21 ก.ย. 2021 เวลา 07:00 • ประวัติศาสตร์
NBA 104 - ประวัติย่อของทีม NBA ตอนที่ 23 - Philadelphia 76ers
ประวัติทีม Philadelphia 76ers
ฝั่งที่สังกัด - ฝั่งตะวันออก Atlantic Division
ปีที่ก่อตั้ง - 1946
ชื่อเดิม -
Syracuse Nationals (1946-1963)
Philadelphia 76ers (1963-ปัจจุบัน)
สถานที่ตั้ง - เมือง Philadelphia รัฐ Pennsylvania
ชื่อสนามเหย้า - Wells Fargo Center
เจ้าของทีม - Josh Harris
CEO - Thaddeus Brown
GM (General Manager) - Elton Brand
HC (Head Coach) - Doc Rivers
ทีมสังกัดใน G-League - Delaware Blue Coats
จำนวนครั้งที่ได้แชมป์ลีก - 3 (1955, 1967, 1983)
จำนวนครั้งที่ได้แชมป์ฝั่งทวีป - 5 (1977, 1980, 1982, 1983, 2001)
จำนวนครั้งที่ได้แชมป์ Division - 12 (1950, 1952, 1955, 1966-1968, 1977, 1978, 1983, 1990, 2001, 2021)
จำนวนเบอร์เสื้อที่ทำการ Retired - 10 (2, 3, 4, 6, 10, 13, 15, 24, 32, 34)
2
ประวัติทีมโดยสังเขป
ทีมได้ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1946 ในชื่อ Syracuse Nationals และอยู่ในสังกัดของลีก NBL (National Basketball League)
Syracuse Nationals 1946 Logo
ผลงานในฤช่วงแรกก็ถือว่าไม่เลวร้ายนัก สามารถผ่านเข้ารอบ Playoffs ได้ถึงสามปีติดต่อกัน ก่อนที่ปี 1949 ทีมจะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ทำการควบรวมกับลีก BAA (Basketball Association of America) เพื่อก่อตั้งลีก NBA ขึ้นมานับแต่นั้น
หลังจากที่เริ่มฤดูกาลแรกใน NBA อย่างเป็นทางการ ทีมสามารถทำผลงานคว้าแชมป์ Division ได้ทันที แถมยังทะลุเข้าไปถึงรอบชิงแชมป์ลีกได้อีกด้วย แต่ก็ต้องพ่ายให้กับ Lakers ไปอย่างฉิวเฉียด
หลังจากนั้นมาผลงานของทีมก็ดรอปลงไปนิดหน่อย ถึงจะผ่านเข้ารอบ Playoffs และยังคว้าแชมป์ Division มาได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถทำผลงานไปถึงรอบชิงแชมป์ลีกได้ จนกระทั่งฤดูกาล 1953/54 ที่ทีมได้กลับมารอบชิงแชมป์ลีกอีกครั้ง แต่ก็ต้องแพ้ให้กับคู่ปรับเก่าอย่าง Lakers ชวดแชมป์ไปเหมือนเดิม
หลังจากที่ฤดูกาลจบลง ทางลีกได้มีการจัดประชุมเพื่อหารือการตั้งกติกาเพื่อให้เกมมีความสนุกมากขึ้น หลังจากที่ก่อตั้งลีก NBA แล้วยังไ่ม่มีการตอบรับมากเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่ง Leo Ferris ผู้ที่เป็น GM ของ Nationals ได้เสนอระบบ Shot-Clock แบบ 24 วินาทีขึ้นมา ซึ่งถือว่าเป็นระบบที่ทำให้เกมใน NBA ดูสนุกเร้าใจมากขึ้น และยังคงระบบนี้จนกระทั่งปัจจุบันนั่นเอง
ฤดูกาล 1954/55 ซึ่งเป็นฤดูกาลแรกที่ใช้ระบบ Shot-Clock อย่างเป็นทางการ ทีมก็สามารถแสดงฝีมือจนคว้าแชมป์ลีกเป็นหนแรกได้สำเร็จ หลังจากที่เอาชนะ Pistons ไปได้อย่างฉิวเฉียดสุดๆ ชนิดที่เรียกว่าต้องลุ้นกันถึง Play สุดท้ายในเกมตัดสินเลยทีเดียว
ปี 1955 ได้แชมป์เป็นครั้งแรก
อย่างไรก็ดี ในฤดูกาลถัดมา ทีมพลาดการป้องกันแชมป์ไปอย่างน่าเสียดาย หลังจากที่ทำผลงานในฤดูกาลปกติได้ไม่ดีนัก แต่ก็ยังสามารถฝ่าไปได้ถึงรอบชิงแชมป์สาย ก่อนที่จะแพ้ให้กับ Warriors ลงในที่สุด แถมปีถัดมาก็โดน Celtics เขี่ยร่วงในรอบเดียวกันอีกต่างหาก
หลังจากนั้นมา บรรดาทีมในลีกหลายทีมต่างก็ทยอยย้ายเมืองเพื่อไปสร้างฐานแฟนคลับของทีมให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น ทั้ง Pistons ที่ย้ายไปที่ Detroit และ Royals ที่ย้ายไปที่ Cincinnati ในช่วงฤดูกาล 1957/58 จนสุดท้ายก็คือ Lakers ที่ย้ายไป Los Angeles ในฤดูกาล 1960-61 ทำให้เหลือเพียงทีมนี้เท่านั้นที่กลายเป็นทีมจากลีก NBL เพียงทีมเดียวที่ยังคงปักหลักอยู่ในเมืองเริ่มต้นของตัวเอง
แต่กระนั้นก็ดี ผลงานของทีมก็ยังถือว่าทำได้ดีอยู่เรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถคว้าแชมป์ได้ แต่ก็ยังคงทำผลงานไปได้ถึงรอบชิงแชมป์สายอยู่บ่อยครั้งเลยทีเดียว
ย้ายถิ่นฐานสู่ Philadelphia พร้อมกับชือทีมใหม่ "76ers"
จนกระทั่งหลังจากที่ทีมตกรอบ Playoffs ในฤดูกาล 1962/63 เจ้าของทีมได้มีการเปลี่ยนมือเป็น Irv Kosloff และ Ike Richman ได้ทำการตัดสินใจเปลี่ยนเมืองของทีมไปเป็น Philadelphia แทนที่ Warriors ที่เพิ่งย้ายออกจากเมืองดังกล่าวไปที่ San Francisco หนึ่งปีก่อนหน้านั้นพอดิบพอดี พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น Seventy-Sixers (76ers) ในที่สุด
แถมในฤดูกาล 1964/65 ทีมยังได้ตัวตำนานของ Warriors อย่าง Wilt Chamberlain มาเล่นให้กับทีมอีกต่างหาก
(หากได้อ่านในประวัติของทีม Warriors มาก่อน อาจจะสับสนได้ เนื่องจากช่วงแรกเขาอยู่กับทีม Philadelphia Warriors ก่อนที่ทีมจะย้ายเมืองไป จนกระทั่งมาร่วมกับทีม Sixers แทน ทำให้ชื่อทีมที่สกรีนบนเสื้อแสดงข้อความว่า PHILA เหมือนกัน แต่ถือว่าเป็นคนละทีมนะครับ)
Wilt Chamberlain
ฤดูกาลแรกที่ตำนานคนนี้ได้เข้าสู่ทีม ก็สามารถโชว์ฟอร์มได้อย่างสมราคา พาทีมไปได้ถึงรอบสอง ก่อนที่จะแพ้ให้กับว่าที่แชมป์ในเวลาต่อมาอย่าง Celtics ไปแบบสูสีสุดๆ ชนิดที่ว่าต้องลุ้นกันจนถึงวินาทีสุดท้าย
แถมฤดูกาล 1965/66 ผลงานของทีมก็ยังยอดเยี่ยมมากๆ จากการทำสถิติที่ดีที่สุดในลีก ส่วนตัว Chamberlain ก็ทำผลงานได้เฉลี่ย 33.5 แต้มและ 24.6 Rebounds ต่อเกม ช่วยทีมได้เยอะมาก แต่เสียดายที่ต้องไปแพ้ให้กับ Celtics เจ้าเดิมในรอบชิงแชมป์สายเหมือนเคย
ในฤดูกาล 1966/67 ทีมได้ทำสถิติที่ยอดเยี่ยมมากๆ ถึง 46-4 ในช่วงแรก และจบฤดูกาลด้วย 68-13 นับได้ว่าดีที่สุดในประวัติศาสตร์ลีกขณะนั้น นอกจากนั้นทีมชุดนี้ยังสามารถคว้าแชมป์ลีกได้เป็นหนที่สองในประวัติศาสตร์ทีม และหนแรกภายใต้ชื่อทีมใหม่ได้อีกด้วย
ทีมชุดคว้าแชมป์สมัยที่สองของทีมในฤดูกาล 1966/67
ในฤดูกาลถัดมา ทีมยังคงสามารถทำสถิติในฤดูกาลปกติได้ดีที่สุดในลีกสามปีซ้อนติดต่อกัน พร้อมทั้ง Chamberlain คว้ารางวัล MVP ประจำฤดูกาลทั้งสามฤดูกาลอีกด้วย
แต่สุดท้ายแล้วหลังจากทีมพลาดท่าแพ้ Celtics ทั้งๆ ที่ออกนำไปก่อน 3-1 เกม แต่กลับพลาดทั้ง 3 เกมรวดจนต้องตกรอบ ทีมกลับตัดสินใจ Trade Chamberlain ออกไปให้กับ Lakers ท่ามกลางความตกใจของบรรดาแฟนคลับของทีมเป็นอย่างมาก
ซึ่งการจากไปของ Chamberlain ก็ได้ส่งผลต่อผลกระทบต่อผลงานของทีมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทีมไม่เคยผ่าน Playoffs เกินรอบสองอีกเลยนับแต่นั้น จวบจนถึงฤูกาล 1971/72 ทีมกลับทำสถิติได้เพียง 30-52 และพลาดการเข้ารอบ Playoffs เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ทีมอีกด้วย
ซ้ำร้ายยังไม่พอ ในฤดูกาล 1972/73 ทีมทำสถิติสุดบู่ แพ้ต่อเนื่องติดต่อกันถึง 20 เกม เป็นฝันร้ายที่ยาวนานที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งทีมมา พร้อมกับจบฤดูกาลด้วยสถิติ 9-73 เรียกได้ว่าไม่เหลือฟอร์มเค้าเดิมอีกต่อไป
ยุคของ Julius Erving
หลังจากที่ฟอร์มย่ำแย่มาหลายฤดูกาลติดต่อกัน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์การควบรวมระหว่างลีก NBA กับ ABA (American Basketball Association) ในฤดูกาล 1976/77
จากการที่แชมป์ของ ABA ฤดูกาลล่าสุดอย่าง Nets ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเกือบถึง 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการยึดพื้นที่เมือง New York รวมไปถึงค่าธรรมเนียมในการเข้าลีก NBA ซึ่งถือว่าเป็นเงินที่สูงมากในเวลานั้น
ทาง Sixers จึงไม่รอช้า หวังที่จะเซ็นสัญญาคว้าสุดยอดผู้เล่นของ Nets อย่าง Julius Erving เข้าสู่ทีม ซึ่งสุดท้ายแล้วการเจรจาครั้งนี้ก็สัมฤทธิ์ผล ทีมได้ Erving มาสมใจในที่สุด
Julius Erving
หลังจากที่เขาได้เข้ามาสู่ทีม ก็ได้โชว์ฟอร์มสมกับเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดของอดีตทีมแชมป์ ABA ทันที ในฤดูกาล 1976/77 จากทีมที่มีผลงานแบบลุ่มๆ ดอนๆ กลายมาเป็นสุดยอดทีมที่ทะลุไปได้ถึงรอบชิงแชมป์ลีกได้อย่างไม่น่าเชื่อ น่าเสียดายที่มาแพ้ให้กับ Blazers ชวดแชมป์ไป ไม่อย่างนั้นจะเป็นการกลับมาที่น่าจดจำมากกวานี้อย่างแน่นอน
จากนั้นในปีต่อๆ มา ทีมนี้ก็ยังทำผลงานได้ค่อนข้างประทับใจเหมือนกับสมัยยุคก่อตั้งอีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถครอบครองแชมป์ลีกมาได้ก็ตาม แต่ส่นมากก็จะไปได้ถึงรอบชิงแชมป์สาย หรือไม่ก็รอบชิงแชมป์ลีกได้เลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทางทีมเองก็ยังรู้สึกเหมือนว่ายังขาดส่วนสำคัญที่จะทำให้ทีมประสบความสำเร็จได้อยู่
ในฤดูกาล 1982/83 ทีมจึงเดินหน้าคว้าสุดยอดผู้เล่นอีกคนอย่าง Moses Malone เข้าสู่ทีม เขาและ Erving กลายเป็นแกนหลักที่ส่งผลให้ทีมแกร่งขึ้นไปอีกขั้นได้อย่างที่ทีมหวังเอาไว้จริงๆ
Moses Malone
Erving และ Malone นำทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 65-17 ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดอันดับสองตลอดกาลของทีม แถมยังเดินหน้าพาทีมคว้าแชมป์ลีกได้เป็นสมัยที่สาม จากการที่เอาชนะ Lakers ได้ในรอบชิงแชมป์อีกด้วย ซึ่งสถิติใน Playoffs ฤดูกาลนี้ ทีมได้พลาดท่าแพ้เพียงแค่เกมเดียวเท่านั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ลีก (จนกระทั่งปี 2000/01 ที่ Lakers ทำได้ 16-1) ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ๋เสียเหลือเกิน
น่าเสียดายที่ฤดูกาล 1983/84 ทีมกลับไม่สามารถรักษาฟอร์มป้องกันแชมป์ไว้ได้ จอดแค่ Playoffs รอบแรกหลังจากที่แพ้ให้กับ Nets แต่นั่นก็ทำให้ในฤดูกาล 1984/85 ทีมได้ Draft ผู้เล่นมากฝีมืออีกคนอย่าง Charles Barkley เข้าสู่ทีม
Charles Barkley
เขาสามารถทำผลงานได้เป็นอย่างดีนับตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มเล่นในลีก NBA กับผลงานเฉลี่ย 14.9 แต้มและ 11.1 Rebounds ต่อเกม แถมยังกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทีมไปได้ไกลถึงรอบชิงแชมป์สายอีกครั้ง ก่อนที่จะไปแพ้ให้กับ Celtics เจ้าเดิม
ต่อมาในฤดูกาล 1985/86 หนึ่งในจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็เริ่มเกิดขึ้น เมื่อ HC ที่ทำผลงานให้ทีมมากมายอย่าง Billy Cunningham ตัดสินใจไม่ทำทีมอีกต่อไป ทีมได้เปลี่ยนมาใช้บริการของ Matt Guokas แทน ซึ่งฤดูกาลแรกก็ถือว่าทำผลงานได้ไม่เลวร้ายนัก ทีมจบด้วยสถิติ 54-28 และไปได้ถึง Playoffs รอบสอง
แต่หลังจากจบฤดูกาล สิ่งที่ช็อคบรรดาแฟนคลับของทีมก็เกิดขึ้นจริงๆ จนได้ เมื่อทีมตัดสินใจ Trade Malone ไปให้กับ Wizards พร้อมกับสิทธิ์การ Draft ในปี 1986 อีกด้วย ถึงจะได้ผู้เล่นกลับมาถึงสามราย แต่ก็ไม่มีรายไหนเลยที่อยู่กับทีมได้ในระยะยาว
นอกจากนั้นในฤดูกาล 1986/87 Erving ก็ตัดสินใจประกาศว่าจะเป็นปีสุดท้ายของเขาในการเล่นให้กับทีมแล้วอีกต่างหาก สิ่งเหล่านี้ทำให้ส่งผลกระทบต่อผลงานของทีมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 45-37 และไปได้แค่ Playoffs รอบแรกเท่านั้น ซึ่งหลังจากนี้แกนหลักของทีมจากชุดแชมป์ก็เหลือเพียงแค่ Barkley เพียงคนเดียวแล้วในตอนนี้
ยุคของ Charles Barkley
หลังจากเหลือแกนหลักเพียงคนเดียวในฤดูกาล 1987/88 ทีมก็เริ่มผลงานในช่วงต้นฤดูกาลได้ไม่ดีนัก และทำให้ทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 36-46 และไม่ได้เข้ารอบ Playoffs เป็นครั้งแรกในรอบหลายฤดูกาล
ทีมจึงพยายามหาผู้เล่นที่จะมาช่วยยกระดับและผนึกกำลังกับแกนหลักอย่าง Barkley พาทีมผงาดให้ได้อีกครั้ง เริ่มจากการได้ดาวรุ่งอย่าง Hersey Hawkins เข้าสู่ทีม และสามารถทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจตั้งแต่ฤดูกาลแรกเลยทีเดียว
Hersey Hawkins
ในฤดูกาล 1988/89 ทีมสามารถกลับมาเข้ารอบ Playoffs ได้อีกครั้ง แต่ก็ต้องถูก Knicks เขี่ยตกรอบแรกไปอย่างรวดเร็ว เพียงแต่ในสองปีถัดมา ทีมกลับต้องแพ้ให้กับ Bulls ใน Playoffs รอบสองทั้งสองปี ถึงแม้ว่า Barkley และ Hawkins จะโชว์ฟอร์มเทพขนาดไหนก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถผ่าน Bulls ไปได้อยู่ดี
และหลังจากจบฤดูกาล 1991/92 ที่ทีมจบด้วยสถิติ 35-47 และไม่สามารถผ่านเข้ารอบ Playoffs ได้อีกครั้ง Barkley จึงถูก Trade ออกจากทีมไปอยู่กับ Suns ในที่สุด ปิดฉากยุคที่เขาเป็นแกนหลักของทีมลงแต่เพียงเท่านี้
หลังจากที่เขาได้จากทีมไปแล้ว ผลงานของทีมกลับตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย ทีมไม่สามารถผ่านเข้ารอบ Playoffs ได้อีกเลยนับตั้งแต่เขาจากไป จนกระทั่งถึงการ Draft ในปี 1996 ที่ทีมสามารถเริ่มสร้างทีมชุดใหม่ได้อีกครั้งเสียที
การมาของ Allen Iverson
หลังจากที่ทีมมีการเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ๋ นับตั้งแต่เจ้าของทีมคนใหม่ สนามเหย้าแห่งใหม่ และการสร้างทีมชุดใหม่ในปี 1996 นำโดยดาวรุ่งอย่าง Allen Iverson ทีมก็ค่อยๆ มีผลงานที่ดีขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
Allen Iverson
ถึงแม้ว่าเริ่มต้นในฤดูกาล 1996/97 ทีมจะยังมีผลงานที่ไม่ดีนักกับสถิติเพียง 22-60 แต่จากนั้นมาผลงานของทีมก็ค่อยๆ ดีขึ้น เริ่มจากฤดูกาล 1997/98 ที่เอาชนะได้ 31 เกม
แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ น่าจะเริ่มที่ฤดูกาล 1998/99 ที่ทีมปรับขุมกำลังและไปได้ตัวสำคัญอย่าง Aaron McKie และ Eric Snow มาร่วมทีมด้วย และกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทีมสามารถกลับมาเข้ารอบ Playoffs ได้อีกครั้งในฤดูกาลนี้ ก่อนที่จะตกรอบสองไปในที่สุด
ความเชื่อมั่นของทีมมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในฤดูกาล 1999/00 ทีมจบด้วยสถิติ 49-33 ถือว่ามีพัฒนาการขึ้นพอสมควร แต่น่าเสียดายที่ยังไม่สามารถผ่าน Playoffs รอบสองไปได้ โดน Pacers เขี่ยตกรอบมาสองฤดูกาลติดต่อกัน
ในฤดูกาล 2000/01 ทีมเลยพยายามมองหาจุดที่พอจะเสริมได้อีกหนึ่งตำแหน่ง แล้วก็สามารถคว้ายอดฝีมือด้านการป้องกันวงในอย่าง Dikembe Mutombo มาจาก Hawks ได้ในช่วงกลางฤดูกาล
Dikembe Mutombo
เมื่อผนึกกำลังกับ Iverson ที่ฟอร์มร้อนแรงสุดๆ กับ Snow และ McKie ทำให้ทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 56-26 และคว้าแชมป์ Division ได้อีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายไปนานหลายปีมากๆ แถมยังสามารถพาทีมไปได้ถึงรอบชิงแชมป์ลีกได้อีกต่างหาก น่าเสียดายที่ยังไม่สามารถผ่าน Lakers ที่มีขุมกำลังและความเก๋าประสบการณ์ที่มากกว่า ชวดแชมป์ไปอย่างน่าเสียดาย
แต่แล้วผลงานดั่งปาฏิหาริย์นั่นก็เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว ในฤดูกาล 2001/02 ทีมทำผลงานได้เพียง 43-39 และตกรอบ Playoffs ตั้งแต่ไก่โห่ที่รอบแรกเท่านั้น ถึงแม้ว่าในฤดูกาลถัดมาทีมจะทำผลงานได้ดีขึ้น จบด้วยสถิติ 48-34 แต่ก็ไปได้แค่ Playoffs รอบสอง
และหลังจากจบฤดูกาล HC Larry Brown ที่สร้างทีมชุดนี้มากับมือ ก็ได้ลาออกไม่ได้อยู่คุมทีมอีกต่อไป ทำให้ผลงานของทีมแกว่งพอสมควร หลังจากจบฤดูกาล 2003/04 ด้วยสถิติเพียง 33-49 และพลาดการเข้ารอบ Playoffs ไปในที่สุด
ทีมพยายามปรับปรุงขุมกำลังผู้เล่นเพิ่มเติม เริ่มด้วยการคว้าสุดยอดผู้เล่นของ Kings อย่าง Chris Webber เข้าสู่ทีม รวมไปถึงการ Draft ดาวรุ่งที่โดดเด่นอย่าง Andre Iguodala เข้ามาช่วยทีมอีกแรง
Andre Iguodala
ทั้งสองคนและ Iverson ได้ช่วยกันพาทีมกลับเข้ารอบ Playoffs ได้อีกครั้งด้วยสถิติ 43-39 แต่หนนี้กลับต้องพ่ายแพ้ให้กับ Pistons ตั้งแต่รอบแรก แถมหลังจบฤดูกาลทีมกลับพบปัญหาระหว่างทีมผู้เล่นและโค้ชอย่าง Jim O'Brien อีกต่างหาก ทำให้สุดท้ายแล้วฝ่ายหลังต้องถูกปลดออกจากทีมหลังฤดูกาลได้จบลง
แต่ถึงแม้ว่าโค้ชที่ว่าเป็นตัวปัญหาได้ออกจากทีมไปแล้ว ผลงานของทีมกลับแย่ลงกว่าเดิมในฤดูกาล 2005/06 หลังจากที่ทีมทำได้แค่ 38-44 และชวดเข้ารอบไปเป็นครั้งที่สองในรอบสามฤดูกาลล่าสุด
และหลังจากทีมยังทำผลงานในฤดูกาล 2006/07 ได้อย่างน่าผิดหวัง ผู้เล่นอันดับ 1 ของทีมอย่าง Iverson ก็ทนไม่ไหวอีกต่อไป เขาได้เข้าไปทำการพูดคุยกับฝ่ายบริหารของทีมโดยตรงพร้อมกับยื่นข้อเสนอให้ "หาผู้เล่นที่สามารถช่วยเขาได้ หรือไม่ก็ Trade เขาออกไปซะ" (เรื่องนี้มีการเปิดเผยในภายหลังว่าเกิดขึ้นจริง)
สุดท้ายแล้วทีมตัดสินใจเลือกอย่างหลัง พร้อมกับปล่อย Iverson ออกไปให้กับ Nuggets ในช่วงปลายปี 2006 ปิดฉากยุคของเขากับทีมแต่เพียงเท่านี้
หลังการจากไปของ Iverson
นอกจาก Iverson จะถูก Trade ออกไปแล้ว Webber ก็ตัดสินใจที่จะยกเลิกสัญญาที่เหลือกับทีมด้วย ทำให้ทีมเหลือ Iguodala เป็นแกนหลักเพียงคนเดียวแล้วในตอนนี้ เพียงแต่ว่าเนื่องจากแกนหลักทั้งสองคนออกในช่วงกลางฤดูกาล ทำให้ทีมทำได้แค่ 35-47 เท่านั้นในฤดูกาล 2006/07
ทีมพยายามปรับขุมกำลังใหม่ในปีถัดมา และกลับเข้าไปสู่ Playoffs ได้อีกครั้งจากสถิติ 40-42 ในฤดูกาล 2007/08 อย่างไรก็ดี ทีมก็ไม่ผ่าน Pistons จอดป้ายแค่รอบแรกอีกเช่นเคย
ทีมยังคงมองหาคนที่จะมาช่วยผนึกกำลังกับ Iguodala ได้ และได้ทำการเซ็นสัญญาคว้าตัว Elton Brand มาจาก Clippers ในฤดูกาล 2008/09 รวมไปถึง Lou Williams ที่อยู่กับทีมมาตั้งแต่ปี 2005 ที่ได้เริ่มพัฒนาฝีมือได้มากขึ้นจนกลายเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของทีมชุดนี้ได้เสียที
Elton Brand
ทั้งสามคนช่วยกันพาทีมเข้ารอบ Playoffs ได้ด้วยสถิติ 41-41 แต่ก็ยังไม่สามารถผ่าน Playoffs รอบแรกไปได้ หนนี้ได้พ่ายให้กับ Magic เพียงแค่ 6 เกมเท่านั้น
ในฤดูกาล 2009/10 Iverson ได้กลับมาร่วมทีมอีกครั้งในระยะสั้นๆ ช่วงกลางฤดูกาล เพียงแต่ว่าฟอร์มของเขาไม่ร้อนแรงเหมือนเดิมอีกต่อไป เช่นเดียวกันกับผลงานของทีมที่ย่ำแย่พอดู หลังจากจบฤดูกาลด้วยสถิติเพียง 27-55 เรียกได้ว่าดรอปลงจากฤดูกาลที่แล้วเป็นอย่างมาก
ต่อมาในฤดูกาล 2010/11 ทีมทำผลงานได้ดีขึ้น จบฤดูกาลที่ 41-41 พร้อมกลับมาเข้ารอบ Playoffs ได้อีกครั้ง ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณฝีมือการคุมทีมของโค้ชใหม่อย่าง Doug Collins ด้วย ที่พลิกฟื้นทีมกลับมาได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าจะตกรอบแรกไปตามความคาดหมายก็ตาม
ในฤดูกาล 2011/12 ทีมก็ยังทำผลงานได้คงเส้นคงวา สามารถเข้ารอบ Playoffs ได้อีกครั้ง แถมยังทำประวัติศาสตร์กลายเป็นทีมที่ 5 ในลีก ที่สามารถเข้ารอบด้วยอันดับ 8 และเอาชนะอันดับ 1 อย่าง Bulls ในรอบแรกมาได้ด้วยอย่างสุดเหลือเชื่อ แต่ปาฏิหาริย์ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยนัก ทีมตกรอบเพียงแค่รอบสองเท่านั้น
ทีมพยายามเสริมขุมกำลังในฤดูกาล 2012/13 ด้วยการนำผู้เล่นมากฝีมืออย่าง Jason Richardson และ Andrew Bynum เข้าสู่ทีมผ่านการ Trade แบบ 4 ทีม ที่เรียกว่าฮือฮามากที่สุดในฤดูกาลนี้ แต่โชคร้ายที่ Bynum ต้องผ่าตัดเข่าทั้งสองข้างจนไม่สามารถลงเล่นได้ทั้งฤดูกาล และ Richardson ก็ผ่าตัดเข่าในช่วงท้ายฤดูกาลตามไปอีกคน กลายเป็นว่าทีมทำผลงานได้แค่ 34-48 และชวดเข้ารอบ Playoffs สวนทางกับความคาดหวังแทน
The Process
ตั้งแต่ฤดูกาล 2012/13 ทีมได้ทำการรื้อโครงสร้างของทีมขึ้นมาใหม่โดยใช้ Project ที่เรียกว่า "The Process" จากการสะสมอันดับ Draft ในการคัดหาดาวรุ่งระดับหัวกะทิหลายๆ คน เพื่อผลประโยชน์ระยะยาวของทีม
เริ่มจากการที่ทีมค่อยๆ ถ่ายผู้เล่นแกนหลักออกไปเพื่อแลกกับสิทธิ์ Draft และอาศัยการดันเด็กจาก D-League (ในขณะนั้น) ขึ้นมาทดแทนช่องว่างผู้เล่นที่หายไป ดูได้จากช่วงปีใหม่ของฤดูกาล 2013/14 ที่ทีมปล่อยผู้เล่นออกไปเกือบหมดจนเหลือเพียงแค่ 6 คน และดันเด็กขึ้นมาเล่นแทนจนจบฤดูกาล
Project นี้ถือเป็นการเดิมพันที่ยิ่งใหญ่มากของทีม เนื่องจากแทบจะการันตีได้ว่าในช่วงระหว่างการสร้างทีมใหม่นั้น ทีมจะทำผลงานได้ย่ำแย่มากๆ แทบจะทุกฤดูกาลจนกว่าจะหาแกนหลักดาวรุ่งที่สามารถยกระดับทีมตามความตั้งใจได้สำเร็จ
เริ่มจากฤดูกาล 2013/14 ที่ทีมจบด้วยสถิติ 19-63 จากการนำทีมของดาวรุ่งอย่าง Michael Carter-Williams ที่ทำผลงานเป็นอันดับหนึ่งของทีมในช่วงนั้น ทำให้เจ้าตัวคว้ารางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมไปครองได้อีกด้วย
Michael Carter-Williams
The Process ยังคงดำเนินต่อไป ในฤดูกาล 2014/15 พอทีมเห็นว่า Carter-Williams มีฝีมือที่พอจะสามารถเรียกค่าตัวได้ แต่ยังไม่เหมาะจะเป็นแกนหลักในระยะยาว ก็จัดการ Trade เจ้าตัวออกไปเพื่อแลกกับสิทธิ์ Draft ในอนาคตต่อ ทำให้ฤดูกาลนี้ทีมก็จบด้วยสถิติ 18-64 โดยที่ Joel Embiid ก็ถือว่าเป็นดาวรุ่งชุดนี้ด้วย แต่กลับมีอาการบาดเจ็บติดตัวจนต้องผ่าตัดพักฟื้นไปถึงสองปี กว่าจะได้เปิดตัวก็ต้องรอถึงฤดูกาล 2016/17 เลยทีเดียว
Joel Embiid
หลังจากนั้นทีมได้ Draft ดาวรุ่งอย่าง Jahill Okafor เข้ามาเป็นแกนหลักอายุน้อยคนใหม่ของทีม แต่ผลงานโดยรวมก็ยังทำได้ย่ำแย่ตามความคาดหมาย ทีมได้ทำสถิติแพ้ต่อเนื่องติดต่อกัน 27 นัดรวด ก่อนที่จะจบฤดูกาลด้วยสถิติ 10-72 ในฤดูกาล 2015/16
น่าเสียดายที่ Okafor มีฤดูกาลที่ดีกับทีมเพียงแค่ฤดูกาลแรกสุดเท่านั้น ก่อนที่ผลงานจะดรอปลงไปในฤดูกาลถัดมา หลังการมาของดาวรุ่งในปีนี้อย่าง Ben Simmons ถึงแม้ว่าเจ้าตัวจะบาดเจ็บจนไม่สามารถลงได้ทั้งฤดูกาลก็ตาม ทำให้เจ้าตัวได้เปิดตัวในฤดูกาล 2017/18 พร้อมกับดาวรุ่งในปีนั้นอย่าง Markelle Fultz
Ben Simmons
เข้าสู่ยุคปัจจุบัน
ในฤดูกาล 2017/18 ได้พิสูจน์แล้วว่าการมาของ Simmons ที่ทีมยอมอดทนรอถือว่าถูกต้อง เจ้าตัวโชว์ฟอร์มได้อย่างสุดยอดจนคว้ารางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมไปครอง (ปีแรกไม่นับเพราะบาดเจ็บจนไม่ได้ลงเลยทั้งฤดูกาล) พร้อมกับผนึกกำลังคู่กับ Embiid จบด้วยสถิติ 52-30 แถมไปได้ถึงรอบสองใน Playoffs เรียกได้ว่า The Process เริ่มเจอเป้าหมายที่ต้องการแล้ว
ทีมจึงไม่รอช้า เดินหน้าพัฒนาขุมกำลังของทีมต่อในทันที ทีมทุ่มทุนในช่วงกลางฤดูกาล 2018/19 เพื่อเดินหน้าคว้าตัว Jimmy Butler มาจาก Wolves ต่อจากนั้นทีมก็ได้ Tobias Harris เพิ่มมาอีกคน เรียกได้ว่าขุมกำลังตัวจริงของทีมในตอนนี้แกร่งไม่น้อยหน้าทีมไหนในลีกเลยทีเดียว
Jimmy Butler
ทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 51-31 แต่น่าเสียดายที่ต้องไปแพ้ให้กับว่าที่แชมป์อย่าง Raptors เพียงแค่รอบที่สองไปแบบสูสีสุดๆ ชนิดที่ต้องตัดสินกันถึงเกมสุดท้าย
น่าเสียดายที่ Butler เหมือนจะมีปัญหาในด้านการเล่นกับเพื่อนร่วมทีม ทำให้ฤดูกาล 2019/20 เจ้าตัวตัดสินใจย้ายไป Heat ทำให้ทีมเหลือแกนหลักแค่คู่หู Embiid-Simmons อีกครั้ง ก่อนที่จะไปได้แค่ Playoffs รอบแรก แถมถูก Celtics กวาดตกรอบอีกต่างหาก
แต่พอมาถึงฤดูกาลปัจจุบัน ด้วยฝีมือของโค้ชคนใหม่ Doc Rivers ทำให้ผลงานของทีมในฤดูกาลปกติร้อนแรงเอามากๆ จนทำให้ทีมคว้าแชมป์ Division มาได้อีกครั้ง พร้อมกับเข้ารอบด้วยอันดับผู้นำแห่งฝั่งตะวันออก แต่น่าเสียดายที่ Embiid ถูกอาการบาดเจ็บเล่นงาน จนต้องตกรอบที่สองไปอย่างเจ็บปวด เรียกได้ว่าผลงานถือว่าน่าผิดหวังถ้าเทียบกับความคาดหวังที่มีต่อทีมในฤดูกาลนี้
หลังจากนี้คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ทีมจะทำการปรับปรุงทีมต่อไปอย่างไรบ้าง เพื่อให้กลับมาได้อีกครั้งในฤดูกาลถัดไปที่ใกล้จะมาถึงในอีกราวๆ หนึ่งเดือนข้างหน้า
ถ้าชอบก็ฝาก Share และกดติดตามด้วยนะครับ
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา