Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Mythology
•
ติดตาม
13 พ.ค. 2021 เวลา 13:17 • นิยาย เรื่องสั้น
Greek Mythology ตอนที่ 15 : คิวปิดและไซคี - ความรัก บทสดสอบ และจิตวิญญาณ part 1 : เรื่องราวสั้นๆ ของอีรอส
นี่เป็นเรื่องราวความรักที่ยิ่งใหญ่และแสนโรแมนติกที่สุดเรื่องหนึ่งในเทพปกรณัมกรีก และเรื่องราวนี้พิสูจน์ให้เราเห็นว่า ความรักและจิตวิญญาณ คือของคู่กัน มิอาจแยกจากกันได้เลย
คนหนึ่งหลีกหนี อีกคนหนึ่งไล่ตาม ผ่านพ้นอุปสรรคนานา จนทั้งคู่ได้มาครองรักกันตราบนิจนิรันดร์
สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้ง กับผม @Krishna วันนี้ขอมาเล่าเรื่องราวไม่กี่เรื่องในตำนานกรีกที่จบแบบ Happy Ending เหล่ากวีในอดีต เล่าเรื่องนี้ไว้อย่างดีเยี่ยม และงดงามเหนือคำบรรยาย นั่นคือเรื่องราวของ คิวปิดและไซคี
เรื่องราวนี้ยาวมาก และมีรายละเอียดที่สำคัญมากมาย ผมเองก็ไม่อยากจะเล่าเรื่องแบบย่อๆ เท่าไหร่นัก เพราะจะทำให้เสียอรรถรสและคุณค่าไปพอสมควร จึงขอแบ่งเป็น 2 part และยกอีกครึ่งหลังของเรื่องราวไปไว้ในตอนหน้า
ถ้าพร้อมแล้ว ผมจะขอเปิดเรื่องราวแห่งความรักของคิวปิด และไซคี ณ บัดนี้
ดังที่ได้สดับมา… ขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับเทพเจ้าตัวเอกของเรื่องกันเสียเล็กน้อย
อีรอส (Eros) หรือคิวปิด (Cupid) ในชื่อโรมัน คือเทพแห่งความรัก และกามารมณ์ ผู้สามารถบันดาลให้สิ่งมีชีวิตใดๆทั้งสอง ตกหลุมรักกันได้ ไม่เว้นแม้แต่เหล่าเทพ
Statue of Eros sleeping (3rd - 2nd Century B.C.)
ว่ากันว่าอีรอส คือบุตรแห่งเทพีอะโฟรไดท์ (Aphrodite) หรือวีนัส (Venus) เทพีแห่งความงาม กามตัณหา และอาเรส (Ares) หรือมาร์ส(Mars) เทพแห่งสงคราม
แต่ตำนานที่เก่ากว่านี้เล่าไว้ว่า อีรอส คือปฐมเทพหรือทวยเทพยุคแรกเริ่ม นั่นคือบุตรแห่งเอเรบัส (Erebus) เทพแห่งความมืดและหุบเหว และนิกซ์ (Nyx) เทพีแห่งราตรีกาล เมื่อคราวอุบัติของจักรวาลขึ้นมาใหม่ๆ
Mars and Venus unite by Love - Paolo Veronese (1570)
แต่จะอย่างไรก็ช่าง อีรอสที่ทุกท่านรู้จักก็มักจะถูกวาดในลักษณะของเด็กน้อยผู้มีปีก ในมือถือคันศรและลูกธนู ที่สามารถแผลงศรออกไปเพื่อบันดาลให้สิ่งมีชีวิตต่างตกหลุมรักกันได้ ซึ่งก็ทำนองเดียวกับกามเทพของฝั่งฮินดู ที่มีธนูเช่นนี้เหมือนกัน
เทพอีรอส ติดมารดาเป็นอันมาก กล่าวคือไม่ว่าจะอะโฟรไดท์จะไปที่ใด จะพบอีรอสข้างกายเสมอ ซึ่งมันก็มีนัยยะบางอย่างที่สามารถสื่อความได้ว่า…ความงาม หรืออะโฟรไดท์ ย่อมมาคู่กับความรักและตัณหา ซึ่งก็คืออีรอสเสมอ
ที่ใดมีความงาม เราประสบพบมัน ความรักและตัณหาย่อมเกิดขึ้นกับเรา นี่คือความเป็นมนุษย์ที่เราต้องเคยเจอกับประสบการณ์เช่นนี้เป็นแน่แท้
และคำว่า อีรอส ยังเป็นรากศัพท์ของคำว่า Erotic ที่แปลว่า ‘เรื่องทางเพศ’ ก็มีที่รากมาจาก Eros นั่นเองครับ ด้วยเหตุผลดังที่ได้อธิบายเมื่อครู่
และอีรอสในบางครั้งก็จะมาในรูปแบบที่มีผ้าปิดตานั้นก็มีบ้าง ซึ่งมันก็สื่อได้อีกเช่นกันว่า
“ความรักทำให้คนเราตาบอด จนแทบจะมองไม่เห็นความจริง”
ในงานศิลปะอย่างงานจิตรกรรมหรือประติมากรรม เรามักจะเห็นกามเทพหรืออีรอสในรูปของเด็กน้อยมากกว่าชายหนุ่ม ถามว่าทำไม ในตำนานมีเรื่องมีราวนี้รองรับอยู่บ้างครับ
5
เรื่องราวเป็นเช่นนี้ เทพีอะโฟรไดท์มีความวิตกกังวลใจเรื่องหนึ่ง เพราะอีรอส แม้จะมีอายุผ่านไปเท่าไหร่ ก็ยังอยู่ในร่างของเด็กน้อย ไม่เติบโตตามวัยเป็นหนุ่มตามปกติ เธอจึงนำเรื่องไปปรึกษาเทพีเธมิส (Themis) เทพีไททันแห่งกฎหมายและความยุติธรรม
เธมิสได้ให้คำตอบแก่อะโฟรไดท์ว่า อีรอสนั้นที่ว่ายังมิโตเพราะไม่มีเพื่อนเล่นเคียงข้างกาย จึงรู้สึกเหงา หากมีเพื่อนมาเล่นด้วยกันอย่างสนิทสนม อีรอสก็จะเติบโตตามปกติเอง
ว่าแล้ว เทพีอะโฟรไดท์แห่งความงาม ก็ได้มีบุตรกับอาเรส คู่ขาของนางอีกหนึ่งคน นั่นคือ แอนทิรอส (Anteros) ที่หมายถึง “การรักตอบ”
Eros e Anteros by Camillo Procaccini
อีรอสก็ได้มีเพื่อนเล่นเป็นแอนทิรอสแล้ว ก็มีความสุขอย่างยิ่ง และเติบโตมาเป็นชายหนุ่มรูปงามดั่งควรจะเป็นเสียที “เพราะความรัก จะเติบโตขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับการรักตอบ” เสมือนคิวปิด ที่มีแอนทิรอสมาอยู่เคียงข้างกันแล้ว
แต่ถึงกระนั้น อีรอสในงานศิลปะก็มักจะมาในรูปของเด็กชายเด็กชายตัวน้อยอยู่ดี เพราะศิลปินนั้นคงจะติดตาภาพของอีรอสในรูปของเด็กน้อยไปเสียแล้ว บางทีอาจจะให้ความรู้สึกแบบ เด็กน้อยแสนซนที่มักจะบันดาลให้เกิดความรักแบบที่คนสองคนมักไม่รู้ตัว
อีรอส มักจะเป็นผู้ที่ทำให้คนเดือดร้อนกันเสมอๆ ดังเช่นซุส ที่มักจะตกที่นั่งลำบากเพราะถูกศรของอีรอส บันดาลให้หลงรักเหล่ามนุษย์หรือเทพด้วยกัน จนผลกรรมตกอยู่ที่เหล่าเมียน้อยอยู่ทุกครั้งไป หรือแม้แต่ตัวซุสเอง ก็ต้องอับอายกับการกระทำที่ตนได้ทำลงไปเช่นกัน
อะพอลโลก็เป็นอีกตัวอย่างของการโดนพิษรักจากอีรอสเล่นงาน ทำให้พระองค์ช้ำรักตั้งแต่คราแรกที่เกิดความรู้สึกรักใคร่ต่อคนอื่น นั่นคือเรื่องราวของพระองค์กับนางดัฟเน่ ผู้ที่สุดท้ายนั้นสถิตอยู่กับอะพอลโลในฐานะต้นไม้ประจำตัว (หากอยากทราบเรื่องราวของอะพอลโลกับนางดัฟเน่ สามารถย้อนไปอ่านตอนเก่าที่ผมเขียนไว้ได้นะครับ)
1
Apollo and Daphne by Waterhouse (1908)
อีรอส กามเทพแสนซุกซน ที่ได้บันดาลให้ผู้คนตกหลุมรักกันจนบางครั้งก็เกิดเรื่องราวที่แสนชุลมุนวุ่นวายแล้วนั้น ก็ถึงคราวของตัวเองบ้าง ที่จะต้องเจอกับเรื่องราวความรักของตนที่แสนจะลำบากยากเย็น และนี่ก็จะเป็นเรื่องราวระหว่างอีรอส กับ ไซคี ความรักและจิตวิญญาณ
นี่ก็คือเรื่องราวเบื้องต้นของกามเทพอีรอส หรือคิวปิด ที่ทุกคนควรรู้ก่อนจะไปฟังเรื่องราวความรักอันยิ่งใหญ่ของเขา
ติดตามได้ในตอนหน้า เพราะเนื้อเรื่องมีความยาวมาก และเข้มข้นในทุกบรรทัด สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีครับ
Viva La Vida
@Krishna
6 บันทึก
3
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Greek Mythology
6
3
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย