5 ก.พ. 2021 เวลา 01:34 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
"ชนชั้นของเมฆ"☁️🌥
ฟังไม่ผิดค่ะ เมฆที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ มีชนชั้นเป็นของตัวเอง นางจะลอยอยู่แต่ในชั้นของนางเท่านั้น (แบ่งชนชั้นกันสุดๆ😅)
เมฆ (Cloud) คือ กลุ่มของละอองน้ำขนาดเล็กซึ่งเกิดจากการควบแน่นของหยดน้ำในอากาศ
เมฆ มี 2 ลักษณะ คือ เมฆก้อน เรียกว่า “เมฆคิวมูลัส” (Cumulus) และเมฆแผ่น เรียกว่า “เมฆสตราตัส” (Stratus)
หากเมฆก้อนลอยชิดติดกัน เรานำชื่อทั้งสองมาต่อกัน เรียกว่า “เมฆสตราโตคิวมูลัส” (Stratocumulus) ในกรณีที่เป็นเมฆฝนจะเพิ่มคำว่า “นิมโบ” หรือ “นิมบัส” ซึ่งแปลว่า “ฝน” เข้าไป โดยเรียกเมฆก้อนที่ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองว่า “เมฆคิวมูโลนิมบัส” (Cumulonimbus) และเรียกเมฆแผ่นที่มีฝนตกปรอยๆ อย่างสงบว่า “เมฆนิมโบสตราตัส” (Nimbostratus)
1
เมฆ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ
1. เมฆชั้นต่ำ : อยู่สูงจากพื้นดินไม่เกิน 2 กิโลเมตร มี 5 ชนิด
1.1 เมฆสตราตัส (Stratus) : เมฆแผ่นบาง ลอยสูงเหนือพื้นไม่มากนัก เช่น ลอยปกคลุมยอดเขา มักเกิดขึ้นตอนเช้าหรือหลังฝนตก บางครั้งลอยต่ำมีลักษณะคล้ายหมอก
Stratus จาก twitter.com
Stratus จาก cloudatlas.wmo.int
1.2 เมฆคิวมูลัส (Cumulus) : เมฆก้อนปุกปุย สีขาวเป็นรูปกะหล่ำ ก่อตัวในแนวตั้ง เกิดขึ้นจากอากาศไม่มีเสถียรภาพ ฐานเมฆเป็นสีเทาเนื่องจากมีความหนามากพอที่จะบดบังแสง จนทำให้เกิดเงา มักปรากฏให้เห็นเวลาอากาศดี ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าเข้ม
Cumulus จาก cloudatlas.wmo.int
1.3 เมฆสตราโตคิวมูลัส (Stratocumulus) : เมฆก้อน ลอยติดกันเป็นแพ ไม่มีรูปทรงที่ชัดเจน มีช่องว่างระหว่างก้อนเพียงเล็กน้อย มักเกิดขึ้นเวลาที่อากาศไม่ดี และมีสีเทา เนื่องจากลอยอยู่ในเงาของเมฆชั้นบน
Stratocumulus จาก cloudatlas.wmo.int
1.4 เมฆนิมโบสตราตัส (Nimbostratus) : เมฆแผ่นสีเทา เกิดขึ้นเวลาที่อากาศมีเสถียรภาพทำให้เกิดฝนพรำๆ ฝนผ่าน หรือฝนตกแดดออกไม่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าร้องฟ้าผ่า มักปรากฏให้เห็นสายฝนตกลงมาจากฐานเมฆ
Nimbostratus จาก www.kernowweatherteam.co.uk
1.5 เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) : เมฆก่อตัวในแนวตั้ง พัฒนามาจากเมฆคิวมูลัส มีขนาดใหญ่มาก ปกคลุมพื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง หากกระแสลมชั้นบนพัดแรง ก็จะทำให้ยอดเมฆรูปกะหล่ำ กลายเป็นรูปทั่งตีเหล็ก ต่อยอดออกมาเป็นเมฆเซอโรสตราตัส หรือเมฆเซอรัส
Cumulonimbus จาก cimss.ssec.wisc.edu
2. เมฆชั้นกลาง : เกิดขึ้นที่ระดับสูง 2 - 6 กิโลเมตร ในการเรียกชื่อจะเติมคำว่า “อัลโต” ซึ่งแปลว่า “ชั้นกลาง” ไว้ข้างหน้า
เมฆชั้นกลางมีความหนาแน่นพอที่จะบดบังดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดเงา บางครั้งมองเห็นเป็นสีเทา
2.1 เมฆอัลโตคิวมูลัส (Altocumulus) : เมฆก้อน สีขาว มีลักษณะคล้ายฝูงแกะ ลอยเป็นแพ มีช่องว่างระหว่างก้อนเล็กน้อย
Altocumulus จาก www.thoughtco.com
2.2 เมฆอัลโตสตราตัส (Altostratus) : เมฆแผ่นหนา ส่วนมากมักมีสีเทา เนื่องจากบังแสงดวงอาทิตย์ ไม่ให้ลอดผ่าน และเกิดขึ้นปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้างมาก หรือปกคลุมท้องฟ้าทั้งหมด
Altostratus จาก whatsthiscloud.com
3. เมฆชั้นสูง : เกิดขึ้นที่ระดับความสูงมากกว่า 6 กิโลเมตร ในการเรียกชื่อจะเติมคำว่า “เซอโร” ซึ่งแปลว่า “ชั้นสูง” ไว้ข้างหน้า
เนื่องจากอากาศข้างบนบางมาก เมฆชั้นสูงไม่มีความหนาแน่นมากพอที่จะบดบังดวงอาทิตย์ จึงมองเห็นเป็นสีขาวเท่านั้น
3.1 เมฆเซอโรคิวมูลัส (Cirrocumulus) : เมฆสีขาว เป็นผลึกน้ำแข็ง มีลักษณะเป็นริ้วคลื่นเล็กๆ มักเกิดขึ้นปกคลุมท้องฟ้าบริเวณกว้าง
Cirrocumulus จาก www.stocksy.com และ whatsthiscloud.com
3.2 เมฆเซอโรสตราตัส (Cirrostratus) : เมฆแผ่นบาง สีขาว เป็นผลึกน้ำแข็ง ปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง โปร่งแสงต่อแสงอาทิตย์ บางครั้งหักเหแสง ทำให้เกิดดวงอาทิตย์ทรงกลด และดวงจันทร์ทรงกลด เป็นรูปวงกลม สีคล้ายรุ้ง
Cirrostratus จาก landlooper.nl
3.3 เมฆเซอรัส (Cirrus) : เมฆริ้ว สีขาว รูปร่างคล้ายขนนก เป็นผลึกน้ำแข็ง มักเกิดขึ้นในวันที่มีอากาศดี ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าเข้ม
Cirrus จาก pixy.org
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ลิ้งค์ด้านล่างนี้นะคะ
ขอบคุณที่อ่านจนจบค่ะ😊🙏

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา