26 เม.ย. 2021 เวลา 16:37 • ประวัติศาสตร์
Empress Elisabeth of Austria : ไอดอลแห่งศตวรรษที่ 19 ตอนที่ 3 (จบ)
มาถึงตอนจบของชีวิตของจักรพรรดินี Elisabeth แห่งออสเตรียกันนะครับ ครั้งนี้ผมจะพาทุกคนไปรู้จักกับชีวิตบั้นปลายของเธอ รวมถึงจุดจบก่อนวัยอันควรที่เธอต้องพบเจอกันครับ
สำหรับคนที่สนใจอ่านตอนอื่น สามารถตามไปอ่านได้ที่
เดินทางท่องโลก
หลังจากเหตุการณ์ความเครียดทั้งหมด ในที่สุดเธอก็ทนไม่ไหว เธอทิ้งสามีผู้กำลังเศร้าโศกเสียใจต่อการจากไปของลูกชายคนเดียว เพื่อออกเดินทางอีกครั้ง โดยที่แรกที่เธอเดินทางไปคือเกาะ Corfu ในประเทศกรีซ ซึ่งเธอได้สั่งให้มีการก่อสร้างบ้านพักตากอากาศขึ้น โดยเธอตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า Achilleon ตามชื่อของ Achilles ในมหากาพย์ Iliad
แต่ก่อนที่เธอจากไป เธอได้ฝากฝังสามีของเธอไว้กับหญิงชั้นสูงคนหนึ่ง เพื่อที่จะเป็น "เพื่อนแก้เหงา" เธอคิดว่าในเมื่อตัวเธอไม่สามารถสนองความต้องการของสามีตนเองได้ วิธีที่ดีที่สุดก็คือการให้ผู้หญิงอื่นที่เธอไว้ใจทำให้ดีกว่า
Achilleon บ้านพักตากอากาศของ Elisabeth บนเกาะ Corfu ซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ (Source: http://casakalami.com/en/blog)
มาถึงตอนนี้อาการเครียดของเธอเริ่มส่งผลต่อสภาพจิตใจของเธออย่างจริงจัง หลังจากสร้างบ้านบนเกาะ Corfu ซึ่งประกอบไปด้วยห้องหับมาถึง 108 ห้องเสร็จ เธอสั่งให้ผู้รับเหมาก่อสร้างระเบิดบ้านพักแห่งนี้ไปพร้อมกับตัวเธอ นำความงุนงงมาสู่ทีมก่อสร้างทั้งทีม ซึ่งสุดท้ายแล้วเธอก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีใครยอมขายระเบิดจำนวนมากขนาดนั้นให้กับทีมผู้รับเหมา
แล้วก็เป็นเรื่องดี เพราะบ้านพักตากอากาศ Achilleon ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน และได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้คนทั่วไปได้เข้าชมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หลังจากอยู่ที่ Corfu ได้ระยะหนึ่ง เธอต้องกลับมายังเวียนนาเพื่อร่วมงานแต่งงานของ Gisela ลูกสาวคนที่ 2 ของเธอ โดยเธอกล่าวว่า “สิ่งเดียวที่เธอตั้งหน้าตั้งตารอมากที่สุดสำหรับการเดินทางครั้งนี้คือ เวลาและระยะทางในการเดินทางกลับ” เธอมักจะนั่งอยู่บนดาดฟ้าเรือ พร้อมสั่งให้ลูกเรือรัดแขนเธอไว้กับเก้าอี้ เพราะเธอกล่าวว่าเธอมักจะมีความอยากที่จะกระโดดลงไปในทะเลอยู่บ่อยครั้ง
งานแต่งงานของ Gisela ลูกสาวคนที่ 2 ของ Elisabeth (Source: Pinterest)
ในช่วงเวลาที่เธอกลับมาเวียนนานั้น เธอค้นพบว่าสามีของเธอได้มีสัมพันธ์จริงจังกับหญิงชั้นสูงที่เธอฝากฝังสามีเธอไว้ โดกษัตริย์ Franz-Joseph ได้ซื้อบ้านพักให้เธอคนนั้น ถึงแม้ว่าเธอจะเป็นคน “ฝาก” สามี แต่เรื่องนี้ก็ทำให้เธอเสียใจมาก เธอคิดว่าจะสามารถทนเรื่องแบบนี้ได้ แต่ปรากฏว่าในความเป็นจริงนั้น เธอรับเรื่องนี้ไม่ได้เลย
เธอเดินทางกลับ Corfu อีกครั้ง มีรายงานจากชาวบ้านบนเกาะว่ามักจะพบจักรพรรดินี Elisabeth เดินไปเดินมาคนเดียวทั้งวันในบ้านพักของเธอ จนกระทั่งเธอได้รับฉายาว่า “The Mad Empress” ในตอนนั้นเธอได้รับจดหมายจากลูกคนที่ 4 ของเธอ Marie Valerie ว่าเธอกำลังจะมีลูก แทนที่ Elisabeth จะแสดงความยินดี เธอกลับตอบจดหมายฉบับนั้นว่า “การมีลูกคือความหายนะ ที่พรากความงามของสตรีเพศไป”
Postcard จากเกาะ Corfu ที่มีภาพของ Achilleon และ Elisabeth (Souce: Pinterest)
หลังจากนั้น เธอก็เริ่มเบื่อเกาะ Corfu และออกเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วแถบเมดิเตอร์เรเนียน ทั้งฝรั่งเศสตอนใต้ เมือง San Remo เมือง Geneva ในสวิสเซอร์แลนด์ และเมืองตากอากาศอื่น ๆ อีกมากมาย และเธอยังเป็นราชวงศ์เพียงไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสไปเยือนดินแดนอันไกลโพ้นอย่าง โมร้อคโค แอลจีเรีย มอลต้า และอียิปต์
1
ซึ่งถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนน่าจะเข้าใจเธอดีว่า การที่เธอเดินทางนั้น จะเป็นโอกาสเดียวที่เธอจะได้หลีกหนีจากความเป็นจริงอันน่าหดหู่ของชีวิตเธอมากกว่า
Elisabeth เป็นหนึ่งในสมาชิกของราชวงศ์ที่เดินทางมากที่สุดในโลก ในเวลานั้น (Source: Pinterest)
การสังหาร
ในปี 1898 Elisabeth ในวัย 60 ปี ก็ยังคงเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในยุโรป โดยเธอไม่ได้ใส่ใจคำเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการสังหารสมาชิกของราชวงศ์ต่าง ๆ ในยุโรปจากกลุ่มหัวรุนแรง กลุ่มบุคคลที่พยายามทำการฆาตกรรมชนชั้นสูง และสมาชิกของราชวงศ์โดยมีความเชื่อโลกควรจะถูกปกครองด้วยคนจากชนชั้นแรงงานมากกว่า
ในเดือนกันยายนปีนั้น เธอเดินทางมายัง Geneva เพื่อพบกับตัวแทนจากตระกูล Rothchild ซึ่งเป็นตระกูลการเงินที่ใหญ่มากของยุโรป เพื่อเจรจาการขายบ้านพักตากอากาศ Achilleon ของเธอที่ Corfu และปรากฏว่าการเจรจายาวนานกว่าที่คิด ทำให้เธอต้องเลื่อนเวลาการออกเดินทางไปยังเมืองต่อไป 1 วัน
จักรพรรดินี Elisabeth ใน Geneva และนางสนองพระโอษฐ์ของเธอ ว่ากันว่านี่คือภาพท้าย ๆ ของเธอ ที่มีคนสามารถถ่ายได้ (Source: https://www.autentic-distribution.com/65/pid/825/Sisi:-Assassination-of-an-Empress.htm)
วันที่ 10 กันยายน 1898 เวลา 13.35 น. Elisabeth และนางสนองพระโอษฐ์ของเธอเดินจากโรงแรม เพื่อที่จะไปขึ้นเรือที่ทะเลสาบ Geneva เพื่อเดินทางไปยังเมือง Montreux และเนื่องจากเธอไม่ชอบที่จะให้มีคณะติดตาม เธอจึงไม่มีคนคอยอารักขาเธอเลยในตอนนั้น
ในขณะที่ทั้งสองกำลังเดินตามถนนมายังท่าเรือ มีชาวอิตาเลี่ยนหัวรุนแรงคนหนึ่งชื่อว่า Luigi Lucheni ได้เดินเข้ามาหาเธอ จากคำให้การของนางสนองพระโอษฐ์ เธอกล่าวว่า Luigi ทำทีเป็นพยายามเปิดร่มของ Elisabeth เพื่อที่จะดูหน้าของเธอ และในจังหวะนั้นเองที่เสียงหวูดจากเรือดังขึ้น Luigi ทำท่าเหมือนกับจะล้มลงไปทางองค์จักพรรดินี และพยายามคว้าตัวเธอไว้เพื่อจะรักษาสมดุลย์
แต่ในความเป็นจริง Luigi ไม่ได้ล้ม สิ่งที่นางสนองพระโอษฐ์เห็นนั้น จริง ๆ แล้วคือเขาเข้าประชิดตัว Elisabeth แล้วแทงเธอด้วยตะไบปลายแหลม ซึ่งมีความยาวถึง 4 นิ้ว
Luigi แทง Elisabeth ด้วยตะไบปลายแหลม (Source: Pinterest)
หลังจากการจู่โจม Elisabeth ล้มลงไปกองกับพื้น คนขับรถม้าที่ผ่านมาและนางสนองพระโอษฐ์ของเธอ รีบช่วยกันพยุงเธอขึ้นเรือทันที และหลังจากขึ้นเรือได้สำเร็จ เธอก็หมดสติและล้มลงไปกองกับพื้นอีกครั้ง
บนเรือมีการพยายามตามหาแพทย์ แต่ปรากฏว่ามีเพียงนางพยาบาลคนเดียวเท่านั้นที่เป็นผู้โดยสาร และกัปตันเรือ ผู้ซึ่งยังไม่ทราบถึงรายละเอียดของผู้ป่วย ก็บอกให้ลูกเรือรีบนำตัวเธอลงเพื่อกลับไปยังที่พัก แต่ตอนนั้นเรือได้แล่นออกมาจากท่าเรียบร้อยแล้ว
1
ดังนั้นลูกเรือจึงพาเธอมาที่ดาดฟ้า และให้เธอนอนลงที่ม้านั่ง เริ่มมีการปลดเสื้อผ้าอันแน่นหนาของเธอออก เพื่อให้เธอสามารถหายใจได้สะดวกขึ้น จากนั้นดูเหมือนเธอจะได้สติอีกครั้ง นางสนองพระโอษฐ์จึงถามเธอว่า เธอเจ็บมั้ย แต่คำตอบที่เธอได้ยินกลับเป็นเพียงคำพูดแผ่ว ๆ ที่บอกว่า เกิดอะไรขึ้นกับฉัน ก่อนที่เธอจะหมดสติไปอีกครั้งหนึ่ง
มีการพยายามปฐมพยาบาล Elisabeth เบื้องต้นที่ดาดฟ้าเรือ ก่อนที่เธอจะถูกรีบนำตัวลงไปรักษาต่อ (Source: Pinterest)
สุดท้ายนางสนองพระโอษฐ์ของเธอสังเกตเห็นรอยเปื้อนสีน้ำตาลเข้ม เหนือหน้าอกด้านซ้ายของ Elisabeth และเธอรู้ทันทีว่าจะปล่อยสถานการณ์ให้เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว เธอจึงรีบบอกกัปตันถึงตัวตนที่แท้จริงของ Elisabeth ทำให้กัปตันเรือต้องหันหัวเรือกลับ Geneva ทันที
มีการทำเปลชั่วคราวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยใช้ผ้าใบเรือและใบพาย จากนั้นองค์จักรพรรดินีถูกหามเปลโดยลูกเรือ 7 คนกลับไปยังโรงแรมของเธอ ทั้งหมดแบกเธอผ่านล้อบบี้ ขึ้นไปยังห้องนอน และเมื่อเข้ามาในห้องนอน มีคนได้ยินเสียงหายใจของเธออีก 2 ครั้ง หลังจากนั้นเสียงหายใจก็ขาดหายไป
Elisabeth ถูกแบกมายังโรงแรมของเธอเพื่อทำการปฐมพยาบาลต่อ (Source: https://www.lookandlearn.com)
ร่างของเธอถูกวางลงบนเตียง เริ่มมีการถอดเสื้อผ้าของเธอออกและครั้งนี้ แผลของเธอก็ชัดเจนยิ่งขึ้น มีการตามแพทย์ 2 คน เพื่อรีบมารักษาอาการ แต่ทุกอย่างก็สายเกินไปแล้ว แพทย์ตรวจไม่พบชีพจรของเธอ
จักรพรรดินี Elisabeth แห่งออสเตรีย ถูกประกาศว่าเสียชีวิตเวลา 14.10 น. เพียง 40 นาทีหลังจากการถูกแทง ทุกคนรอบตัวเธอคุกเข่าลง พร้อมน้ำตานองหน้า นางสนองพระโอษฐ์ของเธอเป็นผู้ปิดตาเธอ จักรพรรดินีแห่งอาณาจักร Austro -Hungarian อันยิ่งใหญ่ มารดาของลูก 4 คน เสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 60 ปี และเธอดำรงตำแหน่งเป็นจักรพรรดินีของ Austria นานถึง 44 ปี
จักรพรรดินี Elisabeth แห่งออสเตรีย ถูกประกาศว่าเสียชีวิตเวลา 14.10 น. (Source: twitter)
กลับสู่เวียนนา
จากการชันสูตรร่างของเธอพบว่า เธอถูกแทงที่บริเวณทรวงอก ซึ่งทำให้กระดูกซี่โครงบางซี่ของเธอหัก และอาวุธสังหารยังทะลุปอด เยื่อหุ้มหัวใจ และหัวใจบางส่วนของเธออีกด้วย โดยรอยแผลที่เธอถูกแทงนั้นลึกถึง 3.3 นิ้ว
แต่สาเหตุที่เลือดของเธอไม่ไหลออกมามากนัก เป็นเพราะอาวุธที่มีขนาดเล็กและบาง ประกอบกับการใส่เสื้อผ้า โดยเฉพาะ Corset ที่รัดรูปของเธอ ทำให้เลือดที่ไหลออกมาสู่เยื้อหุ้มหัวใจของเธอเป็นไปได้ช้า ซึ่งโดยปกติแล้ว มนุษย์จะเสียชีวิตด้วยจากการที่เลือดไหลออกมาท่วมเยื่อหุ้มหัวใจนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้เธอจึงยังพอมีสติที่จะเดินไปขึ้นเรือได้หลังจากที่เธอถูกแทง และสติของเธอก็ยังสามารถกลับมาได้ชั่วคราวตอนอยู่บนเรืออีกด้วย
จักรพรรดิ Franz-Joseph ร่ำไห้กับโลงศพของ Elisabeth (Source: Pinerest)
เป็นที่น่าเสียดายที่รูปถ่ายตอนชันสูตรร่างของเธอถูกทำลายไปหมดแล้ว ด้วยคำสั่งของกษัตริย์ Franz-Joseph รวมไปถึงเครื่องมือที่ใช้ในการชันสูตรทุกชิ้นด้วยเช่นกัน
ร่างไร้วิญญาณของเธอถูกนำไปใส่ในโลงศพที่สั่งทำขึ้นมาเป็นพิเศษที่มีความหนาถึง 3 ชั้น สองชั้นแรก ทำจากตะกั่ว และชั้นสุดท้ายทำมาจากทองแดง และร่างของเธอก็ถูกนำกลับมายังเวียนนาโดยขบวนรถไฟพิเศษ ที่บนฝาโลงศพของเธอเขียนคำว่า “Empress of Austria” ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชาวฮังกาเรี่ยนที่เทิดทูนพระองค์เป็นอย่างมาก ดังนั้นคำว่า “Queen of Hungary” เลยถูกเพิ่มมาทีหลังแบบเร่งรีบ
เช้าวันที่ 17 กันยายน ณ กรุงเวียนนา ประชาชนทุกคนทั่วทั้งจักรวรรดิต่างอยู่ในชุดไว้ทุกข์ บรรยากาศทั่วไปเต็มไปด้วยความโศกเศร้า ขบวนพระบรมศพของพระองค์ยาวเหยียด และมีบุคคลจากราชวงศ์ทั่วยุโรปถึง 82 คนจากทั่วทวีปยุโรปมาเข้าร่วมในพิธี
ขบวนพระบรมศพของ Elisabeth ที่กรุงเวียนนา (Source: Wikipedia)
เกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น
จริง ๆ แล้ว Elisabeth ไม่ใช่เป้าหมายจู่โจมของ Luigi ด้วยซ้ำ เป้าหมายของเขาจริง ๆ คือ Duke of Orlean บุคคลที่มีสิทธิ์ในบัลลังก์ของฝรั่งเศสคนหนึ่ง แต่ปรากฏว่าท่านดยุคได้ออกจาก Geneva ก่อนกำหนดไปเสียก่อน
ในเมื่อเตรียมการมาแล้ว ก็ต้องไม่ทำให้การเตรียมการเสียเปล่า และประจวบเหมาะพอดีกับการที่นักข่าวของสวิสไปสืบทราบมาพอดีว่า Elisabeth พักอยู่ใน Geneva โดยเธอกำลังเดินทางภายใต้ชื่อปลอมว่า Countess of Hohenembs ทำให้ Luigi เปลี่ยนเป้าหมายแล้วเข้าจู่โจมเธอแทน
หลังจากการจู่โจม Luigi รีบหนีออกจากที่เกิดเหตุ แต่สุดท้ายเขาก็ถูกจับได้ภายในวันเดียวกัน ในวันรุ่งขึ้นอาวุธสังหารถูกพบ ซึ่งหลังจากการสอบสวนพบว่าจริง ๆ แล้ว Luigi ต้องการจะใช้มีดสั้น แต่เนื่องจากเขาไม่มีเงินก็เลยนำตะไบปลายแหลมมาเหลาใหม่ แล้วใช้เป็นอาวุธสังหารแทน
หลังการโจมตี Luigi รีบหนีออกจากที่เกิดเหตุทันที (Source: Pinterest)
Luigi ให้การว่าเขาทำทุกอย่างเพียงคนเดียว ไม่มีผู้สมรู้ร่วมคิด และเมื่อมีข่าวว่าฆาตกรที่สังหารจักรพรรดินีเป็นคนอิตาเลี่ยน เกิดการลุกฮือขึ้นในเวียนนา เพื่อขับไล่ชาวอิตาเลี่ยนทันที และเริ่มมีการถามคำถามว่าทำไมจักรพรรดินีถึงไม่ได้รับการคุ้มกันที่เหมาะสม
ทางตำรวจสวิสเซอร์แลนด์ยืนยันว่า ได้รับการแจ้งว่าแล้วว่าจักรพรรดินีจะเดินทางมาพักที่ Geneva และได้จัดกองกำลังอารักขาเรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่า 1 วันก่อนวันที่เธอจะโดนสังหาร เธอเห็นตำรวจที่มาอารักขาเธอรอบโรงแรม ซึ่งทำให้เธอไม่พอใจเป็นอย่างมาก เธอบอกให้หัวหน้าตำรวจรีบถอนกำลังออกจากโรงแรมทันที ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนย่อมทำตามความต้องการของจักรพรรดินีอยู่แล้ว
ข่าวการเสียชีวิตของ Elisabeth เป็นข่าวพาดหัวใหญ่ไปทั่วยุโรป (Source: Pinterest)
ในวันนั้นถ้าเธอยอมให้มีคณะบุคคลที่อารักขาเธอ ถ้าท่าน Duke of Orlean ไม่เปลี่ยนแผนการเดินทางไปเสียก่อน ถ้าตัวเธอเองไม่เปลี่ยนแผนการเดินทาง และถ้าเหล่านักข่าวทั้งหลายจะไม่เปิดเผยชื่อจริงของเธอ (เพราะเธอเดินทางใต้ชื่ออื่นอยู่) เธออาจจะไม่ต้องเจอกับจุดจบอันน่าเศร้าแบบนี้ก็เป็นได้
Luigi ถูกตัดสินในศาลของ Geneva ซึ่งเขาไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะ Geneva ไม่มีโทษประหารชีวิต เขาเรียกร้องให้คดีของเขาได้รับการตัดสินในแคว้น Lucerne แทน เพราะในแคว้นนั้นยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ ซึ่งในจดหมายร้องเรียนของเขานั้นยังไว้ลายด้วยการเซ็นชื่อว่า “Luigi Lucheni หนึ่งในพวกหัวรุนแรงที่อันตรายที่สุด”
Luigi Lucheni และอาวุธที่ใช้สังหารจักรพรรดินี Elisabeth (Source: http://www.iisg.nl)
ความตกตะลึงจากการสังหารในครั้งนี้อยู่ในใจของประชาชนทุกคน ไม่มีใครอยากจะเชื่อว่าจะมีใครกล้าที่จะสังหารจักรพรรดินีผู้กระทำแต่ความดี ช่วยงานการกุศล และมีจิตใจงดงามได้ลงคอ ถึงขนาดที่ Luigi ต้องได้รับการวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ เพราะทุกคนต่างสงสัยว่าเขามีอาหารทางประสาทหรือไม่ ถึงได้กล้าฆาตกรรมผู้หญิงอย่าง Elisabeth ได้ลงคอ
ผลการสอบสวนคือเขาไม่ได้บ้า และเขาโดนจำคุกตลอดชีวิต เขาพยายามจะฆ่าตัวตายหลายครั้ง และก็สำเร็จในที่สุดในวันที่ 16 ตุลาคม 1910 ผู้คุมพบร่างของเขาถูกแขวนคออยู่กับขื่อให้ห้องขังของเขา
Luigi Lucheni ผู้สังหารจักรพรรดินี Elisabeth มีสีหน้าไม่สำนึกผิดแม้แต่น้อย (Source: reddit.com)
ในส่วนของ Elisabeth นั้น ก่อนที่เธอจะเสียชีวิต เธอได้ร่างพินัยกรรมต่าง ๆ เอาไว้เรียบร้อยแล้ว เธอบอกว่าให้นำเครื่องเพชรและอัญมณีส่วนตัวของเธอออกไปขาย และนำเงินไปให้กับองค์กรการกุศลต่าง ๆ ซึ่งเงินที่ได้มานั้นมีมูลค่ากว่า 600,000 ปอนด์ ส่วนสมบัติส่วนตัวอื่น ๆ เช่นที่ดิน เสื้อผ้า เธอมอบให้กับหลานสาวคนเดียวของเธอ ลูกสาวของ Rudolf ชื่อว่า Elisabeth เหมือนเธอ
ข่าวการเสียชีวิตของ Elisabeth เป็นข่าวพาดหัวใหญ่ไปทั่วยุโรป (Source: Pinterest)
การปล้นข้ามโลก
อีกเรื่องที่ควรจะกล่าวถึง เมื่อพูดถึงจักรพรรดินีพระองค์นี้คือ Sisi Star ซึ่งเป็นเครื่องประดับผมที่เธอสั่งทำขึ้นมา เครื่องประดับผมนี้มีลักษณะเป็นดาว 10 แฉก ตรงกลางเป็นไข่มุกเม็ดงาม แล้วล้อมรอบไปด้วยเพชร
Elisabeth สั่งให้มีการทำ Sisi Star มีจำนวนทั้งหมด 27 ชิ้น ซึ่งบางชิ้นเธอก็มอบให้นางสนองพระโอษฐ์เป็นของกำนัล ภาพวาดของเธอที่มี Sisi Star ประดับเรือนผมอยู่ กลายมาเป็นหนึ่งในภาพที่คนสามารถจดจำเธอได้มากที่สุด จวบจนถึงปัจจุบันนี้
ภาพวาดของจักรพรรดินี Elisabeth กับเรือนผมของเธอที่มี Sisi Star ประดับอยู่ (Source: Pinterest)
และด้วย Sisi Star กับภาพวาดนี่เอง ที่ทำให้เธอกลายเป็นผู้นำแฟชั่นเทรนด์ในหมู่ราชวงศ์ยุโรปในการจัดหาเครื่องประดับผมทำจากเพชร ทำให้ช่างอัญมณีที่ทำ Sisi Star ให้เธอนั้น ได้เงินเป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว
ในปี 1998 มีชายนามว่า Gerald Blachard และครอบครัว ได้ขโมย Sisi Star 1 ชิ้นไปจากนิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกครบรอบ 100 ปี การเสียชีวิตของ Elisabeth ที่พระราชวัง Schönbrunn ในเวียนนา
1
Sisi Star เครื่องประดับผมของ Elisabeth ที่โดนขโมยไป (Source: https://www.seattletimes.com/nation-world/gem-theft-polishes-a-con-mans-image)
Gerald Blanchard มีชื่อเสียงในฐานะนักโจรกรรมที่มีฝีมือระดับโลก เขาเล่าว่าประมาณ 2-3 วันก่อนการโจรกรรม เขาพร้อมกับภรรยา ได้ถ่ายวีดีโอ ถึงรูปแบบของห้อง จากนั้นในวันโจรกรรม เขาโดดร่มชูชีพลงมาจากเครื่องบินเล็ก ลงมายังหลังคาของพระราชวัง จากนั้นปลดระบบสัญญาณเตือนภัย แล้วขโมย Sisi Star ไปโดยแทนที่ของจริงด้วยของเลียนแบบแทน
ภาพวาดของจักรพรรดินี Elisabeth กับเรือนผมของเธอที่มี Sisi Star ประดับอยู่ (Source: Pinterest)
ทางการใช้เวลานานถึง 2 อาทิตย์ กว่าจะทราบว่า Sisi Star ที่จัดแสดงอยู่นั้นเป็นของเลียนแบบ และสุดท้ายการตามล่าหา Sisi Star ก็เริ่มต้นขึ้น มีการพบชูชีพ และวีดีโอที่ Gerald ถ่ายเอาไว้ แต่ก็ยังไม่สามารถตามจับเขาได้
1
จนกระทั่งในปี 2007 Gerald ถูกจับที่ประเทศแคนาดาในข้อหาโกงเงิน และเขาก็ยอมที่จะคืน Sisi Star ของจริงให้กับทางการออสเตรีย เขาบอกว่าสิ่งเดียวที่เขาต้องการคือ ให้คนที่ร่วมก่อคดีกับเขา (ภรรยาและพ่อตาของเขา) นั้นได้รับโทษเพียงทัณฑ์บน ส่วนตัวเขายินดีที่จะได้รับโทษตามกำหนด นับว่าเป็นโจรที่มีหลักการดีที่เดียว และในปัจจุบันหลังจากออกมาจากคุก เขาทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการรักษาความปลอดภัยให้กับบริษัทชั้นนำของโลก
Gerald Blanchard หลังจากได้รับการปล่อยตคัว (Source: cba.ca)
ตำนานที่คงอยู่ตลอดกาล
แม้ Elisabeth หรือ Sisi จะเสียชีวิตไปนานแล้ว แต่ชื่อเสียงของเธอก็ยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของความงดงามของเธอ และในยุโรปมีสวนสาธารณะ โบสถ์ และสะพานหลายแห่งที่ได้รับการตั้งชื่อตามชื่อของเธอ บ้านพักและปราสาทที่เธอเป็นเจ้าของหลายแห่งกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน และชีวิตของเธอก็ถูกดัดแปลงเป็นละคอนเวที และภาพยนตร์หลายครั้ง
ภาพยนตร์ออสเตรียเกี่ยวกับจักรพรรดินี Elisabeth เข้าฉายในปี 1955 (Source: https://www.fandangonow.com)
จากที่ศึกษาชีวิตของเธอ ผมคิดว่าชีวิตของเธอแทบจะไม่ต่างกับเจ้าหญิงไดอาน่าเลยนะครับ เธอแต่งงานเข้ามาในราชวงศ์ แต่กลับพบว่าชีวิตราชสำนักช่างแตกต่างกับที่เธอคิด ทุกอย่างเต็มไปด้วยความกดดัน ความเป็นระเบียบกฎเกณฑ์ ซึ่งขัดกับนิสัยรักอิสระของเธอ รวมถึงความไม่กินเส้นกับแม่สามี ทำให้ในที่สุดสุขภาพทั้งกายและใจของเธอก็เริ่มอ่อนแอลง
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ตำนานเรื่องความงาม และความดีที่เธอทำ ก็ยังคงอยู่ในใจของใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะชาวฮังการีที่รักและเทิดทูนพระองค์มาก และจากการที่ชื่อของเธอถูกใช้ตั้งเป็นชื่อสถานที่ต่าง ๆ มากมายทั่วยุโรป ก็เป็นหลักฐานอย่างดีที่จะบอกว่า จักรพรรดินี Elisabeth แห่งออสเตรีย คือตำนานที่จะคงอยู่ในใจของคนรุ่นหลังตลอดไป
จักรพรรดินี Elisabeth แห่งออสเตรีย ไอดอลแห่งศตวรรษที่ 19 (Source: Pinterest)
Podcast:
Podcast: The history chicks EP159&160 "Empress Sisi of Austria"

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา