26 มี.ค. 2021 เวลา 10:55 • ศิลปะ & ออกแบบ
บ้านยาย ผ่านเส้นสาย งานไม้ชนบท มุมมองจากอดีตสู่ปัจจุบัน ต.สระยายโสม จ.สุพรรณบุรี
กลุ่มอาคารไม้ เยื้องบ้านยาย ที่เป็นห้องแถวกึ่งปูนกึ่งไม้
อดีตที่นี่เคยเป็นท่าเรือ แวะพักของคนตามแถบแม่น้ำท่าจีน ที่ล่องเรือไปขายสินค้าถึงกรุงเทพฯ จึงมีตลาดและท่าเรือ รวมถึงอาคารไม้ปลูกเป็นแถวยาวกั้นห้อง
สองข้างทางในบางฤดู ของที่นี่น่าชม
บ้านติดกับยาย รถขนส่งของยังคงเดิม สนิมแสดงถึงร่องรอยแห่งกาลเวลา และการใช้งานผ่านเรื่องราวของคราบจากอดีต
เมื่อการสัญจรทางน้ำเปลี่ยนเป็นถนน ชุมชนนี้ยังพออยู่รอด จากคำบอกเล่าทั้งยายและแม่ ว่าเป็นท่ารถบรรทุก ร้านอาหารยามค่ำคืน ทั้งคาวหวานเป็นที่ต้องจอดแวะฝากท้องของคนจร สิงห์รถบรรทุก หรือมีลูกค้าประจำตลาดค่ำคืน ด้วยคิวที่ยาวเหยียดเพราะฝีมืออาหารคนรุ่นก่อนของที่นี่เป็นที่ขึ้นชื่อ
ยาย สาละวนกับการเตรียมการทำขนมสำหรับเทศกาล การแต่งกายของยายยังคงเป็นแบบนี้เสมอ วัสดุบางอย่างยังคงเดิม ดีกว่าแต่ก่อนที่ยายมีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน โดยหัดใ้ช้เองแม้ไม่เคยเรียนหนังสือแต่ใช้โทรสั่งวัตถุดิบร้านประจำหรือเปิดดูรายการทาง youtube ระหว่างทำขนมหรือกับข้าว
อาหารพื้นที่ที่คนต่างถิ่นอาจจะพอรู้ ได้แก่ กะเพราไก่บ้าน ไข่พะโล้ดำ ขนมจีนน้ำพริก
ปีกไก่ยัดไส้ที่ทำหลายขั้นตอน
กะเพราไก่ อาหารจานเด็ด
จากคำบอกเล่าของยาย คนที่นี่มีพื้นเพจากการอพยพมาบ้างหรือย้ายมาจากที่อื่นละแวกใกล้ อย่างยายเองมาจากเมืองจีนตอนสองขวบ อยู่ในไร่ เรียนรู้การปลูกสมุนไพร แล่เนื้อ ทำอาหารจากก๋ง(ปู่) จนพอเตี่ย(พ่อ) ตัวเองตาย เลยพาแม่และน้องสาว น้องชาย รวมหกชีวิต มาที่ราบ ปลูกเพิงสังกะสี รับจ้างเข็นน้ำจนเก็บเงินสร้างบ้านตรงนี้ได้ จึงเห็นพัฒนาการชุมชนนี้โดยตลอด ตั้งแต่พื้นที่โล่งไร้ผู้คน จนเป็นตำบล ท่าเรือ ท่ารถ และทางผ่านแบบปัจจุบัน สู่เมืองหลวง
เส้นทางรถบรรทุกผ่าน ปัจจุบันยังคงมีรถวิ่งอยู่แต่ไม่จอดพักแล้วดังเช่นอดีต
หลังบ้านยาย(เก่า)ก่อนรื้อสร้างใหม่ ตุ่มน้ำที่เขียนปีพ.ศ.2500 หรือเก่ากว่านั้น ครัวไทยที่ยายทำอาหาร จากเตาฟืน สู่เตาแก๊สหุงต้ม
อีกเรื่องของการออกแบบผังเมืองและอาคารของชุมชน ยายเล่าว่าตาเป็นคนคิด ตาแต่งกับยายหลังจากเป็นเพื่อนกันมานาน มีคนมาขอยายไปเป็นเมียน้อยแต่ตาไม่เห็นด้วยเลยขอยายแทน ย้ายมาอยู่บ้านที่ยายสร้างจากเป็นคนในไร่ ตาก็ช่วยชุมชนนอกจากรับเหมาก่อสร้าง โดยออกแบบให้หัวมุมโค้งของหลังคามุมถนน ดการเกิดอุบัติเหตุและแบ่งช่วงอาคารกันไฟไหม้
อาคารที่ตัดเหลี่ยมหลังคามุมถนน ใกล้ตลาดชุมชน ผังตลาดคล้ายตัว U อาคารล้อมตลาดเป็นลานพื้นที่กว้างหลังคาสูง
แต่ก่อนตลาดที่นี่คึกคัก มีหลายคนเดินทางเข้าออกผ่านไปมา พ่อเล่าว่า ย่าเคยผ่านมาที่นี่เพื่อนำเรือไปขายข้าวต่อที่เมืองกรุง
บานประตู บานเฟี้ยม ทำจากไม้มีสัดส่วนที่สูง บันไดที่นี่ชันแต่ปัจจุบันมีการปรับปรุงหลายรอบ แบบชาวบ้าน ลูกกรงไม้และชายคาไม้ฉลุเป็นช่างชาวบ้าน บางคนเป็นช่างไม้ทำรถบรรทุก แต่ถูกจ้างวานมาสร้างบ้าน
คงเป็นดังเช่นชุมชนเก่าที่พบเห็นโดยทั่วไปตามต่างจังหวัด เหลือคนชราและเด็ก หรือคนต่างถิ่น และนับวันจะล้มหายตายจาก คนหนุ่มสาวเข้าเมืองเพื่อหารายได้ ชุมชนเลยเงียบเหงา
ร้านและป้าย บางร้านมีเอกลักษณ์ของลวดลายอักษร หรือเครื่องเสียงสมัยอดีต ชุมชนนี้มีร้านเสริมสวยในอดีตค่อนข้างมาก อาจเป็นเพราะเมืองท่า คนพักเพื่อผ่อนคลาย
นอกจากนี้ผมมีโอกาสได้มาบวชเรียน จำพรรษาที่นี่ชุมชนแห่งนี้ ได้เกิดการเรียนรู้สังเกต และมุมมองแปลกตาในสถานะพระสงฆ์ หลังจากจบกาศึกษาด้านออกแบบและทำงานร่วมกับชุมชนมาสักระยะ อันมีผลส่งต่อระบบความคิดก่อนเรียนระดับบัณฑิตศึกษาต่อไป
ด้านติดถนนของอาคารหอฉันเก่า
อาคารหอฉันเก่าสมัยแรกสร้างวัดของชุมชน ยังคงอยู่แต่ผุพัง เหลือไว้เพียงความหลัง แสงยามเย็นที่นี่นับว่าน่าดูชม
อาคารแถวของวัดสร้างโดยพระและชาวบ้านตามทักษะที่มี ปัจจุบันการการปรับปรุงพัฒนา แม้ว่าวัสดุบางอย่างจะเริ่มหมดอายุ แต่รูปแบบน่าสนใจ แต่สิ่งหนึ่งพึงระวังคือบันไดกับพระชรา
ลานโล่งและพื้นที่ใช้สอย วัสดุกับสัดส่วนบางอย่างเป็นที่น่ากังวลต่อความปลอดภัย
อาคารใช้ผังตัว U คล้ายตลาดมีลานโล่งขนาบด้วยอาคารแถวสองข้าง ลานตรงกลางโดนแบ่งทำสิ่งปลูกสร้างปูนแบบสมัยใหม่ถัดไปเป็นเมรุและศาลาประกอบพิธีศพ ตัวโบสถ์ถัดออกไปจากบริเวณนี้อย่างสิ้นเชิง แสดงถึงเขตที่แยกออกจากกันของพุทธาวาสกับสังฆาวาส แต่ไม่ปิดกัน
ความเป็นอยู่บางอย่าง ทำให้พบปัญหาจากมุมมองคนนอกกับคนในศาสนา โยมกับพระ มีวิธีคิดและรูปแบบต่างกัน ในบางเรื่องถึงขั้นคนละตรรกะความคิด
ตัวอาคารอีกด้านจะเป็นห้องทึบ ส่วนด้านในที่หันเข้าหากันจะเป็นโถงทางเดินยาวตลอดอาคารก่อนกั้นห้องสามสี่ส่วน
วัสดุปูนกึ่งไม้และชายคาที่แสดงการใช้งานในเขตมรสุมของแถบภูมิภาคนี้
ชุมชนนี้มีเพียงวัดและศาลเจ้า แม้ยางแห่งจะมีศาสนาอื่นร่วมอีก แต่ทำให้เห็นการแบ่งพื้นที่ระหว่างเชื้อชาติ และการอยู่ร่วมกันในการแบ่งนั้นๆด้วยกันได้ หรือการร่วมกันของชุมชนละแวกใกล้เคียงโดยวัด ศาลเจ้า และตลาดเป็นศูนย์กลาง ล้อมด้วยที่อยู่ ส่วสถานที่ทางการคิดออกมารอบนอกสุด ซึ่งเป็นที่น่าสนใจของผู้เขียน แสดงถึงการลำดับความสำคัญของชุมชนยุคแรกเริ่มตามชนบท โดยคำนึงถึงการใช้งานมาก่อนการปกครองของหน่วยงาน แต่อิงการปกครองของศาสนาความเชื่อและเศรษฐกิจปากท้อง พื้นที่เอื้อของคนในระบบทุนนิยมล้อมด้วยสังคมกสิกรรมรอบนอก อาศัยทางผ่านของถนนสู่เมืองหลวง
ลูกกรวไม้และกันสาดของหลังคา มีช่องว่างภาษาของงานออกแบบ
งานเทศกาลรื่นเริง จัดกันบริเวณรอยต่อระหว่างศาลเจ้าจีนและวัดไทยพุทธ บางทีใช้พื้นที่ของโรงเรียนที่อยู่ถัดไปไม่ไกล แสดงถึงพื้นที่และความสำคัญต่อจุดร่วม รวมศูนย์ของชุมชนนี้ ผ่านการกระจายข่าวด้วยเสียงตามสายและรถประกาศ แม้ว่าจะมีป้ายไวนิล เข้ามาอันเป็นผลของนวัตกรรมและเทคโนโลยีการออกแบบสิ่งพิมพ์เพื่อสื่อสารในยุคสมัยนี้
ไฟประดับตามอาคารใกล้สถานที่จัดงาน เหมือนเป็นการสื่อสารด้วยกราฟิกเพื่อบอกทาง บริเวณหน้าบ้านยาย
ภาพเบื้องหลังหนุ่มสาวที่ยังพอให้เห็นในงานรื่นเริงของชุมชน
หวังว่าชุมชนจะสามารถรักษาสถานะภาพและดำรงอยู่ ปรับตัวอยู่รอดได้จากปัญหาต่างๆทั้งภายในและภายนอก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา