Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คีตาแห่งสยาม
•
ติดตาม
14 ก.พ. 2021 เวลา 03:02 • หนังสือ
✴️ บทที่ 1 ความท้อแท้ของอรชุน
(ตอนที่ 4) ✴️
หน้า 13 – 16
🌸 “พวกเขาได้ทำอะไรกัน” — สำรวจสนามรบในจิตใจและจิตวิญญาณ 🌸
⚜️ โศลก 1 ⚜️ (ตอนที่ 3)
❇️ การแบ่งกำลังพลที่ ธรรมเกษตร–กุรุเกษตร ❇️
จริง ๆ แล้วสนามกิจกรรมแห่งกายและจิตแบ่งได้เป็นสามส่วนตามการสำแดงของคุณสามประการในธรรมชาติ คุณทั้งสามได้แก่ (1) สัตวะ (2) รชะ (3) ตมะ
'สัตวะ' เป็นคุณที่โน้มนำไปฝ่ายดี — ความจริง ความบริสุทธิ์ จิตวิญญาณ 'ตมะ' เป็นคุณที่โน้มนำไปสู่ฝ่ายชั่ว — ความไม่จริง ความเฉื่อยเนือย ความโง่เขลา ส่วน 'รชะ' เป็นคุณฝ่ายกลาง ๆ ทำหน้าที่เกื้อหนุน — เช่น ช่วยสัตวะเพื่อปราบตมะ หรือ ช่วยตมะเพื่อปราบสัตวะ เป็นต้น รชะนี้มีกิจกรรมเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
▪️ส่วนแรกของสนามรบ: กายภายนอก▪️
ส่วนแรกของกองกำลังทั้งสามฝ่ายบนสนามกายมนุษย์นี้ ประกอบด้วยปริมณฑลของกาย รวมกับญาเณนทรีย์ 5 (หู ผิวหนัง ตา ลิ้น จมูก) กับ กรรเมนทรีย์ 5 (ปาก – ทำให้เกิดถ้อยคำ มือและเท้า กับอวัยวะขับถ่ายและการสืบพันธุ์) กายภายนอกของมนุษย์นี้คือฉากอันเป็นที่เกิดอย่างต่อเนื่องของผัสสะและกิจกรรมการเคลื่อนไหว จึงเหมาะแล้วที่จะเรียก 'กายภายนอก' นี้ว่า “กุรุเกษตร” ซึ่งหมายถึงทุ่งการกระทำภายนอก เป็นสถานที่กระทำทุกกิจกรรมของโลกภายนอก
สถานที่นี้เป็นที่อยู่ของ 'รชะ' และ 'ตมะ' — แต่ 'รชะ' “เป็นใหญ่อยู่ที่นี่” กล่าวคือ อณูหยาบของกายสสารถูก 'ตมะ' สร้างขึ้นโดยผ่านการสั่นสะเทือนของดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศ ทำให้สสารปรากฏใน 'ห้าลักษณะที่แตกต่างกัน' คือ 1️⃣ของแข็ง 2️⃣ของเหลว 3️⃣ไฟ 4️⃣แก๊ส และ 5️⃣อากาศ
ในเมื่อ 'ตมะ' เป็นคุณในฝ่ายมืดของธรรมชาติ มันจึงปกปิดสาระความจริงของสิ่งทั้งหลายไว้ภายใต้ความหยาบ และทำให้มนุษย์ซึ่งเป็นผู้รับรู้เกิดความโง่หลง 'รชะ' ซึ่งเป็นใหญ่อยู่บนทุ่งกุรุเกษตรนี้ “มีคุณลักษณะที่ตื่นตัว” จึงเห็นได้ชัดว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นเคลื่อนไหวไม่หยุดหย่อน และลักษณะของโลกที่มนุษย์พยายามจะควบคุมก็เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
▪️ส่วนที่สอง: ศูนย์ชีวิตและจิตบนไขสันหลังและสมอง▪️
ส่วนที่สองของสนามกายคือแกนสมองร่วมไขสันหลัง พร้อมกับศูนย์ชีวิตและจิตที่ซับซ้อน (จักระ) ทั้งหก (1️⃣ท้ายสมอง 2️⃣คอ 3️⃣ลำตัว 4️⃣ส่วนบั้นเอว 5️⃣กระเบนเหน็บ 6️⃣ก้นกบ) กับขั้วแม่เหล็กแห่งจิตสองขั้ว (มนัส) กับปัญญา (พุทธิ)
เมื่อถูกมนัสดึงไปสู่สิ่งหยาบ ศูนย์ที่มีความซับซ้อนนี้จะทำหน้าที่พุ่งออกไปภายนอก ปล่อยลำแสงจ้าคล้ายเปลวแก๊สพุ่งแรง ทำให้ผัสสอินทรีย์และการเคลื่อนไหวในตัวมนุษย์มีความตื่นตัว — แต่ถ้าถูกพุทธดึงกลับเข้าสู่ภายใน อินทรีย์ที่ซับซ้อนเหล่านี้ก็จะซ่านซึมเข้าสู่สมอง ลักษณะคล้ายเปลวแก๊สอ่อน ๆ ไปรวมกับจิตวิญญาณ เราเรียก 'แกนสมองร่วมไขสันหลังกับจักระทั้งหก' นี้ว่า “ธรรมเกษตรกุรุเกษตร” ซึ่งเป็นสนามพลังละเอียดแห่ง 'พลังอภิจิต' และเป็นสนามการกระทำทางโลกด้วย
ธรรมชาติของที่นี่มีลักษณะเด่นคือ 'รชะ' กับ 'สัตวะ' — 'รชะ' ทำหน้าที่เกี่ยวกับธาตุความสั่นสะเทือนที่ละเอียดทั้งห้าตามที่กล่าวมาแล้ว ให้พลังการกระทำแก่กรรเมนทรีย์ทั้งห้า : 1️⃣ทักษะเกี่ยวกับการใช้มือ 2️⃣การใช้เท้าเพื่อการเคลื่อนไหว 3️⃣การพูด 4️⃣การสืบพันธุ์ และ 5️⃣การขับถ่าย นอกจากนี้ยัง #สร้างกระแสปราณ ซึ่งทำหน้าที่ #หล่อเลี้ยงกายให้ทำหน้าที่ต่อไปได้
'สัตวะ' ทำหน้าที่เกี่ยวกับธาตุความสั่นสะเทือน ทั้งห้า สร้างอินทรีย์การรับรู้ — พลังที่ทำให้ญาเณนทรีย์ทั้งห้ามีชีวิต ธรรมชาติที่ละเอียดของสสาร ความสงบ การควบคุมตน และอำนาจอื่น ๆ ทางจิตวิญญาณ (ซึ่งจะอภิปรายต่อไป) ที่โยคีผู้ปฏิบัติสมาธิลึกซึ้งรับรู้ได้ที่ศูนย์สมองร่วมไขสันหลังนี้มีผลต่อ 'สัตวะ' ในทุ่งธรรมเกษตรกุรุเกษตรนี้ด้วย
▪️ส่วนที่สาม: ที่อยู่ของทิพยจิตในสมอง▪️
ส่วนที่สามของสนามกายอยู่ที่สมอง ซึ่งกินอาณาบริเวณจากจุดระหว่างคิ้วขยายออกไปสิบนิ้วผ่านกระหม่อม (ส่วนบนของศีรษะซึ่งช่องเล็ก ๆ จะปิดไปเมื่อทารกคลอดจากครรภ์มารดา) ไปจนถึงท้ายสมอง บริเวณนี้เรียกว่า “ธรรมเกษตร” ประกอบด้วย 'ท้ายสมอง' และ 'สมองส่วนหน้า' และ 'ส่วนกลางตอนบน' รวมถึงศูนย์ทิพย์หรือวิญญาณจักษุ กับดอกบัวพันกลีบ #เป็นจุดเชื่อมกับทิพยจิต
คำว่าธรรมที่ใช้ในคำว่าธรรมเกษตรในที่นี้แปลตามตัวอักษรได้ว่า “สิ่งซึ่ง ทรงไว้” ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤต 'ธริ' “ยึด หรือ ค้ำ” สนามกาย ส่วนธรรมเกษตรนี้ทรงไว้ หรือเป็นเหตุแห่งการเป็นไปของมนุษย์ ชีวิตและจิตที่แสดงออกที่นี่ในลักษณะละเอียดที่สุด คือแหล่งพลังสร้างสรรค์และหล่อเลี้ยงมนุษย์ (ทั้งกายหยาบ กายเหตุ และกายทิพย์) และเป็นทางผ่านที่วิญญาณจะละจากกายทั้งสามนี้กลับสู่บรมวิญญาณ ดังนั้น 'สัตวะ' หรือธรรมชาติการรู้แจ้งอันบริสุทธิ์ จึงเป็นคุณเด่นที่สุดในแดนธรรมเกษตร
ธรรมเกษตรเป็นที่อยู่ของวิญญาณ จากอาณานี้จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ในภาวะที่จะอวตารจะเป็นผู้สร้างและปกครอง 'อาณาจักรกายทั้งสาม' แต่เมื่อวิญญาณเพ่งอยู่ภายในแทนที่จะสำแดงออกภายนอก วิญญาณนั้นจะเป็นหนึ่งเดียวกับบรมวิญญาณอันสูงสุด และอยู่อย่างปลอดภัยบนบัลลังก์แห่งความเกษมสุขใหม่ ๆ ในดอกบัวพันกลีบ ในอาณาที่พ้นไปจากกายคับแคบทั้งสาม พ้นไปจากเหตุทั้งปวง พ้นไปจากการสัมผัสของคุณลักษณะและกิจกรรมของธรรมชาติ
จากดอกบัวพันกลีบ และสุริยเนตรแห่งจิตวิญญาณในแดนสมองของธรรมเกษตร #พลังละเอียดและพลังสั่นสะเทือนที่สร้างสรรค์และหล่อเลี้ยงชีวิต จะไหลผ่านศูนย์บนแกนสมองร่วมไขสันหลังเพื่อหล่อเลี้ยง 'กาย' และ 'อินทรีย์แห่งการรับรู้' และ 'การกระทำ' นอกจากเป็นช่องทางผ่านของพลังชีวิตทั้งหยาบและละเอียดแล้ว สมอง และแกนสมองร่วมไขสันหลัง ยังถูกเรียกว่าเป็น “ฐานของจิต” อีกด้วย
จากธรรมเกษตร #จิตวิญญาณจะไหลไปกับปราณ สุริยวิญญาณส่ง “รังสีไฟฟ้า” แห่งจิต ผ่านวิญญาณจักษุ ผ่านแกนสมองร่วมไขสันหลังไปสู่จักระทั้งหก เบื้องหลังพลังในแต่ละจักระคือการสำแดงของทิพยจิตแห่งวิญญาณ เมื่อปราณนี้เคลื่อนต่อไปจนถึงภาวะจิตใต้สำนึกและจิตสำนึก จิตจะเข้าสู่ไขสันหลัง และไหลสู่สาขาใยโยงของประสาทนำเข้านำออก ไปจนถึงปริมณฑลของร่างกาย นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไม 'ในภาวะที่รู้ตัว' กายภายนอกของมนุษย์จึงมีปฏิกิริยาตอบรับกับสิ่งเร้าทางผัสสะ กล่าวคือกายรับรู้จิตภายนอก หรือ 'อหังการ'
▪️การศึกทั้งสาม: ศีลธรรม, จิตใจ, และจิตวิญญาณ▪️
การยุทธ์ที่ทุ่งกุรุเกษตรดังที่พรรณนาไว้ในคีตา จึงเป็นความพยายามที่จะเอาชนะการศึกในทั้งสามส่วนบนสนามกายของมนุษย์
(1) การต่อสู้ระหว่าง 'ฝ่ายวัตถุกับฝ่ายศีลธรรม' ระหว่าง 'ความดีกับความชั่ว' 'การกระทำที่ถูกกับการกระทำที่ผิด' บนสนามผัสสอินทรีย์แห่งทุ่งกุรุเกษตร
(2) การต่อสู้ทางจิตใจ ระหว่าง 'การบำเพ็ญสมาธิภาวนาในระดับสมองร่วมไขสันหลัง' บนสนามธรรมเกษตรกุรุเกษตร ระหว่าง 'แนวโน้มฝ่ายมนัสที่ฉุดดึงชีวิตและจิตออกไปสู่วัตถุภายนอก' กับ 'แนวโน้มการแยกแยะอันบริสุทธิ์แห่งพุทธิปัญญาที่ฉุดดึงชีวิตและจิตกลับสู้วิญญาณภายใน'
(3) การต่อสู้ทางจิตวิญญาณ ต่อสู้กันเมื่อมีการปฏิบัติโยคะขั้นลึกซึ้งในระดับสมองใหญ่บนสนามธรรมเกษตร 'เพื่อพิชิตจิตระดับต่ำ' 'สลายอหังการ' และ 'การแยกตนจากพระเจ้าในสมาธิ' ซึ่งเป็นชัยชนะร่วมกันระหว่างวิญญาณกับบรมวิญญาณในจิตจักรวาล
โยคีที่ปฏิบัติถึงขั้นสูงอาจยินดีกับ 'บรมสุขแห่งสมาธิ' นี้หลายครั้ง แต่กลับพบว่า #ไม่สามารถจะดำรงภาวะหนึ่งเดียวนี้ได้อย่างถาวร ท่านถูกดึงกลับไปสู่อหังการและจิตสำนึกฝ่ายกายด้วยอำนาจของกรรม (ผลจากการกระทำในอดีต) ความอยากที่ยังเหลือเศษอยู่และความยึดมั่นถือมั่น
แต่เมื่อนำชัยชนะแต่ละครั้งมาสัมพันธ์กับบรมวิญญาณ จิตวิญญาณก็จะกลับเข้มแข็ง และควบคุมอาณาจักรแห่งกายได้มั่นคงยิ่งขึ้น ในที่สุดกรรมก็จะถูกพิชิต ความอยากตามธรรมชาติฝ่ายต่ำและความยึดมั่นจะถูกปราบ อหังการจะถูกสังหาร — โยคีเข้าถึงไกวัลย์ ความหลุดพ้น เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้านิรันดร์
เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว “โยคีที่หลุดพ้น” อาจสลัดกายทั้งสามทิ้งไป 'ดำรงอยู่อย่างวิญญาณอิสระในภาวะนิรันดร์' 'มีจิตรู้ตลอดเวลา' 'เป็นวิญญาณที่เสวยบรมสุขอยู่ทุกที่'
แต่ถ้าท่านเลือกที่จะออกจากสมาธิเข้าสู่จิตและกิจกรรมแห่งกาย ท่านก็สามารถทำได้ในภาวะ 'นิรวิกัลปสมาธิ' ในภาวะสูงสุดของจิตวิญญาณภายนอกนี้ 'ท่านยังคงอยู่ในธรรมชาติอันบริสุทธิ์แห่งจิตวิญญาณ' 'ไร้สิ่งแตะต้อง' 'ไร้การเปลี่ยนแปลง' 'ท่านไม่สูญเสียการรับรู้พระเจ้าพร้อม ๆกับทำหน้าที่ภายนอกทุกอย่างสนองแผนการของพระเจ้า'
“ภาวะอันเลิศนี้” คือ #การปกครองของวิญญาณราชาที่ปกครองอาณาจักรกายอย่างที่ใครไม่อาจแข่งขัน
(มีต่อ)
1 บันทึก
1
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ภควัทคีตา เล่ม 1 บทที่ 1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย