13 มิ.ย. 2021 เวลา 23:55 • นิยาย เรื่องสั้น
นางฟ้าผู้กล้าหาญ
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
สนามบินการาจีในปากีสถาน เวลาตีสี่ครึ่ง วันที่ 5 กันยายน ปี 1986 เครื่องบินโบอิง 747-121 ลำหนึ่งลงจอดพัก เป็นสายการบิน แพน แอม เที่ยวบิน 73 บินมาจากมุมไบ หยุดแวะเพื่อให้ผู้โดยสาร 109 คนลงที่การาจีและรับผู้โดยสารเพิ่ม
จุดหมายปลายทางคือนิวยอร์ก โดยมีจุดหยุดพักที่เมืองการาจี และแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนีตะวันตก
1
เที่ยวบินนี้ผู้โดยสารเกือบเต็มลำ 388 คน ประกอบด้วยสิบสี่สัญชาติ ลูกเรือสิบสี่คน นักบินเป็นชาวอเมริกัน พนักงานต้อนรับทั้งหมดเป็นชาวอินเดีย
เป็นเวลาก่อนหกโมงเช้า ลูกเรือง่วนกับการเตรียมตัวเพื่อบินต่อไปแฟรงเฟิร์ต
พลันรถแวนคันหนึ่งของหน่วยรักษาความปลอดภัยของสนามบินติดไฟไซเรนแล่นมาจอดเทียบเครื่องบิน ชายสี่คนพร้อมอาวุธครบมือ สะพายปืน เอเค-47 ห้อยลูกระเบิด ถลันขึ้นบันไดเครื่องบิน สามคนสวมเครื่องแบบเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสนามบิน อีกคนหนึ่งสวมชุดพลเรือน
3
คนหนึ่งยิงปืนขึ้นฟ้า อีกคนหนึ่งถือกระเป๋าใบหนึ่ง คนร้ายคนหนึ่งยิงเจ้าหน้าที่สายการบินคูเวตสองคนที่อยู่ใกล้ ๆ เสียชีวิต หลังจากนั้นก็บุกเข้าไปในเครื่องบิน คนร้ายยิงปืนเฉียดเท้าของแอร์โฮสเตสคนหนึ่ง ตะโกนให้ปิดประตู
3
แอร์โฮสเตสชื่อ เชอรีน พาวัน อยู่ในมุมที่คนร้ายมองไม่เห็น ตรงไปที่อินเตอร์คอม แล้วโทร.ฉุกเฉินไปที่ห้องนักบินทันที เมื่อนักบินรับสาย เธอบอกรหัสสัญญาณว่าเครื่องบินถูกผู้ก่อการร้ายยึด
3
ตอนนั้นผู้ก่อการร้ายจับตัวแอร์โฮสเตสชื่อ นีร์จา พนต จ่อปืนที่หัวเธอ อีกคนหนึ่งสั่งให้แอร์โฮสเตสชื่อ ซันชายน์ วีสุวาลา พาไปหากัปตัน
เมื่อเปิดประตูห้องนักบิน พบว่าห้องว่างเปล่า นักบินและวิศวกรหายตัวไปแล้ว
แอร์โฮสเตสซันชายน์เห็นช่องเหนือห้องนักบินเปิดคาอยู่ ก็รู้ว่านักบินและวิศวกรหนีออก โดยไต่เชือกนอกเครื่องบินลงไป เธอจึงถ่วงเวลา เพื่อให้นักบินมีเวลาหนีมากขึ้น ผู้ก่อการร้ายไม่รู้จักโครงสร้างเครื่องบิน จึงไม่รู้ว่านักบินออกไปทางไหน
4
ผู้ก่อการร้ายยึดเครื่องบินสำเร็จ แต่เครื่องบินกลายเป็นนกปีกหัก เหินขึ้นฟ้าไม่ได้
1
แพน แอม เที่ยวบิน 73
เมื่อไม่มีกัปตัน นีร์จา พนต ก็กลายเป็นลูกเรือคนเดียวที่มีตำแหน่งสูงสุด
2
นีร์จาวัยเพียงยี่สิบสาม เป็นหัวหน้าพนักงานต้อนรับสายการบิน แพน แอม เที่ยวบิน 73 เวลานั้นสายการบินให้เที่ยวบินแฟรงก์เฟิร์ต-อินเดียใช้ลูกเรือทั้งหมดเป็นชาวอินเดีย
นีร์จาเป็นคนสวย เคยเป็นนางแบบ เธอสมัครงานเป็นแอร์โฮสเตสสายการบินแพน แอม ในปี 1985 ถูกส่งไปฝึกเป็นแอร์โฮสเตสที่ไมอามี สหรัฐฯ แต่เมื่อฝึกสำเร็จ ด้วยความฉลาด สวย บุคลิกดี เธอก็ได้รับเลื่อนเป็นหัวหน้าพนักงานต้อนรับ
3
เมื่อไม่มีนักบิน ผู้ก่อการร้ายก็ไม่มีทางอื่น ต้องเจรจากับทางการ เพื่อขอนักบิน
ผู้ก่อการร้ายปาเลสไตน์เป็นสมาชิกองค์การ อาบู นิดัล ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากลิเบีย มักโจมตีชาวอเมริกันและทรัพย์สินสหรัฐฯเนือง ๆ เคยก่อการจู่โจมฆ่าคนมากมายในช่วงทศวรรษ 70-80 เป็นกลุ่มที่ทางการสหรัฐฯ อิสราเอล และสหภาพยุโรปขึ้นบัญชีดำไว้
1
ผู้ก่อการร้ายต้องการบินไปไซปรัสและอิสราเอล เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษปาเลสไตน์ในไซปรัสและอิสราเอล โดยใช้ตัวประกันหลายร้อยคนเป็นเครื่องต่อรอง
2
หน่วยคอมมานโดปากีสถานเตรียมพร้อมทันที การบุกยึดเครื่องบินที่มีผู้โดยสารเต็มลำเป็นเรื่องเสี่ยงอย่างยิ่ง โชคดีที่นักบินไม่อยู่ในเครื่องบิน ทำให้ล้อมปราบง่ายขึ้น เนื่องจากถ้าขึ้นฟ้าแล้ว ความสูญเสียอาจจะสูงกว่าอยู่บนดิน ผู้ก่อการร้ายสามารถสั่งเครื่องบินชนอาคารหรือระเบิดเครื่องบินทิ้ง
4
ผู้อำนวยการสายการบิน แพน แอม ประจำปากีสถานเปิดเจรจากับหัวหน้าผู้ก่อการร้ายโดยใช้โทรโข่ง คนร้ายขู่ว่าหากมีคนบุกเข้ามาใกล้ จะสังหารผู้โดยสารทั้งหมดทันที
3
แอร์โฮสเตสเชื่อว่าผู้ก่อการร้ายจะทำจริง เพราะเห็นผู้ก่อการร้ายเปิดกระเป๋าที่นำมาด้วย ภายในบรรจุระเบิดมือเต็ม
ผู้อำนวยการสายการบินบอกหัวหน้าผู้ก่อการร้ายว่า สามารถติดต่อกันได้ผ่านวิทยุในห้องนักบิน ลูกเรือคนหนึ่งจะช่วยต่อสายให้ เขาบอกผู้ก่อการร้ายว่า ทางการกำลังจัดหานักบินให้
แต่ผู้ก่อการร้ายต้องการคำตอบที่ดีกว่านั้น
1
หัวหน้าผู้ก่อการร้ายไปหยุดที่ผู้โดยสารหนุ่มคนหนึ่ง เป็นชาวอินเดีย วัยยี่สิบเก้า ถือพาสปอร์ตสหรัฐฯ เขาเพิ่งแปลงสัญชาติเป็นอเมริกัน ผู้ก่อการร้ายพาเขาไปที่ด้านหน้าลำ บังคับให้คุกเข่าลงที่ประตูด้านหน้าเครื่องบิน สองมือประสานท้ายทอย
2
หัวหน้าผู้ก่อการร้ายบอกทางการว่า หากไม่ส่งนักบินมาภายในครึ่งชั่วโมง จะยิงตัวประกันคนนั้นทิ้ง
ชะตากรรมของชายหนุ่มขึ้นอยู่กับทางการว่าจะทำตามข้อเรียกร้องของผู้ก่อการร้ายหรือไม่
1
เมื่อถึงกำหนด ไม่มีคำตอบจากทางการ ผู้ก่อการร้ายก็ยิงตัวประกันอินเดีย-อเมริกันคนนั้นทิ้งอย่างเลือดเย็น โยนศพลงจากเครื่องบิน
2
หัวหน้าผู้ก่อการร้ายสั่งแอร์โฮสเตสสามคนไปรวบรวมหนังสือเดินทางของผู้โดยสารทุกคน เพื่อดูว่าใครเป็นคนอเมริกันบ้าง ทั้งสามก็ทำตามคำสั่ง รวบรวมหนังสือเดินทางทั้งหมดมา เหล่านางฟ้ารู้ดีว่าคนอเมริกันจะถูกฆ่าทิ้ง จึงแยกพาสปอร์ตสหรัฐฯออกมา เป็นจำนวนสี่สิบสามเล่ม เอาไปซุกซ่อนใต้ที่นั่งและในช่องทิ้งขยะ บางส่วนก็เก็บใส่กระเป๋าตัวเอง
2
เมื่อได้รับรายงานว่าไม่มีผู้โดยสารอเมริกันบนเครื่องบินลำนี้ ผู้ก่อการร้ายก็หันไปหาชาวอังกฤษ จับมาได้หนึ่งคน เขาถูกเตะอย่างแรง แต่ไม่ถูกฆ่า
3
แอร์โฮสเตสเชอรีนกับซันชายน์เป็นสองคนที่อยู่กับหัวหน้าผู้ก่อการร้ายแทบตลอดเวลา ทั้งสองถูกใช้เป็นโล่กำบังเมื่อต้องการดูสถานการณ์ภายนอกเครื่องบินจากหน้าต่าง คนร้ายจะจ่อปืน จิกผมและดันแอร์โฮสเตสไปชิดหน้าต่าง สั่งให้รายงานภาพนอกเครื่องบิน ถามว่าเห็นเครื่องบินรบของอเมริกันหรือไม่
3
ชั่วจังหวะหนึ่ง แอร์โฮสเตสซันชายน์มองไปที่ขวานในตู้กระจกฉุกเฉิน หัวหน้าผู้ก่อการร้ายสังเกตเห็น ก็จ่อปืนที่หัวเธอ บอกว่า "อย่าพยายามคิด"
1
เมื่อทางการไม่ส่งนักบินมา ผู้ก่อการร้ายก็บอกทางการว่า จะยิงผู้โดยสารหนึ่งคนทุกสิบห้านาที
2
แม้จะหวาดกลัว แต่ลูกเรือทั้งหมดก็ทำงานอย่างดีเยี่ยมปลอบขวัญผู้โดยสาร แจกอาหารและเครื่องดื่ม
1
สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหาทางออกได้ ผู้ก่อการร้ายบินขึ้นฟ้าไม่ได้ ทางการก็ไม่กล้าบุกเพราะกลัวผู้โดยสารจะถูกฆ่า
1
ผ่านไปราวสิบหกชั่วโมง ทางการก็ยังไม่ได้ทำตามข้อเรียกร้องใด ๆ ตลอดเวลายาวนานนั้น เครื่องบินใช้ไฟฟ้าสำรอง มีแสงสว่างทั้งลำ เครื่องปรับอากาศยังทำงาน แต่กำลังไฟฟ้าค่อย ๆ ตก แสงสว่างเริ่มหรี่ เครื่องปรับอากาศหยุดทำงาน
(ภาพปัจจุบัน) แอร์โฮสเตส เชอรีน ซันชายน์ ดิลิป นีร์จา (ภาพจาก BBC)
ลูกเรือคนหนึ่งบอกหัวหน้าผู้ก่อการร้ายว่า พลังงานฉุกเฉินจะใช้ได้อีกแค่สิบห้านาที แล้วจะดับหมด
1
เหล่าลูกเรือรู้ว่า เมื่อทุกอย่างจมในความมืด ย่อมเป็นโอกาสดีที่สุดที่จะหนี จะจะพาผู้โดยสารเต็มลำหนีได้อย่างไร
ไฟในเครื่องบินดับลงในที่สุดในเวลาสามทุ่ม
1
ผู้ก่อการร้ายเชื่อว่าหน่วยคอมมานโดจะบุกในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า จึงเริ่มปฏิบัติการทำลายเครื่องบินและผู้โดยสาร โดยระเบิดฆ่าทุกคน ผู้ก่อการร้ายสั่งผู้โดยสารทั้งหมดไปออกันที่กลางลำ
ในเวลาราวสามทุ่มครึ่ง ผู้ก่อการร้ายเริ่มสวดมนต์ หลังจากนั้นคนหนึ่งก็เล็งปืนยิงตัวระเบิด แต่กระสุนนัดนั้นพลาด ผู้ก่อการร้ายก็ดึงสลักระเบิดมือ ขว้างออกไป
1
โชคดีที่ในความมืดมองเห็นไม่ชัด ทำให้ดึงสลักออกไม่หมด ระเบิดจึงทำงานไม่เต็มที่ จากนั้นผู้ก่อการร้ายก็เริ่มยิงใส่ผู้โดยสาร
2
นรกแตก!
1
เมื่อมีการยิง ก็มีคนเปิดประตูฉุกเฉินสามบานด้วยมือ การเปิดแบบ 'manual' ทำให้ไม่มีแพยางถึงพื้นข้างล่าง หลายคนก็กระโดดลงไปที่ความสูงหกเมตรโดยไม่กลัวตาย บางคนตกลงไปที่พื้นจนกระดูกหัก
2
แอร์โฮสเตสที่อยู่ตรงประตู L3 เปิดประตูฉุกเฉิน แม้ว่าแพยางฉุกเฉินไม่ทำงาน ผู้โดยสารหลายคนก็หนีตายกระโดดลงไป
ผู้โดยสารคนหนึ่งเปิดประตูฉุกเฉิน R3 ซึ่งเป็นทางออกเหนือปีกเครื่องบิน หลายคนกระโดดออกไปเช่นกัน
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเปิดประตู R4 ผู้โดยสารหลายคนเผ่นหนีทางนั้น แอร์โฮสเตสซันชายน์ เชอรีน ดิลิป และอีกหลายคน ช่วยนำผู้โดยสารไปที่ทางออกซึ่งมีแพยาง ลูกเรือคนหนึ่งพาเด็กสามคนไถลบนแพยางลงไป
แอร์โฮสเตสนีร์จาเปิดประตูฉุกเฉินบานหนึ่ง แพยางไถลลงสู่ดิน เธอสามารถหนีไปได้ในตอนนั้น แต่เธออยู่จัดการให้ผู้โดยสารหนีลงไปให้มากที่สุด
2
ผู้โดยสารคนหนึ่งที่รอดตายเล่าว่า นีร์จานำทางผู้โดยสารไปที่ประตูออกฉุกเฉิน ตลอดหลายนาทีวิกฤตินั้น นีร์จาช่วยผู้โดยสารหนีอย่างต่อเนื่อง
1
พลันเสียงปืนดังขึ้น นีร์จาล้มลง เธอถูกยิงที่ตะโพก เลือดไหลท่วม แต่ยังมีสติดี ซันชายน์กับดิลิปเข้าไปช่วยทันที แบกร่างนีร์จาออกไปที่แพยาง ดันคนเจ็บลงไปก่อน ค่อยกระโดดตามลงไป
นีร์จาไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
2
ผู้ก่อการร้ายยิงจนกระสุนหมด และหนี
ผู้ก่อการร้ายสามคนถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสนามบินจับขณะหนี ส่วนหัวหน้าผู้ก่อการร้ายยังอยู่ในเครื่องบินตอนที่คอมมานโดบุกและถูกจับได้
เมื่อเสียงปืนเงียบลงแล้ว ลูกเรือหลายคนหวนกลับเข้าไปในเครื่องบิน เพื่อหาผู้โดยสารที่ยังมีชีวิตและติดค้างอยู่
1
นางฟ้าเชอรีนกับ รานี วัสวาณี เป็นแอร์โฮสเตสสองคนสุดท้ายที่ออกจากเครื่องบิน
การจับตัวประกันจบลงอย่างนองเลือด คนตายยี่สิบสองคน บาดเจ็บหนึ่งร้อยห้าสิบคน
2
ท่ามกลางวิกฤติร้ายแรงนั้น เด็กชายวัยเจ็ดขวบคนหนึ่งแลเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด เขารอดชีวิตเพราะแอร์โฮสเตสนีร์จาปกป้อง
2
เมื่อเติบใหญ่ เด็กคนนี้ได้กลายเป็นกัปตันเครื่องบิน เขาบอกว่า นางฟ้านีร์จาเป็นแรงบันดาลใจให้เขา
ผู้โดยสารชาวอังกฤษชื่อ Mike Thexton เขียนหนังสือชื่อ What Happened to The Hippy Man? ว่า ลูกเรือเที่ยวบินนี้ "กล้าหาญ ไม่เห็นแก่ตนเอง และฉลาดอย่างยิ่ง"
2
การเก็บพาสปอร์ตชาวอเมริกันไปซ่อน และช่วยชีวิตผู้โดยสารโดยไม่กลัวตาย ทำให้เขาเชื่อว่า นี่เป็นทีมลูกเรือที่ดีที่สุดทีมหนึ่งในโลก เจ้าหน้าที่ทุกคนมีบทบาทช่วยเหลือผู้โดยสารเต็มความสามารถ โดยยอมเสี่ยงชีวิตตัวเอง
2
หน้าที่มักมากับความรับผิดชอบ แต่ไม่ทุกคนสามารถกระทำเช่นนั้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตตัวเอง มันเป็นสัญชาตญาณเอาชีวิตรอดพื้นฐานของคน
1
เหล่านางฟ้าปฏิบัติงานเกินหน้าที่รับผิดชอบ
5
และนี่แยกคนธรรมดากับนางฟ้าออกจากกัน
4
แอร์โฮสเตสเที่ยวบิน แพน แอม 73 (ภาพจาก BBC)
ภาพหลังเหตุการณ์คืนสู่ความสงบ (ภาพจาก BBC)
หมายเหตุ
 
หลังเหตุการณ์นั้น ลูกเรือเที่ยวบิน 73 ได้รับคำชมเชยอย่างสูง สำหรับ นีร์จา พนต ที่เสียชีวิต ได้รับคำยกย่องจากหลายประเทศ หลายองค์กรในอินเดีย ปากีสถาน สหรัฐฯ เธอได้รับรางวัลอโศกจักรา รางวัลสูงสุดของอินเดียสำหรับคนที่กล้าหาญ เป็นคนอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลนี้
4
ภาพของนีร์จาปรากฏบนตราไปรษณียากรอินเดีย
2
ลิเบียถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายครั้งนี้ แต่ไม่ยอมรับผู้ก่อการร้ายทั้งหมดถูกส่งขึ้นศาล ต้องโทษประหารชีวิต แต่ถูกลดหย่อนเป็นจำคุกตลอดชีวิต
2
ในปี 2001 ทางการปากีสถานปล่อยหัวหน้าผู้ก่อการร้าย แต่เขาถูกสหรัฐฯดักจับตัวไปสหรัฐฯ ต้องโทษจำคุก 160 ปี คนที่เหลือทางการปากีสถานส่งกลับปาเลสไตน์ในปี 2008 ท่ามกลางการต่อต้านจากอินเดียและสหรัฐฯ
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา