Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อยากทำไป-มด
•
ติดตาม
28 มี.ค. 2021 เวลา 09:25 • ความคิดเห็น
ทราบหรือไม่ ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ให้เด็กประถมเดินเก็บกระดาษรีไซเคิลและหนังสือพิมพ์ไปขาย?
เมื่อมดพาคนไทยไปเดินดูตู้สำหรับนำขวดแก้วมาทิ้ง โดยแต่ละตู้ก็แบ่งเป็นขวดแต่ละสี ขวดสีเขียว สีน้ำตาล สีใส แต่ละคนก็ให้ความคิดเห็นต่างกันไป บ้างก็บอกว่าดีนะที่เมืองไทยเรามีอาชีพคนเก็บขวดเก็บของเก่าขาย พวกเราคนไทยก็ไม่ต้องลำบากขนขวดแก้วออกมาทิ้งเอง แต่บ้างก็บอกว่าการที่คนสวิสต้องแยกขวดแยกขยะเองแบบนี้ก็ถือเป็นการปลูกจิตสำนึกในการแยกของรีไซเคิลอันเป็นเรื่องจำเป็นในยุคนี้
คนสวิสแยกขยะทำไม??
เขามีจิตสำนึกที่ดีงามกันตั้งแต่เกิดเลยเหรอ??
ตอบอย่างคนที่มองโลกในแง่ธรรมดาไม่ดีไม่ร้ายก็คือ ค่าเก็บขยะแพงค่ะ คนสวิสเสียค่าเก็บขยะเป็นค่าถุงขยะ หรือไม่ก็เป็นสติ๊กเกอร์ปิดถุงขยะ แล้วแต่ว่าเมืองไหนใช้ระบบแบบไหน
มดอยู่เมืองเล็ก ก็จะเป็นระบบสติ๊กเกอร์แทน ซึ่งสติ๊กเกอร์จะมีอยู่สองสามราคา แบ่งตามขนาดของถุง ถ้าถุงขนาด 35 ลิตร ก็เป็นสีนึง ถ้าถุงขนาด 60 ลิตรก็เป็นอีกสีนึง แล้วถ้าถุงขนาด 90 หรือ 120 ลิตร ก็ใช้สติ๊กเกอร์ผสมกันได้จนครบขนาดของถุง
ส่วนเมืองใหญ่ ๆ จะขายถุงขยะที่สกรีนสัญลักษณ์ของเมืองนั้นไปเลย อยากได้ขนาดถุงเท่าไหร่ก็หาซื้อติดบ้านไว้ได้ เมื่อถึงวันนัดที่รถขยะจะมาเก็บ ซึ่งปกติจะเป็นอาทิตย์ละครั้ง ก็นำถุงขยะมาวางไว้หน้าบ้าน หรือจุดที่กำหนด คนเก็บขยะก็จะเช็คว่าถุงถูกต้องหรือไม่ มีสติ๊กเกอร์ครบหรือเปล่า
1
ถุงขยะของเมือง Bern
ครั้งแรกเมื่อมดมาอยู่ใหม่ ๆ คำถามแรกที่ถามไปเมื่อรู้เรื่องนี้ก็คือ ถ้าไม่ติดสติ๊กเกอร์ล่ะ? ถ้าไม่ซื้อถุงขยะของทางการล่ะ? คือถ้าเป็นประเทศเรา มันจะมีคนไม่ทำตามกฎอยู่แล้วใช่มั้ย ถ้าเป็นการวางถุงขยะไว้หน้าบ้านก็ไม่มีปัญหา พี่ ๆ คนเก็บขยะจะมากดกริ่งแจ้งหน้าบ้านในครั้งแรกว่ามันผิดกฎนะ แต่ถ้ามีครั้งต่อ ๆ ไปโดนจดหมายเตือน และถ้ายังทำต่อคุณตำรวจก็มาเยือนค่ะ
แล้วถ้าเป็นการนำถุงมาวางรวม ๆ กันล่ะ เราจะรู้ได้ยังไงว่าใครเป็นคนนำมาวาง หลังจากที่อยู่ประเทศนี้มาพอสมควรพบว่า เค้าใช้ระบบสอดส่องดูแลกันในระดับหมู่บ้านค่ะ คือถ้าใครมาสวิสจะรู้สึกว่าทำไมบรรยากาศมันเงียบ ๆ คนที่นี่ไม่ค่อยออกจากบ้านกันเหรอ? เค้าไม่พูดคุยกันเหรอ?
ในความเป็นจริงก็คือ ทุกเรื่องในหมู่บ้านมีการกระจายข่าวกันตลอดเวลา นึกถึงเมืองไทยสมัยก่อนก็แล้วกันค่ะ ใครทำอะไร ที่ไหน กับใครในหมู่บ้าน เราจะซุบซิบซุบซาบรู้กันไปทั่วใช่มั้ยคะ ที่สวิสที่ไม่ใช่เมืองใหญ่ก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ค่ะ ดังนั้นใครหิ้วถุงขยะผิด ๆ มาทำเนียนกอง ๆ รวมกับคนอื่นนั้น เพียงครั้งที่แรกคุณยายที่อยู่บ้านโน้นที่เห็น ก็จะกระจายข่าวทันที สักพักก็จะมีใครบางคนกดกริ่งแล้วแจ้งด้วยมารยาทอันดีว่า ที่คุณทำมันผิดนะ ไม่รู้ใช่มั้ย ตอนนี้รู้แล้ว อย่าทำอีกนะ
2
1
กลับมาถึงเรื่องค่าเก็บขยะ คิดง่าย ๆ ก็คือถุง 35 ลิตรก็ประมาณ 70 บาท แต่ละบ้านก็จะใช้วิทยายุทธของตนยัดลงไปให้เต็มถุงให้ได้มากที่สุด ดังนั้นนิสัยการรีดกล่องรีดถุงให้ไม่มีช่องว่างก่อนทิ้งขยะ ไม่ได้ทำไปเพราะอุปนิสัยปราณีตเรียบร้อยอะไร แต่เป็นความละเอียดรอบคอบในการใช้สอยพื้นที่ถุงขยะให้ได้มากที่สุดต่างหาก
3
เด็กบ้านไหนกินกล่องน้ำผลไม้เสร็จ พ่อแม่จะนำกล่องมารีดให้แบนก่อนโยนลงถัง หีบห่อใด ๆ ที่ต้องทิ้งแล้วรีดให้เรียบได้มากสุดแค่ไหน ก็จะสละเวลามาทำ
ปัจจุบันจุดทิ้งขวดรีไซเคิลสวยงาม เพราะซ่อนถังใหญ่ไว้ใต้ดิน
แล้วถ้าหีบห่อใดสามารถรีไซเคิลได้ก็จะแยกไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อนำไปทิ้งได้แบบไม่เสียเงิน ลองคิดดูว่า ถ้าทิ้งขวดต่าง ๆ ลงไปในถุงขยะ มันจะกินเนื้อที่มากมายเพียงใด ต้องใช้ถุงขยะกี่ถุงในการจัดงานเลี้ยงแต่ละครั้งที่ดื่มเบียร์กันดุขนาดนี้ อีกทั้งขวดน้ำอัดลมที่ต่อให้เหยียบจนบี้แบนแล้วก็ยังกินเนื้อที่ในถุงขยะอยู่ดี
2
2
การมีถังให้ทิ้งของรีไซเคิลได้เป็นหมวดหมู่ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนเต็มใจจะทำ เมื่อทำบ่อย ๆ ก็กลายเป็นการปลูกฝังการแยกขยะให้กับตนเองและเด็กรุ่นใหม่ ๆ ไปในตัว ซึ่งพอเหมาะพอเจาะกับยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก
1
แต่สำหรับขยะประเภทหนังสือพิมพ์ และกล่องกระดาษ จะไม่มีตู้รีไซเคิลให้คนเดินมาทิ้งเหมือนพวกขวดแก้วหรือขวดพลาสติก ทางการจะส่งเอกสารแจ้งประจำปีว่า จะมีการมาเก็บกระดาษรีไซเคิลในวันไหนของปีบ้าง โดยปกติจะมาเก็บ 3 - 4 ครั้งต่อปี ก็ค่อย ๆ มัดเก็บสะสมกันไว้ ถึงเวลาก็ยกมาไว้หน้าบ้าน ซึ่งไม่ต้องกลัวลืม เพราะจะมีบางบ้านที่เอามาวางตั้งแต่ตอนเย็นล่วงหน้าหนึ่งวัน เป็นสัญลักษณ์แจ้งให้กับเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ ไปในตัว
2
กระดาษและหนังสือพิมพ์ถูกมัดไว้แต่ละกองไม่ใหญ่มาก
ความพิเศษในการเก็บกระดาษหนังสือพิมพ์และกล่องกระดาษต่าง ๆ ก็คือ จะเป็นหน้าที่ของนักเรียนชั้นประถมในเมืองนั้น เด็ก ๆ จะเริ่มออกเดินกันไปเป็นกลุ่มพร้อมรถเข็น โดยจะแบ่งเส้นทางเก็บกันอย่างเป็นระบบ ดังนั้นผู้คนจะมัดกระดาษที่ไม่หนาหนักใหญ่โตเกินไป เพราะรู้ว่าคนที่จะมายกไปเก็บนั้นคือเหล่านักเรียนประถม 3-6
1
2
กิจกรรมเก็บกระดาษไปขายนั้น เป็นเรื่องที่ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่เก่าก่อนในหลาย ๆ โรงเรียน โดยทางโรงเรียนจะติดต่อกับบริษัทที่รับซื้อกระดาษเก่า ให้นำตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งรอที่โรงเรียน แล้วเด็ก ๆ ก็จะออกไปเก็บตามบ้านเพื่อนำมาขายให้กับบริษัท แล้วนำเงินที่ได้ไปจัดกิจกรรมที่จะทำกันในโรงเรียน โดยส่วนมากจะนำไปจัดแคมป์สกีในฤดูหนาว
1
เด็ก ๆ ช่วยกันออกไปเก็บกระดาษเก่ามาใส่ตู้คอนเทนเนอร์
เราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องพวกนี้ของคนในประเทศที่ได้ชื่อว่าร่ำรวยอันดับต้น ๆ ของโลกบ้าง? การแยกขยะเพื่อประหยัดค่าทิ้งขยะ การให้นักเรียนประถมออกไปเก็บกระดาษเพื่อหารายได้
1
ส่วนตัวมองว่า ทั้ง ๆ ที่ ค่าถุงขยะถุงละ 2 ฟรัง เขาจะทิ้งอาทิตย์ละสิบถุงก็ยังไม่สะเทือนเลย แล้วกิจกรรมแคมป์สกีของเด็ก ๆ แค่ครูเอ่ยปากกับผู้ปกครองขอเรี่ยรายคนละ 50-100 ฟรังก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงอยู่แล้ว
2
เรื่องพวกนี้มันเป็น Mindset จริง ๆ นะคะ นำมาฝากให้คิดวิเคราะห์ร่วมกันค่ะ
ป.ล. คนสวิสแยกขยะอะไรไปทิ้งได้บ้าง
📍ขวดแก้ว โหลแก้ว เศษแก้ว ต่าง ๆ
📍ขวดพลาสติกที่มีสัญลักษณ์ ♻️
📍กระป๋องอลูมิเนียมต่าง ๆ
📍ถ่าน / ขยะมีพิษ
📍เสื้อผ้า/รองเท้า ที่สภาพใช้งานได้ดี (มีตู้รับบริจาค)
📍กล่องกระดาษ หนังสือพิมพ์
📍ของชิ้นใหญ่ สามารถทิ้งได้ปีละครั้ง ชำระเป็นสติ๊กเกอร์ (หรือนำไปทิ้งเองที่บริษัทรับกำจัดขยะ คิดค่าบริการตามน้ำหนัก)
📍ขยะเปียก (มีถังเฉพาะบางเมือง / ชนบทขุดหลุมฝังกลบหลังบ้าน)
📍การนำของไม่ใช้มาวางหน้าบ้านติดป้ายว่า “Gratis” แปลว่า “ฟรี” ยังเป็นที่นิยมปฏิบัติกัน
ขอบคุณที่แวะมาค่ะ
พูดคุยทักทายแสดงความคิดเห็นกันได้ที่คอมเม้นค่ะ
🙏❤️
5 บันทึก
47
55
28
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ชีวิตที่สวิตเซอร์แลนด์
5
47
55
28
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย