25 เม.ย. 2021 เวลา 23:55 • นิยาย เรื่องสั้น
จ้างผีเขียนหนังสือ
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
นานปีมาแล้ว ผมเคยได้รับคำชวนให้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติของนักการเมืองคนหนึ่ง ในฐานะ "นักเขียนผี" แต่ปฏิเสธไปเพราะไม่ถนัดงานแบบนี้
3
สุภาษิตจีนว่า มีเงินจ้างผีโม่แป้งได้ ในโลกของนักเขียน มีเงินก็จ้างผีเขียนหนังสือได้
2
ใช่ โลกของการฆ่ามีมือปืนรับจ้าง โลกของการเขียนก็มีนักเขียนผี
นักเขียนผี (ghostwriter) คือนักเขียนที่รับจ้างเขียนงานให้คนอื่นโดยที่ไม่ได้รับเครดิตจากงานนั้น อาจเป็นงานนวนิยาย บทภาพยนตร์ รายงานทางวิชาการ ปาฐกถา ฯลฯ
2
บริการนักเขียนผีเป็นที่นิยมสำหรับเหล่าคนดัง ผู้บริหารระดับสูง นักการเมือง เนื่องจากพวกเขาอาจเขียนไม่เป็นหรือไม่มีเวลาเขียน แต่ต้องการสื่อสารกับแฟนหรือกลุ่มเป้าหมายของพวกเขา และด้วยเหตุผลอื่น ๆ
5
ในทางการเมืองและธุรกิจ มีการจ้างนักเขียนผีมาช่วยเขียนหรือตอบจดหมายขององค์กรหรือบุคคล บางทีอยู่ในรูปของบล็อคหรือเว็บไซต์ ทำหน้าที่คล้ายประชาสัมพันธ์ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กรหรือบุคคล รวมไปถึงวงการล็อบบี้รัฐบาลหรือองค์กรก็ต้องพึ่งนักเขียนผี เพราะการใช้ภาษาที่ดีและทรงพลังช่วยโน้มน้าวใจคนง่ายขึ้น
3
ผู้ต้นคิดคำว่า ghostwriter ไม่ใช่นักเขียน ไม่ใช่คนในวงการวรรณกรรม เขาชื่อ คริสตี วอลช์ เป็นเอเยนต์กีฬาเบสบอลคนแรกในปี 1921 เขาจัดหานักเขียนมาช่วยเขียนเรื่องของนักกีฬาดัง ๆ และประสบความสำเร็จ เป็นที่มาของคำว่า ghostwriter และกลายเป็นเรื่องปกติที่นักกีฬาดัง ๆ "เขียน" ประวัติชีวิตตนเอง
2
ผีในวงการหนังสือเป็นเรื่องธุรกิจล้วน ๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศ หนังสืออัตชีวประวัติและ how-to จำนวนมากเขียนโดยนักเขียนผี ปะชื่อคนดังเข้าไป
3
หนังสือของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี โดนัลด์ ทรัมป์ นักการเมือง ฮิลลารี คลินตัน ก็เขียนโดยนักเขียนผี ทั้งสามคนนี้ก็ไม่ใช่คนแรก ๆ ที่พึ่งนักเขียนผี ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนแรก จอร์จ วอชิงตัน ก็ใช้บริการผีเขียนหนังสือ
5
และ จอร์จ วอชิงตัน ก็ไม่ใช่คนแรกอีกเช่นกัน บริการจ้างผีเขียนหนังสือมีมานานร่วมสองพันปีแล้ว เพราะผู้นำต้องการสื่อสารกับมวลชน จึงต้องใช้คำเท่ ๆ ก็พึ่งนักเขียนผี
สำนักพิมพ์หลายแห่งมักใช้นักเขียนผีช่วยในกรณีที่นักเขียนคนใดคนหนึ่งประสบความสำเร็จสูง ทั้งนี้เพราะชื่อหลักยังขายได้ แต่สร้างสรรค์งานไม่ทันความต้องการของตลาด ก็จัดหานักเขียนผีมาช่วย อาจทำงานวิจัย ค้นคว้า ไปจนถึงเขียนเรื่องตามเค้าโครงการที่นักเขียนหลักวางไว้ รายละเอียดที่เหลือเป็นหน้าที่ของนักเขียนผี
2
อย่างไรก็ตาม บางครั้งนักเขียนก็ให้เครดิตนักเขียนผี บางทีใช้คำว่า "ค้นคว้า" "ช่วยเก็บข้อมูล" บางครั้งก็แค่ปรับคำ แต่ส่วนใหญ่มักไม่เปิดเผยว่ามีการจ้างนักเขียนผี
2
สัญญาว่าจ้างนักเขียนผีจะเจาะจงว่า นักเขียนผีจะต้องไม่เปิดเผยตนว่าเป็นผู้เขียน และได้ค่าตอบแทนเท่าไร
อย่างไรก็ตาม นักเขียนหลักบางคนก็ทำแบบเปิดเผย ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ ทอม แคลนซี
1
แคลนซีโด่งดังจากงานนิยายสายลับ เขาเขียนนวนิยายหลายเรื่องที่มี แจ็ค ไรอัน เป็นตัวยืนโรง จนมีศัพท์เรียกจักรวาลของแคลนซีว่า Ryanverse
2
ทอม แคลนซี
Ryanverse เป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านมาก จนสำนักพิมพ์ไม่ยอมให้แคลนซีหยุดเขียน ทางออกที่ดีที่สุดก็คือใช้นักเขียนผี
3
ทอม แคลนซี เขียนนวนิยายเรื่อง Teeth of the Tiger (ตัวละครหลักเป็นลูกและหลานของ แจ็ค ไรอัน) แล้วหยุดไปเจ็ดปี กลับมาอีกครั้งพร้อมนักเขียนผีอย่างเปิดเผย ชื่อนักเขียนบนปกคือ "Tom Clancy with..." ชื่อ ทอม แคลนซี ใหญ่เด่น ชื่อนักเขียนผีเล็กลงมา ในกรณีนี้อาจจัดว่าเป็นนักเขียนผีเต็มตัวไม่ได้ แต่ออกไปทางนักเขียนร่วมหรือ co-author (แม้ในทางเทคนิคก็คือนักเขียนผี) มีหลายคน เช่น Grant Blackwood, Peter Telep, Mark Greaney
บางคนเช่น Grant Blackwood รับงานผีโดยเขียนร่วมกับนักเขียนคนอื่นด้วย เช่น Clive Cussler ซึ่งก็เป็นนักเขียนดังเช่นกัน
เชื่อว่า ทอม แคลนซี เขียนเค้าโครงเรื่องและวางไอเดียหลัก แล้วปล่อยให้นักเขียนผีเขียนรายละเอียดทั้งหมด นักเขียนผีเหล่านี้เลียนแบบสำนวนการใช้ภาษาของแคลนซีจนยากจะแยกออกว่า ส่วนไหนแคลนซีเขียนเอง หรือเขาเขียนกี่เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้เพราะนักเขียนผีจะศึกษาสไตล์การเขียนของคนจ้าง และเลียนแบบสำนวน วิธีการเล่าเรื่อง ซึ่งนักเขียนที่ชำนาญย่อมจับทางได้ไม่ยาก
3
ตัวอย่างงาน ทอม แคลนซี ร่วมกับ ‘นักเขียนผี’
มันคืองานศิลปะ แต่มันก็คือธุรกิจ และมันก็เป็น win-win-win นักอ่านอยากอ่าน นักเขียนอยากขาย สำนักพิมพ์อยากได้กำไร
3
บ่อยครั้งทายาทของนักเขียนผู้ล่วงลับไปแล้ว สานงานของนักเขียนคนนั้นต่อไป ก็พึ่งนักเขียนผี ใช้นามของนักเขียนที่ตายไปแล้วเหมือนเดิม เช่น ทายาทของนักประพันธ์สตรีอเมริกัน V. C. Andrews จ้างนักเขียนผีเขียนงานต่อ ด้วยสไตล์การเขียนแบบเดิม แต่เป็นที่รู้กันว่าไม่ใช่เจ้าเก่าเขียน
บางคนอาจสงสัยว่าทำไปทำไม มันก็เหมือนกับพ่อครัวมือดีทำอาหารชนิดหนึ่งอร่อย เมื่อพ่อครัวตาย และมีคนที่ทำอาหารจานนั้นได้ใกล้เคียงของเดิม ก็ยังสามารถขายอาหารชนิดนั้นได้ต่อไปเรื่อย ๆ
บางสำนักพิมพ์อาจต่อยอดงานของนักเขียนที่ตายไปแล้วแค่ไม่กี่เล่ม เช่น นวนิยาย The Godfather ของ มาริโอ พูโซ ที่โด่งดังมาก หลังจากนักเขียนตาย สำนักพิมพ์ แรนดอม เฮาส์ ก็จัดการประกวดการเขียนภาคต่อของ The Godfather และได้นักเขียนที่ชนะประกวดคือ มาร์ก ไวน์การ์เนอร์ เขียนภาคต่อชื่อ The Godfather Returns อย่างนี้ไม่จัดว่าเป็นนักเขียนผี
1
หากคิดว่ามีแต่นักเขียนโนเนมที่เป็นนักเขียนผี ก็เข้าใจใหม่ได้ นักเขียนมีชื่อเสียงบางคนก็รับจ็อบเขียนให้คนอื่น เช่น นักเขียนแนวสยองขวัญ H. P. Lovecraft รับจ้างเขียนเรื่อง Imprisoned with the Pharaohs ให้นักมายากล แฮร์รี ฮูดินี ในเรื่อง Weird Tales
3
เมื่อใช้คำว่า "นักเขียนผี" เรามักมองที่เรื่องของการขีด ๆ เขียน ๆ แต่ความจริงขอบเขตบริการของนักเขียนผีนั้นกว้างมาก
2
นักเขียนผีปรากฏในทุกจุดในวงการสร้างสรรค์
ธุรกิจที่เกี่ยวร้อยกับวงการหนังสือคือภาพยนตร์ นักเขียนผีก็เข้าไปมีบทบาทในวงการภาพยนตร์ พวกเขาอาจถูกจ้างให้เขียนบทหนัง บางครั้งก็เขียนให้หมด หรืออาจแค่รับจ้างตกแต่งคำ แล้วแต่ข้อตกลง ส่วนมากไม่ได้รับเครดิต
2
ในด้านงานนิยายภาพ หลายสำนักพิมพ์ใช้นักเขียนนักวาดหลายคนมาช่วยกัน บางคนก็เป็นเพียงนักเขียนผี ไม่ได้เครดิตงาน
1
ในแวดวงจิตรกรรมก็มี "นักเขียนผี" (น่าจะเรียกว่าจิตรกรผี!) จิตรกรหลักอาจแค่กำหนดคอนเส็ปต์ แนวทาง โทนสี หรือลงมือวาดบางส่วน
แม้แต่วงการดนตรีก็มีนักเขียนผี (น่าจะเรียกว่านักดนตรีผี!) บางครั้งนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงแล้วว่าจ้างนักแต่งเพลงโนเนมมาช่วย อาจแต่งทั้งเพลง หรือเขียนเฉพาะเนื้อเพลง หรือปรับปรุง
1
นักดนตรีเอกของโลก โมสาร์ทก็ยังเคยเป็นนักเขียนผีให้คนรวยที่อยากโชว์สังคมว่าตนก็แต่งเพลงเป็น
3
ในวงการดนตรีประกอบภาพยนตร์ไม่ว่าหนังใหญ่หรือหนังโทรทัศน์ก็ใช้นักเขียนผี ถือเป็นอาชีพเก่าแก่ของวงการ
หนังของ ชาร์ลี แชปลิน มักมีชื่อเขาเป็นนักแต่งเพลงเสมอ แต่บ่อยครั้งก็เป็นผลงานของนักดนตรีผี เช่น David Raksin
การทำงานแบบนี้มักไม่มีปัญหา ยกเว้นเมื่องานชิ้นนั้นประสบความสำเร็จสูงมาก ทำเงินมหาศาล ก็มีคดีที่นักเขียนผีฟ้องร้องขอส่วนแบ่งเพิ่ม
1
ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ นักเขียนผีมักรับค่าจ้างเป็นชั่วโมง หรือจ่ายเป็นหน้ากระดาษ หรือบางทีจ่ายตามจำนวนคำ บางครั้งก็อาจได้รับค่าส่วนแบ่งของลิขสิทธิ์ หรือรับเป็นก้อนไปเลย เช่น นักเขียนผีที่ช่วยเขียนงานของ ฮิลลารี คลินตัน ได้รับค่าเหนื่อยห้าแสนเหรียญ ถือว่าสูงมาก และอาจสูงกว่าเขียนหนังสือขายเอง
5
บางครั้งนักเขียนผีอาจเป็นค่าเขียนก้อนแรกบวกกับเปอร์เซ็นต์เมื่องานทำเงินถึงกำหนด เช่น ได้เงินเพิ่มสิบเปอร์เซ็นต์ของกำไร แต่ก็มีเพดานจำกัด
วงการที่ยังเป็นเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ ๆ ถึงความเหมาะสมของนักเขียนผีคือวงการศึกษาและการแพทย์
1
ในวงการศึกษา ผีเขียนหนังสือทำกันมากเป็นธุรกิจ นักเรียนที่ต้องการสมัครเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกพึ่งพาบริการนี้ พวกเขาต้องการจดหมายสมัครเรียนที่ดี ก็ต้องจ้างนักเขียนผีช่วยเขียนจดหมายและ พอร์ท โฟลิโอ
2
งานเขียนพวกนี้ทำโดยมืออาชีพ รู้ว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องการอะไร ก็เขียนให้เข้าตาผู้พิจารณาใบสมัคร
1
แม้เข้าเรียนแล้ว ก็ยังสามารถพึ่งบริการนักเขียนผี ให้เขียนรายงานประกอบ การวิจัย วิทยานิพนธ์ ฯลฯ เพื่อให้เรียนจบด้วยคะแนนดี มีบริษัทที่รับจ้างทำงานแบบนี้ เขียนรายงานวิชาการ เรียงความ วิทยานิพนธ์ให้นักศึกษา เรียกว่า essay mill (โรงงานบทความ)
3
ที่แปลกคือในบางประเทศไม่ผิดกฎหมาย เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ แต่ส่วนมากการใช้บริการนักเขียนผีในทางวิชาการถือว่าผิด อาจถึงขั้นสอบตกหรือไล่ออก เพราะถือว่าไม่ซื่อสัตย์
3
มหาวิทยาลัยหลายแห่งแก้ปัญหานี้โดยให้สอบปากเปล่า ถ้านักศึกษาไม่สามารถอธิบายเนื้อหาที่เขียนมาอย่างเลอเลิศ ก็อาจสอบไม่ผ่าน หรือถูกตั้งข้อหาว่าไม่ได้ทำงานเอง อาจผิดกฎมหาวิทยาลัยถึงขั้นไล่ออก
1
ส่วนในทางการแพทย์และวงการยาก็มีนักเขียนผีเช่นกัน บางครั้งบริษัทยาอาจจ้างนักวิชาการหรือหมอ (น่าจะเรียกว่าหมอผี!) มาช่วยเขียนรายงานตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์หรือวิชาการ
6
ปรากฏการณ์นักเขียนผีก็เป็นเพียงเรื่อง demand-supply ธรรมดา และเมื่อมีเงิน ก็สามารถว่าจ้างคนมาทำงานให้ได้เสมอ
1
บทบาทของนักเขียนผีในการเขียนนวนิยายไม่ผิดกฎหมาย แม้ว่าอาจไม่สง่างาม เพราะเข้าข่ายหลอกคนอ่านทางอ้อม แต่ในทางวิชาการและการศึกษา สังคมส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะมันทำให้ต้องคิดว่า หากใช้คนอื่นช่วยทำการบ้านและสมัครเรียนแล้ว เมื่อจบออกไป จะใช้เงินจ้างผีอะไรมาโม่แป้งอีก
4
แต่ในโลกที่เส้นแบ่งระหว่างความจริงกับความลวงพร่าเลือน มันอาจเป็น "new normal" อีกอย่างหนึ่งของโลกไปแล้ว

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา