16 เม.ย. 2021 เวลา 13:44 • นิยาย เรื่องสั้น
Greek Mythology ตอนที่ 9 : ไอโอ - หนึ่งในชายาแห่งซุส วิบากกรรมของหญิงสาว กับตำนานวัวข้ามทวีป
Zeus and Io (Paris Bordone) - Kunstmuseum, Göteburg
สวัสดีครับทุกคน กลับมาผมกันอีกครั้ง วันนี้ผม @Krishna จะมาเล่าเรื่องราวของ ชายาอีกองค์ของเทพซุส เธอเป็นสาวงามอีกคนหนึ่ง ผู้ต้องประสบพบเจอกับโชคชะตาสุดแสนจะรันทด ตกระหกระเหินเร่ร่อนไป จนกว่าจะพ้นวิบากกรรม แน่ล่ะครับ จะมีใครบ้าง ที่จะรอดจากเงื้อมมือของมเหสีเอกอย่างเฮราไปได้
1
ชื่อของนาง อาจจะทำให้พวกท่านนึกถึงอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศบางประเทศมาแล้ว โดยใครบางคน กลุ่มคนบางกลุ่ม ที่อาจนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Divide and Conquer หรือ ‘แบ่งแยกแล้วปกครอง’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างใหญ่หลวง
แต่ช่างมันเถอะครับ ผมคงพูดไปมากกว่านี้ไม่ได้ เดี๋ยวจะไม่ได้เข้าประเด็นหลักของเรากัน ใช่แล้วครับ ชื่อของนาง คือ ไอโอ (Io) หนึ่งในบรรพบุรุษแห่งเหล่าวีรชน
เรื่องราวเปิดม่านขึ้นดังนี้…
ครั้งหนึ่ง ณ เทือกเขาคอเคซัส (Caucasus Mt.) ที่แห่งนั้น เป็นที่พันธนาการเทพองค์หนึ่ง ผู้ถูกโทษทัณฑ์แห่งสวรรค์ เพราะเขา ได้ขโมยไฟแห่งสวรรค์ ลงไปมอบให้มนุษย์ และสอนให้พวกเขารู้จักใช้ไฟ นั่น ก็ทำให้มนุษย์ ได้รู้จักการใช้ไฟ ไฟ คือสิ่งที่จุดประกายแห่งอารยธรรมมนุษย์ขึ้นมา และนั่น ก็ทำให้เทพเจ้าพิโรธ
Prometheus meets Io in Ox form
ใช่แล้วครับ เทพองค์นั้น คือโพรมีธีอุส (Prometheus) เขาถูกล่ามโซ่เอาไว้ ทับด้วยศิลาใหญ่ ตับของเขา จะถูกโฉบลงมากินไปในยามเช้า โดยนกอินทรี ยามเย็น ตับใหม่ก็จะงอกกลับมา เป็นความทรมานเช่นนี้เรื่อยไป ทุกวันเดือนปี ไม่รู้จบ นี้แล วิบากกรรมของเทพ ผู้โอบอุ้มมวลมนุษย์
Prometheus Being Chained by Vulcan by Dirck Van Baburen, 1623
วันหนึ่ง มีแขกที่ไม่ได้รับเชิญมาหาเขา อาคันตุกะผู้นั้น ไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นสัตว์สี่เท้า เนื้อตัวสกปรกมอมแมม และเต็มไปด้วยบาดแผลสะบักสะบอม ราวกับหลบหนีมาจากที่อันห่างไกล วัวตัวนี้ ได้เอ่ยปากถามไถ่ผู้ต้องทัณฑ์บนเนินเขานี้
“ท่านคือใคร เหตุไฉนจึงต้องโทษทัณฑ์ที่แสนสาหัสเช่นนี้”
ผู้ถูกล่ามโซ่เอ่ยปากตอบกลับไปว่า
“เจ้ากำลังพูดอยู่กับโพรมีธีอุส ผู้มอบไฟแก่มนุษย์”
เมื่อได้ยินดังนั้น นางวัวก็รู้สึกประหลาดใจ และซาบซึ้ง จึงตอบกลับไปว่า
“โอ ท่านน่ะหรือ ท่านผู้โอบอุ้มมวลมนุษย์ ท่านน่ะหรือ ผู้กล้าหาญและเสียสละ เพื่อพวกเรา โพรมีธีอุส หากเช่นนั้นแล้ว ข้าก็คงจะได้นั่งลง แล้วระบายความทุกข์ที่ข้าได้ประสบมาแก่ท่าน ด้วยเราสองคนต่างต้องเคราะห์กรรมมาอย่างสาหัสมิต่างกัน เผื่อว่าจะได้บรรเทามันลงได้บ้าง”
โพรมีธีอุสนั้นรู้จักนาง เพราะเขามีความสามารถในการมองไปยังอนาคตอันไกลออกไปได้
“ข้ารู้จักเจ้านะ ไอโอ ธิดาแห่งอินาคัส ราชาแห่งอาร์กอส เจ้าทำให้หัวใจของเทพบิดรร้อนรุ่ม เฮราก็พลันชิงชังเจ้า จนเจ้าต้องเตลิดหนีมาจนถึง ณ ที่แห่งนี้”
ว่าแล้ว ไอโอก็เล่าเรื่องราวของนางตั้งแต่ต้น
เท้าความสักนิด ไอโอ (Io) คือธิดาแห่งอินาคัส (Inacus) ราชาแห่งเมืองอาร์กอส (Argos) ตัวของอินาคัส เป็นบุตรแห่งเทพไททันโอเชียนัส (Oceanus) เจ้าแห่งแม่น้ำสายใหญ่ที่ล้อมรอบพิภพโลกเอาไว้ และเทพีเธทิส (Thetis) ซึ่งเทพีเธทิส จะมีบทบาทในเรื่องราวของวีรบุรุษเลื่องชื่อในอีกต่อไป
เกร็ดความรู้ : คำว่าโอเชียน (Ocean) ที่แปลว่า มหาสมุทร ก็มีรากศัพท์มาจาก เทพโอเชียนัส (Oceanus) นั่นเองครับ
ไอโอนั้น รับหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้บวงสรวงต่อเทพีเฮรา เทวราชินี มเหสีตัวจริงของซุส นี้เองกระมัง จึงทำให้ซุสได้ยลโฉมนาง ผ่านพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธ์ของเมียตัวเอง ตามอุปนิสัยของซุส พวกท่านคงจะทราบกันดีอยู่แล้ว กามราคะได้เข้าเกาะกุมหัวใจของซุสเข้าเสียแล้ว
ในตอนแรก ก็ส่งภาพนิมิตเข้ามาในฝันของนาง เกี้ยวนางในภาพฝันนั้นทุกคืน ทุกคืน
จนกระทั่งซุสหาจังหวะลงมา แล้วจัดการสมสู่กับนาง โดยสร้างเมฆหมอกมาห่อหุ้มในขณะที่กำลังร่วมรักกัน หมอกนี้ก็ช่างหนามากจะกลายเป็นปรากฏการณ์ผิดสามัญ ซี่งก็แน่นอนแล้วว่า เฮรา ผู้เป็นมเหสีได้รู้เรื่องนี้เข้าเสียแล้ว…ถึงสาเหตุของปรากฎการณ์พิสดารนี้
Io - Francōis Lemoyne (1688-1737)
ประจวบเหมาะกับว่า ซุสไม่ได้อยู่ที่นี่ ณ โอลิมปัสในเวลานี้ แถมยังเกิดหมอกหนาขึ้นพร้อมกัน นั่นไม่ใช่ฝีมือใครอื่น ว่าแล้วไฟโทสะในตัวนางก็ลุกโชน นี่ก็เป็นอีกครั้งที่นางจะต้องไปกำราบผู้หญิงตัวกีที่บังอาจมาหมิ่นเกียรตินาง แถมในครั้งนี้ ยังเป็นหญิงผู้บวงสรวงแก่นางเสียเอง
เมื่อเฮราลงมาที่โลกมนุษย์ ณ ที่แห่งนั้น ซุสเองก็รู้สึกได้ถึงภัยที่กำลังจะมาหาตัว จึงจัดการเสกนางไอโอ ให้กลายเป็นวัวเผือกตัวหนึ่ง พร้อมสั่งการให้ราตรีเทวี นิกซ์ (Nyx) คลี่ม่านดำแห่งอนธการออกให้เร็วกว่าปกติ กลายเป็นกลางคืนในทันที
1
ดั่งที่พระกฤษณะ ใช้จักรสุทรรศน์ ไปบดบังพระอาทิตย์ ในสงครามทุ่งกุรุเกษตร เป็นอุบายเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามอย่างฝ่ายเการพนึกว่ากลางคืน จึงถอยทัพกลับ อรชุน แม่ทัพคนหนึ่งของฝ่ายปาณฑพจึงได้โอกาสในการปลิดชีพศัตรูคนสำคัญให้สิ้นไป (ไว้ผมจะเล่าเรื่องนี้อย่างละเอียดในเรื่องของ เทพปกรณัมอินเดีย-ศึกมหาภารตะ นะครับ ยิ่งใหญ่พอๆกับสงครามกรุงทรอยเลยก็ว่าได้)
Lord Krishna and Sudarshana Chakra in Kuru Kshetra war
แต่ก็กระนั้นแล…แม้ว่าจะคลี่ม่านดำออกมา ก็มิอาจตบตาเฮราได้ นางเดินฝ่าเมฆหมอกเข้าไปอย่างไม่ยากเย็น แล้วก็ได้พบกับเทพซุส และวัวเผือกตัวหนึ่งที่อยู่ข้างกาย
Juno, Jupiter and Io by Gerbrand van den Eeckhout
นางก็ทราบได้ทันที ว่านั่นคือไอโอ แต่ก็ออกอุบายทำเป็นถามว่า
“สิ่งมีชีวิตข้างกายท่านคือสิ่งใด”
ซุสตอบกลับไปอย่างเลิกลั่กว่า “วัว แค่วัว ข้าสาบานว่าไม่เกี่ยวอะไรกับวัวตัวนี้”
เฮราเมื่อได้ยินดังนั้นก็ตอบกลับไป
“โคตัวนี้ช่างสวยงามนัก ข้าขอรับไว้ได้หรือไม่? หากท่านเอ่ยปากว่าไม่ได้เป็นเจ้าของวัวตัวนี้”
ซุสถึงกับเหงื่อตก แต่จะทำอย่างไรได้ หากปฏิเสธ นั่นเท่ากับเปิดโปงความจริงทุกอย่างออกมาเสีย จึงจำใจมอบวัวให้เฮราไป”
จากนั้น เฮราก็ทำการสั่งสอนนางวัว โดยการจับไปใส่ไว้ในถ้ำ และมอบหมายให้อาร์กัส (Argus Penoptes) ผู้มีนัยน์ตาถึงร้อยดวง เฝ้าดูนางไอโอมิให้เล็ดลอดออกไปได้ โดยอาร์กัสนั้น ยามหลับก็จะปิดตาลงสองตา ดวงตาที่เหลือก็จะทำการเฝ้ายามต่อได้
Hera ordered Argus to watch Io
ซุสนั้นก็แสนจะหมดหวังและทุกข์ทนที่ต้องคอยเฝ้าดูนางไอโอทุกข์ระทมอยู่ โดยที่ไม่อาจยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือได้เลย พลันนึกถึงเฮอร์เมส (Hermes) เทพผู้นำสารแห่งสวรรค์ จัดว่าเป็นมือขวาของซุสก็ว่าได้ (เวลาเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเรื่องเล็ก เรื่องเมียน้อย เรื่องลักซ่อน เรื่องใหญ่โต ก็ให้เฮอร์เมสจัดการทุกครั้งไป)
ซุสได้นำเรื่องนี้ไปร้อนเรียนยังเฮอร์เมสผู้เป็นบุตรชาย เฮอร์เมสได้ยินดังนั้นก็ไม่รอช้า รีบรุดไปยังถ้ำที่กักขังไอโอในทันที โดยจำแลงกายเป็นคนเลี้ยงแกะธรรมดา ปลดเปลื้องร่องรอยที่บ่งบอกถึงความเป็นเทพไปจนหมด เดินไปหาอาร์กัส แล้วนั่งลงเป้าขลุ่ยด้วยเสียงไพเราะจับใจ ด้วยทำนองเนิบช้า จนอาร์กัสรู้สึกพอใจ จึงเรียกเฮอร์เมสให้มานั่งลงข้างๆ
Hermes and Argus - Jacob Jordaens (1593-1678)
เฮอร์เมสสบโอกาสก็เริ่มต้นเล่าเรื่องราวของเทพแพนกับนางไม้ซิริงค์ ที่เป็นที่มาของขลุ่ยประจำตัวเทพแพนและเหล่าคนเลี้ยงแกะ และเฮอร์เมสก็ยังเล่าเรื่องอื่นๆ ต่อไป เพื่อให้ดวงตาทั้งหนึ่งร้อยดวงค่อยๆ ปิดลงที่ละดวง สองดวง
เฮอร์เมสเล่านิทานไปสลับกับเป่าขลุ่ยไป จนในที่สุด นัยน์ตาทั้งร้อยดวงก็ปิดจนครบ เฮอร์เมสไม่รอช้า สังหารอาร์กัสลงในทันที จากนั้นก็ไปปลดปล่อยนางไอโอให้เป็นอิสระ และหลบหนีไปให้ไกลที่สุด
Hermes slaying Argus Panoptes, Athenian red-figure vase C. 5th B.C.
เมื่อเฮราทราบว่าอาร์กัสได้สิ้นใจลงแล้ว ก็ได้นำดวงตาทั้งร้อยดวงไปติดไว้กับหางของนกประจำกายนาง นั่นก็คือ นกยูง นกยูงจึงเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวเฮรา ซึ่งมีหางที่คล้ายกับมีดวงตาติดเอาไว้ แสดงถึงความภักดีของอาร์กัส
Hera and Argus - Peter Paul Rubens (1577-1640)
และหากท่านยังจำกันได้ ภารโรงแห่งโรงเรียนเวทมนตร์ฮอกวอตส์ ก็มีชื่อว่า อาร์กัส ฟิลซ์ (Argus Filch) ซึ่งมีต้นแบบมาจากอาร์กัสร้อยตา ที่เสมือนรู้ทุกซอกทุกมุมของฮอกวอตส์ และมักจะจับตาดูนักเรียนที่ทำผิดกฎโรงเรียนอยู่เสมอ
Argus Filch - Harry Potter
กลับมาที่ไอโอ เธอนั้นหลบหนีไปได้ด้วยความช่วยเหลือจากเฮอร์เมส แต่แน่นอน เฮราไม่หยุดเพียงเท่านี้ นางยังเสกตัวเหลือบไรให้บินตามกัดไอโอจนมีบาดแผลไปทั่วตัว ไม่มีเวลาให้ได้หยุดพัก ต้องวิ่งหนีไปให้ไกลที่สุด
นางวิ่งข้ามผ่านทวีปใหญ่น้อย ทะเลอันแสนกว้างใหญ่ที่นางได้วิ่งตัดผ่านข้ามไปนั้น ก็เรียกว่า ทะเลไอโอเนียน (Ionian sea) ตามชื่อของนาง จนนางมาถึง ณ ที่เทือกเขาคอเคซัสที่โพรมีธีอุสถูกจองจำ ด้วยประการฉะนี้
Ionian Sea map
เมื่อนางเล่าจบ นางก็สะอื้นไห้ โพรมีธีอุสนั้นเข้าใจความทุกข์ระทมและวิบากกรรมของนางดี
ใช่หรือไม่ ยามที่เรานั้นแสนทุกข์ใจ ไม่ว่าจะเรื่องใดๆ นั้นยังมีผู้คนที่ยังคอยรับฟัง และเป็นกำลังใจให้กันในยามที่มืดมนที่สุด เป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่งกว่าโภคทรัพย์เป็นไหน
โพรมีธีอุสก็อยากจะทำเช่นนั้น อยากจะช่วยเหลือนาง แต่ด้วยเขาถูกกักขังและต้องโทษอยู่ ไม่สามารถกระทำการใดๆ ได้ เขานั้นก็ทำได้เพียงแค่ทำให้นางคลายทุกข์โศกไปบ้าง นั่นคือ ชี้ให้เห็นภาพในอนาคตและหนทางที่นางจะต้องก้าวเดินต่อไป
โพรมีธีอุสได้บอกนางไอโอว่า นางจะต้องเดินทางต่อไป ข้ามผ่านทวีป ข้ามผ่านท้องทะเล ไปยังดินแดนแห่งใหม่ที่อยู่แสนไกล หลังจากช่วงเวลาแห่งความโหดร้ายนี้ผ่านไป นางจะได้กลับคืนสู่ความเป็นมนุษย์อีกครา เทพซุสจะคืนร่างแก่นาง ณ ที่แห่งนั้นเอง นางจะให้กำเนิดโอรสของเขา และ
“เจ้าจะได้เป็นต้นสายธารแห่งวีรบุรุษในกาลต่อมา วงศ์วานของเจ้าจะมาสร้างชื่อเป็นตำนานแก้คนรุ่นหลังอันไม่มีวันถูกลบเลือนไป และหนึ่งในเขาเหล่านั้น จะเป็นผู้ที่มาปลดปล่อยข้าให้เป็นอิสระ”
ไอโอ จึงรุดหน้าวิ่งต่อไป เธอได้ข้ามผ่านแผ่นดิน ข้ามผ่านท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ไปสู่ดินแดนแห่งใหม่ นั่นคือ อียิปต์
เสริมอีกนิด ช่องแคบที่นางข้ามผ่านไป ก็ได้เรียกขานกันว่า ช่องแคบ บอสฟอรัส (Bosporus) ที่แปลว่า ‘ช่องวัวข้าม’ (Ox passage) หากดูตามแผนที่ จะพบว่านางได้มาจากกรีซ ข้ามผ่านช่องแคบนี้ มุ่งสู่ตุรกี (เมื่อก่อนยังเป็นที่ตั้งของนครรัฐในกรีก) แล้วไปยังเทือกเขาคอเคซัส ไปพบกับโพรมีธีอุส แล้วเดินทางต่อไปเรื่อยๆ จนถึงแถบลุ่มแม่น้ำไนล์ นั่นก็คือ อียิปต์
Bosporus Strip - Turkey
ณ ที่แห่งนั้น ได้ห่างไกลจากเงื้อมมือของเฮราแล้ว ซุสก็ได้มาปรากฏตัวต่อหน้านาง แล้วคืนร่างแก่นาง นางกลับมาเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ จากนั้นนางก็ได้ให้กำเนิดโอรสของซุส ณ ที่แห่งนั้น นามว่า เอพาฟัส (Epaphus) ผู้ที่เป็นบรรพบุรุษของยูโรปา (Europa) ราชินีแห่งเกาะครีตในกาลอนาคตข้างหน้า (ผมได้เล่าไว้แล้วในตอนก่อนๆ สามารถย้อนกลับไปอ่านตอนก่อนหน้าได้นะครับ)
และลูกหลานของนางที่สำคัญอีกหนึ่งคน ก็คือผู้ที่จะไปปลดปล่อยมิตรแท้แห่งมวลมนุษย์อย่างโพรมีธีอุส และฝ่าพิชิตภารกิจเสี่ยงตายทั้ง 12 ประการ
Prometheus Being Rescued by Hercules, by Christian Griepenkerl
ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึง เฮอร์คิวลิส (Heracles) ที่ทุกท่านจะต้องคุ้นเคยกับเขาเป็นแน่แท้ และอาจจะเป็นวีรบุรุษที่โด่งดังที่สุดในตำนานกรีกเลยก็ว่าได้
ข้อเพิ่มเติมเป็นเกร็ดอีกสักนิด บุตรหลานเชื้อไขแห่งไอโออีกคน มีนามว่า ไอยิปตอส (Aegyptos) (อ่านผิดขออภัยนะครับ ค่อนข้างถอดเสียงออกมาเป็นไทยยาก) เขาเป็นราชาแห่งอาณาจักรอียิปต์สืบต่อๆ มาจากนางไอโอ ดังนั้น ประเทศอิยิปต์ (Egypt) ก็มีรากศัพท์มาจากคำว่า Aegyptos นี้เช่นกันครับ
คล้ายๆ กับคำว่า ภารตะ ที่เป็นชื่อเรียกของอาณาจักรแถบอินเดีย ก็มีที่มาจากคำว่า ภรต หรือ ท้าวภรต พระราชาองค์หนึ่งแห่งเมืองหัสตินาปุระ ในตำนานมหาภารตะครับ ท้าวภรตเป็นบุตรของท้าวทุษยันต์ และ นางศกุนตลา (ที่ทุกท่านอาจจะเคยได้ยินจากพระราชนิพนธ์ของ ร.6 )
ไว้ผมจะมาเล่าในเรื่องราวของ ศกุนตลา อย่างละเอียดในโอกาสหน้าครับ ในส่วนของ side story ในมหาภารตะ
Shakuntala and Dushyanta (side story in Mahabharata)
และในปกรณัมรวมถึงประวัติศาสตร์กรีก ก็จะอ้างถึงอียิปต์อยู่บ่อยครั้ง และยังเป็นสถานที่พำนักแห่งปราชญ์กรีกคนสำคัญหลายท่านเช่นกัน
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า สายธารแห่งอารยธรรมกรีกและอียิปต์นั้นอาจจะมีรากเดียวกัน รวมถึงอารยธรรมอื่นๆ ที่มีความเชื่อมโยงกัน ผ่านทั้งภาษา วัฒนธรรม และปกรณัม นี่อาจจะเป็นร่องรอยที่จะนำไปสู่จุดกำเนิดที่ยังหลงเหลือเอาไว้ให้เราเดินตามไปพบในสักวัน
ผมขอจบเรื่องราวของนางไอโอไว้เพียงเท่านี้ นางคือหญิงสาวผู้แสนอาภัพ ที่ได้กลายมาเป็นต้นสายวงศ์ตระกูลแห่งวีรชนคนรุ่นหลัง นางก็เป็นอีกคน ที่จะต้องมารับผลกรรมจากทวยเทพ โดยที่นางไม่ได้ทำอะไรผิด
แต่ก็กระนั้นแล เทพกรีกไม่ได้มีมุมที่น่าสรรเสริญยกย่องแต่เพียงด้านเดียว นั่นเป็นเพราะความฉลาดและแยบคายของปราชญ์กรีก ที่รังสรรค์เหล่าเทพให้มีความคล้ายกับมนุษย์ มีอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง ยึดตามความจริงของธรรมชาติ ที่จะมีสองด้านอยู่เสมอมา มิยกเว้นแม้แต่ทวยเทพผู้เป็นอมรรตัย
ไว้พบกันใหม่ในตอนหน้า คราวหน้าจะเป็นใคร ผมขอใบ้ไว้อีกสักนิด
พวกเขาคือเทพ ที่เกิดกับซุส และพวกเขา คือฝาแฝด ลองทายกันดูนะครับ
ขอบคุณที่ทำให้เรามาพบกัน Viva La Vida
@Krishna

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา