15 ก.พ. 2021 เวลา 05:59 • สุขภาพ
โรคน้ำคั่งในโพรงสมอง
1
โรคน้ำคั่งในโพรงสมองในผู้สูงอายุ คือ ภาวะความผิดปกติทางสมองที่เกิดจากโพรงน้ำในสมองมีขนาดใหญ่ขึ้น การขยายตัวของโพรงน้ำไปกดเบียดเนื้อสมองทำให้สมองทำงานผิดปกติ มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นโรคที่มีอุบัติการณ์สูงมาก ทั้งหญิงและชายใกล้เคียงกัน แม้ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยนัก คือประมาณ 1-5 คน ต่อประชากร 100,000 คน แต่หากเริ่มมีอาการหรือมีความผิดปกติดังต่อไปนี้แม้เพียงเล็กน้อย ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
2
สาเหตุ โรคน้ำคั่งในโพรงสมอง
สาเหตุของโรคนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
กลุ่มที่หาสาเหตุไม่พบ คือ มีการดูดซึมน้ำในโพรงสมองกลับเข้าหลอดเลือดดำ (Cerebrospinal fluid: CSF) ลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งทำให้เกิดการคั่งของน้ำหล่อเลี้ยงในโพรงสมอง โพรงสมองจึงขยายโตขึ้นอย่างช้าๆ ส่งผลต่อเนื้อเยื่อสมอง และก่อให้เกิดอาการดังที่กล่าวมา แต่ความดันในโพรงสมองยังปกติอยู่ จึงเรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติ”
กลุ่มที่หาสาเหตุพบ เช่น มีภาวะเลือดออกในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง ภาวะติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง หรือเยื้อหุ้มสมองอักเสบ อุบัติเหตุรุนแรงที่สมอง เช่น ตกจากที่สูง ล้ม หรือถูกรถชนแล้วศีรษะถูกกระแทกอย่างแรง
อาการ โรคน้ำคั่งในโพรงสมอง
การเดินผิดปกติ ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ขาในการก้าวเดินได้เป็นปกติ เดินลำบากเวลาขึ้นลงบันไดหรือที่ลาดชัน โดยลักษณะการเดินจะเดินช้าๆ ก้าวสั้นๆ เดินขากางเนื่องจากการทรงตัวไม่ดี หรือเดินเซเพราะมีอาการมึนงง แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยจะไม่มีการอ่อนแรงของขาทั้ง 2 ข้างชัดเจน
สมองเสื่อม ญาติอาจสังเกตว่าผู้ป่วยมีสมาธิสั้น เฉื่อยชา ความจำระยะสั้นแย่ลง หลงลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้น อาการเหล่านี้จะค่อยๆ เป็นเพิ่มขึ้นในระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี
ปัสสาวะราด ปัสสาวะบ่อย ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ เข้าห้องน้ำไม่ทัน
การรักษา โรคน้ำคั่งในโพรงสมอง
ในการวินิจฉัย แพทย์จะทำการซักประวัติ ดูอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือ CT Scan หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง หรือ MRI จะพบโพรงน้ำในสมองมีขนาดใหญ่ และพบร่องผิวสมองบริเวณส่วนบนของศีรษะ และบริเวณแนวกลางสมองมีลักษณะแคบและแน่น ร่วมกับมีความผิดปกติของการเดิน ในผู้ป่วยบางรายเราจะใช้การเจาะระบายน้ำจากโพรงสันหลังและผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ก็เป็นข้อบ่งชี้ว่าเป็นโรคนี้
การรักษาโรคนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงในการผ่าตัด เมื่อมีการเจาะระบายน้ำในโพรงสมองแล้ว จะให้การรักษาด้วยการรับประทานยาลดการสร้างน้ำในโพรงสมอง ซึ่งผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงมักจะดีขึ้น
การผ่าตัดวางสาย/ท่อระบายน้ำจากโพรงน้ำในสมองลงมาสู่ช่องท้อง ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่มีบาดแผลเล็กเกือบจะไม่มีการสูญเสียเลือด และใช้เวลาผ่าตัดน้อย ดังนั้นจึงเป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงต่ำ การรักษาด้วยการผ่าตัดนี้มักจะทำก็ต่อเมื่อการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาไม่ดีนัก หรือมีความจำเป็นต้องเจาะระบายน้ำจากโพรงสมองซ้ำบ่อยๆ หรือกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงตั้งแต่ตรวจพบ ซึ่งหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเดิน แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้า ก็จะส่งผลให้ภาวะนี้เป็นมากขึ้น จนผู้ป่วยเดินไม่ได้ สมองเสื่อมรุนแรง และต้องนอนติดเตียงในที่สุด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา