14 ก.พ. 2021 เวลา 23:55 • นิยาย เรื่องสั้น
ไอน์สไตน์เป็นคนเหยียดผิวหรือไม่?
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
2
ในปี 2018 สำนักพิมพ์ Princeton University Press ตีพิมพ์ไดอารีบันทึกการเดินทางของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ชื่อ The Travel Diaries of Albert Einstein: The Far East, Palestine, and Spain 1922-1923
ไอน์สไตน์เขียนไดอารีเล่มนี้เขียนในช่วงเดือนตุลาคม 1922 ถึงมีนาคม 1923 เป็นเวลาที่เขาได้รับรางวัลโนเบลแล้ว และมีชื่อเสียงก้องโลก เวลานั้นไอน์สไตน์อายุสี่สิบต้น ๆ เขาเดินทางกับเอลซา ภรรยาคนที่สองไปเอเชีย ปาเลสไตน์ สเปน ใช้เวลาเดินทางห้าเดือนครึ่ง เป็นพื้นที่ที่เขาไม่เคยไปมาก่อน
2
การเดินทางผ่านฮ่องกง สิงคโปร์ แวะเมืองจีนสองเที่ยวเล็กเชอร์หกอาทิตย์ในญี่ปุ่น สิบสองวันในปาเลสไตน์ สามสัปดาห์ในสเปน
1
ภาพลักษณ์ของไอน์สไตน์คือคนฉลาด ใจดี มีเมตตา แต่ข้อความบางท่อนของบันทึกส่วนตัวของไอน์สไตน์ช็อคคนไม่น้อย เพราะมันขัดแย้งกับตัวตนของเขาในสายตาชาวโลก
4
ยกตัวอย่าง เช่น เขาเขียนว่าเมืองจีนเป็นเหมือน "ชาติแปลก ๆ ที่อยู่กันเป็นฝูง"
1
คนจีนเป็น "เหมือนเครื่องจักรมากกว่าคน" และ "คนทำงานหนัก สกปรก ทื่อ"
1
"น่าสงสารหากคนจีนเหล่านี้เข้าไปแทนที่เชื้อชาติอื่น... สำหรับพวกเรา ความคิดนี้น่าหดหู่จนพูดไม่ออก"
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กับภรรยา เอลซา ขณะเดินทางไปญี่ปุ่น เดือนตุลาคม 1922
เมื่อเดินทางไปถึงเมืองโคลอมโบ ซีลอน (ศรีลังกา) เขาเขียนแสดงความสงสารพวกขอทาน แต่ก็บรรยายชาวสิงหลว่า "พวกเขาอยู่แบบสกปรกบนพื้น ส่งกลิ่นไม่ดี ทำงานน้อย ต้องการน้อย"
ไอน์สไตน์เขียนถึงคนญี่ปุ่นที่เขาเห็นว่า เป็นพวกไม่เคยมีปัญหา ไม่แสดงความรู้สึก ทำหน้าที่ทางสังคมอย่างร่าเริงและไม่เสแสร้ง แต่ภูมิใจในสังคมและชาติ การละทิ้งแนวทางดั้งเดิมของตนเพื่อโอบรับแนวทางของยุโรปไม่ได้ทำลายความภูมิใจในชาติŽ
6
สำหรับสตรีญี่ปุ่น เขาตั้งข้อสังเกตว่า "ดูเหมือนแต่งเติมเกินไปและดูอึดอัด นัยน์ตาสีดำ ผมสีดำ ศีรษะใหญ่ กิริยาลุกลี้ลุกลน"
1
วงแตก!
1
สื่อจำนวนมากสรุปว่า ไอน์สไตน์เป็นพวกเหยียดผิว (racist)
1
แต่การจะสรุปว่าไอน์สไตน์เป็นคนเหยียดผิว คงต้องใช้หลักฐานมากกว่าไดอารีเล่มเดียว เราต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ ตลอดชีวิตของเขาด้วย เพราะไดอารีเกี่ยวกับคนจีน คนญี่ปุ่น คนศรีลังกา ขัดแย้งกับบทบาทต่อต้านการเหยียดผิวของเขาในเวลาต่อมาอย่างหน้ามือกับหลังมือ
1
ข้อเท็จจริงแรกคือ ไอน์สไตน์เขียนไดอารีนานก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนเขาไปลี้ภัยที่สหรัฐฯ และนานก่อนเขามีบทบาทต่อต้านการเหยียดผิวในสหรัฐฯและที่อื่น ๆ ความจริงคือเขามีประวัติต่อต้านการเหยียดผิวมานานก่อนไปลี้ภัยที่สหรัฐฯ
 
ในบทความปี 1931 The World as I See It เขาแสดงความเห็นต่อต้านการแบ่งชนชั้น เขาเชื่อว่าการเหยียดผิวเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่ออิสรภาพเพราะเขาเห็นตัวอย่างคนยิวในเยอรมนีที่ถูกกดขี่และเข่นฆ่า ตัวเขาเองเป็นยิว
3
เมื่อไอน์สไตน์ลี้ภัยไปอยู่ที่สหรัฐฯในปี 1933 เขาตกใจกับการแยกโรงเรียนและโรงหนังสำหรับคนขาวกับคนดำออกจากกัน
1
หลังจากนั้นเขาก็สนับสนุนองค์กรต้านการเหยียดผิวและสิทธิมนุษยชนหลายแห่งในอเมริกา เช่น The National Association for the Advancement of Colored People
ในปี 1937 นักร้องโอเปราแอฟริกันอเมริกัน Marian Anderson ไปร้องเพลงที่ McCarter Theatre ในมหาวิทยาลัยพรินซตัน ถูกปฏิเสธพักในโรงแรม เพราะเป็นคนผิวดำ ไอน์สไตน์ก็เชิญเธอไปพักที่บ้านของเขา
2
ในปี 1946 ไอน์สไตน์เขียนบทความ The Negro Question ตีพิมพ์ในนิตยสาร Pageant magazine ชี้ว่าลัทธิเหยียดผิวในอเมริกาเป็นโรคร้ายแรงที่สุด
เขายังร่วมกับองค์กรที่ต่อต้านการฆ่าคนดำแบบศาลเตี้ย กดดันให้ประธานาธิบดีสนับสนุนกฎหมายห้ามศาลเตี้ย
ปีนั้นเช่นกัน ไอน์สไตน์แสดงปาฐกถาให้นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยลิงคอล์น เพนซิลเวเนีย มหาวิทยาลัยแรกที่ให้ปริญญาแก่นักศึกษาผิวดำ เขาพูดว่า "การแบ่งแยกคนผิวสีกับผิวขาวออกจากกันในสหรัฐฯไม่ใช่โรคร้ายของคนดำ แต่เป็นโรคร้ายของคนขาว ผมจะไม่ขอเงียบในเรื่องนี้"
5
การที่คนลี้ภัยในอเมริกาคนหนึ่งออกมาประณามคนอเมริกันมีแต่จะเข้าเนื้อตัวเอง เพราะความขัดแย้งเรื่องวีผิวในสหรัฐฯรุนแรงมากถึงขั้นฆ่ากัน
จุดยืนการต่อต้านการเหยียดผิวและการเมืองทำให้ โจเซฟ แม็คคาร์ธี หัวแถวขบวนการล่าแม่มดคอมมิวนิสต์ ชี้นิ้วบอกว่าไอน์สไตน์เป็นศัตรูของสหรัฐอเมริกา เอฟบีไอแอบฟังโทรศัพท์ ของเขา จดหมาย บ้านและที่ทำงานถูกค้น แม้แต่ถังขยะ
1
ตอนเขาตาย เอฟบีไอมีเอกสารที่แอบตามเขาถึง 1,800 หน้า
1
บทบาทต่อต้านการเหยียดผิว รวมทั้งการพูดถึงอันตรายของลัทธิทหาร ความคลั่งชาติ และการต่อต้านสงครามทั้งหลายนี้ทำให้เราต้องพิจารณาไดอารีของไอน์สไตน์ใหม่ เป็นไปได้ไหมที่คนคนหนึ่งเป็นทั้ง racist และ anti-racist? ด้านหนึ่งของเขาเหยียดผิว อีกด้านหนึ่งต่อต้านการเหยียดผิว? เป็นไปได้ไหมที่คนคนหนึ่งสามารถมีความขัดแย้งขนาดนี้? เป็นไปได้ไหมที่ข้อมูลไม่ครบถ้วน? เป็นไปได้ไหมที่คนจีน คนญี่ปุ่นส่วนน้อยที่เขาเห็นในเวลานั้นเป็นอย่างนั้นจริง ๆ? (เพียงแต่มันอาจไม่สามารถใช้เป็นตัวแทนคนทั้งประเทศได้)
1
และก็เป็นเรื่องขัดแย้งเช่นกัน ที่หากเขาเหยียดผิวชาวเอเชีย ทำไมเขาจึงชื่นชม มหาตมะ คานธี และวิธีการสู้แบบอหิงสา
1
ข้อเท็จจริงอีกข้อหนึ่งจากประวัติของเขาคือ ไอน์สไตน์แสดงทัศนคติเรื่องคนจีน คนญี่ปุ่น และชาวตะวันออกน้อยมาก ไอน์สไตน์ไม่ได้ใช้เวลาอยู่ในทวีปเอเชียนานพอเข้าใจวิถีชีวิตคนเอเชีย เราไม่รู้ว่าเขาพบคนจีนคนญี่ปุ่นแบบไหน บางจุดเขาอ้างคำพูดของครูชาวโปรตุเกสที่เขาพบบอกว่า "คนจีนไม่มีความสามารถที่จะถูกสอนให้คิดแบบตรรกะ และไม่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์" นี่อาจเป็นการอ้างคำที่มีอคติของครูคนพูด เพราะจีนโบราณเก่งเรื่องตรรกะและคณิตศาสตร์
5
และประเด็นสุดท้ายคือ ข้อเขียนความคิดอ่านของเขาในไดอารีเกิดขึ้นอย่างน้อยสิบปีก่อนเขามีบทบาทต่อต้านการเหยียดผิวในสหรัฐฯ เป็นไปได้ไหมที่คนเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติตามวัยและประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น? ใช่ไหมว่าเขาพัฒนาตนขึ้นเป็นไอน์สไตน์คนใหม่?
2
ไดอารีของไอน์สไตน์อาจเป็นภาพสะท้อนไม่ครบถ้วน แต่มันก็อาจเป็นหลักไมล์ชีวิตของเขาว่า อาจเป็นได้ที่เขา เคยž เหยียดผิว แต่พัฒนาตนขึ้นเป็นต่อต้านการเหยียดผิว
1
ปฏิกิริยาของคนจีนยุคใหม่ต่อไดอารีนี้น่าสนใจและใจกว้างกว่าที่คาด
2
คนจีนไม่น้อยไม่คิดว่ามันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม
1
"ไอน์สไตน์มีสิทธิ์ที่จะคิดอะไรก็ได้ มันเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา เราเอามาเผยแพร่"
2
"เวลานั้นยุโรปถือเป็นศูนย์กลางจักรวาล ส่วนจีนคือตะวันออกไกล ไม่แปลกที่ชาวยุโรปส่วนใหญ่มีอคติล่วงหน้าว่าเอเชียเป็นดินแดนห่างไกลความเจริญ"
2
"คำพูดของเขาเป็นแค่บันทึกประวัติศาสตร์ท่อนหนึ่งในยุคนั้น"
2
ความหมายของคนจีนยุคใหม่ที่พูดคือ บริบทสังคมตอนนั้นก็คือตอนนั้น จะใช้กรอบคิดตอนนี้ไปวัดยาก เพราะคนจีนในตอนนั้นก็อาจเป็นอย่างนั้น เรากำลังใช้แว่นขยายปัจจุบันมองเขา
6
ยกตัวอย่าง เช่น เรื่องชายมีเมียหลายคน เราอาจใช้มาตรวัดปัจจุบันไปตัดสินคนรุ่นก่อนไม่ได้ เพราะสังคมแตกต่างกัน เรื่องการอนุรักษ์ป่าก็เช่นกัน เราอาจไม่สามารถใช้มาตรการอนุรักษ์ในวันนี้ไปวัดอดีต
1
ผมเคยได้ยินคนบอกว่า ไม่อ่านนวนิยายเรื่อง เพชรพระอุมา เพราะตัวละครฆ่าสัตว์ป่าสงวนมากเกินไป หากใช้บริบทของสังคมปัจจุบัน ก็ย่อมใช่ แต่หากพิจารณาว่าพนมเทียนเริ่มเขียนเรื่องนี้ในปี พ.ศ. 2507 ซึ่งสภาพป่าและมุมมองเกี่ยวกับการล่าสัตว์แตกต่างจากปัจจุบันอย่างมาก เราอาจเข้าใจเรื่องดีขึ้น
2
อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจและสะท้อนเรื่องไดอารีของไอน์สไตน์ก็คือ พนมเทียนก็เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการล่าสัตว์ไป เมื่อวัยสูงขึ้น
3
นี่เป็นตัวอย่างที่บอกว่า มนุษย์เราเปลี่ยนความคิดและทัศนคติได้เสมอ ตามวัยและประสบการณ์
3
นี่ย่อมไม่ได้บอกว่าไอน์สไตน์เป็นเทวดา หรือทำอะไรก็ไม่ผิด แต่จะเข้าใจพฤติกรรมของคนจริง ๆ ก็ต้องมองกว้างและเข้าใจบริบทของสังคมด้วย
2
ข้อเขียน "เหยียดผิว" ของไอน์สไตน์อาจเป็นความขัดแย้งส่วนตัวของเขา เช่น เขาต่อต้านสงคราม แต่เมื่อถึงจุดที่เขาเห็นว่าจำเป็น เขาก็แนะนำให้ประธานาธิบดีรูสเวลท์สร้างระเบิดปรมาณู
1
บางทีมันแค่บอกว่าไอน์สไตน์เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา บางมุมมองบวก บางมุมมองเป็นลบ เหมือนเราทุกคน ความแตกต่างอาจอยู่ที่ว่าเรามีชื่อเสียงแค่ไหน หรือจะพูดหรือบันทึกความคิดหรือไม่
1
เหตุการณ์นี้ก็บอกเราว่าโลกนี้อาจไม่มีนักบุญจริง ๆ เราคาดหวังกับคนที่เราชอบว่าเขาต้องเป็นคนดีหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์
3
คำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ สมมุติว่าไอน์สไตน์มีตัวตนสองด้าน เหยียดหยามคนเอเชีย แต่ไม่เหยียดหยามคนผิวดำ เราจะลดความชื่นชมต่อเขาหรือไม่ในด้านวิทยาศาสตร์หรือสิ่งที่เขาทำเพื่อโลก หรือทันใดนั้นบทบาทการต่อต้านการเหยียดผิวของเขาก็หมดความหมายไปทันที?
1
ไอน์สไตน์ไม่ใช่เทวดา เป็นเพียงคนธรรมดาที่เก่งที่เรื่องหนึ่งจนเราเกิดภาพลักษณ์ที่เราสร้างขึ้นมา ด้วยนิสัยของเขา เขาไม่สนใจภาพลักษณ์ เขาเขียนสิ่งที่อยู่ในความคิดของเขาเสมอ ทั้งเรื่องนี้ไปจนถึงเรื่องการนอกใจซึ่งสวนทางกับค่านิยมของสังคม หรือกระทั่งสวนทางกับศีลธรรม
1
มนุษย์เราล้วนมีความซับซ้อน ทั้งความเชื่อในด้านสว่างและด้านมืด ไอน์สไตน์บังเอิญเป็นคนมีชื่อเสียงโด่งดัง มีภาพลักษณ์อย่างหนึ่งที่เรายึดมั่น จนอาจกลายเป็นภาพลวงตา
2
และบางทีเราเป็นคนสร้างภาพลวงตานั้นขึ้นมาเอง
2

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา