21 มี.ค. 2021 เวลา 08:21 • หนังสือ
✴️ บทที่ 1 ความท้อแท้ของอรชุน (ตอนที่ 9) ✴️
🌸 “พวกเขาได้ทำอะไรกัน” — สำรวจสนามรบในจิตใจและจิตวิญญาณ 🌸
⚜️ โศลก 1 ⚜️ (ตอนที่ 8)
หน้า 40 – 46
❇️ วิธีการได้ชัยชนะ ❇️
ในความพยายามที่จะปลดปล่อยวิญญาณให้เป็นอิสระจากพันธะทางวัตถุ นักอภิปรัชญาผู้เชี่ยวชาญเชิงปฏิบัติ เรียนรู้วิธีที่แน่นอนเพื่อชัยชนะ
ด้วยการคิดและการกระทำที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่องกลมกลืนกับกฎแห่งสวรรค์ วิญญาณของมนุษย์ค่อย ๆ ขึ้นสู่เส้นทางการวิวัฒน์ตามธรรมชาติ แต่โยคีเลือกวิธีที่วิวัฒน์ได้เร็วกว่านั้น นั่นคือการปฏิบัติสมาธิตามวิธีวิทยาศาสตร์ ซึ่งจิตจะไหลย้อนจากวัตถุสู่บรมวิญญาณผ่านจักระชีวิตและทิพยจิตซึ่งเปิดช่องให้วิญญาณลงมาสู่กาย แม้ผู้ปฏิบัติสมาธิมือใหม่ก็สามารถดึงพลังวิญญาณจิตในโลกวิญญาณและบรมวิญญาณมาส่องธรรมให้แก่อาณาจักรกายและกิจกรรมทั้งหลาย ทั้งกิจกรรม ทางกาย จิตใจ และวิญญาณ ยิ่งท่านช่ำชองมากเท่าใด พลังทิพย์ก็ยิ่งมากเท่านั้น
▪️ขั้นตอนความก้าวหน้าสู่อภิจิต▪️
#เมื่อจิตของโยคีเคลื่อนจากจิตกายขึ้นสู่จิตจักรวาล ท่านจะเกิดประสบการณ์ดังต่อไปนี้ :
1️⃣หนึ่ง ด้วยการปฏิบัติสมาธิภาวนาตามที่ “คุรุ”★ กำหนด โยคีผู้ภักดีจะตัดสินใจได้หนักแน่นขึ้น #ในการพบพระเจ้าด้วยการหยั่งรู้ตน
★'คุรุ' ครูทางจิตวิญญาณ คุรุคีตา (โศลกที่ 17) ได้พรรณนาถึงคุรุไว้อย่างเหมาะเจาะว่า หมายถึง “ผู้ขจัดความมืด” (จาก คุ “ความมืด” และ รุ “สิ่งขจัด”) แม้ว่าทุกวันนี้คำ 'คุรุ' มักใช้กันในความหมายของ ครู หรือ ผู้สอน แต่คุรุที่แท้จริงคือผู้ที่เรืองรองรู้แจ้งอยู่ด้วยพระเจ้า การที่คุรุเป็นนายเหนือตนเองได้นั้น เพราะท่านได้ตระหนักว่าอัตลักษณ์ของท่านคือสิ่งเดียวกับบรมวิญญาณซึ่งสถิตอยู่ทุกที่ทุกกาล บุคคลเช่นนี้คือผู้มีคุณสมบัติที่จะนำผู้แสวงหาบนเส้นทางสู่จิตวิญญาณไปสู่การรู้แจ้งและการเป็นอิสระ
สวามีศรียุกเตศวร เขียนไว้ใน The Holy Science ว่า “การอยู่กับคุรุ ใช่แค่อยู่ด้วยกันทางกายภาพเท่านั้น (เพราะบางครั้งสิ่งนี้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้) แต่หลัก ๆ แล้วหมายถึงการมีท่านอยู่ในหัวใจ และเป็น หนึ่งเดียวกับท่านในหลักการ และปรับตัวเราเข้ากับท่าน”
ท่านไม่ปรารถนาจะอยู่กับโลกโลกีย์อีกต่อไป ไม่ปรารถนาเป็นทาสของข้อจำกัดทางกายและมายาตามธรรมชาติของสิ่งคู่ ชีวิต–ความตาย ความสุข–ความเศร้า สุขภาพ–โรคภัย ด้วยพุทธิปัญญาที่รู้ตื่นขึ้นมาใหม่ โยคีสามารถปลดปล่อยจิตของท่านจากการยึดมั่นอยู่กับตัวตน กับทรัพย์สินทางโลก และแวดวงแคบๆของหมู่มิตรสหาย แรงจูงใจของท่านไม่ใช่การปฏิเสธอย่างคับแคบในเชิงลบ หากแต่เป็นการขยายสู่การรวมทุกสิ่งไว้ ท่านตัดขาดจากความคับแคบทางจิตที่ขัดขวางหนทางการเห็นพระองค์ผู้ทรงสถิตอยู่ทุกที่ทุกกาล
เมื่อบรรลุถึงเป้าหมายของท่านแล้ว ความรักของโยคีผู้สมบูรณ์พร้อมไม่แค่รวมไว้แต่ครอบครัวและมิตรสหายของท่านเท่านั้น แต่รวมถึงมนุษยชาติทั้งมวล ปุถุชนคือผู้หลงทางเพราะเขายึดอยู่กับผู้คนเพียงไม่กี่คน และยึดอยู่กับสิ่งของเพียงไม่กี่สิ่ง ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่เขาต้องละไปเมื่อตอนตาย ดังนั้น สิ่งแรกที่โยคีผู้มีปัญญากระทำคือการเรียกทิพยสิทธิแต่กำเนิดกลับคืนมา จากนั้นประสบการณ์และทรัพย์ที่จำเป็นก็จะหลั่งไหลมาหาท่านเอง
1
2️⃣สอง แม้โยคีรู้ว่าจิตของท่านเป็นอิสระจากการยึดมั่นกับสิ่งภายนอกทั้งหลาย แต่จิตนั้นยังผูกแน่นอยู่กับมนินทรีย์แม้ขณะเมื่อท่านพยายามบำเพ็ญสมาธิอยู่กับพระเจ้า ทว่าความสงบและญาณปัญญาที่แวบเข้ามาทำให้ท่านเกิดวิริยะที่จะต้านทานความกระวนกระวาย และละความสงสัยที่ว่าความพยายามนี้มีค่าจริงหรือไม่
1
3️⃣สาม ด้วยการเพ่งลึกที่เทคนิคโยคะ ขั้นต่อไป โยคีพยายามทำให้เวทนาทั้งในกายและนอกกายสงบลง เพื่อว่าความคิดของท่านจะเพ่งอยู่ที่พระเจ้าเท่านั้น
2
4️⃣สี่ ด้วยเทคนิคการควบคุมพลังปราณที่ถูกต้อง (ปราณายามะ) โยคีเรียนรู้ที่ จะทำให้ลมหายใจและใจของท่านสงบ ท่านผันจิตและปราณกลับสู่จักระที่ไขสันหลัง
5️⃣ห้า เมื่อโยคีทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ตามความประสงค์ ท่านเข้าสู่ภาวะ “#อภิจิตสำนึก”
อหังการจะมีความสุขและผ่อนคลายเมื่อจิตใต้สำนึกหลับอย่างสงบ ในสภาวะการหลับนั้นหัวใจยังทำงาน ยังคงสูบฉีดโลหิตไปตามเส้นเลือด ส่วนอินทรีย์ยังหลับอยู่ แต่ในขณะบำเพ็ญสมาธินั้นด้วยความมีสติอย่างเต็มที่ โยคีจะถอนจิตและ ปราณไปจากหัวใจ กล้ามเนื้อ และอินทรีย์ทั้งหลาย ทุกสิ่งเหล่านี้คล้ายยังหลับอยู่ แต่โยคีได้ผ่านภาวะจิตใต้สำนึกสู่ภาวะอภิจิต ซึ่งให้ความเบิกบานเป็นล้านเท่าของการหลับไร้ฝันอย่างธรรมดา เป็นความสุขที่ใหญ่หลวงกว่าการหลับใด ๆ ที่มนุษย์ได้เคยประสบหลังจากไม่ได้หลับมาหลายวัน!
▪️ประสบการณ์ของโยคีในภาวะอภิจิต▪️
#ในขั้นสุดท้ายของภาวะอภิจิต การรับรู้ของมนุษย์จะอยู่ที่ภายในมากกว่าภายนอก ซึ่งพอจะอธิบายเปรียบเทียบได้ดังนี้ :
อาจพูดได้ว่ามนุษย์มีไฟฉายอยู่สองชุด ชุดหนึ่งใช้ส่องภายใน ส่วนอีกชุดหนึ่งไว้ส่องภายนอก อหังการหรือจิตที่ยึดอยู่กับกายใช้ไฟฉายอินทรีย์ห้ากระบอก — รูป รส กลิ่น เสียง และ สัมผัส ส่วนวิญญาณนั้นใช้ไฟฉายภายในห้ากระบอกส่องให้เห็นพระเจ้าและธรรมชาติแท้จริงของการเนรมิตรังสรรค์  ไฟฉายฉายให้เห็นเฉพาะสิ่งที่อยู่ด้านหน้า ไม่เห็นสิ่งที่อยู่ด้านหลัง ไฟฉายอายตนะภายนอกหันเหไปสู่วัตถุ เผยให้เห็นตัวตนในลักษณะของวัตถุภายนอกและสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน แต่ไม่เห็นอาณาจักรภายในอันไพศาล อหังการกับความสนใจของมันก็คืออายตนะภายนอกทั้งห้า ซึ่งผูกพันอยู่ กับวัตถุและข้อจำกัดของมัน
เมื่อบำเพ็ญสมาธิถึงขั้นอภิจิต และหัวใจสงบแล้ว โยคีสามารถใช้เจตจำนงกระตุ้นศูนย์วิญญาณที่ท้ายสมอง หรือที่จุดระหว่างคิ้ว ท่านจะสามารถควบคุมไฟฉายการรับรู้ทั้งภายนอกและภายในได้ เมื่อท่านปิดไฟฉายอายตนะภายนอก วัตถุทั้งหลายที่รบกวนจิตใจจะหายไป แล้วเมื่อนั้นด้วยพลังของไฟฉายภายในที่วิญญาณถืออยู่ อหังการก็จะเห็นความงามของอาณาจักรทิพย์ภายใน ซึ่งอหังการ ได้ลืมไปแล้วได้อย่างอัตโนมัติ
โยคีที่ใจสงบในภาวะอภิจิตสามารถเห็นนิมิตต่าง ๆ และแสงสว่างอันเรืองโรจน์ ได้ยินเสียงทิพย์ และเป็นหนึ่งเดียวกับอาณาอันส่องไสวไพศาล ท่านมีชีวิตอยู่กับความงามอย่างที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน
ในภาวะที่จิตอยู่กับสิ่งภายนอก มนุษย์จะไม่เห็นการสำแดงอย่างมีชีวิตชีวาของพระเจ้า ในลักษณะของพลังจักรวาลอันงดงาม ซึ่งมีอยู่ในทุกอณูของพื้นที่และเป็นส่วนประกอบของทุกสิ่งทุกอย่าง เขาจะเห็นก็แต่มิติหยาบๆของใบหน้ามนุษย์ ดอกไม้ และความงามอื่นๆในธรรมชาติ วิญญาณจะหว่านล้อมมนุษย์ให้หันไฟฉายความสนใจสู่ภายใน และด้วย 'ทิพยทัศน์' เขาจะได้เห็น #แสงจากแหล่งพลังจักรวาลซึ่งสว่างหลากสีและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา #วูบไหวอยู่ในทุกรูร่องของอะตอม
ความงามทางกายภาพของใบหน้าหรือของธรรมชาตินั้นเลื่อนไหลไปเร็ว การรับรู้สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับพลังของดวงตา ความงามของพลังจักรวาลนั้นยั่งยืน สามารถเห็นได้โดยไม่ต้องใช้ดวงตา พระเจ้าทรงแสดงพลังจักรวาลในอาณาจักรทิพย์แห่งแสงที่ระรัวไหว ความงดงามอันเป็นทิพย์ของดอกกุหลาบ ทัศนียภาพและดวงหน้า ล้วนแสดงบทบาทน่าหลงใหลไม่หมดสิ้นของสีสันบนเวทีจักรวาลที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เมื่อได้เห็นภาพอลังการเหล่านี้โยคีจะไม่โง่เขลา กลับไปผูกยึดอยู่กับวัตถุที่เปลี่ยนแปรมัวหม่นในธรรมชาติ หรือคาดหวังความงามอย่างยั่งยืนใดๆจากโลก ดวงหน้าที่โสภาที่สุดก็เที่ยวย่นไปตามกาลเวลา ดอกกุหลาบก็เหี่ยวเฉา เย้ยหยันความอยากของมนุษย์ที่ถวิลหวังความงามนิรันดร์จากวัตถุ
ความตายจะทำลายหน่ออ่อนของวัยหนุ่มสาว กลียุคจะทำลายสิ่งใหญ่โตโอฬารของโลก แต่ไม่มีสิ่งใดสามารถทำลายความเรืองโรจน์เกรียงไกรของอาณาจักรทิพย์ (และโลกแห่งความคิดอันประณีตที่เกิดจากจักรวาลศิลป์) อณูทิพย์จะสร้างรูปแบบแสงที่งดงาม แค่ด้วยการจินตนาการสั่งการของผู้ที่อยู่ในอาณาจักรอันประณีตนี้ และสิ่งนี้จะหายไปเมื่อเขาต้องการให้เป็นเช่นนั้น แล้วมันก็เกิดขึ้นใหม่ด้วยความงามใหม่ๆตามการเรียกหาของผู้นั้น
ในอภิจิตสำนึกนั้น กายทางกายภาพ ที่ครั้งหนึ่งเสมือนแข็งทื่อและอ่อนแอจะปรากฏในมิติใหม่ ๆ ซึ่งประกอบด้วยพลังงาน แสง และความคิด – การประสมประสานอันอัศจรรย์ของกระแสที่แผ่จากพลังสั่นสะเทือนแห่งการสร้างสรรค์ของ ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศที่จักระสมองร่วมไขสันหลัง
🔸โยคีผู้เคลื่อนจิตไปสู่ศูนย์ก้นกบ หรือ 'จักระดิน' จะรู้สึกว่าสิ่งแข็งทั้งหลายประกอบด้วยอณูและปรมาณูของพลังชีวิต หรือ 'ปราณ'
🔸เมื่อโยคีถอนจิตและพลังไปสู่ศูนย์ใต้กระเบนเหน็บ หรือ 'จักระน้ำ' ท่านจะรับรู้ว่าของเหลวทุกชนิดประกอบจากกระแสอิเล็กตรอนของพลังชีวิตที่ละเอียด
🔸เมื่อโยคถอยกลับไปที่บั้นเอว หรือ 'จักระไฟ' ท่านจะเห็นแสงทุกชนิดว่าประกอบด้วย “ไฟ” จักรวาลแห่ง 'ปราณ'
🔸เมื่อโยคีถอนจิตไปสู่ลำตัว หรือ 'จักระลม' ท่านจะเห็นว่าแก๊สและอากาศทั้งหลายประกอบด้วยปราณอันบริสุทธิ์
🔸เมื่อโยคีสามารถวางจิตไว้ที่คอ หรือ 'จักระอากาศ'★ ท่านจะรับรู้อากาศประณีตที่อยู่เบื้องหลังพลังหยาบที่เกิดจากประกายพลังชีวิตฝ่ายปัญญาญาณ หรือ 'ปราณ'
★คำว่าอากาศในภาษาสันสกฤต อาจแปลได้ว่า “อากาศ” หรือ “อวกาศ” ซึ่งหมายถึงธาตุสั่นสะเทือนที่ประณีตสุดในโลกแห่งวัตถุ เป็น “ฉากให้กายและธรรมชาติทั้งปวงได้ปรากฏ”
ท่านปรมหังสาจึงกล่าวว่า “อวกาศที่ครอบคลุมด้วยอากาศ คือเขตแดนระหว่างสวรรค์ หรือโลกทิพย์กับโลก พลังละเอียดทั้งหลายที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างประกอบด้วยแสง หรือ ความคิดซึ่งซ่อนอยู่เบื้องหลังพลังสั่นสะเทือนที่สำแดงในลักษณะของอากาศ ถ้ายกพลังสั่นสะเทือนนี้ออกไป คุณจะเห็นจักรวาลทิพย์ที่อยู่เบื้องหลังจักรวาลทางกายภาพนี้ แต่อินทรีย์ทั้งห้าของเรา ตา หู จมูก ลิ้น กาย — นั้น จำกัดอยู่เฉพาะกับโลกอันจำกัดนี้เท่านั้น...
“อวกาศเป็นอีกมิติหนึ่ง : เป็นประตูสู่สวรรค์ ด้วยดวงตาแห่งจิตวิญญาณ ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างคิ้ว คุณสามารถเข้าสู่ประตูเหล่านี้ได้ จิตของคุณต้องผ่านเข้าสู่ดาวทิพย์ในญาณจักษุ เพื่อจะได้เห็นโลกทิพย์ซึ่งเป็นอาณาจักรอันประเสริฐ”
ฟิสิกส์สมัยใหม่ได้หักล้างสมมุติฐานที่นักวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่สิบเก้าเสนอว่า “อากาศ” คือตัวกลางให้แสงผ่านไปสู่อวกาศที่เวิ้งว้าง แต่ศาสตราจารย์อาร์เธอร์ ซายองก์ ได้เขียนไว้ใน Catching Light: The Entwined History of Light and Mind (New York: Bantam Books, 1993) ว่า “แม้การทดลองหลายรายการได้ปฏิเสธ อากาศ (ether) แต่การทดลองจำนวนมากพอกันก็ได้ยืนยันลักษณะคลื่นของแสง ถ้าเราพิจารณาทั้งสองฝ่ายนี้อย่างจริงจัง และถ้าสมมุติว่า ในแง่หนึ่งนั้น 'แสงเป็นคลื่น' แล้วอะไรล่ะคือคลื่นที่สั่นไหวอยู่นั้น ในกรณีของคลื่นน้ำ คลื่นเสียง และเส้นสายที่สั่นไหวนั้น เห็นได้ชัดว่าบางสิ่งบางอย่างสั่นไหว ลักษณะของเสียงขึ้นอยู่กับอากาศ แล้วลักษณะของสิ่งที่เราเรียกว่าแสงที่ผ่านไปไวนั้นล่ะเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือ ไม่ว่ามันจะเป็นอะไร มันไม่ใช่วัตถุ แน่นอน!”
ปัญหานี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า สิ่งที่ “เป็นคลื่น” ก็คืออวกาศนั่นเอง – ดังนั้นจึงต้องขยายคำนิยามของ “อวกาศ” ให้กว้างขึ้น มิชิโอะ กากุ เขียนไว้ใน Hyperspace (New York: Oxford University Press, 1994) ว่า “การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ได้สร้างทฤษฎี 'เหนืออวกาศ' (hyperspace) ซึ่งเสนอว่า มิติมีมากกว่าที่เรายอมรับกันว่ามีสี่มิติในกาละและเทศะ เป็นที่ยอมรับกันมาก ขึ้นในหมู่นักฟิสิกส์ทั่วโลก รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลหลายท่าน ว่าจริง ๆ แล้วจักรวาล อาจอยู่ในมิติที่เหนือกว่าอวกาศ... จริง ๆ แล้วอาจอธิบายได้ว่า 'แสงคือพลังสั่นสะเทือนในมิติที่ห้า'... มิติที่เหนือกว่าอวกาศ แทนที่จะเป็นฉากหลังว่างเปล่าที่อนุมูลแสดงบทของตนไปตลอดกาล แท้จริงแล้วสิ่งนี้คือตัวกระทำหลักในละครแห่งธรรมชาติ”
มนินทรีย์ของเรารับรู้ว่าโลกดำรงอยู่ในมิติทางกายภาพสี่มิติ โยคะศาสตร์อธิบายถึงอวกาศที่ครอบคลุมด้วยอากาศว่าเป็นพรมแดนระหว่างมิติทั้งสี่กับการดำรงอยู่ในมิติที่เหนือขึ้นไป ปรมหังสา โยคานันทะอธิบายว่า เหนือพลังสั่นสะเทือนที่ประณีต (อากาศ/อวกาศ) คือ 'อภิอากาศ' — “การสำแดงที่ประณีตที่สุด จึงไม่อาจจัดเป็นธาตุการสั่นสะเทือนทางกายภาพ ซึ่งมีอยู่แค่ห้าธาตุ – ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ คัมภีร์โยคะบางเล่มนิยามธาตุนี้ว่าหมายถึง 'จิต' หรือ 'สิ่งที่ไม่ใช่สสาร' ซึ่งตรงกันข้าม กับสสาร หรือ พลังสั่นสะเทือนหยาบ”
“จิต” หรือ “มิติที่ประเสริฐ” นี้ ต้องอาศัยการตรวจสอบความเป็นจริงทางกายภาพของธรรมชาติโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ด้วยหรือไม่ นักฟิสิกส์หลายท่านไม่คิดว่าคำถามนี้จะอยู่ในข่ายศาสตร์ของพวกเขา และยังไม่มีการตกลงกันอย่างแน่ชัดในเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม นักฟิสิกส์ ดร. นิก เฮอร์เบิร์ท ได้เขียนไว้ในหนังสือ Elemental Mind: Human Consciousness and the New Physics (New York: Penguin Books, 1993) ว่า “ที่คิดกันว่ามันเป็นเรื่องทำนองเดียวกับความซับซ้อนในระบบทางชีววิทยา หรือการคำนวณซึ่งนานๆจะเกิดขึ้นสักครั้งนั้น มันไม่ใช่ ในทางตรงกันข้าม จิตเป็นกระบวนการพื้นฐานโดยตัวมันเอง และเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปและฝังอยู่ในธรรมชาติในลักษณะของแสงหรือกระแสไฟฟ้า เช่นเดียวกับสสารและพลังพื้นฐานที่วิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นองค์ประกอบของโลกแห่งฟิสิกส์ เราต้องพิจารณาจิต (ตามทัศนะนี้) ว่าเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของโลกธรรมชาตินี้โดยเท่าเทียมกัน กล่าวโดยสรุปได้ว่า จิตคือธาตุที่มีปฏิสัมพันธ์กับสสารในระดับของธาตุ และในระดับของเหตุการณ์ทางควอนทัมที่เกิดขึ้นจริง” อ่านรายละเอียด บทที่ 7:4, หน้า 714
{หมายเหตุผู้จัดพิมพ์}
🔸เมื่อโยคีถอยกลับไปสู่จักระท้ายสมอง และสู่จุดระหว่างคิ้ว ท่านรู้ว่าสสารทั้งหลาย พลังงาน และปราณปัญญาประกอบด้วยพลังการคิด ศูนย์ทั้งสองในสมองนี้คือสวิทช์ปิด–เปิดพลังชีวิตและจิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างภาพที่มีเสียงได้ในร่างกาย โดยการกระทำของ ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศ — หรือธาตุทั้งห้า ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสสารทั้งมวล★ (โยคะศาสตร์ว่าด้วยจักรวาลวิทยาอันล้ำลึก ซึ่งกล่าวถึงธรรมชาติที่แท้จริงของโครงสร้างใหญ่ของจักรวาล และโครงสร้างย่อยของกายมนุษย์ มีปรากฏอย่างกว้างขวางในคัมภีร์ฮินดู ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปเมื่อถึงตอนตีความโศลกคีตาที่เกี่ยวข้อง)
★Vitaphone : เป็นศัพท์ที่ใช้กันในยุคแรก ๆ หมายถึงภาพยนตร์ที่มีเสียง
{หมายเหตุผู้จัดพิมพ์}
#ผู้คนที่ได้ความรู้จากหนังสือไม่ใช่ได้จากสหัชญาณ อาจพูดถึงสสารว่า 'เป็นความคิด' #กระนั้นก็ยังติดแน่นอยู่กับกายและข้อจำกัดทางวัตถุ มีแต่โยคีผู้รู้ด้วย 'ประสบการณ์' (ไม่ใช่จากจินตนาการ – โยคีผู้สามารถถอนจิตและปราณจากกายโดยการทำหัวใจให้สงบ แล้วเคลื่อนจิตและปราณผ่านจักระสมองร่วมไขสันหลังเข้าสู่จุดระหว่างคิ้ว) เท่านั้นที่พัฒนาจนสามารถพูดได้ว่า “สสารทุกอย่างคือความคิด”
#จนกว่าจิตและปราณไปถึงศูนย์ที่ท้ายสมอง เราจะมีประสบการณ์กับสสารทุกอย่างในลักษณะสิ่งจริงที่แข็ง ซึ่งแตกต่างจากความคิด ไม่ว่าเราจะใช้ปัญญาให้เหตุผลกันสักเพียงใด จนเมื่อถึงระดับท้ายสมองแล้วเท่านั้น (โดยการหยั่งรู้ตน ซึ่งจะได้ มาก็ต่อเมื่อผ่านการฝึกโยคะด้วยความช่วยเหลือของคุรุมานานหลายปี) บุคคลจึงจะอ้างได้อย่างแท้จริงว่า #สสารทุกอย่างเป็นแค่ความคิดที่กลั่นคั้นออกมา เหมือนการเห็นพระเจ้าในความฝัน และต่อเมื่อบุคคลนั้นก้าวไกลไปกว่าอภิจิตสู่ 'จิตจักรวาล' แล้วเท่านั้น เขาจึงจะสามารถแสดงธรรมชาติของสสารในลักษณะความคิดในความฝันได้
___
ตำนานข้างล่างนี้จะให้ภาพชัดในประเด็น “สสารคือความคิด” :
อาจารย์ผู้ประเสริฐในอินเดียท่านหนึ่งมักจาริกจากหมู่บ้านสู่หมู่บ้านพร้อมด้วยศิษย์ จำนวนมาก วันหนึ่งท่านมุนีต้องฉันเนื้อสัตว์ ที่เจ้าของบ้านจัดถวายและนิมนต์ให้ท่านฉัน แต่ท่านมุนีบอกแก่ศิษย์ทั้งหลายว่าให้กินแต่ผลไม้ ศิษย์ทั้งคณะจึงต้องเดินทางไกลผ่านป่าไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง ศิษย์คนหนึ่งแสดงความไม่พอใจด้วยการกล่าวว่า “ท่านอาจารย์สอนเราว่าสสารไม่ดำรงอยู่ แล้วท่านก็ฉันเนื้อสัตว์! แต่ให้เรากินอาหารที่มีแต่น้ำ! ถ้ามีเนื้อเต็มท้องอยู่อย่างนั้น ท่านคงเดินได้ไม่เหนื่อย ล่ะซี เราสิเหนื่อย ผลไม้ที่เรากินย่อยหมดไปนานแล้ว!”
ท่านอาจารย์รู้ว่าศิษย์วิพากษ์วิจารณ์ท่านอย่างไร แต่ท่านไม่พูดอะไรจนมาถึงกระท่อมที่ช่างตีเหล็กกำลังทำตะปูจากเหล็กที่กำลังละลาย
ท่านอาจารย์ถามศิษย์คนที่ก่อเรื่องว่า “เธอกินทุกอย่างที่ฉันกินและย่อยได้ ใช่มั้ย”
ศิษย์คนนั้นคิดว่าท่านอาจารย์คงจะให้เขากินเนื้อ ซึ่งเขาเห็นย่างไฟอยู่ใกล้ ๆ เขาตอบว่า “ครับ ท่านอาจารย์!”
ท่านอาจารย์ก้มเข้าไปใกล้เตาไฟของช่างเหล็ก ใช้นิ้วหยิบตะปูที่กำลังร้อนแดง แต่เนื้อเหล็กยังอ่อนอยู่ ท่านอาจารย์กินตะปูนั้น
“เอาสิ” ท่านพูดอย่างให้กำลังใจ “กินไอ้นี่เข้าไป แล้วให้มันย่อย! สำหรับฉันแล้ว อาหารทุกอย่าง — ไม่ว่าเนื้อหรือตะปู มันก็เหมือนกัน #ล้วนเป็นบรมวิญญาณทั้งนั้น”★
★“เรื่องเล่านี้ อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง แต่เป็นส่วนหนึ่งของตำนานพื้นบ้าน (โดยเฉพาะใน อินเดียใต้) ซึ่งถักทออยู่ในชีวิตของสวามีศรีศังกราจารย์ ปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย ซึ่งน้อยคนนักจะเป็นได้เช่นท่าน ในฐานะที่เป็นส่วนผสมของนักบุญ นักปราชญ์ และเป็นผู้ทำกิจกรรมอย่างขยันขันแข็ง ผู้คนมักเรียกท่านว่า อาทิศังกราจารย์ (อาทิ-ปฐม) ท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ ในช่วงสามสิบสองปีแห่งชีวิตด้วยการเดินทางไปทั่วอินเดีย เผยแผ่หลักการ 'อทไวตะ (อทวิภาวะ)' ผู้คนนับล้าน ๆ คนมาชุมนุมกันเพื่อฟังปัญญาประโลมใจที่ไหลหลั่งจากปากของนักบวชหนุ่มนักเดินเท้าท่านนี้
จากหลักฐานบันทึกที่พอมีอยู่บ้าง แสดงว่านักบวชผู้เชื่อในความเป็นหนึ่งเดียวของจักรวาล (monism) อย่างไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนท่านนี้ มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่หกก่อนคริสตกาล นักปราชญ์ อนันทะกิริ ระบุว่าอยู่ในช่วง 44 -12 ปีก่อนคริสตกาล นักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกกำหนดว่า ศังกราจารย์มีชีวิตอยู่ระหว่างคริสตศักราชที่แปดถึงต้นคริสตศักราชที่เก้า
การปฏิรูปครั้งใหญ่ของท่านศังกราจารย์รวมถึงการจัดองค์กรใหม่ให้แก่ระบบสวามีที่มีมาแต่โบราณ ท่านได้ก่อตั้ง 'มัฐ' (ศูนย์การศึกษาของนักบวช) ถึงสี่แห่ง คือ ที่ศรินเครี ทางภาคใต้ ที่ปูรี ทางภาคตะวันออก ที่ทวารกา ทางตะวันตก และที่พัทรีนาถ ในเขตหิมาลัยทางภาคเหนือ เป้าหมายของท่านที่ได้ก่อตั้งรัฐในสี่มุมของอินเดีย ก็เพื่อเสริมสร้างความเป็นเอกภาพแห่งชาติและศาสนาตลอดทั่วแผ่นดินอันกว้างใหญ่ของอินเดีย
{หมายเหตุผู้จัดพิมพ์}
ข้อเตือนใจที่สำคัญสำหรับนักศึกษาก็คือ “#อย่าคิดว่าคุณก้าวหน้าทางจิตวิญญาณได้ #เพราะคุณได้ฟังการบรรยายหรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับจิตจักรวาล #หรือเพราะคุณคิดไปเองว่าคุณบรรลุแล้ว #หรือเพราะคุณมีประสบการณ์เกี่ยวกับเทพนิมิต (สนุก ได้ปัญญา แต่ก็ยังอยู่ในอาณาของสสาร) #คุณจะรู้ว่าสสารคือความคิดก็ต่อเมื่อคุณสามารถถอนพลังชีวิตและจิตกลับไปที่จักระท้ายสมอง #และเข้าถึงวิญญาณจักษุแล้ว #ซึ่งเป็นประตูสู่จิตขั้นสูงสุด”
(มีต่อ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา