15 มี.ค. 2021 เวลา 13:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
คืนชีพ เฟอร์เร็ตเท้าดำ สำเร็จเป็นครั้งแรกด้วยการโคลนนิ่ง
ขอแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับเฟอร์เร็ตเท้าดำ สัตว์ท้องถิ่นในทวีปอเมริกาเหนือที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเข้าใจว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว วันนี้นักวิทยาศาสตร์อเมริกาสามารถโคลนนิ่งสัตว์ท้องถิ่นของประเทศตัวเองสำเร็จเป็นครั้งแรกจากเซลล์ที่ถูกเก็บรักษาไว้มากกว่า 30 ปี เธอมีชื่อว่า Elizabeth Ann
เฟอร์เร็ตเป็นสัตว์กินเนื้อขนาดเล็กในตระกูล Polecat ได้แก่ แบดเจอร์ สกังค์ และตัวมิงค์ ปัจจุบันมีหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ดั้งเดิม คือ เฟอร์เร็ตเท้าดำ (Black-foot ferret) ซึ่งเป็นสัตว์ป่าท้องถิ่นของทวีปอเมริกาเหนือ สมัยก่อนพบเห็นได้ทั่วไปตามทุ่งหญ้าและป่าละเมาะในแถบตะวันตก
เวลาผ่านไป เฟอร์เร็ตเท้าดำมีประชากรลดลงอย่างมาก เนื่องจากเกษตรกรได้กำจัดเหยื่อที่เป็นอาหารหลักของมัน ซึ่งก็คือ แพร์รี่ ด็อก ปลายทศวรรษ 1970 ก็ไม่มีการพบเห็นเฟอร์เร็ตเท้าดำอีกเลย จนคิดว่าพวกมันน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่หลังจากนั้นในปี 1981 สุนัขเลี้ยงสัตว์ของฟาร์มปศุสัตว์ได้ค้นพบครอบครัวเฟอร์เร็ตเท้าดำจำนวน 18 ตัวในรัฐไวโอมิง และถือเป็นเฟอร์เร็ตเท้าดำ 18 ตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่ในโลกขณะนั้น
เฟอร์เร็ตเท้าดำที่ถูกพบทั้งหมดถูกให้การเลี้ยงดูและผสมพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรโดยองค์กร U.S. Fish and Wildlife Service ในรัฐโคโรลาโด ดังนั้นประชากรเฟอร์เร็ตเท้าดำราว 400-500 ตัวในปัจจุบัน จึงถือเป็นเฟอร์เร็ตที่มีพันธุกรรมอยู่ในหมู่เครือญาติใกล้ชิดกันทั้งหมด
Photo: Sumio Harada, Minden Pictures [nationalgeographic.com]
แน่นอนการผสมพันธุ์ในหมู่เครือญาติไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะทำให้ขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม และอาจทำให้ลักษณะจากยีนด้อยปรากฎในรุ่นลูกรุ่นหลานง่ายขึ้น แต่การโคลนนิ่งครั้งนี้ได้นำพันธุกรรมจากเซลล์ผิวหนังของเฟอร์เร็ตเท้าดำป่าเพศเมียที่มีชีวิตและตายลงในยุค 1980s มาทำการโคลนนิ่ง
เฟอร์เร็ตเท้าดำป่าตัวนี้มีชื่อว่า Willa ซึ่งปัจจุบันไม่มีทายาทของวิลล่าหลงเหลืออยู่แล้ว ดังนั้น การนำเซลล์ของเธอมาทำโคลนนิ่ง จะเป็นการเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมให้ประชากรของเฟอร์เร็ตเท้าดำที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนักวิจัยพบว่ายีนของวิลล่ามีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่าถึง 3 เท่า
1
เซลล์ของวิลล่าถูกเก็บรักษาไว้ด้วยการแช่แข็งด้วยโครงการ Frozen zoo ของ San Diego Zoo Global ที่เก็บรักษาตัวอย่างเซลล์ของสัตว์หายากและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ร่วม 1100 ชนิดทั่วโลก
เป็นที่รู้กันดีว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่โคลนนิ่งสำเร็จเป็นตัวแรกของโลกก็คือ Dolly the Sheep หรือ แกะดอลลี่นั่นเอง แกะดอลลี่เกิดจากการนำนิวเคลียสของเซลล์ร่างกายซึ่งก็คือเซลล์ต่อมน้ำนมของแกะเพศเมียตัวหนึ่ง ไปใส่ในเซลล์ไข่ที่ยังไม่ได้รับการผสมและถูกนำนิวเคลียสเดิมออก หลังจากนั้นจึงกระตุ้นการแบ่งเซลล์ด้วยประจุไฟฟ้า เมื่อเซลล์แบ่งตัวอยู่จนในระยะที่พร้อมจะฝังตัวเข้ากับมดลูก (Blastocyst) ก็จะถูกนำไปฝากท้องไว้กับแม่อุ้มบุญ
ถึงแม้เทคนิคการโคลนนิ่งด้วยวิธีนี้จะผ่านมาถึง 25 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีประสิทธิภาพที่ดี เพราะการโคลนนิ่งเฟอร์เร็ตเท้าดำก็ใช้วิธีเดียวกับแกะดอลลี่ เพียงแต่มีความซับซ้อนมากกว่าเพราะเป็นการถ่ายทอดพันธุกรรมข้ามสปีชีส์ เนื่องจากเซลล์ของวิลล่าถูกนำมาใส่ในไข่ของเฟอร์เร็ตบ้านที่เป็นสายพันธุ์ใกล้ชิดกับเฟอร์เร็ตเท้าดำ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเฟอร์เร็ตเท้าดำเพศเมียที่เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในขณะนี้
nytimes.com
เอลิซาเบธ แอนน์ ลืมตาขึ้นมาดูโลกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2020 ที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เฟอร์เต็ตเท้าดำ รัฐโคโรลาโด ผลการตรวจสุขภาพบอกว่าเธอมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ถ้าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี แอนน์จะเป็นแม่พันธุ์ในการขยายพันธุ์เฟอร์เร็ตเท้าดำต่อไป และลูกๆของเธอจะถูกฝึกให้เรียนรู้การล่าเหยื่อตามธรรมชาติ ก่อนมีแผนจะปล่อยออกสู่โลกกว้างภายในปี 2024 หรือ 2025
ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์คิดว่าการนำสายพันธุ์เฟอร์เร็ตเท้าดำป่าในอดีตกลับสู่ธรรมชาติอีกครั้งด้วยวิธีโคลนนิ่งไม่ได้มีผลกระทบด้านลบ เพราะการเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมให้ประชากรเฟอร์เร็ตเป็นผลดีมากกว่า ช่วยให้เกิดการขยายพันธุ์มากขึ้น และยังช่วยให้ร่างกายมีความแข็งแรงทนทานต่อเชื้อโรคเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยด้านการอนุรักษ์พันธุ์เฟอร์เร็ตเท้าดำในระยะยาวต่อไป
2
เอลิซาเบธ แอนน์ อายุ 2 เดือน // Photo: U.S. Fish and Wildlife Service via AP [nbcnews.com]
Reference >>
โฆษณา