3 มี.ค. 2021 เวลา 13:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ตาข่ายจับหมอก ผลิตน้ำจากอากาศแม้อยู่ในทะเลทราย
ขณะที่โลกมีพื้นที่น้ำปกคลุมอยู่มากถึง 3 ใน 4 ส่วน ก็ยังมีพื้นที่แห้งแล้งที่ฝนตกน้อยมากหรือแทบไม่ตกเลย แต่พื้นที่เหล่านั้นยังพอมีอากาศที่หอบเอาความชื้นจากบริเวณอื่นพัดผ่านไปมา เพียงแต่ปริมาณไม่มากพอที่จะกลั่นตัวเป็นน้ำฝน ถ้าสามารถเปลี่ยนอากาศเหล่านั้นให้กลายเป็นน้ำได้ก็คงจะดี
Photo: edition.cnn.com
bbc.com
หนึ่งในพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดในโลกอย่างทะเลทราย Atacama ประเทศชิลี มีลักษณะภูมิประเทศเหมือนอยู่บนดาวอังคาร แผ่นดินเป็นสีแดง แห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝนต่อปีน้อยกว่า 0.1 มิลมิเมตร แถมยังมีบางพื้นที่ที่ฝนไม่ตกเลยเป็นเวลาหลายสิบปี
ในขณะที่แทบจะไม่มีน้ำฝนเลย พื้นที่แห่งนี้กลับเต็มไปด้วยหมอก ซึ่งหมอกเหล่านี้หอบเอาความชื้นมาจากพื้นที่ชายฝั่งทะเล พัดมาจนถึงแผ่นดินด้านใน จนมารวมตัวกันเป็นเมฆหมอกบริเวณภูเขา คนท้องถิ่นเรียกหมอกลักษณะนี้ว่า Camanchaca เป็นหมอกที่มีความชื้นสูงแต่ไม่กลายเป็นฝน
bbc.com
เป็นเรื่องน่าเสียดายที่มีไอน้ำและความชื้นมีอยู่รอบตัว แต่ไม่สามารถนำมาใช้ดื่มได้ ท่ามกลางสภาวะภัยแล้งอย่างหนักในปี 1956 นักวิทยาศาสตร์ Carlos Espinosa Arancibia ก็เกิดไอเดียขึ้นมาว่า ถ้าสร้างตาข่ายที่มีความถี่ของช่องรูที่เหมาะสม น่าจะทำให้หมอกเกิดการควบแน่นจนกลายเป็นหยดน้ำบนตาข่าย เมื่อสะสมจนมีปริมาณมากพอ ก็จะไหลลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลก แล้วค่อยรองเก็บด้วยภาชนะที่อยู่ด้านล่าง
นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างตาข่ายจับหมอก เมื่อสามารถใช้งานได้จริง จนทำให้คนท้องถิ่นมีน้ำเพื่อใช้อุปโภคบริโภคอย่างพอเพียง หลังจากนั้นตาข่ายนี้ก็เป็นที่รู้จักและใช้งานกันอย่างแพร่หลายทั่วอเมริกาใต้ไม่ว่าจะเป็น ชิลี, เปรู, กาน่า เรื่อยไปจนถึงประเทศอื่นเช่น แคลิฟอร์เนีย และ แอฟริกา มีบริษัทสตาร์ทอัพและทีมวิจัยหลายทีมที่ผลิตและพัฒนาให้ตาข่ายมีประสิทธิภาพมากขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
bbc.com
bbc.com
หนึ่งในนั้นก็คือ CloudFisher ซึ่งเป็นตาข่ายที่ถูกพัฒนาในประเทศเยอรมันโดยวิศวกรอาสาสมัครขององค์กร German WaterFoundation ได้แรงบันดาลใจจากใยแมงมุมที่ทำให้เกิดหยดน้ำตามธรรมชาติเกาะอยู่บนใยจากละอองหมอก CloudFisher ถือเป็นโครงการใช้ตาข่ายจับหมอกเพื่อผลิตน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถูกใช้งานในพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดของประเทศโมรอคโค ทวีปแอฟริกา บริเวณที่เป็นขอบของทะเลทรายซาฮาร่า
ความพยายามในการใช้ตาข่ายจับหมอกที่ประเทศโมรอคโคเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2015 และมีการทดลองเก็บข้อมูลอยู่ถึง 4 ปีเพื่อพัฒนาตาข่ายให้มีประสิทธิภาพดีที่สุด ตาข่ายของ CloudFisher มีหลายขนาด แต่ขนาดที่ใหญ่ที่สุดมีพื้นที่ 1600 ตารางเมตร สามารถผลิตน้ำรวมกันได้มากถึง 36,000 ลิตรต่อวัน เพียงพอต่อการใช้งานของประชากรในพื้นที่ราว 800 หลังคาเรือน
Mount Boutmezguida พื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดของโมรอคโค แต่เต็มไปด้วยหมอก [designboom.com]
ตาข่ายรูปแบบต่างๆ [designboom.com]
ตาข่ายของ CloudFisher ถูกออกแบบภายใต้คติว่า ต้นไม้ที่โอนอ่อนตามแรงลม จะไม่โค่นล้มลงมา ดังนั้นตาข่ายจึงสร้างจากพลาสติกที่มีความยืดหยุด รวมถึงวัสดุที่ใช้ยึดก็เป็นยางที่สามารถยืดหยุ่นได้เช่นกัน วัสดุที่ใช้มีคุณสมบัติช่วยลดการปะทะของแรงลม ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ ราง ท่อ และภาชนะที่ใช้กักเก็บน้ำ ก็สามารถเคลื่อนไหวตามแรงลมไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวของตาข่ายได้เช่นกัน และทุกอย่างถูกคำนวณให้ทนทานต่อความเร็วลมได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
การใช้ตาข่ายจับหมอกมีต้นทุนต่ำ ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้แรงงานคนคอยควบคุมการทำงาน แค่รอคอยเพื่อจะเก็บน้ำเมื่อหมดวันเท่านั้น แต่ว่าอาจจะเสียเงินไปกับค่าบำรุงซ่อมแซมบ้าง เพราะตาข่ายต้องได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ
2
การออกแบบตาข่ายจับหมอกของ CloudFisher [designboom.com]
CloudFisher ไม่เพียงแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำให้โมรอคโค ยังช่วยลดปัญหาการใช้แรงงานอย่างกดขี่ภายในพื้นที่ จึงถือเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับรางวัล ‘Momentum for Change’ จาก The United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) 2016 และถูกนำมาเป็นผลงานตัวอย่างในการประชุมของ UN เกี่ยวกับเรื่องโลกร้อน (COP22) ที่ถูกจัดขึ้นที่โมรอคโคอีกด้วย
ยังมีหลายประเทศที่ประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะทวีปแอฟริกาที่ประชาชนตายจากการขาดน้ำสะอาดปีละหลายร้อยคน บางพื้นที่ ชาวบ้านต้องเดินเท้าวันละ 3 ชั่วโมงเพื่อไปยังแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ถ้าแล้งจัด แหล่งน้ำแห้ง ก็ต้องจ่ายเงินให้รถบรรทุกน้ำด้วยราคาอันแสนแพง ในอนาคตปัญหาความแห้งแล้งอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากสภาวะโลกร้อน ดังนั้นจึงถือเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ไม่ควรถูกละเลยเพียงเพราะเรายังไม่เคยประสบกับปัญหาแบบนั้น
References >>
โฆษณา