Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Play Now Thailand
•
ติดตาม
17 เม.ย. 2021 เวลา 08:17 • กีฬา
ทำไม “มนุษย์” ถึงเป็นเจ้าแห่งการวิ่งระยะไกล เหนือสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น
TERI2497 : เรื่อง
Pixabay : ภาพ
1
ไล่จากเส้นทางสั้นๆ ไปยันระยะทางยาวไกล ประเภทการวิ่งที่มนุษย์กำหนดการแข่งขันไว้ มีทั้งการวิ่งบนพื้นราบหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าการ “วิ่งถนน” (road running) และการวิ่งบนเส้นทางธรรมชาติที่ไม่ราบเรียบเหมือนผิวถนน เรียกว่าการ “วิ่งเทรล” (trail running) ที่อาจเป็นการวิ่งตามป่าเขา ชายทะเล เรือกสวน ไร่นา ผสมผสานกัน
หรือหากจะแบ่งประเภทของการวิ่งออกตามระยะทางสำหรับการแข่งขัน ก็มีทั้งระยะเริ่มต้นอย่างไมโครมาราธอนหรือฟันรัน (fun run) 3 หรือ 5 กิโลเมตร
ควอเตอร์มาราธอนหรือมินิมาราธอน 10 กิโลเมตร
ฮาล์ฟมาราธอน 21 กิโลเมตร
มาธารอน 42.195 กิโลเมตร
และยังมี อัลตร้ามาราธอน หมายถึง ระยะทางใดก็ตามที่ไกลกว่ามาราธอน อาจเป็น 50 กิโลเมตร 100 กิโลเมตร หรือ 100 ไมล์ ขณะที่บางรายการผู้จัดอาจไม่กำหนดระยะทางสำหรับการแข่งขันเอาไว้ แต่ใช้ “ระยะเวลา” เช่น วิ่งให้ได้ระยะทางมากที่สุดในเวลา 1 วัน
ตัวเลขที่ซ่อนอยู่ในการแข่งขันเหล่านั้นพอจะเป็นเครื่องยืนยันได้หรือไม่ว่า “มนุษย์” เป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์มหัศจรรย์ที่อดทนวิ่งได้ยาวนานและยาวไกลมากที่สุดในโลก
2
หากเปรียบเทียบกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะสัตว์บก สายพันธุ์ที่ติดอันดับนักวิ่งฝีเท้าฉกาจ โดยทั่วไปมักนึกถึงเสือชีตาร์ สัตว์บกที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก ความเร็วประมาณ 112 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นอันดับแรก
1
นอกจากเสือชีตาร์แล้วนกกระจอกเทศเป็นสัตว์ 2 ขาที่วิ่งเร็วที่สุด ด้วยความเร็วประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ขณะที่ม้าแข่งและกระต่ายป่านั้นมีความเร็วพอๆ กัน สัตว์ทั้งสองชนิดสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงถึงประมาณ 72 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นอกเหนือจากสัตว์บกแล้วสัตว์ปีกอย่างนกที่สามารถโบยบินบนท้องฟ้า มีการบันทึกสถิติว่าเหยี่ยวเพเรกรินเป็นสัตว์ปีกที่บินเร็วที่สุดด้วยความเร็วประมาณ 389 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นกอินทรีทองบินด้วยความเร็วประมาณ 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ค้างคาวหางฟรีเม็กซิกันประมาณ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ในส่วนของสัตว์น้ำ ปลามารีนดำ (Black marlin) สามารถว่ายน้ำด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 132 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ปลากระโทงร่ม (Sailfish) ประมาณ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ปลากระโทงดาบ (Swordfish) ประมาณ 97 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไล่เรียงไปตามลำดับ
9
จากสถิติข้างต้น ถ้านำความเร็วของสัตว์แต่ละชนิดมาเปรียบเทียบกับแชมป์วิ่งมาราธอน ที่สามารถวิ่ง 42.195 กิโลเมตร ภายในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง ก็จะพบว่าสัตว์หลายชนิดมีความเร็วทิ้งห่างมนุษย์ไปหลายช่วงตัว
1
อย่างไรก็ตามมีการศึกษาพบว่าความเร็วในการวิ่งของสัตว์ชนิดต่างๆ ตามที่กล่าวมานี้ อาจเป็นความเร็วที่ตรวจวัดหรือบันทึกสถิติภายในช่วงเวลาสั้นๆ
ถ้าให้ “วิ่งอึด” หรือ “วิ่งทน” แข่งกัน มนุษย์จะเป็นฝ่ายมีชัย
3
ย้อนเวลากลับไปในยุคบรรพกาล สังคมมนุษย์ยังไม่รู้จักการทำปศุสัตว์ บรรพบุรุษของเรายังดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์ป่า อาหารโปรตีนคือเนื้อสัตว์ที่ได้จากการล่า
ในวันนั้นผู้คนยังไม่รู้จักประดิษฐ์กับดัก หรือเครื่องมือสำหรับยิง สิ่งที่มนุษย์ใช้ในการล่าสัตว์คือสองขาที่ออกวิ่ง วิ่ง และวิ่ง
ภายหลังล่อเหยื่อออกจากฝูง มนุษย์จะช่วยกันไล่ต้อนสัตว์เป้าหมายไปเรื่อยๆ อย่างไม่ลดละ ไม่ว่ามันจะวิ่งหนีบนทุ่งโล่ง หรือเข้าไปในป่าโปร่ง มนุษย์จะไล่ต้อนจนกว่ามันจะรู้สึกเหนื่อยและล้มลง ถ้าเป็นลูกกวางอาจใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่อาจต้องทุ่มเทเวลาติดตามหลายวัน
1
มีการศึกษาพบว่าสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติโดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้น หลังจากเริ่มวิ่งผ่านไปไม่นานจะต้องหยุดพัก เนื่องจากความร้อนในร่างกายเพิ่มขึ้นถึงจุดโอเวอร์ฮีต (overheat)
ผลจากการศึกษาทางชีววิทยา เปรียบเทียบเทียบร่างกายมนุษย์กับร่างกายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยทั่วไปพบว่า
ร่างกายมนุษย์ถูกออกแบบให้มีขนน้อยกว่า และมีผิวหนังที่สามารถขับเหงื่อเพื่อระบายความร้อนได้ดี ขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ ไม่ได้มีคุณสมบัตินี้เทียบเท่ามนุษย์
ยกตัวอย่างสุนัข สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนยาวทั้งตัว จนมองไม่เห็นว่าจะมีผิวหนังส่วนใดสามารถระบายความร้อนออกมาได้ วิธีคลายร้อนที่ดีที่สุดของสุนัขจึงเป็นการอ้าปากแลบลิ้น เพื่อระบายความร้อนและน้ำออกจากลิ้นและเพดานปาก เนื่องจากสุนัขไม่มีต่อมเหงื่อเพื่อระบายความร้อน
นอกจากนี้โครงสร้างปอดของมนุษย์ยังช่วยทำให้เกิดการหายใจที่มีประสิทธิภาพ โครงสร้างร่างกายของมนุษย์โดยเฉพาะมัดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ ยังเอื้อต่อการวิ่งระยะไกล
ด้วยเหตุนี้สัตว์ฝีเท้าฉกาจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเสือชีตาร์ นกกระจอกเทศ กระต่ายป่า หรือม้าแข่ง แม้จะสามารถวิ่งแบบสปรินท์ (sprint- หมายถึงวิ่งเร็วเต็มที่) ได้เร็วมาก แต่ก็ทำได้เพียงระยะทางสั้นๆ ถ้าให้สัตว์เหล่านั้นวิ่งด้วยความเร็วเต็มกำลัง ผ่านไปเพียงแค่ไม่ถึง 5-10 นาที ร่างกายจะมีความร้อนมากเกินกว่าจะรับไหว จนทำให้ต้องหยุดพักหรือชะลอความเร็ว
2
แม้แต่ม้าแข่งเองก็เช่นกัน ถ้าวิ่งแข่งกับมนุษย์ ม้าจะวิ่งนำมนุษย์ในช่วงแรกของการแข่งขัน หลังจากนั้นความร้อนสะสมในตัวม้าจะสูงขึ้นจนน่าตกใจ ตามสัญชาตญาณถ้าม้าไม่อยากตายก็ต้องลดความเร็วลง จังหวะนั้นมนุษย์จะสามารถวิ่งขึ้นนำได้
ในการล่าสัตว์ยุคบรรพกาล มนุษย์เรียนรู้จุดอ่อนของสัตว์ชนิดต่างๆ แล้วใช้สิ่งนี้เป็นข้อได้เปรียบ
บรรพบุรุษของเราจะใช้วิธีวิ่งไล่บี้ วิ่งไปเรื่อยๆ อย่างไม่ลดละ จนทำให้สัตว์มีเวลาหยุดพักไม่เพียงพอต่อการระบายความร้อน
เมื่อถึงเวลาที่สัตว์ตัวนั้นไม่สามารถวิ่งหนีต่อจึงเดินเข้าไปสังหาร
วิธีล่าสัตว์แบบนี้มีชื่อเรียกว่า “การไล่ล่าอย่างต่อเนื่อง” (persistence hunting)
ทุกวันนี้ผู้คนในดินแดนอันห่างไกลในหลายทวีปก็ยังใช้วิธีนี้ในการล่าสัตว์
4
เหตุผลสำคัญที่ทำให้เผ่าพันธุ์ของเราสืบเชื้อสายมาถึงปัจจุบันไม่ใช่เพราะพวกเราวิ่งได้เร็ว แต่เพราะพวกเราวิ่งระยะไกลได้ดี
สิ่งสำคัญที่สุดในการวิ่งระยะไกลอาจไม่ใช่ความเร็ว แต่มันคือความอึดความอดทนที่จะก้าวไปสู่ปลายทาง
2
ทุกวันนี้สิ่งสำคัญสำหรับนักวิ่งที่ลงสนามอาจเป็นเหรียญรางวัลและเส้นชัย
แต่ในยุคดึกดำบรรพ์สิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตคือเนื้อสัตว์ที่จะนำมากินเป็นอาหาร
1
เมื่อร่างกายถูกสร้างให้วิ่งติดต่อกันได้ในช่วงเวลายาวนาน เมื่อจิตวิญญาณของเราได้รับการวิวัฒนาการให้เป็นสัตว์ที่วิ่งได้ไกล
การวิ่งมาราธอน 42.195 กิโลเมตร หรือต่อให้มากกว่านั้น ก็คงไม่ได้ไกลเกินขีดจำกัดของมนุษย์
1
#PlayNowThailand #khelnow #วิ่งเพื่อสุขภาพ #running #วิ่ง #run #วิ่งมาราธอน
21 บันทึก
29
2
13
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Let's Run
21
29
2
13
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย