7 ก.พ. 2021 เวลา 23:55 • นิยาย เรื่องสั้น
ความลับในไดอารี
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2004 บรรณารักษ์ห้องสมุด Firestone Library ในมหาวิทยาลัยพรินซตัน พบไดอารีเล่มหนึ่งในกองสิ่งของเก่า ๆ มันเป็นสมบัติส่วนตัวของบรรณารักษ์คนหนึ่งที่เคยทำงานที่นี่
2
ไดอารีหนา 62 หน้า เขียนเป็นภาษาเยอรมันด้วยพิมพ์ดีดเมื่ออ่านก็พบว่ามันเป็นบันทึกชีวิตของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
มันเป็นอนุทินในมุมมองของผู้หญิงคนหนึ่ง บันทึกชีวิตไอน์สไตน์ตั้งแต่ตุลาคม 1953 จนถึงวันตายของเขาในเดือนเมษายน 1955
นอกเหนือจากจดหมายจำนวนมหาศาลที่ไอน์สไตน์เขียนตลอดชีวิต ไดอารีฉบับนี้ให้รายละเอียดในช่วงท้ายชีวิตของไอน์สไตน์หลายอย่างที่โลกไม่รู้ มันฉายภาพอีกด้านหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์เรืองนาม เป็นคนแก่ธรรมดาคนหนึ่งที่สุขภาพเสื่อม บ่นบ้าง หงุดหงิดบ้าง อารมณ์ดีบ้าง และขี้หลงขี้ลืมเป็นประจำ
4
ไอน์สไตน์ที่พรินซตัน
ไอน์สไตน์หนีภัยนาซีไปสหรัฐฯในปี 1933 พร้อมกับภรรยา เอลซา ลูกเลี้ยง มาร์กอต และเลขานุการชื่อ เฮเลน ดูคัส ไอน์สไตน์ทำงานที่ The Institute for Advanced Study ที่มหาวิทยาลัยพรินซตัน นานถึงยี่สิบสองปี
3
ในครึ่งหลังชีวิตของไอน์สไตน์ มีผู้หญิงสามคนที่มีบทบาทในชีวิตของเขา
เฮเลน ดูคัส เป็นเลขานุการเก่าแก่ มาร์กอต ไอน์สไตน์ เป็นลูกเลี้ยงที่ติดมากับเอลซา และ โจฮันนา แฟนโตวา (Johanna Fantova) ที่น่าจะเป็น 'กิ๊ก' คนสุดท้ายของไอน์สไตน์
1
โจฮันนาอายุน้อยกว่าไอน์สไตน์ยี่สิบสองปี คบเป็นเพื่อนกับไอน์สไตน์มากว่ายี่สิบห้าปี เป็นบรรณารักษ์ในมหาวิทยาลัยพรินซตันเดียวกับที่เขาทำงานอยู่
1
คนแถวพรินซตันบอกว่า เห็นโจฮันนาเคียงคู่กับไอน์สไตน์เสมอ ไปไหนมาไหนด้วยกัน จนใคร ๆ เรียกเธอว่า "แฟนของไอน์สไตน์"
ทั้งสองกินข้าวเย็นด้วยกันบ่อย ๆ ไปพายเรือด้วยกัน ไปดูคอนเสิร์ตด้วยกัน
1
โจฮันนายังเป็นคนตัดผมให้เขา
ไอน์สไตน์เขียนบทกวีให้เธอ โทรศัพท์หาเธอสัปดาห์ละหลายครั้ง
1
โจฮันนา แฟนโตวา ชื่อเดิมคือ Johanna Bobasch เกิดที่กรุงปราก ในปี 1901 เคยแต่งงานกับ ออตโต แฟนตา ครอบครัวสามีทำร้านตัดผมชื่อ Fanta Salon เป็นจุดที่มีคนมีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อยแวะเวียนมา รวมทั้งไอน์ไตน์
2
โจฮันนาพบไอน์สไตน์ที่กรุงเบอร์ลินในปี 1929 ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนกัน โจฮันนาทำงานช่วยจัดระเบียบหนังสือทั้งหลายของไอน์สไตน์
ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โจฮันนาเดินทางไปสหรัฐฯคนเดียว เธอไปหาไอน์สไตน์ที่มหาวิทยาลัยพรินซตัน ไอน์สไตน์ให้คำแนะนำเธอไปเรียนวิชาสายบรรณารักษ์ศาสตร์ เพื่อที่จะหางานเลี้ยงตัวได้ เธอก็ไปเรียนจนจบและได้ทำงานที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยพรินซตัน ต่อมารับตำแหน่งบรรณารักษ์แผนที่
4
ไอน์สไตน์ขอให้โจฮันนาช่วยงานห้องสมุดส่วนตัวของเขา และจัดระเบียบชีวิตให้เขา เนื่องจากไอน์สไตน์ไม่ค่อยสนใจเรื่องนอกตัว สมองของเขาหมกมุ่นกับทฤษฎีทางฟิสิกส์ต่าง ๆ
ไอน์สไตน์โหยหาอดีต เขาไม่เคยรู้สึกว่าสหรัฐอเมริกาเป็นบ้าน และมักคิดถึงยุโรปยุคก่อนสงคราม โจฮันนาเป็นสะพานเชื่อมกับโลกเก่าของเขา
5
ไอน์สไตน์ที่พรินซตัน
โจฮันนาคลุกคลีกับไอน์สไตน์นานหลายปี จึงรู้เรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับเขาทุกอย่าง เธอลังเลอยู่หลายปีกว่าจะเขียนไดอารีเกี่ยวกับไอน์สไตน์ เธอเห็นว่ามันจะเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์เกี่ยวนักวิทยาศาสตร์สำคัญของโลกคนนี้
โจฮันนาเขียนในตอนต้นของไดอารีว่า ทีแรกก็ไม่คิดจะบันทึกชีวิตส่วนตัวของไอน์สไตน์ แต่แล้วก็ตัดสินใจทำ เพราะเห็นว่าสมควรบันทึกไว้ มันจะช่วยให้คนเข้าใจไอน์สไตน์มากขึ้น มิใช่ในด้านที่เป็นบุคคลสำคัญที่กลายเป็นตำนาน ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก แต่เป็นไอน์สไตน์ที่เป็นมนุษย์ธรรมดา
ไอน์สไตน์ชอบเปรียบตัวเองในวัยชราเหมือนรถยนต์เก่าที่เสียทุกจุด มักบ่นว่าความจำของเขาไม่ดีแล้ว เขาไม่ชอบรับแขกที่มาเยือนอยู่เสมอ บางครั้งก็แกล้งป่วยเพื่อที่จะไม่ต้องเจอใคร
1
ไดอารีเล่าชีวิตที่เรียบง่ายของไอน์สไตน์ ติดดิน แต่งตัวปอน ๆ แต่ความคิดยังเฉียบคมแม้อายุมากแล้ว
2
ไอน์สไตน์อ่านมาก อ่านกว้าง และวิเคราะห์เหตุการณ์โลกเสมอ เขาสนใจเรื่องการเมือง
1
โจฮันนาบันทึกว่าวิธีคิดของไอน์สไตน์นั้นเรียบง่ายมาก เขาไม่ชอบความซับซ้อน เวลาเขียนทฤษฎีก็เขียนแบบง่าย เขาเห็นว่านักฟิสิกส์ยุคหลังชอบใช้ภาษาฟุ่มเฟือยและเสแสร้งในงานวิชาการ ซึ่งทำให้เขาหงุดหงิด
6
โจฮันนาเล่าว่าชื่อเสียงที่ดังเป็นพลุของไอน์สไตน์ดึงแขกมาจากทุกมุมโลก ทั้งจดหมายและคน
ในปี 1953 สตรีคนหนึ่งเขียนจดหมายมาขอลายเซ็นไอน์สไตน์เจ็ดชิ้น ให้เหตุผลว่านางเป็นคนยากจน นางจะให้ลายเซ็นแก่ลูก ๆ เพื่อเป็นมรดก ไอน์สไตน์ไม่เชื่อสักนิด แต่ก็ส่งลายเซ็นไปให้
ไอน์สไตน์มักถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และแม้แต่ในวงการศาสนา เพราะใคร ๆ ก็อยากได้เขามาเป็นพวก! ชาวคริสต์พยายามโน้มน้าวใจเขาให้นับถือศาสนาคริสต์ แต่เขาปฏิเสธอย่างสุภาพ ขณะที่ชาวพุทธบางกลุ่มก็อ้างว่าเขานับถือศาสนาพุทธ แม้แต่คอมมิวนิสต์ก็พยายามดึงตัวเขาไปเข้าร่วม ครั้งหนึ่งโซเวียตมอบรางวัลสันติภาพให้เขา แต่ไอน์สไตน์ปฏิเสธรางวัลนั้นเพราะเกรงว่าจะถูกตีตราว่าเป็นพวกบอลเชวิก และไม่ต้องการตกเป็นเครื่องมือของการโฆษณาชวนเชื่อ
1
เขาเคยบอกขำ ๆ ว่า "ถ้าทฤษฎีสัมพัทธภาพของผมพิสูจน์ได้ว่าสำเร็จ พวกเยอรมันจะบอกว่าผมเป็นคนเยอรมัน ฝรั่งเศสจะอ้างว่าผมเป็นพลเมืองโลก แต่ถ้าพิสูจน์ว่าทฤษฎีของผมไม่จริง ฝรั่งเศสจะบอกว่าผมเป็นคนเยอรมัน และเยอรมนีจะบอกว่าผมเป็นยิว"
1
ในช่วงราว 1953 โลกฟิสิกส์เคลื่อนเข้าสู่ด้านควอนตัม ทฤษฎีนี้พิสดารและพิกลจนไอน์สไตน์รับไม่ค่อยได้
เขารู้สึกว่าเขาคงหลงยุคไปแล้ว
เขาบอกโจฮันนาว่า "พวกนักฟิสิกส์บอกว่าผมเป็นแค่นักคณิตศาสตร์ พวกนักคณิตศาสตร์บอกว่าผมเป็นแค่นักฟิสิกส์"
โจฮันนาบันทึกอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ของไอน์สไตน์ที่เกี่ยวข้องกับงานฟิสิกส์ วันหนึ่งเขาอาจยินดีที่คิดค้นไอเดียใหม่บางอย่าง แต่อีกวันก็หดหู่เมื่อพบว่ามันล้มเหลว
2
ไอน์สไตน์คิดว่าเพื่อน ๆ นักวิทยาศาสตร์มองเขาเป็นคนหลงยุค เขาบอกว่า "ผมเป็นคนที่ปลีกตัวออกจากคนอื่นอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าทุกคนรู้จักผม มีน้อยคนมากที่รู้จักผมจริงๆ"
1
โชคดีที่ไอน์สไตน์ได้โจฮันนาเป็นคนสนิทที่รู้ใจเขา
1
ในช่วงสุดท้ายของชีวิต สุขภาพเสื่อมโทรมลงตามลำดับ ไอน์สไตน์ก็ไปพายเรือเล่นกับโจฮันนา การพายเรือเป็นช่วงยามที่เขาปล่อยใจให้ล่วงลอยไปในห้วงจินตนาการของเขา
2
ทั้งสองใช้เวลาหลายชั่วโมงด้วยกันที่ทะเลสาบคาร์เนกี บนเรือเก่าลำเล็ก และแม้แต่การพายเรือเล่น เขาก็หนีไม่พ้นวิชาฟิสิกส์ ใช้มันในการคำนวณการเคลื่อนของลม (แม้ในวันที่ไม่มีลม!)
เธอบันทึกว่า น้อยครั้งที่เห็นเขาเบิกบานและอารมณ์ดีขนาดนี้
1
แปดวันก่อนตายไอน์สไตน์พยายามเขียนข้อความสำหรับอ่านทางวิทยุแก่ประชาชนอิสราเอล แต่เขียนไม่สำเร็จ
เขาบอกว่าตัวเองโง่เง่าเกินไป
ไอน์สไตน์ในมุมสบาย ๆ
ไอน์สไตน์ตายในเดือนเมษายน 1955 อายุเจ็ดสิบหก โจฮันนาตายในปี 1981 อายุแปดสิบ
หลังจากไอน์สไตน์ตาย จดหมายส่วนหนึ่งและบทกวีเปลี่ยนหลายมือจนไปอยู่ที่ Firestone Library
1
ห้องสมุดแห่งพรินซตันเปิดเผยจดหมายและบทกวีไอน์สไตน์ในปี 1996 แม้จดหมายเหล่านั้นไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ แต่นักวิชาการสามารถเข้าไปอ่านได้ในห้องสมุด
1
เมื่อโจฮันนาตาย ต้นฉบับไดอารีและเอกสารต่าง ๆ ในแฟ้มส่วนตัวของเธอยังถูกเก็บในห้องสมุด จนถึงปี 2004 จึงมีการค้นพบและถูกเปิดเผยออกมา
เช่นกัน ไดอารีฉบับนี้ไม่ได้รับการตีพิมพ์
มันเป็นเพียงบันทึกฉบับหนึ่งที่ชี้ว่า คนมีชื่อเสียงก็เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา ทำเรื่องถูกบ้าง ผิดบ้าง มีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนปุถุชนทั่วไป
2
การมีกิ๊กอาจเป็นสัญชาตญาณธรรมชาติ แต่ท้ายที่สุดแล้ว คนเราก็อาจต้องการเพื่อนรู้ใจมากกว่า
1
คนเราไม่ว่าเก่งแค่ไหน มีชื่อเสียงเพียงใด ก็ต้องการเพื่อนแท้สักคนหนึ่ง
4
และบางครั้งมีเพื่อนก็อาจดีกว่ามีกิ๊ก
6

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา