29 เม.ย. 2021 เวลา 23:00 • ปรัชญา
ไตร่ตรองมองหลัก(๑๔)
ว่าที่จริงแล้วพุทธศาสนาทั้งหมด ไม่ว่าในจีน ในญี่ปุ่น ในทิเบต ในไทย ที่เป็นแก่นเป็นเรื่องวัชรยานทั้งสิ้น คือ การเข้าถึงอย่างฉับพลันทันใด
วัชรยานดูไปแล้วละม้ายคล้ายกับการเอาหนามบ่งหนาม เอาน้ำกรอกหูเมื่อน้ำเข้าไปในหู เป็นการกระทำซึ่งดูคล้ายๆ ว่าต้องทำเข้าไปอย่างนั้น เพื่อไล่สิ่งนั้นที่ค้างคาอยู่ หรือเหมือนวัคซีนที่ฉีดเข้าไป เขาฉีดเชื้อโรคเข้าไปนั่นเอง เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรค
วัคซีนก็คือเชื้อโรคที่ฉีดเข้าไปและเพื่อที่จะให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน หรือพูดง่ายๆ อีกทีว่า ภายในช่วงที่เร่าร้อนด้วยกิเลสตัณหา ถ้าในขณะนั้นสามารถดำรงสติสมปฤดีไม่ให้ฟั่นเฟือนได้ นั่นคือทางออก
เพราะว่านักกระโดดข้ามรั้วที่ไม่มีรั้วให้ข้ามนั้น ไม่ชื่อว่าเป็นนักกระโดดข้ามรั้วได้ ต้องมีรั้วให้กระโดด ถ้าไม่มีรั้วแล้วบอกว่า เป็นนักกีฬาข้ามรั้วคงไม่ได้แน่
ความสำคัญของวัชรยานไม่ได้อยู่ตรงการใช้กามารมณ์ หรือกินเนื้อ หรือกินเหล้า อย่าเข้าใจผิดไป มันไปอยู่ตรงมนสิการ (ทบทวนมนสิการ ๔ จากบทคัดย่อที่แล้ว)นี่แหละ
เพราะว่าเมื่อมนสิการอันนี้ได้แล้ว ต่อจากนั้นอะไรก็ตามในชีวิตประจำวันย่อมใช้ได้ ทั้งเรื่องกาม เรื่องอื่นๆ ทุกๆ เรื่อง เพราะว่าโดยธรรมดามันก็เป็นอยู่แล้ว คนก็ร่วมเพศกันอยู่แล้ว คนก็ดื่มกันอยู่แล้ว แต่เขาไม่สามารถทำให้อุปสรรคให้เป็นอุปการะได้
ผมได้อธิบายเรื่องที่เป็นอันตรายที่สุด ทำนองว่าเอายาพิษมาห่อแล้วบอกว่ากินผิดตาย กินถูกหาย ทั้งหมดนี้ความสำคัญของวัชรยานอยู่ที่วัชรญาณ ญาณสายฟ้าแลบที่เกิดขึ้น เนื้อหาปฏิบัติอยู่ที่มนสิการสี่และพละ สุตะพละ สัมปชัญญะพละ ปัญญาพละ สมาธิพละ อะไรเหล่านี้ เมื่อพละเหล่านี้พร้อมเพรียงแล้ว มีมนสิการอยู่บนฐานทั้งสี่แล้ว อะไรก็ได้ที่จะช่วยให้ตื่น
เราจะเห็นได้ว่า วัชรยานแม้มีเรื่องกาม เรื่องดื่มเหล้า เรื่องดนตรี ดนตรีถือว่าเป็นการเร่งเร้าพลังได้ เมื่อเราได้ยินดนตรีที่จัดระเบียบโน้ตไว้อย่างดีแล้วก็เกิดอารมณ์ ผมบอกแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องของขบวนการเคมีชีวะ ไม่ใช่เรื่องเปลี่ยนแปลงทางจริยธรรม
เมื่อใช้เครื่องดนตรีเร้า เราจะพบว่าเมื่อดนตรีมีจังหวะจะโคนอย่างหนึ่งอย่างใด มันก็ส่งผลกระทบระบบสัมผัสในร่างกาย ดังนั้นชาวมหายาน โดยเฉพาะชาววัชรยานนั้นไม่ค่อยพูดเรื่องอื่นหรอก นอกจากเรื่องของกาย
เช่น กายสาม : สัมโภคกาย นิรมาณกาย ธรรมกาย อะไรเหล่านี้ถือว่ากายเท่านั้น เป็นเรื่องสัมผัสได้ทั้งสิ้น
ลักษณะเด่นอันหนึ่งก็คือไม่พูดถึงมาร เถรวาทเราพูดถึงมารในฐานะเป็นอุปสรรค มารผจญ วัชรยานหรือมหายานถือว่ามารนั่นแหละเป็นเครื่องช่วยให้พระพุทธเจ้ารู้ตัว ตื่นขึ้น มารก็เป็นส่วนหนึ่งของพุทธะ
ที่จริงพุทธศาสนาเถรวาท หินยานนี่ก็มีสิ่งดีมากมาย อย่างภาษิตทางเหนือนี่เห็นชัดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน "มารบ่มี บารมีบ่แก่" ชาวเหนือพูดกันติดปากถ้ามารไม่มี รับรองบารมีไม่ถึงที่สุด ต้องมีมารผจญนี่แหละ
ถ้าพูดไปแล้ว เถรวาท หินยาน มหายาน จริงแล้วแยกจากกันไม่ได้เลย เนื้อหาสาระทั้งหมดคือการตรัสรู้ การบรรลุโพธิญาณ แต่เนื่องจากมีวิธีคิดวิธีมองลุ่มลึกต่างกัน มองกว้างแคบต่างกัน
บรรยายแก่นักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
จากหนังสือไตร่ตรองมองหลัก
พิมพ์ครั้งแรก พ.ย. ๒๕๓๓

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา