20 มี.ค. 2021 เวลา 00:30 • ประวัติศาสตร์
Jean-Bédel Bokassa : จักรพรรดิองค์สุดท้ายของแอฟริกา ตอนที่ 1
ลองนึกภาพตามว่าคุณไปงานเลี้ยงหรูหราอลังการณ์งานหนึ่ง บริเวณงานถูกประดับประด้วยโคมไฟระย้าราคาแพง เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นล้วนถูกคัดสรรมาอย่างดี อาหารที่เสริฟล้วนแต่รังสรรค์มาจากวัตถุดิบชั้นดีที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งไข่ปลาคาเวียร์ แชมเปญ และไวน์ชั้นยอด แขกทุกคนแต่งตัวด้วยชุดที่ตัดเย็บด้วยวัสดุที่ดีที่สุด ผู้หญิงในงานต่างสวมใส่เครื่องเพชรและอัญมณีราคาแพงระยับ
คุณคือผู้โชคดีที่ได้นั่งข้างเจ้าภาพของงาน ซึ่งเป็นถึงจักรพรรดิในของอาณาจักรของพระองค์ ในขณะที่คุณกำลังลิ้มรสอาหารอย่างเอร็ดอร่อยนั่นเอง พระองค์ที่นั่งข้าง ๆ คุณก็ค่อย ๆ โน้มตัวลงมาเพื่อจะพูดบางอย่างกับคุณ คุณจึงหันไปฟังด้วยความตั้งใจ ทันใดนั้นพระองค์ก็กระซิบเบา ๆ ข้างหูคุณว่า “คุณไม่มีทางรู้แน่ ๆ ว่าที่คุณเพิ่งกินเข้าไปหนะ คือเนื้อมนุษย์นะ” คุณฟังแล้วก็ได้แต่นิ่งอึ้งไป คำถามคือแล้วคุณจะทำยังไงต่อดี
สวัสดีครับทุกคน วันนี้ Kang’s Journal อยากจะพาทุกคนไปรู้จักกับบุคคล ๆ หนึ่งที่สถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นจักรพรรดิองค์แรกและองค์เดียวของจักรวรรดิแอฟริกากลาง (Central Africa Empire) ที่ในปัจจุบันคือสาธารณรัฐแอฟริกากลาง (Central African Republic) งานพระราชพิธีราชาภิเษกของพระองค์ทำให้อาณาจักรของพระองค์แทบล้มละลาย และในช่วงระยะเวลาที่พระองค์ปกครองประเทศนั้น มีเรื่องราวที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย นี่คือเรื่องราวของ Jean-Bédel Bokassa จักรพรรดิองค์สุดท้ายของแอฟริกา
เหมือนเดิมครับ ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับสาธารณรัฐแอฟริกากลางกันซักเล็กน้อย
สาธารณรัฐแอฟริกากลางเป็นประเทศที่อยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตรใจกลางทวีปแอฟริกาสมชื่อ เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล มีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยเล็กน้อย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มน้ำ สามารถทำการเพาะปลูกได้เป็นอย่างดี และมีแร่ที่มีมูลค่าสูงมากมายใต้พื้นดินทั้งเพชร ยูเรเนี่ยม ทอง รวมไปถึงน้ำมันดิบ โดยเฉพาะเพชรซึ่งในปี 2018 อุตสาหกรรมเพชรมีมูลค่าคิดเป็น 57% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศแห่งนี้
แผนที่ของสาธารณรัฐแอฟริกากลาง สังเกตได้ว่ามีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน (https://www.britannica.com/place/Central-African-Republic)
ในช่วงศตวรรษที่ 19 แอฟริกากลางกลายมาเป็นอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส โดยมีชื่อในขณะนั้นว่าดินแดน Ubangi-Shari และได้รับเอกราชในปี 1960 จากนั้นประเทศก็อยู่ในความวุ่นวายทางการเมืองมาโดยตลอด เริ่มจากการปกครองแบบเผด็จการ สู่การปกครองแบบจักรวรรดิ แล้วกลับมาเป็นเผด็จการอีกครั้ง จนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตย และตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ประเทศก็ยังมีสงครามกลางเมืองต่อเนื่องเรื่อยมาอย่างไม่สิ้นสุด ในปัจจุบันหลายส่วนของประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มกบฏ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็ทำให้แม้จะมีทรัพยากรธรรมชาติที่เพียบพร้อม สาธารณรัฐแอฟริกากลางกลับเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ นอกเมืองหลวงนั้นเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีเลย
ที่น่าตกใจมากไปกว่านั้นคือ สาธารณรัฐแอฟริกากลางอยู่อันดับ 2 จากสุดท้ายคืออันดับ 188 จาก 189 ในเรื่องของ Human Development Index หรือดัชนีการพัฒนามนุษย์ ซึ่งวัดเรื่องความคาดหมายในการดำรงชีพ การศึกษา และรายได้ต่อหัวของประชากร นอกจากนี้จากการศึกษาของ UN สาธารณรัฐแอฟริกากลางถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่คนมีสุขภาพในการดำรงชีวิตย่ำแย่ที่สุด และเป็นประเทศที่แย่ที่สุดในการใช้ชีวิตสำหรับวัยรุ่น
กรุง Bangui (อ่านว่า บัง-กี) เมืองหลวงของสาธารณรัฐแอฟริกากลาง (https://qz.com/africa)
ฟังดูแล้วเลวร้ายมากเลยใช่มั้ยครับสำหรับประเทศนี้ แต่เท่าที่ผมไปอ่านมาจากคนที่เคยไปสัมผัสประเทศนี้มา หลายคนบอกว่าเที่ยวยาก การเดินทางลำบาก แต่คนพื้นเมืองนั้นเป็นมิตรไมตรีกับคนต่างชาติมาก และหนึ่งในบุคคลที่ชาวแอฟริกากลางพูดถึงมากที่สุดก็คือ Jean-Bédel Bokassa ที่ผมอยากจะเขียนถึงนั่นเอง
ชีวิตวัยเด็ก
Bokassa เกิดวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1921 ที่เมือง Bobangui ในเขตปกครอง Ubangi-Shari ส่วนหนึ่งของดินแดน French Equatorial Africa ซึ่งอยู่ในอาณานิคมของฝรั่งเศสที่รวบรวมดินแดนต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณแอฟริกากลางมาไว้ด้วยกัน
เขาเกิดมาในครอบครัวใหญ่ที่มีพี่น้องมากถึง 12 คน พ่อของเขามีชื่อว่า Mingodon Bokassa มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหมู่บ้านและทำงานให้กับกรมป่าไม้ของฝรั่งเศส ส่วนแม่ชื่อว่า Marie Yokowo
ดินแดน French Equatorial Africa (https://stampaday.wordpress.com/)
ในช่วงเวลาที่ Bokassa เกิดนั้น เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสมีการใช้แรงงานชนพื้นเมืองอย่างหนักเยี่ยงทาส ทุกคนจะต้องถูกกำหนดโควต้า เพื่อมาทำงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับมอบหมายเช่น เหมืองแร่ ตัดไม้ ปลูกพืช เป็นเวลาอย่างน้อย 60-90 วันต่อปี โดยห้ามมีการปฏิเสธใดใดทั้งสิ้น
ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ ลูกและภรรยาของแรงงานเหล่านั้นจะถูกขังไว้ในที่กักขัง เพื่อที่บรรดาผู้ชายที่โดนใช้แรงงานจะไม่หนีงาน และทำงานได้ตามโควต้าที่ถูกกำหนด ใครทำไม่ได้ก็จะต้องถูกลงโทษอย่างทารุณ
ค่ายทหารใน Ubangi-Shari หนึ่งในสถานที่ที่คนพื้นเมืองถูกเกณฑ์มาทำงาน (https://historysshadow.wordpress.com/)
พ่อของ Bokassa ในฐานะหัวหน้าหมู่บ้าน และผู้รับผิดชอบงานของกรมป่าไม้ มีหน้าที่ในการจัดหาแรงงานให้กับเจ้าอาณานิคม แต่อยู่มาวันหนึ่งมีนักบุญท้องถิ่นนามว่า Karnu ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองที่มีคนเคารพมากมาย เริ่มที่จะต่อต้านการกระทำอันโหดร้ายทารุณนี้ และมีการริเริ่มแคมเปญให้พยายามทำลายระบบแบบนี้ทิ้งไป ซึ่งพ่อของ Bokassa ก็เชื่อแบบนั้น เขาจึงได้ทำการปล่อยตัวลูกและภรรยาของเหล่าผู้ใช้แรงงานให้เป็นอิสระ
1
แน่นอนเมื่อเจ้านายชาวฝรั่งเศสของเขารู้เข้า Mindogon ก็เลยโดนจับในข้อหาก่อกบฏ และบทลงโทษของเขาก็คือการโดนแซ่ฟาด และทุบตีจนเสียชีวิต ในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ่อของเขาได้รับบทลงโทษนั้นและเสียชีวิตลงด้วยความทุกข์ทรมาน และราวกับยังโชคร้ายไม่พอ แม่ของเขาเมื่อได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของสามีตนเอง ก็ทนความโศกเศร้าไม่ไหว และฆ่าตัวตายตามไป ทำให้ Bokassa และพี่น้องอีก 12 คน กลายมาเป็นเด็กกำพร้าทันที
ภาพชาวฝรั่งเศสช่วงที่ปกครองดินแดน Ubangi-Shari (https://www.abebooks.com/)
ยังดีที่ Bokassa มีญาติรับไปเลี้ยงดู เขาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนที่สอนหนังสือแบบตะวันตกอย่าง École Sainte-Jeanne d'Arc ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส และเนื่องจากเขาเป็นลูกกำพร้าและตัวเตี้ย Bokassa จึงมักถูกเพื่อน ๆ รังแกเสมอ แต่น่าแปลกที่การถูกรังแกนี่เองที่ทำให้ Bokasssa กลายมาเป็นคนแข็งแกร่ง และเริ่มมีความคิดที่ว่า ไม่มีใครจะช่วยเขาได้ นอกจากตัวเขาเอง และถ้าอยากจะให้่คนมาเคารพนับถือ ก็ต้องมีอำนาจในมือ
1
ในขณะที่เรียนอยู่นั้น Bokassa ชอบหนังสือไวยากรณ์ภาษาฝรั่งเศสเล่มหนึ่งมาก และผู้เขียนหนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า Jean-Bédel ครูที่โรงเรียนก็เลยเรียก Bokassa ว่า Jean-Bédel และชื่อนี้ก็กลายมาเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของเขาในเวลาต่อมา ซ฿่งนั่นก็คือ Jean-Bédel Bokassa
จากนั้น Bokassa ก็เข้าเรียนต่อในโรงเรียนมัธยม ที่นี่หัวหน้าบาทหลวงพยายามที่จะแนะนำอาชีพนักบวชให้กับเขา แต่สุดท้ายเขาก็เห็นว่า Bokassa ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ ซึ่งจริง ๆ ถ้า Bokassa ตัดสินใจมาเป็นนักบวช ก็อาจจะเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐแอฟริกากลางจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยก็ได้
เมื่อเรียนจบ Bokassa นั่งครุ่นคิดว่าจะทำยังไงต่อกับชีวิตดี และด้วยความที่เขาเป็นคนแข็งแกร่ง และเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก เขาจึงตัดสินใจสมัครงานที่จะทำให้เขาได้พิสูจน์ความแข็งแกร่งของตัวเอง ดังนั้น Bokassa จึงสมัครเป็นทหารในกองทัพ French Colonial Troops ในปี 1939 ซึ่งเป็นกองทัพที่จะประกอบไปด้วยชาวพื้นเมืองจากอาณานิคมของฝรั่งเศส โดยมีตำแหน่งเป็นทหารราบ
Jean-Bédel Bokassa ตอนวัยรุ่น (Source: wikipedia)
ชีวิตในกองทัพ
ชีวิตในกองทัพของ Bokassa ถือว่าน่าสนใจมาก เพราะด้วยความที่เขายังอยู่ในช่วงวัยรุ่น สิ่งที่เข้าได้พบเจอ จะเป็นตัวบ่มเพาะนิสัยของเขาในอนาคต และในกรณีของ Bokassa ชีวิตทหารคือสิ่งที่เขาใฝ่ฝันมาโดยตลอด และเขาก็ทำได้ไม่เลวเลยทีเดียว
เริ่มจากการที่ Bokassa ได้รับการเลื่อนยศขึ้นมาเป็นสิบโทในปี 1940 แต่สิ่งที่ทำให้เขาโดดเด่นขึ้นมาแซงหน้าคนอื่นคือความกล้าหาญของเขาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ในช่วงแรกของสงคราม ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต่อกองทัพนาซีเยอรมัน ประธานาธิบดี Charles De Gaulle ต้องหนีไปอยู่ที่ลอนดอน ในขณะที่ตัวนาซีเองก็แต่งตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดขึ้นมาในฝรั่งเศส ที่เรียกชื่อว่า Vichy Government ซึ่งมีหน้าที่ปกครองฝรั่งเศสในนามของนาซี รวมไปถึงดินแดนในอาณานิคมด้วย
กองทัพนาซีเยอรมัน เข้ายึดกรุงปารีสได้ในปี 1940 และจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดขึ้น (https://www.frommers.com)
ในช่วงเวลานั้น Charles De Gaulle พยายามเรียกร้องให้มีการโจมตีรัฐบาล Vichy ทั้งในและนอกประเทศ ผลปรากฏคือมีเพียงกองกำลังของ Bokassa เพียงกองเดียวเท่านั้น ที่เป็นกองกำลังของฝรั่งเศสในดินแดนโพ้นทะเล ที่ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาล Vichy จนสามารถล้มรัฐบาลนี้ที่เมือง Brazzaville ใน French Congo ได้สำเร็จ (แต่รัฐบาล Vichy ที่ฝรั่งเศส ก็ยังคงปกครองดินแดนอื่น ๆ ต่อไป) และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ Charles De Gaulle ได้ยินชื่อของชาวแอฟริกันนามว่า Bokassa และในอนาคตความสัมพันธ์ของทั้งสองจะมีผลอย่างมากต่อโชคชะตาของสาธารณรัฐแอฟริกากลาง
จากความดีความชอบนี้เอง ทำให้ Bokassa ได้รับเลือกให้เข้าร่วมกับกองทัพฝรั่งเศสในการต่อสู้กับกองทัพนาซี และมีส่วนร่วมในปฏิบัติการ Dragoon ซึ่งเป็นหนึ่งในปฏิบัติการที่พลิกโฉมหน้าของสงคราม เพราะเป็นสงครามที่ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถยกพลขึ้นบก และยึดเอาท่าเรือที่สำคัญทางตอนใต้ของฝรั่งเศสกลับมาจากการครอบครองของนาซีได้สำเร็จ
ปฏิบัติการ Dragoon ที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกทางตอนใต้ของฝรั่งเศส และสามารถยึดพื้นที่คืนมาได้สำเร็จ ซึ่ง Bokassa มีส่วนร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ (https://www.nationalww2museum.org/)
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 Bokassa ได้รับทุนการศึกษาให้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนทหารของฝรั่งเศส โดยศึกษาด้านวิทยุสื่อสาร
จากนั้นด้วยความสามารถและทะเยอทะยาน Bokassa ได้รับทุนจากกองทัพอีกครั้งให้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยที่ประเทศเซเนกัล และในเดือนกันยายน 1950 เขาถูกส่งไปรบในสงครามอินโดจีนที่ประเทศเวียดนาม โดยทำหน้าที่เป็นทหารสื่อสาร และประจำอยู่ที่เวียดนามเป็นเวลานานถึง 3 ปี
Jean-Bédel Bokassa สมัยเข้าร่วมรบในสงครามเวียดนาม (https://thestrip.ru/en/smoky-eyes/zhan-bedel-bokassa-prezident-imperator-lyudoed-samyi-zhestokii/)
ในช่วงเวลาที่ประจำการที่เวียดนามนั้น Bokassa ได้แต่งงานของสาวชาวเวียดนามอายุ 17 ปีนามว่า Nguyễn Thị Huệ. และมีลูกสาวด้วยกัน 1 คน แต่ไม่นานนักเขาก็ถูกเรียกตัวกลับไปประเทศฝรั่งเศส และทิ้งภรรยาและลูกสาวไว้ โดยหวังว่าวันหนึ่งจะได้กลับมาที่เวียดนามอีก ซึ่งแน่นอนว่าเขาไม่ได้กลับมาอีกเลย เพราะสุดท้ายเวียดนามก็ได้รับเอกราช แต่เรื่องราวกลับไม่จบแค่นั้น ในอนาคตเรื่องของลูกสาวชาวเวียดนามของเขา จะตามมาหลอกหลอน Bokassa อีกครั้ง จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับแอฟริกากลางเกือบจะต้องขาดสะบั้นลง
Bokassa ปฏิบัติหน้าที่ของเขาเป็นอย่างดี จนได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ Legion d’honeuer ซึ่งถือเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของฝรั่งเศส รวมถึงเหรียญกล้าหาญ ซึ่งตัวเขาเองภาคภูมิใจมาก ในที่สุดเด็กกำพร้าที่เคยถูกรังแกและล้อเลียนจากเพื่อน ๆ ก็สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ถึงความแข็งแกร่ง และความสามารถที่ขนาดเจ้าอาณานิคมยังต้องยอมรับ แต่นอกจากเครื่องอิสริยาภรณ์และคำชมเชยนั้น สิ่งที่ Bokassa ได้มาเพิ่มเติมคืออีโก้ และความหลงใหลในอำนาจนั่นเอง
2
เครื่องอิสริยาภรณ์ Legion d’honeuer ที่ Bokassa ได้รับจากรัฐบาลฝรั่งเศส (https://www.awardmedals.com)
กลับสู่มาตุภูมิ
หลังจากกลับไปฝรั่งเศส Bokassa กลายมาเป็นครูสอนวิชาสื่อสารในกรมทหารของฝรั่งเศส และได้รับเลื่อนยศขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นร้อยตรี และในที่สุดในปี 1959 หลังจากที่จากบ้านเกิดเมืองนอนมากว่า 20 ปี เขาถูกโยกให้ไปประจำอยู่ที่เมือง Bangui เมืองหลวงของดินแดน Ubangi-Shari บ้านเกิดของเขานั่นเอง และ 1 ปีต่อมาในเดือนสิงหาคม 1960 ดินแดน Ubangi-Shari ก็ได้รับเอกราชกลายมาเป็นสาธารณรัฐแอฟริกากลาง
หลังจากได้รับเอกราช บุคคลที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของประเทศคือ David Dacko หัวหน้าพรรค MESAN (Movement for the evolution of black African) และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เขาเป็นลูกพี่ลูกน้องของ Bokassa ซึ่งหลังจากเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน Dacko ก็เปลี่ยนประเทศเป็นระบอบเผด็จการ มีการแบนพรรคการเมืองอื่น ๆ จับกุมศัตรูทางการเมือง จนกระทั่ง MESAN กลายเป็นพรรคการเมืองเดียวของประเทศ และประชาชนทุกคนจะต้องเข้าเป็นสมาชิกของพรรค ทำให้ในปี 1964 Dacko ได้รับการโหวต 100% ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง
1
David Dacko ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐแอฟริกากลางภายหลังได้รับเอกราช (http://www.casafrica.es/es/persona/david-dacko)
อีก 2 ปีถัดมา Bokassa ลาออกจากกองทัพฝรั่งเศสที่ประจำการอยู่ในแอฟริกากลาง และเข้าประจำการในกองทัพของแอฟริกากลางแทน โดยได้รับยศเป็นพันโท ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่สูงมากในขณะนั้น
ด้วยศักดิ์ที่เป็นถึงลูกพี่ลูกน้องของ David Dacko เขาจึงได้รับหน้าที่ให้ทำการจัดตั้งกองทัพของประเทศขึ้น และภายในระยะเวลาไม่นาน เขาก็กลายมาเป็นผู้บัญชาการของกองทัพเล็ก ๆ ที่มีสมาชิกอยู่ 500 คน และเนื่องจากเขามีส่วนร่วมในการจัดตั้งกองทัพ ทำให้เขาได้เลื่อนยศอย่างรวดเร็วอีกครั้ง จนกระทั่งได้รับตำแหน่งพันเอกคนแรกของประเทศ
ยศที่สูง และตำแหน่งที่ใหญ่โต ก็จะตามมาด้วยอีโก้ที่สูงขึ้นเป็นธรรมดา ในช่วงนั้น Bokassa ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในงานสำคัญต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยง หรืองานเฉลิมฉลอง และสิ่งที่เขาจะทำทุกครั้งคือปรากฏตัวในชุดเครื่องแบบ พร้อมเหรียญประดับมากมาย แลัวนั่งลงที่ตำแหน่งด้านข้างของ David Dacko ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเสมอ ซึ่งเหตุผลเดียวที่น่าจะคิดได้คือเขาต้องการให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของเขานั่นเอง มีเรื่องเล่ากันว่า เขามักจะมีเรื่องกับคนในคณะรัฐมนตรีเสมอ เรื่องการเรียงลำดับที่นั่งที่ถูกต้อง
David Dacko (ด้านหน้า) และ Jean-Bédel Bokassa (ด้่านหลัง) โดย Bokassa มักจะ                                   ปรากฏตัวเคียงข้างกับ Dacko เสมอ                              (https://www.france24.com/)
ในช่วงเวลานั้นมีคนในกองทัพ และคณะรัฐมนตรีหลายคนเริ่มสงสัยในตัวของ Bokassa และคิดว่า Bokassa อาจจะกำลังวางแผนทำรัฐประหารอยู่เนือง ๆ แม้จะมีหลายคนที่พยายามเตือน David Dacko แต่ตัว Dacko เองกลับเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องขบขัน แถมยังได้มีการพูดต่อหน้า Bokassa ที่งานเลี้ยงครั้งหนึ่งอีกว่า “พันเอก Bokassa ก็แค่อยากได้เหรียญประดับมาอวดแค่นั่นแหละ แล้วเขาก็โง่เกินกว่าที่จะทำรัฐประหารได้” David ไม่มีวันรู้เลยว่าคำพูดของเขา ทำให้ Bokassa คับแค้นใจเป็นอย่างมาก และเป็นการจุดประกายความคิดบางอย่างในตัวของ Bokassa ขึ้น
แต่เมื่อเวลาผ่านไป สุดท้ายแล้ว Dacko เองก็เริ่มเชื่อในคำกล่าวอ้างของคนรอบข้าง ดังนั้นเพื่อเป็นการลดทอนอำนาจของ Bokassa ในกองทัพ จึงมีการเสนอตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีให้กับเขา เพราะนอกจากจะลดความเป็นไปได้ในการที่ Bokassa จะใช้กองทัพในการก่อรัฐประหารแล้ว ยังเป็นการมอบตำแหน่งอีกหนึ่งตำแหน่งให้กับ Bokassa ชายผู้ซึ่งหลงใหลในยศถาบรรดาศักดิ์ก็น่าจะพอใจ
1
Jean-Bédel Bokassa มักจะปรากฏตัวในเครื่องแบบ ที่มีเหรียญประดับมากมายอยู่เสมอ (https://www.rt.com/news/410183-five-notorious-african-rulers)
ไม้ตายสุดท้ายของประธานาธิบดี David Dacko คือการตั้งกองกำลังตำรวจขึ้น ที่ประกอบไปด้วยสมาชิก 500 คน และมีผู้บังคับบัญชาคือ Jean Izamo และกองกำลังรักษาความปลอดภัยพิเศษที่มีสมาชิกอีก 120 คน ในที่สุดกองทัพของ Bokassa ก็ต้องเจอกับกองทัพที่จะมาคานอำนาจซะแล้ว
พี่น้องแตกแยก
ในช่วงการปกครองของ David Dacko สาธารณรัฐแอฟริกลางประสบปัญหาอย่างหนักในหลาย ๆ ด้าน เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะฝืดเคืองอย่างหนัก มีการคอรัปชั่นกันอย่างแพร่หลาย ระบบราชการล้มเหลว ปัญหาการแย่งชิงดินแดนของชนกลุ่มน้อยยังมีมาอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือเงินช่วยเหลือจากฝรั่งเศสไม่เพียงพออีกต่อไป ดังนั้นภายใต้ความกดดันของพรรค และความต้องการที่จะเป็นอิสระจากฝรั่งเศส ทำให้ Dacko ตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากจีนแทน ซึ่งตอนนั้นจีนที่ปกครองโดยเหมา เจ๋อ ตุง กำลังเป็นระบอบคอมมิวนิสต์แบบเต็มที่ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าช้อคฝรั่งเศสมากทีเดียว
ประชาชนส่วนมากของสาธารณรัฐแอฟริกากลาง มีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก ในยุคของ                              ประธานาธิบดี David Dacko                            (https://www.bbc.com/news/world-africa-13150040)
จีนตัดสินใจปล่อยเงินกู้แบบไม่มีดอกเบี้ยที่มีมูลค่ามากถึง 20 ล้านฟรังค์ฝรั่งเศส เพื่อนำมาใช้พยุงเศรษฐกิจ แต่ด้วยการคอรัปชั่นที่ทำกันอย่างกว้างขวาง ทำให้เงินช่วยเหลือที่เข้ามานั้น เข้ากระเป๋านักการเมืองซะเป็นส่วนใหญ่ ว่ากันว่าตอนนี้เองที่ Bokassa เริ่มที่จะคิดถึงการก่อรัฐประหารอย่างจริงจัง เพราะตอนนี้การใช้ข้ออ้างเรื่องการขจัดปัญหาคอรัปชั่น และอิทธิพลของคอมมิวนิสต์น่าจะพอที่จะนำมาใช้ก่อรัฐประหารได้แล้ว
จากคำพูดดูถูกเหยียดหยามในงานเลี้ยงครั้งนั้น มาถึงเหตุการณ์ที่ 2 ที่สุมไฟแค้นในใจของ Bokassa ในปี 1965 Dacko มอบหมายให้ Bokassa เป็นตัวแทนของประเทศไปเฉลิมฉลองวัน Bastille หรือวันชาติฝรั่งเศสที่กรุงปารีส ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีจนกระทั่งถึงเวลาที่ Bokassa กำลังจะเดินทางกลับ
ทันที่ที่ไปถึงสนามบินที่ปารีส สิ่งที่ Bokassa ค้นพบคือเขาไม่สามารถเดินทางกลับเข้าสาธารณรัฐแอฟริกากลางได้ ! เพราะ Dacko ได้สั่งการห้ามไม่ให้ Bokassa เดินทางเข้าประเทศ การส่งเขาไปปารีสครั้งนี้คือการเนรเทศ Bokassa โดยที่เจ้าตัวเองไม่รู้เรื่องอะไรเลย แน่นอน Bokassa โกรธมาก และพยายามทำทุกวิถีทางในการหาแรงสนับสนุนจากนักการเมืองฝรั่งเศสและนานาประเทศ เพื่อกดดันให้ Dacko อนุญาตให้เขาเดินทางกลับประเทศได้
Idi Amin ผู้นำยูกันดา (ซ้าย) และ Jean-Bédel Bokassa (ขวา) กับเครื่องแบบที่เต็มไปด้วยเหรียญประดับ (Source: granger.com)
หลังจากผ่านไปสามเดือน ในเดือนตุลาคม 1965 Dacko ก็ยอมอนุญาตให้ Bokassa เดินทางเข้าประเทศได้ และเพื่อเป็นการกลบเกลื่อนความขายหน้าของเขาในครั้งนี้ Bokassa ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่าง ๆ ว่าที่เขาได้กลับประเทศนั้นเพราะ นายพล Charles De Gaulle “สหายคนสนิท” ของเขา พูดกับ Dacko ว่า “Bokassa ต้องได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับประเทศทันที ผมจะไม่ยอมให้ใครมาทำแบบนี้กับเพื่อนร่วมสนามรบของผม” แต่ลองอ่านดี ๆ คนพูดคือ Bokassa กล่าวว่า ประธานาธิบดี Charles De Gaulle พูดว่า ดังนั้นคนพูดตัวจริงคือใคร ต้องลองพิจารณากันดูเอาเอง
1
ในเมื่อไม่สามารถเนรเทศ Bokassa ได้ Dacko จึงเลือกวิธีที่จะลดทอนอำนาจของ Bokassa ในกองทัพลงไปอีก ในเดือนธันวาคม งบประมาณของกองทัพที่ Bokassa เสนอไปถูกปฏิเสธ แล้วก็ถูกโยกไปยังกองกำลังตำรวจที่ Jean Izamo เป็นผู้บังคับบัญชาแทน การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการกระทำที่ดูแคลน Bokassa เป็นอย่างมาก คนที่อำนาจคือทุกสิ่งทุกอย่างอย่าง Bokassa ย่อมที่จะยอมไม่ได้ และนี่ถือเป็นฟางเส้นสุดท้าย เขาถึงกับบอกกับเพื่อนของเขาว่า เขาจะก่อรัฐประหารอย่างแน่นอน
1
เหรียญมากมายที่ Bokassa ชอบใส่มาพร้อมกับเครื่องแบบ (https://en.wikipedia-on-ipfs.org/wiki/Jean-B%C3%A9del_Bokassa.html)
ในขณะเดียวกัน Dacko ก็วางแผนที่จะให้ Jean Izamo มารับตำแหน่งของ Bokassa แทน และวางแผนที่จะเปลี่ยนคนของ Bokassa ออกทั้งหมด แต่หารู้ไม่ว่าการกระทำต่าง ๆ ของ Dacko นั้น อยู่ในสายตาของ Bokassa ตลอดเวลา
1
มีคนมากมายที่ล่วงรู้ถึงแผนการต่าง ๆ ของ Dacko และหนึ่งในนั้นคือผู้อาวุโสในหมู่บ้าน Bobangui ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ Bokassa ซึ่งนำเรื่องนี้มาบอกกับ Bokassa ถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องรีบทำอะไรซักอย่างก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม ฺฺฺBokassa เองก็กลัวว่ากองทัพ 500 คนของเขา จะไม่สามารถต่อกรกับกองกำลังตำรวจและหน่วยรักษาความปลอดภัยพิเศษของ Dacko ที่มีจำนวนมากกว่าได้ และยังกลัวด้วยว่าฝรั่งเศสอาจจะส่งกองทัพมาช่วยเหลือ Dacko ถ้าเกิดรัฐประหารขึ้นจริง ๆ ดังนั้นเขาจึงรอคอย คอย และคอยเวลาอันเหมาะสม พร้อมกับวางแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ ไปด้วย
1
และแล้วโชคก็เข้าข้าง Bokassa เมื่อเขาได้พบกับผู้สมคบคิดที่เป็นทหารเช่นกัน คน ๆ นั้นมีนามว่า ร้อยเอก Alexandre Banza ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกรมทหาร Kassai กรมทหารขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวง
ร้อยเอก Alexandre Banza ผู้สมคบคิดกับ Bokassa ในการก่อรัฐประหาร (https://www.centrafriqueledefi.com/)
เป็นที่เลื่องลือกันว่า Banza เป็นคนฉลาด และมีความสามารถ และ เขาเองได้ตกลงเข้าร่วมในการก่อรัฐประหารกับ Bokassa ตอนนี้ Bokassa มีกองทัพ 500 คนของตนเอง รวมกันกับกองกำลังของ Banza ซึ่งทำให้จำนวนทหารน่าจะพอต่อกรกับกองกำลังของ Dacko ได้ แล้วสงครามแย่งชิงอำนาจก็เริ่มจะปะทุขึ้น
รัฐประหารวันปีใหม่
ในคืนปีใหม่ วันที่ 31 ธันวาคม 1965 การก่อรัฐประหารก็เริ่มต้นขึ้น เริ่มจากการที่ Bokassa เรียก Jean Izamo หัวหน้ากองกำลังตำรวจของ Dacko ให้มาเข้าพบเป็นการด่วน เพื่อเซ็นเอกสารบางอย่างที่ Camp De Roux ซึ่งเป็นกรมทหารขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ตอนแรก Izamo ปฏิเสธเสียงแข็ง เนื่องจากเขากำลังอยู่ในงานเลี้ยงกับเพื่อนของเขา (ก็วันสิ้นปีทั้งที) แต่สุดท้าย Izamo ก็ยอมเดินทางไปที่ Camp De Roux ในขณะเดียวกันทหารของ Banza ก็เดินทางไปยังสถานีวิทยุ Radio Bangui เพื่อทำการยึดสถานีเอาไว้
2
Camp De Roux สถานที่ที่ Jean Izamo ถูกกุมขัง ในช่วงการก่อรัฐประหารวันปีใหม่ (https://delcampe-static.net/)
เมื่อ Izamo เดินทางไปถึง เขาเดินเข้าไปในห้องที่มี Bokassa และร้อยเอก Banza รอพบอยู่ ทั้งสองบอก Izamo ง่าย ๆ ว่าขณะนี้พวกเขาทั้งสองกำลังก่อรัฐประหาร และ Izamo จะร่วมด้วยหรือไม่ แน่นอนว่า Izamo ผู้เป็นถึงผู้บังคับบัญชากองกำลังขนาดใหญ่ย่อมตอบปฏิเสธ และทันใดนั้นเขาก็ถูกจับตัวขังไว้ในคุกใต้ดินทันที
3
หลังจากจัดการกับ Jean Izamo เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาจัดการ David Dacko ต่อ ทั้งสองเดินทางไปยังที่พำนักของประธานาธิบดีในเมือง Bangui ตอนประมาณเที่ยงคืนของวันที่ 1 มกราคม 1966 ในขณะที่คณะของทั้งคู่กำลังเดินทางเข้ามาในตัวเมือง ทหารของ Izamo เริ่มเห็นถึงความผิดปกติ มีบางกลุ่มพยายามทำการสกัดยิงคณะของ Bokassa ไว้ และพยายามติดต่อกับหัวหน้าของพวกเขา แต่ทุกอย่างสายเกินไปแล้ว
แต่เมื่อเดินทางมาถึงที่พักของประธานาธิบดี ปรากฏว่า Dacko หายไปแล้ว ไม่ว่าจะค้นหาแค่ไหน ทุกซอกทุกมุมก็ไม่มีใครพบตัวของประธานาธิบดี Bokassa วิตกกังวลทันที หรือว่าจะมีคนมาบอก Dacko ถึงการก่อรัฐประหาร และตอนนี้เขากำลังหนีออกนอกประเทศ ถ้าเป็นอย่างนั้นการก่อรัฐประหารครั้งนี้ อาจจะประสบความล้มเหลวแน่ ๆ บรรยากาศโดยรอบตึงเครียดถึงขีดสุด
ที่พำนักของประธานาธิบดีในกรุง ฺBangui (http://www.afrol.com)
แต่ปรากฏว่าจริง ๆ แล้ว Dacko ไม่ได้ล่วงรู้ถึงข่าวใดใดทั้งสิ้น คืนนั้นเขาเดินทางไปยังบ้านของเพื่อนที่อยู่นอกเมืองหลวง และสุดท้ายทหารของ Bokassa ก็จับตัว Dacko ได้ที่ชานเมือง Bangui และเขาก็ถูกนำตัวกลับมายังบ้านพักประธานาธิบดี
1
เมื่อ Dacko ถูกนำตัวเข้ามา Bokassa ยิ้มปริ่มพร้อมกับเดินเข้าไปกอดลูกพี่ลูกน้องของเขา พร้อมกับกระซิบข้างหูว่า “ผมพยายามบอกพี่แล้วนะ และตอนนี้มันก็สายไปซะแล้ว” หลังจากนั้น Dacko ก็ถูกพาตัวไปยัง Camp Kassai และถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี
เช้าวันปีใหม่ปี 1966 ประชาชนของสาธารณรัฐแอฟริกลางตื่นขึ้นมาพร้อมกับเสียงของ Bokassa จากวิทยุของรัฐบาล Radio Bangui มีใจความว่า “นี่คือพันเอก Bokassa เมื่อเวลา 3 นาฬิกาที่ผ่านมา กองทัพได้เข้าควบคุมรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รัฐบาลของ Dacko ได้ทำการลาออกแล้ว ชั่วโมงแห่งความยุติธรรมได้เดินทางมาถึง และชนชั้นสูงจะถูกกำจัดทิ้ง ยุคสมัยแห่งความเท่าเทียมกำลังจะเริ่มต้นขึ้น ชาวแอฟริกากลางทุกคน ไม่ว่าพวกคุณจะอยู่ที่ไหน ขอให้คุณมั่นใจได้ว่ากองทัพจะคอยปกป้องตัวคุณ และทรัพย์สินของพวกคุณ ขอให้สาธารณรัฐแอฟริกากลางจงเจริญ !” ยุคสมัยของ Bokassa ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
วันที่ 1 มกราคม 1966  Jean-Bédel Bokassa ก่อรัฐประหารได้สำเร็จ และกลายมาเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐแอฟริกากลาง (Source: Wikipedia)
โหยหาการยอมรับ
จากความที่ Bokassa เคยเป็นทหารสื่อสารมาก่อน เขาจึงรู้ว่าการสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะปกครองประเทศ การที่ประชาชนจะยอมรับในตัวเขาขึ้นอยู่กับเนื้อหาของสิ่งที่รัฐบาลสื่อออกไป เพราะในปี 1966 นั้น สาธารณรัฐแอฟริกากลางยังด้อยพัฒนามาก การสื่อสารระหว่างเมือง และหมู่บ้านห่างไกลเป็นไปได้อย่างจำกัด ถนนหนทางก็ยังไม่พร้อม สายโทรศัพท์ รวมถึงระบบไปรษณีย์ก็ยังพึ่งพาไม่ได้ ประชาชนทั่วไปแทบไม่เคยได้ยินชื่อของ Jean-Bédel Bokassa ด้วยซ้ำ ดังนั้นการทำแคมเปญเพื่อโปรโมทตนเองจึงเริ่มต้นขึ้น
Bokassa พยายามใช้พื้นที่สื่อในการโปรโมทตัวเอง ด้วยการโชว์เหรียญกล้าหาญต่าง ๆ ที่เข้าได้รับจากการสู้รบร่วมกับกองทัพฝรั่งเศส และพยายามสร้างภาพให้ตนเองเป็นคนแข็งแกร่ง และไม่เกรงกลัวใคร
แสตมป์ คือหนึ่งในสื่อที่ Bokassa เลือกใช้ในการโปรโมทตนเอง (https://colnect.com)
จากนั้นเขาได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา ที่มีชื่อว่า Revolutionary Council (คณะปฏิวัติ) ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ และยุบสภาทั้งหมด จากนั้นประกาศต่อหน้าประชาชนว่า คณะปฏิวัตินี้จะเข้ามาปกครองสาธารณรัฐแอฟริกากลางเป็นการชั่วคราวเท่านั้น และในอนาคตเมื่อปัญหาคอรัปชั่น คอมมิวนิสต์ และปัญหาอื่น ๆ หมดไป จะมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้ง ส่วนพรรค MESAN พรรคเก่าของ Dacko ก็กลายมาเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ยังได้รับอนุญาตให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ ส่วนองค์กรทางการเมือง และพรรคการเมืองอื่น ๆ ถูกยุบทิ้งทั้งหมด
ในช่วงแรกดูเหมือนว่าคณะปฏิวัติ จะสามารถปฏิวัติประเทศได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว ชายหรือหญิงที่มีอายุระหว่าง 18-55 ปี จะต้องมีหลักฐานว่าตนเองมีงานทำ มิฉะนั้นจะต้องถูกปรับ (เป็นวิธีที่แปลกมาก เพราะจริง ๆ แล้วหลักฐานพวกนั้นอาจจะปลอมขึ้นมาก็ได้) ห้ามมีการขอทานตามถนนเด็ดขาด และสิทธิสตรีในประเทศก็ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากผ่านทางกฎหมายผัวเดียวเมียเดียว (แต่ Bokassa มีภรรยาทั้งหมด 17 คน) และกฎหมายห้ามขลิบอวัยวะเพศหญิง มีการเปิดบริการสื่อสารมวลชนขึ้น เป็นรถประจำทาง 3 สายในเมือง Bangui และเรือข้ามฟากแม่น้ำ
2
สิทธิสตรีในแอฟริกากลางได้รับการพัฒนาเป็นอย่างมาก ในช่วงการปกครองของ Bokassa (https://wphfund.org/countries/car/)
แต่สิ่งที่ Bokassa ไม่คาดคิดมาก่อนคือ ชาติต่าง ๆ ทั่วโลกกลับไม่ยอมรับในการทำรัฐประหารครั้งนี้ และไม่ยอมรับว่า Bokassa คือผู้นำคนใหม่ของประเทศ แม้แต่ Charles De Gaulle ที่เป็น “สหายคนสนิท” ก็ไม่ยอมรับเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเสียใจมาก เขาพยายามอธิบายถึงสาเหตุของการก่อรัฐประหารครั้งนี้ว่า ทำไปเพื่อเป็นการขับไล่คอมมิวนิสต์ออกจากประเทศ โดยเขาอ้างว่าเจ้าหน้าที่คอมมิวนิสต์จากจีนกำลังฝึกกองกำลังในชนบทเพื่อที่จะทำการปฏิวัติ ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นอันตรายต่อประเทศและทวีปแอฟริกาโดยรวม ดังนั้นเขาจะยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้นไม่ได้เด็ดขาด และเขาก็ตัดความสัมพันธ์ทางการฑูตกับประเทศจีนอย่างสิ้นเชิง
เรือ Ferry ข้ามแม่น้ำที่เมือง Bangui หนึ่งในโครงการของ Bokassa ในช่วงแรก ๆ (https://www.123rf.com)
ประเทศแรกที่เริ่มยอมรับในรัฐบาลของ Bokassa คือประเทศชาด ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกาก็ค่อย ๆ เริ่มยอมรับในรัฐบาล Bokassa มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ประเทศที่เขาต้องการการยอมรับมากที่สุดก็คือประเทศของสหายคนสนิทของเขา ประเทศฝรั่งเศสนั่นเอง เพราะถ้าหากรัฐบาลของ Bokassa ไม่ได้รับการยอมรับว่าชอบด้วยกฎหมาย เงินช่วยเหลือจากฝรั่งเศสก็จะไม่เดินทางมาสู่มือของเขานั่นเอง
1
ร้อยเอก Banza ถูกส่งตัวไปปารีส เพื่อพยายามล้อบบี้นักการเมืองถึงความจำเป็นในการก่อรัฐประหาร แต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้ในกลางปี 1966 Bokassa ต้องเดินทางไปพบกับนายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส Geroges Pompidou ด้วยตนเอง แต่ก็ไม่เป็นผลเหมือนเดิม
1
ในที่สุด Bokassa ก็งัดไม้ตาย ด้วยการขู่ว่าจะนำสาธารณรัฐแอฟริกากลางออกจาก Franc Monetary Zone ซึ่งจะส่งผลให้เงินฟรังค์ฝรั่งเศสมีมูลค่าในตลาดลดลงอย่างรุนแรง ดังนั้นประธานาธิบดี Charles De Gaulle จึงจำใจต้องเดินทางมาเยือนสาธารณรัฐแอฟริกากลางอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 พฤศจิกายน 1966 ซึ่งการเดินทางมาเยือนอย่างเป็นทางการ ก็เท่ากับว่าเป็นการยอมรับในตัว Bokassa ในฐานะผู้นำประเทศแล้วนั่นเอง
1
ประธานาธิบดี Charles De Gaulle เยือนสาธารณรัฐแอฟริกากลางอย่างเป็นทางการ (Source: Wikiwand)
แตกหักครั้งที่สอง
Bokassa กับ Banza ร่วมกันปกครองแอฟริกากลางมาได้ไม่ถึงปี ก็เริ่มเกิดความบาดหมางกันขึ้น โดย Banza มักจะติติง Bokassa ในเรื่องของการใช้จ่ายที่สุรุ่ยสุร่าย ส่วน Bokassa ก็เริ่มรู้สึกรำคาญ และไม่ไว้ใจ Banza อีกต่อไป
Bokassa จึงตัดสินใจย้ายออกจากที่พักประธานาธิบดีไปอาศัยอยู่ในค่ายทหาร Camp de Roux ที่ซึ่งได้รับการป้องกันจากกองกำลังทหารของเขาเอง ว่ากันว่าเขาจะเข้านอนด้วยการซ่อนปืนไว้ใต้หมอนเสมอ พร้อมกับสั่งย้ายกองกำลังทหารของ Banza ให้ประจำอยู่ตามตะเข็บชายแดน ไม่ให้มาประจำอยู่ใกล้เมืองหลวง
ส่วนของ Banza เองนั้น ก็ไม่ได้ปิดบังความไม่ชอบใจในตัวของ Bokassa ไว้แต่อย่างใด เขายังคงติติงการใช้เงินของ Bokassa อย่างเปิดเผย และมักจะใช้เวลาอยู่กับกองกำลังทหารคนสนิทของเขา
2
Bokassa มักจะโดน Banza ติติงในเรี่องการใช้จ่ายที่สุรุ่ยสุร่ายของเขา (https://moscsp.ru/)
ในเดือนเมษายน 1968 Bokassa ทำการเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้ง ในครั้งนี้ Banza ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นการพยายามลดทอนอำนาจของ Banza ในกองทัพอย่างชัดเจน Banza ผู้ซึ่งเป็นคนโผงผางเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงยิ่งวิพากษ์วิจารณ์ และกล่าวโจมตีความล้มเหลวในการบริหารประเทศของ Bokassa อย่างหนัก จนในที่สุด Bokassa ก็ทนไม่ไหวและปลด Banza ออกจากทุกตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีทันที และนี่ก็คือฟางเส้นสุดท้ายของ Banza ความสัมพันธ์ฉันท์มิตรที่เคยร่วมก่อรัฐประหารด้วยกันมา ขาดสะบั้นลงทันที
 
แล้วก็เป็นเรื่องแปลกของประเทศนี้อีกแล้ว ที่การทำรัฐประหารไม่เป็นความลับแต่อย่างใด แผนการทำรัฐประหารของ Banza ล่วงรู้ไปถึงหูของร้อยโท Jean-Claude Mandaba ทหารบังคับบัญชานายหนึ่งของ Camp Kassai ซึ่ง Banza ไว้วางใจ หารู้ไม่ว่าจริง ๆ แล้ว Mandaba เป็นพวกของ Bokassa
2
ในวันที่ 8 เมษายน 1969 ตอนที่ Banza กำลังติดต่อผู้สมคบคิด เพื่อตกลงวางแผนครั้งสุดท้ายในการก่อรัฐประหารในวันรุ่งขึ้น Mandaba จึงรายงานเรื่องให้กับ Bokassa ได้รับทราบ
อีกหนึ่งวิธีการโปรโมทตนเองของ Bokassa คือการพิมพ์รูปตนเองไว้บนธนบัตร (Source: Pinterest)
เช้าวันที่ 9 เมษายน 1969 Banza เดินทางมายัง Camp Kassai ด้วยความมุ่งมั่นในการทำรัฐประหาร แต่พอเขาเดินทางเข้ามาใน Camp เขาถูก Mandaba และกองกำลังทหารจับตัวทันที ว่ากันว่าเหล่าทหารหลายคนพยายามจับตัว Banza ไว้ แต่ไม่สำเร็จ ต้องทำการหักแขนทั้งสองข้างของเขา จึงจะสามารถจับตัวยัดลงไปท้ายรถ Mercedes Benz และนำตัวไปให้กับ Bokassa ได้
1
มีการจัดตั้งศาลทหารขึ้นที่ Camp de Roux เพื่อทำการไต่สวน และผลจากการไต่สวนก็คือ Banza ยอมรับว่าตั้งใจจะก่อรัฐประหารจริง แต่ไม่ได้ตั้งใจที่จะฆ่า Bokassa แต่อย่างใด
2
อย่างไรก็ตาม เพียงแค่นี้ก็สามารถทำให้ Banza ได้รับข้อหาก่อกบฏ และการลงโทษของเขาคือการประหารชีวิต มาถึงตรงนี้เรื่องราวของการเสียชีวิตของ Banza มีหลายเรื่องราวด้วยกัน เรื่องแรกคือหลังจากการไต่สวน เขาถูกนำตัวไปยังทุ่งด้านหลังของ Camp Kassai แล้วโดนยิงทิ้ง และฝังทันที แต่เรื่องที่สองมาจากฝั่งของนิตยสาร Times ของอเมริกาที่กล่าวไว้ว่า Bokassa ใช้มีดโกนค่อย ๆ กรีดลงไปบนหน้าของ Banza ต่อหน้าคณะรัฐมนตรีของเขา จากนั้นให้เหล่าทหารทุบตี Banza จนหลังของเขาหัก แล้วลากเขาไปทั่วท้องถนนในกรุง Bangui ก่อนที่เขาจะถูกยิงเสียชีวิต
ท้องถนนในกรุง Bangui ที่คาดว่า Bokassa ถูกลากไปมา เพื่อเป็นการลงโทษฐานก่อกบฏ (Source: Blackpast.org)
เรื่องสุดท้ายมาจากนิตยสารฝรั่งเศสที่ประนามการประหารชีวิตครั้งนี้ว่าป่าเถื่อน และโหดร้ายเป็นอย่างมาก เริ่มจากการที่ Banza โดนมัดตัวไว้กับเสา และ Bokassa ใช้มีดที่เขามักจะใช้คนกาแฟค่อย ๆ กรีดลงบนใบหน้าของเขาอย่างช้า ๆ ต่อหน้าคณะรัฐมนตรีของเขา จากนั้นมีผู้พบเห็นทหารกำลังลากศพที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร ที่อยู่ในสภาพกระดูกสันหลังหักป่นปี้ไปตามท้องถนนใน Bangui
2
แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม เห็นได้ชัดเลยว่า Bokassa เป็นคนที่ค่อนข้างซาดิสม์ และยอมที่จะทำทุกวิถีทางที่จะรักษาอำนาจของตนไว้
ความบ้าคลั่ง
เมื่อเสี้ยนหนามทุกอย่างหมดไป ในปี 1971 Bokassa เลื่อนยศตนเองขึ้นมาเป็นพันเอก และในปี 1972 คำสัญญาที่ว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่หลังปัญหาทุกอย่างหมดไป ก็หายไปในอากาศ และถูกแทนที่ด้วยคำประกาศว่าเขาจะเป็นประธานาธิบดีตลอดชีวิต (President for life) มาถึงตอนนี้ไม่มีใครที่จะสามารถหยุดยั้งเขาได้อีกแล้ว แม้กระทั่งการพยายามก่อรัฐประหารในปี 1974 และ 1976 ก็ล้มเหลว
Bokassa เริ่มใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายมากกว่าเก่า งบประมาณประเทศถูกนำไปใช้โดยไม่มีการตรวจสอบ รายได้มากมายที่ได้มาจากการส่งออกยูเรเนียม ไม้ เพชร และงาช้าง เข้ากระเป๋าของ Bokassa และพรรคพวก จากนั้นก็ถูกแปลงไปเป็นสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น อพาร์ตเมนท์หรูในยุโรป รถยนต์หรูราคาแพง เป็นต้น
Hadri Court หนึ่งในบ้านพักหรูหราที่ Bokassa ซื้อไว้ด้วยงบประมาณแผ่นดินที่ชานเมืองปารีส (https://mapio.net/)
ที่น่าสนใจคือในปี 1975 Bokassa ซึ่งควบตำแหน่งทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของประเทศ ยอมยกตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีของประเทศให้กับ Elisabeth Domitien ซึ่งกลายมาเป็นผู้หญิงคนแรก ๆ ของแอฟริกาที่ได้รับตำแหน่งสูงขนาดนี้ในรัฐบาล
2
เป็นยังไงกันบ้างครับกันตอนแรกของเรื่องราวของ Bokassa จะเห็นได้ชัดนะครับว่า Bokassa เป็นคนที่หลงใหลอยู่ 2 สิ่ง สิ่งแรกคืออำนาจ และสิ่งที่สองคือประเทศฝรั่งเศส ตอนนี้เขาได้อำนาจมาอยู่ในครอบครองแล้ว ในตอนหน้ามาดูกันว่าฝรั่งเศสจะยังคงให้ความช่วยเหลือเขาอยู่หรือไม่ และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องราวที่ว่าจากประธานาธิบดี Jean-Bédel Bokassa กลายมาเป็นจักรพรรดิองค์แรกและองค์สุดท้ายของแอฟริกากลางได้ยังไง ฝากติดตามกันด้วยนะครับ :)
1
ติดตามตอนที่ 2 ได้ คลิกที่ link ด้านล่างได้เลยครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา