28 เม.ย. 2021 เวลา 12:49 • นิยาย เรื่องสั้น
Greek Mythology ตอนที่ 12 : อะพอลโล - อาร์เทมิส คู่แฝดเทพเจ้า part 3
จันทร์เจ้า หนุ่มรูปงาม และการหลับไหล
Detail of Selene from a Roman sarcophagus (Wikipedia)
สวัสดีครับ กลับมาอีกครั้ง จริงๆ โพสต์นี้สืบเนื่องมาจากตอนก่อนหน้าที่ลงไป
สาเหตุที่แบ่งออกมาไม่ใช่อะไรหรอกครับ แต่เป็นเพราะมันยาวเกินไป เลยหักมาไว้ ณ ตอนนี้เสียเลยดีกว่า
เอาล่ะ ผมจะมาเล่าเรื่องราวของเซเลเน่ เทพีแห่งพระจันทร์ (เต็มดวง) และเฮคาที เทพีแห่งพระจันทร์คืนเดือนมืด (ข้างแรม) ทั้งสองว่ากันว่าเป็นอีกตัวตนของอาร์เทมิสครับ
ถ้านึกไม่ออก ขอให้เปรียบเทียบกับพระแม่ปารวตี (Parvati) จากปกรณัมฮินดู ที่มีปางดุร้ายอีก 2 ปาง คือ พระแม่กาลี (Kali) และ พระแม่ทุรคา (Durga)
จะขอเริ่มที่เซเลเน่ เทพีแห่งพระจันทร์ในคืนข้างขึ้น 15 ค่ำ หรือ พระจันทร์เต็มดวงอันสุกสกาวบนฟากฟ้ายามราตรี
นางมีชื่อโรมันคือ ลูน่า (Luna) ตามตำนานเดิม เซเลเน่ เป็นบุตรีแห่งไฮเพอเรียน (Hyperion) เทพไททันผู้ประจำอยู่ทิศตะวันออก อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการมาของแสงตะวัน และ เธีย (Theia) เทพีไททันแห่งการมองเห็น และแสงอันเจิดจรัส (Brilliance)
Hyperion
ทั้งสอง ก็เป็นพี่น้องกัน ด้วยบิดามารดาก็มิใช่ใครอื่น แต่เป็นอูรานอส และ ไกอา ที่ทุกท่านรู้จักกันดี
Theia goddess
เซเลเน่ ยังมีพี่น้องอีก 2 คน คือ เฮลิออส (Helios) สุริยเทพรุ่นแรก และ อีออส (Eos) เทพีแห่งรุ่งอรุณ หรือที่ทุกท่านอาจจะคุ้นเคยกับเธอในชื่อโรมันว่า ออโรร่า (Aurora) เธอคืออุษาเทวี ทำหน้าที่เปิดม่านแห่งรุ่งอรุณมาสู่โลก
Helios god of the sun, Athenian red-figure krater (Century 5th B.C.) (British Museum)
Eos by Evelyn De Morgan (1895)
เซเลเน่ ในฐานะเทพีแห่งจันทราในคืนวันเพ็ญ (Full moon) ก็ย่อมสื่อไปถึงพระจันทร์อันบริสุทธิ์และแสนงดงาม ตัวนางเองก็เป็นเช่นเดียวกับเฮลิออส คือเป็นจันทราเทวียุคแรกเริ่ม ก่อนจะกลายมาเป็นอาร์เทมิสในยุคหลัง
ในขณะเดียวกัน เฮลิออสเองก็ถือเป็นสุริยเทพตัวจริง แต่ก็ส่งมอบหน้าที่ต่อให้อะพอลโลในภายหลัง
เรื่องราวที่น่าสนใจของเซเลเน่มีดังนี้ จะขอเล่าเรื่องราวสั้นๆ ระหว่างนาง และเด็กหนุ่มรูปงามคนหนึ่ง อันมีนามว่า เอนดีเมียน (Endymion) คนหนึ่งหลงไหลในตัวของเด็กหนุ่มรูปงาม ส่วนอีกคนหลับไหลอยู่เป็นนิจนิรันดร์ มิเคยได้เจอกับฝ่ายตรงข้ามเลย
เรื่องมันเป็นเช่นนี้ ดังที่ได้สดับมา…
เอนดีเมียน เป็นชายหนุ่มรูปงาม ว่ากันว่าเป็นกษัตริย์บ้าง เป็นนายพรานบ้าง แต่ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า เป็นคนเลี้ยงแกะ ซึ่งก็ดูสมเหตุสมผลที่สุด
ความเป็นมานพที่แสนรูปงามนี้ อาจเทียบเท่ากับแกนีมีด (Ganymede) ชายหนุ่มผู้ถือคนโท รินเหล้าแด่ทวยเทพ ที่เกิดต้องตาต้องใจซุสเข้า (ชายก็ไม่เว้น)
วันหนึ่ง ขณะเขาต้อนแกะเข้าคอก ณ ภูเขาแลตมัส (Latmus) ขณะนั้นยามราตรีแล้ว เขาได้หลับไหลตามวิถีชีวิตของเขา บังเอิญว่าเพลานั้น พระจันทร์เต็มดวง ลอยอยู่กลางนภา
นั่นหมายความว่า จันทรา ได้ยลโฉมหนุ่มน้อยเอนดีเมียน ยามบรรทมหลับไหล เซเลเน่ได้ตกหลุมรักเขาเข้าแล้ว ในยามหลับเขาช่างน่ารักยิ่ง ร่างกายสมส่วน ทวงท่าขณะหลับช่างน่าเชยชม สมเป็นมนุษย์อันสมบูรณ์
Selene and Endymion by Filippo Lauri (1650)
นางทอดกายลงข้างเขา จุตพิตบนใบหน้าของเขา ลูบไล้ตัวเขาดังใจปรารถนา กระนั้นแล นางก็มิต้องการให้เขาตื่นมา นางต้องการจะจ้องมองเขาหลับไหลไปตลอดกาล เขาจะได้เป็นของนางแต่เพียงผู้เดียว
นางใคร่จะลูบไล้เขา สัมผัสตัวเขา ครอบครองเขา อยู่เคียงข้างเขาตลอดไป แม้ว่าเขาจะมิรู้จักนางก็ตามแต่
และเอนดีเมียน ก็หลับไหลอยู่ ณ ตรงนั้น ด้วยฤทธิ์แห่งจันทรา เขาหลับไหลราวกับว่าตายไปแล้ว แต่ร่างกายยังอุ่นอยู่และยังมีลมหายใจ เหมือนดังเจ้าชายนิทรา เขาได้กลายเป็นของเซเลเน่ไปแล้วอย่างสมบูรณ์ ในสภาพที่เยาว์วัยเช่นนั้นไปตลอดกาล
บางตำนาน ก็เล่าต่อไปอีก ว่าเขาและนาง ก็มีบุตรด้วยกัน (ลับหลับของแท้) บ้างก็ว่าคือนาร์ซิสซัส (Narcissuses) ชายหนุ่มผู้หลงไหลในหน้าตาของตน บ้างก็ว่าเป็นบุตรสาวถึง 50 คน ที่อาจสื่อถึงเดือนทั้งห้าสิบที่ฉลองแด่เทพโอลิมเปียน
แต่ก็ว่ากันอีกว่า แท้จริงแล้ว เอนดีเมียน ก็คือผู้ที่คอยสังเกตการเคลื่อนที่และดิถีแห่งดวงจันทร์ ที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์
เรื่องราวของเซเลเน่และเอนดีเมียน (รู้จักเขา ไม่รู้จักเธอ) ก็จบลงตรงนี้
แต่หากใครเคยดูการ์ตูนเก่าอมตะเรื่องหนึ่ง คือ เซเลอร์มูน (Sailor Moon) หากยังจำกันได้ อดีตชาติของนางเอกอย่าง สึคิโนะ อุซางิ (Tsukino Usagi) ก็คือเจ้าหญิงแห่งอาณาจักรบนดวงจันทร์ (Silver Millienium) ชื่อว่า เซเลนิตี้ (Selenity)
Selenity and Endymion (Sailor Moon)
และคนรักของเธอ อย่าง จิบะ มาโมรุ (Jiba Mamoru) หรือหน้ากากทักซิโด้ ในอดีตชาติก็เป็นคนรักของเซเลนิตี้ ชื่อของเขาก็คือ เอนดีเมียน นั่นเอง
แถมอีกสักนิด…แมวผู้ช่วยของอุซางิ ก็มีชื่อว่าลูน่า (Luna) มีที่มาจากชื่อโรมันของเซเลเน่อีกนั้นแล
ถือว่าผู้แต่งได้เก็บตกเรื่องราวของปกรณัมกรีกมาไว้ในการ์ตูนได้อย่างดีเยี่ยม ฉะนั้นแล้ว การที่เรามีความรู้เรื่องปกรณัมกรีก ก็จะทำให้รับชมสื่อบันเทิงได้อย่างมีอรรถรสขึ้นมากถึง 40% เลยทีเดียว (ผมกะเอาน่ะครับ ฮา)
สุดท้าย ผมจะขอเล่าต่อถึงตัวตนที่สามของดวงจันทร์ ตัวตนที่แทนจันทราที่มิดสนิท (Dark moon / New moon) หรือดวงจันทร์แรมหนึ่งค่ำ
Hecate goddess
เมื่อผู้คนพบเห็นดวงจันทร์ที่มืดมิด ก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงความเป็นมนตร์ดำ ไสยศาสตร์ และอาถรรพ์ หรือทางสามแพร่งอันเป็นที่ชุมนุมแห่งดวงวิญญาณ สัมภเวสีอันแสนน่าพรั่นพรึง
ตัวตนนั้นมีชื่อว่า เฮคาที (Hecate) ว่ากันว่า นางประจำอยู่ในนรกอันมืดมิด และเป็นต้นกำเนิดแห่งวิชามนตร์ดำ หรือแม่มดทั้งหลาย
The Hecate Chiaramonti, a Roman sculpture of triple-bodied Hecate, after a Hellenistic original (Museo Chiaramonti, Vatican Museum)
ตัวอย่างแม่มดในตำนานกรีกก็เช่น เมเดีย (Medea) อดีตคนรักของเจสัน (Jason) ผู้แสวงหาขนแกะทองคำ ด้วยเรืออาร์โก (Argo) นางผู้มีชีวิตที่แสนยอกย้อนและรันทด
อีกคนคือเซอร์ซี (Circe) นางมายาเรืองมนตร์ บุตรสาวของเฮคาทีเอง นางได้ปรากฎตัวในเรื่องราวมหากาพย์โอดิสซีย์ (Odyssey) ที่เล่าถึงการกลับสู่มาตุภูมิของโอดิสเซียส (Odysseus) ที่ใช้เวลาถึง 10 ปี
Circe offering the cup to Odysseus - John William Waterhouse (1849-1917)
เฮคาที ว่ากันว่า เป็นบุตรสาวแห่งเพอร์ซี (Perses) (ผู้เป็นโอรสแห่งพอนทัส (Pontus) เจ้าแห่งทะเลลึก และ ไกอา (Gaia) มารดรแห่งผืนพิภพ) และ นางแอสทีเรีย (Asteria) ฝาแฝดของนางเลโต เทพีผู้เป็นมารดาแห่งอะพอลโลและอาร์เทมิส
นี่จึงเป็นสาเหตุให้เฮคาทีและอาร์เทมิส มีใบหน้าที่คล้ายคลึงกันราวกับถอดพิมพ์เดียวกันมา นั่นก็เป็นเพราะ มารดาของพวกนางนั้นเป็นแฝดกัน
หากจะเปรียบเทียบกับเทพปกรณัมของทางฝั่งเมโสโปเตเมีย…ก็อาจเทียบได้กับเทพี เอเรชคิกัล (Ereshkigal) เทพีแห่งยมโลก และมนตร์ดำ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับเฮคาทีเป็นอย่างยิ่ง
สุดท้ายนี้ ก็เป็นไปได้ว่า…ตัวตนทั้งสามของเทพีแห่งจันทรา หรือ อาร์เทมิสนั้น แต่เดิม เกิดจากการสังเกตเฟสของดวงจันทร์ทั้งสามแบบ คือ เต็มดวง ก็สื่อถึง เซเลเน่ ครึ่งดวง สื่อถึง อาร์เทมิส และ จันทร์ดับ ย่อมหมายถึง เฮคาที
และต่อมา ก็รวมทั้งสามตัวตนเอาไว้ในคนๆเดียว คือ อาร์เทมิส ซึ่งเป็นที่รู้จักและสักการะบูชากันมากที่สุดในทั้งสามรูปแบบ
นี่ก็ย่อมอธิบายได้ ถึงบุคลิกในตัวนางอาร์เทมิส นางมีด้านที่แสนอ่อนโยน ช่างฝันของเซเลเน่ และมีด้านที่แสนมืดมน ของเฮคาที นั่นย่อมสื่อถึงความไม่แน่นอนระหว่างความดีและความชั่ว พระจันทร์ก็เช่นกัน มีทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ถาวร
Selene, Artemis and Hecate
วันนี้เราก็ได้พูดคุยกันหลายเรื่องนะครับ ทั้งเรื่องของดวงจันทร์ พรหมจรรย์ แล้วก็เซเลอร์มูน ก็จะเห็นได้ว่า มุมมองต่อโลกของปราชญ์ชาวกรีกโบราณ นั้นต้องศึกษาผ่านปกรณัม จึงจะเข้าใจวิธีคิด และปรัชญาของกรีก ที่ผ่านการศึกษาจากธรรมชาติ และนำมาร้อยเรียงกัน เป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงกันดั่งหมู่ดาวบนท้องนภา
นี่คือ วิทยาศาสตร์ในยุคโบราณ ที่ต้องการจะหาคำอธิบายต่อโลกและจักรวาล และออกมาเป็นนิทาน เป็นตำนาน อันอมตะนิรันดร์กาล เล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน
ตอนหน้า ผมจะเล่าเรื่องของฝาแฝดสองคนนี้เช่นเคย แต่จะขอเล่าเรื่องโศกนาฏกรรม (Tragedy) ของอะพอลโล และอาร์เทมิส คนละหนึ่งเรื่อง เพื่อพิสูจน์คำพูดที่ว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” พร้อมกับเกร็ดปกรณัมที่ปรากฏในยุคปัจจุบันอีกเช่นเคย
สำหรับวันนี้ ผมลาไปก่อน ขอให้ทุกท่านเพลิดเพลินกับเรื่องราวแห่งภูมิปัญญาที่ทอถักมาสู่พวกเรา
Viva La Vida
@Krishna

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา