13 ก.พ. 2021 เวลา 05:00 • สิ่งแวดล้อม
#9 The Brain Club : Animal
เกิดเหตุฟ้าผ่าดับชีวิตยีราฟจำนวนสองตัวในประเทศแอฟริกาใต้ สาเหตุเกิดจากความสูงที่โดดเด่นของมันหรือไม่ ?
ร่างของยีราฟทั้งสองตัวถูกเจอภายหลังจากเกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนักในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ Rockwood ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองคิมเบอร์ลีทางตะวันตกประมาณ 180 กิโลเมตร
คุณ Ciska Scheijen นักศึกษาภาควิชาสัตวศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้าจาก University of the Free State ในเมืองบลูมฟอนเทน แอฟริกาใต้ ได้อธิบายถึงเหตุการณ์น่าเศร้าดังกล่าวในวารสาร African Journal of Ecology ที่อธิบายว่าความสูงของเจ้ายีราฟ คือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้พวกมันถูกฟ้าผ่าได้มากขึ้น
รูปแบบของฟ้าผ่าสามารถฆ่าสัตว์ป่าได้ 2 วิธี
1. Side Flash คือกระแสไฟฟ้าแรงสูงจากฟ้าผ่าลงที่ร่างสัตว์โดยตรง
2. Touch Potential คือกระแสไฟฟ้าแรงสูงจากฟ้าผ่าที่เคลื่อนที่ผ่านวัตถุต่างๆ แล้วบังเอิญสัตว์ผู้โชคร้ายดันไปสัมผัสกับวัตถุนั้นๆ
☁ ความตายจากฟากฟ้า
ในแต่ละปีมีสัตว์จำนวนมากได้รับบาดเจ็บจากการโดยฟ้าผ่า จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติชีวอุตุนิยมวิทยาเมื่อปี 2012 พบว่าสัตว์ที่มีความเสี่ยงโดนฟ้าผ่ามากเป็นพิเศษ คือสัตว์ที่มีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างเท้าหน้าและเท้าหลัง เนื่องจากเท้าของพวกมันจะกลายเป็นจุดกลางของแรงดันไฟฟ้าภายหลังจากฟ้าผ่าลงไปยังพื้นหรือวัตถุที่อยู่ใกล้เคียง
โดยทั่วไปยีราฟเพศผู้ตัวโตเต็มวัยยืนได้สูงสุดประมาณ 18 ฟุต (5.5 เมตร) ส่วนตัวเมียจะสูงประมาณ 14 ฟุต (4.3 เมตร) ซึ่งมันสูงเด่นเป็นสง่ากลางที่โล่งจริงๆ จากรายงานพบศพยีราฟในบริเวณพุ่มไม้ขนาดย่อมๆ ที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่อยู่รอบๆ ดังนั้นพวกมันจึงเปรียบเสมือนสายล้อฟ้ากลางที่โล่งแจ้ง
ศพยีราฟตัวที่ 1 เป็นเพศเมียอายุ 5 ปี สภาพกะโหลกศีรษะร้าว และเขา Ossicone หัก บ่งบอกเป็นนัยว่ามันเสียชีวิตจากการโดนฟ้าผ่าลงที่ศีรษะโดยตรง
ศพยีราฟตัวที่ 2 เป็นเพศเมียอายุ 4 ปี อยู่ห่างจากตัวแรกประมาณ 7 เมตร ในสภาพกะโหลกศรีษะแตก แต่ไม่มีร่องรอยของการบาดเจ็บบนร่างกายเหมือนตัวแรก ทำให้คาดการณ์ว่ามันไม่ได้โดนฟ้าผ่าตรงๆ แต่มันโดนกระแสไฟฟ้าที่ไหลอยู่ในพื้นช็อต
กระแสไฟฟ้าที่กระทบพื้นดินคือสาเหตุการตายที่พบมากที่สุด จากกรณีศึกษาในปี 2016 เคยมีเหตุการณ์ฟ้าผ่าลงสู่พื้นดับชีวิตกวางเรนเดียร์จำนวน 323 ตัว รวมถึงลูกวัว 7 ตัว ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าในกรณีของยีราฟแอฟริกาใต้ " ฟ้ามักผ่าวัตถุที่อยู่สูงในพื้นที่โล่งกว้าง จากความสูงของยีราฟอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้พวกมันเสี่ยงต่อการถูกไฟผ่าเป็นพิเศษ" Scheijen กล่าว

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา