอื่น ต้องมีอะไรรบหวน เป็นการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ขึ้น
8. การซึมซับข้อมูล
....ภาวะตาบอดจากข้อมูล (Information Blindess) คือ มีข้อมูลให้เลือก/เปรียบเทียบมากเกินไป สมองจึงเพิกเฉย ไม่สนใจ หรือ ตัดสินใจเลือกแบบส่งๆ หรือ ไม่เลือกเลย เช่น มีแบบประกันให้เลือกมากเกิน คนเลยตัดสินใจไม่ซื้อ
....สมองเราเรียนรู้โดยการแบ่งข้อมูลเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เรียกว่า การคัดกรอง และ จัดเก็บข้อมูล คนเชี่ยวชาญมีแฟ้มข้อมมูลมากอยู่ในหัว
....วิธีการเอาชนะภาวะตาบอดจากข้อมูลคือ การทำให้ไม่ลื่นไหล คือ การบังคับให้ตัวเองทำอะไรสักอย่างกับข้อมูลตรงหน้า เช่น เปลี่ยนเป็นคำถาม ทางเลือก เปรียบเทียบ มีส่วนร่วมกับมัน ย่อยข้อมูลต่างๆ เมื่อส้รางแฟ้มข้อมูลในสมองซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ ทำให้เกิดความลำบากในการประมวลข้อมูล ทำให้ต้องคิดมากขึ้น ต้องทำความเข้าใจกับสิ่งนั้น เช่น อยากลดน้ำหนักนอกจากต้องพิมพ์น้ำหนักลงในแอปพลิเคชั่นแล้ว ต้องบังคับให้ตัวเองเอาตัวเลขไปทำกราฟ หรือ เวลาที่อ่านหนังสือใหม่ ต้องบังคับให้ตัวเองเล่าเนื้อหาให้คนข้างๆฟัง
....การใช้กระบวนการออกแบบทางวิศวกรรม สำคัญมากโดยเฉพาะคนอายุน้อย เพราะว่าทำให้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตัวเองได้ง่ายขึ้นและพิจารณาทางเลือกจากมุมมองต่างๆ ประเมินชีวิตตัวเองเป็นกลางแทนการใช้อารมณ์และอคติ ทำให้สมองมองมุมมองใหม่ๆแทนการตัดสินใจเลือกสิ่งที่อยู่เฉพาะหน้า โดยเฉพาะหากเราวางกรอบการตัดสินใจไว้แล้ว จะไปเลือกอีกสิ่งก็ยาก เพราะยึดติดกับการตัดสินใจ เช่น อยากเลิกกับแฟน แทนที่จะถามตนเองว่า รัก/ไม่รัก เป็นถามว่า อยากมีแฟน/อยากเรียนต่อมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้น ถ้ารู้จักวางกรอบการตัดสินใจใหม่ จะคุมสมองได้มากขึ้น ไม่ให้สมองเปิดทางเลือกที่ง่าย ลองเปลี่ยนคำถามต่างๆที่ไม่คุ้นเคย เพื่อให้เห็นทางเลือก
....มีวิจัยว่า การจดด้วยมือลงกระดาษ เรียนรู้และซึมซับข้อมูลได้มากกว่าการจดใส่โน๊ตบุ๊ค เพราะว่าไม่ลื่นไหล ต้องใช้แรง และช้ากว่า
เป็นยังไงกันบ้างคะ สรุป 8 แนวทางที่ทำให้เรามีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ
1. การมีแรงจูงใจ โดยเลือกทำสิ่งที่ตัวเองมีอำนาจควบคุม แล้วถามตัวเองว่าทำไมต้องทำสิ่งนั้น
2. ทีม ที่มีประสิทธิภาพ ต้องเป็นทีมที่มีความปลอดภัยทางด้านจิตใจสูง
3. การจดจ่อ โดยการเล่าให้ตัวเองฟัง สร้างแบบจำลองทางความคิดว่าเราคาดหวังให้เป็นอย่างไร
4. การกำหนดเป้าหมาย โดยเลือกเป้าหมายสุดเอื้อมแล้วแบ่งย่อยขั้นตอนโดยใช้หลักการ SMART
5. การบริหารคน ให้อำนาจผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับงานสามารถตัดสินแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองอย่างอิสระ
6. การตัดสินใจ จินตนาการถึงความเป็นไปได้หลายๆทาง ค้นหาข้อมูล ทบทวน แล้วทางเลือกที่มีจะชัดเจนมากขึ้น
7. การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ใส่ใจกับสิ่งที่เราได้พบเจอ ขุดค้นว่าตัวเองคิดและรู้สึกอย่างไร โดยความเครียดเป็นตัวผลักดันให่เรามีแง่มุมใหม่และความโล่งอกอาจทำให้เราไม่เห็นทางเลือกอื่น
8. การซึมซับข้อมูล เมื่อเราได้ข้อมูลใหม่ๆ ให้บังคับให้ตัวเอง มีส่วนร่วมกับมันเพื่อให้สมองเกิดการเรียนรู้
ในหนังสือเล่มนี้จะมีการให้ตัวอย่างอย่างละเอียดมากๆ ซึ่งจูลแนะนำให้ไปอ่านเพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นค่า
เพิ่มการพัฒนาตัวเองวันละนิด
เหมือนเติมวันละ 1 องศา
1 วัน อาจจะไม่มีอะไร
10 วันไม่มีความต่าง
แต่ 100 วันล่ะ 1000 วันล่ะ
จะเปลี่ยนแปลงไปโดยแทบไม่เห็นร่องรอยเดิม
มาร่วมกันหา1องศา เพื่อเติมเต็มวงล้อชีวิตให้สมบูรณ์ไปกับเพจ #องศาที่หายไป
👍🏻เลื่อนนิ้วโป้งกด Like กด Share ให้จูลสักนิด..เพื่อชีวิตที่มีกำลังใจให้จูลนะคะ..ขอบคุณค่ะ
⭐️ติดตามที่ Blockdit
❤️ติดตามที่ Youtube
💙ติดตามที่ Facebook
#ความลับของProductivityที่นักวิทยาศาสตร์อยากบอกคุณ #สรุปหนังสือ #หนังสือเสียง #รีวิวหนังสือ #8ขั้นตอนทำให้คุณมีประสิทธิภาพ #ประสิทธิภาพ #คนสำเร็จ #Bettet #faster #smarter

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา