26 ม.ค. 2021 เวลา 07:00 • ประวัติศาสตร์
"สุรพล สมบัติเจริญ "ราชาเพลงลูกทุ่ง
สุรพล สมบัติเจริญ
"มาละโว้ย มาละว่า ๆ ลูกเด็กเล็กแดงวิ่งแข่งสับสน ปากร้องตะโกนว่าสุรพล เขามา" ท่อนสร้อยของเพลง "สุรพลมาแล้ว" ที่ก่อนการแสดงวงดนตรีครูสุรพล จะทำการแสดงแก่ผู้ชมทั้งหลาย
วันนี้ผมจะขอเล่าเรื่องราวอดีตที่ผ่านมาแล้วกว่า 50 ปี ที่เพลงลูกทุ่งกลับมาฮิตมีชื่อเสียงอีกครั้ง โดยครูเพลงที่หากพูดถึงคงจะรู้จักในหมู่สูงวัยหรือวัยทำงาน
สุรพล สมบัติเจริญ หรือ พันจ่าอากาศโทลำดวน สมบัติเจริญ เกิดวันที่ 9 มี.ค. 2473 เป็นบุตรของเปลื้อง สมบัติเจริญ และวงศ์ ท่านเป็นคนที่ 2 ในบรรดาพี่น้อง 6 คน
ท่านเป็นคนตำบลม่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ถ้าแฟนลูกทุ่งมักจะเอ่ยกล่าวกันว่า หากใครเกิดพื้นที่สุพรรณฯ มักจะร้องเพลงไพเราะ เพราะมีสำเนียงเหน่อ
เรียนประถมที่โรงเรียนประสาทวิทย์ และก็มาเรียนโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัยจนจบ ม.6 ก่อนที่คุณพ่อให้มาเรียนโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย แต่เรียนเพียงครึ่งปี เพราะไม่ชอบ จึงไปสมัครเป็นครูที่โรงเรียนสุพรรณกงลิเสีย เสี้ยว เป็นโรงเรียนจีน แต่สอนได้สักระยะ ก็ลาออก เพราะไม่ชอบ
เขาได้สมัครเข้าไปเป็นนักเรียนจ่าพยาบาล อยู่ที่โรงเรียนพยาบาล กรมแพทย์ทหารเรือ กองทัพเรือ ตั้งอยู่ปากคลองมอญ (ปัจจุบันเป็นศูนย์ทันตกรรม กรมแพทย์ทหารเรือ)
แต่ความชื่นชอบการขับร้อง จึงหนีไปร้องเพลงช่วงค่ำคืน แต่เมื่อชะตาย่อมมีพลิกผัน สุรพลถูกจำคุก ในข้อหาหนีราชการทหารเรือ เขาจึงได้เป็นขวัซใจนักโทษ เพราะท่านร้องเพลงก่อนนอน เมื่อท่านออกจากคุก ท่านก็ลาออกจากทหารเรือ และไปร้องเพลงสังสรรค์ในกองทัพอากาศ ด้วยน้ำเสียงที่ดี เรืออากาศเอก ปราโมทย์ วัณณะพงศ์ เป็นผู้ก่อตั้งค่ายมวยและหัวหน้าค่ายมวยของกองทัพอากาศได้เรียกพบและยื่นโอกาสให้เป็นราชการประจำกองดุริยางค์ทหารอากาศ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ "ราชาเพลงลูกทุ่ง ครูสุรพล สมบัติเจริญ"
ในปี พ.ศ. 2496 น้ำตาลาวเวียง เป็นเพลงแรกที่อัดแผ่นเสียง แต่เพลงที่น่าจะรู้จักกันคือ ชูชกสองกุมาร "นี่แน่ะ ไอ้วายร้าย เดี๋ยวตีให้ตาย แล้วยังมาทำสำออย" หลังจากนั้นก็มีเพลงอีกมากมายทั้ง เป็นโสดทำไม สาวสวนแตง ของปลอม พี่เกี้ยวไม่เป็น อัฐยายขนมยาย มอง ตา เขมรไล่ควาย ควายหาย ลูกทุ่งเลือดสุพรรณ หนึ่งในดำเนิน คนหัวล้าน ยิ้มเห็นแก้ม ขัดมัน ผ่าไฟแดง เสียวไส้ หนักใจ กว๊านพะเยา ดรรชนีไฉไล เศรษฐีเงินกีบ สาวหน้าฝน เดือนหงายที่ริมโขง รักริงโง น้ำตาผัว ฯลฯ
บทเพลงครูสุรพล
ที่น่าจะเคยได้ยินน่าจะมีเพลงลืมไม่ลง ที่ท่านแต่งเองร้องเองแต่ไม่นิยม จึงแต่งเพลงให้ผ่องศรี วรนุช ลูกศิษย์ฯ ร้องเพลงแก้ชื่อ ไหนว่าไม่ลืม ทำให้ลืมไม่ลงกลับมาดังอีกครั้ง ซึ่งนั่นน่าจะเป็นเพลงแรกที่เป็นเพลงแก้ ที่ร้องสลับชายหญิงให้เกิดจินตนาการร่วมกัน
สุรพล มีเอกลักษณ์ในด้านหน้าตา บุคลิก และการร้องเพลงและการแสดงบนเวทีที่เป็นกันเอง มีตลกขบขัน มีเศร้าตามเนื้อเพลงที่ร้อง และมีจังหวะเป็นรำวง จังหวะสามช่า ทั้งยังสามารถแต่งเพลงได้อย่างเฉิดฉาย
ครูสุรพลมีศิษย์ที่คอยสืบสานเจตนารมณ์ของครูอย่างมากมาย เช่น ไพรวัลย์ ลูกเพชร,ผ่องศรี วรนุช,ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย,กังวาลไพร ลูกเพชร,ละอองดาว สกาวเดือน,เมืองมนต์ สมบัติเจริญ,ก้าน แก้วสุพรรณ,แทน นครปฐม ฯลฯ
ภาพถ่ายครูสุรพลกับเหล่าลูกศิษย์
อัลบั้ม อยากดัง โดยวงดนตรีศิษย์สุรพล
ครูสุรพลมีภรรยาชื่อว่า ศรีนวล สมบัติเจริญ และมีบุตร 5 คน ได้แก่
• สมพงษ์ สมบัติเจริญ
• สุรชัย สมบัติเจริญ
• ศิรินทิพย์ สมบัติเจริญ
• สุรชาติ สมบัติเจริญ
• สุรเดช สมบัติเจริญ
โดย สุรชัยและสุรชาติ ได้นำบทเพลงของพ่อมารีเมคใหม่จนมีชื่อเสียง
ศรีนวล สมบัติเจริญ
ซ้าย สุรชาติ สมบัติเจริญ/ขวา สุรชัย สมบัติเจริญ
แต่แล้วความดังย่อมมีวันลง ชีวิตยืนยงคงไร้ความหวัง เมื่อครูสุรพลได้แต่งเพลงน้ำตาจ่าโท และ 16 ปีแห่งความหลัง พรรณนาระลึกถึงความหลังเกี่ยวกับความรัก ที่เริ่มมีปัญหาความรักกับภรรยา และแอบมีข่าวความสัมพันธ์เกี่ยวกับสาวสวนแตง (จากการบอกเล่า)
เวทีวิกแสงจันทร์ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม (ตรงข้ามวัดหนองปลาไหล) ซึ่งตามคำบอกเล่าครูสุรพลก่อนจะมาที่วิกแสงจันทร์ ก็ได้เดินทางไปตลาดสวนแตง สุพรรณบุรี และท่านก็ได้จอดรถไว้ตรงหน้าวัดหนองปลาไหล แล้วข้ามถนนไปที่วิกแสงจันทร์ วงดนตรีครูสุรพลก็เริ่มทำการแสดงขึ้นตามปกติ เมื่อถึงคิวของครูสุรพลขึ้นร้องบนเวที ตามปกติแล้วมักจักร้องเพลงสุรพลมาแล้วเสมอ แต่คราวนี้ครูสุรพลได้กล่าวว่า "ผมจะขอร้องเพลง 16 ปีแห่งความหลังตราบชีวิตจะหาไม่" จากนั้นท่านก็ร้องเพลง 16 ปีแห่งความหลังเป็นเริ่มต้น แล้วค่อยทำการแสดงต่อไป
ครั้นการแสดงจบลง ครูสุรพลต้องการเดินทางไปหาภรรยาและลูกๆ จึงรีบขึ้นรถ แต่แล้วก็มีคนร้ายเดินมาข้างหลังแล้วยิงครูสุรพล 4 นัด ก่อนที่ท่านจะนอนแน่นิ่งลงไป เมื่อลูกศิษย์มาถึงก็รีบหามส่งโรงพยาบาลแต่สุดท้าย ความดังก็วูบดับลงกระทันหัน สุรพล สมบัติเจริญ เสียชีวิตกระทันหันของคืนวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2511 ขณะอายุเพียง 38 ปี
งานศพครูสุรพล สมบัติเจริญ
บทเพลงของครูสุรพลและลูกศิษย์จะเป็นตำนานลูกทุ่งกันตลอดไป
สวัสดี.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา