19 เม.ย. 2021 เวลา 04:14 • หนังสือ
✴️ บทที่ 1️⃣ ความท้อแท้ของอรชุน
(ตอนที่ 13) ✴️
🌸 “กองทัพฝ่ายจิตวิญญาณ” กับ “กองทัพฝ่ายวัตถุ” 🌸
⚜️ โศลก 4️⃣➖6️⃣ ⚜️ (ตอนที่ 1)
หน้า 61 – 63
โศลกที่ 4️⃣➖6️⃣
(4) ณ ที่นี้ มีวีรบุรุษผู้กล้าหาญ เชี่ยวชาญเชิงธนูเสมอด้วยภีมะและอรชุนอยู่หลายท่าน – นักรบผู้เกรียงไกร ได้แก่ ยุยุธาน วิราฏ และ ทรุบท
(5) มีผู้แกล้วกล้า ได้แก่ ธฤษฏเกตุ เจกิตานและกาศีราชา พร้อมด้วยจอมนรากร ปรุชิต กุนติโภช และไศพย
(6) อีกทั้งยุธามันยุผู้เข้มแข็ง และอุตตเมาชาผู้กล้าหาญ บุตรของสุภัทรกับบุตรของนางเทราปตี – ล้วนเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสิ้น★
★มหารถ “นักรบผู้ยิ่งใหญ่” (มหา จาก มหต “ยิ่งใหญ่ นาย ราชา” รถ “รถศึก นักรบ”) หมายถึง ผู้ที่เชี่ยวชาญการยุทธ์อย่างล้ำเลิศ บังคับบัญชากำลังพลนับหมื่น ๆ คนได้ และสามารถต่อกรกับนักขมังธนูนับหมื่นได้ด้วยตัวคนเดียว
#การใคร่ครวญด้วยทิพยปัญญาของอรชุน เผยให้เห็นว่าทุรโยธน์ กิเลสราชา ได้บอกแก่โทรณ–สังสการ, อาจารย์ของจริตทั้งดีและชั่วว่า :
“นายขมังธนูพุทธิปัญญา ผู้เชี่ยวชาญเชิงธนูเทียบเท่ากับอรชุน (การควบคุมตน) และภีมะ (การควบคุมชีวิต) นักรบผู้กล้าได้เคลื่อนทัพมาเพื่อพิชิตเหล่าทหารแห่งกิจกรรมของผัสสอินทรีย์ เขาเหล่านั้นได้แก่ ยุยุธาน (เทพยอุทิศ) วิราฏ (สมาธิ) และทรุบท (การวางเฉยอย่างยิ่ง) ธฤษฏเกตุ (อำนาจการต่อต้านของจิต) เจกิตาน (ความทรงจำฝ่ายจิตวิญญาณ) กาศีราชา★ (พุทธิปัญญา) ปุรุชิต (การน้อมนำจิตสู่ภายใน) กุนติโภช (ท่านั่ง/ยืนที่ถูกต้อง) ไศพย (อำนาจการยึดอยู่กับจิต) ยุธามันยุ (การควบคุมพลังปราณ) อุตตเมาชา (ชีวิตพรหมจรรย์) บุตรของสุภัทร คือ อภิมันยุ (การเป็นนายเหนือตน) และบุตรของนางเทราปตี (ลักษณะของจักระทั้งห้าที่ตื่นอยู่ตลอดแนวไขสันหลัง)”
★ราชาแห่งแคว้นกาศี ในที่นี้ใช้พระยศ ไม่ใช่พระนาม
โศลกที่สี่ ที่ห้า และที่หกข้างบนนั้น ต้องพูดรวมกันไป เพราะความหมายต่างสัมพันธ์กันและกัน ทั้งหมดนี้พรรณนาถึงทหารฝ่ายจิตที่ถูกปลุกโดยสมาธิ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการยุทธ์ในจิตใจ กองกำลังการหยั่งรู้ตนนี้ต้องต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายผัสสนิสัย — การต่อสู้ที่กองทัพฝ่ายจิตวิญญาณต้องเอาชนะให้ได้ เพื่อว่าวิญญาณจะได้กลับไปครองพระราชวังสมอง และสามารถปกครองข้าราชบริพารผู้กอปรด้วยญาณปัญญา
วิญญาณเข้าสู่จิตยุทธ์นี้ได้หลังจากได้ชัยชนะในการต่อสู้ทางศีลธรรมระหว่างฝ่ายดีฝ่ายชั่วในความคิดและการกระทำ และสงครามภายในจิตใจที่เกิดขึ้นในขั้นตอนแรก ๆ เมื่อจิตวิญญาณถูกฉุดไปมา ระหว่าง มนินทรีย์ที่ชักนำไปสู่จิตสำนึกทางกายและความกระวนกระวายทางจิต กับ พุทธิปัญญาแห่งวิญญาณที่ชักนำจิตไปสู่ความสงบและการมีสมาธิอยู่กับพระเจ้า
ศึกทางศีลธรรมและในจิตใจ ระหว่างสัญชาตญาณของผัสสอินทรีย์ กับคุณสมบัติที่ดีรู้จักแยกแยะของจิตวิญญาณ ต่อสู้กันโดยได้รับความช่วยเหลือจากนิสัยความเคยชิน และทหารเร้นลับของแนวโน้มภายใน (สังสการ) ซึ่งเป็นผลจากการทำดีทำชั่วในอดีต การศึกในจิตใจนี้ ยังเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่ลึกซึ้งของพลังภายใน เมื่อโยคีเริ่มมีประสบการณ์กับผลของ 'สาธนา' หรือ #การปฏิบัติทางจิตวิญญาณในขณะที่ท่านปฏิบัติสมาธิ
อรรถาธิบายเพิ่มเติม :
 
💠 สัญลักษณ์ของพลังฝ่ายจิตวิญญาณ 💠
คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า การปฏิบัติโยคะก็เพื่อจะได้ช้ำชองทางรหัสยนัยเท่านั้น และคิดว่าศาสตร์นี้อยู่นอกเขตความรู้ของมนุษย์ทั่วไป ในเมื่อ #โยคะคือศาสตร์แห่งการสร้างสรรค์ทั้งปวง มนุษย์ในฐานะที่เป็นอณูหนึ่งในจักรวาล ก็เป็นผลปรากฏของทิพยศาสตร์นี้ การปฏิบัติโยคะเป็นศาสตร์ชุดหนึ่งซึ่งถ้าเข้าใจ #ก็จะเข้าถึงประสบการณ์ตรงกับพระเจ้า ซึ่งเป็นอุตมเหตุของทุกสิ่ง
นักวิทยาศาสตร์ฝ่ายวัตถุเริ่มด้วยผลที่สังเกตได้ของสิ่งทั้งหลายแล้วพยายามค้นกลับไปหาสาเหตุ ส่วนโยคะนั้นตรงกันข้าม #โยคะพรรณนาถึงเหตุและวิธีที่เหตุนั้นวิวัฒน์สู่ภายนอก #กลายเป็นปรากฏการณ์ของสิ่งทั้งหลาย #แล้วชี้ถึงวิธีที่จะทำตามกระบวนการนั้น #เพื่อพลิกสู่ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่แท้จริงของจักรวาลและมนุษย์
การจะเข้าใจความสำคัญของคีตาโศลกที่ 4, 5 และ 6 เพื่ออธิบายกองกำลังของ 'จิตฝ่ายวิญญาณ' (และโศลกต่อ ๆ ไปที่อธิบายถึงทหารฝ่ายตรงข้าม คือกองกำลังของ 'จิตฝ่ายกาย') ได้นั้น พื้นฐานที่จำเป็นบางประการของโยคะศาสตร์เป็นสิ่งที่ควรต้องรู้และเข้าใจ
(มีต่อ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา