31 มี.ค. 2021 เวลา 06:11 • ประวัติศาสตร์
Greek Mythology ตอนที่ 7 ดีมีเทอร์ (Demeter) เทพีแห่งธัญญาหาร part 1 : ฤดูกาล บุตรสาว และความเศร้าโศก
Demeter Statue
หากในแถบแดนสุวรรณภูมิ หรือ ไทย ลาว เขมร มีการบูชาพระแม่โพสพ เทพีแห่งการเก็บเกี่ยวและธัญพืช ซึ่งคาดว่าได้รับอิทธิพลจากอินเดียแล้วไซร้ ทางฝั่งปกรณัมกรีก ก็มีเทพีที่แสนสำคัญองค์หนึ่งที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ นั่นคือ เทพี ดีมีเทอร์ (Demeter) ในภาษากรีก หรือ เซเรส (Ceres) ในภาษาโรมัน
นางเป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ ธัญญาหาร การเก็บเกี่ยว อันเป็นปากท้องของมวลมนุษย์ นางช่วยดลบันดาลในมนุษย์มีพืชผัก ผลไม้ ธัญญาหาร ข้าว แป้ง ไว้กินจนอิ่มท้อง เมื่อใดที่มนุษย์เริ่มต้นฤดูหว่านเมล็ดพันธ์ ทำไร่ไถนา ก็มิเคยลืมที่จะบูชาพระนาง เพื่อให้มีผลผลิตออกมาตามฤดูกาล พอสำหรับปากท้องตลอดปี
ด้วยประการฉะนี้ การบวงสรวงบูชาแด่เทพีดีมีเทอร์นั้น จึงมิได้ยิ่งใหญ่และจำเป็นต้องมีพิธีรีตรองมากมายเหมือนเทพเจ้าองค์อื่น ที่ต้องบูชายัญด้วยเลือดเนื้อสัตว์ และการสังเวย แต่บูชาด้วยการกระทำนอบน้อม การฝัดข้าว ปลูกข้าว และทำนา เพื่อให้ไร่นาอุดมสมบูรณ์ นางจะได้ช่วยคุ้มครองไร่นา และผลผลิตของพวกเขา
Demeter painting
ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมา จึงเหมาะสมแล้ว ที่ตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์และธัญญาหารจะต้องเป็นเทพกัญญา มิใช่เทพเจ้า ในเมื่อหน้าที่ของผู้ชายคือสู้รบ และไล่ล่า หน้าที่ของผู้หญิงก็คือการดูแลไร่นาและผลผลิตอยู่ที่บ้าน จะมีเทพแบบไหนกันที่จะเข้าใจพวกนางได้ดีที่สุเท่าเทพที่เป็นผู้หญิงด้วยกัน
อนึ่ง วิ่งสำคัญที่จะไม่พูดถึงนางมิได้เลย ก็คือนางยังเป็นเทพีที่เข้าใจความทุกข์โศกแห่งมวลมนุษย์เป็นอย่างดีกว่าเทพองค์ไหนๆ ด้วยตัวนางเอง ก็ต้องประสบพบเจอความทุกข์อันแสนสาหัสยิ่งนัก ด้วยเหตุนี้ นางจึงได้ชื่อว่าเป็นเทพที่เข้าใจและเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ ผ่านฤดูกาลที่ผันแปร
Demeter in Fate/Grand Order game
ก่อนที่จะไปถึงเรื่องราวความทุกข์โศกของนาง ผมจะขอเล่าประวัติของดีมีเทอร์สักเล็กน้อย นางเป็นหนึ่งในสิบสองเทพแห่งโอลิมปัส บุตรีแห่งโครนอส (Chronos) เทพแห่งกาลเวลา และรีอา (Rhea) เทพีแห่งการให้กำเนิด นางเป็นพี่สาวของซูส เทพบิดรผู้ปกครองแห่งสภาเทพโอลิมปัส (Olympus)
ก่อนที่ซุสจะมีมเหสีเป็นตัวเป็นตนอย่างเฮรา (Hera) ซุสก็ได้มีบุตรกับพี่สาวตนเองอย่างดีมีเทอร์เช่นกัน นั่นคือ เพอร์เซโฟเน (Persephone) (โรมัน : Proserpina) เทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิ ฤดูกาลที่งดงามที่สุด
Goddess Persephone statue
เพอร์เซโฟเน มีความงดงาม และความไร้เดียงสาเต็มเปี่ยม (maiden) อย่างเจ้าหญิงในการ์ตูนดิสนีย์โดยแท้ ดีมีเทอร์เองก็รักใคร่และหวงแหนในตัวบุตรสาวผู้นี้อย่างมากมายยิ่งนัก
เรื่องราวโศกนาฏกรรมเริ่มต้นตรงนี้ครับ
เผอิญว่าวันหนึ่ง ขณะที่เพอร์เซโฟเนกำลังเดินเล่นเพลิดเพลินอยู่กับทุ่งดอกนาร์ซิสซัส (ตำนานดอกนาร์ซิสซัสนี้น่าสนใจมากครับ ไว้ผมจะเล่าในครั้งต่อๆไป) เพียงลำพัง เผอิญว่า ฮาเดส (Hades) (โรมัน : Pluto) เทพแห่งโลกใต้พิภพ ราชาแห่งเหล่าคนตาย ที่นานๆทีจะโผล่ขึ้นมายังโลกมนุษย์ พระองค์ยังไม่มีมเหสีคู่กาย ผิดกับพี่น้องของพระองค์คือซุสกับโพไซดอน เมื่อได้ยลโฉมนางเพอร์เซโฟเน ก็เกิดรู้สึกพึงพอใจในตัวนาง อยากได้นางมาเป็นคู่ครอง
Hades statue
แต่จะทำอย่างไรครับ เมื่อนางเป็นบุตรีของดีมีเทอร์ ผู้หวงแหนบุตรสาวยิ่งกว่าสิ่งใด มีทางใดที่จะได้นางมา ด้วยความเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ เป็นถึงราชาแห่งอันเดอร์เวิลด์ แน่นอนว่า พระองค์ได้ “ฉุด” นางลงไปยังยมโลก
The Rape of Proserpina 1636-1637 (Peter Paul Rubens)
บัดนั้น ผืนแผ่นดินที่เพอร์เซโฟเนเหยียบย่างอยู่ก็เกิดสั่นสะเทือน และพลันแยกออก ฮาเดสขับราชรถเทียมอาชาดำทมิฬขึ้นมาทางรอยแยกแห่งพื้นพิภพ ก็คว้าข้อมือนางไปนั่งข้างกาย พาเทพธิดาผู้เลอโฉมไปยังโลกใต้พิภพ ท่ามกลางความตื่นตระหนกของเทพธิดาผู้ไร้เดียงสา
อีกตำนานหนึ่งก็ได้เล่าเสริมว่า…
แท้จริงแล้ว เพอร์เซโฟเนนั้น ตั้งใจจะประพฤติพรหมจรรย์ ตามเทพีเฮสเทีย (Hestia) เทพีแห่งเตาไฟ ผู้เป็นป้า และเทพีอาเธน่า (Athena) เทพีแห่งปัญญา กับ เทพีอาร์เทมิส (Artemis) เทพีแห่งพรานป่าและดวงจันทร์ ผู้เป็นพี่สาวต่างมารดา แน่นอนว่า เรื่องนี้ย่อมสร้างความไม่พอใจแก่ใครบางคน นั่นคือ เทพีอะโฟรไดท์ (Aphrodite) เทพีแห่งความรัก เสน่หา และ กามารมณ์ยิ่งนัก พรหมจรรย์ (Virginity) ย่อมเป็นศัตรูกับ ตัณหา (Lust) อยู่แล้ว การมีเทพีที่ประพฤติตัวเป็นพรหมจรรย์ถึง 3 องค์นั้นก็เพียงพอแล้วสำหรับนาง นางยอมมิได้เลย
บัดนั้น นางก็ได้นึกถึงฮาเดส ผู้ยังไม่มีมเหสีข้างกาย จึงต้องการจะให้เทพฮาเดส พาตัวนางเพอร์เซโฟเนไปเป็นมเหสีให้ได้ เพื่อตัดความขุ่นเคืองในใจนางลง
2
นางรอโอกาสให้ฮาเดสขึ้นมาบนโลก และให้ อีรอส (Eros) หรือกามเทพ บุตรของนางยิงศรแห่งรักปักไปที่กลางอกของฮาเดสเข้าอย่างจัง
เป็นที่รู้กันว่า ใครที่ถูกแผลงศรนี้เข้าจะต้องตกหลุมรักกับเพศตรงข้ามที่พบเห็นเป็นคนแรกหลังจากโดนปักศร และผู้หญิงคนแรกที่ฮาเดสได้พบคือ เพอร์เซโฟเนนั่นเอง
The rape of Proserpina
กลับมาที่ดีมีเทอร์ เมื่อนางได้ยินเสียงสั่นสะเทือนลั่นแผ่นดิน นางก็รู้ได้ทันทีว่า เป็นลางไม่ดีแน่ และนางก็พบว่าบุตรสาวสุดที่รักของนางได้หายตัวไปเสียแล้ว นางรู้สึกเศร้าโศกเสียใจมากยิ่งนัก นางใช้เวลาตามหาบุตรสาวถึงเก้าวันเก้าคืนโดยมิได้กลืนอาหารทิพย์ใดๆ ลงไปในท้องนางเลยแม้แต่นิดเดียว ไปถามหาจากผู้ใดก็ไม่มีใครกล้าจะเอ่ยปากบอกนาง เพราะไม่มีใครที่จะกล้าเอ่ยถึงฮาเดส เทพแห่งโลกคนตาย
จนนางพบกับเฮลิออส (Helios) เทพแห่งดวงอาทิตย์ (ไม่ใช่อะพอลโล่นะครับ อะพอลโลเป็นเทพแห่งแสงสว่าง ดนตรี สัจจะ และการพยากรณ์ และเชื่อว่ามารับหน้าที่ต่อจากเฮลิออส) เฮลิออสนั้นเป็นพระอาทิตย์ ย่อมรู้เห็นเหตุการณ์เบื้องล่างบนผืนแผ่นดินทั้งหมด จึงได้บอกความจริงแก่นางไป ว่าเพอร์เซโฟเนนั้น ได้ถูกพาตัวไปยังโลกเบื้องล่างใต้พิภพ ท่ามกลางผู้วายชนม์
เมื่อทราบความจริง นางกลับทุกข์ทวีขึ้นอีกคณานับ ยมโลกเป็นสถานที่ที่มิได้พิศมัยแต่อย่างใดเลย และไม่มีวันทราบว่าจะได้กลับมาไหม นางก็ทุกข์โศกเสียใจยิ่งแสนจะหยั่งถึง ก็ทำให้พืชพรรณ ธัญญาหารบนโลกนั้นแห่งเหี่ยวไป มันเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดแห่งมนุษยชาติจริงๆ ไม่มีสิ่งใดที่เติบโตขึ้นมา ไม่มีเมล็ดพันธุ์ใดงอกงาม ทำไร่ไถนาไปก็ไม่มีประโยชน์
Demeter mourning for Persephone 1906 (Evelyn de Morgan)
ใชครับ นี่แหละ ฤดูหนาว (Winter) ฤดูหนาวในแถบทวีปยุโรป ถือได้ว่าเป็นนรกโดยแท้จริง ทำการใดๆมิได้เลย ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น มนุษย์ก็พลันจะอดตายกันอยู่รอมร่อ นั่นก็มาจากความโศกเศร้าของนาง ที่ต้องสูญเสียลูกสาวไป
เมื่อเห็นเรื่องราวดังนี้แล้ว ซุส เทพบิดรผู้มองเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มจากเบื้องบน พูดในอีกนัยหนึ่งคือ ซุสเองก็อาจจะรู้เห็นเป็นใจในเหตุการณ์ครั้งนี้เช่นกัน ในฐานะเจ้าสวรรค์ เพื่อไม่ให้มนุษย์ต้องสูญสิ้นเพราะอดตาย ต้องทำอะไรซักอย่างแล้ว
ซุสจะตัดสินใจอย่างไร ทางออกของปัญหาในครั้งนี้คืออะไร ฤดูหนาวจะจบลงเมื่อไหร่ และเทพีเพอร์เซโฟเนจะได้กลับสู่อ้อมอกของมารดาอย่างดีมีเทอร์ผู้แสนโศกเศร้าหรือไม่ รอติดตามใน part 2 ครับ จะเป็นตอนจบของดีมีเทอร์
ก่อนจะลากัน ขอเตือนไว้อย่างยิ่งนะครับ ว่านิทานกรีก ไม่เหมาเล่าเป็นนิทานก่อนนอนแก่เด็กๆนะครับ เพราะอะไร ทุกท่านที่ติดตามมาจนถึงตอนนี้ก็คงจะทราบดีกันแล้ว สวัสดีครับ
@Krishna

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา