12 ปี ก่อนเกิดเหตุวันเสียงปืนแตก เอิร์ล วิลสัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายการข่าวของอเมริกา เพิ่งตีตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวด่วนจากปารีสสู่กรุงเทพฯ โดยรู้เพียงว่าตัวเองจะเป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มแรกๆ ที่ถูกส่งตัวมาสังกัดองค์กรยูซิส (USIS – United State Information Service) ซึ่งเพิ่งถูกก่อตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ ณ เวลานั้น (2496) ตำแหน่งของเขาคือ Country Director
ช่วงเวลาที่กู๊ด ‘ปฏิบัติการฉายหนัง’ ตามหมู่บ้านต่างๆ ในแถบภาคอีสาน เป็นช่วงเวลาที่ภาพยนตร์แนวคาวบอยสปาเก็ตตี้ (Spaghetti Westerns – ตัวอย่างภาพยนตร์กลุ่มนี้ ได้แก่ หนังชุด มือปืนเพชรตัดเพชร (Fistful of Dollars / For a Few Dollar More / The Good, the Bad and the Ugly นำแสดงโดยดาราอเมริกัน คลินท์ อีสท์วูด แต่ถ่ายทำในอิตาลีและสเปน – ผู้เขียน) กำลังเฟื่องฟูในประเทศไทย โรงฉายติดป้ายคัตเอาท์ขนาดใหญ่
หากหนังที่ยูซิสผลิตและนำไปฉายกลับเป็นหนังที่กู๊ดเรียกว่า ‘หนังหมอลำ’ (น่าจะเป็นหนังข่าว-สารคดีที่ใช้การร้องหมอลำแทนการบรรยายประกอบ เรื่องสำคัญคือ The Community Development Worker (1958) – ผู้เขียน)
กู๊ดบอกสาเหตุที่หนังหมอลำได้รับความนิยมกว่าหนังประเภทอื่นๆ เพราะเรื่องราวใกล้ตัวผู้ชมที่เป็นชาวบ้าน พูดภาษาเดียวกับพวกเขา (ใช้ภาษาอีสานเป็นหลัก) กู๊ดยกตัวอย่างว่า หนังอย่าง New York, New York ภาพยนตร์เพลงที่ฉายภาพเมืองนิวยอร์คอันหรูหราทันสมัย แม้จะมีภาพอันน่าตื่นตา แต่กับชาวบ้านในภูมิภาค พวกเขาสนใจดูมันแค่ 5 นาที ก็เบื่อแล้ว เพราะมันเป็นโลกที่ห่างไกลพวกเขา หนังหมอลำซึ่งใกล้ตัวกว่าจึงทำหน้าที่ ‘ให้ความรู้’ ตรงตามที่ยูซิสต้องการมากกว่า โดยเนื้อหาของหนังยังเปิดโอกาสให้สอดแทรกการเมือง อุดมการณ์รัฐ รวมทั้งต่อต้านแนวคิดคอมมิวนิสต์ลงไปได้ด้วย