2 พ.ค. 2021 เวลา 10:25 • นิยาย เรื่องสั้น
Greek Mythology ตอนที่ 13 : อะพอลโล-อาร์เทมิส part 4 โศกนาฏกรรม ต้นลอเรล และกลุ่มดาวนายพราน
Apollo & Daphne
สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้ง กับผม @Krishna วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องราวความรักของเทพเจ้าคู่แฝดแห่งโอลิมปัส อะพอลโล และ อาร์เทมิส
แต่ผมขอบอกไว้ก่อนว่า มันไม่จบแบบ Happy Ending นะครับ
เพราะเทพปกรณัมกรีก ส่วนใหญ่ชอบแต่งในรูปแบบของ Tragedy หรือ โศกนาฏกรรมครับ
เพราะเขาถือว่า เรื่องราวโศกนาฏกรรมนั้น เป็นวรรณกรรมที่มีรูปแบบสูงส่งที่สุดแล้ว เพราะได้เปิดเผยให้เห็นถึงสัจธรรมของชีวิต
ซึ่งแตกต่างจากเรื่องราวแบบสุขนาฏกรรม หรือ Comedy ที่เขามองว่าแทบหาสาระไม่ได้ นอกจากให้เพียงแค่ความสนุกสนานและเสียงหัวเราะ
เอาเถิด ผมจะขอเข้าเรื่องเสียที ขอเริ่มจากเรื่องราวของแฝดผู้พี่ก่อนแล้วกันนะครับ
อะพอลโล (Apollo) อย่างที่ได้เคยกล่าวเอาไว้ เขาคือสุริยเทพ (ต่อจากเฮลิออส) สัจจะ ดนตรี กวี การพยากรณ์ และการแพทย์ เขาก็ช่างทรงเสน่ห์ มีหน้าตาหล่อเหลา และมีนิสัยเจ้าชู้เช่นเดียวกับบิดาอย่างซุส
เขามีหน้าที่ขับราชรถเทียมม้า คอยลากดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้ามาจากทิศตะวันออก และลากกลับลงไปในทิศตะวันตก เมื่อยามเย็น
ช่างคล้ายกับ สุริยเทพ (Surya Deva) ของตำนานเทพปกรณัมทางฝั่งฮินดู แต่ฮินดู มีความพิเศษกว่า คือ ม้าที่ใช้เทียมรถนั้น มีเจ็ดตัว ก็สื่อถึง วันทั้งเจ็ด ในหนึ่งสัปดาห์
Surya Deva and Aruna
แต่เชื่อหรือไม่ครับ รักแรกของเขานั้น คือความชอกช้ำและโศกสลดเสียยิ่ง และจะเป็นรักที่เขาไม่มีวันจะลืมเลือนไปตลอดกาล
นี่ก็คือ เรื่องราวระหว่าง อะพอลโล และ นางไม้ ดัฟเน่ (Daphne) หนึ่งในไม่กี่คน ที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมความรักแด่เทพเจ้าได้
เรื่องของนางดัฟเน่มีหลายตำนาน แต่ผมจะขอยกตำราของโอวิด (Ovid) ยอดกวีเอกแห่งโรมันมาเล่า เพราะมีเรื่องราวที่ช่างน่าตื่นเต้น และเร้าใจกว่าแบบอื่นๆ
Ovid
เรื่องราวเริ่มต้น ดังนี้…
เมื่อครั้งอะพอลโลเพิ่งได้กระทำการสังหารงูยักษ์ไพธอน (Python) สำเร็จไปนั้น อีรอส (Eros) หรือ คิวปิด (Cupid) กามเทพ บุตรแห่งอะโฟรไดท์ มีคันศรที่จักสามารถยิงให้คนสองคนมาตกหลุมรักซึ่งกันและกันได้ แม้เพิ่งจะพบหน้ากัน
Apollo and Eros - Andrea Schiavone
ตัวเขานั้น ก็ได้มาชื่นชมอะพอลโล ผู้แสนสง่างาม และชาญการยิงธนู แต่อะพอลโล กับไม่แยแสต่อคำสรรเสริญของอีรอสเลย แลยังดูหมิ่นศรแห่งอีรอส ด้วยเห็นว่า มิอาจเทียบเคียงกับคันศรของเขา ที่ได้ใช้ปลิดชีพเจ้างูยักษ์ไป สักแต่ทำได้เพียงปลุกเร้าราคจริตในตัวชีวะเท่านั้นแล ช่างต่ำต้อยนักเสียจริง
อีรอส บัดนั้นได้รับสิ่งตอบแทนคือคำเย้ยหยันอันแสนหยาบคาย เขามิอาจทนอยู่เฉยได้ อะพอลโลดูถูกฤทธิ์แห่งคิวปิดจนเกินไป
กามเทพ อีรอสจึงได้ใช้ศรทั้งสอง ศรดอกแรกคือศรทองคำ ที่จักบันดาลให้ผู้ต้องศร ตกหลุมรักใครก็ตามที่ได้พบเห็นเป็นคนแรกสุด
อีกศรคือขั้วตรงข้าม ศรตะกั่ว บันดาลให้ผู้ต้องศร บังเกิดความเกลียดชังต่อผู้ที่พบเห็นเป็นคนแรกเช่นกัน
แน่นอน อะพอลโลถูกแผลงศรทองคำเข้าอย่างจัง ความรักในใจของสุริยเทพได้บังเกิดขึ้น และในขณะเดียวกัน ศรตะกั่วก็ถูกแผลงเข้าใส่หญิงสาวนางหนึ่ง นางคือนางไม้ ดัฟเน่ (Daphne)
Apollo and Daphne (1940) by Francesco Albani
ดัฟเน่ คือบุตรีแห่งเพเนอัส (Peneus) เทพแห่งสายน้ำลำธาร บุตรแห่งโอเชียนัส (Oceanus) จ้าวแห่งสายน้ำที่ล้อมรอบโลกเอาไว้ และนางธีทิส (Thetys)
ดัฟเน่ ต้องการดำรงเพศพรหมจรรย์ และปฏิเสธความรักจากผู้อื่นมากมาย แน่นอน การประพฤติตัวเช่นนี้ ย่อมหมายถึงจุดมุ่งหมายที่จะเป็นสมาชิกของกลุ่มพรานแห่งอาร์เทมิส
และนางดัฟเน่ก็สำเหนียกความจริงอีกข้อหนึ่งดี นั่นคือ การตกเป็นที่หลงรักของเทพเจ้า ย่อมนำภัยมาสู่ตน และจักต้องเก็บเป็นความลับ ด้วยการฆ่าลูกในไส้ที่เกิดกับเทพบ้าง หรือ ฆ่าตัวตายบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงจุดจบที่แสนโหดร้ายจากทวยเทพอีกที ที่จะมาตามจองล้างจองผลาญผู้ที่ละเมิดหมิ่นเกียรตินาง
1
ตัวอย่างก็ดังเช่น ไอโอ คัลลิสโต เทพีเลโต หรือแม้แต่ นางซิมิลี (Semele) มารดาแห่งไดโอนีซุส เทพแห่งเหล้าองุ่น (Dionysus) ชื่อที่กล่าวมาดังนี้ ล้วนได้รับผลกรรมที่นำไปสู่ความทุกข์ทรมานทั้งสิ้นนั้นแล
9
Jove (Zeus) and Semele (1695) by Sebastiano Ricci
เพเนอัส แม้จะผิดหวังที่ลูกสาวตั้งใจจะไม่ออกเรือน เผื่อจะได้เห็นหน้าหลานบ้าง แต่ก็ยอมใจอ่อนตามลูกสาว ด้วยคงจะเห็นแก่ลูก และไม่อยากจะให้ลูกไปมีสัมพันธ์กับทวยเทพ อันจะนำปัญหามาใส่ตัว
อะพอลโล เมื่อได้มาเห็นดัฟเน่ ก็เกิดความรู้สึกโหยหารักอย่างแรงกล้าขึ้นมาทันที ด้วยฤทธิ์ของลูกศรทองคำ แต่นางดัฟเน่ก็เกิดผลตรงข้าม ความเกลียดชังได้พุงพล่านขึ้นมาทันที
1
ด้วยนางทราบดีอยู่แล้ว ถึงภัยที่จะมาใกล้ตัว สิ่งที่นางไม่อยากให้เกิด ได้บังเกิดขึ้นแล้ว อีกฝ่ายคือเทพ ที่นางหลีกพ้นมาตลอด
Apollo and Daphne (1908) by Waterhouse
นางวิ่งหนีสุดชีวิต แม้จะฝึกฝนกล้ามเนื้อขามาเพียงใด แต่อีกฝ่ายคือเทพเจ้า ย่อมไล่ตามนางมาทันได้โดยมิยากเย็น
อะพอลโลยังคงไล่ตาม และเรียกร้องขอความรักจากนาง ให้นางได้อยู่เคียงคู่กับเขา แต่นางดัฟเน่ ก็ยังวิ่งหนีต่อไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าตนคงจะหลบลี้หนีไปไม่พ้นเสียแล้ว นางจึงอ้อนวอนต่อบิดา ขออย่าให้นางต้องเป็นของเขาเลย
เพเนอัส ตอบรับคำขอของลูกสาว โดยใช้อำนาจ แปรเปลี่ยนกายานาง ขานางหยุดนิ่ง กลายเป็นรากหยั่งลึกลงไปในดิน เปลือกไม้ค่อยๆ ห่อหุ้มกายนางกลายเป็นต้น ใบไม้ผลิออกมาจากลำต้นอีกที และแล้ว นางก็ได้แปรเปลี่ยนเป็น ต้นลอเรล (Laurel) ไปโดยสมบูรณ์
Peneus avert his gaze as Apollo, pierced by Cupid’s arrow of desire, pursues Daphne, transforming into the Laurel (Apollo and Daphne, 1625 by Poussin)
อะพอลโลมองเห็นปรากฏการณ์นั้นแต่แรกเริ่ม ก็เศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก รักแรกของเขา ดูจะแสนขมขื่นยิ่งนัก แม้เป็นเทพเจ้า ก็มิอาจหนีจากความทุกข์ตรงจากพิษรักได้เลย
1
แต่อย่างน้อย เขาก็ยังอยากจะอยู่เคียงข้างนางอยู่ดี เทพบุตรผู้นี้ ได้ใช้ฤทธิ์ของตน ปกป้องต้นลอเรลที่ตนรัก มิให้แห้งเหี่ยวไปตามฤดูกาล ดังนั้น เราจึงเห็นต้นลอเรล มีใบเขียวฉอุ่มตลอดทั้งปี
Laurel’s leaves
และไม่เพียงเท่านั้น เขายังได้นำกิ่งและใบของต้นลอเรล มาร้อยเป็นมงกุฏแล้วสวมไว้บนศีรษะ นับแต่นั้นมา เราก็จะเห็นอะพอลโล อยู่เคียงคู่กับมงกุฎแห่งลอเรลอยู่เสมอมา
Apollo with his laurel wreath
และมงกุฎนั่น ก็ได้ถูกนำไปสวมไว้บนหัวของผู้ได้รับชัยชนะในเวลาต่อมาเช่นกัน ดังเช่น ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
นี่ก็คือ ตำนานแห่งลอเรล ต้นไม้ประจำตัวของอะพอลโล แม้ว่ารักครั้งแรกจะไม่สมหวัง แต่มัน ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงความรักนิรันดร์ ที่เทพเจ้า มีต่อผู้อื่น ซึ่งหาได้ยากยิ่งในตัวของเทพเจ้าผู้เป็นอมรรตัย
Laurel wreath
แต่เราก็อาจตีความได้อีกว่า พรหมจรรย์ (ดัฟเน่) และ ตัณหา (อะพอลโลที่ถูกแผลงศร) ไม่อาจอยู่ร่วมกันได้ และมีแต่รักที่แท้จริงเท่านั้น ที่จะคงอยู่ต่อไป นั่นคือรักที่บริสุทธิ์ มิต้องการจะครอบครอง แต่ขอแค่มีความห่วงใยต่อกัน
เรื่องที่สอง เป็นเรื่องราวของทางฝั่งน้องสาว อย่างอาร์เทมิส
โศกนาฏกรรมความรักของนาง เป็นดังนี้…
ทุกท่านทราบกันดี อาร์เทมิส ได้สาบานตนต่อแม่น้ำสติกซ์ (Styx) อันศักดิ์สิทธิ์ ว่าจะรักษาพรหมจรรย์ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับความรักและตัณหา นางไม่ต้องการมีครอบครัว และไม่ต้องการจะคลอดบุตรออกมา เพราะมัน คือความทรมาน
นางมิต้องการทรมานจากการคลอด เช่นมารดาของนาง
แต่ในทางกลับกันนางก็มิได้ปฏิเสธเพศตรงข้ามในฐานะสหายที่ออกล่าสัตว์ด้วยกัน ซึ่งก็มีครั้งหนึ่ง ที่นางเกือบจะละคำสาบาน และถอยห่างจากพรหมจรรย์ ด้วยสาเหตุเช่นนี้ และคนที่เกือบทำให้เทพีตระบัดสัตย์ นั้นมีชื่อว่า โอไรออน (Orion)
Orion and Artemis
เรื่องราวของโอไรออนมีหลายตำนาน แต่ขอเล่าสั้นๆ ถึงต้นกำเนิดของเขา เขาคือบุตรแห่งโพไซดอน เจ้าสมุทร และนางยูริเอล (Euryale) ธิดาแห่งไมนอส (Minos) ราชาแห่งเกาะครีต
โอไรออนมีร่างกายกำยำ ใหญ่โต และเป็นนายพรานที่มีฝีมือฉกาจ เรื่องราวชีวิตของเขาก็มีมากมาย แต่ในวันนี้ ขอยกเรื่องราวระหว่างเขากับเทพีอาร์เทมิสมาเล่าในตอนนี้
เริ่มแรก โอไรออนกับอาร์เทมิสได้ออกล่าสัตว์ด้วยกัน ในฐานะเพื่อนที่รู้ใจกัน แต่มันจะเป็นเช่นนั้นได้หรือ
เมื่อเวลาผ่านพ้นไป วันเวลาที่โอไรออนและอาร์เทมิสใช้ร่วมกันก็มีมากขึ้น จนกลายเป็นความผูกพัน และแล้ว ความรักในใจของอาร์เทมิสก็ได้บังเกิดขึ้น นางตกหลุมรักนายพรานหนุ่มคนนี้ไปเสียแล้ว
แน่นอน นางมีความคิดจะละจากพรหมจรรย์เสีย เพื่อมาแต่งงานกับโอไรออน
อะพอลโล ผู้พี่เมื่อได้ยินดังนั้นก็มีอันไม่พอใจอย่างมาก เขาไม่ต้องการให้น้องสาวผิดคำสาบาน ต่อแม่น้ำอันศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลลงสู่ยมโลก และนาง ยังเป็นตัวแทนแห่งเทพีผู้รักษาพรหมจรรย์ทั้งหลายอีกด้วย นางเองก็มีบริวารมากมายที่ถือพรหมจรรย์เพราะนาง
หากนางสละพรหมจรรย์ลง ทุกอย่างจะจบสิ้น อะพอลโล จึงตัดสินใจจะต้องจัดการกับต้นตอแห่งปัญหา นั่นคือ โอไรออน
เขาได้เรียกแมงป่องยักษ์ตัวหนึ่ง ให้ไปจัดการกับโอไรออน เมื่อจัดการลงได้แล้ว เพื่อสรรเสริญสดุดีความดีความชอบของมัน เขาได้นำเจ้าแมงป่องไปไว้บนฟากฟ้า กลายเป็นกลุ่มดาวแมงป่อง นับแต่นั้นมา…
อะไรนะ อยากจะให้เป็น Tragedy มากว่านี้หรือ ได้ครับ เดี๋ยวจัดให้…
ในอีกตำนานหนึ่ง ที่ดูช่างเป็นโศกนาฏกรรมยิ่ง คือเรื่องนี้
อะพอลโล ได้หลอกล่อให้โอไรออน ไปรออยู่ ณ จุดๆ หนึ่ง ให้คอยอาร์เทมิสมา
จากนั้น ก็ได้ไปบนท้องฟ้า จนกว่าจะมองเห็นโอไรออนเป็นเพียงจุดเล็กๆ จากข้างบน บ้างก็ว่าให้ไปอยู่กลางน้ำ จนมองจากที่ไกล กลายเป็นเหมือนเกาะกลางน้ำ
Nicolas Poussin (1658) “Landscape with blind Orion socking the sun”
และเขา ก็ได้เรียกผู้เป็นน้องสาวมา แล้วท้าให้ยิงสิ่งๆ นั้น ที่อยู่ไกลออกไป ด้วยความเป็นนักธนูเหมือนกัน และเย้ยหยันน้องสาวตนเองว่า คงจะยิงไม่ถูกหรอก ไกลเสียขนาดนั้น
อาร์เทมิสหงุดหงิด จึงตั้งใจจะยิงให้โดนเพื่อลบคำดูถูกของพี่ชาย โดยได้เหนี่ยวไกสุดสาย และยิงออกไปเต็มแรง
ลูกศรดอกนั้น ได้ปักเข้าศีรษะของโอไรออน ซึ่งเป็นเป้าหมายอย่างจัง และด้วยความแรงของลูกธนู เขาก็ถึงแก่ความตาย
Orion’s dead
อาร์เทมิส เมื่อได้พบความจริง ว่านางได้ลงมือสังหารชายผู้เป็นที่รักเสียแล้วโดยไม่รู้ตัว ก็เศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก และสาบานตนว่าจะไม่รักผู้ใดอีก
จากนั้นนางก็ได้นำร่างไร้วิญญาณของโอไรออน ไปไว้บนฟากฟ้า กลายเป็น กลุ่มดาวนายพรานไป ซึ่งอยู่ในทิศตรงข้ามกับกลุ่มดาวแมงป่อง เราจึงสังเกตกลุ่มดาวได้ว่า เราไม่อาจเห็นแมงป่องขึ้นพร้อมกับนายพรานได้เลย
An engraving of Orion from Johann Bayer’s uranometria (1603)
และสุนัขคู่ใจของโอไรออน ที่ชื่อว่า ซิริอุส (Sirius) ก็ได้ถูกนำขึ้นไปบนฟ้าเช่นเดียวกัน กลายเป็นกลุ่มดาวหมาใหญ่ (Canis Major) และดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวหมาใหญ่ ก็มีชื่อว่า ซิริอุส เช่นเดียวกัน
Winter Triangle - Sirius , Betelgeuse and Proceon
หากใครยังจำได้ พ่อทูนหัวของแฮร์รี่ พอตเตอร์ อย่างซีเรียส แบล็ค (Sirius Black) ชื่อของเขา ก็มีที่มาจากดาวซิริอุส และร่างแอนิเมจัสของแบล็ค ก็คือ “สุนัข” (เท้าปุย) นั่นเอง
Sirius Black (Harry Potter)
เรื่องราวโศกนาฏกรรมความรักของเทพเจ้าทั้งสองก็จบลงตรงนี้ ทุกท่านคงจะได้สัมผัสกับความเป็นโศกนาฏกรรม (Tragedy) ของกรีกกันเต็มอิ่มแล้ว ปราชญ์ชาวกรีกหลายท่านยกย่องเรื่องราวประเภทนี้มาก
อาจเป็นเพราะมันช่วยยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ โดยการซึมซาบความเศร้าอย่างถึงที่สุด จนได้เรียนรู้สัจธรรมถึงความไม่สมบูรณ์ของชีวิต
เรื่องราว Tragedy ในปกรณัมกรีกมีมากมาย แต่ผมจะเล่าสลับกันไปกับเรื่องราวประเภทอื่นบ้างนะครับ เพื่อไม่ให้ทุกคนเบื่อกันเสียก่อน
ตอนหน้า เราจะกลับมาพบกันอีกครั้ง ผมจะมาเล่าเรื่องราวของมนุษย์ผู้ชายบ้าง
เขาคนนี้ ไม่ใช่วีรบุรุษ เขามิมีศาสตราใดๆ เว้นแต่เสียงพิณ แต่ด้วยสิ่งนี้ ก็ทำให้เขาอาจรุกล้ำเข้าไปได้แม้แต่นรกภูมิ เขาคือใคร รอติดตาม
ขอให้ทุกท่าน เพลิดเพลินไปกับเรื่องราวจินตนาการเหนือกาลเวลา สวัสดีครับ
Viva La Vida
@Krishna
References

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา