3 พ.ค. 2021 เวลา 16:59 • นิยาย เรื่องสั้น
Greek Mythology ตอนที่ 14 : ออร์ฟิอุส - เสียงพิณ คู่รัก และคำร่ำลา
สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้ง กับผม @Krishna วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องราวที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษของปกรณัมกรีก แล้วก็มีเหตุผลอยู่บางประการว่าทำไมผมจะต้องมาเล่าเรื่องนี้ให้ได้
หนึ่งคือเรื่องราวนี้ผมชื่นชอบเป็นพิเศษครับ และยังกินใจผมอยู่จนถึงทุกวันนี้
ส่วนประการที่สอง ผมขอยกไปตอบในท้ายตอนนะครับ
เรื่องราวที่ผมกำลังจะนำมาเล่าแก่ทุกคน ช่างแสนลึกซึ้ง จับใจ แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องราวประเภท โศกนาฏกรรม (Tragedy) ก็ตามที
และช่างน่าชื่นชมกวีชาวกรีกและชาวโรมันโบราณ ที่ได้รังสรรค์เรื่องราวนี้ออกมาอย่างไพเราะ และขมขื่นในเวลาเดียวกัน นี่เป็นความรู้สึกที่ผมได้อ่านเรื่องราวนี้ครั้งแรก
“นี่แหละนา รสชาติของปกรณัมกรีกที่แสนลึกล้ำ” ผมมีความรู้สึกเช่นนี้ทุกทีที่ย้อนกลับมาอ่านไม่ว่าจะครั้งไหนๆ
ไม่ให้เสียเวลาไปมากกว่านี้ ขอเปิดฉากเรื่องราวของออร์ฟิอุส และยูริดิซี ณ บัดนี้
ดั่งที่ผมได้สดับมา…
ออร์ฟิอุส (Orpheus) ว่ากันว่า คือบุตรแห่งมิวส์ (Muse) เทพีแห่งศิลปวิทยาทุกแขนง และโอเอกรัส (Oeagrus) ราชาแห่งเมืองเธรซ (Trace)
ขอพูดถึงมิวส์เสียก่อน มิวส์ (Muses) คือกลุ่มเทพีแห่งศิลปวิทยาทั้งปวง มีทั้งหมด 9 องค์ ล้วนเป็นบุตรีแห่งซุส เทพบิดร และนางนิโมซินี (Mnemosyne) เทพีไททันแห่งความจำ
Apollo and the Muses – Heinrich Maria Hess
โดยเทพซุสในร่างของคนเลี้ยงแกะ และนางนิโมซินี ได้ร่วมรักกันตลอดเก้าวันเก้าคืน ก่อให้เกิดเทพีมิวส์ทั้งเก้าองค์ขึ้นมา (แม่เจ้า!!!)
Mnemosyne (aka Lamp of Memory or Ricordenza) by Dante Gabriel Rossetti (1876-1881)
เทพีมิวส์ทั้งเก้า ก็มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป ตามสาขาของศิลปวิทยาการด้านต่างๆ
เทวีมิวสเหล่านี้ คือผู้ที่คอยขับขานบทเพลงอันแสนไพเราะ ที่แม้แต่ทวยเทพยังต้องหยุดเพื่อฟังเสียงของพวกนาง นางขับขานบทเพลง เพื่อปลดปล่อยจิตวิญญาณในตัวมนุษย์ให้ออกจากความเศร้าและความทุกข์ นี่ถือเป็นพรอันประเสริฐยิ่งนัก
ขอแทรกเกร็ดปกรณัมสักนิด คำว่า Mnemosyne ก็เป็นรากศัพท์ของคำว่า Mnemonic ในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า ‘เกี่ยวข้องกับความจำ’ เช่นกัน
และคำว่า Music ในภาษาอังกฤษ ก็มีที่รากคำมาจากชื่อของกลุ่มเทพีแห่งศิลปศาสตร์ มิวส์ (Muse) นั่นเอง
มารดาของออร์ฟิอุส ก็คือหนึ่งในเทพีมิวส์ นางมีชื่อว่า แคลลิโอพี (Calliope) นางคือมิวส์แห่งกวีนิพนธ์มหากาพย์ (Epic poetry) แต่บ้างก็ว่า บิดาของออร์ฟิอุส คืออะพอลโล (Apollo) เทพแห่งดวงอาทิตย์ ดนตรี สัจจะ และการพยากรณ์
ด้วยเพราะออร์ฟิอุสมีพรสวรรค์ด้านการดนตรี โดยเฉพาะพิณ (Lyre) คู่กาย ที่รับมอบมาจากอะพอลโลเอง และตัวอะพอลโลเองก็มีความสัมพันธ์สนิทสนมกับเหล่าเทพีมิวส์เป็นพิเศษ
Calliope teaching Orpheus - Alexandre Auguste Hirsch
แต่ในความเห็นของผม ผมคิดว่าบิดาของออร์ฟิอุสก็คือราชาโอเอกรัสน่าจะถูกต้องกว่า เพราะออร์ฟิอุสเป็นมนุษย์ มิใช่เทพผู้เป็นอมรรตัย
ออร์ฟิอุส ได้รับการถ่ายทอดวิชาดนตรี สุนทรียะ และการขับลำนำ มาจากแคลลิโอพี ผู้เป็นมารดา และอะพอลโล ก็ได้สอนเขาเล่นพิณจนชำนาญ ในเมืองเธรชเอง ผู้คนก็ต่างมีดนตรีอยู่ในจิตวิญญาณ ออร์ฟิอุสจึงเป็นผู้มีพรสวรรค์ด้านดนตรีที่ไม่มีมนุษย์คนใดเทียบเขาได้ ก็เว้นแต่เหล่าทวยเทพเท่านั้น
Apollo and the Muses on Mount Helicon (1680) by Claude Lorrain
และเขาสามารถเล่นพิณ โดยที่เสียงพิณนั้น ยามที่บรรเลง ก็จะสื่อถึงเรื่องเล่าด้วย นั่นหมายความว่า เขาเล่าเรื่องราว ผ่านบทเพลงจากพิณของเขา นั่นก็เป็นสิ่งที่เขาได้รับการถ่ายทอดมาจากมารดา
หากจะอธิบายง่ายๆ ก็คงจะเหมือนว่า ดนตรีที่เขาเล่นนั้น จะมีเรื่องราวผสานเข้ามา โดยที่เขาแทบไม่ต้องเอ่ยปากใดๆเลย
ทุกครั้งที่ออร์ฟิอุสเล่นพิณ สรรพสิ่งรอบตัวต่างคล้อยตามบทเพลงของเขา หมู่มวลพฤกษามาลี มีชีวิตชีวายิ่งกว่าเดิม ส่งกลิ่นหอมโชยมา ใบไม้ต่างปลิดปลิวไหวตามเพลงพิณ
Nymphs listening the songs of Orpheus (1900) by Charles François Jalabert (1853)
แม้นสิ่งไม่มีชีวิตดังเช่นก้อนหิน หรือสายนที ก็พลันสั่นไหวไปตามเสียงเพลง สัตวทั้งหลาย ต่างนั้นล้อมวง รอบกายออร์ฟิอุส เพื่อฟังเสียงบรรเลงที่แสนไพเราะจับใจ นางไม้ทุกนาง ต่างพากันหยุดฟังเสียงเพลงแห่งชายหนุ่มผู้นี้
วีรกรรมอันโดดเด่นของออร์ฟิอุส ในฐานะนักผจญภัย เขาได้ลงเรืออาร์โก (Argo) ไปกับเหล่าวีรบุรุษเลื่องชื่อมากมาย กัปตันเรือคือเจสัน (Jason) มีเป้าหมายเพื่อแสวงหาขนแกะทองคำ
แม้นออร์ฟิอุสไม่มีศาสตราวุธ หรือความสามารถในเชิงการรบใดๆ แต่เขามีสิ่งหนึ่งที่หาได้ยากยิ่ง นั่นคือ เสียงดนตรี และด้วยสิ่งนี้ ก็ทำให้เรืออาร์โกพ้นภัยมาได้ตลอดการเดินทาง
Orpheus and Argonauts
ขอยกตัวอย่างวีรกรรมของเขาสักหนึ่งอย่าง คราวที่เรืออาร์โกแล่นผ่านอาณาเขตของไซเรน อสุรกายที่มาพร้อมเสียงล่อลวงอันแสนไพเราะเย้ายวนใจ
พวกมันจะคอยอยู่บนหินโสโครก เมื่อเรือผ่านมาในอาณาเขตของเสียงแห่งไซเรน พวกมันจะขับกล่อมเสียงเพลงที่แสนจะไพเราะ ล่อลวงให้ลูกเรือเสียสติ และเรือหันเหเข้าสู่จุดกำเนิดของเสียง และชนโขดหินจนอับปางลงไป
แต่ออร์ฟิอุสแก้ไขสถานการณ์นี้ โดยการขึ้นไปยืนที่หัวเรือ และบรรเลงพิณให้ไพเราะและเสียงดังกว่า เพื่อกลบเสียงของไซเรนทั้งหลาย จนผ่านพ้นอาณาเขตของเหล่าไซเรนมาได้
แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดของเรื่องราวชีวิตของออร์ฟิอุส คือเรื่องราวความรักระหว่างเขา และยูริดิซี แม้มันจะจบลงด้วยโศกนาฏกรรม แต่ก็ยังเป็นเรื่องราวที่สวยงามและล้ำค่าอยู่ดี
Orpheus in the underworld - Frans Francken (17th century)
เรื่องราวความรักของเขาเป็นเช่นนี้…
หลังจากจบภารกิจตามล่าหาขนแกะทองคำแล้ว เขาก็ได้กลับไปใช้ชีวิตตามวิถีชีวิตเดิมของเขา เล่นพิณและท่องไปตามป่าเขาลำเนาไพร
จนวันหนึ่ง เขาได้พบรักกับนางไม้ (Nymph) นางหนึ่ง นามว่า ยูริดิซี (Eurydice)
เขาและเธอ ได้พบกันครั้งแรก เมื่อตอนที่ออร์ฟิอุส กำลังนั่งเล่นพิณบนก้อนหินอย่างแสนสบายใจ เสียงดนตรีพลิ้วไหวไปตามสายลม ด้วยดนตรีที่แสนไพเราะจับใจเช่นเคย
ยูริดิซีบังเอิญผ่านมา ได้ยินเสียงเพลงที่แสนอ่อนหวาน สอดประสานกับธรรมชาติอย่างลงตัว นางติดตามเสียงนั้นไป จนไปถึงต้นตอแห่งเสียงสวรรค์
ออร์ฟิอุสนั่งอยู่ตรงนั้น เขาและเธอได้สบสายตากัน และตกหลุมรักกันตั้งแต่แรกเห็นหน้า หัวใจทั้งคู่ต่างเรียกร้องหากัน รักแรกพบเป็นเช่นนี้แล
Orpheus and Eurydice
นับแต่นั้นมา ทั้งสองก็ไปมาหาสู่ซึ่งกันและกันอยู่บ่อยครั้ง ต่างคนต่างเล่าเรื่องราวของกันและกัน ให้คู่รักฟัง ออร์ฟิอุสทุกครั้งที่มาหาเธอ ก็จะมาพร้อมกับเสียงดนตรีแห่งรักที่เขามีให้เธอ
วันเวลาช่างล่วงเลยผ่านไปอย่างมีความสุข เป็นเช่นนี้เรื่อยมา…
จนถึงวันหนึ่ง พวกเขาทั้งคู่ ตัดสินใจแต่งงานกัน แต่ก็แน่นอน วันเวลาแห่งความสุข ย่อมไม่มีวันยั่งยืน มันจะถูกแทนที่ด้วยความทุกข์ อย่างที่ทั้งคู่ไม่เคยพบเจอมาก่อน
ณ วันวิวาห์ หลังงานเลี้ยงเลิกรา ผู้เป็นเจ้าสาวได้ไปเดินเล่นกับเหล่าเพื่อนนางไม้ของนาง และแล้ว นางก็ถูกงูกัดเขา และล้มสิ้นใจลง ณ ตรงนั้นแล
Orpheus mourning the Death of Eurydice (1814) Ary Scheffer
ออร์ฟิอุส เมื่อทราบเรื่อง ความโศกเศร้า ความเสียใจ ความทุกข์ได้ประดังเข้ามาตรงหน้าเขา
บัดนี้ ดนตรีของเขาไม่มีท่วงทำนองแห่งสุขนาฏกรรมอีกต่อไป บัดนี้ มิแต่เพียงโศกนาฏกรรมที่เจือมากับดนตรีของเขา ทุกสรรพสิ่งต่างร่ำไห้ไปกับดนตรีของเขา
ออร์ฟิอุส หมดสิ้นหนทาง ก็เรียกหาถึงซุส ผู้เป็นปู่เพื่อเรียกหาความเป็นธรรมต่อเวลาชีวิตผู้เป็นภรรยา
ซุส บิดาแห่งเทพเทวา ก็ได้แนะนำให้ออร์ฟิอุส ลงไปยังยมโลก ไปหาเจ้านรกฮาเดส เพื่อนำคนรักกลับคืนมา เพราะแม้แต่ตัวซุสเอง ก็มิอาจเป็นนายเหนือความตายทั้งปวงได้
ออร์ฟิอุส บัดนั้นมีแต่เพียงจิตที่มุ่งจะพาคนรักกลับมาสู่ตนเท่านั้น ปราศจากสุขเวทนาใดๆอีก เพราะหัวใจของเขา ตกลงสู่ยมโลกไปพร้อมกับยูริดิซีแล้ว
ออร์ฟิอุส ได้มาถึง ณ ธรณีประตูผ่านไปสู่แดนแห่งคนตาย เขาได้พบกับสุนัขเฝ้ายาม เซอร์เบอรัส (Cerberus) สุนัขสามหัวแสนดุร้าย มันไม่ยอมให้ใครก็ตามที่ไม่ใช่ผู้วายชนม์ผ่านเข้าไป และไม่ยอมให้ดวงวิญญาณดวงใดก็ตามเล็ดลอดออกไปได้
ออร์ฟิอุส ได้ใช้สิ่งที่เขามีติดตัวมาตลอด เขาบรรเลงดนตรีกล่อมเจ้าสุนัขสามหัวจนมันหลับไหล ไม่สนใจการเฝ้ายามอีกต่อไป
Orpheus and Cerberus - Agostino Veneziano (1528)
จากนั้น ออร์ฟิอุสก็ผ่านประตูเข้าไป สู่เขตแดนแห่งยมโลกโดยสมบูรณ์ ตลอดทุกย่างก้าว เขาบรรเลงเพลงพิณเพื่อกล่อมเกล่าดวงวิญญาณ สัตว์นรกให้สงบลง ไม่ให้มารบกวนเขาได้
แล้วก็เป็นเช่นนั้น วิญญาณทุกดวง ต่างหยุดฟังเสียงเพลงจากออร์ฟิอุส
ซิซิฟัส (Sisyphus) ราชาเจ้าเล่ห์ผู้โกงความตายเหล่าทวยเทพมาถึงสองครา จึงมีโทษทัณฑ์ตกลงสู่ขุมนรก และกลิ้งหินขึ้นเนินไปมาไม่มีวันจบสิ้น ก็หยุดยั้งรั้งรอนั่งบนหิน เพื่อฟังเสียงเพลง
แทนทาลัส (Tantalus) ผู้ถูกทวยเทพลงทัณฑ์จากการหมิ่นเกียรติโดยการหลอกให้กินเนื้อมนุษย์ ก็หยุดกระหายน้ำไปชั่วครู่
อิกซิออน (Ixion) ผู้ล่วงเกินมหาเทพซุส จึงถูกจับมัดกับกงล้อไฟ กงล้อก็หยุดลงชั่วขณะ ตามเสียงเพลงของออร์ฟิอุส
บัดนี้ เขาได้มาอยู่ต่อหน้าบัลลังก์แห่งยมโลกแล้ว มีฮาเดส เจ้าแห่งผู้ม้วยมรณา นั่งอยู่ตรงนั้น ข้างกายคือราชินี เพอร์เซโฟเน เทพธิดาแห่งฤดูใบไม้ผลิ ที่บัดนี้ มาอยู่เคียงข้างสวามี บ่งบอกว่า นี่คือฤดูหนาว ฤดูแห่งความทุกข์
Orpheus and Eurydice - Jean Raoux (1709) (You can see Tantalus and Sisyphus.)
ฮาเดสรู้ดอยู่แล้ว ว่าคนแปลกหน้าผู้นี้ มาด้วยจุดประสงค์เช่นใด แต่ผู้เป็นใหญ่ในโลกใต้พิภพ ก็ปฏิเสธที่จะคืนดวงวิญญาณของคนรักให้แก่ออร์ฟิอุส ด้วยเพราะไม่มีสิ่งใดจะหวนคืนกลับได้ เมื่อสิ่งนั้นก้าวล่วงไปสู่ความตายแล้ว
แต่ว่าออร์ฟิอุสมิยอมท้อถอย เขาได้ใช้พรสวรรค์ที่ตนมี นั่นคือเสียงดนตรีแห่งสรรพสิ่ง บรรเลงบทเพลงพิณด้วยทำนองโศกนาฏกรรม บรรยายเรื่องราวความทุกข์ของเขา
เรื่องราวการพลัดพรากจากกันระหว่างเขาและยูริดิซีคนรัก และเขายังบรรเลงบทเพลงแห่งการพลัดพรากจากกันของสองแม่ลูก อย่างดีมีเทอร์ และเพอร์เซโฟเน เปรียบดั่งเรื่องราวของตัวเขาและคนรักมิมีผิด
บัดนั้น เพอร์เซโฟเนก็น้ำตานองหน้า ด้วยหวนระลึกถึงเรื่องราวในอดีตกาล อันเป็นที่มาแห่งฤดูหนาว
Orpheus in the Underworld (1863) Jacquesson de la Chevreuse (1893 - 1903)
สุดท้าย เขาบรรเลงบทเพลงที่แสนเศร้า เว้าวอนต่อราชาคนตาย
“ทุกชีวิตจากครรภ์มารดา ไม่ว่าจะสวยงามหรือน่าเกลียด ล้วนกลับคืนสู่เชิงตะกอน และร่วงหล่นลงมายังแดนแห่งนี้ ท่านคือเจ้าหนี้ที่ทวงหนี้ทุกชีวิตได้ทุกเมื่อ ไม่มีใครอาจหาญหลบหลีกจากเจ้าหนี้เช่นท่านได้
“แต่คนรักของข้า ยูริดิซี ช่างน่าสงสาร นางเปรียบดังดอกตูมที่ยังมิทันผลิบาน แต่ถูกเด็ดไปเสียแล้ว
นางยังมิถึงเวลาที่ควรค่าแก่การมา ณ แดนแห่งนี้ ขอยืมตัวนางกลับมาอยู่กับข้า ก่อนนางจะกลับคืนมา เมื่อถึงอายุขัย…”
ฮาเดส ผู้มีหัวใจแข็งดังหินผา เมื่อได้ฟังมาจนจบ เขากลับกลั้นน้ำตามิได้ ราชาคนตายผู้เยือกเย็น ได้หลั่งน้ำตาแก่โชคชะตาที่แสนโหดร้ายของชายหนุ่มผู้นี้
ฮาเดส จึงยินดีจะคืนนางยูริดิซีแก่ออร์ฟิอุส จากนั้นก็สั่งให้เหล่าเสนา พาตัวดวงวิญญาณของสาวเข้ามา และให้ออร์ฟิอุส พานางกลับขึ้นไปสู่พิ้นพิภพ โดยมีเงื่อนไขหนึ่งข้อ
นั่นคือ เขาจะต้องไม่เหลียวหน้าแลกลับมามองนาง หากนางยังไม่ก้าวพ้นจากเขตแดนแห่งยมโลก และกลับคืนสู่โลกมนุษย์อย่างสมบูรณ์
Orpheus (1636) by Peter Paul Rubens
ออร์ฟิอุสเดินนำหน้านางไป ผ่านช่องแคบและทางเดินอันมืดมิดไปเรื่อยๆ จนออร์ฟิอุสได้ผ่านพ้นเขตแดนแห่งยมโลกไปแล้วเรียบร้อย
Orpheus leading Eurydice from the Underworld - Jean Baptiste Camille Corot (1861)
ทันใดนั้น เขากลับเหลือบไปข้างหลัง เพื่อดูว่านางผ่านพ้นธรณีประตูมาหรือยัง
แต่อนิจจา นางยูริดิซี ยังไม่พ้นเขตอันตราย ทันทีที่เขาหันไป นางกลับล่องลอยกลับไปสู่ที่ที่นางจากมา
เขาพยายามจับแขนนางเอาไว้ แต่นั่น ก็คว้าได้แต่ความว่างเปล่า นางกลับไปเป็นดวงวิญญาณอีกครั้ง
Orpheus and Eurydice - Carl Goos (1826)
ยูริดิซี ล่องลอยจากเขาไป กลับสู่นรกภูมิอีกครา นางจะจากเขาไปตลอดกาลแล้วจริงๆ พร้อมถ้อยคำสุดท้ายที่นางได้มอบให้แก่ออร์ฟิอุส
“Farewell (ลาก่อน)”
Orpheus and Eurydice (1806) Ny Carlsberg Glyptotek, Copenhagen
ออร์ฟิอุส หมดสิ้นความหวังอีกครั้ง ประตูนรก ไม่เปิดต้อนรับเขาอีกต่อไปในขณะที่ยังมีชีวิตอีกแล้ว เขานั้นหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ร่อนเร่พเนจรไปตามป่าเขาลำเนาไพร ปลีกวิเวกอยู่ตามลำพัง บรรเลงดนตรีด้วยความเศร้าโศก ไม่มีอีกแล้ว เสียงบรรเลงแห่งความสุข
จนวาระสุดท้ายของเขา เขาได้ไปถึง ณ สถานที่แห่งหนึ่ง อันเป็นสถานที่บูชาแด่ไดโอนีซุส (Dionysus) เทพแห่งเหล้าองุ่น เหล่าเมแนดส์ (Maenads) หญิงสาวสาวกแห่งไดโอนีซุส กำลังเมามายกับเหล้าที่พวกนางใช้บวงสรวงแด่เทพของพวกนาง
พวกนางทุกคนต่างบ้าคลั่งเมามายด้วยฤทธิ์สุรา และสังหารออร์ฟิอุส ชายหนุ่มผู้แสนบริสุทธิ์ที่ถูกโชคชะตากลั่นแกล้งลง
Death of Orpheus by Émile Lévy (1866)
เนื่องจากเขาดันเอ่ยถึงอะพอลโล ในสถานที่แห่งไดโอนีซุส และด้วยเขาพรากจากคนรัก สติสัมปชัญญะของเขาก็แตกสลายไปตั้งนานแล้ว เขาอยู่ในสภาพตายทั้งเป็นไปนานแล้ว ไปพร้อมกับคนรักของเขา
พวกเมแนดส์ ฉีกร่างของออร์ฟิอุสเป็นหลายส่วน และนำไปลอยตามน้ำ ส่วนหัวของเขา ได้ลอยติดมากับพิณทองคู่ใจ ไหลมาตามแม่น้ำเฮบรัส และยังส่งเสียงบรรเลงบทเพลงแห่งความเศร้าไม่จบสิ้น
Nymphs finding the head of Orpheus (1900) by John William Waterhouse
สุดท้าย เหล่าเทพีมิวส์ ก็ได้รวบรวมชิ้นส่วนศพของเขาจนครบ และนำไปประกอบพิธีอย่างสมเกียรติ จากนั้นก็นำไปฝังไว้ยังเชิงเขาโอลิมปัส ณ ที่นกไนติงเกลส่งเสียงอันไพเราะเพราะพริ้ง มาจวบจนทุกวันนี้
และเหล่ามิวส์ ยังได้นำพิณคู่ใจของออร์ฟิอุส ไปประดับไว้บนฟากฟ้ายามราตรี กลายเป็นกลุ่มดาวพิณ (Lyra) นับแต่นั้นมา
Lyra constellation
และจุดจบของเรื่องราวนี้ ออร์ฟิอุส ก็ได้ไปสถิตอยู่น่วมกับยูริดิซี ภรรยาของเขา ณ ทุ่งอิลิเซียม (Elysian field) ที่พำนักสุดท้ายแห่งเหล่าวีรบุรุษผู้วายชนม์ ที่แห่งนั้น ห่างไกลจากความทุกข์ทั้งปวง และสงบสุขอยู่ตลอดกาล
Elysian Field
พวกเขาทั้งคู่ สุดท้ายก็ได้อยู่ด้วยกัน ณ ดินแดนแห่งพันธสัญญา และจะไม่มีสิ่งใดมาพรากพวกเขาให้จากกันได้อีก ตราบนานเท่านาน
นี่ก็คือ เรื่องราวของออร์ฟิอุส ชายหนุ่มผู้ดีดพิณสยบพิภพโลกันตร์ แม้จะไม่สมหวัง แต่เขาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ว่าความรักที่มีให้แก่เธอ มิเกรงกลัวต่อความตาย และพร้อมท้าทายนรกภูมิได้อย่างน่าอัศจรรย์
เกร็ดสุดท้ายที่ผมอยากจะฝากไว้ คือสำนวนอังกฤษ ที่ว่าไว้ว่า “Never Look Back”
หมายถึง ข้อห้ามที่ไม่ให้หันกลับไปมองข้างหลัง หรือสิ่งเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม นั้นก็มีที่มาจากเรื่องราวของออร์ฟิอุสและยูริดิซี
จากเรื่องราวของออร์ฟิอสุ ก็มีบทเรียนเป็นอันว่า เวลาจะทำสิ่งใด ไม่ควรกลับมามองข้างหลังด้วยความอาลัยอาวรณ์ และความผิดพลาดที่น่าเจ็บใจที่สุด ก็คือความผิดพลาด ณ ปลายทาง ด้วยประการฉะนี้แล
The Lament of Orpheus - Franz Caucig (19th Century)
ผมขอจบเรื่องราวของออร์ฟิอุสไว้เพียงเท่านี้ เอาล่ะ เหตุผลบางประการอีกข้อที่ผมพยายามจะบอกแก่ท่านผู้อ่านทุกท่าน นั่นก็เป็นเพราะ อยากจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องราวในปกรณัมฮินดูเรื่องหนึ่ง ที่มีการโกงความตายเกิดขึ้น ในลักษณะที่คล้ายกับออร์ฟิอุส
ตัวเอกของเรื่องคือสตรี แต่ว่า…นางคือสตรีเพียงผู้เดียว ที่อาจหาญท้าทายอำนาจกับพระยม เพื่อเอาชีวิตของชายผู้เป็นที่รักกลับคืนมา
ก็เป็นอันว่า ตอนหน้าเราจะข้ามทวีปไปอินเดียกันบ้าง เรื่องราวของปกรณัมฮินดูก็สนุกไม่แพ้กัน และให้ข้อคิดไว้มากพอสมควรครับ
สำหรับวันนี้ ผมขอตัวลาไปก่อน ขอให้ทุกท่านเพลิดเพลินกับเรื่องราวแห่งปัญญาและจินตนาการ ที่สืบมาจวบจนปัจจุบัน
Viva La Vida
@Krishna

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา