21 มี.ค. 2021 เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์
Jean-Bédel Bokassa : จักรพรรดิองค์สุดท้ายของแอฟริกา ตอนที่ 2 (จบ)
มาถึงตอนที่ 2 ของเรื่องราวของ Jean-Bédel Bokassa กันครับ ซึ่งเป็นตอนที่หลายคนน่าจะกำลังรอคอย เพราะผมจะเล่าถึงพระราชพิธีสถาปนาองค์จักรพรรดิ ที่มีราคาแพงมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และเกือบทำให้ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ต้องล้มละลาย และจุดจบขององค์จักรพรรดิว่าจะมีชะตาชีวิตเป็นยังไง
พร้อมแล้วก็ลองไปอ่านกันได้เลย :)
สำหรับตอนที่ 1 สามารถไปตามอ่านได้ที่นี่ครับ
แตกหักกับฝรั่งเศส
มาถึงตรงนี้ต้องกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Bokassa กับรัฐบาลฝรั่งเศสซักเล็กน้อย เพราะฝรั่งเศสเป็นประเทศที่คอยให้เงินช่วยเหลือสาธารณรัฐแอฟริกากลางตลอดเวลา และ Bokassa ก็ต้องพึ่งพาเงินเหล่านี้มาใช้ในการบริหารประเทศ และใช้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของตนเองและพรรคพวก
ในช่วงที่ “สหายคนสนิท” ของเขา Charles De Gaulle ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ทุกอย่างเหมือนจะเป็นไปด้วยดี เงินช่วยเหลือจากฝรั่งเศสยังหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย แต่หารู้ไม่ว่าชื่อเสียงของ Bokassa ในฝรั่งเศสนั้นเหลวแหลกมาก ถึงขั้นที่ De Gaulle เรียก Bokassa ว่า “The idiot that we have in Bangui : ไอ้โง่ที่เราต้องคอยดูแลใน Bangui” แต่เนื่องจากแอฟริกากลางเป็นแหล่งผลิตยูเรเนียมที่สำคัญของโลก และฝรั่งเศสก็ต้องการยูเรเนียมราคาถูกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของตนเอง รวมไปถึงเพชร ไม้ และฝ้าย ทำให้การตัดเยื่อใยกับแอฟริกากลางจะทำให้ได้ไม่คุ้มเสีย
อย่างไรก็ตามไม่กี่สัปดาห์หลังจาก Banza โดนประหารชีวิต Charles De Gaulle ก็ถูกบังคับให้ลาออกจากการเป็นประธานาธิบดี นำความเสียใจมาสู่ Bokassa เป็นอย่างมาก เพราะตอนนี้คนที่มีอำนาจในการให้เงินช่วยเหลือกลายมาเป็น Geroges Pompidou ซึ่งเป็นคนที่ไม่กินเส้นกับ Bokassa เลยแม้แต่นิดเดียว และ Pompidou ก็ไม่ลังเลที่จะแสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสเหนื่อยหน่ายกับเขามากแค่ไหน ด้วยการปฏิเสธการให้งบประมาณในการจัดสร้างทางรถไฟสายแอฟริกาแก่ Bokassa
Geroges Pompidou ประธานาธิบดีผู้ไม่กินเส้นกับ Bokassa (https://nostalgiacentral.com/pop-culture/people/georges-pompidou)
ในเมื่อไม่ให้งบประมาณ Bokassa ก็ตอบโต้ด้วยความคิดแบบเด็ก ๆ โดยการไล่ที่ปรึกษากระทรวงเกษตรชาวฝรั่งเศสกลับประเทศไป แล้วแทนที่ตำแหน่งนั้นด้วยคนของตนเอง และตั้งโครงการที่จะเปลี่ยนสาธารณรัฐแอฟริกากลางเป็นประเทศเกษตรกรรมขนาดใหญ่ ที่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ
เพียงแค่เริ่มต้นโครงการ ทุกอย่างก็พังไม่เป็นท่า เพราะคนของ Bokassa ไม่มีความรู้ความสามารถด้านนี้เลยแม้แต่นิดเดียว มีการตั้งเป้าไว้ว่าปริมาณฝ้ายและกาแฟจะต้องเติบโต 3 เท่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม เพราะปริมาณการผลิตสินค้าทั้งคู่นั้นกลับลดลง 3 เท่าแทน
ฝ้าย หนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของแอฟริกากลาง (https://businessfightspoverty.org)
สุดท้าย Bokassa และ Pompidou ก็รู้ตัวว่าต่างคนต่างก็ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ดังนั้น Pompidou จึงตัดสินใจส่งเครื่องบินส่วนตัวให้เป็นของขวัญปีใหม่ เพื่อแสดงน้ำใจ ส่วน Bokassa เมื่อได้ของเล่นชิ้นใหม่ก็ยอมยกโทษให้ แต่สุดท้ายก็เกิดข่าวลือขึ้นที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ต้องดำดิ่งลงเหวลงไปอีก
1
Martine ตัวจริง และ Martine ตัวปลอม
ถ้าจำได้ในตอนต้นเรื่อง ตอนที่ Bokassa ไปร่วมรบที่ประเทศเวียดนามนั้น เขามีลูกสาวคนหนึ่งที่เกิดกับสาวชาวเวียดนาม แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการติดต่อกันอีก อย่างไรก็ตามในช่วงปี 1970 มีข่าวในหนังสือพิมพ์เวียดนามที่บอกว่ามีการค้นพบลูกสาวของเขาที่ปัจจุบันใช้ชื่อว่า Martine Nguyễn Thị Bái
Martine Nguyễn Thị Bái ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกสาวที่พลัดพรากของ Bokassa   (Source: vnexpress.net)
Bokassa ดีใจมาก และเชิญตัว Martine ที่ตอนนั้นอายุ 17 ปี มายังสาธารณรัฐแอฟริกากลางทันที พร้อมกับรับเธอมาเป็นลูกสาว และเขาก็มอบความรักและของขวัญให้เธอมากมาย
อย่างไรก็ตามเวลาผ่านไปไม่นาน เริ่มมีข่าวว่า Martine ที่ Bokassa รับเป็นลูนั้น จริง ๆ แล้วเป็น Martine ตัวปลอม และมีคนพบ Martine ตัวจริงแล้วที่ประเทศเวียดนาม และที่เลวร้ายไปกว่านั้น คือความจริงที่ว่าทั้งหมดเป็นแผนการของฝรั่งเศสภายใต้รัฐบาลของ Pompidou ที่จงใจ ต้องการทำให้ Bokassa ต้องอับอายขายหน้า และสื่อของฝรั่งเศสต่างประโคมข่าวนี้กันอย่างกว้างขวาง Bokassa กลายมาเป็นคนโง่ที่ถูกหลอกลวงในสายตาของประชาคมโลกทันที
Bokassa โมโหมากที่โดนสวมเขา เขามีตำแหน่งเป็นถึงประธานาธิบดีของประเทศ ทำไมถึงโดนหลอกให้ขายหน้าง่าย ๆ แบบนี้ แต่ถึงแม้จะโกรธแค้นฝรั่งเศสมากแค่ไหน เขาก็ยังต้องการเงิน และความช่วยเหลือจากฝรั่งเศสอยู่ดี ดังนั้นแทนที่จะอับอาย Bokassa ตัดสินใจใช้โอกาสนี้ในการแสดงความเป็นคนใจบุญ ตัดสินใจรับ Martine ตัวปลอมเป็นลูกบุตรธรรมซะเลย
Martine ตัวจริงและตัวปลอม ซึ่งสุดท้ายก็กลายมาเป็นลูกของ Bokassa ทั้งคู่ (https://www.centrafriqueledefi.com)
ต่อมาเดือนเมษายน 1974 มีผู้พบศพสาวชาวฝรั่งเศสในโรงแรมที่เมือง Bangui เป็นอีกครั้งที่สื่อของฝรั่งเศสประโคมข่าวใหญ่โตว่าผู้ตายเป็นเมียเก็บของ Bokassa และเขาคือคนที่ฆ่าเธอเอง ซึ่งทำให้ Bokassa โกรธมาก นอกจากจะโดนสวมเขา คราวนี้เขาโดนกล่าวหาว่าเป็นฆาตรกร แน่นอนคนทรนงอย่างเขาย่อมยอมไม่ได้อย่างเด็ดขาด
Bokassa ไล่คนฝรั่งเศสออกจากบริษัทน้ำมันแห่งชาติ และเปลี่ยนให้บริษัทกลายมาเป็นรัฐวิสาหกิจ มีคำสั่งห้ามพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ของฝรั่งเศสทุกชนิด ดูเหมือนว่าทุกอย่างกำลังจะถึงจุดวิกฤต ถ้ามีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ Bokassa โกรธอีกละก็ ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอาจจะต้องขาดสะบั้นลงอย่างแน่นอน
แต่โชคดี (หรือร้าย?) ที่เหตุการณ์นั้นไม่ได้เกิดขึ้น เพราะ Geroges Pompidou เกิดเสียชีวิตอย่างกะทันหัน และคนที่เข้ามารับตำแหน่งต่อจากเขาก็ไม่ใช่ใครอื่น นอกจาก Valéry Giscard d'Estaing “สหายเก่า” ของ Bokassa อีกคน มาถึงตรงนี้ Bokassa มั่นใจมากกว่าคราวนี้หละ เงินช่วยเหลือจากฝรั่งเศสจะต้องกลับมาอย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะเป็นคนรู้จักกันแล้ว ครอบครัว Giscard ยังมีธุรกิจยางพาราในสาธารณรัฐแอฟริกากลางอีกด้วย
Jean-Bédel Bokassa และ "สหายเก่า" ของเขา Valéry Giscard d'Estaing (https://www.piquenewsmagazine.com)
ปี 1974-1975 ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็กลับมาดีเหมือนเดิม มีกลุ่มนักธุรกิจชาวฝรั่งเศสเดินทางมาลงทุนในประเทศมากมาย โดยเฉพาะธุรกิจยางพาราและเพชร และ Bokassa ก็กลายมาเป็นเจ้าของบริษัทส่งออกสินค้าเหล่านี้ แต่เงินที่ไหลเข้ามาในประเทศ กลับเข้ากระเป๋าคนเพียงไม่กี่คนเหมือนเดิม และในที่สุด Bokassa ก็อยู่ในภาวะถังแตกอีกครั้ง
ในฤดูร้อนปี 1975 Bokassa ตัดสินใจบากหน้าขอเงินช่วยเหลือจาก Giscard อีกครั้ง และหลังจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน Giscard ก็ตัดสินใจให้เงินกู้ โดยมีเงื่อนไข 2 ข้อ ข้อแรกคือ Bokassa ต้องหยุดการใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย และข้อสองคือก่อนที่เงินจะถูกส่งไป คนของ Giscard จะต้องเข้าไปตรวจสอบงบประมาณต่าง ๆ ของรัฐบาลในปีที่ผ่าน ๆ มา ซึ่ง Bokassa ต้องจำยอมอย่างไม่มีทางเลือก
ผลของการตรวจสอบที่ออกมานั้น แทบจะช้อค Giscard เพราะในรายงานนั้นสรุปว่า รัฐบาลของ Bokasssa ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณอย่างเป็นจริงเป็นจัง และรายรับรายจ่ายทั้งหมด ก็ไม่ได้ถูกบันทึกไว้อย่างละเอียดใดใดทั้งสิ้น ซ้ำร้ายยังมีการปลอมแปลงเอกสารอีกมากมาย ดังนั้นการให้เงินช่วยเหลือ Bokassa ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ไม่ควรกระทำ แต่ห้ามทำเลยต่างหาก ดังนั้น Giscard ก็เลยต้องปฏิเสธการให้เงินช่วยเหลือไป
Valéry Giscard d'Estaing (ซ้าย) สุดท้ายปฏิเสธในการให้เงินกู้กับ Bokassa (ขวา) (https://fr.sputniknews.com)
โกรธแค้น ซบอกศัตรู
Bokassa โกรธมาก เขาไม่คิดเลยว่าสหายเก่าของเขา จะทำกับเขาแบบนี้ นี่คือการทรยศ และฝรั่งเศสจะต้องชดใช้อย่างสาสม แต่ในเมื่อ Bokassa ไม่มีความสามารถอะไรเลย เขาจะทำยังไงดี ในที่สุดคำตอบก็มาเยือนเขา ในเมื่อฝรั่งเศสปฏิเสธที่จะให้เงินช่วยเหลือ เขาก็จะไปขอความช่วยเหลือจากศัตรูของฝรั่งเศสแทน และคนคนนั้นก็คือ Muammar Gadaffi ผู้นำของประเทศลิเบียนั่นเอง
1
Bokassa ตัดสินใจเดินทางไปลิเบียเพื่อพบกับ Gadaffi และเพื่อทำให้ Gadaffi พอใจ เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาอิสลามต่อหน้า Gadaffi และสัญญาว่าจะนำการปกครองแบบลิเบียมาใช้ในการปกครองแอฟริกากลาง ทั้งนี้ก็เพื่อหวังจะได้เงินช่วยเหลือมาบ้าง ซึ่งการเจริญสัมพันธไมตรีในครั้งนี้ก็ทำให้ฝรั่งเศสตกอยู่ในที่นั่งลำบากทันที ธุรกิจของชาวฝรั่งเศสโดยเฉพาะธุรกิจเพชรและยูเรเนียมที่มีมูลค่าสูง อาจจะตกอยู่ในอันตรายได้
Muammar Gadaffi ผู้นำลิเบีย ศัตรูคู่แค้นของฝรั่งเศส ที่ Bokassa หันไปพึ่งเงิน (https://www.africanexponent.com)
ในตอนนั้นเองที่ Bokassa เห็นช่องทางที่จะเติมเต็มความฝันอีกอย่างหนึ่งของเขา จริง ๆ แล้วฮีโร่อีกคนหนึ่งที่ Bokassa ชื่นชอบก็คือ Napolean Bonabarte ทหารผู้แกร่งกล้า และเคยเป็นจักรพรรดิของจักรวรรดิฝรั่งเศสมาก่อนในช่วงเวลาสั้น ๆ ในเมื่อ Bokassa ก็เป็นทหารผู้แกร่งกล้า ทำไมเขาจะเป็นจักรพรรดิบ้างไม่ได้ แถมในตอนนั้นเองจักรพรรดิ Haile Salassie ของเอธิโอเปีย เพิ่งจะโดนโค่นอำนาจลง ถ้าเขาได้เป็นจักรพรรดิ เขาก็จะกลายเป็นจักรพรรดิหนึ่งเดียวของทวีปแอฟริกา
และด้วยนิสัยเจ้าเล่ห์ของ Bokassa เมื่อกลับจากลิเบีย เขาได้ส่งตัว David Dacko (ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาในคณะรัฐมาตรี) ไปปารีส เพื่อไปบอกกับรัฐบาลฝรั่งเศสว่า เขาจะยอมตัดความสัมพันธ์กับลิเบีย ถ้าฝรั่งเศสยอมรับตัว Bokassa ในฐานะจักรพรรดิ และยอมจ่ายเงินค่าพระราชพิธีสถาปนา (Coronation Ceremony) คำขอเหล่านี้ฟังดูไร้สาระ และเหมือนจะเป็นคำขอของคนบ้า และแน่นอนทุกคนย่อมจะคาดหวังว่าฝรั่งเศสต้องปฏิเสธคำขออย่างแน่นอน แต่รัฐบาลฝรั่งเศสกลับตอบตกลงพร้อมความช้อคของคนทั้งโลก ซึ่งสาเหตุก็คือเงินที่ต้องจ่ายให้เป็นค่าพระราชพิธีนั้น น้อยกว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นมากนัก เพราะฝรั่งเศสอาจจะต้องสูญเสียแหล่งเพชร ยูเรเนียม และไม้ราคาถูก ดังนั้นจากตำแหน่งพลเอกธรรมดา ๆ Jean-Bédel Bokassa กำลังจะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งจักรพรรดิองค์แรกของจักรวรรดิแอฟริกากลางในเวลาอีกไม่นาน
2
งานสถาปนาลวงโลก
งานพระราชพิธีสถาปนาจักรพรรดิ ถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 4 ธันวาคม 1977 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 170 ปี ของวันที่ Napolean ได้รับการสถาปนาเป็นจักรพรรดิพอดี โดยตัวงานใช้ระยะเวลาในการเตรียมการกว่า 1 ปี ภายใต้คอนเซปต์ Napolean Bonabarte Coronation โดยทุกอย่างจะต้องทำเหมือนกับตอนที่ Napolean ได้รับการสถาปนาเป็นจักรพรรดิ ทั้งความยิ่งใหญ่อลังการณ์ ดนตรี และขั้นตอนต่าง ๆ ส่วนศาสนาอิสลาม และความสัมพันธ์กับลิเบียก็ถูกทิ้งไปอย่างไม่ใยดี
แสตมป์พระราชพิธีสถาปนาจักรพรรดิ Bokassa ที่ 1 (https://www.hipstamp.com/listing/central-africa-2017-bokassa-coronation-souvenir-sheet-calocal05b/18605200)
แต่แล้วความหวังก็ต้องสลายลง เพราะตอนที่ Napolean Bonabarte ได้รับการสถาปนาเป็นจักรพรรดินั้น Pope เดินทางมาร่วมงานเพื่อเป็นสักขีพยาน แต่เมื่อ Bokassa ขอให้ทางวาติกันส่ง Pope มานั้น วาติกันตอบปฏิเสธทันที โดยอ้างว่า Pope นั้นป่วยและไม่สามารถเดินทางไกลได้ และในปัจจุบันก็ไม่มี Pope คนไหนมอบมงกุฎให้กับใครอีกแล้ว (เหตุผลจริง ก็น่าจะเป็นเพราะพระราชพิธีนั้นไร้สาระมาก ๆ นั่นเอง) สิ่งที่วาติกันส่งมาคือคณะนักบวชที่จะมาทำพิธีสวดอวยพรให้ในตอนจบ
4
ในเมื่อผิดหวังจากเรื่องของ Pope อย่างอื่นในงานก็จะต้องยิ่งใหญ่ ไม่ให้ผิดหวัง เพื่อมาเติมเต็มอีโก้ของตัว Bokassa เริ่มจากบัลลังก์ขนาดใหญ่ที่ทำมาจากทองคำแท้ที่มีมูลค่าสูงถึง 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ มงกุฎ ดาบ และคฑาที่ใช้ในพระราชพิธีนั้นประดับประดาไปด้วยอัญมณีล้ำค่ามากมาย ซึ่งมูลค่าโดยรวมนั้นสูงถึง 5 ล้านเหรียญสหรัฐ รถ Benz รุ่นล่าสุด 60 คัน ถูกนำเข้ามาจากประเทศเยอรมัน แต่เนื่องจากแอฟริกากลางเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล รถทุกคันจึงถูกส่งมายังประเทศแคเมอรูน ก่อนจะนำขึ้นเครื่องบินมายัง Bangui ด้วยสนนราคาค่าขนส่งที่ 5000 เหรียญสหรัฐต่อคัน
บัลลังก์อินทรีย์ทอง สนนราคา 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ใช้ในงานพระราชพิธี (https://www.dw.com/en/conservation-in-times-of-war/a-46719951)
ส่วนเสื้อผ้านั้นไม่ต้องพูดถึง ในเมื่อตัว Bokassa เองมี Napolean เป็นฮีโร่ เขาก็ย่อมสั่งตัดชุดกับร้านตัดเสื้อที่ทำชุดให้กับ Napolean ซะเลย มีการสั่งชุดของ ฺBokassa เองมากถึง 13 ชุด สนนราคารวม 145,000 เหรียญ ออกแบบโดย designer ชื่อดังอย่าง Pierre Cardin ส่วนผ้าคลุมที่หนักอึ้งยาวคร่อมพื้นก็ประดับประดาไปด้วยไข่มุก 785,000 เม็ด และเม็ดคริสตัล 102 ล้านเม็ด มีราคารวม 72,400 เหรียญ ส่วนเสื้อผ้าของเหล่าภรรยา 17 คนของเขานั้นได้รับการออกแบบโดย Lanvin อีกหนึ่ง designer ชื่อดังจากฝรั่งเศส
1
และแล้วในวันที่ 4 ธันวาคม 1977 พระราชพิธีเริ่มต้นขึ้นในตอนเช้า ขบวนพาเหรดยิ่งใหญ่อลังการณ์จากกองทหารม้า นำหน้ารถม้าคันโตที่ประดับประดาไปด้วยทอง ที่ถูกลากด้วยม้าสีขาวบริสุทธิ์ 8 ตัวที่นำเข้ามาจากเบลเยี่ยม แต่เป็นที่น่าสงสารว่าม้า 2 ตัวตายจากสภาพอากาศอันร้อนระอุ จนทำให้ในระยะทางที่เหลือ Bokassa ต้องเดินทางต่อด้วยรถลิมูซีนแทน
1
บรรยากาศในงานพระราชพิธี (https://www.akg-images.co.uk/archive/-2UMEBMYLX2FZD.html)
เมื่อมาถึงที่จัดงาน ขบวนพิธีก็เริ่มขึ้น ท่ามกลางแขกเหรื่อกว่า 4,000 คน ขบวนพิธีนำโดยลูก 29 คนของ Bokassa แล้วตามมาด้วยลูกชายคนโปรด Jean-Bédel Bokassa ที่ 2 ผู้สืบทอดตำแหน่งจักรพรรดิองค์ต่อไป จากนั้นก็เป็นภรรยาคนโปรด Catherine Denguiadé หนึ่งในภรรยา 9 คนอย่างเป็นทางการของเขา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นจักรพรรดินี (ว่ากันว่า Catherine โดนลักพาตัวมาจากหมู่บ้านของเธอ ตอนเธออายุเพียง 16 ปีเท่านั้น เพื่อนำมา "มอบ" ให้กับ Bokassa และเธอมีลูกกับ Bokassa ถึง 7 คน)
1
Catherine Denguiadé ภรรยาคนโปรดของ Bokassa (Source: Pinterest)
จากนั้น Bokassa ก็ปรากฏตัวในชุดคลุม พร้อมกับช่อ laurel สีทองคาดตรงบริเวณข้างศีรษะ เหมือนกับ Napolean ฮีโร่ของเขาในวันพระราชพิธี และไฮไลท์ของงานอยู่ที่การสวมมงกุฎลงบนศีรษะด้วยตนเอง เหมือนกับที่ Napolean ทำไม่มีผิดเพี้ยน และในเวลา 10.43 น. Bokassa ก็กลายมาเป็น Emperor Bokassa of Central African Empire หรือจักรพรรดิ Bokassa แห่งจักรวรรดิแอฟริกากลาง
Bokassa ที่สวมช่อ Laurel สีทอง เช่นเดียวกันกับ Napoleanในวันพระราชพิธี (https://www.knack.be)
แม้ว่างานจะดูยิ่งใหญ่ และอลังการณ์แค่ไหน แต่ถ้าไปดูรายชื่อผู้ร่วมงาน ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า งานในครั้งนี้มีแต่ความกลวง และลวงโลก มีการส่งคำเชิญไปยังผู้นำทั่วโลกมากมาย แต่กลับไม่มีผู้นำประเทศใดเลยมาร่วมงาน แม้แต่ผู้นำของประเทศเพื่อนบ้านในแอฟริกา และแม้แต่ตัวของประธาธิบดี Giscard เอง ก็ไม่มาเช่นกัน เพราะมาถึงตอนนี้ Bokassa ยังไม่รู้ตัวเลยว่าทั่วโลกนั้นเริ่มเห็นเขาเป็นตัวตลก ไม่ก็คนบ้าไปแล้ว
จักรพรรดิ Bokassa และจักพรรดินี Catherin แห่งจักรวรรดิแอฟริกากลางหลังพิธี (Source: rarehistoralphoto.com)
คาดการณ์กันว่างบประมาณทั้งหมดที่ใช้ในพระราชพิธีนั้น เป็นจำนวนเงินสูงถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 80 ล้านเหรียญในปัจจุบัน ซึ่งมีค่าเท่ากับ 1 ใน 3 ของงบประมาณประเทศของแอฟริกากลาง รวมไปถึงเงินช่วยเหลือทั้งหมดของประเทศฝรั่งเศสในปีนั้น และถือเป็นหนึ่งในพระราชพิธีที่แพงที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา
จักรวรรดิระส่ำตั้งแต่เริ่ม
หลังได้เป็นจักรพรรดิแล้ว ประเทศที่อยู่ในภาวะวุ่นวายอยู่แล้วก็ยิ่งวุ่นวายเข้าไปอีก Bokassa กล่าวไว้ว่าจะเปลี่ยนการปกครองประเทศเป็นแบบ Constitutional Monarchy (การปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีจักรพรรดิเป็นประมุข) และทำการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีสองชุด ชุดแรกเป็นของรัฐบาลทั่วไป อีกชุดหนึ่่งเป็นของจักรพรรดิเอง แต่ชุดคณะรัฐมนตรีของฝั่งจักรพรรดิจะสามารถ override หรือมีอำนาจเหนือคณะรัฐมนตรีเสมอในการกำหนดนโยบายประเทศ ซึ่งถ้ามองกันจริง ๆ แล้ว Bokassa เพียงแค่ต้องการอำนาจและตำแหน่งเท่านั้น ไม่ได้ต้องการจะยุ่งเกี่ยวกับการบริหารประเทศใดใดทั้งสิ้น เพราะถ้าเกิดการบริหารประเทศมีความผิดพลาด ตัวเขาเองก็สามารถโทษคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลทั่วไปได้เสมอนั่นเอง
Bokassa และภรรยาคนโปรด กำลังชมพาเหรดหลังงานพระราชพิธี  (https://www.akg-images.com)
สุดท้ายทุกอย่างก็เหมือนเดิม Bokassa ยังปกครองประเทศแบบเผด็จการ กองทัพยังมีอำนาจเหนือทุกองค์กร นโยบายต่าง ๆ ที่ควรจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศถูกขัด มีการจับนักโทษทางการเมืองมากมาย ส่วนตัว Bokassa เองก็ย้ายไปอยู่ในพระราชวังหลังใหม่ และใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายเหมือนเดิม สุดท้ายในปี 1978 เศรษฐกิจของประเทศก็เข้าสู่ภาวะล้มละลายอีกครั้ง รัฐบาลไม่มีงบประมาณในการจ่ายเงินเดือนให้กับเหล่าข้าราชการและทหารอีกต่อไป
ในช่วงต้นปี 1979 เริ่มมีการประท้วงขึ้นประปรายจากสาเหตุการขาดแคลนอาหาร ซึ่งส่งผลให้มีคนเสียชีวิตมากมาย แต่เหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนจริง ๆ นั้น ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดจากพลังของนักเรียนในประเทศนั่นเอง
1
จริง ๆ นักเรียนนักศึกษาในประเทศแอฟริกากลางมีความไม่พอใจในการบริหารประเทศของ Bokassa มาระยะหนึ่งแล้ว มีการโต้วาที ตำหนิติเตียนรัฐบาลอยู่เนือง ๆ ซึ่งแม้ว่าจะมีการเซ็นเซอร์ และการห้ามจัดการชุมนุม ก็ไม่ได้เป็นผลแต่อย่างใด
แต่ฟางเส้นสุดท้ายนั้น เกิดจากตอนที่ Bokassa เดินทางไปเยือนประเทศโกดติวัร์ ซึ่งเป็นประเทศเล็ก ๆ ในแอฟริกาตะวันตก ที่นั่นเขาได้เห็นว่าเด็กนักเรียนล้วนแต่ใส่ชุดนักเรียนสีขาว เรียบร้อย สะอาดตา เขาเลยมีความคิดว่างั้นนักเรียนของแอฟริกากลางก็ควรจะต้องใส่ชุดนักเรียนเช่นเดียวกัน เพราะนอกจากจะเป็นการแสดงความไม่แบ่งแยกแล้ว ยังเหมือนเป็นสัญลักษณ์กลาย ๆ ว่ารัฐบาลสามารถ “สั่ง” นักเรียนนักศึกษาให้อยู่ในอำนาจได้ โดยชุดนักเรียนที่รัฐบาลบังคับให้ใส่นั้น ถูกผลิตโดยบริษัทที่ภรรยาของ Bokassa เป็นเจ้าของเพียงเจ้าเดียวด้วย ดังนั้นราคาก็เลยแพงลิบลิ่ว
นักเรียนในแอฟริกากลางในปัจจุบัน ไม่มีกฎให้สวมใส่เครื่องแบบอีกต่อไป (https://borgenproject.org/education-in-the-central-african-republic/)
แต่เนื่องจากเศรษฐกิจที่พังพินาศไม่มีชิ้นดี ประชาชนไม่มีเงินมาซื้อชุดนักเรียนให้ลูกหลานตนเองใส่ ดังนั้นเมื่อโรงเรียนเปิดภาคเรียน จึงมีนักเรียนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ไปโรงเรียนโดยสวมใส่ชุดนักเรียน ซึ่งทำให้ Bokassa ไม่พอใจเป็นอย่างมาก ดังนั้นในเดือนมกราคม 1979 องค์จักรพรรดิจึงออกคำสั่งห้ามไม่ให้นักเรียนนักศึกษาเข้าเรียน ถ้าหากว่าไม่สวมใส่ชุดนักเรียนตามที่รัฐบาลกำหนด
สองอาทิตย์ต่อมา บรรดานักเรียนอายุ 14-25 ปี กว่า 3,000 คน ออกมาประท้วงในท้องถนนตามเมืองต่าง ๆ เรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินให้กับพ่อแม่ของพวกเขา ซึ่งถือว่าเหล่านักเรียนเลือกช่วงเวลาประท้วงได้เหมาะมาก เพราะไม่กี่วันก่อนการประท้วงนั้นพระราชาของอิหร่าน หรือที่เรียกว่า Shah เพิ่งถูกปฏิวัติโค่นอำนาจลง ทำให้การปกครองระบอบกษัตริย์ของอิหร่านกว่าพันปีต้องล่มสลายลง และในเมื่อระบอบที่มีมากว่าพันปี ยังสามารถล่มสลายไปได้ด้วยพลังประชาชน ทำไมระบอบที่เพิ่งตั้งโดยคนบ้าอำนาจที่มีอายุไม่ถึง 2 ปี จะไม่สามารถล่มสลายลงได้ แต่อย่างไรก็ตาม บรรดาทหารก็สามารถสลายการประท้วงได้ และ Bokassa ก็สามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ได้อีกครั้ง
8
ภาพของรูปปั้นของ Bokassa ที่ถูกประชาชนทำลายในช่วงของการประท้วง (https://archive.vanityfair.com/)
เมื่อข่าวเรื่องการประท้วงของนักเรียนไปถึงฝรั่งเศส ประธานาธิบดี Giscard จึงตัดสินใจให้เงินกู้กับ Bokassa อีกครั้ง และครั้งนี้ Bokassa ก็ใช้เงินจำนวนนั้นในการจ่ายเงินเดือนให้กับบรรดาข้าราชการ และทหาร ไม่ได้เอามาเข้ากระเป๋าตนเองและพรรคพวกเหมือนกับครั้งอื่น ๆ
Bokassa หวังว่าการทำเช่นนี้่ จะช่วยให้ประชาชนพึงพอใจ และหยุดคิดเรื่องการประท้วงลง แต่หารู้ไม่ว่าความคิดเรื่องการปฏิวัตินั้นได้ถูกบ่มเพาะลงในใจของประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีองค์กรลับใต้ดินเกิดขึ้นมากมาย เพื่อวางแผนทำการปฏิวัติโค่นอำนาจ ซึ่งทุกอย่างก็เพียงแค่รอเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น
หลังจากจ่ายเงินข้าราชการไปแล้ว ทุกอย่างที่น่าจะจบก็กลับไม่จบ มีการประท้วงต่อเนื่องเกิดขึ้นแทบทุกวัน จนกระทั่งถึงเดือนเมษายน 1979 เกิดการประท้วงครั้งใหญ่นำโดยเหล่าบรรดานักเรียนนักศึกษาอีกครั้ง และครั้งนี้เส้นความอดทนขององค์จักรพรรดิก็ขาดผึงลง เมื่อมีกลุ่มเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งขว้างก้อนหินใส่รถ Rolls Royce ของ Bokassa ที่กำลังวิ่งผ่าน มีการสั่งจับนักเรียนนักศึกษามากมายในกรุง Bangui ทันทีโดยเฉพาะพวกที่เป็นแกนนำ และนำไปขังไว้ที่คุกในค่ายทหาร
และในช่วงเวลา 12 ชั่วโมงต่อมา เหตุการณ์เลวร้ายก็เกิดขึ้นในค่ายทหาร นักเรียนหลายคนถูกทุบตี เฆี่ยน ทรมาน และ Bokassa ก็คือหนึ่งในคนที่ทุบตีเด็กเหล่านั้น จนสุดท้ายก็มีเด็กหลายคนที่โดนทุบตีจนเสียชีวิต และเมื่อพ่อแม่ถามหาถึงความเป็นไปของลูกตนเอง รัฐบาลกลับปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่องใดใดทั้งสิ้น
จักรพรรดิ Bokassa หนึ่งในผู้ที่ทำร้าย ทุบตีเด็ก ๆ (https://www.onthisday.com/people/jean-bedel-bokassa)
สุดท้ายเมื่อเรื่องราวบานปลาย และมีการลือกันว่า Bokassa คือหนึ่งในผู้ที่ทำร้ายเด็ก ๆ Bokassa ก็แก้ไขปัญหาด้วยวิธีแบบเด็ก ๆ เขาประกาศตนเองว่าเป็น Father and Protector of all children หรือ ผู้พิทักษ์ปกป้องเด็กทั้งมวล และออกกฏหมายทันทีว่าการจับเด็กเข้าคุกนั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย พร้อมกับปล่อยตัวเด็ก ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ออกมา พร้อมกับคำขู่ที่ว่า ถ้าแกไปบอกใครถึงเรื่องที่เกิดขึ้นนค่ายทหาร พวกแกก็จะไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่าง “ปกติ” อีกต่อไป และก็เป็นอีกครั้งที่เขาคิดว่าปัญหาทั้งหมดน่าจะถูกแก้ไขได้หมดแล้ว
1
จุดจบจักรวรรดิ
เหตุการณ์จับกุมเด็กนักเรียนในครั้งนี้ แน่นอนว่าไม่สามารถปกปิดสื่อต่างชาติได้ ข่าวเรื่องการทรมานเด็ก ๆ ในค่ายทหาร เดินทางไปถึงทวีปยุโรป นักเรียนนักศึกษาหลายคนที่หนีออกนอกประเทศไปได้ ไปให้ปากคำกับ Amnesty International ซึ่งเป็นองค์การสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ถึงความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในค่ายทหาร จนสุดท้ายก็เกิดการเรียกร้องให้มีการไต่สวนเรื่องนี้ และประเทศที่โดนเพ่งเล็งมากที่สุดก็หนีไม่พ้นประเทศฝรั่งเศสอีกนั่นเอง
1
ประธานาธิบดี Giscard จึงต้องรับบทเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดการไต่สวนขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า Bokassa ย่อมที่จะปฏิเสธ แต่ Giscard ก็งัดไม้ตายไม้เดิมคือ ถ้าไม่ยอมเข้ารับการไต่สวน จักรวรรดิแอฟริกากลางก็จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือใดใดจากฝรั่งเศสอีก
สุดท้าย Bokassa ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวน และให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยเขาบอกว่าทุกคนล้วนแล้วแต่โกหก หรือไม่ก็พูดเกินความเป็นจริงทั้งนั้น
Jean-Bédel Bokassa ต้องยอมรับการไต่สวนจาก Amnesty International (https://www.thefamouspeople.com)
ในขณะที่การไต่สวนกำลังดำเนินไปนั้น คนในคณะรัฐบาลเริ่มที่จะรู้ตัวแล้วว่าจักรพรรดิของพวกเขา ไม่น่าจะสามารถรอดจากข้อกล่าวหาต่าง ๆ ได้ และเริ่มตีตัวออกห่าง โดยหันไปเข้าร่วมกับกลุ่มที่สนับสนุนการปฏิวัติ โดยเฉพาะ David Dacko ซึ่งหนีไปอยู่ที่ฝรั่งเศส
1
Bokassa โกรธมากที่คนในบัญชาของเขาเริ่มตีตนออกห่าง แต่เขาก็ยังมั่นใจว่าจักรวรรดิของเขาจะยังสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ตราบใดที่ตัวเขายังไม่โดนโค่นอำนาจลง
แต่สุดท้ายหลังการไต่สวนสิ้นสุดลง รายงานเล่มหนาถูกนำเสนอต่อศาล ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่าจักรพรรดิ Bokassa มีความผิดจริง โดยมีส่วนรู้เห็นในการจับกุมทรมานนักเรียน และยังได้ทำร้ายนักเรียนบางคนจนเสียชีวิตอีกด้วย ซึ่งแค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำให้ Giscard และเหล่านานาประเทศ บอกให้ Bokassa สละอำนาจ ซึงแน่นอนว่า Bokassa ก็ย่อมที่จะไม่ทำตาม
รูปปั้นของ Bokassa ที่โดนทำลาย (https://static.dw.com)
ในเมื่อ Bokassa ไม่ยอมลงจากอำนาจด้วยตนเอง ก็เห็นทีที่จะถึงคราของฝรั่งเศสจะต้องลงมือปลดตัวเขาด้วยกำลังแทน เริ่มจากการตัดเงินช่วยเหลือทั้งหมดก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นก็เริ่มวางแผนปฏิบัติการ Barracuda ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่จะล้มอำนาจของ Bokassa และสถาปนา David Dacko ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทน และนำพาจักรวรรดิแอฟริกากลาง ให้กลายมาเป็นสาธารณรัฐแอฟริกากลางอีกครั้ง มีการส่งสารไปยังผู้นำของประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกาที่เป็นพันธมิตรกับ Bokassa ว่าขอให้อย่าเข้ามายุ่งเกี่ยวในปฏิบัติการครั้งนี้ ซึ่งทุกคนก็ยอมทำตามโดยดี เพราะต่างก็รับไม่ได้กับความบ้าคลั่งของ Bokassa มาถึงตอนนี้จักรพรรดิ Bokassa ก็ไม่มีพันธมิตรใดใดหลงเหลืออีกแล้ว
ทหารฝรั่งเศสที่ถูกส่งเข้ามาร่วมในปฏิบัติการ Barracuda ในปี 1979 (https://www.alat.fr/photos-barracuda.html)
Bokassa ที่อยู่ในสภาพถังแตก ไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร หันซ้ายหันขวาอยู่ซักพัก แล้วตัดสินใจหันกลับไปพึ่งคนที่เขาเคยทรยศมากก่อนอย่าง Muammar Gadaffi ซึ่ง Gadaffi เองแม้จะคับแค้นใจแค่ไหน ก็ยอมที่จะให้เงินกู้เพื่อแลกกับการตั้งฐานทัพทางการทหาร และการซื้อยูเรเนี่ยมและเพชรในราคาถูก
Bokassa เดินทางไปลิเบียเพื่อเจรจาตกลงสัญญาเงินกู้ในเดือนกันยายน 1979 และทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี แต่หารู้ไม่ว่าเมื่อเครื่องบินของ Bokassa ออกเดินทางจากสนามบินใน Bangui นายกรัฐมนตรี (ผู้ซึ่งฝรั่งเศสสัญญาว่าจะมอบตำแหน่างรองประธานาธิบดีให้ถ้าปฏิบัติการสำเร็จ) ก็โทรหาฝรั่งเศส เพื่อเริ่มปฏิบัติการ Barracuda ทันที และเมื่อทหารของฝรั่งเศสเข้าบุกยึดกรุง Bangui ทหารของ Bokassa ซึ่งแทบจะไม่มีอาวุธที่ทันสมัยและไม่ได้รับการฝึกฝนใดใด ก็ยอมแพ้อย่างง่ายดาย
ทหารในปฏิบัติการ Barracuda (Source: Twitter)
วันนั้น Bokassa เข้านอนด้วยความชื่นมื่น ในที่สุด เขาก็มีเงินมาใช้จ่ายอีกครั้ง จักรวรรดิของเขาจะต้องกลับมายิ่งใหญ่แน่นอน แต่ตอนตีสองครึ่ง วันที่ 21 กันยายน 1979 Bokassa ถูกปลุกขึ้นมาจากที่นอนของเขาที่โรงแรมในลิเบียกับข่าวที่ว่า David Dacko และกองทัพฝรั่งเศส ได้เข้ายึดเมืองหลวง Bangui เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จักรวรรดิแอฟริกากลางของ Bokassa ที่มีอายุไม่ถึง 2 ปี ก็ถึงคราวอวสาน และคราวนี้ก็เป็นอีกครั้งที่ Dacko ห้ามไม่ให้ Bokassa เดินทางกลับมายังแอฟริกากลาง
ภาพถ่ายทางอากาศที่ใช้ในปฏิบัติการ Barracuda ด้านขวาสุดคือที่พำนักของประธานาธิบดี (https://www.alat.fr/photos-barracuda.html)
Bokassa ตัดสินใจเดินทางไปฝรั่งเศสแทน เพราะหวังว่าประธานาธิบดี Giscard อาจจะหลงเหลือความเป็น “สหายเก่า” ไว้บ้าง แต่เมื่อเครื่องบินร่อนลงแตะรันเวย์ที่ฝรั่งเศส เครื่องบินของเขาถูกตำรวจล้อมรอบ พร้อมกับคำสั่งไม่ให้ Bokassa ลงจากเครื่องบินโดยเด็ดขาด ในที่สุดประเทศที่เขาเคยชื่นชมมาโดยตลอดก็ทอดทิ้งเขาอย่างไม่ไยดี Bokassa ใช้เวลาพยายามหาประเทศที่พอจะให้เขาลี้ภัยได้ แต่แม้แต่ลิเบีย ที่ที่ Bokassa เพิ่งไปเจรจาสัมพันธไมตรีมา ก็รัปฏิเสธที่จะรับตัว Bokassa ในฐานะผู้ลี้ภัย
ผ่านไป 3 วัน ในที่สุดประธานาธิบดี Félix Houphouët-Boigny ของประเทศโกดติวัร์ก็ยอมให้ Bokassa ลี้ภัยได้ เขามีชีวิตที่สุขสบาย อาศัยในแมนชั่น และได้รับเชิญไปงานเลี้ยงมากมายที่ถูกจัดขึ้น โดยมีข้อแม้คือเขาจะต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองใดใดในสาธารณรัฐแอฟริกากลางอีก
และเหมือนจะเป็นการแก้แค้นของ Bokassa ต่อประธานาธิบดี Giscard ในเดือนตุลาคม 1979 สื่อฝรั่งเศสค้นพบหลักฐานที่บอกว่า Bokassa ได้ให้เพชรสองเม็ดกับ Giscard ซึ่งถือเป็นการติดสินบนอย่างร้ายแรงและผิดกฎหมายของฝรั่งเศส เหตุการณ์อื้อฉาวนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า The Diamond Affair และเป็นสาเหตุให้ Giscard ไม่ได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2
Poster โจมตีประธาธิบดี Giscard ว่าเขารับสินบนเป็นเพชรจาก Bokassa (https://www.archyde.com/valery-giscard-destaing-and-the-poison-of-diamonds-from-bokassa/)
ในช่วงที่โดนเนรเทศนั้น ทรัพย์สินทั้งหมดของ Bokasssa ก็ถูกยึด ทั้งพระราชวังหลวง อสังหาต่าง ๆ ในต่างประเทศ มีการค้นพบเงินสด และอัญมณีล้ำค่ามูลค่ารวมกว่า 125 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ มีการค้นพบชิ้นส่วนของมนุษย์ในตู้เย็นของ Bokassa
1
มีการเล่นข่าวนี้กันอย่างกว้างขวาง ว่า Bokassa เป็น Cannibalism หรือเป็นพวกชอบกินเนื้อมนุษย์ และมีการบอกด้วยว่าเขามักจะเสริฟเนื้อมนุษย์ให้กับแขกบ้านแขกเมือง รวมถึงแขกที่มาเข้าร่วมงานพระราชพิธีสถาปนาในครั้งนั้นด้วย และหลังจากการค้นพบชิ้นส่วนมนุษย์ในตู้เย็น มีการค้นพบหลุมศพหลายแห่งที่มีศพหลายศพกองอยู่ในหลุมเดียวกันในค่ายทหารต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงกระดูกมนุษย์ในกรงสิงโตและบ่อจระเข้ ทำให้ข้อกล่าวหานี้ยิ่งดูมีความเป็นไปได้เข้าไปอีก จนในที่สุดเขาก็ถูกตั้งข้อหากินเนื้อมนุษย์
ภาพจากนิตสารทีพาดหัวเกี่ยวกับการกินมนุษย์ของ Bokassa (http://madmonarchist.blogspot.com/)
กลับสู่มาตุภูมิ
หลังจากอยู่ที่โกดติวัร์เป็นเวลา 4 ปี ในเดือนกันยายน 1981 ลูกพี่ลูกน้องของเขา David Dacko ก็โดนรัฐประหารโดยกองทัพ และ André Kolingba กลายมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ ในเมื่อขั้วทางการเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว Bokassa จึงคิดจะใช้โอกาสนี้ในการเดินทางกลับมาตุภูมิ เริ่มจากการเดินทางไปฝรั่งเศสเป็นการชั่วคราวก่อน เพื่อที่จะเตรียมการกลับประเทศ
แต่แทนที่จะเป็นอย่างที่หวัง Kolingba ไม่อนุญาตให้ Bokassa เดินทางกลับ เพราะเกรงว่ากลุ่มผู้สนับสนุนของเขาจะก่อความวุ่นวายขึ้น ดังนั้น Bokassa ต้องอาศัยอยู่ที่ชานเมืองกรุงปารีสเป็นเวลายาวนานถึง 5 ปี ซึ่งเป็น 5 ปีที่รัฐบาลฝรั่งเศสรู้สึกอับอายเป็นอย่างมาก เนื่องจากนิสัยของ Bokassa ที่มักจะทำอะไรไม่เกรงใจใคร
André Kolingba ผู้ทำรัฐประหาร Dacko และสั่งให้มีการไต่สวน Jean-Bédel Bokassa (https://historica.fandom.com/)
5 ปีผ่านไป สุดท้าย Bokassa ก็แอบติดต่อกับผู้สนับสนุนในแอฟริกากลาง และลักลอบหนีออกมาจากฝรั่งเศสเพื่อกลับสู่บ้านเกิดได้ในที่สุด
วันที่ 23 ตุลาคม 1986 เครื่องบินของ Bokassa ลงจอดที่สนามบิน Bangui เขาหวังว่าจะได้พบกับการต้อนรับยิ่งใหญ่สมฐานะ ที่เขาเคยเป็นถึงจักรพรรดิของประเทศนี้ แต่ปรากฏว่าที่สนามบินกลับว่างเปล่า ไม่มีการต้อนรับ ไม่มีพิธีการใดใดทั้งสิ้น แต่พอเขาเดินออกมาจากสนามบิน เริ่มมีคนสังเกตและจำ Bokassa ได้ พร้อมกับตะโกนว่า “The boss is back !” จากนั้นคนมากมายก็ต่างเข้ามาห้อมล้อมและแสดงความยินดีกับเขา
อย่างไรก็ตามหลังจากออกจากสนามบิน รถของ Bokassa ถูกสกัดโดยตำรวจ และ Bokassa ก็ถูกจับไปขังในค่ายทหารทันที อิสรภาพของเขาหมดลงหลังจากออกจากสนามบินเพียง 90 นาทีเท่านั้น และ Kolingba ก็ตัดสินใจให้มีการไต่สวนความผิดของเขาขึ้น
ที่น่าสนใจคือการไต่สวนครั้งนี้ไม่ได้ทำโดยศาลทหาร แต่เป็นศาลยุติธรรมของประเทศจริง ๆ แถมยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมฟังการไต่สวน พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดสดอีกด้วย
วันที่ 15 ธันวาคม 1986 การไต่สวนเริ่มต้นขึ้น โดย Bokassa โดนตั้งข้อหาทั้งหมด 14 ข้อหา ทั้งฆาตกรรม คอรัปชั่น ก่อกบฏ รวมถึงข้อหากินเนื้อมนุษย์ ซึ่ง Bokassa ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
ภาพจากหนังสือพิมพ์ NY Times ตอนที่ Bokassa ต้องขึ้นรับการไต่สวนในประเทศ (Source: NYTimes)
การไต่สวนเป็นไปอย่างเข้มข้น กินเวลายาวนาน มีพยานมากมายถูกเรียกขึ้นมาไต่สวน ทั้งคู่แข่งทางการเมืองที่เคยโดน Bokassa จับไปทรมาน ไปจนถึงนางพยาบาลที่ขึ้นให้การว่า Bokassa สั่งให้คนฉีดยาพิษให้กับทารกที่เพิ่งคลอดบางคน ที่เป็นลูกของคู่แข่งทางการเมืองของเขา
1
พอมาถึงคิวของนักศึกษา หลายคนขึ้นให้การถึงเหตุการณ์จับกุมนักเรียนที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน ปี 1979 หลายคนให้การว่าพวกเขาคือผู้รอดชีวิตเพียงไม่กี่คนจากเด็กประมาณ 180 คนที่โดนจับเข้าค่ายทหารในวันนั้น และ Bokassa ก็เป็นผู้ลงมือทุบตีเด็ก ๆ และฟาดกะโหลกของเด็กบางคนด้วยไม้เท้าของเขาเอง
สุดท้ายในเดือนมิถุนายน 1987 Bokassa ถูกตัดสินว่ามีความผิดในทุกข้อหา รวมถึงข้อหาฆาตกรรมเยาวชน แต่ข้อหากินเนื้อมนุษย์ที่หลาย ๆ คนตั้งหน้าตั้งตารอนั้น เขาถูกตัดสินว่าไม่มีความผิดเนื่องจากหลักฐานที่ไม่เพียงพอ
โทษของ Bokassa คือการประหารชีวิตด้วยการถูกยิงทิ้ง แต่สุดท้ายเขาได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทน และอิสรภาพของเขาก็หมดลงด้วยคำตัดสินนั้นนั่นเอง
Jean-Bédel Bokassa กับหนังสืออัตชีวประวัติของตนเอง ช่วงที่ลี้ภัยในฝรั่งเศส (Source: Wikiwand)
อย่างไรก็ตามในปี 1993 มีการอภัยโทษนักโทษหลายคน หลังจากที่ประเทศกลับมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง และ Bokassa เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น เขาถูกปล่อยตัวออกจากคุก และไปอาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็ก ๆ แถบชานเมือง ว่ากันว่าเขาแทบจะไม่มีเงินใช้ เขาใช้ชีวิตอยู่ไปวัน ๆ และต้องอาศัยเงินจากลูกหลานของเขาที่ส่งมาให้เท่านั้น
หลังออกมาจากคุก เขายังคงเขียนจดหมายโดยใช้หัวกระดาษที่มีสัญลักษณ์ของจักรวรรดิแอฟริกากลางอยู่ และไปไหนมาไหน ในชุดเครื่องแบบทหารเต็มยศ ที่ประดับประดาไปด้วยเหรียญต่าง ๆ มากมาย และกลายเป็นคนที่มีอาการล่องลอย ลักษณะเหมือนกับอยู่ในโลกของตนเองตลอดเวลา เขามักจะบอกกับคนอื่นเสมอว่าเขาคือสาวกคนที่ 13 ของพระผู้เป็นเจ้า และมักจะเดินทางไปประชุมลับ ๆ กับพระสันตะปาปาบ่อย ๆ จนสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน 1996 Jean-Bédel Bokassa หรือจักรพรรดิ Bokassa ที่ 1 ก็เสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวายในวัย 75 ปี ปิดฉากชีวิตสุดโลดโผนของจักรพรรดิองค์สุดท้ายของแอฟริกา
Jean-Bédel Bokassa ตอนแก่ (https://www.thefamouspeople.com)
อวยยศอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามในปี 2010 ประธานาธิบดี François Bozizé ได้ประกาศลบล้างความผิดทุกอย่างที่ Bokassa เคยทำ และเขาได้รับการยกย่องจากนักการเมืองมากมายให้เป็นตัวอย่างของคนที่มีความรักชาติ แต่ไม่ว่าคนในแอฟริกากลางจะคิดยังไงสำหรับคนส่วนใหญ่ทั่วโลกแล้ว Jean-Bédel Bokassa ก็ยังคนเป็นคนบ้าอำนาจ สติไม่ดี ที่ใช้เงิน 1 ใน 3 ของประเทศสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นจักรพรรดิอยู่ดี
ส่วนพระราชวังที่เคยสร้างในสมัยที่ Bokassa เป็นจักรพรรดินั้น ตอนนี้กลายมาเป็นพระราชวังร้างที่ไม่ได้ใช้งาน แม้จะมีการดูแลบ้างจากรัฐบาล แต่ก็เต็มไปด้วยแกง
ค์อันธพาลที่มักใช้เป็นแหล่งซ่องสุม
แกงค์อันธพาลที่ตอนนี้มีหน้าที่ดูแลพระราชวังของ Jean-Bédel Bokassa (https://www.jeuneafrique.com/)
จากเด็กกำพร้า สู่ทหาร สู่ประธานาธิบดี และก้าวขึ้นสู่การเป็นจักรพรรดิ Jean-Bédel Bokassa ถือเป็นผู้นำแอฟริกาในยุคหลังได้รับเอกราชที่เรียกได้ว่าบ้าอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งเลยทีเดียว ถึงแม้ผู้นำหลายคนจะบริหารประเทศได้ยับเยิน เสียหายมากขนาดไหน แต่ก็ไม่มีใครที่คิดจะสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นจักรพรรดิ แต่สิ่งที่เขาแตกต่างจากผู้นำส่วนใหญ่คือ ตลอดช่วงเวลาการปกครองแอฟริกากลางกว่า 14 ปีนั้น มีคนเสียชีวิตจากการประท้วง การต่อสู้ การก่อรัฐประหารไม่ถึง 600 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับผู้นำคนอื่นของแอฟริกา
พระราชวังของ Jean-Bédel Bokassa ที่อยู่ในสภาพรกร้าง (Source: bbc)
ส่วนสิ่งที่เขาเหมือนกับผู้นำคนอื่นก็คือ การกอบโกยผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้ตนเองและพรรคพวก ซึ่งล้วนแต่นำมาซึ่งความทุกข์ของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศที่พังพินาศ ผลจากการบริหารงานของเขาทำให้ประเทศที่ควรจะได้รับการพัฒนาจากเงินมากมายที่ได้มาจากการค้ายูเรเนี่ยม และเพชร กลับยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกมาจนถึงทุกวันนี้
จบลงไปแล้วนะครับกับเรื่องราวของ Jean-Bédel Bokassa บทความนี้ใช้เวลาเขียนนานมาก ผมหวังว่าทุกคนจะชอบกันนะครับ และน่าจะได้รับรู้เรื่องราวของบุคคลที่น่าสนใจอีกคนหนึ่ง ครั้งหน้า Kang's Journal จะพาไปรู้จักกับบุคคลดังคนไหนอีก รอติดตามกันนะครับ :)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา