Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
EveryGreen
•
ติดตาม
13 มี.ค. 2021 เวลา 13:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
งานวิจัยชี้ ลูกหนูจำแม่ได้ ตั้งแต่หลังเกิดเพียง 3 วัน แม้จะไม่ใช่แม่ผู้ให้กำเนิดก็ตาม
การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เร็วที่สุด เริ่มต้นขึ้นภายในครอบครัวเมื่อทารกสามารถจดจำผู้ดูแลใกล้ชิดได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือแม่นั่นเอง ความทรงจำเกี่ยวกับแม่จะเป็นพื้นฐานของการเชื่อมความสัมพันธ์ของครอบครัวให้แข็งแกร่ง แต่ก็ยังเป็นปริศนาว่าความทรงจำเหล่านี้จะคงอยู่เรื่อยมาจนโตหรือไม่?
มีหลักฐานจากงานวิจัยระบุว่าสายใยระหว่างแม่-ลูกเริ่มพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์เรื่อยมาจนหลังคลอด ทารกสามารถจดจำแม่ได้ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆไม่ว่าจะเป็นการได้กลิ่น การได้ยิน การมองเห็น หรือการสัมผัส
1
รวมทั้งมีงานวิจัยก่อนหน้านี้รายงานว่า ลูกหนูก็มีแสดงออกถึงการจดจำแม่ผ่านการดมกลิ่น ได้เช่นกัน ผลการทดลองพบว่าลูกหนูสามารถแยกแยะระหว่างแม่ผู้ให้กำเนิดและแม่หนูแปลกหน้าได้ในช่วงอายุประมาณ 3 อาทิตย์หลังเกิด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีงานวิจัยที่ทดลองกับลูกหนูตั้งแต่ระยะแรกเกิด และ คำถามที่ว่าลูกหนูจะสามารถคงความทรงจำเกี่ยวกับแม่ได้มาจนถึงตอนโตหรือไม่ ก็ยังคงเป็นปริศนา
Blake Laham จาก Princeton Neuroscience Institute จึงได้ทำการทดลองเพื่อหาคำตอบนี้ โดยใช้ลูกหนูที่มีอายุเพียง 3 วัน ทั้งเพศผู้และเพศเมีย เหตุผลที่เลือกลูกหนูอายุ 3 วัน เพราะในระยะนี้ลูกหนูจะเริ่มมีการแสดงออกเกี่ยวกับการได้กลิ่น ซึ่งถือเป็นลูกหนูอายุน้อยที่สุดที่เคยทดลองมา เพราะงานวิจัยก่อนหน้าทดลองกับลูกหนูอายุ 17 วัน
1
และเพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลมาจากพันธุกรรม เพราะมีบางงานวิจัยระบุว่า แม่-ลูกที่มีสายเลือดเดียวกันจะสร้างความเชื่อมโยงได้จากกลิ่นและยังถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าต่างๆให้มีความคุ้นเคยกันตั้งแต่อยู่ในครรภ์ นักวิจัยจึงทำการสลับแม่หนู ให้ลูกหนูถูกเลี้ยงดูและอยู่กับแม่หนูตัวอื่นตั้งแต่แรกเกิด เรียกแม่หนูที่ไม่ใช่แม่แท้ๆทางสายเลือด แต่ให้นมและการเลี้ยงดูนี้ว่า Caregiving mother
🍼 การทดลองเพื่อตอบคำถามว่าลูกหนูอายุ 3 วันจะจดจำแม่ที่ให้การเลี้ยงดูได้หรือไม่
วิธีการคือ นำแม่หนูที่เลี้ยงดูลูกหนู (Caregiving mother) และ แม่หนูแปลกหน้า (Novel mother) มาใส่ในตาข่ายโปร่งเพื่อกักบริเวณให้อยู่กับที่แล้ววางในกล่องให้แยกกันอยู่คนละมุม หลังจากนั้นจึงนำลูกหนูในกลุ่มทดลองมาวางตรงกลางเพื่อดูปฏิกิริยา เนื่องจากลูกหนูอายุ 3 วันตัวเล็กมาก ขาไม่แข็งแรง ยังเดินไม่ได้ ตาปิดสนิท และหูพับปิดลงมา การทดลองจึงเก็บผลจากทิศทางการหันจมูกไปดมกลิ่นของลูกหนู
🍼 ผลการทดลอง
พบว่าจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ลูกหนูหันไปทำจมูกฟุดฟิดทางฝั่งของแม่หนูที่ให้การเลี้ยงดู และ ไม่หันไปทางแม่หนูแปลกหน้า อย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าลูกหนูสามารถจดจำแม่ที่ให้การเลี้ยงดูได้ และเพื่อความแน่ใจ นักวิจัยได้เลือกลูกหนูอายุ 6 และ 14 วันมาทำการทดลองเพิ่มเติม พบว่าให้ผลไปในทิศทางเดียวกัน
จากกราฟแสดงให้เห็นว่า ลูกหนูวัย 3, 6 และ 14 วัน มีปฏิสัมพันธ์กับแม่หนูที่ให้การเลี้ยงดู มากกว่าแม่หนูแปลกหน้า อย่างมีนัยสำคัญ กราฟจึงแสดงผลทางบวก
นอกจากนี้ ยังสังเกตพฤติกรรมทางสังคมแบบอื่นร่วมด้วย ซึ่งก็คือการส่งเสียงร้องของลูกหนู เนื่องจากการส่งเสียงร้องแบบแหลมเล็ก หรือที่เรียกว่า Ultrasonic vocalizations (USVs) เป็นเสียงที่จะถูกเปล่งออกมาเมื่อร้องหาแม่ นักวิจัยทำการทดลองในลูกหนูอายุ 5 วัน และพบว่าลูกหนูจะส่งเสียงร้องเมื่ออยู่ใกล้แม่หนูที่ให้การเลี้ยงดูมากกว่าแม่หนูแปลกหน้า เป็นหลักฐานเพิ่มเติมว่าลูกหนูสามารถจดจำแม่ที่ให้การเลี้ยงดูได้
🧀 การทดลองเพื่อตอบคำถามว่าลูกหนูในวัยหลังหย่านม จะจดจำแม่ได้จนโตหรือไม่
และเพื่อหาคำตอบว่าความทรงจำของลูกหนูเกี่ยวกับแม่นั้นจะคงอยู่ได้นานจนโตหรือไม่ นักวิจัยได้ทดลองในลูกหนูวัยหลังหย่านม ซึ่งจะถูกเลี้ยงแยกออกมาจากแม่หนู โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างอายุ 30, 60, 100 และ 150 วัน ทำการทดลองในกล่องแบบเดิม นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการดึงดูดของฟีโรโมนต่างเพศ หรือกลิ่นที่ข้องกับการสืบพันธุ์ จึงเลือกช่วงเวลาที่แม่หนูอยู่ในระยะหลังติดสัดเท่านั้น
เนื่องจากลูกหนูโตมากแล้ว สามารถเดินได้ และมีการแสดงออกพฤติกรรมทางสังคมมากขึ้น การเก็บผลการทดลองจึงสังเกตจากพฤติกรรมต่างๆได้อย่างละเอียดมากกว่าการหันจมูกดมกลิ่นของลูกหนูอายุ 3 วัน
🧀 ผลการทดลอง
พบว่าลูกหนูทุกช่วงอายุ (30, 60, 100, 150 วัน) แสดงความสนใจต่อแม่หนูแปลกหน้ามากกว่าแม่หนูที่ให้การเลี้ยงดู อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งเพศผู้และเพศเมีย แสดงให้เห็นว่าความทรงจำเกี่ยวกับแม่ส่งผลยาวนานมาจนถึงพฤติกรรมทางสังคมตอนโต แต่จะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามตั้งแต่หลังหย่านม
จากกราฟแสดงให้เห็นว่า ลูกหนูวัย 30, 60, 100 และ 140 วัน มีปฏิสัมพันธ์กับแม่หนูแปลกหน้ามากกว่าแม่หนูที่ให้การเลี้ยงดู อย่างมีนัยสำคัญ กราฟจึงแสดงผลทางลบ
กล่าวคือ เมื่อลูกหนูโตขึ้นจะเริ่มสนใจหนูตัวอื่นเพื่อการสืบพันธุ์ แต่ความทรงจำเกี่ยวกับแม่ที่คงอยู่ แม้จะหย่านมไปแล้ว ทำให้ลูกหนูไม่สนใจแม่หนูที่ให้การเลี้ยงดูมา แต่สนใจแม่หนูแปลกหน้าแทน
งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า ลูกหนูเริ่มมีการจดจำแม่แม้จะยังอยู่ในระยะแรกเกิด และความทรงจำนั้นคงอยู่มายาวนานจนโตถึงแม้จะหย่านมแล้ว และยังส่งผลต่อพฤติกรรมทางสังคมในการหาคู่อีกด้วย
*หมายเหตุ: ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ยังมีการทดลองต่ออีกเยอะเลยค่ะ มีการหาด้วยว่าบริเวณไหนของสมองที่เกี่ยวข้องกับการจดจำแม่ แต่ไม่ได้ยกมาเขียนเพราะจะยาวและยุ่งยากเกินไปค่ะ ถ้าสนใจสามารถไปอ่านต่อได้ ขอบคุณค่ะ :D
งานวิจัย: Blake J. Laham, Emma J. Diethorn, Elizabeth Gould,
Newborn mice form lasting CA2-dependent memories of their mothers,
Cell Reports,
Volume 34, Issue 4,
2021,
108668,
ISSN 2211-1247
References >>
https://doi.org/10.1016/j.celrep.2020.108668
http://www.sci-news.com/othersciences/neuroscience/mice-memories-their-mother-three-days-birth-09295.html
https://www.nature.com/articles/d41586-021-00216-7
1 บันทึก
35
37
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Reading Corner
1
35
37
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย