27 ก.พ. 2021 เวลา 15:54 • ประวัติศาสตร์
Queen Ranavalona I : ราชินีผู้บ้าคลั่งแห่งมาดากัสการ์ ตอนที่ 1
4
พระนางคือคนที่ทำให้ประชากรของอาณาจักร Imerina ลดจำนวนลงไปกว่า 1 ใน 3 พระนางคือคนที่ขับไล่ชาวต่างชาติออกจากอาณาจักรของพระนาง และสามารถคุมกองกำลังทหารรบชนะมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสได้ พระนางคือคนที่ทุกคนในอาณาจักรต่างเกรงกลัว
2
วันนี้ Kang’s Journal อยากจะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับราชินี Ranavalona ที่หนึ่ง ราชินีที่ได้รับสมญานามว่า “The Mad Queen of Madagascar” ราชินีที่หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อ แต่รับรองว่าถ้าได้อ่านเรื่องราวของเธอแล้ว เพื่อน ๆ จะไม่มีวันลืมชื่อของเธอแน่นอน
1
แต่ก่อนที่จะไปพูดถึงเธอ ผมขออนุญาตเกริ่นเกี่ยวกับประเทศมาดากัสการ์ซักเล็กน้อยนะครับ
ประเทศมาดากัสการ์
มาดากัสการ์ เป็นประเทศในทวีปแอฟริกา มีลักษณะเป็นเกาะที่แยกออกมาจากแผ่นดินใหญ่เมื่อหลายล้านปีก่อน ทำให้ธรรมชาติบนเกาะนี้มีลักษณะเฉพาะตัว พืชและสัตว์หลายชนิดไม่สามารถพบได้ที่อื่นใดในโลกเช่นต้นเบาบับ ตัวลีเมอร์ กิ้งก่าคามิลเลียน เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอัญมณีที่สำคัญของโลกอีกด้วย
1
ประเทศมาดากัสการ์ เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก (https://www.britannica.com/place/Madagascar)
เกาะแห่งนี้ถูกค้นพบโดยชาวโปรตุเกสในศตวรรษที่ 15 และเคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศฝรั่งเศสมาก่อน ใช้ภาษามาลากาซีเป็นภาษาราชการ และเรื่องที่น่าสนใจคือ ภาษามาลากาซี มีลักษณะคล้ายกับภาษาบาฮาซาของอินโดนีเซียมาก ซึ่งนี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้นักประวัติศาสตร์สามารถสืบหาได้ว่า จริง ๆ แล้ว คนกลุ่มแรกที่มาตั้งรกรากที่มาดากัสการ์นั้น ที่จริงแล้วเป็นกลุ่มคนที่ล่องเรือมาจากอินโดนีเซียนั่นเอง โดยพวกเขาได้ล่องเรือมายังเกาะแห่งนี้ในช่วงปี ค.ศ. 500 และกลายมาเป็นชนเผ่า Merina ซึ่งเป็นชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนี้ เมื่อเวลาผ่านไป ก็มีการผสมเชื้อชาติกับชาวแอฟริกันที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่จนกลายมาเป็นชาวมาลากาซีในปัจจุบัน
3
ภาพเด็กสาวชาวมาลากาซี ที่สืบเชื้อสายมาจากชาว Merina ในอดีต (https://commons.wikimedia.org/wiki/Malagasy_girls_Madagascar_Merina)
ในประวัติศาสตร์ของมาดากัสการ์ มีอาณาจักรหลายแห่งเกิดขึ้นบนเกาะ และมักจะเกิดการสู้รบกันไปมาระหว่างอาณาจักร โดยหนึ่งในอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดคือ อาณาจักร Imerina ที่ในช่วงเวลาหนึ่ง ปกครองโดยราชินี Ranavalona ที่ 1 นั่นเอง ซึ่งในช่วงที่พระนางปกครองนั้นมีชาวยุโรปโดยเฉพาะชาวอังกฤษและฝรั่งเศส เริ่มมาตั้งรกรากเป็นมิชชันนารีในเกาะนี้อยู่จำนวนหนึ่งแล้ว
3
ปัจจุบันมาดากัสการ์เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก โดย 78% ของประชากรอาศัยอยู่ในภาวะยากจน เศรษฐกิจส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการเกษตร การท่องเที่ยว และการทำเหมืองแร่ ส่วนสินค้าส่งออกที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลกคือวานิลลา โดยในปี 2019 วานิลลาจากมาดากัสการ์คิดเป็น 57.2% ของวานิลลาทั่วโลก และคิดเป็น 27.2% ของมูลค่าการส่งออกของทั้งประเทศเลยทีเดียว
5
วานิลลา พืชเศรษฐกิจสำคัญของมาดากัสการ์ ที่มีมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 27.2% ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศในปี 2019  (https://www.foodnavigator.com/Article/2016/09/28/More-cocoa-growing-needed-in-Madagascar-to-lift-vanilla-market-sustainability-say-executives)
จากลูกชาวบ้าน สู่เจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์
มาเข้าเรื่องของเรากันดีกว่า ราชินี Ranavalona ที่ 1 มีชื่อเดิมว่า Ramavo เธอเกิดในปี 1778 ในครอบครัวสามัญชนธรรมดาทั่วไป ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ และเธอก็ไม่ได้รับการศึกษา ทำให้เธอไม่รู้จักวิธีเขียนหรืออ่านหนังสือ
ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อพ่อของเธอซึ่งทำงานในวังหลวง แอบไปได้ยินถึงแผนการลอบสังหารราชา Andrianampoinimirena ซึ่งเป็นราชาของอาณาจักร Imerina ในขณะนั้น ด้วยความซาบซึ้งในบุญคุณ พระราชาจึงรับ Ramavo มาเป็นลูกบุญธรรม ยิ่งกว่านั้นยังให้เธอแต่งงานกับลูกชายของเขาที่มีชื่อว่า เจ้าชาย Radama ซึ่งมีตำแหน่งเป็นมกุฎราชกุมาร และบอกอีกว่าลูกชายที่เกิดจากการแต่งงานครั้งนี้ จะได้เป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์คนต่อไป จากสามัญชนธรรมดา Ramavo ก้าวเข้าสู่ชีวิตในวังอย่างรวดเร็ว และเธอก็วาดฝันถึงชีวิตเจ้าหญิงไว้อย่างสวยหรู
2
ราชา Andrianampoinimirena ผู้รับ Ramavo มาเป็นลูกบุญธรรม (https://en.wikipedia.org/wiki/Andrianampoinimerina)
อย่างไรก็ตาม เหมือนกับเรื่องราวที่มักจะเกิดขึ้นกับราชวงศ์ทั่วโลก ชีวิตแต่งงานของทั้งคู่ไม่ราบรื่นนัก เจ้าชาย Radama มีภรรยาหลายคน และ Ramavo ก็ไม่ใช่ภรรยาคนโปรด ทั้งคู่ไม่มีความสุขกับชีวิตแต่งงานเลย และมักจะแยกกันอยู่ แต่โชคร้ายเป็นของ Ramavo เพราะในขณะที่ฝ่ายสามีสนุกสนานกับสาว ๆ รอบกาย Ramavo ต้องถูกทิ้งให้อยู่อย่างเดียวดาย ชีวิตเจ้าหญิงที่เธอวาดฝันไว้พังทลายลงไม่เป็นท่า ซ้ำร้ายจากความเหินห่างกันนี่เอง ที่สุดท้ายก็ทำให้ทั้งคู่ไม่มีลูกด้วยกันเลยแม้แต่คนเดียว
ในปี 1810 เจ้าชาย Radama ขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนมายุ 18 พรรษา ซึ่งเป็นธรรมเนียมของราชาที่จะต้องกำจัดศัตรูทางการเมือง เพื่อความปลอดภัยของราชบัลลังก์ เจ้าชายซึ่งตอนนี้กลายมาเป็น ราชา Radama ที่ 1 ก็ทรงกระทำเช่นกัน และซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือคนที่ถูกกำจัด มีคนที่เป็นญาติของ Ramavo อยู่ด้วยส่วนหนึ่ง ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ย่ำแย่ลงไปอีก และเป็นการบ่มเพาะความเกลียดชังที่เธอมีต่อสามีให้เข้มข้นยิ่งขึ้น
2
ราชา Radama ที่ 1 สามีของราชินี Ranavalona ที่ 1 (https://www.wikiwand.com/en/Radama_I)
ตลอดช่วงระยะเวลาการครองราชย์ของราชา Radama ที่ 1 พระราชกรณียกิจที่โดดเด่นที่สุดของพระองค์คือ การเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตกโดยเฉพาะกับประเทศอังกฤษ มีการจัดตั้ง London Missionary Society ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ และสอนความรู้ต่าง ๆ ให้กับชาวพื้นเมือง มีการนำเทคโนโลยีจากทางตะวันตกเข้ามาพัฒนาประเทศอย่างเช่นการทำอิฐ และอาวุธ รวมถึงมีการรวมแว่นแคว้นต่าง ๆ ที่ปกครองโดยหลายชนเผ่าเข้ากันจนเป็นปึกแผ่น และมีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมากมายเพื่อสอนวิชาพื้นฐานในหัวเมืองใหญ่ ๆ
1
London Missionary Society มีหน้าที่หลักในการเผยแผ่ศาสนาคริสต์  (https://mikepitts.wordpress.com/2016/04/04/madagascan-martyrs)
สู่อำนาจราชินี
1
หลังจากขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ในปี 1828 ราชา Radama ที่ 1 ก็เสด็จสวรรคตด้วยอายุเพียง 36 ปี บางคนบอกว่าพระองค์เสด็จสวรรคตด้วยโรคซิฟิลิส บางคนก็บอกว่าพระองค์เกิดสติฟั่นเฟือนแล้วปาดคอตัวเอง แต่ที่คนมักจะพูดกันถึงมากที่สุดก็คือตัว Ramavo นั่นแหละ ที่เป็นคนค่อย ๆ วางยาพิษสามีของพระนางจนเสียชีวิต
1
ว่ากันว่าหลังจากที่สามีของพระนางสวรรคต พระนางสั่งให้คนทั่วอาณาจักรทั้งชายหญิงไว้ทุกข์ด้วยการโกนศรีษะจนเกลี้ยง และงดกิจกรรมรื่นเริงใดใด รวมทั้งการร้องเพลง หรือแม้แต่ตบมือเป็นเวลานานถึง 9 เดือน และที่แปลกที่สุดคือห้ามส่องกระจก ใครส่องกระจกจะต้องถูกลงโทษ
1
คนที่ควรจะต้องขึ้นครองราชย์ต่อคือ Rakatobe ซึ่งเป็นหลานชายคนโตของราชา Radama ที่ 1 Rakatobe เป็นเด็กหนุ่มฉลาดปราดเปรื่อง และได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีจากโรงเรียนของมิชชันนารีอังกฤษ แต่เนื่องจากตอนนั้นการเมืองถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือกลุ่มคนที่สนับสนุน Rakatobe และกลุ่มคนที่สนับสนุน Ramavo ทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจกันขึ้น
2
สุดท้ายแล้วกลุ่มคนที่สนับสนุน Ramavo ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายทหารก็สามารถรวบอำนาจทุกอย่างมาไว้ในกำมือ และ Ramavo ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น Queen Ranavalona I หรือราชินี Ranavalona ที่ 1 ในวันที่ 11 สิงหาคม 1828 ทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงคนแรกของอาณาจักร Imerina ที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับตำแหน่งและอำนาจ ที่ในอดีตเคยเป็นของชายชาตรีเท่านั้นตั้งแต่มีการก่อตั้งอาณาจักรมาเกือบ 300 ปี
1
ราชินี Ranavalona ที่ 1 บนบัลลังก์ของพระนาง (https://www.pinterest.com/pin/578571883361968649/)
ว่ากันว่าในวันสถาปนานั้น พระนางให้โหรหลวงนำเลือดวัวที่เพิ่งเชือดมาสด ๆ มาราดลงบนตัวพระนาง เพราะความเชื่อที่ว่า การกระทำเช่นนี้จะทำให้พระนางมีความแข็งแกร่ง และไม่มีวันที่จะพ่ายแพ้ต่อใคร พร้อมกับประกาศกร้าวต่อหน้าทุกคนว่า "ไม่ต้องมาพูดว่า เธอเป็นเพียงแค่ผู้หญิงที่อ่อนแอและไม่สนใจอะไรเลย จะมีหน้ามาปกครองอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลได้ยังไง ฉันจะปกครองที่นี่ในนามของฉัน เพื่อความสุขของประชากรทั้งปวงของฉัน"
5
สิ่งแรกที่พระนางทำเมื่อได้ขึ้นครองราชย์ก็คือ การสั่งกำจัดเสี้ยนหนามทางการเมืองอย่าง Rakatobe และครอบครัวทางฝั่งสามีของเธอ เหมือนกับที่ครอบครัวขอ
เธอเคยโดนมาก่อน แม่ของ Rakatobe ถูกขังลืมในคุกและตายจากการขาดอาหาร ส่วน Rakatobe เองก็ถูกประหารชีวิตอย่างโหดเหี้ยมด้วยการรัดคอ พร้อมกับญาติหลาย ๆ คนของพระองค์ ความเกลียดชังและผิดหวังที่ถูกเก็บงำไว้กำลังจะถูกปลดปล่อยออกมาแล้ว
ในส่วนของการปลดปล่อยนั้น ว่ากันว่าสิ่งที่พระนางโปรดที่จะทำมากที่สุดคือ การถอดฉลองพระองค์ออกทั้งหมดจนเหลือแค่หมวก แล้วลงอาบน้ำในอ่างบริเวณระเบียงของพระราชวัง พร้อมกับมองลงไปที่เมืองเบื้องล่างของพระนางโดยไม่สนใจสายตาของใครที่อาจจะมองเธออยู่
2
พระราชวังของราชินี Ranavalona ที่ 1 (https://www.wikiwand.com/en/Ranavalona_I)
ขั้วอำนาจแปรเปลี่ยน
เมื่อราชินี Ranavalona ขึ้นครองราชย์ ในช่วงแรกพระนางได้ดำเนินนโยบายทางการเมืองต่อจากสามีของพระนาง โดยมีที่ปรึกษาเป็นทหารคนสำคัญอย่าง Andriamihaja ซึ่งตัวเขาเองนั้นเป็นคนหัวก้าวหน้า และมองว่าอาณาจักร Imerina ต้องคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีกับชาวยุโรปทั้งหลาย เพื่อพึ่งพาในเรื่องของความรู้ เทคโนโลยี และที่สำคัญคือเพื่อป้องกันการถูกรุกราน นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า เขาคือพ่อของเจ้าชาย Rakoto ซึ่งเป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของราชินีอีกด้วย (ซึ่งแน่นอนว่าตัวราชินีต้องประกาศว่าเป็นลูกของพระนางกับราชา Ramada ที่ 1 ที่สิ้นใจไปแล้วกว่า 1 ปีนั่นเอง)
หนึ่งในนโยบายที่มีการดำเนินต่อคือการอนุญาตให้มีการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ดังนั้นในปี 1828 เครื่องพิมพ์เครื่องแรกถูกนำเข้ามาใช้งานในอาณาจักร Imerina และเริ่มมีการตีพิมพ์คัมภีร์ไบเบิ้ลออกมา ส่งผลให้มีชาวพื้นเมืองหลายคนจากทุกชนชั้นหันมานับถือศาสนาคริสต์ ราชินี Ranavalona เองก็ไม่ได้มีข้อห้ามอะไรเป็นพิเศษ ทำให้ตอนนั้นศาสนาคริสต์เฟื่องฟูเป็นอย่างมากในดินแดนของพระนาง
6
แต่ก็เหมือนกับราชสำนักทั่วไปที่มักจะมีการแบ่งพรรคแบ่งพวก มีฝ่ายที่ตั้งตนเป็นศัตรูกับ Andriamihaja อยู่ ซึ่งหลัก ๆ แล้วจะเป็นกลุ่มของโหรหลวง ซึ่งตามวัฒนธรรมของชาว Merina โหรหลวงมีอิทธิพลในราชสำนักเป็นอย่างมาก พวกเขาเชื่อว่าชาวต่างชาติควรจะถูกขับออกไปจากอาณาจักรให้หมด เพราะศาสนาคริสต์ทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณีเก่า ๆ ถูกละเลย พวกเขาจึงพยายามใส่ร้าย Andriamihaja อยู่เสมอ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ
6
พราะราชวังของราชินี Ranavalona ที่ 1 จากเนินเขาในเมือง Antananarivo (https://www.madamagazine.com/en/die-anfaenge-des-koenigreichs-der-merina/)
แต่เมื่อความคุกกรุ่นในวังหลวงยังคงดำเนินต่อไปทุกวัน เสียงซุบซิบ นินทา ใส่ร้ายป้ายสีดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง หินผาอันแข็งแกร่งก็ย่อมพังทลายลง ในปี 1830 กลุ่มของโหรหลวงสามารถมอมเหล้าราชินีได้ และสามารถเกลี้ยกล่อมพระนางให้ลงโทษประหารชีวิต Andriamihija ได้จนสำเร็จ Andriamihija ทหารคนสนิทของพระนางถูกจับในบ้านของเขา และถูกประหารชีวิตทันทีด้วยข้อหาเป็นพ่อมด เมื่อเสี้ยนหนามทางการเมืองหมดไป อำนาจก็ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มโหรหลวง ขั้วการเมืองได้เปลี่ยนฝั่งไปแล้วอย่างสิ้นเชิง และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอาณาจักร Imerina ก็กำลังจะเกิดขึ้น
5
ที่ปรึกษาคนใหม่ของเธอที่มาจากกลุ่มของโหรหลวง เริ่มที่จะแนะนำในสิ่งต่าง ๆ ที่ล้วนแตกต่างจากสิ่งที่ Andriamihaja เคยแนะนำ สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือ ที่ปรึกษาคนใหม่ของเธอ แนะนำให้เธอแต่งงานกับทหารรักษาการณ์ของโหรหลวงนามว่า Rainiharo ซึ่งหลังแต่งงาน เขาได้เลื่อนยศขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดตั้งแต่ปี 1832-1852 คราวนี้ฝ่ายโหรหลวงก็ได้อำนาจทุกอย่างมาอยู่ในกำมือแล้ว ทั้งตัวราชินีเองและฝ่ายทหาร
3
บ้านเรือนในสมัยของราชินี Ranavalona ที่ 1 (https://www.madamagazine.com/en/die-anfaenge-des-koenigreichs-der-merina/)
สูญสิ้นศาสนาคริสต์
แน่นอนว่าสิ่งต่อมาที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การที่ศาสนาคริสต์เริ่มที่จะถูกมองในแง่ลบ เหตุผลหลัก ๆ ก็มาจากการเป่าหูของเหล่าโหรหลวง แต่อีกส่วนหนึ่ง ว่ากันว่ามาจากการที่ตัวราชินี Ranavalona เอง เริ่มไม่พอใจที่ขนบธรรมเนียมเก่า ๆ เริ่มจะถูกละเลยจากคนหลายกลุ่ม
1
ในความเชื่อของชาว Merina ซึ่งก็น่าจะคล้าย ๆ กับความเชื่อของหลาย ๆ แห่ง ราชาหรือราชินีถือว่าเป็นตำแหน่งที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษทั้งปวง และเป็นศูนย์กลางของการปกครองประเทศ ดังนั้นหากประชาชนหันไปนับถือศาสนาคริสต์ และหันไปเชื่อในพระเจ้า นั่นหมายถึงการเอาใจออกห่างจากบรรพบุรุษผู้ให้กำเนิดชาว Merina ซึ่งเทียบเท่ากับเป็นการทรยศต่อบรรพบุรุษของตนเอง
การลงโทษอย่างหนึ่งของการนับถือศาสนาคริสต์คือ การเผาทั้งเป็น (https://kwekudee-tripdownmemorylane.blogspot.com/2012/09/queen-ranavalona-i-great-traditionalist.html)
ดังนั้นในปี 1831 เพียง 3 ปี หลังจากขึ้นครองราชย์ พระนางได้ออกกฎหมายห้ามไม่ให้ทหารและเจ้าหน้าที่ราชการ มีความยุ่งเกี่ยวใดใดทั้งสิ้นกับศาสนาคริสต์ และเริ่มขยายขอบเขตไปถึงประชากรทีละหมู่เหล่าในอาณาจักรของพระนาง แต่ถึงกระนั้น ก็ยังคงมีกิจกรรมทางศาสนาแบบลับ ๆ อยู่ และก็ยังมีคนที่หันมานับถือศาสนาคริสต์มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาถึงปี 1835 ได้มีการออกประกาศอย่างเป็นทางการ ห้ามไม่ให้ประชากรชาว Imerina ยุ่งเกี่ยวใดใดกับศาสนาคริสต์โดยเด็ดขาด ผู้ใดที่ฝ่าฝืนจะต้องโทษประหารชีวิต ในขณะที่ชาวต่างชาติยังสามารถนับถือศาสนาของตนเอง และเปิดโรงเรียนสอนวิชาต่าง ๆ ได้อยู่ แต่ห้ามมีการเผยแผ่ศาสนาใดใดทั้งสิ้น
2
จากการประกาศครั้งนั้น ชาวพื้นเมืองคนไหนเป็นเจ้าของคัมภีร์ไบเบิ้ล หรือทำกิจกรรมทางศาสนาคริสต์ จะถูกทรมาน ปรับ จับเข้าคุก หรือประหารชีวิตอย่างเหี้ยมโหด ส่วนมิชชันนารีที่มีเป้าหมายในการเผยแผ่ศาสนาเป็นหลัก ในเมื่อไม่สามารถทำได้ ทุกคนต่างก็เริ่มเดินทางออกจากอาณาจักรของพระนาง
1
มีบันทึกถึงวิธีการอันเหี้ยมโหดที่พระนางใช้จัดการกับผู้ที่กล้าขัดคำสั่งของพระนางไว้มากมาย หนึ่งในนั้นคือชาวพื้นเมืองที่นับถือศาสนาคริสต์บางคนจะถูกนำตัวมาจับขึงเชือกให้ห้อย อยู่เหนือโตรกเขา ที่ด้านล่างเต็มไปด้วยหินแหลมคม แล้วถูกบังคับให้ประกาศละทิ้งศาสนา แน่นอนว่าคนที่ยอมทำตามจะรอดชีวิต ส่วนคนที่ไม่ทำตาม ก็จะโดนตัดเชือกแล้วตกลงไปสู่ความตายเบื้องล่าง บางบันทึกก็เล่าว่าบุคคลที่ถูกจับได้ จะถูกนำมาห้อยไว้ที่หน้าผา ให้อดข้าวอดน้ำ และสุดท้ายเชือกก็จะถูกตัด ทำให้ร่างของพวกเขาเหล่านั้นตกลงไปช่องเขาเบื้องล่างในที่สุด ซึ่งทุกอย่างล้วนกระทำต่อหน้าครอบครัวของผู้เคราะห์ร้าย
2
หนึ่งในการลงโทษของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์คือ การนำตัวมาแขวนไว้ที่หน้าผาแล้วตัดเชือกให้หล่นลงไปเบื้องล่าง (https://www.historicmysteries.com/queen-ranavalona-i/)
แต่สิ่งที่จะไม่พูดถึงไปไม่ได้ เมื่อกล่าวถึงพระนางก็คือ Tangena Ordeal ซึ่งเป็นรูปแบบการตัดสินคดีความแบบหนึ่ง และมักจะนำมาใช้ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย
วิธีการคือ จะมีการสกัดยาพิษออกมาจากพืชชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Tangena ซึ่งชื่อในภาษาไทยคือ ต้นตีนเป็ดทะเล หรือมะม่วงทะเล โดยสารพิษจากพืชชนิดนี้มีฤทธิ์ทำให้หัวใจหยุดเต้น และจากการที่ไปหาข้อมูลมาพบว่าในประเทศอินเดียมักจะมีคนนำผลไม้ชนิดนี้มาใช้ในการฆ่าตัวตายอยู่เสมอ จนมีการให้ฉายาพืชชนิดนี้ว่า "The Green Suicide Tree"
ตีนเป็นทราย หรือมะม่วงทะเล ที่นำมาใช้สกัดสารพิษในการทำ Tangena Ordeal (https://telanganatoday.com/what-is-the-suicide-tree)
หลังจากที่พิษถูกสกัดออกมาแล้ว สารพิษจะถูกนำมาทดลองใช้กับสุนัขหรือไก่ก่อนว่ามีผลจริง ๆ จากนั้นจำเลยจะถูกบังคับให้กลืนหนังไก่ดิบ 3 ชิ้น พร้อมกับดื่มยาพิษชนิดนี้ตามเข้าไป ถ้าหากว่าใครที่อาเจียนหนังไก่ดิบครบทั้ง 3 ชิ้นออกมา จะถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด ส่วนใครที่ไม่อาเจียนออกมา หรืออาเจียนหนังไก่ดิบออกมาไม่ครบ 3 ชิ้น ก็เตรียมชะตาขาดได้เลย
3
การตัดสินแบบ Tangena Ordeal ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ตั้งแต่คดีลักเล็กขโมยน้อย การนับถือศาสนาคริสต์ และคดีล่าแม่มด ซึ่งข้อเสียคือชาวบ้านที่เกลียดกัน ก็มักจะกล่าวหากันด้วยคดีความเหล่านี้ และวิธีนี้ก็มักจะนำมาใช้ในการตัดสิน เพราะตามความเชื่อของชาว Merina การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการเชื่อในพลังของสิ่งเหนือธรรมชาติ ทำนองว่าในเมื่อคนไม่สามารถตัดสินได้ ก็ให้สิ่งเหนือธรรมชาติเป็นผู้ตัดสินแทน
1
Tangena Ordeal ที่ใช้ในการตัดสินคดีความต่าง ๆ ในอาณาจักร Imerina (https://www.costaricantimes.com/haunted-madagascar/66430)
อัตราการเสียชีวิตด้วยวิธีการ Tangina Ordeal อยู่ที่ประมาณ 20% -50 % และตลอดการครองราชย์ของพระนางนั้น มีคนเสียชีวิตด้วยการตัดสินแบบนี้ประมาณ 3,000 คนต่อปี และช่วงที่พีคที่สุดก็คือช่วงปี 1838 ที่ว่ากันว่ามีคนเสียชีวิตมากถึง 100,000 คนจาก Tangina Ordeal
1
การขยายอาณาเขตที่แลกมาด้วยชีวิต
อีกอย่างที่เป็นสิ่งที่โดดเด่นในรัชสมัยของพระนางคือ อาณาจักร Imerina แผ่ขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวาง ด้วยกำลังพลทหารมากถึง 20,000 - 30,000 นาย ทำให้กองทัพของพระนางยิ่งใหญ่ไม่มีใครทัดเทียม ซ้ำร้ายพระนางยังมีนโยบายแปลก ๆ คือ การไม่จ่ายเงินเดือนให้กับเหล่าทหาร แต่อนุญาตให้เหล่าทหารสามารถไปบุกรุกดินแดนข้างเคียงได้ โดยเฉพาะดินแดนในแถบชายฝั่ง และถ้าสามารถยึดดินแดนเหล่านั้นได้สำเร็จ ก็จะได้รับส่วนแบ่งของสมบัติและของมีค่าต่าง ๆ ที่ปล้นสดมภ์มา ส่วนผู้คนจากดินแดนเหล่านั้นก็จะกลายมาเป็นเชลยศึก และถูกนำมาใช้แรงงานเยี่ยงทาส
4
การขยายอาณาเขตของอาณาจักร Imerina ในยุคของราชินี Ranavalona ที่ 1 (https://military.wikia.org/wiki/Ranavalona_I)
ว่ากันว่าตั้งแต่ปี 1820-1853 มีการต่อสู้และบุกรุกดินแดนข้างเคียงบ่อยมากจนกระทั่งมีเชลยศึกโดนจับกุมมากถึง 1 ล้านคน จนกลายมาเป็นประชากร 2 ใน 3 ของเมืองหลวงอย่าง Antananarivo ส่วนผู้คนที่แตกสานซ่านกระเซ็นไปจากดินแดนที่ถูกบุกรุกต่างก็เสียชีวิตจากความหิวโหย
อาณาจักร Imerina ในปี 1840 ที่มีเมืองหลวงอยู่ที่ Antananarivo  (https://civilization-v-customisation.fandom.com/wiki/Madagascar_(Ranavalona_I)
ความสูญเสียจากฝั่งทหารก็มากไม่แพ้กัน คาดการณ์กันว่ามีทหารเสียชีวิตไปมากกว่า 160,000 คน ตลอดช่วงเวลาการครองราชย์ของพระนาง โดยเฉพาะทหารที่ประจำอยู่ตามแถบชายฝั่ง มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 30% เลยทีเดียว คิดเป็นจำนวนราวๆ 5,000 คนต่อปี เนื่องจากศูนย์กลางของอาณาจักร Imerina อยู่ในตอนกลางของประเทศที่เป็นที่ราบสูง ทหารที่ถูกส่งไปจากส่วนกลางจึงไม่มีภูมิต้านทานไข้มาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคที่ชุมมากในแถบชายฝั่ง
นอกจากนี้อีกสาเหตุหนึ่งที่ประชากรของเธอเสียชีวิตไปมากมายนั้น เกิดมาจากระบบโบราณอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Fanompaona
2
Fanompaona คือระบบที่ประชากรที่ยากจน และไม่มีเงินจ่ายภาษี สามารถจ่ายภาษีได้ด้วยแรงงานของตนเอง พูดง่าย ๆ ก็คือในเมื่อไม่มีเงิน ก็มาขายแรงงานแลกซะ คนเหล่านี้จะถูกใช้งานเยี่ยงทาสเพื่อทำงานแบกหามต่าง ๆ เช่น สร้างถนนหนทาง อาคารบ้านเรือน หรือรับใช้ทหาร และหลายคนก็ถูกใช้งานจนตาย
Fanompaona การใช้แรงงานตนเองเพื่อจ่ายภาษี อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ประชากร Imerina ต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก (http://slaveryimages.org/s/slaveryimages/item/2584
เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรของอาณาจักร Imerina หายไปมากถึง 50%-75% ในรัชสมัยของพระนาง
2
เป็นยังไงกันบ้างครับ กับเรื่องราวตอนแรกของราชินีผู้บ้าคลั่งแห่งมาดากัสการ์ ความบ้าคลั่งของพระนาง ทำให้คนมากมายต้องเสียชีวิตไป ทั้งจากการขยายอาณาเขต การจ่ายภาษีโดยใช้แรงงาน การลงโทษชนพื้นเมืองที่นับถือศาสนาคริสต์ ชาวต่างชาติผู้นำความรู้ต่าง ๆ มาให้ต่างก็โดนขับไล่ออกจากอาณาจักรของพระนาง แต่ความบ้าคลั่งก็ยังไม่หมดแค่นี้นะครับ
1
Kang's Journal ในตอนหน้าผมจะพาเพื่อน ๆ ไปเรียนรู้เรื่องราวความบ้าคลั่งอื่น ๆ ของพระนาง รวมถึงตอนจบว่าจะจบสวย หรือไม่สวย ฝากติดตามกันด้วยนะครับ
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา