Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คีตาแห่งสยาม
•
ติดตาม
15 มี.ค. 2021 เวลา 05:43 • หนังสือ
✴️ บทที่ 1 ความท้อแท้ของอรชุน
(ตอนที่ 8) ✴️
🌸 “พวกเขาได้ทำอะไรกัน” — สำรวจสนามรบในจิตใจและจิตวิญญาณ 🌸
⚜️ โศลก 1 ⚜️ (ตอนที่ 7)
หน้า 36 – 40
❇️ การดำรงสุขภาพในอาณาจักรกาย ❇️
เมื่อเป็นเช่นนี้การต่อสู้ที่จะพูดถึงต่อไปก็คือ หน้าที่ของมนุษย์ที่จะดำรงพลังคุ้มครองสุขภาพในอาณาจักรกาย ความสำเร็จทางวัตถุ ความสามารถทางจิตใจ การปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่อเข้าถึงการหยั่งรู้ตน — ทุกอย่างเหล่านี้จะทำได้ง่ายขึ้น ถ้าร่างกายไร้อุปสรรคที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ
การจะมีสุขภาพที่ดีนั้น มนุษย์ต้องใช้ชีวิตตามวิถีอนามัย เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรค อาหารที่ดีที่สุดควรประกอบด้วยผลไม้ ผัก ธัญพืช นม และผลิตภัณฑ์จากนมเป็นส่วนใหญ่ เขาควรบริหารร่างกาย อยู่ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์และแสงแดด ฝึกการควบคุมอินทรีย์และใช้เทคนิคเพื่อการผ่อนคลายกายและจิต การปล่อยตัวไปกับผัสสะ (โดยเฉพาะเพศรส) การกินมากเกินไป กินอย่างผิด ๆ ขาดการออกกำลังกาย ขาดอากาศบริสุทธิ์ ขาดแสงแดด ขาดความสะอาด กังวลจนเป็นนิสัย วิตกและเครียด อารมณ์ที่ขาดการควบคุมเหล่านี้ล้วนทำลายภูมิต้านทานโรคตามธรรมชาติของร่างกาย
การไหลเวียนช้ามักเพิ่มการสะสมพิษในระบบของร่างกาย การออกกำลังกายและอากาศบริสุทธิ์ทำให้เนื้อเยื่อ เซลล์ เม็ดโลหิตขาว เม็ดโลหิตแดงได้รับการเพิ่มพลังด้วยออกซิเจนที่เต็มไปด้วยพลังชีวิต ระบบการบริหารร่างกายเพื่อเสริมสร้างพลัง ที่ข้าพเจ้าค้นพบและพัฒนาเมื่อ ค.ศ. 1916 เป็นวิธีเติมพลังชีวิต (ปราณ) ให้แก่ร่างกายที่ง่าย ได้ผลดี มีสติ และไม่หักโหม การกระตุ้นและเพิ่มกระแสไฟฟ้าให้แก่เนื้อเยื่อ เซลล์ และเลือด ทำให้สิ่งเหล่านี้มีภูมิต้านทานโรคมากขึ้น
เมื่อพลังชีวิตมีระดับต่ำ กล่าวคือ เมื่อพลังชีวิตในร่างกายไม่เพียงพอ หรือทำงานอย่างไม่ถูกต้อง ร่างกายจะถูกโรคภัยและความไร้ระเบียบนานาคุกคามได้อย่างง่ายดาย พลังชีวิตจะทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อพลังนั้นได้รับการเติมและหล่อเลี้ยงด้วยนิสัยสุขภาพที่ถูกต้องดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และจำเป็นต้องเพิ่มพลังให้แก่ลักษณะนิสัยที่ดี ความคิดเชิงบวก การดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง และการเจริญสมาธิภาวนาอย่างถูกต้องด้วย
❇️ การยกระดับจิตสำนึก ❇️
มนุษย์ยังเป็นนายตัวเองไม่ได้ หากเขายังวุ่นอยู่กับการทำสงคราม ชีวิตธรรมดา ๆ เช่น ความเย้ายวนทางผัสสะ ความอยาก ความเคยชิน การเป็นไปตามข้อจำกัดทางกายภาพ และทางกาย จิตสับสนสงสัย และวิญญาณโง่หลง การรับรู้ของเขามีอย่างจำกัด สภาวะกายและสรีระหนักอึ้ง เวทนาที่เกิดจากกิจกรรมของอวัยวะและลมหายใจในกาย เวทนาที่เกิดจากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความหิว ความกระหาย ความเจ็บปวด อารมณ์ ความยึดมั่นถือมั่น ความง่วงเหงาหาวนอน ความอ่อนเพลีย การนอนไม่หลับ และพลังการใช้เหตุผล การใช้ความรู้สึกและเจตจำนง จิตของปุถุชนเช่นนี้จะติดอยู่กับความกลัว กลัวความตาย ความยากจน โรคภัยไข้เจ็บ และไร้ภูมิต้านทานต่อความเจ็บป่วยนานา เขาจะติดยึดอยู่กับชื่อเสียง ฐานะทางสังคม ครอบครัว เชื้อชาติ และทรัพย์สมบัติ
ในทางจิตวิญญาณนั้นปุถุชนจะไม่สำนึกไกลไปกว่าร่างกายของตน เว้นแต่จะสำนึกในจินตนาการ ในแง่จิตใต้สำนึก เขาหลับ ฝัน สามารถเคลื่อนไหวไปในโลกเพ้อฝันที่ไร้ความเป็นจริง และความเพ้อฝันนี้ทำให้เขาสามารถบินไปในท่ามกลางหมู่ดาวและห้วงหาวไพศาล แต่ก็แค่ในความคิดเท่านั้น ซึ่งความคิดเช่นนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวกับอาณาจักรเหนือจริง
กล่าวโดยสรุปก็คือ มนุษย์ทั่ว ๆ ไปรับรู้เฉพาะกายและจิตของตนกับการเชื่อมโยงนอกกายเท่านั้น เขายังถูกสะกดจิตโดยมายาแห่งโลก (แสดงออกกันหลาย ๆ ทางในวรรณคดีทั้งในยุคโบราณและยุคปัจจุบัน) ซึ่งยิ่งทำให้เขาสรุปไปโดยปริยาย ว่าเขาเป็นสิ่งสร้างสรรค์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวและมีข้อจำกัด
1
การจุติจากบรมวิญญาณซึ่งสถิตทั่ว มาอยู่ในกายน้อย ๆ ที่ไร้ความสมบูรณ์ วิญญาณจึงเสมือนสูญเสียสถานะอันสมบูรณ์ ไม่สามารถสถิตอยู่ใน ทุกที่ทุกกาล มันจึงต้องต่อสู้เพื่อเอาชนะข้อจำกัดของโลกทางกายภาพนี้ วิญญาณต้องสลายความเป็นทวิภาวะ ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายเลว ซึ่งจำกัดกายและชีวิตทางวัตถุ อย่างเช่น โรคภัยเปรียบได้กับการแล่นเรือไปในทะเลที่มีคลื่นลม สุขภาพเหมือนการแล่นใบไปในทะเลชีวิตที่ลมพัดเฉื่อยฉิว 'ญาณปัญญา' คือ #ภาวะที่รู้ว่าวิญญาณของตนนั้นเป็นอิสระจากวัตถุทั้งหลาย ไม่ยึดอยู่กับเรือมายาที่ถูกซัดไปบนผิวน้ำแห่งการดำรงอยู่ #จิตที่เป็นอิสระจะกระโจนอย่างกล้าหาญสู่ทะเลบรมวิญญาณ
ตราบที่มนุษย์ยังมุ่งไปที่คลื่นการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ผันแปร เขาจะลืมการเชื่อมโยงตนเองกับทะเลที่ไร้การเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้รับการปกป้องคุ้มครองจากบรมวิญญาณ เมื่อเขาหยั่งรู้วิญญาณตนแล้วเท่านั้น เขาจึงจะข้ามพ้นจากแรงดึงดูดที่ฉาบฉวยนั้น และเข้าสู่สภาวะการไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นภาวะที่สุขภาพ–โรคภัย, ชีวิต–ความตาย, ความเพลิดเพลิน–ความเจ็บปวด และสิ่งคู่ทั้งหลายปรากฏแค่เป็นคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปร ขึ้นสูงและลงต่ำอยู่ในมหาสมุทรที่ไร้การเปลี่ยนแปลง
1
การเปรียบเทียบจิตกับคลื่นการเปลี่ยนแปลงนี้รู้จักกันด้วยคำว่า 'กระวนกระวาย' หากถ้าเป็นการเปรียบเทียบการไม่เปลี่ยนแปลงแล้วจะใช้คำว่า 'ความสงบ' ความสงบแห่งวิญญาณจะพิชิตความกระวนกระวายของอหังการได้ในสี่ขั้นตอนคือ 1️⃣ กระวนกระวายตลอดเวลา ไม่สงบเลย 2️⃣ กระวนกระวายบางเวลา บางเวลาสงบ 3️⃣ สงบเกือบตลอดเวลา มีบางคราเท่านั้นที่กระวนกระวาย 4️⃣ สงบตลอดเวลา ไม่กระวนกระวายเลย ทั้งสี่ขั้นตอนนี้ขยายความได้ดังนี้
1️⃣ ภายใต้การปกครองของอหังการ ลักษณะเด่นของอาณาจักรกายคือความกระวนกระวาย ความกระวนกระวายทำให้พุทธิปัญญาเบี่ยงเบน มนินทรีย์ (มนัส) ซึ่งถูกควบคุมโดยอหังการและความอยากไม่พยายามที่จะสู้กับความชั่วร้าย เพื่อนำขุนพลความสงบผู้ประเสริฐกลับมา เพื่อปกป้องคุ้มครองชีวิต จิตจึงเป็นทุกข์จากความกระวนกระวายอย่างไม่สิ้นสุด จากความไร้ประสิทธิภาพและความโง่หลง ภาวะนี้แสดงในภาพที่ 2 (หน้า 20)
ภาพที่ 2 หน้า 20
2️⃣ เมื่อถึงขั้นที่สองของการต่อสู้ทางจิต วิญญาณราชาได้ชัยชนะในอาณาจักรแห่งความกระวนกระวายและความโง่หลงบ้างเป็นบางครั้ง โดยเข้าสู่ภาวะนี้ได้เมื่อความสงบพยายามอย่างยิ่งยวดยาวนานที่จะโจมตีป้อมปราการของความกระวนกระวาย ศัสตราของความสงบคือการยึดครองด้วยการปฏิบัติสมาธิ ภาวนาอย่างลึกซึ้งนานหลายเดือน และปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง
ในภาวะนี้อาณาจักรกายยังมีความกระวนกระวายรบกวน แต่ความสงบก็แทรกเข้ามาบ้างบางครั้ง
3️⃣ ขั้นตอนที่สามในการต่อสู้ทางจิต ขุนพลความสงบกับพลโยธาของเขารุกเข้าประจันซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยศัสตราคือสมาธิลึกซึ้งต่อเนื่องระดับสูง จึงสามารถรุกเข้าไปในอาณาเขตที่ฝ่ายกระวนกระวายยึดครอง ชัยชนะของการศึกนี้รู้เห็นได้จากภาวะสันติอันยาวนาน โดยที่อาณาจักรกายต้องเผชิญกับการกบฏของฝ่ายกระวนกระวายบ้างเป็นบางครั้ง
4️⃣ ในขั้นที่สี่ของการต่อสู้ทางจิต วิญญาณราชากับพลโยธาของท่านยึดอาณาที่ฝ่ายกระวนกระวายยึดครองกลับคืนมาได้ทั้งหมด วิญญาณราชาสถาปนา อาณาจักรแห่งชีวิตอันสงบนิรันดร์ไว้ได้ ภาวะนี้แสดงในภาพที่ 1 (หน้า 17)
ภาพที่ 1 หน้า 17
ในกายและจิตที่ปกครองโดยวิญญาณราชากับพุทธิปัญญาของท่าน ฝ่ายกบฏถูกบั่นเศียรสมควรแก่โทษทัณฑ์ตามความผิด ฝ่ายศัตรู อันได้แก่ อหังการ ความกลัว ความโกรธ ความโลภ การยึดมั่นถือมั่น ความหยิ่งยโส ความอยาก ความเคยชิน ความเย้ายวน ไม่กล้าโผล่หน้าเข้ามาในห้องใต้ดินแห่งจิตใต้สำนึก เพื่อวางแผนโค่นบัลลังก์ราชาผู้ทรงธรรมอีกต่อไป อาณาจักรแห่งสันติไม่แสดงสิ่งใด นอกจากความบริบูรณ์ ความกลมกลืนและญาณปัญญา ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีความล้มเหลว การคิดถึงความตายจะไม่อยู่ในอาณาจักรกายภายใต้การปกครองของวิญญาณราชาอีกต่อไป
(มีต่อ)
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ภควัทคีตา เล่ม 1 บทที่ 1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย