25 มี.ค. 2021 เวลา 02:04 • ประวัติศาสตร์
“วิลเฮล์ม โวยท์ (Wilhelm Voigt)” ชายผู้หลอกให้คนทั้งเมืองช่วยเขาไล่นายกเทศมนตรีเยอรมัน
“วิลเฮล์ม โวยท์ (Wilhelm Voigt)” อาจจะเรียกได้ว่าเป็นอาชญากรที่เจ้าเล่ห์ และสามารถโน้มน้าวให้ผู้คนเชื่อฟังเขาได้ดีที่สุดคนหนึ่งของโลก
เขาเกิดที่ปรัสเซียในปีค.ศ.1849 (พ.ศ.2392) และส่อแววมิจฉาชีพตั้งแต่เด็ก
ขณะอายุได้เพียง 14 ปี เขาก็ถูกจับข้อหาลักขโมย และต้องจำคุกเป็นเวลาสองสัปดาห์ เมื่อออกมา เขาก็โดนไล่ออกจากโรงเรียน จึงต้องยึดอาชีพการทำรองเท้า หากแต่จิตใจก็ยังฝักใฝ่ในอาชญากรรม จึงต้องเข้าๆ ออกๆ เรือนจำอีกหลายครั้ง
ภายในปีค.ศ.1906 (พ.ศ.2449) โวยท์ก็ได้ย้ายไปยังเมืองใกล้ๆ เบอร์ลิน หากแต่ก็ถูกตำรวจไล่ออกมาเนื่องจากประวัติที่ไม่ดีนัก หากแต่เขาก็ยังเตร็ดเตร่อยู่รอบๆ เมือง วางแผนอาชญากรรมที่จะทำให้ทุกคนต้องจำชื่อเขาได้
โวยท์จัดการเดินไปตามร้านต่างๆ หาซื้อชุดที่จะทำให้เขาดูเหมือนนายทหารยศร้อยเอก เพื่อลงมือในแผนการสำคัญ
ในเวลานั้น ทหารในกองทัพเยอรมันถูกฝึกมาให้เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา ห้ามถามหรือสงสัยอะไรทั้งสิ้น ซึ่งโวยท์ก็นำข้อนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์
ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ค.ศ.1906 (พ.ศ.2449) โวยท์เดินทางไปทั่วเบอร์ลินโดยแต่งตัวในชุดทหารยศร้อยเอก และแกล้งทำเป็นออกคำสั่งแก่ทหารที่พบเจอ เพื่อดูว่าทหารจะหลงเชื่อเขาหรือเปล่า
เมื่อเห็นว่าการปลอมตัวของเขาประสบผลสำเร็จ เขาก็ขึ้นรถไฟ เดินทางไปยังเมืองเทเกิล ซึ่งอยู่ห่างจากเบอร์ลินไม่ไกล และจัดการเรียกหน่วยทหารให้ไปกับเขา ไปยึดศาลากลางเมือง
ไม่เพียงแค่นั้น เขายังสั่งให้ตำรวจท้องถิ่นไปจับตัวนายกเทศมนตรีและไล่ให้ไปยังเบอร์ลิน จากนั้น ระหว่างชุลมุน โวยท์ก็ได้กวาดเงินของนายกเทศมนตรีไปเป็นจำนวนกว่า 4,000 มาร์กส์ และหนีไป
หลังจากที่โวยท์หนีไปได้ไม่นาน กองทัพจึงรู้ว่าพวกตนนั้นโดนหลอก และออกล่าโวยท์แทบพลิกแผ่นดิน
อันที่จริง โวยท์น่าจะรอดได้แล้ว แต่เขาก็เอาวีรกรรมนี้ไปคุยโอ้อวดให้เพื่อนๆ ฟัง ซึ่งเรื่องนี้ก็หลุดไปถึงตำรวจ เขาจึงถูกจับในที่สุด และถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลาสี่ปี
ภายหลังออกจากเรือนจำ โวยท์ก็กลายเป็นเซเลบ
มีการสร้างรูปปั้นของเขา และมีคนมาฟังเขาเล่าเรื่องราวของตนเอง และเป็นแบบให้ถ่ายภาพ โดยเขามักจะใส่เครื่องแบบทหาร มาเป็นแบบให้ถ่ายภาพ และยังได้รับเงินจากผู้ที่ชื่นชอบและได้รับเชิญไปงานเลี้ยงหรูๆ หลายแห่ง
รูปปั้นของโวยท์
และจนถึงทุกวันนี้ ชาวเยอรมันก็ยังคงจำโวยท์ได้ไม่ลืม
โฆษณา