15 มี.ค. 2021 เวลา 05:00 • สิ่งแวดล้อม
#11 The Brain Club : Animal ถนนกองทัพปูแดงแห่งเกาะคริสต์มาส
ในแต่ละปี บนเกาะคริสต์มาส ในมหาสมุทรอินเดีย จะมีปูแดง (Christmas Island red crab ) กว่าล้านตัวโผล่ออกมาจากโพรงในป่า เพื่อเดินทางยาวไกลข้ามป่าเขา และถนนที่มีรถวิ่งตลอดเวลา ไปยังมหาสมุทรเพื่อผสมพันธุ์ และวางไข่
การอพยพของกองทัพปูแดงบนเกาะแห่งนี้เป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่แปลก และน่าทึ่งมากๆ เราจะไปทำความรู้จักกับวิถีชีวิตพวกมันไปพร้อมกัน ในบทความนี้ครับ
ปูแดง เป็นสายพันธุ์ของปูดินขนาดใหญ่ที่อยู่อาศัยบนเกาะคริสต์มาส ที่มีกระดองกว้างถึง 4.6 นิ้ว
พวกมันจะหลีกเลี่ยงแสงแดดโดยตรง ดังนั้นการอพยพจะเริ่มต้นในฤดูฝนเมื่อฝนแรกลงมา ประมาณช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ( ในบางปีอาจจะช้าไปถึงเดือนธันวาคม หรือมกราคมเลยทีเดียว)
ในการอพยพปูเพศผู้จะเป็นจ่าฝูงคอยนำทาง โดยมีปูเพศเมียเดินตามตลอดเส้นทางจนกว่าจะถึงที่หมาย
เวลาและความเร็วที่แน่นอนของการอพยพของปูจะอาศัยดวงจันทร์เป็นตัวกำหนด ปูแดงจะวางไข่ก่อนช่วงรุ่งสางเมื่อน้ำทะเลกำลังลด ถือเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ปูสามารถรู้ได้ว่าพวกมันควรออกจากโพรงในป่าเมื่อไหรเพื่อให้ทันกำหนดตามจันทรคติ
ฝนคืออีกหนึ่งปัจจัยในการเดินทาง หากฝนตกใกล้ช่วงวางไข่อย่างเหมาะสม พวกมันจะออกเดินทางเร็วเป็นพิเศษ แต่ถ้าหากฝนตกเร็วเกินไป พวกมันจะเดินทางไปเรื่อยๆ ไม่เร่งรีบมาก โดยในระหว่างการเดินทางจะใช้น้ำฝนสำหรับดื่ม และทำให้ร่างกายชุ่มชื่น
ในกรณีที่ฝนตกช้ากว่ากำหนดนานเกินไป ปูบางตัวจะไม่ออกเดินทาง แต่ตัดสินอยู่ในโพรงเพื่อรออพยพในเดือนถัดไป
◾ การผสมพันธ์
ปูตัวผู้ที่มีขนาดใหญ่กว่าจะเป็นฝ่ายเดินทางมาถึงทะเลก่อนเสมอ หลังจากการเดินทางไกลแสนยากลำบาก พวกมันจะลงไปแช่ตัวในน้ำทะเลเพื่อเติมความชุ่มชื้น (คล้ายกับเวลาเราไปเที่ยวทะเลนะครับ)
จากนั้นปูตัวผู้จะเดินพื้นที่เหมาะๆ สำหรับขุดโพรงอยู่ แต่จากจำนวนปูที่มากขนาดนี้ทำให้บางครั้ง ตัวผู้มักจะต่อสู้กันเพื่อครอบครองพื้นที่โพรงสวยๆ
จากนั้นเมื่อปูตัวเมียเดินทางมาถึงชายฝั่ง จะทำการเลือกจับตัวผู้เพื่อผสมพันธุ์ด้านในโพรง หรือบริเวณรอบโพรง ภายหลังเสร็จกิจเลิฟซีน ปูตัวผู้จะเดินกลับไปแช่ตัวในทะเลเป็นรอบที่สองก่อนเตรียมเดินทางกลับเข้าป่า
◾ การวางไข่
ปูตัวเมียจะเข้าไปอยู่ในโพรงที่เลือก และจะเริ่มวางไข่ในสามวันต่อมาหลังจากผสมพันธุ์ และจะอยู่อาศัยในโพรงอีกประมาณสองสัปดาห์เพื่อเฝ้าไข่ โดยปูตัวเมีย 1 ตัวสามารถวางไข่ได้มากถึง 100,000 ฟอง โดยการวางไข่อาจใช้เวลา 5 - 6 คืน
เมื่อดวงจันทร์ถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายปูตัวเมียจะออกจากโพรง และมารวมตัวกันบนชายฝั่ง ในบางจุดเราอาจเห็นปูมากมายตามชายหาดหรือแนวหิน และก่อนช่วงรุ่งสางเมื่อปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น ปูจะลงไปแช่นำทะเลก่อนเตรียมตัวเดินทางกลับเข้าป่า
◾ การฟักไข่และการใช้ชีวิตของลูกปู
ลูกปูแดงจะฟักออกจากไข่ทันทีเมื่อไข่สัมผัสกับน้ำ กลุ่มก้อนฝูงตัวอ่อนปูแดงจะถูกคลื่นพัดออกไปสู่ท้องทะเล
จากนั้นภายในระยะเวลา 5 เดือน พวกมันจะเติบโตเปลี่ยนผ่านจากระยะตัวอ่อนพัฒนาเป็นสัตว์คล้ายกุ้งที่เรียกว่า Megalopae โดยจะอยู่อาศัยรวมตัวกันในน้ำใกล้ชายฝั่งเป็นเวลา 1-2 วัน จนกว่าพวกมันจะกลายเป็นลูกปูที่สามารถเดินขึ้นมาจากน้ำได้
เมื่อพวกมันกลายเป็นตัวปู พวกมันจะมีขนาดเล็กเพียง 5 มิลลิเมตรเท่านั้น อาศัยโขดหินชายฝั่งเป็นบ้านในช่วงสามปีแรก
แต่ไม่ใช่ปูทุกตัวจะอยู่รอดจนโต เพราะตัวอ่อนส่วนใหญ่ถูกปลากระเบนราหู และฉลามวาฬ ที่เดินทางเมื่อเยือนชายฝั่งเกาะคริสต์มาสเพื่อหวังจะกินลูกปูในช่วงเวลาการวางไข่ ( คล้ายงานเลี้ยงประจำปีที่รู้กัน )
ในบางปีอาจไม่มีลูกปูแดงโผล่ขึ้นมาจากทะเลได้เลย ถึงมีก็เป็นเพียงส่วนน้อย แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนปูแดงที่สามารถรอดชีวิตจนโตกลับมีจำนวนสม่ำเสมอมากขึ้น ทำให้จำนวนประชากรของพวกมันไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์
เพื่อปกป้องเหล่าปูแดงที่กำลังข้ามถนน เจ้าหน้าที่จะทำการปิดช่องถนนบางส่วน หรืออาจจะปิดทั้งวันถ้าหากมีการอพยพมากเป็นพิเศษ จนทำให้การจราจรติดขัด
เพื่อแก้ปัญหาการใช้ถนน จึงมีการสร้างสะพานลอยข้ามถนน โดยผู้ใช้บริการก็คือปูแดงที่กำลังอพยพ
ภาพการอพยพของฝูงปูแดงกลายเป็นจัยสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยือนเกาะคริสต์มาส มีคำแนะนำหากเพื่อนๆ มีโอกาสไปเที่ยวที่เกาะแห่งนี้
บริเวณข้างทางจะมีการติดป้ายประกาศ และวิทยุท้องถิ่นคอยแจ้งข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับการอพยพของปู ดังนั้นเราควรปฏิบัติตามป้าย และคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของเราและปู ☺️
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา