4 เม.ย. 2021 เวลา 08:00 • หนังสือ
✴️ บทที่ 1️⃣ ความท้อแท้ของอรชุน
(ตอนที่ 11) ✴️
🌸 “กองทัพฝ่ายจิตวิญญาณ” กับ “กองทัพฝ่ายวัตถุ” 🌸
⚜️ โศลก 2️⃣ ⚜️ หน้า 52 – 57
โศลกที่ 2️⃣
สัญชัยทูล :
เมื่อทุรโยธน์ได้เห็นขบวนทัพของเหล่าปาณฑพเคลื่อนเข้ามาในสมรภูมิ เธอเข้าไปใกล้อาจารย์ (โทรณ) และกล่าวถ้อยคำดังนี้:
“สัญชัย (การใคร่ครวญอย่างไร้อคติของอรชุนผู้ภักดี) ได้เปิดเผยว่า :
“ 'เมื่อเห็นกองทัพของพี่น้องปาณฑพ (วิจารณญาณ) เคลื่อนขบวนมาทำสงครามในจิตใจ (พร้อมที่จะฟาดฟันกับผัสสอินทรีย์) ทุรโยธน์ (กามตัณหา ทายาทของมนัสที่มืดบอด) จึงได้เข้าไปขอคำปรึกษาจากอาจารย์โทรณ (สังสการ อนุสัยของความคิดและการกระทำในอดีตที่กระตุ้นให้เกิดการกระทำซ้ำ ๆ)' ”
▪️ทุรโยธน์: สัญลักษณ์ของความใคร่ในกาม▪️
ธฤตราษฎร์จักษุบอดมีบุตรร้อยคน ทุรโยธน์เป็นบุตรคนแรก และได้ครองราชย์แทนบิดาผู้จักษุบอด เขาจึงอยู่ในฐานะราชา ซึ่งวิเคราะห์ในเชิงอุปมาได้ว่า ทายาทหนึ่งร้อยของมนัสที่มืดบอด (ธฤตราษฎร์) รวมไว้ด้วยญาเณนทรีย์ทั้ง 5️⃣ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) — และกรรเมนทรีย์ (กรรม) ทั้ง 5️⃣ (การพูด การกระทำ การเคลื่อนไหว การสืบพันธุ์ และ การขับถ่าย) ซึ่งต่างก็มีนิสัยแตกต่างออกไปเป็นสิบ
เมื่อรวมกันทั้งหมดทายาทของมนัสจึงมีหนึ่งร้อย บุตรคนโตคือทุรโยธน์เป็นตัวแทนของความใคร่ใน กามตัณหา – ลูกคนแรก ซึ่งมีอำนาจเหนืออินทรีย์อื่น ๆ ในอาณาจักรกาย เป็นที่รู้กันว่าเขาคนนี้ชอบก่อหรือเป็นต้นเหตุของสงครามฝ่ายอธรรม นามทุรโยธน์อุปมาจากคำว่า ทุร - ยุทธม ยาห สห “ยากที่ใครจะต่อต้าน” จริงๆแล้วชื่อนี้มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤต ทุร “ยาก” กับ ยุทธ “ต่อสู้”
ความใคร่ในกามนี้มีอำนาจมากเหลือเกิน เพราะมันเป็นราชาและเป็นผู้นำของความสุขทางโลกทั้งหลาย ทั้งยังเป็นเหตุและเป็นตัวการก่อสงครามกับฝ่ายวิญญาณซึ่งมีความชอบธรรมที่จะอ้างสิทธิ์เหนืออาณาจักรกาย
โศลกที่ 2️⃣ ของคีตาชี้ให้เห็นว่า ทันทีที่ผู้แสวงหาทางจิตวิญญาณเริ่มใคร่ครวญ เพื่อปลุกเร้าและฝึกสมาธิให้แก่ทหารฝ่ายปัญญา 'ความใคร่ในกาม' หรือ 'กิเลสราชา' จะแสดงอาการต่อต้านทันที ด้วยความกลัวว่าจะสูญเสียอาณาจักรกายและอาณาจักรใจไป กามตัณหาจึงเสริมพลังของตนด้วยการปรึกษากับ 'อาจารย์โทรณ' ซึ่งเป็นตัวแทนของ 'สังสการ' ซึ่งคือ ความรู้สึกซึ่งเกิดจากความคิดและการกระทำในอดีตที่ฝังอยู่ในจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก
▪️โทรณะ : จริตนิสัยที่ทรงพลังอำนาจ▪️
นาม 'โทรณ' มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤต ทรุ “ละลาย”★ โทรณจึงมีนัยหมายถึง “สิ่งที่อยู่ในภาวะละลาย” ความคิดหรือการกระทำใด ๆ เมื่อได้กระทำไปแล้วจะไม่หยุดอยู่แค่นั้น แต่มัน จะยังอยู่ในจิตสำนึกในภาวะที่ละเอียดยิ่ง หรืออยู่ในรูปของความรู้สึกที่ “ละลาย” อยู่ภายใน เราเรียกสิ่งนี้ว่า 'สังสการ' ซึ่งเป็นสิ่งที่จะกระตุ้นแรงขับ หรือแนวโน้มที่จะส่งผลให้พุทธิปัญญาคิดและกระทำสิ่งนั้น ซ้ำๆ ซึ่งเมื่อทำนานไป แรงกระตุ้นนี้จะกลายเป็นนิสัยสันดาน
★แต่เดิมนั้น นักปราชญ์ให้ความหมายรากคำ ทรุ ในนามของโทรณด้วยอีกความหมายหนึ่ง “ไม้ หรือ เครื่องมือที่ทำด้วยไม้” เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องราวของโทรณ ที่ว่ามหาฤษีเสกให้เขาเกิดในกระบอกไม้
ในบริบทนี้เราจึงอาจแปล 'สังสการ' ได้ว่าหมายถึง – “จริต แนวโน้ม หรือ แรงกระตุ้นภายใน หรือ นิสัย” อาจารย์โทรณเป็นสัญลักษณ์ของสังสการ ซึ่งนิยามอย่างกว้างๆได้ว่า #แนวโน้มภายในหรือจริตนิสัย
ตามประวัติเรื่องราวในมหาภารตะนั้น โทรณเป็นยอดอาจารย์ผู้สอนศิลปะการยิงธนูแก่ทั้งพี่น้องเการพและพี่น้องปาณฑพ แต่ในการยุทธ์ครั้งใหญ่นี้โทรณอยู่ฝ่ายเการพ
แนวโน้มที่จะแยกดีชั่วได้ของฝ่ายวิญญาณอันบริสุทธิ์ (พุทธิ) กับจิตผัสสะ (มนัส) ที่มีแนวโน้มไปทางชั่ว – ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับการอบรมสั่งสอนจากแนวโน้มภายใน (โทรณ) การยุทธ์นี้จึงเป็นศิลปะของการชิงชัย ระหว่าง “ศัสตราซึ่งเปิดเผยปัญญาแห่งวิญญาณ” กับ “ศัสตราของจิตผัสสะที่ปิดบังความจริง”
แรงกระตุ้นจาก 'สังสการ' ถ้าเป็นไปในทางดี จะช่วยให้ความคิด การกระทำ และนิสัยเป็นไปในทางดี – แต่ถ้ากระตุ้นไปในทางชั่ว ก็จะทำให้เกิดความคิดชั่ว ซึ่งนำไปสู่การกระทำและนิสัยชั่ว เช่นเดียวกับตาของนกที่มองได้ทีละข้าง โทรณ สังสการ หรือ ปัญญาที่ถูกนิสัยชักนำ จะมองเพียงด้านเดียว #แล้วสนับสนุนจริตที่มีกำลังมากกว่า
อาจารย์โทรณหรือแรงกระตุ้นภายในเข้าร่วมกับจิตที่มีจริตชั่ว (เการพ) เมื่อจริตนี้ครอบงำมนุษย์ ดังนั้น ถ้าสังสการหรือนิสัยที่โอนเอนไปทางผัสสะไม่ได้รับการขัดเกลาด้วยปัญญา มันจะเดินตามทุรโยธน์ หรือ กิเลสราชา ด้วยเหตุนี้ ในสงครามกุรุเกษตรที่ผู้ภักดีหวังได้ชัยชนะ โทรณหรือปัญญาที่ถูกนิสัยชั่วครอบงำจึงได้เข้าร่วมกับฝ่ายเการพ หรือจิตที่มีแนวโน้มชั่ว ไปช่วยพวกเขาเหนี่ยวศรแห่งความชั่ว ยิงใส่อำนาจฝ่ายปัญญาญาณ
▪️ยุทธศาสตร์การต่อสู้ของ 'กามตัณหา' และ 'กิเลสนิสัย'▪️
#กิเลสหรือกามตัณหา คือนายผู้เกรียงไกรในคนที่ไม่บำเพ็ญสมาธิภาวนา อำนาจของความอยากนี้เองที่ล่อลวงมนุษย์ให้เดินตามความเพลิดเพลินทางผัสสะมากกว่าที่จะเดินไปตามทางของความสุขทางจิตวิญญาณ คนทั่วไปไม่รู้ถึงความปีติเบิกบานที่ไหลหลั่งจากการบำเพ็ญสมาธิภาวนา พวกเขาจึงปล่อยตนไปตามความเพลิดเพลินของผัสสอินทรีย์ แต่ทันทีที่การปฏิบัติสมาธิภาวนาปลุกความรู้ดีรู้ชั่วของเขาขึ้นมาได้ และผู้ภักดีได้ลิ้มรสความเบิกบานอันแท้จริงของโลกแห่งวิญญาณ กิเลสราชาจะตกใจ เริ่มเสริมฐานะของตนด้วยการเรียกหาโทรณ — ทำให้จิตมนุษย์หวนคิดไปถึงความเพลิดเพลินที่เคยสำเริงสำราญในอดีต
กิเลสราชาที่เกิดอาการอยากได้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอนั้นอาจพิชิตได้ง่ายด้วยการใช้วิจารณญาณพิจารณาได้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว #แต่กิเลสราชาที่มีจริตนิสัยเป็นตัวสนับสนุนนั้น #ยากที่เอาชนะได้ด้วยการใช้วิจารณญาณแยกแยะดีชั่ว ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของราชาฝ่ายวัตถุจึงต้องพยายามเอาชนะแนวโน้มฝ่ายพุทธิปัญญา (ปัญญาแยกแยะ) ด้วยการหลอกล่อให้ระลึกถึงความสุขของนิสัยเลวๆที่ผ่านมา
ผู้แสวงหาทางจิตวิญญาณทั้งหลาย จงระวัง❗ ทันทีที่ผู้แสวงหาจิตวิญญาณพยายามทำสมาธิเพื่อปลุกพลังการควบคุมตนและปลุกพลังแห่งพุทธิปัญญา เขาจะพบว่า กิเลสราชาจะเย้ายวนเขาด้วยวิธีการต่างๆนานา ความอยากใหม่ๆจะเข้ามาในความคิดเพื่อดึงเขาไปจากการทำสมาธิ
“มีหนังดีมากเลยที่โรงหนังใกล้ ๆ นี่เอง.... รายการโทรทัศน์ที่เธอชอบมาแล้ว... จำได้มั้ย เธอจะโทรศัพท์ไปชวนเพื่อนให้มาร่วมงานสังสรรค์สัปดาห์หน้าได้เวลาแล้วที่จะทำงานที่คั่งค้าง... เธอทำงานหนักมาตลอด นอนสักหน่อยเถอะ เอาเถอะน่าอย่าคิดถึงมันเลย สมาธินี่เธอจะทำเมื่อไหร่ก็ได้”
บ่อยครั้งที่ “เมื่อไหร่ก็ได้” #ไม่เคยมาถึงเลย แม้แต่ผู้อุทิศตนที่ตั้งใจจริงพยายามจะต่อต้านการเย้ายวนเหล่านี้แล้วนั่งสมาธิ เขาก็ยังถูกคุกคามจาก นิสัยเดิมๆที่ชอบกระวนกระวาย ชอบง่วงเหงาหาวนอน และไม่สนใจในจิตวิญญาณ
ผู้ภักดีที่มีศรัทธาควรรู้ถึงอันตรายเหล่านี้ การลองดีที่อาจเอาชนะได้ง่ายถ้าปัญญาเตือนเขาเสียก่อนด้วยการใช้ญาณปัญญาใคร่ครวญ เขาจะเห็นเล่ห์เพทุบายนานาของราชาผู้ใคร่ในกาม
ผู้ที่จิตใจไม่สงบ แล้วยังไม่อบรมบ่มเพาะพุทธิปัญญาและการควบคุมตนจะตกเป็นเหยื่อของทุรโยธน์ – ความเย้ายวนทางวัตถุ และโทรณ – แรงกระตุ้นจากนิสัยในอดีตของสังสการ ให้หลงใหลในความเพลิดเพลินทางผัสสะและไม่เอาใจใส่ต่อจิตวิญญาณ มนุษย์โลกีย์ผู้โง่เขลามักต่อต้านการแนะนำใดๆที่จะให้เขาสำรวจเข้าไปในความเกษมนิรันดร์อันลึกล้ำ ไม่ฟังเสียงกระซิบจากปัญญาญาณภายใน ซึ่งสัมผัสได้ด้วยการปฏิบัติสมาธิภาวนา เพ่งจิตที่ศูนย์ทิพย์แห่งชีวิตและจิตตามแนวไขสันหลัง และที่วิญญาณจักษุบนหน้าผาก (จุดกลางระหว่างคิ้ว)
การปล่อยตัวตามกิเลสอยู่เสมอ ทำให้ปุถุชนตกอยู่ในบ่วงผัสสอินทรีย์ ความสุขฉาบฉวยของเขาจำกัดอยู่แค่ความสุขทางเนื้อหนัง ซึ่งเป็นความสุขที่ ให้ความเพลิดเพลินได้เร็วและผ่านไปเร็ว แต่มันได้ปิดประตูความสุขบริสุทธิ์ที่นำความเบิกบานอย่างยั่งยืนมาให้ – ความสงบอันประเสริฐและการเห็นล้ำเลิศที่เกิดขึ้น เมื่อจิตของโยคีผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนาหันเหจากอายตนะภายนอก เข้าสู่จักรวาลแห่งบรมวิญญาณในตน อารมณ์ภายนอกที่ไร้ความยั่งยืนไม่อาจทดแทนกันได้กับสวรรค์ภายใน❗
▪️ความเคยชินทำให้มนุษย์กลายเป็น 'มนุษย์หุ่นยนต์'▪️
อย่างดีที่สุด ชีวิตของมนุษย์ปุถุชนมีแต่เรื่องซ้ำๆอันน่าเบื่อ เขาตื่นนอนตอนเช้า อาบน้ำ สบายใจกับความรู้สึกสดชื่นหลังการอาบน้ำ กินอาหารเช้า รีบไปทำงาน เริ่มเหนื่อยล้า สดชื่นอีกครั้งเมื่อได้พักกินอาหารกลางวัน แล้วกลับไปทำงานต่อ สุดท้ายก็ได้กลับบ้านอย่างเหนื่อยหน่ายไร้สุข อาหารค่ำซึ่งเป็นอาหารมื้อหลักก็ถูกขัดจังหวะด้วยเสียงต่างๆจากวิทยุหรือ โทรทัศน์ และบ่อยๆคือเสียงพูดอย่างอารมณ์เสียจากภรรยาหรือลูกๆ คนตามแบบฉบับนี้อาจผ่อนคลายได้ช่วงสั้นๆด้วยการชมภาพยนตร์หรือไปร่วมงานสังสรรค์แล้วกลับบ้านดึก จากนั้นก็อ่อนเพลียแล้วก็หลับอย่างเอาเป็นเอาตาย ชีวิตอะไรกันเช่นนี้❗ แต่เขาก็ยังทำสิ่งเดิมซ้ำๆอย่างไร้จินตนาการอยู่ร่ำไปในช่วงเวลาดีที่สุดของชีวิต
1
นิสัยและความเคยชินเช่นนี้ ทำให้มนุษย์กลายเป็นเหมือนเครื่องจักร #มนุษย์หุ่นยนต์ที่มีอาหารเป็นเชื้อเพลิง ทำสิ่งต่างๆอย่างอัตโนมัติด้วยความเหนื่อยหน่าย ไร้ชีวิตจิตใจ ไร้แรงบันดาลใจ ขาดความผ่องใส เอาแต่นอนกับทำสิ่งซ้ำๆอยู่วันแล้ววันเล่า
1
ภควัทคีตาเตือนว่ามนุษย์ต้องหลีกเลี่ยง “การมีชีวิตอย่างซังกะตาย” เช่นนี้ หลายๆโศลกประกาศว่า การติดต่อกับพระเจ้าด้วยโยคะสมาธิที่ให้ความ เกษมสุขใหม่ๆตลอดกาลจะทำให้จิตสำนึกประเสริฐอยู่กับเขาตลอดเวลา แม้ในช่วงที่กระทำกิจในชีวิตประจำวัน การขาดความยินดี ความเบื่อหน่าย และอาการไร้สุขเป็นผลจากการใช้ชีวิตแบบกลไก ส่วนการรับรู้ทางจิตวิญญาณอันไร้ขีดจำกัด ซึ่งได้จากการทำสมาธินั้น จะกระซิบให้แรงดลใจให้เกิดญาณปัญญาอย่างเหลือคณนา เพิ่มพูนความมีชีวิตชีวาและการรู้แจ้งให้แก่ชีวิตทุกแง่มุม
คีตาไม่ได้สอนว่า 'การใช้ผัสสอินทรีย์อย่างกอปรด้วยปัญญาและการควบคุมตนเป็นบาป' และไม่ได้สอนว่า 'การมีชีวิตครอบครัวที่ซื่อสัตย์ถูกทำนองคลองธรรมเป็นบาป' — #แต่คีตาเตือนผู้แสวงหาทางจิตวิญญาณว่าอย่าปล่อยให้สิ่งเหล่านี้บดบังหน้าที่หลัก คือ #การแสวงหาพระเจ้าและการหยั่งรู้ตน
เมื่อชีวิตตกอยู่ในร่องนิสัยใฝ่วัตถุและความเพลิดเพลินทางผัสสะ มันจะหลงลืมพระเจ้าและไม่อยากแสวงหาความสุขที่เพิ่มพูนอย่างยั่งยืนจากธรรมชาติแท้จริงของวิญญาณ อันได้จากการทำ สมาธิภาวนา ความสุขและความสงบในจิตใจจะเป็นอันตราย เมื่ออารมณ์ฝ่ายผัสสะมาแทนที่การเห็นทางจิตวิญญาณ คนที่ถ่วงความสุขทางวิญญาณให้เป็นทาสอยู่ในโคลนตมแห่งผัสสะ ไม่ฟังคำเตือนของเหตุผลและจิตสำนึกอย่างนี้ ถ้าไม่เรียกว่าคนโง่แล้วจะเรียกว่าอะไรได้อีก
#การติดบ่วงมายานี้แหละคือประเด็นที่ภควัทคีตานำมากล่าว สุขผัสสะที่กระทำด้วยญาณปัญญาและการควบคุมตน ไม่ทำให้มนุษย์ผู้หยั่งรู้ตนตกเป็นทาสของสิ่งนั้น โยคีจะรู้ความสุขนี้หลังจากที่ท่านปฏิบัติสมาธิภาวนาจนสามารถติดต่อกับพระเจ้าได้อย่างแท้จริง
1
โศลกที่ 2️⃣ ของภควัทคีตาจึงได้เตือนผู้แสวงหาทางจิตวิญญาณว่า ทุรโยธน์ (กามตัณหา) จะกระตุ้นโทรณ (ผัสสจริต) ให้ต่อสู้กับพลังวิจารณญาณของวิญญาณ
เมื่อปล่อยให้ผัสสอินทรีย์ (เการพ) ควบคุมอาณาจักรกาย อำนาจการใคร่ครวญและปัญญาญาณของมนุษย์จะถูกกองทัพฝ่ายผัสสะเนรเทศให้ไปอยู่เงียบๆติดต่อกับใครไม่ได้ อำนาจเผด็จการของทุรโยธน์ที่ได้รับการสนับสนุนจากโทรณ (นิสัย) นั้นมีอำนาจล้นเหลือ แต่เมื่อผู้ภักดีพร้อมที่จะสนับสนุนจริตฝ่ายวิจารณญาณ (พี่น้องปาณฑพ) เพื่อช่วยให้เขาเหล่านี้มีชัยชนะ ความใคร่ในกามกับแรงกระตุ้นของโทรณ ผู้พิทักษ์ความชั่ว ก็จะถูกขับออกไปอย่างรวดเร็ว
1
(จบ)(โศลก 2 : บทที่ 1)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา