24 ม.ค. 2021 เวลา 14:50 • ธุรกิจ
#คิดผิดคิดใหม่ได้นะ EP.3 : การบอกว่าให้หาให้เจอว่าลูกค้าต้องการอะไร แล้วค่อยเริ่มต้นทำสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการนั้นให้ได้ ส่วนใหญ่จะนำไปสู่อนาคต 2 แบบแค่นั้นแหละ ไม่เคว้งคว้างจนเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ก็จะเจออะไรที่ใครๆ ก็มองเห็น
บ่อยครั้งเลยเวลาที่สอน Design Thinking ให้กับองค์กรต่างๆ ผู้สอนมักเริ่มต้นด้วยขั้นตอนแรกคือ Empathy หรือก็คือ การทำความเข้าใจกับลูกค้าอย่างลึกซึ้ง รู้ว่าเขากำลังมีปัญหาอะไร เจ็บปวดกับเรื่องอะไร ลึกลงไปไม่ใช่แค่สิ่งที่พวกเขาพูด (Say) ออกมา แต่ดูไปถึงสิ่งที่เขาทำ (Do) ซึ่งสะท้อนสิ่งที่เขาคิด (Think) และรู้สึก (Feel) อีกด้วย
ผมก็สอนแบบนั้นเช่นกัน ก็แน่ล่ะ มันเป็นทฤษฎีที่เราก็เรียนรู้มาอีกต่อนึงนี่นา
แต่หลังจากที่ผมได้สอนคนเรื่อง Design Thinking มากๆ เข้า มันให้ผมค้นพบความจริงว่า การที่อยู่ดีๆ เราจะบอกให้คนๆ นึงไปเข้าใจคนอื่นเนี่ย มันยากนะ แล้วถึงแม้จะลองทำดูจริงๆ และเจอ Pain Point ได้จริงๆ สุดท้าย มันก็ไม่ใช่สิ่งที่เจ้าตัวอยากแก้ปัญหานั้นอยู่ดี
ระยะหลังมา ผมจึงมักสอนว่า กระบวนการที่ศูนย์ของ Design Thinking คือ Inspiration/Motivation หรือก็คือ ตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าปัญหาอะไรที่เราอยากแก้มันจริงๆ
เมื่อคุณอยากทำมันจริงๆ คุณก็จะมีแรงขับเคลื่อนจากภายใน นั่นจะทำให้ไม่ว่าต้องเจออุปสรรคปัญหาอะไร คุณก็จะไม่ย่อท้อ แล้วการทำความเข้าใจกับ User หรือคนที่อยู่ในปัญหา ก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
เช่นเดียวกัน สำหรับคนที่กำลังอยากเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง
อย่ามัวแต่ไปหลงงมเข็มในมหาสมุทรกับคำที่สวยหรูว่า "ต้องหา Pain Point ของลูกค้าให้เจอก่อน" (ผมไม่ได้บอกว่ามันไม่ดีนะ ถ้าคุณทำมันได้สำเร็จมันก็ดีกว่าจริงๆ นั่นแหละ แต่จากประสบการณ์ของผมที่สอนเรื่องนี้มาหลายร้อยคน แทบทั้งหมดไม่สามารถผ่านด่านนี้ได้เลย)
ลองมองย้อนกลับมาดูเรื่องใกล้ตัว มองปัญหารอบตัวของคุณก่อน
อะไรที่ทำให้คุณเบื่อหน่าย อะไรที่ทำให้คุณรู้สึกแย่ อะไรที่คุณรู้สึกว่าเรื่องแค่นี้ทำไมไม่มีใครแก้ปัญหาสักทีนะ
เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว ก็จะทำให้คุณมองเห็นปัญหาได้ง่าย เริ่มจากปัญหาที่ตัวเองเจอ คุณก็ลดจำนวนคนที่คุณต้องไป Empathy ได้คนนึงละ
แล้วแรงบันดาลใจที่ดีที่สุด ก็คือ การพาตัวเองให้หลุดพ้นจากปัญหาหรือความเจ็บปวดนั่นแหละ ถ้าสุดท้ายแล้วคุณขายสินค้านั้นไม่ได้ อย่างน้อยมันก็ช่วยแก้ปัญหาเรื้อรังที่คอยก่อกวนชีวิตคุณมานานแสนนานไปได้ไม่ใช่เหรอ
วันแรกที่สองพี่น้องตระกูลไรท์ พยายามสร้างเครื่องบินขึ้นมา พวกเขาก็ไม่ได้ไปถามหาความต้องการของใคร พวกเขาแค่อยากสนองตัณหาของตัวเองที่ต้องการ "บินได้" ก็เท่านั้น
เจมส์ ไดสัน ผู้ผลิตเครื่องดูดฝุ่นยี่ห้อดังอย่าง ไดสัน ก็เริ่มจากความหงุดหงิดใจที่เครื่องดูดฝุ่นที่บ้าน พอดูดไปได้สักพัก ถุงเก็บฝุ่นเริ่มตัน แรงดูดก็จะลดลง ก็เลยแก้ปัญหาของตัวเองด้วยการผลิตเครื่องดูดฝุ่นระบบไซโคลนอันโด่งดังออกมา
แอป Crossstock ที่ได้รางวัลระดับประเทศ ด้าน Big Data ก็เริ่มต้นมาจากการที่ ทีมงาน iChurch รู้สึกหงุดหงิดใจที่ไม่มีรูปภาพสำหรับคริสเตียนให้ใช้อย่างถูกลิขสิทธิ์ เลยทำแอปขึ้นมาเองแล้วก็ไปรวมทีมช่างภาพมาถ่ายภาพสต๊อกลงแอปเองซะเลย
ผมรู้จักนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอีกหลายคนเลย ที่ตอนเริ่มต้นคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ เขาเริ่มต้นจาก ปัญหาของตัวเอง บางคนหน้าแพ้ง่าย ก็เลยคิดค้นสูตรเครื่องสำอางที่เหมาะกับผิวหน้าของตัวเอง บางคนต้องการทานอาหารเพื่อสุขภาพที่อร่อยแต่หาไม่ได้ ก็เลยพัฒนาสูตรอาหารขึ้นมาทานเอง
บอกเลยว่าวันแรกที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น คนเหล่านี้ยังไม่มีใครคิดหรอกว่า มันจะขายได้ทั่วโลกหรือทั่วประเทศขนาดนี้ เขาก็แค่ทำในสิ่งที่ยังไม่มีใครตอบสนองความต้องการของตัวเขาเองได้ และในเมื่อไม่มีใครทำ พวกเขาก็เลยทำมันขึ้นมาเองซะเลย
และเมื่อปัญหาที่ไม่มีใครเคยแก้ได้ ถูกแก้โดยคนที่อยู่ในปัญหานั้นจริงๆ ก็ไม่แปลกอะไรที่ พอคนอื่นๆ ที่ปวดหัวปวดใจกับปัญหาแบบเดียวกันมาเห็น จะอยากได้อยากใช้บ้าง
ธุรกิจจึงถือบังเกิดขึ้น การพัฒนาต่อยอดสินค้า/บริการให้โดนใจคนหมู่มากถึงเริ่มตามมาทีหลัง
วันนี้คุณเป็นคนหนึ่งที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจอะไรบางอย่างอยู่หรือเปล่า
คุณกำลังพยายามมองหาว่า มีช่องว่างทางธุรกิจอะไรที่ยังไม่ถูกเติมเต็มบ้างใช่มั้ย
ถ้าคำตอบคือใช่ แล้วคุณก็ลองทำมาสักพักแล้ว จนตอนนี้คุณรู้สึกว่า มืดแปดด้าน คิดอะไรไม่ออก เริ่มอะไรไม่ถูก
ลองหันกลับมามองรอบๆ ตัวก็ได้นะ
ใครจะรู้ ระหว่างที่คุณกำลังแก้ปัญหาให้ตัวเอง คุณอาจจะกำลังสร้างธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ให้ตัวคุณเองอยู่ก็ได้นะ
ใครมีไอเดียอยากแก้ปัญหาให้ตัวเอง แล้วอยากได้เพื่อนคุย inbox มาเลย โค้ชยินดีคุยด้วยครับ 😉
#โค้ชความคิด #โค้ชกาย #ฐิติกรพูลภัทรชีวิน
Illustration by Freepik Storyset

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา