28 เม.ย. 2021 เวลา 08:59 • นิยาย เรื่องสั้น
Greek Mythology ตอนที่ 11 : อะพอลโล-อารีเทมิส คู่แฝดเทพเจ้า part 2
Goddess Artemis
ดวงจันทร์ พรหมจรรย์ และ พงไพร
สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้ง กับผม @Krishna
วันนี้ จะมาเล่าเรื่องของเทพีอาร์เทมิส เทพีแห่งจันทรา และการล่าสัตว์ จากตอนที่แล้วที่เล่าเรื่องชาติกำเนิดของทั้งแฝดผู้พี่อย่างอะพอลโลและอาร์เทมิสไปแล้วนั้น วันนี้จะมาสู่เรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวของอาร์เทมิส จะเล่าดังต่อไปนี้ครับ
อาร์เทมิส (Artemis) ชื่อโรมันคือ ไดอาน่า (Diana) ใช่ครับ ชื่อ ไดอาน่า ที่พบบ่อยในชื่อของผู้หญิงชาวยุโรปก็มีที่มาจากชื่อของอาร์เทมิส ดังเช่น ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Diana, Princess of Wales)เพื่อบ่งบอกถึงความงดงามดั่งพระจันทร์ที่ส่องแสงสีเงินในยามราตรี
Diana, Princess of Wales
เธอคือเทพีแห่งดวงจันทร์ นายพราน การล่าสัตว์ (Hunt) สัตว์ป่า และพรหมจรรย์ (Chastity) ดังนั้นเธอจึงมีอาวุธคือธนู ซึ่งความสามารถเชิงธนูของนาง ก็ไม่แพ้ผู้เป็นพี่ชายของนางทีเดียว
อย่างที่ผมเคยเกริ่นเอาไว้เมื่อตอนที่แล้ว ว่าตัวเธอนั้น มีสามตัวตนในคนๆเดียว เสมือนพระจันทร์ที่มีดิถีที่ต่างกันไปในรอบเดือน
เซเลเน่ (Selene) บนท้องนภา สื่อถึงพระจันทร์เต็มดวงในข้างขึ้น (Full moon)
อาร์เทมิส (Artemis) บนพื้นพิภพ สื่อถึงพระจันทร์ครึ่งดวง (Quarter) หรือราว 7-8 ค่ำ
และเฮคาที (Hecate) ในยมโลก ย่อมหมายถึงพระจันทร์ข้างแรม หรือคืนเดือนมืด (New moon)
ขอชื่นชมคนโบราณที่สังเกตการเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์ที่เปลี่ยนไป ให้กลายมาเป็นเทพีในสามรูปแบบ สามอารมณ์ ที่เห็นภาพได้ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ผมจะขอเล่าเรื่องราวของอาร์เทมิส ก่อนจะไปถึงเซเลเน่ และ เฮคาทีนะครับ
อาร์เทมิส อย่างที่ทุกท่านทราบดี นางเป็นแฝดผู้น้องของเทพพยากรณ์อย่าง อะพอลโล มีบิดาคือซุส ราชาเทพ และนางเลโต นางคือ เทพีแห่งป่าเขาลำเนาไพร การล่าสัตว์ และจันทรา
สัตว์ประจำกายของนางมีมากมาย เพราะเป็นเทพีแห่งป่าเขา แต่ที่เด่นๆ ก็จะเป็นกวาง และสุนัข
Artemis
นางยังเป็นหนึ่งในสามเทพีผู้ถือครองพรหมจรรย์แห่งโอลิมปัส กล่าวคือ เฮสเทีย (Hestia) แห่งเตาไฟอันบริสุทธิ์ และพัลลัสอาเธน่า (Pallas Athena) แห่งภูมิปัญญา และการศึกสงคราม ทั้งสามเทวี ก็ได้สาบานต่อแม่น้ำสติกซ์ (Styx) แม่น้ำสายที่ไหลลงสู่ยมโลก
Hestia (Left), Artemis (Middle) and Athena (Right) three virgin goddess of Olympus
ถามว่าเหตุใดกันนางถึงยึดมั่นในการรักษาพรหมจรรย์ นั่นเป็นเพราะว่า นางมิต้องการเจ็บปวดทรมานจากการคลอดบุตรเช่นมารดาของนาง และนางมิต้องการยุ่งเกี่ยวกับชายใด มิต้องการชีวิตสมรส
เพราะนางเชื่อว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” ซึ่งก็สอดคล้องกับธรรมะอย่างหนึ่งในพุทธศาสนา
อันว่าสามเทพีนี้แล ที่เป็นที่ขุ่นเคืองแก่อะโฟรไดท์ (Aphrodite) เทพีแห่งความรัก และตัณหาราคะ ด้วยนางมิอาจล่อลวงให้เทพีทั้งสามนี้ถอยห่างจากความเป็นพรหมจารีนี้ได้เลย
แต่ก็มีบางครั้งที่นางอะโฟรไดท์นั้นทำลายความปรารถนาของผู้ที่ตั้งใจจะถือครองพรหมจรรย์ไปได้ ดังเช่น เพอร์เซโฟเน (Persephone) แห่งฤดูใบไม้ผลิและราชินีแห่งยมโลกซึ่งผมได้เล่าไว้แล้วในตอนเก่าๆ ไปหาอ่านได้นะครับ
ในฐานะที่นางเป็นเทพเจ้าแห่งป่าเขา นางเองก็มีจิตใจที่ดีเช่นกัน กล่าวคือ นางจะละเว้นสัตว์ที่ยังเยาว์วัย หรือเป็นผู้ปกปักรักษาทารกน้อยผู้มักถูกนำมาทอดทิ้งไว้ตามป่าเขา ซึ่งพบได้มากมายในตำนานปกรณัมกรีกนี้ อย่างเช่น อะตาลันต้า (Atalanta) พรานสาวผู้พิชิตหมูป่ายักษ์คาลิโดเนีย นางช่างดูองอาจไม่แพ้ชายชาตินักรบวีรบุรุษใดๆ
Atalanta marble (1703-1705)
และนาง ยังถูกยกย่องให้อยู่ในระดับเดียวกับวีรบุรุษ (Heroine) ดังเช่น เพอร์ซีอุส เธเซอัส หรือ เฮอร์คิวลิสอีกด้วย นับเป็นบทบาทที่ผู้หญิงไม่ค่อยจะได้รับ ซึ่งส่วนใหญ่จะออกไปในแนวของความเป็นแม่และกิริยาอย่างสมหญิงเสียส่วนใหญ่
และตัวนางอาร์เทมิส ยังมีกลุ่มพรานเป็นของตนเอง อันว่า กลุ่มพรานสาวแห่งอาร์เทมิส ล้วนมีสมาชิกเป็นหญิงสาวทั้งสิ้น พวกนางมีกฎเหล็กที่ต้องรักษาอย่างสุดชีวิต คือต้องรักษาพรหมจรรย์เอาไว้
ใครฝ่าฝืนกฎข้อนี้ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือว่าไม่ นางจะถือว่าหมิ่นเกียรตินาง และต้องถูกขับไล่ หรือลงโทษอย่างสาสม
ดังเช่นนางคัลลิสโต (Callisto) ที่ถูกเกี้ยวพาและสมสู่โดยซุส ที่มาในคราบของอาร์เทมิสเอง จนนางถูกผู้เป็นนายอย่างอาร์เทมิสจับได้ จึงถูกสาปให้กลายเป็นหมี และเป็นที่มาของกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) ในปัจจุบัน
Jupiter and Callisto. A painting depicting Zeus (Jupiter) in the guise of Artemis (Diana) as he seduces Callisto. - François Boucher (1759)
ชื่อของนางคัลลิสโต ยังกลายไปเป็นชื่อของดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี (Jupiter) ในกลุ่มดวงจันทร์กาลิเลียน (Galilion) หรือสี่กวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสบดี อีกด้วย
ตัวของอาร์เทมิสเอง ก็มีด้านที่โหดร้ายในตัวเช่นกัน
ตัวอย่างคือ ก่อนจะเริ่มสงครามทรอย (Trojan war) นางมิยอมให้ชาวกรีกหรืออะเคียนส์ (Achaeans) ได้ออกเรือข้ามไปฝั่งทรอยได้เป็นอันขาด
นางบันดาลให้มีเมฆหมอกมาปกคลุม มองมิเห็นทางข้างหน้า และลมพัดกระโชกแรงจนออกเรือมิได้ ด้วยชาวกรีกได้สังหารเจ้ากระต่ายป่าตัวน้อยและลูกของมันทั้งหมดในครอกที่นางรักไป
โหรหลวงบอกว่า มีวิธีเดียวเท่านั้นที่จะคลายความพิโรธของนางลงได้ คือการสังเวยนกพิราบขาวที่แสนบริสุทธิ์ นั่นคือ ธิดาองค์โตแห่งอะกาเมมนอน (Agamemnon) แม่ทัพใหญ่แห่งกรีก
อะกาเมมนอนนั้นต้องฝืนกล้ำกลืนกระทำการเยี่ยงนี้ ต่อหน้าธารกำนันและเหล่าทหาร ด้วยเพราะศักดิ์ศรีและความเป็นผู้นำแห่งกองทัพ และเพียงเพื่อไปรบ ณ ที่ห่างไกลเพื่อชิงตัวหญิงงามที่ไม่ใช่แม้แต่เมียของตน
(แนะนำให้ไปรับชมซีรี่ส์บน Netflix เรื่อง Troy นะครับ ได้อารมณ์มาก ถึงแม้ดีไซน์ตัวละครบางตัวอาจจะไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่)
The sacrifice of Iphigenia (17th century) - François Perrier (Muśee der Beaux-Arts in Dijon France)
ทั้งที่ตนมิได้เป็นผู้ที่ต้องเสียสละถึงเพียงนี้แต่แรก เพราะผู้ที่จุดชนวนทัพและสงครามนี้ ไม่ใช่ตนเอง
หากมองอีกนัยหนึ่ง อาร์เทมิสอาจต้องการสั่งสอนชาวกรีกทั้งหลาย ด้วยสิ่งที่เรียกว่าสงครามนั้นแล ต้องแลกมาด้วยสิ่งที่แสนล้ำค่าเสมอ แลกกับอะไร?
แลกกับผลลัพธ์ที่ไม่ว่าจะมีชัยหรือปราชัยก็มิอาจแบกเกียรติยศกลับมาตุภูมิตนด้วยความยินดีอย่างเต็มเปี่ยมได้
ด้วยตัวของแม่ทัพใหญ่ ได้สังหารบุตรีตนด้วยน้ำมือของตนเอง
สงครามใดๆ ไม่ว่าจะสูงส่งหรือศักดิ์สิทธิ์เพียงใด มันก็ยังเป็นสิ่งที่โหดร้ายอยู่ดี
ดังคำกล่าวของพระเยซูคริสต์ที่ว่า
“ถ้าหากครองพิภพสยบโลกาได้ แล้วกลับต้องสูญเสียจิตวิญญาณของตนไป จะมีประโยชน์อันใดจากการกระทำเช่นนี้”
มาระโก (8:36)
ขอเล่าเรื่องราวของบริวารแห่งอาร์เทมิสอีกคนหนึ่ง นางมีชื่อว่า อาเรธูซา (Arethusa) นางไม้ หรือ นิมพ์ (Nymph) ผู้ยึดมั่นในการรักษาพรหมจรรย์ นางมิต้องการให้ชายใดได้มาแตะต้องตัวนาง
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นดังนี้ วันหนึ่ง นางได้ลงไปอาบน้ำ ณ แม่น้ำแห่งหนึ่ง แม่น้ำนั้นดูใสแจ๋ว และร่มรื่น น่าลงไปสรงน้ำอย่างยิ่ง เมื่อนางเพลิดเพลินกับการอาบน้ำไปสักพัก ก็รู้สึกได้ว่ามีอะไรไหวตัวใต้ร่างของนาง
Arethusa
นางตกกระใจ รีบขึ้นฝั่งทันที สิ่งๆนั้นได้มาปรากฏตัวเบื้องหน้านาง พร้อมเปล่งเสียงออกมา เกี้ยวพานาง นางจึงรีบใส่เสื้อผ้าและวิ่งหนีไปในทันที เขาวิ่งตามนางไป แนะนำตัวว่าชื่อ อัลเฟอัส (Alpheus) เทพแห่งแม่น้ำสายนี้ เขาตกหลุมรักในตัวนาง
แต่ก็นั้นแล นางมิต้องการจะเกี่ยวข้องกับชายใด จึงปฏิเสธและวิ่งหนีต่อไป แต่อัลเฟอัสก็ตามมาติดๆ อย่างไม่ยอมลดละสายตา
นางวิ่งมานาน จนเหนื่อยหอบ และรู้ดีว่าหนีไม่พ้นแน่ๆ นางจึงตั้งจิตอธิษฐานถึงผู้เป็นนาย อย่างอาร์เทมิส
Alpheus and Arethusa - Carlo Maratha (17th century)
อาร์เทมิสเมื่อได้ยินเสียงร้องทุกข์แห่งบริวารตน ก็เนรมิตให้นาง เป็นบ่อน้ำผุด ผ่าธรณีออก เป็นอุโมงค์ ลึกลงไป จากกรีซ และไปโผล่ที่เกาะซิซิลี ณ อิตาลี จุดที่นางโผล่ขึ้นมานั้นเรียกว่า ออร์ทิเจีย (Ortygia) เป็นน้ำพุ อันเป็นที่สักการะบูชาเทพีอาร์เทมิสในเวลาต่อมา
แต่ถึงกระนั้น อัลเฟอัสก็มิได้ลดละความพยายาม เขาได้แปลงร่างกลับเป็นสภาพแม่น้ำตามเดิม และผ่านอุโมงค์เดียวที่อาร์เทมิสเสกให้อาเรธูซาผ่าน จนน้ำของอัลเฟอัส ได้ผสานรวมกับน้ำของอาเรธูซาตั้งแต่นั้นมา ช่างเป็นความรักที่พิสดารยิ่งนัก
ก็มีเรื่องเล่าขานกันว่า หากโยนสิ่งของลงไปในแม่น้ำสายนี้จากกรีซ ก็จะไปโผล่อีกที ณ บ่อน้ำของอาเรธูซา ณ ซิซิลี
เล่ามาถึงตรงนี้ หวังว่าผู้อ่านคงจะได้เห็นแง่มุมและอุปนิสัยสุดขั้วของเทพีอาร์เทมิสไปแล้ว จริงๆ มีเรื่องของเซเลเน่ และเฮคาที ที่เป็นอีกสองตัวตนของอาร์เทมิส ก็ขอยกยอดไปตอนต่อไปนะครับ ตอนนี้คงจะยาวไปเสียหน่อยแล้ว ไม่นานเกินรอครับ เพราะเขียน script ไว้เสร็จแล้ว
ขอลาไปก่อน สวัสดีครับ
Viva La Vida
@Krishna
2
References

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา