17 เม.ย. 2021 เวลา 03:11 • ประวัติศาสตร์
King Ludwig II of Bavaria : ผู้สร้างปราสาทแห่งเทพนิยาย และการตายปริศนา ตอนที่ 1
ทุกคนคงจะรู้จักกับค่ายหนัง Waltz Disney ใช่มั้ยครับ ทุกครั้งที่เราเข้าไปชมภาพยนตร์ของหนังค่ายนี้ เรามักจะเห็นสัญลักษณ์ปราสาท พร้อมกับคำว่า Waltz Disney กำกับอยู่ด้านล่าง และถ้าเราไปเที่ยว Disney Land สิ่งที่ขาดไปไม่ได้ใน Disney Land ทุกแห่งทั่วโลกก็คือปราสาท Disney นั่นเอง แต่รู้กันมั้ยครับว่าปราสาทหลังนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปราสาทแห่งหนึ่งที่มีอยู่จริง ๆ
1
ปราสาท Waltz Disney (Source: wikipedia)
ปราสาทหลังนั้นคือปราสาท Neuschwanstein ที่ตั้งอยู่ในแคว้น ฺBavaria ของประเทศเยอรมัน หนึ่งในปราสาทที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในโลก หลายคนคงจะเคยเห็นภาพของปราสาทแห่งนี้ที่ตั้งอยู่บนยอดเขา ล้อมรอบไปด้วยป่าสน และทะเลสาบสวยงาม ประดุจหลุดออกมาจากเทพนิยาย
และผู้ที่มีพระราชโองการให้สร้างปราสาทแห่งนี้ก็คือกษัตริย์ Ludwig ที่ 2 แห่ง Bavaria นั่นเอง พระองค์มีฉายามากมายไม่ว่าจะเป็น “The Swan King” หรือ “The Fairy Tales King” เนื่องจากความหลงใหลที่พระองค์มีในงานศิลปะ นิยาย และอุปรากรต่าง ๆ แต่ฉายาที่ติดตัวพระองค์ที่สุดก็เห็นจะเป็น “The Mad King” หรือ กษัตริย์ผู้บ้าคลั่ง เหตุใดพระองค์จึงมีฉายานี้ ผมจะมาเฉลยให้ฟังในตอนจบของเรื่องนะครับ
กษัตริย์ Ludwig ที่ 2 แห่ง Bavaria (Source: http://nassifblog.blogspot.com)
พระองค์ถือเป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่มีชีวิตที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กที่ไม่มีความสุข ชีวิตวัยรุ่นที่ต้องคอยกดแรงปรารถนาเบื้องลึกในใจของตนเอง ความหลงใหลในงานศิลปะ และสถาปัตยกรรม ตลอดไปจนถึงการตายปริศนา ที่ในปัจจุบันก็ยังหาสาเหตุไม่ได้ เรามาฟังเรื่องราวของกษัตริย์พระองค์นี้กันครับ
ชีวิตวัยเด็ก
Ludwig เป็นโอรสองค์โตของกษัตริย์ Maximilian ที่ 2 แห่ง Bavaria และราชินี Marie แห่ง Prussia ในตอนแรกนั้นทั้งคู่ต้องการจะตั้งชื่อให้โอรสองค์นี้ว่า Otto แต่ปู่ของเขากลับไม่เห็นด้วย เนื่องจาก Ludwig เกิดวันที่ 25 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันของนักบุญหลุยส์ที่ 9 นักบุญประจำแคว้น Bavaria ดังนั้นพระองค์เลยได้ชื่อว่า Ludwig ซึ่งเป็นภาษาเยอรมันของคำว่า Louise และเป็นชื่อเดียวกันกับปู่ของเขา โดยที่ชื่อเต็มของเขาคือ Ludwig Otto Friedrich Wilhelm
2
กษัตริย์ Maximilian ที่ 2 แห่ง Bavaria และราชินี Marie แห่ง Prussia (Source: wikipedia)
อีก 3 ปีต่อมา กษัตริย์และราชินี ก็มีโอรสองค์ที่ 2 และคราวนี้ทั้งคู่ตั้งชื่อโอรสคนนี้ว่า Otto ได้สมใจ
ด้วยความที่เป็นโอรสองค์โต Ludwig จึงได้รับตำแหน่งเป็นมกุฏราชกุมาร (Crown Prince) ไปโดยปริยาย พระองค์ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กให้รู้ถึงฐานะของตนเอง โดยจะต้องเรียนรู้วิชาต่าง ๆ ที่เกียวข้องกับการปกครอง และการทหาร และจะต้องอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรมานใจของพระองค์มากเพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่พระองค์ไม่สนใจทั้งสิ้น
Ludwig, ราชินี Marie และ Otto (Source: Pinterest)
ในส่วนของการเลี้ยงดูนั้น Ludwig ไม่ได้สนิทสนมกับพ่อหรือแม่ของพระองค์เลย มีบันทึกไว้ว่ามีทหารองครักษ์บอกกษัตริย์ Maximilian ที่ 2 ว่า น่าจะออกไปเดินเล่นกับ Ludwig บ้าง ซึ่งองครักษ์คนนั้นกลับได้รับคำตอบว่า “แล้วเราจะไปพูดอะไรกับลูกชายเราหละ ลูกชายเราไม่เคยจะฟังใครอยู่แล้วนี่” ส่วนแม่นั้น Ludwig ไม่ได้เรียกแม่ของพระองค์ว่าแม่ แต่เรียกว่า “เมียของผู้ที่เราต้องสืบทอด : Predecessor’s Consort”
การเลี้ยงดูที่เข้มงวดเคร่งครัด กับพ่อแม่ที่ไม่ได้ใส่ใจในตัวพระองค์เป็นสิ่งที่นักวิชาการสมัยใหม่คาดว่า เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้พระองค์มีนิสัยแปลก ๆ อยู่หลายอย่างเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์
1
ภาพครอบครัวของกษัตริย์ Ludwig ที่ 2 แห่ง Bavaria (Source: Pinterest)
ในเมื่อไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่ Ludwig ในวัยเด็กก็พยายามหาสิ่งทดแทน ในปราสาท Hohenschwangau ที่พระองค์อาศัยอยู่ มีภาพวาดงานศิลปะมากมายที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเทพนิยาย และตำนานต่าง ๆ ของ Bavaria และสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ Ludwig หลงใหล พระองค์มักจะเก็บตัว นั่งเหม่อลอย และเมื่อถูกถามว่ากำลังทำอะไรอยู่ พระองค์จะตอบว่า พระองค์กำลังจินตนาการถึงโลกแห่งเทพนิยายอยู่
1
มีบุคคลผู้หนึ่งที่พระองค์สนิทด้วยเป็นอย่างมากในวัยเด็ก บุคคลนั้นก็คือ Elizabeth ญาติห่าง ๆ ของพระองค์ซึ่งต่อมากลายเป็นจักรพรรดินี Elizabeth แห่ง Austria หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ Sisi ซึ่งเธอจะเป็นผู้ที่คอยให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนพระองค์ในทุกเรื่องตั้งแต่วัยเด็ก จนกระทั่งสิ้นพระชนมชีพ
ครองราชย์ครั้งยังเยาว์
ในปี 1864 เมื่อพระชนมายุได้ 19 ปี กษัตริย์ Maximilian ที่ 2 บิดาของพระองค์ก็เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ทำให้พระองค์ต้องขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ของอาณาจักร Bavaria ถึงแม้ว่าพระองค์จะยังเด็กและด้อยประสบการณ์ แต่เนื่องจากพระองค์มีหน้าตาหล่อเหลา รูปร่างสูงโปร่ง ทำให้พระองค์เป็นที่นิยมของพสกนิกรชาว Bavaria ทันที
กษัตริย์ Ludwig ที่ 2 ในวันที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ (https://www.sticanada.com/blog/king-ludwig-ii-of-bavaria-his-castles-and-wagner)
แต่มีบันทึกไว้ว่า มีคณะรัฐมนตรีหลายคนที่รับรู้ได้ ถึงความไม่พร้อมในการขึ้นครองราชย์ของพระองค์ และหนึ่งในนั้นคือฑูตของ Austria ประจำแคว้น Bavaria ที่เขียนบันทึกไว้ว่า “มกุฎราชกุมารของ Bavaria ไม่มีความพร้อมในการขึ้นครองราชย์เลย เพราะพระองค์ยังคงสนใจแต่เรื่องของดนตรีและศิลปะ และแทบจะไม่มีส่วนในการบริหารปกครองบ้านเมืองเลยแม้แต่น้อย”
และความจริงก็เป็นเช่นนั้น สำหรับการบริหารบ้านเมือง พระองค์ดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่บิดาของพระองค์เคยทำ และให้คณะรัฐมนตรีทุกคนดำรงตำแหน่งต่อไป และให้ทุกคนบริหารงานกันเอง โดยที่พระองค์แทบจะไม่เสด็จมา Munich เพื่อเข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรีเลย ซ้ำร้ายพระองค์ยังมักจะสื่อสารกับรัฐมนตรีของพระองค์ผ่านทางจดหมาย ทำให้การตัดสินใจต่าง ๆ เต็มไปด้วยความล่าช้า ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้เหล่าคณะรัฐมนตรีไม่ค่อยจะโปรดพระองค์นัก
กษัตริย์ Ludwig ที่ 2 แห่ง Bavaria (Source: Wikipedia)
นอกจากจะไม่สนใจเรื่องการบริหารบ้านเมืองแล้ว พระองค์ยังมีนิสัยรักสันโดษและชอบปลีกตัวอยู่คนเดียว พระองค์ไม่ชอบงานปาร์ตี้ หรือสถานที่ที่มีคนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่พระองค์พยายามหลีกเลี่ยงการประชุมคณะรัฐมนตรีมาโดยตลอด และตั้งแต่ครองราชย์จนสิ้นพระชนมชีพ พระองค์เคยตรวจกองทหารเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และแทบจะไม่เป็นเจ้าภาพในการจัดงานสังคมใด ๆ เลย
แต่ในทางกลับกันพระองค์กลับชอบเดินทางท่องเที่ยวไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในชนบท เพื่อเยี่ยมเยียนพสกนิกรของพระองค์ และมักจะให้เงินทองกับคนที่คอยช่วยเหลือพระองค์อยู่เสมอ ทำให้พระองค์เป็นที่นิยมในหมู่พสกนิกรเป็นอย่างมาก ถึงขนาดมีฉายาว่า Unser Kini หรือ “Our Cherished King หรือ กษัตริย์ที่เป็นที่รักของพวกเรา”
สงครามครั้งแรก
และแล้วเหตุการณ์ที่ท้าทายความสามารถในการปกครองของพระองค์ก็มาถึง ในปี 1866 เกิดสงครามขึ้นครั้งแรกในสมัยของพระองค์ โดยสงครามครั้งนี้คือสงคราม Austro-Prussian ซึ่งเป็นสงครามชิงความเป็นใหญ่ เพื่อจะครอบครองอาณาเขตต่าง ๆ ในแถบประเทศเยอรมันในปัจจุบัน
ถ้าจะเล่าแบบสั้น ๆ ก็คือ ในตอนนั้นบริเวณที่เป็นประเทศเยอรมันในปัจจุบัน ยังประกอบไปด้วยแว่นแคว้นต่าง ๆ มากมาย กระจัดกระจายไปทั่ว และถึงแม้จะใช้ภาษาเยอรมันและมีวัฒนธรรมคล้าย ๆ กัน แต่ละแห่งก็จะมีกษัตริย์หรือราชวงศ์ปกครอง เป็นอิสระต่อกัน และหนึ่งในอาณาจักรที่แข็งแกร่งที่สุดก็คืออาณาจักร Prussia ที่อยู่ทางตอนเหนือของเยอรมัน ซึ่งมีความคิดที่จะรวบรวมแว่นแคว้นต่าง ๆ เข้ามาผนวกรวมกันให้เป็นจักรวรรดิขนาดใหญ่
ก่อนที่จะมีการก่อตั้งจักรวรรดิเยอรมัน ดินแดนเยอรมันในปัจจุบันประกอบไปด้วยแว่นแค้วนต่าง ๆ 39 แห่ง (Source: Wikipedia)
แต่ผู้ที่ต่อต้านความคิดนี้ก็คือ Austria เพราะเกรงว่าถ้ามีการก่อตั้งจักรวรรดิขนาดใหญ่แล้ว อาจจะทำให้เกิดการคานอำนาจกับตนเองได้ สงคราม Austro-Prussian จึงถือกำเนิดขึ้น
หลังจากการตัดสินใจอย่างหนัก Ludwig ตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่าย Austria ตลอดช่วงเวลาของการต่อสู้นั้น พระองค์ไม่เคยขี่ม้านำกองทหารเข้าสู่สนามรบเลย และคณะรัฐมนตรีต้องพยายามเชิญชวนพระองค์หลายต่อหลายครั้ง กว่าที่พระองค์จะยอมเสด็จไปให้กำลังใจทหารที่สนามรบ ซึ่งว่ากันว่าพระองค์ถึงกับประชวรเลยทีเดียวหลังจากเห็นภาพของทหารที่บาดเจ็บ และเสียชีวิต
หลังจากการต่อสู้กันนาน 7 สัปดาห์ Austria และ Bavaria กลายมาเป็นผู้พ่ายแพ้ ส่งผลให้ Bavaria ถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Prussia และหนึ่งในข้อตกลงก็คือ Bavaria จะต้องสนับสนุนกำลังทหารให้กับ Prussia ในกรณีที่มีการออกรบ ไม่ว่าจะกับใครทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นการริดรอนอำนาจของกษัตริย์ Bavaria เป็นอย่างมาก
สงคราม Austro-Prussian ซึ่ง Bavaria เข้าร่วมกับฝั่งของ Austria และเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ (Source: https://www.mutualart.com)
ต่อมาในปี 1870 เกิดสงครามขึ้นอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นสงคราม Franco-Prussian สงครามระหว่างฝรั่งเศสและปรัสเซีย ครั้งนี้ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และ Prussia ก็ผนวกเอาดินแดนส่วนหนึ่งของฝรั่งเศสมาเป็นของตนเอง และสถาปนาจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire) ขึ้น โดยมีกษัตริย์ Wilhelm ที่ 1 ขึ้นมาเป็นองค์จักรพรรดิ หรือที่เรียกว่า Kaiser นั่นเอง
ในเดือนพฤศจิกายน 1870 Bavaria ถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์เยอรมันตอนเหนือ (North German Confederation) อย่างเป็นทางการ ทำให้ Bavaria ไม่ได้เป็นอาณาจักรที่เป็นเอกราชอีกต่อไป แต่เนื่องจากความเก่งกาจของฑูตจากในการเจรจา ทำให้ Bavaria ยังสามารถคงความเป็นอิสระทางการทหาร และการฑูตได้ นั่นหมายความว่า Bavaria ยังสามารถมีกองทหารเป็นของตนเองได้ และเหล่าทหารจะสาบานตนเองต่อกษัตริย์ของ Bavaria เท่านั้น ไม่ใช่ผู้นำของจักรวรรดิ
ทั้งหมดทั้งมวลมีข้อแม้เพียงข้อเดียวคือ ถ้าหากว่า จักรวรรดิเยอรมันเข้าทำสงครามกับใคร Bavaria จะต้องคอยจัดกองทัพเพื่อสนับสนุนจักรวรรดิโดยไม่มีข้อแม้ใดใดทั้งสิ้น
การที่ Bavaria สูญเสียเอกราชไปนั้นกระทบจิตใจของกษัตริย์ Ludwig เป็นอย่างมาก เนื่องจากพระองค์ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ว่า ตำแหน่งกษัตริย์เป็นตำแหน่งที่ได้รับการคัดเลือกโดยพระผู้เป็นเจ้า แต่การที่พระองค์ต้องสูญเสียอำนาจนี้ไปบางส่วน ทำให้พระองค์เสียพระทัยมาก ถึงขนาดไม่ยอมเดินทางไปร่วมงานสถาปนาจักรพรรดิ Wilhelm ที่ 1 แห่งจักรวรรดิเยอรมันที่พระราชวังแวร์ซายส์ โดยส่งลุงและอนุชาของพระองค์ไปแทน และสิ่งนี้เป็นชนวนให้พระองค์ยิ่งหลบหายเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการของพระองค์มากยิ่งขึ้นไปอีก
งานสถาปนา Kaiser Wilhelm ที่ 1 แห่งจักรวรรดิเยอรมันที่กษัตริย์ Ludwig ที่ 2 ปฏิเสธที่จะเดินทางไปร่วมงาน (Source: http://historicalmenandwomen.blogspot.com)
งานแต่งที่ไม่ได้แต่ง
สิ่งที่กษัตริย์ทุกคนต่างกังวลเมื่อขึ้นครองราชย์คือการมีโอรส เพื่อที่จะมีผู้สืบทอดราชสมบัติ และแน่นอนว่ากษัตริย์ Ludwig ก็ต้องได้รับแรงกดดันนี้เช่นกัน
ในเดือนมกราคมปี 1867 Ludwig ได้หมั้นหมายกับ Duchess Sophie หญิงชั้นสูงจาก ฺBavaria และเป็นน้องสาวของจักรพรรดินี Elizabeth แห่ง Austria พระสหายสนิทของพระองค์นั่นเอง
กษัตริย์ Ludwig ที่ 2 และ Duchess Sophie คู่หมั้นของพระองค์ (Source: Pinterest)
ทั้งคู่ดูเหมือนจะเข้ากันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากทั้งคู่ชอบศิลปะและดนตรีเหมือนกัน โดยเฉพาะบทละคอนของนักประพันธ์ชื่อดังอย่าง Richard Wagner ทั้งสองมักจะเขียนจดหมายหากัน ด้วยการแทนตัวเองเป็นตัวละครจากบทละคอนของ Wagner ถึงขนาดที่ Ludwig เคยเขียนจดหมายถึง Sophie โดยกล่าวว่า “เนื้อหาหลักของความสัมพันธ์ของเราทั้งคู่คือเรื่องของ Wagner นี่แหละ”
แต่เพียงแค่ Wagner ก็คงไม่พอที่จะทำให้ความสัมพันธ์สามารถดำเนินต่อไปได้ พระองค์เลื่อนวันแต่งงานออกไปเรื่อย ๆ จากต้นปี เป็นกลางปี จนกระทั่งในที่สุด พ่อของ Sophie ก็ยื่นคำขาดในเดือนตุลาคม ว่าถ้าไม่แต่ง ก็ขอให้ยกเลิกงานแต่งงานเสีย ซึ่ง Ludwig ก็ได้ถอนหมั้น และยกเลิกงานแต่งงานไปในที่สุด ท่ามกลางความตกตะลึงของพสกนิกรชาว Bavaria
2
กษัตริย์ Ludwig ที่ 2 และ Duchess Sophie คู่หมั้นของพระองค์ (Source: Flickr)
ตั้งแต่ตอนนั้นจนเสียชีวิต กษัตริย์ Ludwig ไม่เคยแต่งงาน และไม่เคยมีข่าวว่าข้องเกี่ยวกับผู้หญิงคนไหนอีกเลย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพระองค์ไม่มีความรัก หรือความปรารถนา
จากการศึกษาจดหมาย สมุดบันทึก และเอกสารต่าง ๆ เป็นที่ค่อนข้างแน่ชัดว่าพระองค์เป็น Homosexual หรือชอบเพศเดียวกันนั่นเอง
การเป็น Homosexual ในสมัยนั้นถือว่าเป็นสิ่งยอมรับไม่ได้โดยเด็ดขาด นอกจากศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิกจะบอกไว้ว่าการเป็นรักร่วมเพศ ขัดกับหลักศาสนาแล้วกฎหมายของจักรวรรดิเอง ยังบอกอีกว่าการร่วมเพศระหว่างชายกับชายเป็นความผิดทางอาญา ดังนั้นในยุคที่ศาสนามีบทบาทอย่างมากในการดำเนินชีวิต หากกษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรเป็น Homosexual จะต้องกลายมาเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีใครยอมรับได้อย่างแน่นอน
กษัตริย์ Ludwig ที่ 2 และเจ้าชาย Paul von Thrun und Taxis (Source: Pinterest)
ดังนั้นกษัตริย์ Ludwig ที่ 2 จึงต้องคอยเก็บความปรารถนาของพระองค์เอาไว้ ความเครียด ความกดดันต่าง ๆ ที่พระองค์เผชิญ ส่งผลกระทบต่อจิตใจของพระองค์เป็นอย่างมาก ประกอบกับนิสัยรักสันโดษ ไม่ชอบพบปะผู้คน ทำให้พระองค์มีนิสัยบางอย่างที่หลายคนอาจจะมองว่าประหลาดเช่น ชอบเสวยพระกระยาหารตามลำพังโดยไม่ให้มีคนรับใช้อยู่ใกล้ตัว ซึ่งนิสัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตของพระองค์ในอนาคต
แต่ใช่ว่าพระองค์จะไม่มีสัมพันธ์กับใครเลยเสียทีเดียว มีการบันทึกถึงผู้ชายหลายคนที่พระองค์มีความสัมพันธ์แบบสนิทชิดเชื้อ หนึ่งในนั้นคือเจ้าชาย Paul von Thrun und Taxis ที่มาจากตระกูลขุนนางของ Bavaria ซึ่งสนิทกับ Ludwig มากมาตั้งแต่เด็ก ทั้งคู่มักจะออกไปขี่ม้าด้วยกัน อ่านบทกวีด้วยกัน และที่แปลกที่สุดคือ เล่นละครจากบทละคอนของ Wagner ด้วยกัน ซึ่งความสัมพันธ์ของทั้งคู่จบลง เมื่อเจ้าชาย Paul แต่งงานไป นอกจากนี้ยังมีข่าวว่าพระองค์มีความสัมพันธ์กับนักแสดงชายชาว ฮังกาเรี่ยนชื่อ Josef Kainz รวมไปถึงความหลงใหลใน Richard Wagner ที่มากกว่าคนปกติอีกด้วย
กษัตริย์ Ludwig ที่ 2 และนักแสดงชาวฮังกาเรี่ยน Josef Kainz ถ่ายในปี 1881  (Source: Wikipedia)
องค์อุปถัมภ์ศิลปะ
หลังจากปี 1871 กษัตริย์ Ludwig เริ่มถอนตัวออกมาจากการบริหารบ้านเมืองมากขึ้นไปอีก และหันไปสนพระทัยกับงานศิลปะ ดนตรี และสถาปัตยกรรม ช่วงนี้นี่เองที่ทำให้เกิดการรังสรรงานศิลปะและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ มากมาย ทั่วทั้งแคว้น Bavaria
ความหลงใหลใน Richard Wagner
ถ้าจะพูดถึงกษัตริย์ Ludwig ที่ 2 คงจะไม่กล่าวถึง Richard Wagner ไม่ได้ เนื่องจาก Wagner คือนักประพันธ์เพลงและบทละคอนที่พระองค์หลงใหลเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นอาจจะเรียกว่าหมกมุ่นเลยทีเดียว
กษัตริย์ Ludwig ที่ 2 และ Richard Wagner (Source: Wikipedia)
เมื่อตอนที่พระองค์มีพระชนมายุได้ 15 ปี พระองค์ได้มีโอกาสชมการแสดงอุปรากรของ Richard Wagner เป็นครั้งแรก และพระองค์ก็ตกหลุมรักทันที พระองค์บอกว่า การแสดงที่สร้างจากบทละคอนของ Wagner นั้น เป็นการทำให้จินตนาการที่อยู่ในหัวของพระองค์โลดแล่นออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง
ดังนั้นสิ่งแรก ๆ ที่พระองค์ทำหลังจากที่ได้ขึ้นครองราชย์คือการเรียก Wagner มาเข้าเฝ้า ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะพอดิบพอดี
แม้ Wagner จะมีความสามารถในการประพันธ์ และผลงานของเขาก็ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่เขาเองก็มีความคิดทางการเมืองที่ค่อนข้างรุนแรง มีนิสัยเจ้าเล่ห์ เจ้าชู้ และเป็นคนที่เหยียดเชื้อชาติ โดยเฉพาะเชื้อชาติยิว ทำให้เขาเป็นคนที่มีศัตรูไปทั่ว
Richard Wagner นักประพันธ์ชาวเยอรมัน ผู้ที่กษัตริย์ Ludwig หลงใหล (Source: Pinterest)
นอกจากนี้เขายังเป็นคนที่ใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย เรียกได้ว่ามีเท่าไรก็ใช้หมดเท่านั้นเลยทีเดียว และตอนที่ Wagner มาเข้าเฝ้ากษัตริย์ Ludwig ในปี 1864 นั้น ตัวเขาเองกำลังประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก และกำลังหนีเจ้าหนี้มากมายที่ตามล่าเขาอยู่ Wagner จึงถือโอกาสนี้ในการพยายามอธิบายถึงผลงานต่าง ๆ ที่เขาวางแผนไว้ในอนาคต รวมถึงบอกถึงความลำบากในการใช้ชีวิตเนื่องจากหนี้สินมากมาย
กษัตริย์ Ludwig ที่ 2 ได้ฟังดังนั้น จึงตัดสินใจมอบเงินจำนวนมากให้กับ Wagner เรียกได้ว่ากษัตริย์ Ludwig ที่ 2 คือผู้อุปถัมภ์ Wagner และทำให้เขายังสามารถดำรงชีวิต และผลิตผลงานต่าง ๆ ได้จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายในชีวิตของเขา
กษัตริย์ Ludwig ที่ 2 และ Richard Wagner (Source: https://josmarlopes.wordpress.com)
หนึ่งปีต่อมาหลังจากการเข้าเฝ้า Wagner ได้ผลิตงานชิ้นโบแดงออกมา ชื่อว่า Tristan und Isolde ซึ่งได้รับความชื่นชมเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากนิสัยส่วนตัวของ Wagner จึงมีการเรียกร้องจากชาว Munich ให้เนรเทศ Wagner ออกไปจาก Munich ซะ ซึ่ง Ludwig ต้องยอมทำตามอย่างเสียไม่ได้ ในตอนนั้น Ludwig เสียพระทัยมาก จนถึงขนาดที่คิดจะสละราชสมบัติเพื่อหนีตาม Wagner ไปเลยทีเดียว ซึ่งยังดีที่ Wagner ห้ามเอาไว้ก่อน (ก็ถ้าพระองค์สละราชสมบัติ Wagner จะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายได้อีกหละ)
ในขณะที่โดนเนรเทศที่สวิสเซอร์แลนด์ ใช่ว่า Wagner จะโดนทอดทิ้ง Ludwig ยังคงหาบ้านให้เขาอยู่อย่างสะดวกสบาย จนกระทั่งเขาสามารถเขียนบทละครเรื่องใหม่ได้อีกเรื่องหนึ่งที่มีชื่อว่า Die Meistersinger ซึ่งได้ทำการแสดงเป็นครั้งแรกในปี 1868 ที่กรุง Munich
โรงละคร Opera ที่เมือง Bayreuth สร้างโดย Richard Wagner และเงินที่ได้มาจากกษัตริย์ Ludwig ที่ 2 (Source: https://www.bayreuth-tourismus.de)
หลังจากนั้น Wagner มีแผนที่จะสร้างโรงละคร Opera ส่วนตัวที่เมือง Bayreuth โดยใช้เงินที่เขาได้รับมาจากการเขียนบทละคอนต่าง ๆ ในตอนแรก Ludwig ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือใดใด แต่สุดท้ายเงินของ Wagner ก็หมดลง และเขาก็ต้องไปขอยืมเงินเพิ่มเติมจาก Ludwig จนได้ เงินที่ Ludwig ให้เขายืมในครั้งนี้ มีมูลค่ามากถึง 100,000 Thaler ซึงเป็นหน่วยเงินในตอนนั้น ซึ่งถ้าแปลงเป็นเงินดอลลาร์จะมีมูลค่าประมาณ 75,000 ดอลล่าร์ในปี 1876 ซึ่งในปัจจุบันจะมีมูลค่ามากถึง 1.5 ล้านดอลล่าร์เลยทีเดียว และแน่นอนว่าเงินก้อนนี้ไม่เคยได้รับการจ่ายคืน
สุดท้ายแล้ว ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ก็เป็นไปในรูปแบบขององค์อุปภัมภ์ Wagner อยู่ภายใต้การดูแลทางด้านการเงินจากตัวกษัตริย์ Ludwig และพระองค์เองก็ได้เสพงานศิลปะที่ Wagner ผลิตออกมานั่นเอง
1
ซากแจกัน Lohengrin แจกันที่กษัตริย์ Ludwig ที่ 2 มอบให้เป็นของขวัญกับ Wagner บนแจกันมีฉากจากละคอนของ Wagner อยู่ (Source: straitstimes.com)
การแสดงส่วนพระองค์
นอกจากงานของ Wagner แล้ว Ludwig ยังมีบทบาทในการสนับสนุนวงการละคอนของ Bavaria เป็นอย่างมาก เพราะจุดประสงค์หลักของพระองค์คือ การทำให้ Munich กลายมาเป็นศูนย์กลางของการแสดงในภาคพื้นยุโรป มีการจ้างผู้กำกับและนักเขียนบทมากมาย เพื่อให้สร้างการแสดงต่าง ๆ มีการแปลบทละคอนดัง ๆ จากการประพันธ์ของ Shakespear มีการแสดงคอนเสิร์ตของ Mozart และอื่น ๆ อีกมาก
1
แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ ในระหว่างปี 1872 ถึงปี 1885 Ludwig มีพระราชโองการให้จัดการแสดงโอเปร่าและมหรสพส่วนตัวมากถึง 209 ครั้ง หลายครั้งพระองค์จะเป็นผู้ชมเพียงคนเดียว หรือบางครั้งอาจจะมีแขกร่วมเข้าชมกับพระองค์เพียงคนหรือสองคนเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดคิดเป็นค่าใช้จ่ายมากถึง 97,300 มาร์ค หรือประมาณ 660,000 ดอลล่าร์ในปัจจุบัน
ภาพวาดของกษัตริย์ Ludwig ที่ 2 ในวัยหนุ่ม (Source: Pinterest)
เคยมีคนถามพระองค์ถึงเหตุผลที่พระองค์โปรดการแสดงแบบส่วนตัว ซึ่งพระองค์ตอบว่า เพราะพระองค์ไม่ชอบที่แขกเหรื่อที่มาชมการแสดง ต่างก็เอาแต่จ้องมองพระองค์ เพื่อดูว่าพระองค์แต่งกายแบบไหน มากับใคร และรู้สึกอย่างไรกับการแสดง ทำให้พระองค์ไม่มีความเป็นส่วนตัว และพระองค์รู้สึกเหมือนกับเป็นตัวละครตัวหนึ่ง พระองค์มาดูการแสดง เพราะอยากเป็นผู้ชมและดื่มด่ำไปกับการแสดง ไม่ได้อยากเป็นผู้ถูกชม
แต่การจัดการแสดงส่วนตัวเหล่านี้ กลับทำให้หลายคนมองว่าพระองค์ใช้เงินไปกับเรื่องไม่จำเป็น และหมกมุ่นอยู่กับโลกของดนตรีและศิลปะมากเกินไป
ปราสาทแห่งเทพนิยาย
อีกสิ่งที่กษัตริย์ Ludwig ที่ 2 หลงใหลคือการสร้างปราสาท และในยุคสมัยของพระองค์ มีการสร้างปราสาทและพระราชวังหลายแห่ง แต่คงไม่มีที่ไหนที่จะมีชื่อเสียงมากไปกว่า ปราสาท Neuschwanstein ปราสาทที่สวยงามประดุจดังหลุดออกมาจากเทพนิยาย
สำหรับปราสาท Neuschwanstein มีการวาดแบบครั้งแรกในปี 1868 ด้วยตัวของพระองค์เอง และผู้ที่วาดแบบคนสุดท้ายจนสำเร็จนั้นไม่ใช่สถาปนิก แต่เป็นผู้กำกับละคอนโอเปร่าของ Wagner แค่นี้ก็บอกได้แล้วว่าปราสาทแห่งนี้ไม่ธรรมดาแน่นอน
คำว่า Neuschwanstein มีความหมายว่า “New Swan Stone Castle” ปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาเล็ก ๆ ล้อมรอบไปด้วยป่าของเทือกเขาแอลป์ ใกล้ ๆ กับที่อยู่ในวัยเด็กของพระองค์เอง ว่ากันว่าในวัยเด็กนั้น พระองค์จะมองขึ้นไปยังยอดเขาแห่งนี้ และจินตนาการถึงปราสาทในเทพนิยายที่วันหนึ่งพระองค์จะต้องสร้างให้ได้
1
ปราสาท Neuschwanstein ตอนที่กำลังทำการก่อสร้าง (Source: https://germanywc12013.weebly.com)
การก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นในฤดูใบไม้ผลิปี 1869 ปราสาทแห่งนี้สร้างในสไตล์โรแมนติค (Romanticism) โดยสร้างเลียนแบบปราสาทในยุคกลาง มีกำแพงล้อมรอบที่ถูกตกแต่งด้วยภาพปูนปั้น ที่เป็นฉากต่าง ๆ ของละคอนของ Wagner และถึงแม้จะสร้างให้เหมือนปราสาทยุคกลาง แต่ภายในนั้นกลับเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นระบบประปาในทุกชั้น มีน้ำร้อนน้ำเย็นในห้องครัว และมีโทรศัพท์ในห้องหลายห้อง และมีลิฟท์ซึ่งถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ล้ำสมัยมาก
1
ห้องบรรทมของกษัตริย์ Ludwig ที่ 2 (Source: Pinterest)
ส่วนห้องหับต่าง ๆ นั้น ล้วนถูกตกแต่งอย่างประณีตบรรจง อย่างห้องนอนของพระองค์นั้นต้องใช้ช่างไม้ 14 คนเป็นเวลานานถึง 4 ปี ในการก่อสร้างเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ และทุกแห่งล้วนประดับไปด้วยภาพวาด ซึ่งล้วนแล้วได้รับแรงบันดาลใจมาจากละคอนของ Wagner เช่นกัน ถึงขนาดที่พระองค์บอกเองเลยว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ Richard Wagner (ซึ่ง Wagner เสียชีวิตไปก่อนที่จะทันได้เห็น)
การก่อสร้างดำเนินไปเรื่อย ๆ ในตอนแรก Ludwig วางแผนไว้ว่าปราสาทจะต้องสร้างเสร็จภายในเวลา 3 ปี แต่จากการต่อเติมและเปลี่ยนแปลงแผนการอยู่ตลอดเวลา ทำให้การก่อสร้างยืดยาวออกไปนานถึง 17 ปี และในตอนที่พระองค์ย้ายเข้าไปอยู่นั้น ตัวปราสาทก็ยังสร้างไม่เสร็จดี
1
เป็นที่น่าเสียดายที่พระองค์ไม่มีโอกาสได้อยู่ถึงตอนที่ปราสาทของพระองค์สร้างเสร็จสมบูรณ์ ตอนที่พระองค์เสด็จสวรรคตนั้นมีห้องเพียง 14 ห้องเท่านั้นที่ได้รับการตกแต่งตามแบบที่พระองค์วางไว้ และพระองค์มีโอกาสพำนักอยู่ที่ปราสาทแห่งนี้เพียง 172 วันเท่านั้น
ห้องบัลลังก์ (Throne Room) ในปราสาท Neuschwanstein ซึ่งบัลลังก์นั้นสร้างไม่เสร็จ (Source: Pinterest)
เรื่องที่น่าสนใจของปราสาท Neuschwanstein นั้นจริง ๆ แล้วอยู่ที่จุดประสงค์ของการสร้างมากกว่า แน่นอนว่า Ludwig หลงใหลในเรื่องของสถาปัตยกรรมและเทพนิยาย แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปกว่านั้น จริง ๆ ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเติมเต็มความต้องการของพระองค์ที่จะเป็นกษัตริย์ของแคว้น Bavaria เพราะหลังจากกลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเยอรมัน เอกราชของแคว้น Bavaria ก็หมดลง และถึงแม้พระองค์จะยังคงความเป็นกษัตริย์อยู่ แต่ก็ไม่ได้มีสิทธิ์หรืออำนาจเหมือนในสมัยของบิดาหรือปู่ของพระองค์
ดังนั้นปราสาทแห่งนี้จึงเป็นเหมือนศูนย์กลางของดินแดนในจินตนาการ ที่ซึ่งพระองค์จะยังคงเป็นใหญ่ และได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง จึงไม่แปลกที่พระองค์บอกไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องการให้ปราสาทแห่งนี้เป็นสถานที่ส่วนตัว ไม่อนุญาตให้มีการรับแขกบ้านแขกเมืองใดใดทั้งสิ้น
ปราสาท Neuschwanstein ในปัจจุบัน (Source: Viator)
อีกหนึ่งหลักฐานที่ยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีคือ ปราสาท Neuschwanstein ไม่ได้สร้างในลักษณะแบบป้อมปราการ เพื่อรักษาความปลอดภัยแบบยุคกลาง เพราะทั้งสถานที่ตั้ง และลักษณะของตัวปราสาทนั้น สร้างขึ้นเพื่อความสวยงามเท่านั้น
สุดท้ายแล้ว ค่าก่อสร้างทั้งหมดของปราสาทหลังนี้อยู่ที่ 6.2 ล้านมาร์ค หรือคิดเป็นเงินประมาณ 51 ล้านดอลล่าร์ในปัจจุบัน มากกว่าที่ประเมินค่าไว้ในตอนแรกถึงสองเท่า
ปราสาท Neuschwanstein ในช่วงฤดูหนาว (Source: (https://www.archyde.com/tag/bavaria)
จบไปแล้วนะครับ กับตอนแรกของเรื่องราวของกษัตริย์ Ludwig ที่ 2 แห่ง Bavaria ในครั้งหน้าผมจะพาไปพบกับสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่พระองค์เป็นผู้สร้าง แต่คนมักจะไม่รู้จัก ทั้งที่จริง ๆ แล้ว หลายแห่งนั้นน่าสนใจไม่แพ้ปราสาท Neuschwanstein เลย รวมไปถึงการตายปริศนาของพระองค์ และทำไมพระองค์ถึงถูกตั้งฉายาว่า "The Mad King"
1
ติดตามอ่านตอนที่ 2 ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา