18 ม.ค. 2021 เวลา 13:00 • สิ่งแวดล้อม
ทำไมถึงเรียก "นกเงือก" ว่า "นกเงือก"
ทั้งที่มันเป็น 'นก' ที่อยู่บนฟ้า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับ 'เงือก' ที่อยู่ในน้ำ
นกเงือก (ภาพ : wikipedia)
คุณพิทยา ช่วยเหลือ ซึ่งเป็นผู้ช่วยนักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ช่วยไขข้อสงสัยในเรื่องนี้ว่า จริง ๆ แล้วคำว่า 'เงือก' ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสัตว์ครึ่งคนครึ่งปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำตามตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมา แต่เป็นคำที่ไม่มีความหมาย เพราะมันเป็นเพียงเสียงร้องของนกที่ชาวบ้านได้ยินว่า "เฮือก" แล้วเรียกเพี้ยนเป็น 'เงือก' จนเป็นที่มาของการตั้งชื่อนกชนิดนี้ว่า "นกเงือก" นั่นเอง
1
ส่วนชื่อของนกเงือกในภาษาอังกฤษก็คือ Hornbill ซึ่งมีที่มาจากโหนก (Casque) ของนกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill) ที่เป็นทรงกระบอกแนบไปตามความยาวของจะงอยปาก และมีปลายที่งอนขึ้นคล้ายกับนอ (Horn) ของแรด
นกเงือกหัวแรด (ภาพ : pixabay)
โลกของเรามีนกเงือกอยู่ทั้งหมด 54 ชนิด ซึ่งมักจะอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าและป่าดิบเขตร้อนในทวีปแอฟริกาและเอเชีย โดยในทวีปเอเชียมีนกเงือกอยู่ 31 ชนิด ซึ่งพบในประเทศไทยของเราถึง 13 ชนิด ได้แก่
🐦 นกกก หรือ นกกะวะ หรือ นกกาฮัง (Great Hornbill)
🐦 นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill)
🐦 นกชนหิน (Helmeted Hornbill)
🐦 นกแก๊ก หรือ นกแกง (Oriental pied Hornbill)
🐦 นกเงือกกรามช้าง หรือ นกกู๋กี๋ (Wreathed Hornbill)
🐦 นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill)
🐦 นกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill)
🐦 นกเงือกดำ (Black Hornbill)
🐦 นกเงือกปากดำ หรือ กาเขา (Bushy-crested Hornbill)
🐦 นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill)
🐦 นกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill)
🐦 นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว (White-throated Brown Hornbill)
🐦 นกเงือกหัวหงอก (White-crowned Hornbill)
นกเงือกบางชนิดถูกตั้งชื่อตามลักษณะภายนอกของมัน เช่น
🐦 นกเงือกคอแดง ที่มีถุงใต้คอสีแดงสดอมส้ม
🐦 นกเงือกดำ ที่มีขนสีดำปลอด ยกเว้นส่วนปลายของขนหางด้านนอกที่เป็นสีขาว
🐦 นกเงือกปากย่น ซึ่งจะงอยปากล่างจะมีรอยย่นสีเหลือง
นกเงือกคอแดง (ภาพ : wikipedia)
นกเงือกดำตัวเมีย (ซ้าย) และตัวผู้ (ขวา) (ภาพ : http://orientalbirdimages.org/)
นกเงือกปากย่น (ภาพ : wikipedia)
นกเงือกบางชนิดถูกตั้งชื่อตามเสียงร้องของมัน เช่น
🐦 นกกก ที่ร้องดัง กกๆๆ กาฮังๆๆ หรือ กะวะๆๆ จนบางครั้งมันก็ถูกเรียกว่า นกกะวะ หรือ นกกาฮัง
🐦 นกแก๊ก ที่มีเสียงร้องว่า แก๊ก แก๊ก ตามชื่อของมัน
นกกก (ภาพ : wikipedia)
นกแก๊ก (ภาพ : wikipedia)
นกเงือกบางชนิดถูกตั้งชื่อด้วยเหตุผลที่ต่างออกไป เช่น
🐦 นกกู๋กี๋ น่าจะเรียกชื่อตามคำที่เพี้ยนมาจากสำเนียงปักษ์ใต้ที่ชาวบ้านเรียกนกชนิดนี้ว่า นกคู่คี่ เพราะนกตัวผู้และตัวเมียจะพากันบินไปทำรังเป็นคู่ แล้วกลับมาเป็นคี่ หมายถึงได้ลูกนกเพิ่มมาอีก 1 ตัวนั่นเอง
🐦 นกชนหิน ได้ชื่อมาจากการที่มันต่อสู้กันเพื่อแย่งอาณาเขต โดยจะบินเอาโหนกชนกันกลางอากาศจนทำให้เกิดเสียงดัง
นกเงือกกรามช้าง หรือ นกกู๋กี๋ตัวผู้ (ซ้าย) และตัวเมีย (ขวา) (ภาพ : http://zoothailand.org/)
นกชนหิน (ภาพ : SANJITPAAL SINGH / JITSPICS.COM©)
นกเงือกแต่ละชนิดอาจจะมีชื่อและลักษณะบางอย่างแตกต่างกัน แต่พวกมันทุกชนิดล้วนเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าต่อผืนป่า เพราะนกเงือกจะเลือกกินผลไม้สุกกว่า 200 ชนิด และบินทิ้งเมล็ดไว้ตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเหมือนเป็นการช่วยปลูกป่าให้หลากหลาย และยังช่วยเพิ่มแหล่งอาหารให้กับสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ในป่าด้วย
ป.ล. ไอเดียในการเขียนบทความนี้มาจากข้อสงสัยของ "พี่ข้าว" ที่อยากรู้ว่าทำไม "นกเงือก" ถึงชื่อว่า "นกเงือก" ซึ่งเป็นข้อสงสัยที่น่าสนใจมากครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา