29 เม.ย. 2021 เวลา 07:52 • หนังสือ
#48 เล่ม 2 บทที่ 18 หน้า 284 ~ 288
...
...
...
N : โอกาสสะสมความมั่งคั่ง (ความมั่งคั่งอันไร้ขีดจำกัด) คือเสาหลักของระบบทุนนิยมเลยนะครับ ระบบการค้าและการแข่งขันเสรีนี้เองที่ทำให้สังคมเข้าสู่ความยิ่งใหญ่อย่างที่โลกไม่เคยพบเห็นมาก่อน
G : ปัญหาก็คือ เธอเชื่ออย่างนั้นจริงๆหรือเปล่า
N : เปล่าหรอกครับ แต่ผมพูดแทนคนที่เชื่ออย่างนี้จริงๆ
G : คนที่เชื่ออย่างนั้นแสดงว่าพวกเขาเข้าใจผิดไปอย่างร้ายแรงเลยทีเดียวและไม่ได้มองเลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับโลกของเธอในปัจจุบัน
ในสหรัฐฯ ชนชั้นสูงจำนวน 1.5% ถือครองความมั่งคั่งมากกว่าชนชั้นล่างอีก 90 กว่า% ที่เหลือ ความมั่งคั่งสุทธิของคนที่รวยที่สุด 834,000 คน มีมูลค่าเกือบหนึ่งล้านล้านเหรียญ มากกว่าคนจนที่สุด 84 ล้านคนรวมกันเสียอีก
N : อ้าว แล้วยังไงละครับ❓ ก็พวกเขาหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองนี่
G : คนอเมริกันอย่างพวกเธอชอบมองสถานภาพทางชนชั้นว่าเป็นผลมาจากน้ำพักน้ำแรงของเจ้าตัวเอง เพียงเพราะมีบางคน "ทำได้ดี" ดังนั้นเธอก็เลยสรุปว่าคนอื่นๆก็ต้องทำได้ด้วยเหมือนกัน
นี่เป็นวิธีมองแบบมักง่ายและไร้เดียงสาไปหน่อยนะ ที่เหมารวมว่าทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียม ทั้งที่จริงๆแล้วในอเมริกาและเม็กซิโก มหาเศรษฐีและผู้มีอำนาจต่างพยายามทำทุกวิถีทางที่จะกอดเงินและอำนาจเอาไว้ไม่ให้หลุดจากมือ แถมยังพยายามหาทางเพิ่มมันอีกด้วย
N : แล้วยังไงละครับ❓ แล้วมันผิดตรงไหน❓
G : คนพวกนี้ทำอย่างนั้นด้วยการ
⏺️ขจัดการแข่งขันออกไปอย่างเป็นระบบ
⏺️ตัดโอกาสที่แท้จริงให้เหลือน้อยที่สุดผ่านระบบสถาบัน และ
⏺️รวมหัวกันควบคุมการไหลเวียนและการเติบโตของความมั่งคั่ง
ทั้งหมดนี้กระทำผ่านเครื่องมือทุกรูปแบบ ตั้งแต่การใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมซึ่งขูดรีดคนจนมากมายทั่วโลก ไปจนถึงการสร้างรูปแบบทางการแข่งขันผ่านระบบเครือข่ายทางชนชั้นเพื่อ (กีดกันทุกอย่างยกเว้นก็แต่ทำลายซึ่งหน้า) ลดโอกาสของพวกหน้าใหม่ไม่ให้เข้าสู่วงในของผู้ประสบความสำเร็จ
คนกลุ่มนี้ยังพยายามบงการนโยบายสาธารณะ โครงการและข้อบังคับต่างๆของรัฐบาลทั่วโลกเพื่อจะรับประกันล่วงหน้าว่าประชาชนส่วนใหญ่จะยังคงถูกบังคับ ควบคุม และจำยอมต่อไป
N : ผมไม่เชื่อว่าพวกคนรวยจะทำอย่างนี้ พวกเขาส่วนใหญ่คงไม่ทำกันหรอก คงจะมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นแหละที่สบคบคิดกันทำอย่างนั้น ผมคิดว่านะ
G : ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่คนรวยคนใดคนหนึ่งหรอกที่ทำเป็นการส่วนตัว แต่เป็นระบบและสถาบันทางสังคมที่เป็นตัวแทนของพวกเขาต่างหาก สถาบันและระบบพวกนั้นเกิดขึ้นจากคนรวยและผู้มีอำนาจ ซึ่งคนรวยและผู้มีอำนาจเหล่านี้นี่ล่ะที่สนับสนุนให้สถาบันและระบบพวกนี้คงอยู่ต่อไป
พอซ่อนอยู่เบื้องหลังระบบและสถาบันทางสังคมพวกนี้แล้ว แต่ละคนเลยสามารถปัดความรับผิดชอบส่วนตัวต่อสภาพเงื่อนไขที่กดขี่ข่มเหงประชาชนได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถเอื้อประโยชน์แก่คนรวยและผู้มีอำนาจได้ตลอดเวลา
ตัวอย่างเช่น ย้อนกลับไปที่เรื่องการบริการด้านสุขภาพในอเมริกา คนอเมริกาที่ยากจนเป็นล้านๆคนไม่มีโอกาสเข้ารับบริการทางการแพทย์เชิงป้องกันได้ เราคงไม่อาจชี้ไปที่แพทย์คนใดคนหนึ่งแล้วบอกว่า "หมอเป็นคนทำสิ่งนี้ นี่เป็นความผิดของหมอ" ในประเทศที่มั่งคังที่สุดในโลก คนนับล้านกลับไม่มีโอกาสได้พบแพทย์ถ้าไม่ใกล้ตายอยู่ในห้องฉุกเฉิน
มันไม่สามารถกล่าวโทษแพทย์คนใดคนหนึ่งได้หรอก แต่ทว่าแพทย์ทุกคนต่างก็ได้รับผลประโยชน์กันถ้วนหน้า ระบบวิชาชีพแพทย์ทั้งหมด (และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งหลาย) ต่างสุขเกษมเปรมปรีดิ์กับกำไรในระดับที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนจากระบบการจัดหาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ซึ่งกีดกัดผ่านระบบสถาบันต่อคนงานจนๆและผู้ว่างงานทั้งหลาย
นี่แค่ตัวอย่างเดียวเท่านั้นนะที่ชี้ให้เห็นว่า "ระบบ" ทำให้คนรวยก็รวยเหมือนเดิม ส่วนคนจนก็จนต่อไปได้อย่างไร
ประเด็นก็คือ คนรวยและผู้มีอำนาจนี้เองที่ค้ำจุนโครงสร้างทางสังคมแบบนั้นไว้ และ 💢ต่อต้านอย่างสุดชีวิตต่อความพยายามใดๆที่จะเปลี่ยนแปลงมัน💢
พวกเขาจะคัดค้านวิธีทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจใดก็ตามที่พยายามให้โอกาสและศักดิ์ศรีที่แท้จริงแก่ทุกคน
เมื่อดูเป็นรายคนแล้ว เศรษฐีและผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ดูแล้วก็เป็นคนที่ใช้ได้เลยนะ มีเมตตาและความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นไม่ต่างจากใครๆ แต่ลองเกริ่นเรื่องที่คุกคามพวกเขาอย่างการจำกัดรายได้รายปีดูสิ (แม้จะเป็นเพดานรายได้ที่สูงจนน่าตกใจ เช่น ไม่เกิน 25 ล้านเหรียญต่อปี)
คนกลุ่มนี้จะเริ่มคร่ำครวญและพร่ำบ่นเกี่ยวกับการลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล การทำลาย "วิถีแห่งอเมริกันชน" และ "การไร้ซึ่งแรงจูงใจ"
ถ้าอย่างนั้นแล้วสิทธิที่ทุกคนจะมีชีวิตอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีอาหารเพียงพอไม่ต้องอดตาย และมีเสื้อผ้าห่มกายไม่ต้องหนาวสั่นล่ะ❓
สิทธิของประชาชนทุกหนทุกแห่งที่จะได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างเหมาะสม สิทธิที่จะไม่ต้องทนทุกข์ทรมานหรือล้มตายจากโรคภัยที่ไม่ได้ซับซ้อนเกินกว่าที่จะรักษา โรคที่ถ้าใครมีเงินก็หายได้ง่ายๆเพียงแค่ดีดนิ้วมือ❓
ทรัพยากรที่โลกนี้มี (รวมถึงดอกผลที่เกิดจากแรงงานของมวลชนคนยากไร้ที่ถูกขูดรีดอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ) ✴️เป็นของประชากรโลกทุกคน มิใช่เพียงสมบัติส่วนตัวของผู้มีเงินและมีอำนาจมากพอที่จะทำการเอารัดเอาเปรียบได้เท่านั้นหรอกนะ✴️
กระบวนการเอารัดเอาเปรียบจะออกมาในรูปนี้ นั่นคือ นักอุตสาหกรรมผู้มั่งคั่งจะเข้าไปยังประเทศหรือพื้นที่ที่ไม่มีการจ้างงาน พื้นที่ที่ผู้คนมีแต่ความแร้นแค้น ขาดแคลน และความยากจน แล้วก็ไปตั้งโรงงานที่นั่นพร้อมทั้งเสนองานให้คนจนเหล่านั้นทำ (บางทีเป็นงานที่ต้องทำ 10-12-14 ชั่วโมงต่อวัน) ด้วยค่าจ้างระดับต่ำกว่ามาตรฐาน (ถ้ายังไม่อยากจะพูดว่าค่าจ้างที่ต่ำกว่าระดับของความเป็นมนุษย์)
สังเกตนะว่าค่าจ้างระดับนี้ไม่พอให้คนงานเหล่านั้นหลุดพ้นไปจากหมู่บ้านที่มีหนูอยู่เต็มไปหมดได้หรอก แค่พอสำหรับให้พวกเขาใช้ชีวิตแบบนั้นต่อไปได้เท่านั้น เมื่อเทียบกับแต่ก่อนที่ไม่มีอาหารหรือที่พักเลย
เมื่อพวกเขาถูกตั้งคำถาม นายทุนพวกนี้จะบอกว่า "เฮ้ ไม่เห็นหรือไงว่าชีวิตของคนพวกนี้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนนะ เราช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพวกนี้ไปตั้งเยอะ❗ งานก็มีให้พวกเขาทำ ใช่ไหมล่ะ นี่เราเอาโอกาสมาให้พวกเขาด้วยซ้ำ❗ แถมพวกเรายังเป็นคนรับความเสี่ยงเองทุกอย่างอีก❗"
มันจะเสี่ยงสักแค่ไหนกันที่ต้องจ่ายค่าจ้าง 75 เซ็นต์ต่อชั่วโมงเพื่อผลิตสนีกเกอร์★ เพื่อนำไปขายคู่ละ 125 เหรียญ❓
★ sneakers : รองเท้าผ้าใบแฟชั่นยอดฮิตในหมู่วัยรุ่น ~ ผู้แปล
ขอถามแบบง่ายๆและตรงๆไม่อ้อมค้อมเลยนะ
💢นี่มันการรับความเสี่ยงหรือการขูดรีด❓
ระบบที่น่ารังเกียจและน่าสะอิดสะเอียนนี้จะเกิดขึ้นได้ก็แต่ 💢ในโลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความโลภ โลกที่ส่วนแบ่งและผลกำไร (มิใช่ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์) คือสิ่งที่ต้องได้รับการพิจารณาก่อนเป็นอันดับแรก💢
ใครที่บอกว่า "เมื่อเทียบกับมาตรฐานทางสังคมที่คนงานพวกนี้อยู่แล้ว ชาวชนบทเหล่านี้ก็มีชีวิตที่ใช้ได้ทีเดียว❗" นั้นถือเป็นพวกตลบตะแลงชั้นหนึ่ง คนพวกนี้จะโยนเชือกให้คนที่กำลังจมน้ำแต่ไม่ยอมดึงขึ้นฝั่ง แล้วก็มาคุยโวว่าเชือกก็ยังดีกว่าหิน
แทนที่จะยกระดับผู้คนสู่ศักดิ์ศรีที่แท้จริง "ผู้มีอันจะกิน" เหล่านี้กลับให้ "ผู้ไม่มีจะกิน" บนโลกเพียงแค่ระดับที่จะต้องพึ่งพาคนอื่นต่อไป...แต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้พวกเขายืนหยัดและมีอำนาจขึ้นมาได้อย่างแท้จริง
เพราะถ้าเกิดมีใครมีอำนาจทางเศรษฐกิจขึ้นมา คนๆนั้นจะสามารถสร้างผลกระทบต่อ "ตัวระบบ"*** ได้ มิใช่ต้องขึ้นต่อตัวระบบเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป และนั่นคือสิ่งสุดท้ายที่ผู้สร้างระบบต้องการ❗
ฉะนั้นการสมรู้ร่วมคิดนี้จะยังคงอยู่ต่อไป เพราะสำหรับผู้มีอันจะกินและผู้มีอำนาจส่วนใหญ่แล้ว นี่ไม่ใช่การสุมหัวเพื่อจะไปทำอะไรหรอก 💢หากรวมหัวกันเงียบต่างหาก💢
ฉะนั้น เอาเลย พวกเธออยากจะทำอะไรก็ทำไป ไม่ต้องพูดอะไรทั้งนั้นถึงความต่ำช้าของระบบเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งให้รางวัลกับผู้บริหารด้วยโบนัส 70 ล้านเหรียญเมื่อเพิ่มยอดขายเครื่องดื่มให้แก่บริษัทได้ ในขณะที่คนอีก 70 ล้านคนไม่มีปัญญาจะซื้อเครื่องดื่มอันฟุ่มเฟือยนี้มาบำรุงบำเรอตัวเองได้ ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องว่าจะมีเงินพอมาซื้อข้าวกินเพื่อประทังชีวิตหรือเปล่าหรอกนะ
อย่าไปสนใจกับความน่ารังเกียจตรงนี้เลย เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ว่า 🔹ระบบการค้าโลกเสรีก็แล้วกัน🔹 แล้วก็บอกกับทุกคนไปเลยว่า "พวกเธอภูมิใจกับมันมากแค่ไหน"
ทว่ามันมีบันทึกที่ถูกเขียนไว้ว่า :
🔸หากท่านปรารถนาจะเป็นคนดีพร้อม
🔸จงไปขายทุกสิ่งที่มีแล้วแจกจ่ายให้คนยากคนจน
🔸แล้วท่านจะมีสมบัติในสวรรค์
🔸เมื่อชายหนุ่มได้ยินเช่นนั้นก็จากไปด้วยความเศร้า
🔹เพราะเขาร่ำรวยมาก
(จบ)(บทที่ 18)
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
*** เพราะถ้าเกิดมีใครมีอำนาจทางเศรษฐกิจขึ้นมา คนๆนั้นจะสามารถสร้างผลกระทบต่อ "ตัวระบบ" ได้ : เช่น ถ้ามีอภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยสุดๆคนหนึ่ง ต้องการจะให้เงินเดือนกับทุกคนในประเทศเดือนละ 1 หมื่นทุกเดือนเป็นเวลา 20 ปี ขึ้นมา หรือ สร้างโรงทานทุกหนแห่งทั่วประเทศที่ทุกๆคนสามารถเข้ามากินอาหารฟรีได้ ...ฯลฯ ระบบที่ทำให้มนุษย์ต้องเป็นทาสระบบอยู่นี้จะต้องล่มสลายลงอย่างแน่นอน นี่แค่คนเดียวนะ ถ้าร้อยคน พันคนจะเป็นอย่างไร❓ โลกจะเปลี่ยนไปแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเลยทีเดียว
อีกเรื่องหนึ่ง หนังสือที่สอนแนวคิดเรื่องความร่ำรวยทั้งหลาย เช่น Rich dad Poor dad (พ่อรวยสอนลูก) และอีก ฯลฯ เป็นต้น ที่สอนให้เรากระโดดไปอยู่ฝั่งผู้ร่ำรวย 1% นั้นให้ได้ สอนให้เราสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเราเอง พวกเราที่เคยอ่านหรือเคยไปเข้าคอร์สอบรมอะไรแบบนี้ ก็คงจะต้องกลับมาคิดทบทวนกันสักหน่อยแล้วครับ ว่ามันใช่ไหม❓
ทำไมหนังสือหรือคอร์สอบรมพวกนี้ถึงไม่สอนให้คน 1% พวกนั้นแบ่งปันความมั่งคั่งออกไปเพื่อคลอบคลุมเพื่อนมนุษย์ให้ได้มากที่สุดล่ะ❓
ก็ฝากเอาไว้ให้คิดพิจารณากันครับ
แอดมิน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา