8 ก.พ. 2021 เวลา 14:31 • ไลฟ์สไตล์
เสน่ห์ที่กำลังหายไปในยุค cashless society
ประเทศไทยของเรากำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ cashless society หรือสังคมไร้เงินสดอย่างช้าๆ
ดูเหมือนรัฐบาลเองก็อาศัยวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ในการบีบให้ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบนี้ผ่านโครงการช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ ที่จำเป็นต้องพึ่งพาแอพพลิเคชั่นและอินเทอร์เน็ต
จะช้าหรือไว จะชอบหรือไม่ก็ตาม เราก็ต้องเดินไปตามกระแสนี้ที่จะค่อยๆ เกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่ขอทานในจีนยังมีคิวอาร์โค้ดไว้ใช้รับเงินบริจาคกันแล้วเลย อย่างไรเสียเราก็คงหนีไม่พ้นระบบนี้ไปได้
ผมเองก็ใช้งาน e-payment มาพักใหญ่แล้ว ก่อนที่จะมีโครงการของรัฐเสียอีก เรื่องความสะดวกสบายนั้นคงเป็นปัจจัยหลักของการชำระเงินในรูปแบบนี้แต่มันก็ทำให้เสน่ห์บางอย่างหายไปเช่นกัน โดยเพราะ "ลูกเล่นการออม"
ผมเคยออมเงินด้วยวิธีที่แตกต่างกัน เช่น
- แบ่งเงินใส่ถุงวันละ 120 เหลือเท่าไหร่เก็บให้เรียบ
- เก็บแบงก์ 50
- เก็บเหรียญทั้งหมดที่เหลือในวันนั้นใส่กระปุกซะ
แม้แต่การแยกกระปุกตามเป้าหมายต่างๆ เช่น ท่องเที่ยวประจำปี, ซ่อมบำรุงรถ ฯลฯ
แบงก์ 50 ซึ่งตอนนี้ถูกใช้หมดแล้ว 😂
ผมมองว่ามันคือเสน่ห์ที่ทำให้การออมเงินนั้นสนุก แต่ปัจจุบันนี้การทำแบบนี้ยากขึ้นแล้ว เพราะเราใช้ e-payment เกือบ 100% ผมเคยมีเงินสดติดตัวแค่ 200-300 บาทแต่อยู่ได้เกือบทั้งเดือนก็มี เพราะจะเติมน้ำมัน ซื้อผลไม้ ซื้อเครื่องดื่ม ซื้อกับข้าว ฯลฯ ก็จ่ายเงินผ่านแอพได้เกือบหมด
ผมใช้โหลคล้ายกันนี้เป็นกระปุก
ตอนนี้แค่กระปุกเดียวก็ยากจะถมเงินให้เต็มแล้วเพราะการจ่ายออนไลน์มันไม่มีเงินทอน จึงไม่มีเหรียญไว้หยอด แม้แต่แบงก์ 50 ที่เคยหาได้ง่ายๆ ด้วยการซื้อของใน 7-11 ด้วยราคา 30 บาท ซึ่งมักจะได้เงินทอนเป็นแบงก์ 50+20 ตอนนี้ก็ทำไม่ได้แล้วเพราะจ่ายผ่าน truemoney ไม่ก็บัตรของคุณแม่
นอกจากเรื่องส่วนตัวที่รู้สึกเหงาๆ เพราะไม่มีเงินหยอดกระปุกแล้ว ผมก็มองออกไปยังคนขายกระปุกที่มักเข็นรถตากแดดเดินเข้าตามตรอกตามซอยเพื่อขายกระปุกหมูออมสินหรือรูปลักษณ์อื่นๆ ในราคาไม่กี่ 10 บาท เพื่อให้เด็กๆ ได้ใช้ฝึกออมเงินดังเช่นที่เป็นมาในวันก่อน
แต่ในวันนี้หรือวันข้างหน้าที่คงไม่ห่างจากนี้สักเท่าไหร่ เมื่อไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ อาชีพคนขายกระปุกเหล่านี้ก็คงตกกระป๋องตามไปด้วย คิดแล้วก็ใจหายแทนพวกเขา แม้ว่าผมจะไม่เคยเป็นลูกค้าเลยก็ตาม
1
โฆษณา