27 มิ.ย. 2021 เวลา 23:55 • นิยาย เรื่องสั้น
วีรบุรุษในเงามืด
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
วันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 เกิดแผ่นดินไหวทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ตามมาด้วยคลื่นสึนามิสูงสิบสี่เมตรถาโถมเข้าทำลายโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิชิ ในเขตฟุกุชิมะ
1
เมื่อเกิดแผ่นดินไหว เตาปฏิกรณ์ฯก็ปิดลงโดยอัตโนมัติ ยุติปฏิกิริยาฟิชชันทันที เป็นเวลาเดียวกับที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองเริ่มทำงาน เพื่อให้ปั๊มทำงานรักษาความเย็นต่อไปได้ไม่หยุด แต่ไม่มีใครคาดว่า แผ่นดินไหวก่อให้เกิดคลื่นสึนามิที่โถมใส่โรงงานนิวเคลียร์ ทำให้น้ำท่วมชั้นล่าง เครื่องปั่นไฟฟ้าเสียหาย ระบบหล่อเย็นไม่ทำงาน ส่งผลให้แกนเตาปฏิกรณ์ปรมาณูสามเตาร้อนขึ้นเรื่อย ๆ จนละลาย เกิดการระเบิดขึ้นสามครั้ง กัมมันตรังสีแผ่กระจายไปทั่วพื้นที่ และลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
1
มันเป็นอุบัติเหตุโรงงานนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดหลังจากวิกฤติเชอร์โนบิลที่สหภาพโซเวียตในปี 1986
2
สามวันหลังเกิดเหตุ โรงงานก็เริ่มปฏิบัติการพิเศษ
ฟุกุชิมะ 50
เจ้าหน้าที่และนักวิทยาศาสตร์ประชุมกัน
"ตอนนี้ตัวเลขระดับรังสีพุ่งเกินขีดปลอดภัยไปมาก นี่เป็นวิกฤตินิวเคลียร์ระดับ 7 ตามมาตรฐานนานาชาติ"
1
"ปฏิบัติการที่เราต้องทำทันทีคือคืนความสมดุลให้เตาปฏิกรณ์ฯทั้งหมด มีงานหลายอย่างที่ต้องทำ ได้แก่สำรวจตรวจความเสียหาย วัดระดับรังสีตามจุดต่าง ๆ การทำให้เตาเย็นลง การทำให้เตาปฏิกรณ์ฯหยุดแพร่กัมมันตภาพรังสี การป้องกันเพลิงไหม้ที่อาจเกิดขึ้นตามจุดต่าง ๆ"
"ทำให้เตาปฏิกรณ์ปรมาณูเย็นลงยังไง?"
"ใช้น้ำทะเล นี่เป็นงานอันตราย ใครก็ตามที่เข้าไปทำงานนี้จะได้รับสารกัมมันตรังสีโดยเลี่ยงไม่พ้น มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่อยู่ใกล้เตาปฏิกรณ์ฯ การได้รับรังสีที่ระดับ 100 mSv ต่อชั่วโมงจะทำให้เป็นหมันและเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายในได้ ในระยะยาว คนเหล่านี้อาจเป็นมะเร็ง นี่จึงเป็นงานที่ต้องใช้อาสาสมัคร"
2
"ต้องการคนกี่คน?"
"สักห้าสิบคน และควรเป็นห้าสิบคนที่มีประสบการณ์และรู้เรื่องงาน"
2
"ก็น่าจะเป็นคนงานของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะพวกนี้รู้เรื่องงานและรู้จักสถานที่ดี"
แม้จะเป็นงานอันตราย แต่ก็มีคนงานสูงวัยจำนวนหนึ่งอาสาทำงานนี้ เพราะเห็นว่าพวกตนอายุมากแล้ว "รังสีไม่มีผลต่อความยาวของอายุและพวกเขาไม่ต้องการมีบุตรอีกแล้ว ที่สำคัญพวกเขาเป็นคนสูงวัยและสูงประสบการณ์"
1
หลายคนบอกครอบครัวแบบขำ ๆ ว่า "ไม่ต้องห่วงหรอก ผมคงตายตามธรรมชาติก่อนจะเป็นมะเร็งเพราะรังสี"
1
"ผมอยู่กับบริษัทมานานสี่สิบปี มันเป็นหน้าที่ของผู้ที่รู้เรื่องนี้ที่จะทำงานนี้ ก็คือผม"
แต่เนื่องจากมันไม่ใช่งานภาคบังคับ จึงต้องได้รับความร่วมมือจากครอบครัวของอาสาสมัครด้วย
ภรรยาคนหนึ่งบอกสามีของเธอว่า "ไปเถอะ ไปทำงานเพื่อช่วยเหลือคนอื่นเถอะ"
1
มันเป็นหน้าที่ และเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม
สามวันหลังเกิดเหตุ โรงงานก็ส่งคนงาน 750 คนออกไปจากพื้นที่ เหลือเพียงห้าสิบคน เพื่อทำงานพิเศษ
คนกลุ่มที่ชาวโลกเรียกในเวลาต่อมาว่า ฟุกุชิมะ 50
1
วิกฤติโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิชิ
กลุ่มฟุกุชิมะ 50 สวมเสื้อและหน้ากากป้องกันรังสี แบกถังออกซิเจน ทุกคนติดเครื่องวัดกัมมันตรังสี (dosimeter) ซึ่งจะเตือนเมื่อระดับรังสีสูงถึง 80 millisievert หากเครื่องเตือนเมื่อไร ก็ต้องหยุดทันที
1
"ชุดกันรังสีป้องกันสารกัมมันตรังสีได้เพียงระดับหนึ่ง ดังนั้นจึงมีเวลาจำกัดในปฏิบัติการแต่ละเที่ยว"
"นี่จะเป็นการทำงานแบบแต่ละคนทำงานในช่วงเวลาสั้น ๆ จำกัด เมื่อเข้าไปแล้วให้รีบทำงาน แล้วรีบออกมา คนชุดใหม่ก็จะเข้าไปแทน"
พื้นที่นั้นปกคลุมด้วยก๊าซไฮโดรเจนที่รั่วออกไปภายนอกเป็นระยะ ได้ยินเสียงระเบิดเป็นช่วง ๆ เมื่อก๊าซไฮโดรเจนสัมผัสอากาศภายนอก
ทางการส่งเฮลิคอปเตอร์หลายลำทำหน้าที่ลำเลียงน้ำทะเลไปดับความร้อนของเตาปฏิกรณ์ฯ แต่เฮลิคอปเตอร์แต่ละลำบินไม่ได้นาน นักบินเฮลิคอปเตอร์ก็เสี่ยงอันตรายอย่างสูงเช่นกัน เพราะความเข้มข้นของรังสีในพื้นที่นั้น
1
ระหว่างปฏิบัติการ เกิดระเบิดไฮโดรเจนที่อาคารเตาปฏิกรณ์ฯ หลายคนได้รับบาดเจ็บ แรงระเบิดส่งชิ้นส่วนปนเปื้อนรังสีไปทั่วบริเวณ ทำให้การปฏิบัติงานยากยิ่งขึ้น
มันเป็นงานฆ่าตัวตาย เป็นงานที่อันตรายที่สุดอย่างหนึ่งในโลก และต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะเตาปฏิกรณ์ปรมาณูกำลังสลายตัว
ฟุกุชิมะ 50
ฟุกุชิมะ 50 เดินหน้าทำงาน ท่ามกลางความร้อนจากเตาปฏิกรณ์ฯและความเย็นจากหิมะที่โปรยลงมา กลิ่นสารเคมีไหม้ไฟโชยมาตลอดเวลา แต่พวกเขาก็ไม่โดดเดี่ยวนาน เพราะปรากฏอาสาสมัครมาเพิ่มเรื่อย ๆ เป็น 580 คนในวันที่ 18 มีนาคม เช่น คนงานของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งอื่น ๆ คนงาน พนักงานดับเพลิง ทหาร วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ จากเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ โตเกียว โอซากา โยโกฮามา คาวะซากิ นาโกยา เกียวโต ฯลฯ ในที่สุดก็มากกว่าหนึ่งพันคน
9
แม้มีคนช่วยมากขึ้น แต่สื่อยังคงเรียกคนที่ทำงานพิเศษนี้ว่า ฟุกุชิมะ 50
ตลอดปฏิบัติการ หลายคนได้รับรังสีเกิน 100 millisievert แต่งานก็เดินหน้าต่อไปจนสำเร็จ ไม่มีใครรู้ว่าแต่ละคนจะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพแค่ไหนในอนาคต
พวกเขาเป็นวีรบุรุษในเงามืด ไม่มีใครเผยตัวตนเพื่อแสวงหาชื่อเสียงพวกเขาไม่ได้ต้องการชื่อเสียง พวกเขาเป็นพลังกลุ่มก้อนที่ปรากฏขึ้นเมื่อมีปัญหาใหญ่รอการแก้ไข ฟุกุชิมะ 50 กลายเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือร่วมใจเสี่ยงตายแก้ปัญหาเพื่อส่วนรวม
6
มันเป็นส่วนผสมของความเสียสละ ความกล้าหาญ ความรับผิดชอบต่อสังคม และโลกที่พวกเขาต้องการทิ้งไว้ให้ลูกหลาน
3
และมีอะไรดีไปกว่าการสร้างโลกแห่งความเสียสละ?
6
หมายเหตุ
หลังเหตุการณ์นี้ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลกเพิ่มมาตรการการป้องกันอุบัติเหตุลักษณะนี้ เช่น การก่อกำแพงสูงต้านคลื่นสึนามิ การติดตั้ง Passive Autocatalytic Hydrogen Recombiners เพื่อให้ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าในการทำงานในกรณีฉุกเฉิน ฯลฯ
4

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา