20 เม.ย. 2021 เวลา 09:43 • นิยาย เรื่องสั้น
Greek Mythology ตอนที่ 10 : อะพอลโล - อาร์เทมิส คู่แฝดเทพเจ้า part 1 : ชาติกำเนิด มารดา และ งูยักษ์ไพธอน
Apollo and Artemis - Gavin Hamilton (1723-1798)
สวัสดีครับทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้ง กับผม @Krishna
วันนี้ ขอมาเล่าเรื่องราวของเทพบ้าง สลับกันไปครับ อย่างที่ได้เกริ่นทิ้งท้ายเอาไว้ในตอนที่แล้ว ว่าจะเล่าเรื่องราวของฝาแฝดที่เป็นเทพ ทุกท่านคงจะเดากันไม่ยาก เพราะมีแค่คู่เดียวที่เป็นไปได้ นั่นคือ อะพอลโล และ อาร์เทมิสครับ
เทพทั้งสอง มีบทบาทที่สำคัญมาก ทั้งในตำนานปกรณัม และในวิถีชีวิตของชาวกรีกโบราณ
อะพอลโล (Apollo) คือสุริยเทพ แสงสว่าง ผู้ขับราชรถเทียมอาชานำดวงอาทิตย์โคจรตามวิถีแห่งวัน รวมถึงสัจจะ ความจริง ดนตรี กวีนิพนธ์ และการพยากรณ์
Apollo of the Belvedere (120-140 C.E.)
ถ้าพูดตามภาษาการเมือง คือมีหมวกหลายใบมาก คงรับเงินเดือนหลายทาง (ฮา) แต่ก็เช่นนั้นแล ชาวกรีกก็นับถือเทพอะพอลโลในฐานะเทพที่มีความเป็นกรีกที่สุดในบรรดาเทพทั้งหลาย
นั่นอาจจะเป็นเพราะชาวกรีกมีพิธีกรรม การพยากรณ์ และชอบเล่นดนตรี อะพอลโลจึงกลายเป็นตัวแทนของชาวกรีกในฐานะเทพเจ้าที่มีความเป็นกรีกมากที่สุด
ส่วนอาร์เทมิส (Artemis) คือจันทรเทวี และการล่าสัตว์ มีชื่อโรมันว่า ไดอาน่า (Diana) กล่าวกันว่าพระนางมีถึง 3 ตัวตน ในบทบาทที่ต่างกันออกไป กล่าวคือ เซเลเน่ (Selene)บนดวงจันทร์ อาร์เทมิส (Artemis) บนผืนพิภพ และ เฮคาที (Hecate) ใต้ผืนโลกแห่งความมืดมิด
Diana (Artemis) of Versailles (Louvre museum)
อะพอลโลคือมีหลายหน้าที่ แต่อาร์เทมิส คือมีหลายตัวตน คนละหน้าที่กันไป ไม่สับสนนะครับ
วันนี้ที่ผมจะมาเล่า จะขอเล่าถึงชาติกำเนิดของพวกเขาทั้งสองก่อนนะครับ เพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้ทราบตัวตนและที่มาที่ไป
จะว่าไปแล้ว หากนึกถึงชื่ออะพอลโล ทุกท่านคงจะเชื่อมโยงไปถึงโครงการอะพอลโล ขององค์กรนาซ่า (NASA) ที่มีการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ เพือคานอำนาจทางอวกาศกับโซเวียตในช่วงสงครามเย็น ซึ่งได้ส่งมนุษย์คนแรกไปอวกาศก่อนหน้านี้แล้ว คือ ยูริ กาการิน
Apollo Project symbol (Wikipedia)
โครงการอะพอลโลมีตั้งแต่ 1-17 แต่ครั้งที่สำคัญที่สุด ก็คือครั้งที่ 11 ในครั้งนั้น มีนักบินอวกาศร่วมเดินทางไป 3 คน คือ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) , บัส อัลดริน (Buzz Aldrin) และ ไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins) ในยาน อะพอลโล 11
The Apollo 11 crew : Neil Armstrong (Left) , Michael Collins (Middle) and Buzz Aldrin (Right)
ก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ ก็ได้ประทับเอาไว้บนดวงจันทร์ นั่นคือ รอยเท้าของนีล อาร์มสตรอง
Neil Armstrong on the moon
เหตุใดโครงการนี้ถึงชื่ออะพอลโล นั่นเป็นเพราะ การไปดวงจันทร์ เปรียบเสมือนพี่ชาย (อะพอลโล) ไปหาน้องสาว (อาร์เทมิส - ดวงจันทร์) นั่นเอง
1
เอาล่ะ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาไปมากกว่านี้ ผมขอเริ่มเปิดฉากเรื่องราวของเทพบุตรแฝดทั้งสอง ณ บัดนี้
ชาติกำเนิดของพวกเขา เริ่มต้น ณ กาลครั้งหนึ่ง
ซุส (Zeus) จอมเทพแห่งโอลิมปัส ได้ลักลอกมีสัมพันธ์สวาทกับนางเลโต (Leto) เทพีแห่งความเป็นแม่ (Motherhood) ธิดาแห่งเซอัส (Coeus) และฟีบี (Phoebe)
Leto with the infants Apollo and Artemis, by Francesco Pozzi (1824)
โดยเซอัส และฟีบี ก็เป็นพี่น้องวงศาคณาญาติเดียวกัน ในหมู่เทพไททันทั้ง 13 ตน ซึ่งล้วนเป็นบุตรแห่งเทพอูรานอส (Ouranos) อดีตเทพแห่งสวรรค์และท้องฟ้า และเทพีไกอา (Gaia) มารดาแห่งผืนพิภพ
นางเลโต ที่ได้กลายเป็นชายาอีกองค์ของซุส (นั่นก็หมายความว่า ซุสนั้นกินรุ่นใหญ่ทีเดียว) ตามเค้าเรื่องเดิม เฮรา มเหสีเอกของซุสนั้นย่อมไม่พอใจ ไฟโทสะในตัวนางก็พลันลุกโชนอีกครา ขับไล่ไสส่งนางเลโตให้ออกไปจากโอลิมปัส แดนสวรรค์ พร้อมคำสาปแช่ง
“มันผู้ใด ให้ที่พักพิงแก่นางคนนี้ให้มันคลอดบุตรของมันออกมาได้ จักประสบพบกับความอดอยาก จนแดดิ้นสิ้นไป”
นางเลโตต้องหนีหัวซุกหัวซุนออกไป แต่ไม่ว่าจะไป ณ ที่แห่งใด ก็ไม่มีใครกล้าช่วยเหลือนาง ด้วยเพราะเกรงกลัวในฤทธาแห่งเฮรา
แต่แน่นอนว่า นางไม่หยุดเพียงเท่านี้ นางยังส่งงูยักษ์ บ้างก็ว่ามังกร นามว่า ไพธอน (Python) ตามล่านางไปทั่วทุกแห่งหน ด้วยมันเอง เป็นภูตพรายแห่งผืนพิภพ หรือ คธอน (Chthon) ด้วยกำเนิดมาจากเทพีไกอา เช่นเดียวกับไทฟอน (Typhon) อสูรกายยักษ์ แต่ไพธอนนั้นมีความีอันตรายน้อยกว่าไทฟอน
3
ไม่ว่านางจะหนีไปสุดหล้าฟ้าเขียว ก็ไม่มีพื้นพิภพใดที่อาจต้อนรับนางเลย ซุส ผู้เป็นต้นเหตุเห็นดังนั้นก็รู้สึกสงสารนาง จึงไปขอร้องให้โพไซดอน เทพแห่งมหาสมุทร ผู้เขย่าปฐพี ช่วยเหลือนางเลโตให้มีแผ่นดินได้พักพิงและให้กำเนิดทารกน้อยได้อย่างปลอดภัย
ว่าแล้ว โพไซดอนก็เสกเกาะขึ้นมาด้วยอำนาจของตน ชื่อว่า เกาะเดลอส (Delos) ผุดขึ้นมาจากทะเลอีเจียน และพานางไปพำนักอาศัย ณ เกาะแห่งนั้น อันปลอดภัยจากไพธอนตัวร้ายแห่งผืนพิภพ และนางก็ได้ให้กำเนิดบุตรออกมาเป็นฝาแฝดชายหญิง
The Birth of Apollo and Artemis - Marcantonio Franceschini (1648-1729)
ผู้เป็นพี่ชาย นามว่า อะพอลโล (Apollo)
ผู้เป็นน้องสาว นามว่า อาร์เทมิส (Artemis)
ในเรื่องสั้นเสริมของโอวิด กวีเอกชาวโรมัน ในกวีนิพนธ์ ‘Metamorphoses’ แต่งเรื่องสั้นเสริมเข้าไปว่า นางเลโต ก็ร่อนเรพเนจรต่อไป จนถึงเมืองไลเซีย นางรู้สึกกระหายน้ำ จากการที่นางได้ให้นมบุตรทั้งสอง จึงใคร่จะดื่มน้ำ ณ ริมธารแห่งหนึ่ง
แต่ชาวนา ณ ที่แห่งนั้น ไม่อนุญาตให้นางได้ดื่มน้ำ จึงจัดการกวนน้ำให้โคลนจากตมขึ้นลอยมา นางพยายามเรียกร้อง โดยอ้างว่า น้ำนั้นเป็นสมบัติร่วมกันของทุกชีวิต ไม่มีใครเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ทุกคนมีสิทธิ์จะดื่มกินและใช้ประโยชน์จากมัน
แต่กระนั้นแล พวกเขาก็ไม่ยอมหยุด นางเลโต ก็พลันหมดความอดทน และสาปให้พวกชาวนาเหล่านั้นกลายเป็นกบ ให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ห่างจากน้ำ และโคลนตมมิได้ นี่ก็เป็นที่มาว่าทำไมกบต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำนั่นเอง
Latona (Leto) and the frogs - Francesco Trevisani (1656-1746)
อะพอลโล คือสุริยัน ทิวางาม ส่วนอาร์เทมิส ก็คือจันทรา และราตรีกาล เทพแฝดทั้งคู่ มีจุดร่วมคือ เชี่ยวชาญการยิงธนูทั้งคู่ และอาร์เทมิส ตัวนางได้ถือครองพรหมจรรย์ นางได้ก่อตั้งกลุ่มพรานป่าแห่งอาร์เทมิส มีสมาชิกคือเหล่าสตรี นารีอันสวยสะคราญ และถือครองพรหมจรรย์เช่นเดียวกันกับนาง
แต่ในบางครา สมาชิกของเหล่านางก็ต้องมีเหตุให้อันเป็นต้องเสียพรหมจรรย์ไป ด้วยเพราะอำนาจและเล่ห์ลวงของทวยเทพอีกนั้นแล (ไว้ผมจะมาเล่าอีกนะครับ ผมเชื่อว่าตัวการก็คงจะเป็นเทพที่ท่านก็รู้ดีว่าใคร)
บัดนี้ เวลาก็เลยล่วงไป บุตรทั้งสองของนางก็เติบโตขึ้นมาอย่างองอาจและสง่างาม อะพอลโล เมื่อทราบเรื่องราวในอดีตของมารดาที่ต้องหลบลี้หนีภัยจากงูยักษ์ไพธอน จึงคิดจะไปสังหารเจ้างูนั่นเสีย แก้แค้นให้มารดาตน
อะพอลโล ได้ไปยังเทือกเขาพาร์นาซัส อันเป็นรังของมัน เขาได้ดักรอมัน ณ ตรงปากถ้ำ
เมื่อมันโผล่ออกมาจากถ้ำกบดาน เขาไม่รอช้า ระดมยิงธนูถึงร้อยดอกใส่มันในคราวเดียว จนมันนอนแน่นิ่ง สิ้นใจไปในทันใด
Apollo and the Serpent Python - Cornells de Vos (1564-1656)
บ้างก็ว่า เป็นบัญชาจากซุสใหัลงมาปราบ เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ บ้างก็ว่าอีก ว่ามาปราบด้วยกันทั้งสองพี่น้อง อะพอลโล อาร์เทมิส
แต่จะว่าอย่างไรก็ดี ด้วยวีรกรรมครั้งนี้ อะพอลโลก็ได้นามสรรเสริญว่า “ไพธอน” เช่นเดียวกับงูยักษ์ที่ถูกปราบลงไป
และ ณ สถานที่นั้นเองที่เจ้าไพธอนได้ตายลง อะพอลโลก็ได้สร้างวิหารพยากรณ์ขึ้นมา วิหารนั้นมีชื่อว่า เดลฟี (Delphi)
Delphi, temple of Apollo (Wikipedia)
และนักพยากรณ์หญิงในวิหารเดลฟี ก็ได้รับสมญานามว่า “ไพเธีย” (Pythia) ตามชื่อของนางงูตัวนั้นเอง (จริงๆแล้วมันเป็นเพศเมียครับ เช่นเดียวกับนางงูอิคิดน่า คู่ครองของเจ้าไทฟอน)
ณ สถานที่นี้ ก็ได้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คนต่างหลายชนชาติ หลายเมือง ต่างเดินทางมาแสวงบุญ ณ ที่แห่งนี้ เพื่อบูชาเทพอะพอลโล รวมถึงมาถามไถ่ และทำนายอนาคตอันใกล้ของตน ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย เรื่องทางเดินแห่งชีวิต การบูชาสังเวยแด่เทพเจ้า ยันไปจนถึงชะตาบ้านเมือง
เมื่อถามคำถาม โหรนักพยากรณ์หญิง จะนั่งบนเก้าอี้สามขา ตั้งอยู่ระหว่างรอยแยกของเปลือกโลก และจะเข้าสู่ห้วงภวังค์ และเอ่ยคำตอบแก่ผู้มาถามไถ่ ด้วยคำใบ้ปริศนา ต้องตีความอย่างแยบคาย
Priestess Delphi - John Maler Collier (1850-1934)
นั่นก็หมายความว่า ผู้ถาม จะต้องรู้จักคำถามของตนให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะก้าวมายืนต่อหน้าร่างทรงแห่งเทพพยากรณ์ผู้มีสัจจะในทุกถ้อยคำที่กล่าวออกมา สรุปง่ายๆ คือ “จงรู้จักตน” (Be know yourself.)
อะพอลโล ก็เป็นเทพอีกองค์ที่มีความใกล้ชิดกับมวลมนุษย์เป็นอย่างสูง ด้วยวิการเดลฟีแห่งนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งอื่นใด นอกจากสถานที่อันเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับเทพ การบูชาเทพ การขอขมาต่อเทพ
นี่เอง จึงทำให้อะพอลโล เป็นเทพที่ชาวกรีกให้ความยกย่องและนับถือมาก ในฐานะเทพที่ใกล้ชิดกับมนุษย์เป็นที่สุดอีกองค์หนึ่ง
ขอจบเรื่องเล่าในตอนนี้ไว้เพียงเท่านี้ ตอนหน้า เราจะยังอยู่กับเรื่องของเทพแฝดคู่นี้เช่นเคย และจะมาเล่าเรื่องราวและวีรกรรมของอาร์เทมิสต่อบ้าง เรื่องราวของนาง ก็โดดเด่นไม่แพ้พี่ชายของนาง จันทราเทวีผู้นี้ มีความลึกลับซับซ้อน และมี 3 บุคลิกที่แยกออกจากกัน
สำหรับวันนี้ ขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ และขอบคุณที่เราได้มาพบกัน
เช่นเคยครับ Viva La Vida (Live the Life)
สวัสดีครับ
@Krishna

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา