1 มี.ค. 2021 เวลา 13:20 • ประวัติศาสตร์
Queen Ranavalona I : ราชินีผู้บ้าคลั่งแห่งมาดากัสการ์ ตอนที่ 2 (จบ)
สวัสดีครับทุกคน ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทุก Comment และการ Share นะครับสำหรับตอนแรก ดีใจมากมาก สัญญาว่าจะพยายามเขียนงานดี ๆ ออกมาให้อ่านกันอีกครับ
วันนี้มาต่อกันกับตอนที่ 2 ของราชินี Ranavalona ที่ 1 ราชินีผู้บ้าคลั่งแห่งมาดากัสการ์ มาดูกันครับว่าจุดจบของพระนางจะเป็นอย่างไร
กิจกรรมล่าควายทิพย์
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เป็นที่จดจำในสมัยของพระนางคือ “The Great Buffalo Hunt” หรือ "การล่าควายป่า" เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 1845 เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ถ้ากล่าวถึงพระนาง จะต้องมีเรื่องราวนี้โผล่ขึ้นมาเสมอ
เรื่องมีอยู่ว่า อยู่มาวันหนึ่งองค์ราชินีเกิดดำริอยากจะออกไปล่าควายป่า พระนางมีรับสั่งให้จัดขบวนใหญ่โต เพื่อเตรียมความพร้อม โดยคณะเดินทางประกอบไปด้วยชนชั้นสูง ทหาร ไปจนถึงพ่อครัว และข้าทาสบริวารรวมแล้วกว่า 50,000 คน
1
คณะเดินทางล่าควายป่าของราชินี Ranavalona ที่ 1 (https://twitter.com/africaupdates/status/1167108880410845185?lang=pt)
แน่นอนเพื่อการเดินทางที่ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติของราชินี ทาสทั้งหลายจะต้องถูกบังคับให้ถางป่า ขุดถนน เพื่อให้พระนางเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย ในตอนแรกอาจจะทำได้ไม่ยากนัก แต่พอเดินทางเข้าไปในป่าดงดิบมากขึ้นเรื่อย ๆ การถางป่า เริ่มทำได้ยากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บเริ่มแวะเวียนมาเยี่ยมคณะเดินทางโดยเฉพาะโรคมาลาเรีย รวมไปถึงสัตว์มีพิษต่าง ๆ เสบียงอาหารเริ่มร่อยหรอ สมาชิกในคณะเดินทางเริ่มล้มหายตายจากไปเรื่อย ๆ
การเดินที่ยากลำบากขนาดนี้ ไม่ต้องหวังว่าจะมีพิธีฝังศพใดใด ศพถูกทิ้งไว้ตามทางที่ทาสเหล่านั้นถางขึ้น และปล่อยให้เน่าหรือกลายเป็นอาหารของสัตว์ป่าไปตามยถากรรม ตามที่มีบันทึก ในช่วงเวลา 4 เดือนของการเดินทาง มีคนเสียชีวิตกว่า 10,000 คน คิดเป็น 1 ใน 5 ของสมาชิกเดินทางทั้งหมด และผลของการเดินทางครั้งนี้คือ ไม่พบควายป่าเลยแม้แต่ตัวเดียว ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะในเวลานั้นทั้งเกาะมาดากัสการ์ไม่มีควายป่าอาศัยอยู่เลย เข้าใจว่าพระนางเองคงไปได้ชิ้นส่วนของควายป่าที่นำเข้ามาจากทวีปแอฟริกา แล้วอยากได้เพิ่ม จึงทำการจัดการล่าควายป่าในครั้งนี้ขึั้น ส่วนถนนที่ถางขึ้นมาก็เป็นถนนที่ไม่ได้นำมาใช้งานใดใดทั้งสิ้นหลังจากนั้น
The Great Buffalo Hunt (https://en.wikipedia.org/wiki/Ranavalona_I#/media/File:Queen_Ranavalona_I_of_Madagascar_engraving.jpg)
สรุปคือ การล่าควายทิพย์ ครั้งนี้ เป็นการพรากชีวิตคนไป 10,000 คน โดยที่ไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย และไม่เกิดประโยชน์ใดใดทั้งสิ้น
1
อย่างไรก็ตามหลักฐานของเรื่องนี้ค่อนข้างคลุมเครือ มีนักประวัติศาสตร์หลายคนโต้แย้งว่าจะเป็นไปได้อย่างไรที่พระนางจะไม่รู้ว่าบนเกาะของพระนางไม่มีควายป่า เพราะฉะนั้นอาจจะต้องฟังหูไว้หูซักหน่อยกับการล่าควายทิพย์ในครั้งนี้
อยู่ด้วยตนเอง
หลังจากที่มิชชันนารีต่างก็เดินทางออกไปจากเกาะมาดากัสการ์เรียบร้อยแล้ว ราชินี Ranavalona ที่ 1 ได้ดำเนินนโยบายปิดประเทศ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับชาวต่างชาติ พระนางได้ทำการยกเลิกสนธิสัญญา Anglo-Merina ที่เป็นสนธิสัญญาระหว่างอังกฤษและอาณาจักร Imerina ที่ราชา Ramada ที่ 1 พระสวามีของนางเคยทำไว้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจากการยกเลิกสัญญานี้คือ อาณาจักรของพระนางจะไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธยุโธปกรณ์ที่ทันสมัยจากประเทศอังกฤษอีกต่อไป ดังนั้นหากมีการสู้รบกับชาติมหาอำนาจ กองทัพของพระนางต้องต่อสู้ด้วยอาวุธบ้าน ๆ อย่างหอก ธนู หรือโล่แทน
ชาติแรกที่ต้องการกลับมาคุกคามอาณาจักรของพระนางคือฝรั่งเศส โดยในตอนนั้นฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคมของเกาะใหญ่น้อยมากมายรอบ ๆ มาดากัสการ์ ดังนั้นถ้าได้ยึดครองเกาะมาดากัสการ์ด้วย ก็จะทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นมหาอำนาจในมหาสมุทรอินเดียไปโดยปริยาย
ชาวต่างชาติในอาณาจักร Imerina ก่อนที่จะถูกขับไล่ (https://www.madamagazine.com/en/aufbau-und-teilung-des-koenigreiches-der-merina/)
ในปี 1829 กองทัพฝรั่งเศสได้ส่งกองเรือ 6 ลำมาเข้าโจมตีอาณาจักรของพระนาง แต่ด้วยความไม่ชำนาญในพื้นที่ และโรคมาลาเรีย รวมไปถึงการต่อสู้อย่างกล้าหาญของทหาร Imerina ทำให้กองเรือฝรั่งเศสต้องถอยร่นกลับไป
ในปี 1832 โชคก็เข้าข้างพระนาง ปรากฏว่ามีเรือของฝรั่งเศสเกิดอับปางลงที่นอกชายฝั่ง และมีวิศวกรคนหนึ่งที่รอดชีวิตมาได้ ชายผู้นั้นมีนามว่า Jean Laborde จริง ๆ แล้วเขาควรจะต้องโดนฆ่าเหมือนกับชาวต่างชาติคนอื่น แต่เนื่องจากเขามีความรู้ความสามารถในการผลิตปืนใหญ่ ดินปืน และกระสุน ทำให้ราชินี Ranavalona มอบหมายให้เขาสร้างโรงงานผลิตอาวุธขึ้น จนกระทั่งกองทัพของพระนางแข็งแกร่ง โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาวุธจากชาติตะวันตกอีกต่อไป จากนั้นก็มีการขยายอุตสาหกรรมไปเป็นโรงงานผลิตอิฐ สิ่งทอ สบู่ และอื่น ๆ อีกมากมาย ว่ากันว่านี่ถือเป็นการการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ครั้งแรกนอกยุโรปเลยทีเดียว และที่เด็ดที่สุดคือมีหลักฐานที่บ่งบอกว่า Jean Laborde อาจจะเป็นคนรักแบบลับ ๆ ของพระนาง
Jean Laborde ชาวฝรั่งเศสผู้พัฒนาอุตสาหกรรมของมาดากัสการ์ (https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Engineer_Jean_Laborde.png)
ในฐานะคนรัก (ตามที่เขาเล่ากัน) Jean Laborde ได้สร้างพระราชวังให้กับพระนางด้วย ในอาณาเขตพระราชฐาน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ในปัจจุบันนี้พระราชวังแห่งนั้นถูกไฟไหม้เหลือแต่เพียงโครงสร้างภายนอกเท่านั้น
พระราชวังของราชินี Ranavalona ที่ 1 ที่ Jean Lamborde เป็นผู้สร้าง (https://kwekudee-tripdownmemorylane.blogspot.com/2012/09/queen-ranavalona-i-great-traditionalist.html)
สุดท้ายในปี 1836-1837 พระนางได้ตัดสินใจส่งคณะฑูตเพื่อไปเจรจาสัมพันธไมตรีครั้งใหม่กับทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากไม่สามารถลงนามตกลงในข้อสัญญาใดใดได้ และในปี 1845 ฝรั่งเศสและอังกฤษได้มีการส่งกองทัพร่วมมารุกรานอาณาจักร Imerina อีกครั้ง แต่ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผลิตโดยโรงงานของ Jean Lamborde ที่ทันสมัยไม่แพ้ของยุโรป บวกกับความได้เปรียบในเรื่องของความรู้ด้านภูมิศาสตร์ เป็นอีกครั้งที่กองกำลังจากฝั่งยุโรปต้องแพ้พ่ายให้กับกองกำลังอันแข็งแกร่งของพระนาง และในครั้งนี้พระนางตัดสินใจเตือนชาติมหาอำนาจทั้งสอง ด้วยการตัดหัวศพทหารชาวยุโรป แล้วเสียบประจานไว้บริเวณชายหาดที่ใช้เป็นสนามรบนั่นเอง
คณะฑูตจากอาณาจักร Imerina ในอังกฤษ (https://en.wikipedia.org/wiki/Ranavalona_I)
สุดท้ายในปี 1853 ชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในเกาะรอบมาดากัสการ์ ตัดสินใจเดินทางมาเจรจาเจริญสัมพันธไมตรีอีกครั้ง พร้อมทั้งจ่ายเงินค่าปฏิกรรมสงครามให้กับพระนางเป็นจำนวน $50,000 ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนมหาศาลในสมัยนั้น ทำให้สุดท้ายแล้วการค้าขายระหว่างอาณาจักรของพระนางและยุโรปก็กลับมาอีกครั้ง แต่ก็กลับมาด้วยความหวาดระแวง และไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของทั้งสองฝั่ง
รัฐประหารจากลูกในไส้
ในเมื่อไม่สามารถชนะได้ด้วยกำลังทหาร ก็ต้องชนะด้วยกำลังภายในแทน จริง ๆ แล้วในช่วงเวลาที่เริ่มมีการค้าขายกับชาวฝรั่งเศส ลูกชายของราชินี Ranavalona ที่มีนามว่า Rakoto เริ่มโตเป็นหนุ่มแล้ว แล้วเขาก็ได้ผูกมิตรกับชาวต่างชาติหลายคนที่เริ่มกลับมาอาศัยอยู่ในอาณาจักของพระนาง
หนึ่งในสิ่งที่เจ้าชาย Rakoto ทำคือเซ็นสัญญาแบบลับ ๆ กับชาวฝรั่งเศสนามว่า Joseph-Francois Lambert ในปี 1855 ซึ่งสัญญาฉบับนี้มีชื่อว่า Lambert Charter ที่มีเนื้อหาหลัก ๆ คืออนุญาตให้คนของ Lambert เป็นคนกลุ่มแรกที่สามารถสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและทำมาค้าขายในอาณาจักร Imerina ได้ และหนึ่งในบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการเซ็นสัญญาครั้งนี้ก็คือ Jean Lamborde คู่รักของราชินีนั่นเอง
Joseph-Francois Lambert ผู้อยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหาร (https://www.madamagazine.com/en/die-schreckensherrschaft-ranavalonas-i/joseph-francois-lambert/)
ว่ากันว่าจริง ๆ แล้วเจ้าชาย Rakoto ถูกบังคับกลาย ๆ ให้เซ็นสัญญาฉบับนี้ เนื่องจากสัญญาเป็นภาษาฝรั่งเศสซึ่งตัวเจ้าชายเองไม่มีความชำนาญ Lamborde เองก็แปลเฉพาะในส่วนที่บ่งบอกถึงความโหดร้ายของมารดาของพระองค์ สิ่งที่เขาไม่ได้แปลให้เจ้าชายฝั่งคือส่วนที่บอกว่า ถ้ามีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้นกับชาวฝรั่งเศสในอาณาจักรของพระองค์ ฝรั่งเศสสามารถส่งกองทัพเข้ามาจัดการได้ทันที ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก เพราะอาจจะทำให้อาณาจักร Imerina ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสได้โดยง่าย
อย่างไรก็ตามด้วยความที่ตัวเจ้าชายเองมีความเห็นอกเห็นใจพสกนิกรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็เลยเซ็นไปโดยไม่ได้เข้าใจสนธิสัญญาอย่างแตกฉานนัก
โชคยังเข้าข้างพระองค์อยู่บ้าง เพราะอังกฤษซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับฝรั่งเศสมาโดยตลอดล่วงรู้ถึงแผนการนี้เข้า และกลัวว่าถ้ามาดากัสการ์ตกไปเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เส้นทางเดินเรือในมหาสมุทรอินเดียทั้งหมดจะถูกควบคุมโดยฝรั่งเศสทันที ซึ่งเป็นสิ่งที่อังกฤษจะยอมไม่ได้โดยเด็ดขาด จึงได้มีการเปิดเผยความจริงของสัญญานี้ให้กับเจ้าชายได้รับรู้
เจ้าชาย Rakoto ซึ่งต่อมากลายเป็นราชา Radama ที่ 2 (https://www.wikiwand.com/en/Radama_II)
อย่างไรก็ตาม ชาวยุโรปทั้งสองชาติต่างเห็นด้วยกับการที่จะต้องโค่นอำนาจของราชินี Ranavalona ลง เพื่อที่จะเป็นการเปิดทางให้กับการค้าขาย การเผยแผ่ศาสนา และที่สำคัญที่สุดก็คือการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่าของเกาะ
ดังนั้นชาวยุโรปที่อาศัยอยู่ในอาณาจักร Imerina จึงร่วมมือกับเจ้าชาย Rakoto วางแผนก่อรัฐประหารขึ้น โดยกำหนดวันปฏิบัติการไว้คือวันที่ 20 มิถุนายน 1857 โดยแผนการคือทหารที่จงรักภักดีกับเจ้าชายจะบุกเข้าไปในเขตพระราชฐาน และบังคับให้ราชินีประกาศสละราชสมบัติให้กับเจ้าชาย
มาถึงตรงนี้เรื่องราวแยกออกเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรกคือทหารที่นัดไว้ไม่มา เนื่องจากการสื่อสารที่ผิดพลาด เรื่องที่สองคือจริง ๆ แล้วเจ้าชาย Rakoto นั่นแหละที่วางแผนกับพระมารดา โดยหลอกให้ชาวยุโรปตายใจจนถึงนาทีสุดท้าย ก่อนจะแปรพักตร์เปิดโปงความจริงทุกอย่าง จะยังไงก็แล้วแต่ สุดท้ายแล้วรัฐประหารครั้งนี้ประสบความล้มเหลว ชาวยุโรปที่มีส่วนร่วมถูกกักขังให้อยู่แต่ในที่อยู่อาศัยของตนเอง ห้ามไม่ให้มีผู้ใดมาเยี่ยมเยียน และสุดท้ายก็ถูกขับออกจากประเทศไปในที่สุด
ความตาย และวิญญาณที่ตามหลอกหลอน
ราชินี Ranavalona ที่ 1 กำหนดให้ลูกชายเพียงคนเดียวของเธอเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ โดยให้ใช้พระนามว่า ราชา Radama ที่ 2 แต่ก็เหมือนกับทุกครั้ง ย่อมมีคนที่ต้องเสียผลประโยชน์จากการขึ้นครองราชย์ของพระองค์ โดยเฉพาะพวกโหรหลวง ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่เจ้าชายเป็นคนหัวสมัยใหม่ และอยากติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ
2
ราชินี Ranavalona ที่ 1 บนบัลลังก์ของพระนาง (https://www.historicmysteries.com/queen-ranavalona-i/)
ดังนั้นจึงมีการวางแผน เพื่อให้หลานชายของพระนางนามว่า Rainivoninahitriniony ขึ้นครองราชย์แทน แต่แผนการก็ล่วงรู้ไปถึงหูของเจ้าชาย ดังนั้นในวันหนึ่ง พระองค์จึงสั่งให้มีการนำกำลังทหารมาล้อมรอบพระราชวังของพระองค์ไว้ และจับตัว Rainivoninahitriniony และครอบครัวเข้ามาในพระราชวัง เพื่อมาสาบานตนต่อหน้าพระองค์ว่าจะจงรักภักดีต่อพระองค์ตลอดไป แน่นอนว่าโทษของการขัดคำสั่งคือการประหารชีวิต เพียงเท่านี้เสี้ยนหนามทางการเมืองคนสำคัญก็ถูกกำจัดไปอย่างง่ายดาย
Rainivoninahitriniony ผู้แย่งชิงบัลลังก์กับเจ้าชาย Rakoto ในการสืบบัลลังก์ (https://www.madamagazine.com/en/die-letzten-koenige-der-merina/)
ราชินี Ranavalona ที่ 1 เสด็จสวรรคตด้วยโรคชราในวันที่ 16 สิงหาคม 1861 ตลอดรัชสมัยของพระนางประชากรของอาณาจักร Imerina เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากทั้งจากการโดนกล่าวหาว่านับถือศาสนาคริสต์ ก่อกบฏ ทำรัฐประหาร การตัดสินคดีความด้วยวิธี Tangina Ordeal รวมถึงการล่าดินแดนต่าง ๆ ทำให้ประชากรในอาณาจักรของพระนาง ลดลงจาก 5 ล้านคนในปี 1833 มาเป็น 2.5 ล้านคนในปี 1839
ศพของพระนางถูกฝังไว้ที่เมือง Ambohimanga ซึ่งเป็นเมืองที่ใช้ฝังพระศพของสมาชิกราชวงศ์ ในพระราชพิธีนั้นมีวัว 12,000 ตัว ถูกฆ่าเพื่อนำมาประกอบพิธี และมีการไว้ทุกข์ยาวนานถึง 9 เดือน มีบันทึกว่าในงานพระราชพิธี เกิดเหตุประกายไฟลามไปติดถังบรรจุดินปืนขึ้น ทำให้เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง คร่าชีวิตผู้คนและทำลายที่อยู่อาศัยบริเวณนั้นไปเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าขนาดเมื่อพระนางจะจากไป พระนางก็จากไปด้วยเหตุการณ์และความทรงจำของผู้คนที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก
1
ที่ฝังศพของเหล่าราชวงศ์ที่เมือง Ambohimanga ที่ในปัจจุบันกลายมาเป็นมรดกโลก (https://en.m.wikipedia.org/wiki/File:Royal_tombs_of_Ambohimanga_Rova_in_Madagascar.jpg)
เจ้าชาย Rakoto กลายมาเป็นราชา Radama ที่ 2 ขึ้นครองราชย์ปกครองอาณาจักร Imerina ต่อ นโยบายต่าง ๆ ในรัชสมัยของพระนางถูกยกเลิก มีการเปิดรับคนต่างชาติอีกครั้งเพื่อพัฒนาประเทศ และเผยแผ่ศาสนาคริสต์ และเริ่มมีการให้สัมปทานต่าง ๆ กับชาวฝรั่งเศสและอังกฤษ
ความร้ายกาจของพระนางที่แสดงออกมาให้เห็นเป็นครั้งสุดท้าย เกิดขึ้นเมื่อราชา Radama ที่ 2 ตัดสินพระทัยหันมานับถือศาสนาคริสต์ ในตอนนั้นทั่วอาณาจักร คนหลายคนมีอาการชักเหมือนถูกผีสิง ซึ่งทุกคนต่างก็บอกว่า วิญญาณของราชินีที่ยังวนเวียนอยู่ในอาณาจักร โมโหมากที่ลูกชายของนางทรยศบรรพบุรุษด้วยการหันมานับถือศาสนาอื่น เรียกได้ว่าขนาดพระนางสวรรคตไปแล้ว วิญญาณของพระนางก็เหมือนจะยังตามหลอกหลอนคนอยู่ร่ำไป
เกิดอะไรขึ้นหลังจากการสวรรคตของพระนาง
ส่วนเรื่องราวหลังจากที่พระนางเสด็จสวรรคตไปนั้น ราชา Ramada ที่ 2 ได้ปกครองอาณาจักร Imerina ต่ออีกเพียง 2 ปีก็ถูก Rainivoninahitriniony ผู้ที่เคยสาบานตนจงรักภักดีก่อรัฐประหารขึ้น และการปกครองก็เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณายาสิทธิราช กลายมาเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแทน
1
สุดท้ายฝรั่งเศสก็อ้างว่าอาณาจักร Imerina ทำผิดกฎในสนธิสัญญา Lambert Charter และตัดสินใจประกาศสงคราม ทำให้เกิดสงคราม France-Malagasy ขึ้น ซึ่งในครั้งนี้ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายชนะ และเกาะมาดากัสการ์ก็ตกเป็นของเมืองขึ้นของฝรั่งเศสในปี 1897 ราชวงศ์คนสุดท้ายถูกเนรเทศออกจากดินแดนของตนเอง และราชวงศ์ที่ปกครองวมาดากัสการ์มากว่า 300 ปีก็มาถึงจุดจบในที่สุด
แคมเปญฝรั่งเศสยึดเกาะมาดากัสการ์ (https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_Madagascar)
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของราชินี Ranavalona ที่ 1 ราชินีผู้บ้าคลั่งแห่งมาดากัสการ์นะครับ จริง ๆ แม้แต่ในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ของมาดากัสการ์เองในปัจจุบัน ก็ยังบันทึกไว้ว่าพระนางเป็นราชินีที่โหดเหี้ยม ทารุณ และยุคของพระนางถือเป็นยุคมืดของมาดากัสการ์ แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง สิ่งที่พระนางทำก็เพื่อการรักษาขนบธรรมเนียมของชาว Merina เอาไว้ให้มากที่สุด และที่สำคัญไปกว่านั้นคือการรักษาเอกราชของอาณาจักรของพระนางให้พ้นจากเอิ้อมมือของชาติมหาอำนาจนั่นเอง
สุดท้ายมาดากัสการ์ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสด้วยสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ส่วนตัวผมคิดว่าพระนางมีความตั้งใจที่ดีนะครับ แค่วิธีที่พระนางเลือกนั้น โหดร้ายและรุนแรงไปหน่อย (อาจจะไม่หน่อย) แค่นั้นเอง
ครั้งหน้า Kang's Journal จะรีบกลับพร้อมกับเรื่องราวสนุก ๆ ของบุคคลที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์อีกนะครับ แล้วพบกันครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา